Group Blog
All Blog
### เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก ###















“เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก”

พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้ถามตัวเราเองอยู่เสมอๆว่า

วันคืนผ่านไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่

กำลังทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ทำหรือไม่

ในพระปัจฉิมโอวาททรงตรัสไว้ว่า

 สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง

จงยังประโยชน์ตนและท่าน

ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

 นี่คือสิ่งที่เราควรเตือนตัวเราอยู่เสมอๆ

เพราะเวลาเหมือนกับน้ำ

 ที่ไหลไปแล้วไม่ไหลกลับ

 เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก

 จะทำอะไรก็ต้องมีเวลาถึงจะทำได้

 จะมีเวลาหรือไม่ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ตัวเรา

 เพราะเราทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด

 คือวันละ ๒๔ ชั่วโมง จะใช้เวลา ๒๔ ชั่วโมงนี้

ให้เกิดประโยชน์ก็ได้ ให้เกิดโทษก็ได้ อยู่ที่ตัวเรา

 ถ้าระลึกถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอยู่เรื่อยๆ

 เราก็จะใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์

แต่ถ้าห่างไกลจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 ความมืดบอดคือโมหะอวิชชา

ก็จะคืบคลานเข้ามาครอบงำจิตใจ

ทำให้เราคิดไปในทางโลก ทางสมุทัย

 ทางที่สะสมความทุกข์ โดยไม่รู้สึกตัว

ทั้งๆที่คิดว่ากำลังคิดในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดี

แต่สิ่งที่เราคิดว่าดีนั้น ไม่ได้ดีจริง

ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ส่วนใหญ่เรามักจะคิดแต่เรื่องเงิน เรื่องทอง

เรื่องยศถาบรรดาศักดิ์ ที่ไม่จีรังถาวร

 ไม่ใช่อาหารของใจ แต่เป็นยาพิษเสียมากกว่า

 เพราะถ้าเสพพวกลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

มากน้อยเพียงไร

 ก็จะมีความทุกข์มากน้อยเพียงนั้น

 จิตใจจะมีแต่ความรุ่มร้อน มีความกระวนกระวาย

 มีความวุ่นวายใจ

แต่ถ้าคิดถึงธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ซึ่งเป็นอาหารของใจ ก็จะคิดถึงการปฏิบัติธรรม

 ทำบุญให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา

 ที่มีคุณมีประโยชน์กับจิตใจอย่างแท้จริง

 เพราะธรรมกับใจเป็นของคู่ควรต่อกัน

ใจต้องพึ่งพาอาศัยธรรม ถ้าใจมีธรรมแล้ว

ใจจะเย็น ใจจะสุข ใจจะอิ่ม

 ถ้าขาดธรรม มีแต่กิเลสรุมเร้า

 มีแต่ความโลภโมโทสัน

 ใจก็จะมีแต่ความรุ่มร้อนวุ่นวายใจ

 เพราะอยากได้เงินได้ทอง ได้ตำแหน่งสูงๆ

ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับจิตใจเลย

 เวลาใจรุ่มร้อน จะมีเงินทองมากมายเพียงไร

ก็ไม่สามารถดับมันได้

จะมีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม

เป็นพระมหากษัตริย์ เป็นประธานาธิบดี

เป็นนายกรัฐมนตรี

 ก็ไม่สามารถหนีพ้นจากความทุกข์

ความวุ่นวายใจไปได้

แต่ถ้ามีธรรมแล้วความวุ่นวายใจ

จะไม่ค่อยปรากฏ

 หรือไม่มีเลย ถ้าจิตเป็นธรรมทั้งร้อย

 เป็นธรรมทั้งแท่ง

 ก็จะไม่มีช่องให้ความรุ่มร้อน

เข้าไปสิงอยู่ในจิตใจได้เลย

 ผู้ใดได้ศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรม

จนเห็นผลบ้างแล้ว จะเข้าใจถึงความสำคัญ

และความจำเป็นของธรรมกับใจ

 แต่ถ้ายังไม่ได้สัมผัสกับผลของการปฏิบัติเลย

 จะไม่เข้าใจ ถ้าทำก็สักแต่ว่าทำ

 คือมีจิตศรัทธา แต่ทำเหมือนกับ

คนที่ยังไม่ได้เห็นของจริง

 ถ้าเป็นคนทำงาน

ก็ยังไม่เคยได้รับเงินเดือนเลย

แต่ก็ทำไป ไม่รู้ว่าสิ้นเดือน

เจ้านายจะให้เงินเดือนเท่าไร

 แต่ถ้าได้รับเงินเดือนสักครั้งหนึ่งแล้ว

ก็จะเริ่มเห็นคุณค่าของการทำงานของตน

ก็จะเกิดฉันทะวิริยะตามมา

 ในเบื้องต้นก็ต้องอาศัยศรัทธา

เป็นตัวผลักดันไปก่อน

 ถึงแม้ยังไม่ได้สัมผัสกับผล

 ก็เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้น

 ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทำทาน การรักษาศีล

 การภาวนา จะต้องมีผลที่ดี

ที่เลิศตามมาอย่างแน่นอน

ไม่มากก็น้อย ถ้ายังไม่ได้สัมผัสกับผล

 ก็จะไม่ค่อยมีกำลังจิตกำลังใจเท่าไร

จึงต้องอาศัยการบังคับจิตใจ

ด้วยศรัทธาความเชื่อ

 เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อในพระธรรมคำสอน

 เชื่อในพระอริยสงฆสาวกว่าการประพฤติปฏิบัติ

ตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น

เป็นสิ่งที่ดีที่วิเศษที่สุด เหนือกว่าสิ่งอื่นใดในโลกนี้

 ถึงแม้จะหมดเงิน หมดทอง หมดเนื้อหมดตัว

จากการทำบุญ จากการทำความดี

 จากการปฏิบัติธรรม ก็อย่าไปเสียดายเลย

 เพราะในที่สุดแล้วชีวิตของเราก็ต้องหมดไป

 ทรัพย์สินสมบัติข้าวของ

เงินทองที่มีอยู่มากน้อยเพียงไร

 สักวันหนึ่งก็ต้องจากเราไป เราต้องจากมันไป

ไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริงของเรา

 แต่สมบัติที่เราสามารถนำติดตัว

ติดใจไปได้ก็คือธรรม

 ที่เรียกว่าทรัพย์ภายใน หรืออริยทรัพย์

นี่คือสิ่งที่จะติดไปกับจิตกับใจ

ถ้ามีนิสัยทำบุญทำทาน นิสัยนี้ก็จะติดตัวเราไป

 มีนิสัยรักษาศีล ก็จะติดตัวเราไป

มีนิสัยภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็จะติดตัวเราไป

เวลาไปเกิดชาติหน้าจะทำสิ่งเหล่านี้ก็จะง่าย

ไม่ต้องฝืน เพราะได้เคยทำมาแล้วจนติดเป็นนิสัย

 เหมือนกับคนที่ถนัดมือขวา

ไปเกิดชาติหน้า ก็จะถนัดมือขวาอีก

 คนที่ถนัดมือซ้ายไปเกิดชาติหน้าก็จะถนัดมือซ้าย

 คนที่เป็นอัจฉริยะไปเกิดชาติหน้า ก็จะเป็นอัจฉริยะ

 เพราะสิ่งเหล่านี้ติดไปกับจิตกับใจ

เป็นคุณสมบัติเฉพาะตน

ที่เรียกว่านิสัยหรือสันดาน

 ถ้าเป็นนิสัยดีก็เป็นคุณเป็นประโยชน์

ถ้าเป็นนิสัยไม่ดีก็จะเป็นโทษ

เช่นถ้ามีนิสัยเกียจคร้าน นิสัยโลภโมโทสัน

นิสัยเสพสุรายาเมา เล่นการพนัน

ก็จะเป็นตัวฉุดลากให้ไปทางที่ไม่ดี

ในภพหน้าชาติหน้าต่อไป

ถึงแม้ในชาตินี้จะไม่สามารถปฏิบัติ

จนบรรลุถึงพระอริยผลก็ตาม

 ถ้าพยายามทำไปเรื่อยๆ

อย่างน้อยก็จะได้ฝึกนิสัยที่ดีไว้

 เพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัย

ให้ได้ก้าวขึ้นสู่ธรรมขั้นสูง

ในลำดับต่อไป ในแต่ละภพแต่ละชาติ

 เพราะถ้าปฏิบัติตาม

สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนแล้ว

 ภพชาติของเราก็จะเป็นภพชาติที่ดี เป็นสุคติ

 ผู้ที่ไปสู่สุคติคือผู้มีศีลมีธรรม

ผู้ที่จะไปเกิดในสุคติต้องเป็นผู้มีศีลมีธรรม

ดังนั้นเวลาปฏิบัติไปแล้วเกิดมีความรู้สึกว่ามันยาก

 ก็ขอให้ฝืนทำไป เพราะกำลังปลูกฝังนิสัยใหม่

 นิสัยของพระโพธิสัตว์ นิสัยของพระอริยเจ้า

 ไม่ใช่นิสัยของปุถุชน ที่มีแต่ความโลภโมโทสัน

เราเป็นปุถุชนเพราะเรามีความโลภ

 ความโกรธ ความหลง ซึ่งเป็นเหมือนบิดา

 ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 อวิชชา ปัจจยา สังขารา

 จิตของพวกเรามีอวิชชาเป็นผู้ทำให้คิดปรุงแต่ง

 ถ้าคิดด้วยอวิชชาก็คิดด้วยความหลง

ด้วยความเห็นผิดเป็นชอบ

 คิดด้วยมิจฉาทิฐิ เห็นเงินทอง

เห็นลาภยศ เห็นสรรเสริญ เห็นกามสุข

ว่าเป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนา

 เหมือนกับปลาที่เห็นเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด

ว่าเป็นอาหารอันโอชะ แต่หารู้ไม่ว่า

เมื่อได้ตะครุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดนั้นแล้ว

 ก็จะต้องถูกเบ็ดเกี่ยวคอ

ทำให้ทุกข์ทรมานอย่างยิ่ง

ฉันใด ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็เป็นเช่นนั้น

 ถ้ายังต้องเสพก็ต้องระมัดระวัง

ต้องรู้ว่ามีเบ็ดซ่อนอยู่ภายใต้เหยื่อ

 ต้องกัดแบบฉลาด ไม่ใช่กัดทีทั้งคำ

ต้องค่อยๆแทะค่อยๆเล็มไป

ต้องรู้ว่าเมื่อยังต้องอยู่ในโลกนี้

 ยังต้องพึ่งพาอาศัยเงินทอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น

 เพราะต้องมีปัจจัย ๔ เป็นเครื่องดำรงชีพ

จึงต้องมีเงินทองไว้ ซื้อหามา

จึงต้องระมัดระวัง อย่าไปหลงกับการมีเงินมีทอง

 จนคิดว่าเป็นสิ่งที่บันดาลความสุขให้กับเรา

 มันบันดาลได้ก็แค่ความสุขของกาย

 คือให้เรามีอาหารรับประทานเวลาที่หิว

มีเสื้อผ้าใส่ มีบ้านอยู่ มียารักษาโรค

 เงินทองสามารถบันดาลให้กับเราได้เพียงเท่านี้

 มันไม่ใช่เป็นความสุขที่แท้จริง

 แต่เป็นความสุขแบบปลา

 ที่ตะครุบเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ดนั่นแหละ

 เวลาได้ใช้เงินใช้ทองอย่างสนุกสนานเฮฮา

 ก็มีความสุขชั่วขณะที่ใช้ไป

 แต่เมื่อผ่านไปแล้วเงินทองก็หมดไปด้วย

 ครั้งต่อไปถ้าอยากจะมีความสุขแบบนี้อีก

 แต่ไม่มีเงินทองที่จะซื้อความสุข

แบบที่เคยได้สัมผัสอีก ความสุขก็จะไม่มา

มีแต่ความทุกข์มาแทนที่

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นว่า

 ความสุขในโลกนี้มีทั้งสุขแท้และสุขปลอม

สุขปลอมก็อย่างที่พูดไว้

 เป็นสุขที่เกิดจากการใช้เงินใช้ทอง

ในการเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ที่มาสัมผัสกับตา หู จมูก ลิ้น กาย

 ทำให้เกิดสุขเวทนา แล้วก็หมดไป

แล้วก็เกิดความอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว

 อยากจะเสพอีก เป็นเหมือนกับยาเสพติด

 คนที่ไม่เสพสบายกว่าคนที่เสพ

เพราะคนที่เสพจะต้องหามาเสพอยู่ตลอดเวลา

 ถ้าไม่ได้เสพแล้วก็จะทุรนทุราย ทรมานจิตใจ

 คนที่ไม่ได้เสพก็อยู่อย่างสบาย

ไม่มียาเสพก็ไม่เดือดร้อนอะไร

เพราะไม่ได้หิวไม่ได้อยาก

กามสุขก็เช่นเดียวกัน

 คนที่ไม่เสพก็อย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย

 ท่านมีความสุขมากกว่าคนที่เสพ

 ท่านไม่ต้องดิ้นรนกับการหาเงินหาทอง

ดิ้นรนกับการใช้จ่ายเงินทอง

 เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุข

 อยู่เฉยๆท่านก็มีความสุขแล้ว

เพราะจิตของท่านไม่ได้หิว ไม่ได้อยาก

ไม่ได้ติดอยู่กับการเสพ

ความสุขจอมปลอมทั้งหลาย

 เพราะท่านได้พบกับความสุขที่แท้จริงแล้ว

 ด้วยการชนะความอยากจะเสพกามสุขนั้นเอง

เวลาที่จิตสลัดความอยากจะเสพกามสุขได้

จิตก็จะสงบสงัดขึ้นมา จิตสงบเมื่อไร

ก็จะมีความสุขเมื่อนั้น

 มีความเย็น มีความสบาย

มีความเบาเหมือนกับได้ปลดเปลื้อง

ภาระต่างๆที่แบกไว้บนบ่าออกไป

 สิ่งที่กดดันพวกเรา

ซึ่งเป็นเหมือนกับภาระอันหนักอึ้งนี้

 ก็คือกามตัณหานี้เอง ความอยากในกาม

และตัณหาอีก ๒ ชนิด คือภวตัณหา

 ความอยากมี อยากเป็น

 และวิภวตัณหา ความอยากไม่มี อยากไม่เป็น

หรือความกลัวในสิ่งต่างๆที่เราไม่ปรารถนากัน

 เหล่านี้เป็นเหมือนภาระกดดันจิตใจ

 แต่ถ้าเราต่อสู้ด้วยการภาวนา

ด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิและปัญญา

เราจะสามารถทำลายความอยากเหล่านี้

ให้ออกไปจากจิตจากใจได้

 เมื่อไม่มีอยู่ในใจแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากดดัน

มาสร้างความทุกข์ สร้างความกังวลใจ

สร้างความหิว สร้างความกระหายให้กับใจ

จะมีแต่ความอิ่ม มีแต่ความพออยู่ตลอดเวลา

เพราะไม่ต้องแสวงหาอะไร

 ไม่ต้องอาศัยสิ่งต่างๆในโลกนี้

 ที่ล้วนมีแต่ความทุกข์ซ่อนเร้นอยู่

จิตก็ไม่ต้องทุกข์กับสิ่งต่างๆอีกต่อไป

เพราะเวลามีอะไรมาครอบครอง

 เรามักจะมีความกังวลกับสิ่งนั้นๆ

เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่กับเราไปตลอดหรือไม่

 จะจากเราไปเมื่อไรก็ไม่รู้

เวลาจากไปก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ

 เพราะอาศัยสิ่งต่างๆเหล่านั้น

เป็นเครื่องให้ความสุขกับเรา

จึงไม่เป็นความสุขที่แท้จริง

 เพราะมีความทุกข์ซ่อนอยู่

ราจึงต้องใช้ปัญญาพิจารณา

 ในเบื้องต้นก็ต้องหาครูบาอาจารย์

ที่ได้ผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาแล้ว

 ให้เป็นผู้สอนเรา

เพราะถ้าเราอยู่คนเดียว คิดคนเดียว

 เราจะคิดไม่ออก

 เพราะเราไม่มีประสบการณ์มาก่อน

 จะคิดไปในทางที่เคยคิดเสมอ

 ถึงแม้จะเคยได้ยินได้ฟังธรรมะอยู่เรื่อยๆ

แต่พอออกจากวัดไปไม่กี่นาทีก็ลืมแล้ว

 โดนความคิดแบบเดิมๆที่มีอำนาจมากมากลบ

เราจึงต้องภาวนาอยู่เรื่อยๆ

ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า

 อานนท์เธอต้องพิจารณาความตาย

อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก จะได้ไม่หลงยึดติด

อยู่กับสิ่งต่างๆในโลกนี้ เพราะไม่จีรังถาวร

 ไม่ใช่สรณะของจิตใจ

 ถ้าเธอคิดถึงความตายแล้ว

 ก็จะทำให้เธอไม่ประมาท

จะได้รีบเร่งขวนขวายสร้างสรณะ

ให้เกิดขึ้นภายในใจ ด้วยการปฏิบัติธรรม

 ด้วยการภาวนา ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว

 เราก็จะต้องหลงอยู่กับการทำงานทำการ

เมื่อได้เงินมาแล้วก็คิดว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี

 ไปซื้ออะไรดี เรื่องที่จะเอาไปทำบุญ

 เอาไปเสียสละนี้ มักจะเป็นเรื่องสุดท้าย

 เพราะส่วนมากเรื่องความอยากหาความสุข

จากการเสพรูป เสียง

 กลิ่น รส โผฏฐัพพะจะมาก่อน

เราจึงต้องเตือนตนเองอยู่เสมอว่า

มันไม่ใช่เป็นความสุข

 มันเป็นเหมือนยาเสพติด

 ถ้าตัดได้ ลดได้ ละได้

 ก็พยายามตัดไป ลดไป ละไป

 แล้วเราจะมีความสุขเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

คือความสุขทางด้านจิตใจ

จะได้ไม่ต้องไปอาศัยสิ่งต่างๆ

มาให้ความสุขกับเรา

 เราสามารถสร้างความสุขได้ด้วยตัวของเราเอง

 ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 ตนเป็นที่พึ่งของตน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ

 ไม่มีใครจะให้ความสุขกับเราได้อย่างแท้จริง

 มีตัวเราเท่านั้นที่จะให้ความสุขกับตัวเราเอง

คนอื่นให้ความสุขเราแล้ว

 ยังแถมความทุกข์ให้กับเราอีกด้วย

 เพราะเราต้องมีความผูกพัน มีความห่วงใย

มีความยึดติดในตัวเขา

 เขาเคยให้ความสุขกับเราอย่างไร

 เราก็หวังว่าเขาจะให้ความสุขกับเรา

อย่างนั้นเสมอไป

 ถ้าเขาไม่ให้ความสุข

กับเราๆก็จะต้องเสียอกเสียใจ

 แต่เราก็บังคับเขาไม่ได้

เพราะคนเราทุกคนอยู่ใต้กฎ

ของความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

บางทีเขาก็บังคับตัวเขาเองไม่ได้

เขาอยากจะดีกับเราแต่อารมณ์ไม่ดีด้วย

  เขาก็ไม่สามารถแสดงความดีออกมา

 เราก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ นี่คือโทษ

 นี่คือความทุกข์ ที่พวกเราทุกคนเจอกัน

 ประสบกันอยู่ตลอดเวลา

 แต่เราไม่ค่อยคิดกันเท่าไร

 เวลาเจอทุกข์แบบนี้ก็อดทนกันไป

เป็นการอดทนที่ไม่ถูกทาง

 เราควรอดทนกับความทุกข์

ที่เกิดจากการทำความดีจะดีกว่า

อดทนกับความทุกข์ที่เกิดจากการนั่งสมาธิ

 เจ็บตรงนั้น ปวดตรงนี้ ทนแบบนี้ดีกว่า

 เพราะเป็นทุกข์ตอนต้นแต่สุขตอนปลาย

 ดีกว่าสุขก่อนแล้วมาทุกข์ทีหลัง

ทุกข์จากการปฏิบัติธรรม

 เป็นความทุกข์เพื่อความสุขที่แท้จริง

ที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๒๓๒ วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๓)

“ใช้เวลาให้เกิดคุณเกิดประโยชน์”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 กันยายน 2559
Last Update : 9 กันยายน 2559 10:20:14 น.
Counter : 893 Pageviews.

0 comment
### การถ่ายทอดธรรมแท้ ###











“การถ่ายทอดธรรมแท้”

พวกเรานี้เป็นรุ่นหลานของหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นนี้เป็นพ่อแม่ครูจารย์

หลวงตามหาบัวนี้ ก็เป็นเหมือนกับลูกหลวงปู่มั่น

 เราก็เป็นเหมือนหลานของหลวงปู่มั่น สืบทอดกันไป

 ศาสนาของเราที่มีการสืบทอดกันมาได้

 เพราะว่ามีการศึกษามีการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์

 สู่ลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์ก็นำเอาไปปฏิบัติ

ปฏิบัติจนบรรลุธรรมก็สามารถที่จะถ่ายทอด

ให้แก่ผู้อื่นได้ต่ออย่างถูกต้อง

 ถ้าไม่ปฏิบัติไม่บรรลุธรรมนี้ จะไม่สามารถ

ที่จะถ่ายทอดธรรมแท้ได้ พูดง่ายๆ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ

เพียงแต่เรียนอย่างเดียว ธรรมที่เรียนนี้

หลวงปู่มั่นบอกว่ายังเป็นธรรมปลอมอยู่

เพราะว่ามันยังไม่ได้เข้าไปในใจ

ยังไม่ได้เข้าใจไปชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ในใจ

 ดังนั้นเวลาผู้ที่แสดงธรรม ที่ได้จากการเรียน

จากการศึกษานี้ มันจะแสดงด้วยใจที่ยังมีกิเลสอยู่

มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่

มันจะไม่เป็นธรรมแท้ จะเป็นธรรมที่คิดปรุงเเต่ง

 เป็นจินตนาการธรรม

อย่างญาติโยมนี้ ธรรมต่างๆ ที่ญาติโยมได้ยินได้ฟัง

ญาติโยมก็ได้แต่จินตนาการว่าสติเป็นอย่างไร

 สมาธิเป็นอย่างไร สงบเป็นอย่างไร

ปัญญาเป็นอย่างไร เห็นไตรลักษณ์แล้วเป็นอย่างไร

 แต่ยังไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร

แล้วถ้ามีคนรู้แบบนี้มาสั่งสอนผู้อื่น

มันก็จะไม่เกิดประโยชน์

 เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาก่อนมาหลัง

 ก็จะสับสน อย่างสมัยนี้ก็มักจะพูดว่าเอาปัญญาก่อน

 สมัยนี้เป็นยุคปัญญาชน

ทุกคนเรียนจบปริญญาตรี โท เอกกัน

มีปัญญา สามารถอ่านศึกษาพระไตรปิฎกได้

เข้าถึงแก่นของศาสนาได้ เข้าถึงพระอริยสัจ ๔

 เข้าถึงพระอภิธรรม ธรรมชั้นสูงได้

 แต่ธรรมเหล่านี้ที่ได้จากการอ่านการศึกษานี้

ไม่สามารถนำไปชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจได้

 กิเลสมันไม่กลัวธรรมแบบนี้ ตัณหามันไม่กลัว มันชอบ

 มันก็เอาธรรมแบบนี้มาเป็นลูกน้องเสียด้วยซ้ำไป

มาหลอกคนที่มีความรู้จากการเรียนรู้นี้ว่าเป็นผู้ฉลาด

 เป็นผู้ที่มีปัญญาแหลมคม

แต่ถูกกิเลสมันคอยสั่งคอยสอน อยู่ตลอดเวลา

สอนให้โลภ สอนให้อยากได้ลาภยศ สรรเสริญ

โดยไม่รู้สึกตัว

เห็นไหมบรรดาพระที่เรียนจบเปรียญ ๙ กัน

 ท่านก็ไปทางสมณศักดิ์ ไปเป็นเจ้าฟ้า เจ้าคุณ

ไปเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอะไรต่างๆ

แล้วก็ไปรับลาภสักการะมีรถเก๋งมาใช้

กุฏที่อยู่อาศัยนี้หรูหรา

ยิ่งกว่าบ้านของญาติโยมที่ใส่บาตรให้เสียด้วยซ้ำไป

ดีไม่ดีบิณฑบาตก็บิณฑบาตไม่เป็น

 พระที่มีสมณะสูงนี้รู้สึกว่า การบิณฑบาตนี้

มันเป็นเรื่องของขอทาน

ไม่ใช่เรื่องของผู้มีวุฒิปริญญา

 สังเกตดูพระที่เป็นเจ้าฟ้า

 เจ้าอะไรนี้ไม่ค่อยบิณฑบาต

เราสังเกตดูหลวงปู่มั่น

 ท่านบิณฑบาตจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

พอแก่แล้วบิณฑบาต เดินไปถึงหมู่บ้านไม่ไหว

ก็ไปแค่ครึ่งทาง ชาวบ้านก็ออกมาครึ่งทางมาใส่บาตร

พอเดินไปถึงครึ่งทางไม่ไหว ก็เอาแค่หน้าประตูวัด

พอหน้าประตูวัดไม่ไหวก็เอาบนศาลา

บิณฑบาตจนไม่มีเรี้ยวไม่มีแรงที่จะบิณฯได้

 ท่านจึงจะเลิกบิณฑบาต

 เพราะการบิณฑบาตนี้พระที่บวชใหม่

ถูกสอนตั้งแต่วันแรกแล้วว่า ให้บิณฑบาตเลี้ยงชีพ

นี่คือหน้าที่ นี่คือนิสัยของพระ

ต้องบิณฑบาตเลี้ยงชีพต้องพึ่งตนเอง

 แต่พอได้เรียนรู้ได้ลาภสักการะ

ก็เลยไม่ต้องบิณฑบาตมีคนเอาอาหารมาส่งให้ถึงวัด

หรือถ้าไม่มีวันไหนก็สั่งให้ลูกศิษย์ไปซื้อมาได้

 ก็เลยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบิณฑบาต

 แต่ก็ต้องพึ่งลาภสักการะ

ก็ต้องคอยหาลาภสักการะมา

 แทนที่จะบิณฑบาต

ถ้าบิณฑบาตก็ไม่ต้องมาพึ่งลาภสักการะ

ญาติโยมไม่ถวายเงิน ไม่เอาอาหารมาถวายที่วัด

 ก็ไม่เดือดร้อน บิณฑบาตทุกวันมีกิน สบายกว่า

 ถ้าไม่บิณฑบาตก็ต้องสั่งเขามาซื้อเขามา

วันไหนไม่มีคนมานิมนต์ไปฉัน

ก็ต้องให้ลูกศิษย์ไปซื้อกับข้าวกับปลามากิน

 ก็ชอบแบบนั้นเพราะเลือกได้

 อยากจะกินอะไรก็สั่งได้

 อยากจะกินหูปลาฉลามก็สั่งมาได้

 กินไก่ทอด เนื้อทอด

นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่พระพุทธเจ้าสอนให้บิณฑบาต

 ให้บิณฑบาตยังชีพให้ยินดีตามมีตามเกิด

เพราะการบิณฑบาตนี้เลือกอาหารไม่ได้

เขาใส่บาตรอะไรมาเราก็กินไปตามมีตามเกิด

 กินเพื่ออยู่ไม่ได้อยู่เพื่อกิน

ถ้าอยู่เพื่อกินก็อยู่เพื่อกิเลส

 การมาบวชนี้มาบวชเพื่อกำจัดกิเลส

ไม่ใช่มาส่งเสริมกิเลส

พระพุทธเจ้าทรงสอน

 กิจวัตรที่พระพึ่งกระทำอยู่ ๔ ข้อ

 พอบวชเสร็จนี้ อุปัฌชาย์สั่งสอน

กิจวัตร ๔ ข้อนี้ทันทีว่า

 กิจที่พระภิกษุ พึงกระทำตลอดชีวิตคือ

 ๑.บิณฑบาตเลี้ยงชีพ

 ๒.อยู่ตามโคนไม้ ไม่ต้องอยู่กุฏิ

หาที่อยู่ตามโคนไม้ในป่า

 แต่ถ้ามีคนถวายกุฏิให้อยู่ก็อยู่ได้

 แต่ถ้าไม่มีใครถวายไม่มีกุฏิ

ก็ไปอยู่ตามโคนไม้กัน รุกขมูลเสนาสนัง

 ข้อที่ ๓. ให้ใช้ผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลคือผ้าที่เขาทิ้ง

 เช่นผ้าห่อศพ ผ้าในป่าช้า

 ไปเก็บผ้าเหล่านี้มาเย็บมาซักย้อมเป็นจีวร

 คือเป็นผ้าขี้ริ้ว พูดง่ายๆ ไม่ให้ใช้ผ้าดีๆ

แล้วยารักษาโรคก็ให้ใช้ ยาดองน้ำมูตร

 ยาดองน้ำปัสสาวะ สมัยก่อนเวลาไม่สบาย

เขาก็กินยาดองน้ำปัสสาวะกัน แม้แต่ในสมัยนี้

 คนบางคนเขายังดื่มน้ำปัสสาวะ เป็นยารักษาโรค

นี่คือปัจจัย ๔ ของนักบวช

ของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา

แต่สมัยนี้เราก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างนั้น

 เราก็ปฏิบัติตามประเพณีตามมีตามเกิด

 คือจีวรก็มีใครถวายผ้ามา ก็เอามาตัดเย็บไป

 หรือมีใครมาถวายจีวรสำเร็จรูปก็เอามาใส่ไป

แต่ไม่ต้องไปสั่งว่าจะต้องเอาผ้าชนิดนั้น

 ผ้าไหมหรือว่าผ้าที่มาจากเมืองนอกเมืองนาหรืออะไร

ให้ยินดีตามมีตามเกิด

 แล้วก็มีกิจอีก ๔ ข้อที่ห้ามไม่ให้ทำ

 กิจที่ห้ามไม่ทำก็คือ

 ๑. ห้ามเสพเมถุนคือห้ามร่วมหลับนอนกับสีกา

 ๒. ห้ามลักทรัพย์

๓. ห้ามฆ่ามนุษย์

๔.ห้ามอุตริคุณธรรมวิเศษที่ไม่มีในตน

 ถ้าทำ ๔ ข้อนี้ข้อใดข้อหนึ่งก็ถือว่า

ขาดจากการเป็นพระทันที ไม่ต้องมีใครมาจับสึกหรอก

 ตัวเองควรจะสึกเอง เพราะถือว่าไม่ได้เป็นพระ

ในพระพุทธศาสนาแล้ว

ไม่มีทางที่จะไปถึงพระนิพพานได้แล้ว

 เพราะถ้ามาบวชแล้วมาทำการกระทำทั้ง ๔ ข้อนี้

 ถือว่าไปคนละทิศทางแล้ว

จะไม่มีวันที่จะเดินทางไปถึงพระนิพพานได้

นี่คือเรื่องของคำสอน ของพระพุทธเจ้า

ที่ทรงสอนให้กับผู้ที่มาบวช เรียกว่า บุพกิจ

 กิจในเบื้องต้น ของผู้ที่มาบวชที่ควรจะรู้

 เขาเรียกว่า อนุศาสน์ มีกิจข้อพึ่งกระทำ

 และกิจที่ไม่พึงกระทำ ๔ ข้อรวมเป็น ๘ ข้อด้วยกัน

ถ้าใครปฏิบัติตามคำสอนนี้ได้

ก็จะมีแต่ความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา

ครูบาอาจารย์ท่านจึงมักปฏิบัติแบบนี้กัน

สายวัดป่านี้ท่านจะถือเรื่องการบิณฑบาต

เป็นภารกิจสำคัญ

 ท่านจะอยู่ตามป่าตามเขากัน

 เพราะเป็นที่เหมาะสมต่อการเจริญธรรมต่างๆ

 การใช้ผ้าบังสุกุลก็จะทำให้ไม่โลภ

ไม่หลงกับผ้าสวยๆงามๆ ให้ใช้ผ้าขี้ริ้ว

ไปเก็บเศษผ้าที่เขาทิ้งไว้มาสะสม

พอได้ปริมาณที่จะมาเย็บมาตัดมาต่อ

 ให้เป็นจีวรได้ แล้วก็ย้อมด้วยน้ำที่สกัดมาจากแก่นไม้

 เอาแก่นขนุนนี้มาต้มแล้วมันจะออกสีเหลืองๆ

ก็จะเป็น ผ้ากาสาวพัสตร์

ยารักษาโรคก็รักษาไปตามมีตามเกิด

นี่คือปัจจัย ๔ ของนักบวช ถ้าอยู่อย่างนี้ได้

ก็ไม่ต้อง ไปรบกวนคนอื่น

พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้พระไปขอสิ่งของต่างๆ

จากผู้ที่ไม่ใช่เป็นญาติ

หรือผู้ที่ไม่ได้เสนอตัว ปวารณาตัว

 อย่างโยมนี้เราไม่รู้จัก อยู่ดีๆเราจะบอกว่า

อยากจะได้จีวรสักผืนนี้บอกไม่ได้

อยากจะได้ยานี้บอกไม่ได้ จะบอกได้ก็ต่อเมื่อ

โยมพูดไว้ต่อหน้าก่อนว่า ถ้าท่านต้องการอะไร

 ในสิ่งที่สมควรต่อการบริโภคของพระภิกษุ

ก็ให้บอกข้าพเจ้าได้ ถ้าบอกล่วงหน้านี้

เวลาขาดแคลนอะไร เวลาจีวรขาดนี้ก็บอกได้

แต่ถ้าไม่ได้เป็นญาติ

หรือไม่ได้บอกกันล่วงหน้าไว้ก่อนนี้

ไปบอกไปขอไม่ได้ เช่นพระสมัยนี้

ชอบไปขอเงินค่ารถกัน เจอใครก็ชอบขอเงินค่ารถ

 ไม่รู้จะเดินทางไปไหนหรือเปล่า ญาติโยมก็เกรงใจ

 เมื่อพระขอแล้วถ้าไม่ให้ก็รู้สึกว่า ใจจืดใจดำหรือเปล่า

 เป็นบาปเป็นกรรมหรือเปล่า

ถ้าได้ศึกษาพระวินัยแล้วก็จะรู้ว่าไม่ควรให้

เพราะมันเป็นการส่งเสริม กิเลสตัณหาของพระ

ญาติโยมไม่รู้หรอกว่าการมาบวชนี้

มาบวชเพื่อกำจัดกิเลสตัณหาไม่ให้โลภมาก

 ไม่ให้อยากได้นั่นอยากได้นี่

ให้มาอยู่แบบคนยากจน ให้อยู่แบบตามมีตามเกิด

ความจริงหน้าที่ของพระไม่ได้มีหน้าที่มาสร้างโบสถ์

 สร้างเจดีย์ แต่พระมีหน้าที่มาสร้างคุณธรรม

พระพุทธเจ้าไม่ได้สร้างโบสถ์สร้างวัด

พระพุทธเจ้าสร้างแต่พระอริยเจ้า สร้างพระโสดาบัน

สร้างพระสกิทาคามี สร้างพระอนาคามี

สร้างพระอรหันต์ ท่านไม่เคยสร้างวัดเลย

 มีแต่ศรัทธญาติโยมที่มีกำลังแล้วอยากจะสร้างถวาย

ให้พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ก็สร้าง

คนหนึ่งเป็นมหาเศรษฐี คนหนึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

 เรื่องการสร้างวัดสร้างถาวรวัตถุนี้

เป็นหน้าที่ของศรัทธาญาติโยม เป็นเรื่องของศรัทธา

 เช่นญาติโยมบางคนหลังจากได้พบได้ฟังธรรมแล้ว

ก็เกิดความประทับใจ เห็นคุณค่าของพระธรรม

 เห็นคุณค่าของวัดวาอารามก็อยากจะสร้าง ก็สร้างกันได้

ญาติโยมไปสร้างกันเอง ญาติโยมไปเรี่ยไรกันเอง

 เพียงแต่ว่ามาบอกให้พระทราบก่อนว่าจ

ะสร้าง พระจะอนุญาตไหม ถ้าอนุญาตก็สร้างได้

ถ้าไม่อนุญาตก็สร้างไม่ได้

อย่างวัดหลวงตานี้มีคนไปขอสร้างเยอะแยะไปหมด

 แต่ท่านไม่ให้สร้าง เพระท่านว่ามันไม่มีความจำเป็น

 สำหรับวัดปฏิบัติที่จะต้องมีโบสถ์ มีเจดีย์

 สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องมีก็มีแล้ว เช่นศาลา กุฏิก็พอแล้ว

 ก็เลยไม่ให้สร้าง

 เพราะการก่อสร้างแบบไม่มีขอบไม่มีเขต

มันก็มารบกวนการปฏิบัติธรรมของพระนั่นเอง

 เมื่อมีการก่อสร้าง มันก็จะมีคนพลุกพล่าน

มันก็จะมีเสียงอึกทึกครึกโครม

วัดที่ปฏิบัติธรรมนี้เขาต้องการความสงบ

 ดังนั้นหลวงตานี้คอยควบคุม

เรื่องการก่อสร้างในวัดอย่างมาก

 และเวลาที่ท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ลูกหา

 ท่านก็จะมีการสังเกตกันว่ามีการก่อสร้างกันหรือเปล่า

แล้วท่านก็จะคอยตักคอยเตือนว่าไม่ใช่หน้าที่ของเรา

 ไม่ใช่หน้าที่ของพระที่จะมาก่อสร้าง

 ยกเว้นมันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่มันขาดแคลน

 เช่นไม่มีกุฏิอยู่หรือ กุฏิเก่ามันพังแล้ว

ต้องซ่อมใหม่ต้องสร้างใหม่ อันนี้ก็มีเหตุมีผล

 แต่มันต้องมีขอบมีเขต ไม่ใช่ใครอยากจะถวายก็สร้าง

โดยที่บางทีสร้างแล้วก็ไม่มีพระเณรมาอยู่

หรือมาอยู่ก็มากเกินไป

วัดปฏิบัตินี้เขาจะต้องมีปริมาณที่เหมาะสม

ถ้ามากเกินไป ความสงบสงัดวิเวกมันก็จะหายไป

จึงต้องควบคุมปริมาณของพระเณร

 สมัยที่เราไปอยู่นั้นหลวงตาท่านคุมไว้แค่ ๑๘ รูป

รับพระเพียง ๑๘ รูป แต่ต่อมาก็มีความจำเป็น

เพราะครูบาอาจารย์ที่อาวุโสกว่าท่านก็ร่วงโรยไป

 พระเณรก็ไม่มีที่พึ่งพาอาศัย ก็ต้องมาพึ่งหลวงตา

 ท่านก็เลยเมตตารับเพิ่ม แต่ก็ไม่สร้างกุฏิเพิ่ม

กลับไปสร้างแคร่ไว้ในป่า แคร่ก็คือที่ประมาณ

 ช่องที่เรานั่งอยู่นี้มี ๔ เสาแล้วก็มีหลังคา

ไม่มีฝาไม่มีหน้าต่างไม่มีประตู

 ใช้ผ้าจีวรเป็นฝาผนังอยู่ในป่า

พอหลบแดดหลบฝนได้ อยู่กันแบบนี้

 อยู่แบบพระธุดงค์ เวลาพระไปธุดงค์ในป่า

ท่านก็ไม่ได้ เอากุฏิไปด้วย

ไปอยู่ที่ไหนญาติโยมก็ทำแคร่ที่นั่งเล็กๆให้นั่ง ให้นอน

 หลังคาก็ไม่มีท่านก็ใช้มุ้งกลด เป็นหลังคากางกลดเอา

 ท่านจะธุดงค์ในช่วงฤดูแล้ง

ถ้าฤดูฝนนี้ต้องอยู่ที่ไหนที่หนึ่งที่มิดชิดหน่อย

 เช่นอยู่ในถ้ำอะไรอย่างนี้หลบฝนได้

ถ้าไปธุดงค์หน้าฝนแล้วไปกางกลด กลดก็เปียก

นี่ก็เล่าเรื่องชีวิตของพระปฏิบัติให้ฟัง

 จะได้เห็นภาพว่าสมัยพระพุทธเจ้า

กับพระสมัยนี้อยู่กันอย่างไร

สมัยนี้กุฏิเหมือนกับวัง มีพรม มีเฟอร์นิเจอร์

สมัยก่อนจึงมีคนบรรลุมากๆ

พระภิกษุบรรลุธรรมมาก

 เพราะท่านมีบรรยกาศที่เอื้อต่อการปฏิบัติ

ต่อการบรรลุนั่นเอง แต่สมัยนี้มันมีแต่บรรยากาศ

ที่ต้านการบรรลุ ความสุขต่างๆ

ทางร่างกายนี้มันเป็นตัว ที่จะทำให้บรรลุยาก

ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 อยู่ดีกินดีอิ่มหมีพีมัน

 กินแล้วก็นอนมีความสุขทางร่างกาย

 แต่จิตใจร้อนเป็นไฟด้วยความโลภ

 ความโกรธ ความหลง

ญาติโยมก็อยากจะ ให้พระสุขสบาย

อาหารก็ถวายเยอะแยะ กุฏิก็สร้างให้อยู่อย่างสบาย

แต่ไม่รู้หรอกว่ามันไม่ได้เป็นการเอื้อต่อการบรรลุธรรม

 แต่เป็นการสร้างอุปสรรคสร้างนิวรณ์

 ทำให้ไม่สามารถทำใจให้สงบได้

ทำให้ไม่สามารถเจริญปัญญาได้

สมัยพุทธกาลนี้พระท่านอยู่กันตามป่าตามเขา

ไม่ค่อยอยู่ในวัดกันไม่ค่อยมีวัด ปลีกวิเวก

 ธรรมจะเกิดก็ต่อเมื่อ อยู่ในที่สงบสงัดวิเวก

 ห่างไกลจากเเสงสีเสียง

 ถ้าอยู่ใกล้แสงสีเสียงใจก็จะไม่สงบ

 ใจก็จะเกิดความอยากที่จะเสพ

รูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

 นั่งสมาธิใจก็จะไม่สงบ

อย่างญาติโยมนี้ไม่มีวันที่จะนั่งสมาธิ

ให้สงบได้หรอก นั่งก็พอหอมปากหอมคอ

พอให้ความวุ่นวายใจมันเบาลงไปหน่อยเท่านั้นเอง

 แต่ที่จะให้จิตรวมเป็นสมาธินี้ยาก

เพราะว่าญาติโยมไปติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรส

 ใจจะสงบได้ต้องตัดรูปเสียงกลิ่นรสออกไป

 ตอนนี้ใจถูกรูปเสียงกลิ่นรสดึงออกมา ใจจึงไม่สงบ

 ถ้าอยากจะให้สงบต้องดึงใจกลับเข้าไปข้างใน

 ต้องดึงออกจากรูปเสียงกลิ่นรส

ดังนั้นการจะดึงได้นี้มันต้องปฏิบัติทั้งวันทั้งคืน

 เพราะเรานั่งสมาธิครึ่งชั่วโมง

พอออกมาปั๊บเราก็ไปเปิดทีวีดู

 ไปเปิดตู้เย็นหาอะไรดื่มหาอะไรกินต่อ

 อย่างนี้มันยังไม่ได้ปฏิบัติจริงๆ จังๆ

ปฏิบัติแบบดูหนังตัวอย่าง

ชิมหน่อย ชิมรสของการนั่งสมาธิสัก ๒๐ นาที ๓๐ นาที

พอลุกออกมาก็อยากรูปเสียงแล้ว อยากหาขนมกิน

 อยากหาเครื่องดื่มมาดื่ม อยากดูทีวีดูอะไร

ดูมือถือเดี๋ยวนี้มือถือมีให้ดูทุกอย่าง

อยากจะดูอะไรนี้เปิดดูได้เลย

คนที่อยากจะนั่งสมาธิให้สงบนี้ต้องปิด

ต้องไม่ใช้มือถือ

 ใช้เฉพาะเวลาจำเป็น เช่นต้องติดต่อธุระ

ใช้เป็นแค่โทรศัพท์ก็พอ แม้แต่โทรศัพท์ก็ไม่ต้องใช้

ถ้าอยากจะให้จิตเข้าข้างใน

 ต้องตัดเรื่องข้างนอก ออกไปให้หมด

ไม่รับไม่สนใจไม่ติดต่อกับใคร

ถ้ามันยังติดต่ออยู่มันจะคอยกังวล

ว่ามีใครโทรเข้ามาหรือยัง

หรือบางทีเราก็อยากจะโทรหาคนนั้นโทรหาคนนี้

ใจมันก็เข้าข้างในไม่ได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

................................

สนทนาธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๙






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 กันยายน 2559
Last Update : 8 กันยายน 2559 10:05:29 น.
Counter : 799 Pageviews.

1 comment
### กิเลสทำให้ใจทุกข์ ธรรมทำให้ใจไม่ทุกข์ ###











“กิเลสทำให้ใจทุกข์

ธรรมทำให้ใจไม่ทุกข์”

การปฏิบัติมันจะกำจัดกิเลสไปเรื่อยๆ

 มันจะเห็นโทษของกิเลส

ว่ากิเลสนี่แหละที่ทำให้ใจทุกข์

และธรรมนี่แหละเป็นตัวที่จะทำให้ใจไม่ทุกข์

ที่บอกว่าใจนี้สำคัญก็คือให้เรามาดูแลรักษาใจ

 อย่าไปดูแลรักษาอย่างอื่น

อย่างลูกไม่ต้องไปรักษามันหรอก

เลี้ยงมันให้มันโต ก็จบแล้ว

 ทรัพย์สมบัติข้าว ของเงินทองก็รักษาได้ ก็รักษาไป

แต่รักษาอย่างไรมันก็รักษาไม่ได้

มันก็ต้องจากกันไป ลาภยศ สรรเสริญ

 ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ที่พวกเราที่มนุษย์ทั้งโลกนี้ รักกันหวงกันแย่งกัน

 ฆ่ากัน ก็เพื่อสิ่งนี้ แต่แทนที่จะทำให้ใจเราสุข

กลับทำให้ใจเราทุกข์ใหญ่ นี่ไม่ใช่เป็นวิธีรักษาใจ

วิธีรักษาใจต้องทิ้งทุกอย่าง

เพราะของทุกอย่างนี้มันทำให้ใจเราวุ่ยวาย

 ถ้าไม่ยุ่งกับมันแล้วสบาย ให้รู้ว่าใจเป็นสิ่งที่สำคัญ

และต้องรู้จักวิธีรักษาใจว่ารักษาอย่างไร

 วิธีที่จะรักษาใจก็คือต้องทิ้งทุกอย่าง ไม่เอาอะไรเลย

 พระพุทธเจ้าเป็นลูกของกษัตริย์

ทิ้งหมดไปอยู่ในป่าคนเดียว

ไปรักษาใจเพียงอย่างเดียว

ใจยังถูกข้าศึกศัตรูรุมทำร้ายอยู่

ข้าศึกศัตรูของใจก็คือกิเลสตัณหา

ความโลภ ความอยากต่างๆ

ก็ต้องสร้างธรรมขึ้นมา

 สร้างสติ สร้างสมาธิ สร้างปัญญา

 พอมีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ก็มีอาวุธ

ท่านเรียกว่า “ธรรมาวุธ”

อาวุธที่จะมาทำลายข้าศึกศัตรูของใจ

ที่จะมาคอยสร้างความทุกข์ทรมานให้กับใจ

 ก็คือกิเลสตัณหานี่เอง พอมีธรรมาวุธ

 มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ก็จะทำลายกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจได้ พอหมดกิเลสตัณหาสงครามก็สงบ

 สันติภาพก็กลับคืน สันติสุขก็เกิดขึ้น

สันติสุขก็นิพพาน นิพพานัง ปรมัง สุขัง

 ตราบใดที่ยังมีสงครามมีการต่อสู้อยู่

 ความสงบก็ยังมีไม่ได้

ตราบใดที่การต่อสู้ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ข้าศึกศัตรูได้ถูกทำลายล้างหมดแล้ว

เวลานั้นสันติภาพก็เกิดขึ้น สันติสุขก็เกิดตามมา

 แล้วสันติภาพที่ไหนก็สู้สันติภาพที่ใจไม่ได้

 สันติภาพที่อื่น ภายนอกเช่น

 สันติภาพที่ประเทศโน้นประเทศนี้

 เวลาเขาทำสงครามกันแล้วเขาเลิก

แต่ใจก็ยุงทุกข์อยู่เหมือนเดิม

 เพราะใจก็ยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่

ดังนั้นอย่าไปหาหรือไปต้องการอะไรในโลกนี้

มันไม่มีคุณค่าราคาเหมือนกับการหาธรรม

เพื่อมารักษาใจของเรา เพราะใจเราเป็นใหญ่

 ความสุขความทุกข์ของใจเรานี้มันยิ่งใหญ่กว่า

ความสุขความทุกข์ทางร่างกาย

 ถ้าใจมีความสุขแล้ว ความทุกข์ของร่างกาย

จะไม่มีความหมายอะไร ถ้าใจมีความทุกข์แล้ว

 ความสุขของร่างกาย ก็ไม่มีความหมายอะไร

 ต่อให้เป็นพระราชามหากษัตริย์ มหาเศรษฐี

มีความสุขของพระราชาของมหาเศรษฐี

 แต่ถ้าใจทุกข์แล้วความสุขเหล่านั้น

เหมือนถูกกลบไปหมดเลย หายไปหมดเลย

 อยู่ในวังก็ร้อน อยู่ในคฤหาสน์ร้อยล้านพันล้าน

ก็ร้อน ใจทุกข์ ใจร้อน

ในทางตรงกันข้าม ถ้าใจสงบใจเย็นสบายแล้ว

 อยู่ในป่าอยู่โคนไม้อยู่คนเดียวก็ไม่เดือดร้อน

 พระพุทธเจ้าอยู่โคนไม้ได้ อยู่ในป่าคนเดียวได้

เพราะท่านสามารถทำใจให้สงบได้ ทำใจให้สุขได้

ดังนั้นมาให้ความสำคัญต่อการสร้างความสุข

ดับความทุกข์ของใจ

 อย่าไปให้ความสำคัญกับร่างกาย มากจนเกินไป

ร่างกายก็ทำได้ไม่ยากหรอก ไม่ต้องการมาก

ความสุขของร่างกายนี้ข้าวมื้อหนึ่งก็สุขแล้ว

 กินอาหารวันละมื้อนี้ก็พอแล้ว

มีผ้ามีเครื่องนุ่งห่มอยู่ชุดเดียวก็อยู่ได้แล้ว

มีเสื้อผ้าอยู่ชุดหนึ่งนี้ก็ได้แล้ว อยู่ได้

 ผ้า ๓ ผืน ผ้าไตรจีวร ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหนก็ได้

พอหลบแดดหลบฝนได้ ยารักษาโรคก็ตามมีตามเกิด

 มีอะไรก็กินไปรักษาไป หายก็หาย

ไม่หายก็อยู่กับมันไป อยู่ไปจนกว่ามันจะตายจากกันไป

 เรื่องการดูแลร่างกายนี้มันง่ายมาก

เหมือนเลี้ยงหมาตัวหนึ่ง เลี้ยงหมามันง่ายไหม

 ให้ข้าวมันกินวันละมื้อ มันก็อยู่ได้แล้ว

เสื้อผ้ามันก็ไม่ต้องมี หมามันดีกว่าคน

 เสื้อผ้าก็ไม่ต้องมี บ้านมันก็ไม่ต้องมี

นอนใต้ถุน นอนที่ไหนมันก็นอนได้

เวลาไม่สบาย มันก็ไม่เห็นต้องไปโรงพยาบาล

 ไม่เห็นต้องกินยา มันก็อยู่ของมันได้

 มันก็ตายเหมือนกัน อยู่ไม่ได้มันก็ตายเหมือนกัน

 คนมีบ้านมีเสื้อผ้ามีอาหาร มียารักษาโรค

มีโรงพยาบาล มันก็ตายเหมือนกัน

 ดังนั้นอยู่แบบหมาดีกว่า หัดอยู่แบบหมา

แล้วจะสบาย อยู่แบบหมากินแบบหมา

พระกินแบบหมา เอาอาหารคลุกในบาตร

เวลาจะคลุกให้ข้าวหมากัน พระท่านก็กินอย่างนั้น

ท่านไม่ต้องกินแบบคนเพราะมันวุ่นวาย มันยุ่งยาก

 กินแบบหมานี้มันง่าย อะไรก็ได้ใส่แล้วคลุก

เดี๋ยวมันก็เข้าไปรวมกันในท้องอยู่ดี

จะแยกกันเป็นจานๆ หวาน คาว

ขนมเครื่องดื่มเดี๋ยวมันก็ไปรวมกัน ในท้องอยู่ดี

ไปรวมในท้องแล้วควักออกมาอยากจะกินเข้าไปไหม

 อยู่แบบหมา กินแบบหมา

 อยู่แบบขอทาน กินแบบขอทาน

แล้วมันไม่วุ่นวาย มันสบาย

เหมือนโยมก็อยากจะให้เรากินแบบพระ

 ดื่มน้ำต้องมีถ้วยน้ำ ถ้ากินจากขวดไม่เหมาะสม

 เป็นพระต้องมีถ้วย ต้องเป็นถ้วยที่มีลายคราม

ถึงจะเหมาะสมกับความเป็นพระ

แต่เขาไม่รู้ว่าพระจริงเป็นอย่างไร

พระจริงเขาอยู่แบบขอทาน เขาอยู่แบบหมากัน

 เขากินแบบหมา นอนกับดินกินกับทราย

พระธุดงค์อยู่ที่ไหน

พระธุดงค์ขนเตียงขนหมอนไปได้ที่ไหนล่ะ

ท่านก็เอากลดเอาบาตรไปเท่านั้นเอง

นั่นแหละชีวิตคนที่ให้สำคัญต่อใจ

ท่านจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อร่างกาย

พระธุดงค์ท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจ

 เพื่อสร้างความสุขทางใจ

ท่านก็เลยไม่มาเสียเวลา

กับการสร้างความสุขทางร่างกาย

เพราะความสุขทางร่างกายมันก็นิดเดียว

 ทำให้ดีขนาดไหนอยู่บ้านร้อยล้านพันล้านมันก็นิดเดีย

 มันก็เหมือนตุ่มน้ำเล็กๆ ตุ่มหนึ่ง

คนจะกินร้อยบาทพันบาทมันก็เต็มตุ่มเหมือนกัน

 พอท้องมันอิ่ม มันก็อิ่มเหมือนกัน

 ดังนั้นเรื่องความสุขทางร่างกายนี้

สำหรับผู้ที่รู้ความจริงว่าใจสำคัญกว่าก็จะไม่เสียเวลา

พยายามให้เวลากับมันน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นจริงๆ

ให้มันเท่าที่จำเป็นจริงๆ กินก็กินมื้อเดียว

 นอนก็นอนตามมีตามเกิด

ที่ไหนที่หลบแดดหลบฝนได้ก็ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา

 ตามเรือนร้าง ตามโคนไม้

พระสมัยพุทธกาลท่านอยู่กันอย่างนี้

 อาหารก็บิณฑบาตมื้อหนึ่ง

ผ้าก็เอาผ้าขี้ริ้วไปเอาผ้าที่เขาทิ้งในป่าช้า

 ทิ้งในกองขยะมารวบรวมไว้ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยมารวบรวม

แล้วก็มาปะมาเย็บให้มันเป็นผืนใหญ่ขึ้นมา

แล้วก็ซักย้อมเอาแก่นไม้มาต้มน้ำ

 แล้วเอาน้ำแก่นไม้นี้มาซักย้อม

ก็ได้ผ้ากาสาวพัสตร์ขึ้นมา

นี่แหละผู้ที่เขาแสวงหาความสุขทางใจ

 ผู้ที่เห็นความสำคัญของใจ เขาไม่ค่อยจะมาเสียเวลา

กับเรื่องของร่างกาย ไม่เหมือนพวกที่ไม่รู้

แล้วก็เลยเห็นความสำคัญของทางร่างกาย

ดูเขากินอาหารกัน อาหารมื้อหนึ่งนี้จานกี่ใบ

 ช้อนกี่อัน ซ่อมกี่อัน แก้วกี่แก้ว แก้วน้ำแก้วเหล้า

 แก้วกาแฟ ช้อนตักซุป ช้อนตักขนม ช้อนตักอะไร

โอ๊ย..ร้อยแปดพันประการ คนที่จะกินต้องไปเรียน

 ไม่รู้จะใช้ช้อนไหน ใช้ผิดช้อนก็โดนเขาด่าอีก

 หาว่าเชยว่าโง่ ความจริงไม่รู้ใครโง่กันแน่

คนที่เชยก็คือเอามือกิน

 พระกรรมฐานท่านไม่ใช้ช้อน

 เวลาท่านฉันในบาตรนี้ฉันด้วยมือ

 นี่แหละช้อนวิเศษ

 หยิบได้ทุกอย่างทุกชนิดไม่ต้องเปลี่ยนช้อน

 กินแบบฝรั่งมื้อหนึ่งนี้ โอโฮ..อาหาร ๓ - ๔ จาน

ช้อนก็ต้องใช้แต่ละชุด แก้วก็ต้องแต่ละชุด

กินเสร็จต้องมานั่งล้างกันอีก เหนื่อยนะ

 ก่อนจะกินก็ต้องมาเตรียมมาตั้งโต๊ะมาจัด

 เวลากินก็ต้องมาแต่งเนื้อแต่งตัวให้หรูหราอีก

 แล้วมันจะทำไปทำไม

 ความสุขชั่วปลายลิ้นใช่ไหม

 กินเสร็จอิ่มแล้วก็จบแล้ว

 เดี๋ยวมื้อต่อมาก็หิวอีกแล้ว

 อยากจะกินอีกแล้ว ทุกข์อีกแล้ว

 แต่ถ้ามีความสุขทางใจนี้กินมื้อเดียวก็อิ่ม

อดบ้างก็ไม่เดือดร้อน อดมื้อกินมื้อก็อยู่ได้

 ใจมีความสุขแล้ว

ความทุกข์ทางร่างกายนี้มันเบามาก

ความสุขทางใจมันมีกำลังมากกว่า

มันเลยทำให้ไม่รู้สึกเดือดร้อน

กับความทุกข์ทางร่างกาย

พระพุทธเจ้า พระอรหันต์เวลาท่านตาย

ท่านไม่ร้องโอดครวญ

ท่านเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไรเลย

 รู้ว่ามันเจ็บ แต่มันไม่เจ็บ

แบบคนที่ไม่รู้ว่ามันไปเจ็บที่ใจ

 เจ็บด้วยความกลัว พอมีอะไรเจ็บนิดหนึ่ง

กลัวขึ้นมาแล้ว ความกลัวความเจ็บนี้

มันร้ายกาจกว่าความเจ็บอีก

 หมอบอกจะฉีดยาเข็มเดียวนี้ใจกลัวไปแล้ว

 ใจเจ็บไปก่อนแล้ว

ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธานก็คือว่า

ใจเป็นของที่สำคัญที่สุด ที่เราต้องให้ความสำคัญ

 คำว่าอยากก็เป็นของที่สำคัญเป็นประธาน

เป็นของที่ดีที่สุดสุดยอด ของสิ่งต่างๆ

 ที่มีอยู่ในโลกนี้ แต่ใจของเราตอนนี้

มันเป็นใจที่ถูกกิเลสตัณหาเหยียบย่ำ

 มันก็เลยไม่มีคุณค่าราคาไม่ได้ให้ความสุขกับเรา

 เราก็เลยไปหาความสุขจากสิ่งอื่นแทน

 แทนที่จะหาความสุขจากใจ

เราก็เลยไปหาความสุขจากลาภยศ สรรเสริญ

 หาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รสกัน

แต่ความสุขเหล่านี้เป็นความทุกข์

เพราะว่ามันไม่เที่ยง มันไม่ถาวร

 ได้มาแล้วก็หมดไป หมดไปก็ต้องหาใหม่

แล้วพอหาไม่ได้ก็ทุกข์ อยากกินพอได้กินก็สุข

 ถ้าอยากกินแล้ว ไม่ได้กินก็ทุกข์

แต่ถ้าใจนี้สงบ นี้กินก็ได้ไม่กินก็ได้

ไม่กินอย่างมากก็แค่ตาย แต่ใจไม่ทุกข์

กับการอดยากขาดแคลนอดมื้อกินมื้อ

 พระพุทธเจ้าอดได้ตั้ง ๔๙ วันใจไม่หิว

 ใจมีความสงบ เพียงแต่ตอนนั้น

ความสงบยังไม่ได้

 เป็นความสงบที่ถาวรเท่านั้นเอง

 เป็นความสงบที่จะต้องเข้าไปในสมาธิ

 พอออกจากสมาธิมาก็ทุกข์

 ตอนหลังพบวิธีทำให้ใจไม่ทุกข์

ด้วยการไม่ต้องเข้าไปในสมาธิ

เพราะไปค้นต้นเหตุของความทุกข์เจอว่า

 คือความอยากต่างๆ

พอหยุดความอยากได้ก็จะไม่ทุกข์กับอะไร

ไม่ต้องเข้าไปในสมาธิ

 ร่างกายเจ็บก็ไม่ต้องเข้าไปในสมาธิก็ได้

รู้ว่าความทุกข์เกิดจากความกลัวความเจ็บ

ความอยากให้ความเจ็บหายไป

ก็หยุดมันเท่านั้นเอง ทำใจเฉยๆ

สักแต่ว่ารู้ ความทุกข์ใจก็จะไม่มี

ก็เหลือแต่ความทุกข์ทางร่างกายที่ไม่รุนแรง

ไม่สาหัสอะไร อยู่กับมันได้

อันนี้เป็นการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ก่อนหน้านั้นทุกคนเวลาจะหนีความทุกข์

ก็หลบความทุกข์ ก็ต้องเข้าไปในสมาธิ

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทนไม่ไหวก็นั่งสมาธิทำใจให้สงบ

 พอใจสงบก็หยุดความอยากได้ชั่วคราว

แต่ไม่รู้ว่าที่ทำสมาธินี้ทำเพราะหยุดความอยาก

 ก็คิดว่าทำเพื่อให้ใจสงบ ไม่รู้ว่าความสงบของใจนี้

มันทำให้ความอยากมันสงบตัวลงไปด้วย

ไม่รู้ว่าเวลาออกจากความสงบมา

 ความอยากมันก็โผล่ตามมาด้วย

พระพุทธเจ้าแยกความอยาก

ออกจากความไม่สงบของใจได้

เห็นว่าเวลาสงบ ความอยากก็สงบ

เวลาใจไม่สงบ ความอยากมันก็ออกมา

 พอแยกตัวความอยากนี้ออกไปได้

ไม่ต้องสงบก็ได้ ใจให้เฉยๆ ให้รู้เฉยๆ

คิดเรื่องอะไรก็ได้ อย่าไปคิดถึง

เรื่องที่ทำให้เราอยากเท่านั้นเอง มันก็ไม่ทุกข์แล้ว

เช่นทุกข์กับลูกนี้ พอไปคิดเรื่องอื่นปั๊บนี้มันก็ลืมแล้ว

 ก็ไม่ทุกข์กับมันแล้ว หรือถ้าคิดแบบปัญญาได้

ก็ช่างหัวมัน ตัวใครตัวมัน

เราทำอะไรไม่ได้เราไม่ใช่เขา

นี่ก็คือธรรมะของพระพุทธเจ้า

ธรรมะที่จะมาดูแลรักษาใจของเรา ให้สงบ

ให้ปราศจากความทุกข์ต่างๆ

ด้วยการไปทำร้ายข้าศึกศัตรูของใจ

 ก็คือกิเลสตัณหาความโลภ ความอยากต่างๆ

 พอความโลภ ความอยากต่างๆ

ความโกรธ ความหลงต่างๆ หายไปหมด

ใจก็จะสงบ ใจก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

นี่คือเรื่องของศาสนาเรื่องของพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าที่พวกเรามาศึกษากัน

 ศึกษาแล้วก็ต้อง นำเอาไปปฏิบัติ

 เพราะว่าการศึกษานี้

ก็เป็นเพียงเหมือนกับการดูแผนที่

 เรายังไม่ได้ออกเดินทาง

ดูแผนที่ไป ๑๐ ปีก็ยังไปไม่ถึง

จุดหมายปลายทางที่เราต้องการไป

ถ้าเราไม่ออกเดินทาง

 แต่ถ้าเราออกเดินทาง

โดยไม่มีแผนที่ก็หลงทางอีก

ไม่รู้ว่าที่เราต้องการไปนั้นไปอย่างไร

 อยู่ทิศทางไหนต้องมาดูแผนที่ก่อนว่า

เราต้องไปตรงนี้ไปอย่างไร

จากบ้านเรา ออกจากบ้านแล้ว

ต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา

 พอรู้แล้วก็ต้องออกเดินทาง

ถ้าไม่ออกเดินทางก็จะไปไม่ถึง

 พระพุทธเจ้าสอนว่า

ถ้าอยากจะพบกับความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ถาวร

ความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย

 ความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

ก็ต้องปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา

ทานก็คือให้สละสมบัติ

ข้าวของเงินทองให้ไปหมดเลย

 ไม่ใช่ทำแค่ร้อยสองร้อย

อันนี้เป็นเพียงการทดลอง

ทำจริงๆ ต้องสละสมบัติหมดเลย

 เพราะสมบัตินี้เป็นเหมือนสมอเรือ

 เรือจะวิ่งได้มันต้องถอนสมอ

ถ้ายังติดอยู่กับสมบัติอยู่มันก็ไปบวชไม่ได้

 คนที่เขาไปบวช เขาต้องทิ้งสมบัติหมด

เขาถึงไปบวชได้

 เพราะเขาต้องการไปปฏิบัติศีลกับภาวนา

ศีลก็ต้องศีลของนักบวช

ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ขึ้นไป

ภาวนาก็สมาธิ ปัญญา

ก็ต้องมีเวลาปฏิบัติตลอดเวลา

 ไม่ใช่เอาแค่วันละชั่วโมง

นั่งสมาธิวันละชั่วโมงนี้มันไม่พอหรอก

เหมือนไปทำงานวันละชั่วโมง

จะได้เงินเดือน สักเท่าไร

เวลาทำงานทำตั้ง ๘ ชั่วโมง

 แต่เวลาปฏิบัติจะไปเอานิพพาน

แต่จะขอนั่งสมาธิแค่ชั่วโมงเดียว

 มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็ต้องปฏิบัติเต็มที่

 คือเปลี่ยนงาน พูดง่ายๆ ตอนนี้เราทำงานหาเงินกัน

 แล้วใช้เงินซื้อความสุขกัน

 พระพุทธเจ้าบอกเปลี่ยนงาน

มาทำงานของพระพุทธเจ้าดีกว่า

 งานนี้ไม่ต้องใช้เงิน

 เงินนี้ยกให้คนอื่นไปให้หมดเลย

จะได้ไม่ต้องมากังวล จะได้ไม่ต้องมามีภาระกับมัน

แล้วเราจะได้ไปทำงาน ของพระพุทธเจ้าได้เต็มร้อย

 ไปรักษาศีลได้เต็ม ๑๐๐

ไปนั่งสมาธิไปเจริญปัญญาได้เต็มร้อย

ต้องปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ

พระพุทธเจ้าสอนให้ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นจนหลับ

 ถ้าทำได้ ๗ วันก็จบ ไม่ ๗ วันก็เดือน

 ไม่ ๗ เดือนก็แค่อย่างมากก็ ๗ ปี

ต้องได้ผลอย่างแน่นอน

นี่คือการปฏิบัติ เมื่อศึกษาแล้วรู้แล้วว่าต้องปฏิบัติ

ก็ต้องปฏิบัติต้องไป

 คนที่เขาไปถึงนิพพาน ๙๙.๙๙ เปอร์เซ็นต์

เขาเป็นนักบวชกันทั้งนั้น

พวกที่ไม่ได้บวชนี้เขาเป็นพวกที่อัจฉริยะ

 เหมือนเด็กอัจฉริยะบางคน

 อายุ ๑๓ ก็จบปริญญาตรีได้ เขาเรียนที่บ้านก็ได้

 ไม่ต้องเข้าห้องเรียนไม่ต้องไปมหาวิทยาลัย

ไปสอบเทียบได้ นี่เพราะเขาป็นเด็กอัจฉริยะ

 เขามีปัญญามาแต่ดั้งเดิม

พวกที่ไม่ต้องบวชนี้เป็นพวกที่มีศีล สมาธิ ปัญญา

มาแต่ดั้งเดิม มีศีล สมาธิ

พอได้อ่านธรรมะของพระพุทธเจ้าก็บรรลุได้เลย

มีชายคนหนึ่งเขาฟังธรรมสั้นๆ

พระพุทธเจ้าบอกว่ากำลังบิณฑบาตไม่สะดวก

ขอเอาสั้นๆ คำสองคำก็พอ

เอาสุดยอดของธรรมเลย พระพุทธเจ้าก็บอกว่า

เธอเห็นอะไรก็ให้สักแต่ว่าเห็น

 ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน รู้อะไรก็ให้สักแต่ว่ารู้

 ฟังแค่นี้แกก็บรรลุแล้ว บรรลุหรือยัง

 เข้าใจไหมว่าเขาหมายความว่าอย่างไร

 ให้ทำใจเฉยๆ ไง อย่าไปโลภ อย่าไปอยากกับอะไร

 เห็นอะไรก็เฉยได้ไหม เห็นแล้วมันไม่เฉย

 เห็นแล้วก็รัก ชัง โกรธ เกลียดขึ้นมา ดีใจเสียใจขึ้นมา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

สนทนาธรรมะบนเขา

 วันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๙







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 กันยายน 2559
Last Update : 7 กันยายน 2559 10:46:33 น.
Counter : 858 Pageviews.

0 comment
### ผู้ที่จะเข้าถึงความสงบต้องทำตัวเหมือนคนตาย ###










“ผู้ที่จะเข้าถึงความสงบ

ต้องทำตัวเหมือนคนตาย”

คำว่าสมาธิก็คือดึงใจเข้าไปข้างใน เข้าไปในใจ

 ตอนนี้ใจของพวกเรา อยู่ที่รูปเสียงกลิ่นรส

 อยู่ที่ลาภยศ สรรเสริญกัน

ใจของพวกเราคิดแต่เรื่องนี้

 คิดว่าจะหาลาภ หายศ หาสรรเสริญ

 หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน

ไม่เคยคิดว่าจะเลิกหากันไม่เคยคิดว่าจะตัดมัน

 มีแต่จะหาอยู่เรื่อยๆ มันจึงเข้าข้างใจไม่ได้

 นั่งอย่างไรมันก็ไม่สงบ เพราะมันนั่งน้อยไป

นั่ง ๒๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง

แล้วก็ออกไป ๑๕ ชั่วโมง

 ออกไปข้างนอก ไปหารูปเสียงกลิ่นรส

ไปหาลาภยศ สรรเสริญ

วันหนึ่งนั่งสมาธิได้ครึ่งชั่วโมงได้ชั่วโมงหนึ่ง

มันจะได้เรื่องอะไร ในเมื่อมันปล่อยให้ใจ

ออกไปข้างนอกตลอดเวลา มันต้องนั่งให้มาก

 พอนั่งเสร็จ พอลุกขึ้นมาก็ไม่ไปหา รูปเสียงกลิ่นรส

 ลุกขึ้นมาก็เดินจงกรม ใช้สติดึงใจให้อยู่กับพุทโธๆ

 ให้อยู่กับร่างกายก็ได้ ไม่ให้ไปหาลาภยศ สรรเสริญ

 ไม่ให้ไปหารูปเสียงกลิ่นรส

ไม่ให้ไปหาเหตุการณ์ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ

แม้แต่ข่าวสารนี้ก็เป็นรูปเสียงกลิ่นรส

ผู้ที่ต้องการความสงบนี้ต้องตัดหมดเลย

 ต้องตัดลาภยศ สรรเสริญ ต้องตัดเรื่องราวต่างๆ

 เหตุการณ์ต่างๆ บุคคลต่างๆ สิ่งต่างๆ

ไม่ไปสนใจใยดีเลยไม่รู้เรื่อง

ไม่รู้ราวไม่สนใจ ไม่รับรู้

 ใครจะเป็นใครจะตายมันเรื่องของเขา

 เราต้องทำตัวของเราเหมือนคนตาย

 เราจึงจะสามารถตัดสิ่งต่างๆได้

สมมุติว่าถ้าเราตายวันนี้

เราก็ไม่สามารถ ที่จะติดต่อกับใครได้แล้ว

 ไม่สามารถติดต่อกับสิ่งต่างๆ กับบุคคลต่างๆ

กับเหตุการณ์ต่างๆได้ ลาภยศ สรรเสริญ

 สุขที่เรามีอยู่ ก็หมดจากเราไป

 มีเงินร้อยล้านพ้นล้านเวลาเราตาย

ก็ไม่ใช่เป็นของเราแล้ว

มีตำแหน่งเป็นนายกฯ เป็นอะไร

 พอตายไปก็ไม่เป็นแล้ว

มีสรรเสริญมีคนยกย่องเยินยอขนาดไหน

ตายแล้วก็เขาก็ไม่มายกย่องเยินยอ

ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายก็หาไม่ได้แล้ว

เราต้องสมมุติว่าเราเป็นคนตาย

 ถ้าเราอยากจะปฏิบัติเพื่อให้ใจเราเข้าข้างใน

เข้าสู่ความสงบ ต้องคิดว่าเราตาย

จากทุกสิ่งทุกอย่างไป ตายจากลาภยศ สรรเสริญ

 ตายจากรูปเสียงกลิ่นรส เราเป็นคนตายแล้ว

 เราติดต่อกับลาภยศ สรรเสริญ

ติดต่อกับคนนั้นคนนี้ไม่ได้แล้ว

 เงินทองของเราใครจะเอาไปทำอะไรนี้

เราไปห้ามเขาไม่ได้แล้ว ไม่ได้เป็นของเราแล้ว

 ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็จะสามรถตัดการติดต่อ

 ตัดการส่งใจให้ออกไปหาสิ่งต่างๆ ได้

 เราก็จะดึงใจด้วยพุทโธให้เข้าข้างในได้

การปฏิบัตินี้ก็เพื่อดึงใจเข้าข้างใน

จะดึงได้ก็ต้องตัดเชือกที่คอยผูกใจไว้

 เหมือนเรือนี้ถ้าจะให้เรือวิ่งได้

ก็ต้องตัดเชือกตัดสมอ

 ถ้ามันยังผูกติดอยู่กับท่าเรือนี้

วิ่งอย่างไรมันก็วิ่งไปไม่ได้

 ต้องตัดเชือกที่มันผูกอยู่กับท่าเรือ

พอตัดแล้วเรือมันก็จะวิ่งออกไปได้

ใจของเราจะเข้าข้างในได้

ก็ต้องตัดลาภยศ สรรเสริญ

 ตัดรูปเสียงกลิ่นรส ตัดบุคลต่างๆ

 คิดว่าตายจากกันแล้ว

 ตายจากพ่อจากแม่ จากพี่จากน้อง

จากสามี จากภรรยา จากบุตรจากธิดา

จากญาติสนิทมิตรสหาย

เราเหลือแต่ดวงวิญญาณดวงเดียวแล้ว

ผู้ปฏิบัติต้องคิดว่าตัวเองเป็นดวงวิญญาณ

 ไม่มีร่างกายที่จะติดต่อกับใครได้แล้ว

 ถ้าคิดอย่างนี้ได้ก็ไปอยู่ในป่าคนเดียวได้

จะไม่คิดถึงใคร ถ้าไปอยู่ในป่าคนเดียวได้

เดี๋ยวก็บรรลุธรรมได้

หลวงปู่มั่นท่านไปอยู่ในป่าองค์เดียว

 ท่านก็ไปบรรลุธรรมที่เชียงใหม่

ก่อนหน้านั้นท่านก็ยังมีความผูกพัน

กับลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมพระเณร

 คอยอบรมสั่งสอน

 ทำให้ท่านไม่มีเวล่ำเวลา

ที่จะดึงใจให้เข้าสู่ข้างในได้

 จนในที่สุดถ้าทำอย่างนี้ต่อไป

ก็ไม่มีวัน ที่จะบรรลุได้

 ท่านก็เลยอายุ ๖๐ แล้วก็ไปอยู่ป่า

 ไปธุดงค์ในป่าอยู่องค์เดียวไม่ยุ่งกับใคร

ไม่ให้ใครมาอยู่ด้วย

ลูกศิษย์ลูกหาจะตามมาไม่ให้มา

 ถ้าตามมาก็จะหนี ไม่ให้อยู่ด้วยกัน

ต้องการอยู่คนเดียวอยู่เหมือนคนตาย

 อยู่คนเดียวนี้ก็อยู่เหมือนคนตาย

คนตายนี้ไม่มีพี่ไม่มีน้องไม่มีสามี ไม่มีภรรยา

 ไม่มีพ่อไม่มีแม่ ไม่มีลาภยศ

 สรรเสริญ ไม่มีอะไรแล้ว

 มีแต่ดวงจิตดวงใจอันเดียว

ถ้าทำอย่างนี้จะควบคุมจะดึงใจ

เข้าสู่ความสงบได้ง่าย

 พุทโธๆๆไปเดี๋ยวเดียว จิตก็รวมได้

 พิจารณาทางปัญญาก็จะเห็นว่า

ทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ไปหมด

ร่างกายเป็นไตรลักษณ์เป็นอสุภะไป

 ตัดตัณหาความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจได้

 บรรลุธรรมได้ ผู้ที่บรรลุธรรมนี้

ส่วนใหญ่ไปบรรลุกันในป่าทั้งนั้น

 บรรลุในขณะที่อยู่องค์เดียว

พระอานนท์ขณะที่อยู่กับพระพุทธเจ้า

รับใช้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บรรลุ

เพราะใจของท่านเข้าข้างในไม่ได้

 เพราะห่วงพระพุทธเจ้า

ทำหน้าที่รับใช้พระพุทธเจ้า

คอยดูแลอัฐบริขารให้พระพุทธเจ้า

เป็นเลขาให้กับ พระพุทธเจ้าก็เข้าข้างในไม่ได้

 แต่พอพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

 พระอานนท์อยู่องค์เดียว

 ไปเดินจงกรมนั่งสมาธิในป่าองค์เดียว

 ๓ เดือนก็บรรลุแล้ว

นี่แหละเราต้องเปรียบเทียบดู

ผู้ที่เขาบรรลุ เขาบรรลุกันอย่างไร

 เขาอยู่ในสภาพไหน

 ผู้ที่ไม่บรรลุเขาอยู่ในสภาพไหน

 ถ้าเราอยากจะองค์เดียวบรรลุธรรม

 เราก็ต้องเอาตัวอย่างของคนที่เขาบรรลุธรรมกัน

 เขาบรรลุกันอย่างไร

เขาไม่ได้บรรลุกับการอยู่ร่วมกับ คนนั้นคนนี้

กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ กับสิ่งนั้นสิ่งนี้

 ถ้าจิตมันไปยุ่งกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ กับคนนั้นคนนี้

 กับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันจะเข้าข้างในได้อย่างไร

 มันออกอยู่ตลอดเวลา

มันถูกเรื่องต่างๆ ดึงออกมา

จะบรรลุธรรมได้ ใจต้องเข้าข้างใน

 ใจต้องตัดรูปเสียงกลิ่นรส ตัดลาภยศ สรรเสริญ

ตัดบุคคลต่างๆ ออกไปจากใจ เหมือนตายจากกัน

เราต้องมาหัดตายกัน ตายในขณะที่ยังเป็นอยู่

ร่างกายเรายังอยู่แต่ใจสมมุติว่าเราไม่มีร่างกายแล้ว

 เราจะไม่สามารถติดต่อกับคนต่างๆ ได้แล้ว

 กับสิ่งต่างๆได้แล้ว

เวลาคุณตายนี้ร่างกายนอนเฉยๆ ใช่ไหม

จะโทรศัพท์หาใครก็ไม่ได้แล้ว

 จะไปเยี่ยมใครก็ไม่ได้แล้ว

ไปงานแต่งงาน ใครเขาก็ไม่ให้ไปแล้ว

ถ้าคนตายไปงานแต่งงาน

เขาจะไล่กลับเสียด้วยซ้ำ มาทำไม??

 ถ้าอยากจะบรรลุธรรม

ต้องคิดว่าเราตายจากโลกนี้ไปแล้ว

ถ้ายังคิดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่อยู่

มันก็จะติดกับคนนั้นคนนี้ ติดกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

ติดกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็จะเข้าข้างในไม่ได้

สมัยนี้คนปฏิบัติธรรมเขาบอกว่า

ไม่ต้องนั่งสมาธิหรอก

 นั่งอย่างไรมันก็ไม่สงบ เอาปัญญานี่เลย

 แล้วปัญญามันจะตัดได้ไหม

ในเมื่อสมาธิมันยังทำไม่ได้

ปัญญานี้มันยากกว่าสมาธิไม่รู้กี่เท่า

 สมาธิเพียงแต่พุทโธๆ เท่านั้นเอง

 ถ้าเป็นปัญญาจริงมันก็จะสอนให้เราคิดว่า

เราตายไปแล้วนั่นแหละ นี่เรียกว่าปัญญาจริง

อนิจจัง ถ้าเป็นปัญญาจริง

 เราก็ต้องตัดทุกสิ่งทุกอย่างได้

ถ้าเป็นปัญญาปลอม

มันก็เลือกตัดในสิ่งที่มันไม่ชอบได้

 สิ่งที่มันยังชอบอยู่มันก็ไม่ตัด

 เช่นของที่เราไม่ชอบนี้เราโยนทิ้งได้

 แต่ของที่เราชอบนี้ยากไหมจะโยนทิ้ง

ของอะไรที่เราไม่ชอบก็พวกขวดเปล่า

เวลามีน้ำอยู่เราไม่ทิ้ง เก็บไว้ในรถได้

พอกินมันหมดแล้ว เก็บไว้ในรถไม่ได้แล้ว

ต้องโยนทิ้งออกนอกรถ

อันนี้พูดไปให้ญาติโยมมีข้อคิดบ้าง

 ก็จะได้ไม่สงสัยว่า

ทำไมเรานั่งสมาธิไม่เคยได้ผลกันเลย

 ปัญญาก็ตัดกิเลสไม่ได้

 ยังเสียดายยังรักยังหวงอยู่

ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าจะต้องจากกันก็ยังไม่ยอมจากกัน

 จะจากกันก็ต้องถูกบังคับให้จาก จึงจะจากกัน

ฟังเทศน์เราก็ฟังอยู่เรื่อยๆว่า ร่างกายนี้ไม่เที่ยง

 เกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

 แต่เราไม่ยอมตายกัน ถ้าไม่ถูกบังคับให้ตาย

เราก็ไม่ยอมตายกัน ถ้าเรายอมตายนี้เราจะสบาย

 เราจะตัดกิเลสได้ ตัดความทุกข์ได้

 แต่เราไม่ยอมตาย

เราก็เลยต้องทุกข์กับความตายกัน

 ทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์กับความแก่

เพราะความไม่ยอม เพราะคิดว่าเรามีปัญญา

แต่มีปัญญาแต่ตัดกิเลสที่ทำให้เราทุกข์

กับเรื่องความแก่ ความเจ็บ ความตาย

ไม่ได้ รู้ว่าเราเกิดมาแล้วต้องแก่

 ต้องเจ็บ ต้องตาย อันนี้คือปัญญา

แต่ปัญญาที่จะเป็นปัญญาแท้จริง

ต้องตัดได้จึงจะเรียกว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง

 เพียงแต่รู้เฉยๆ แต่ตัดไม่ได้นี้

ยังไม่ถือว่าเป็นปัญญาที่แท้จริง

เมื่อเรารู้แล้วว่าเราเกิดมาแล้วต้องแก่

 ต้องเจ็บ ต้องตาย

 ทำไมเราปล่อยไม่ได้ ทำไมเรายอมให้มันแก่

มันเจ็บ มันตายไม่ได้

ก็แสดงว่าปัญญาเราไม่มีกำลังที่จะตัด

ตัดกิเลสคือความอยากไม่แก่

 อยากไม่เจ็บ อยากไม่ตาย

ก็รู้อยู่ไม่ใช่หรือว่าต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

แล้วทำไมไม่ยอม

ทำไมยังอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

อยากไปแล้วมันทำให้ไม่แก่

 ไม่เจ็บ ไม่ตายหรือเปล่า

 มันก็แก่ เจ็บ ตายเหมือนเดิม

 แต่ถ้าไม่มีความอยากไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

มันจะไม่ทุกข์ มันจะสบายใจ มันจะเฉยๆ

 มันจึงต้องปฏิบัติ รู้เฉยๆ นี้ไม่พอ

ศึกษาเฉยๆนี้ไม่พอ ศึกษาแล้วต้องมาปฏิบัติ

ต้องมาทำใจให้ได้

การปฏิบัติก็คือการทำใจ

ทำใจให้รับกับความจริงที่เราได้ศึกษามา

เราได้ศึกษามาร่างกายนี้ไม่เที่ยง

 ไม่ใช่ตัวเราของเรา มาจากดินน้ำลมไฟ

เดี๋ยวถึงเวลามันก็ต้องแก่ เจ็บ ตายไป

 ถ้าเรายอมให้มันแก่ เจ็บ ตาย เราจะไม่ทุกข์เลย

 ที่เราทุกข์เพราะเราไม่ยอม ไม่ยอมเเก่

ไม่ยอมเจ็บ ไม่ยอมตายกัน

 เห็นไหมไปทำศัลยกรรมกัน

 ไปย้อมผมกันเปลี่ยนสีกัน

 พอมันขาวก็หาสีใหม่

เดี๋ยวนี้นอกจากสีดำแล้ว

 ก็มีสีแดงสีเขียวเยอะแยะไปหมด

เลยดูไม่รู้ว่าแก่หรือสาว

ความจริงคนแก่นี้จะเจ็บไม่ยอมเจ็บกัน

วิ่งหาหมอ หายากันไป

ที่มีปัญญาว่าเกิดมาแล้วต้องแก่

 ต้องเจ็บ ต้องตาย

ถ้าเป็นปัญญาจริงนี้มันจะหมด

 ทั้งๆทำให้ใจสงบ ไม่ใช่ให้ทำให้ใจทุกข์

 ถ้าเป็นปัญญาปลอมมันจะทำให้ใจทุกข์

 เพราะมันจะไม่ยอมแก่ไม่ยอมเจ็บไม่ยอมตาย

ดังนั้นต้องมาปฏิบัติ

 ฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างเดียว

ยังไม่ได้เป็นปัญญาจริง

 ยังไม่ได้เป็นธรรมแท้ ถ้าเป็นธรรมแท้นี้

 ต้องรักษาใจให้สงบได้ทุกเวลา

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นใจจะนิ่งจะเฉย

จะไม่เดือดร้อนจะไม่วุ่นวายจะไม่หวาดกลัว

 ถึงจะเป็นปัญญาจริงถึงจะเป็นธรรมแท้

ธรรมแท้จะรักษาใจให้สงบให้ปลอดภัย

จากความทุกข์ต่างๆ ถ้ายังมีธรรมะแล้ว

ใจยังทุกข์อยู่ก็แสดงว่าไม่ได้เป็นธรรมะแท้

ไม่ได้เป็นปัญญาที่แท้จริง

 ถ้าเป็นปัญญาที่แท้จริงนี้

ใจจะไม่ทุกข์กับอะไรเลย

ดังนั้นการได้ฟังเทศน์ฟังธรรมเพียงอย่างเดียว

 เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

 ต้องฟังจะได้รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไร

 ถ้าไม่ฟังเราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอะไร

 ตอนนี้ฟังเรารู้แล้ว

สิ่งที่เราต้องปฏิบัติก็คือต้องทำใจ

 เราต้องปลงให้ได้ วางให้ได้

ปล่อยให้ได้ ตัดให้ได้

กับของที่ไม่ใช่เป็นของเรา

กับของที่จะต้องเสื่อม

จะต้องจากเราไป ถ้าเราปลงได้ ยอมได้

 ทำใจได้ เราก็จะไม่ทุกข์

ตอนนี้เราทำไม่ได้เพราะเราไม่มีกำลัง

 ใจเราไม่มีกำลังปล่อย เราต้องมาหัดปล่อย

 ด้วยการนั่งสมาธิ

เวลานั่งสมาธิเราก็ปล่อยทุกอย่าง

แล้วดึงใจเข้าข้างในก็เลยกลับมาที่ว่า

ทำไมเราต้องทำตัวเรา เป็นเหมือนคนตาย

 เพื่อเราจะได้ปล่อย

 ถ้าเราคิดว่าเราเป็นคนตายแล้ว

เราก็ปล่อยทุกอย่างแล้ว

 ตอนนี้เราก็สมมุติว่าเราเป็นคนตายแล้ว

เราก็ไปอยู่คนเดียวปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง

 แล้วเราก็จะทำใจให้สงบได้

ทำใจให้เป็นสมาธิได้

พอใจเป็นสมาธิแล้วก็จะปล่อยได้

จะวางได้จะปลงได้

 ทุกสิ่งทุกอย่างจะไม่ทุกข์กับสิ่งทุกอย่าง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

สนทนาธรรมะบนเขา

 วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๙




ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 กันยายน 2559
Last Update : 6 กันยายน 2559 9:02:51 น.
Counter : 845 Pageviews.

1 comment
### ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ###










“ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อบรรลุ

มรรคผลนิพพาน”

การปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน

ก็มีขั้นมีตอนเหมือนกัน เพราะธรรมแต่ละขั้นนี้

จะเป็นผู้ที่สนับสนุนธรรม ขั้นที่สูงขึ้นไปนั่นเอง

เช่นสติก็จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดสมาธิขึ้นมา

สมาธิก็จะสนับสนุนให้เกิดปัญญาขึ้นมา

ปัญญาก็จะสนับสนุนให้บรรลุมรรคผล นิพพาน

ให้จิตได้หลุดพ้นจากความทุกข์ต่างๆ

ถ้าไม่มีสติก็จะไม่สามารถ

ที่จะทำให้เกิดสมาธิขึ้นมาได้

 ถ้าไม่มีสมาธิก็จะไม่สามารถผลิตปัญญา

เพื่อตัดต้นเหตุของความทุกข์

คือความโลภ ความโกรธ

 ความหลง ความอยากต่างๆ ได้

 ถ้าไม่มีปัญญาตัดกิเลสความโลภ ความโกรธ

 ความหลงต่างๆ

ก็จะไม่สามารถดับความทุกข์ต่างๆ ได้

 ไม่สามารถบรรลุมรรคผล นิพพานได้

ดังนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องใจเย็นๆ

 ต้องทำตามขั้นตอนอย่าข้ามขั้นแล้ว

จะเสียเวลาไปเปล่าๆ

 เพราะจะไม่ได้ผลอะไร เช่นสติยังไม่มี

สมาธิยังไม่มีก็จะไปขั้นปัญญาเลย

ปัญญาก็จะไม่เป็นปัญญาจริง จะเป็นปัญญาปลอม

 คือจะเป็นสัญญาจะจำได้แต่เวลาที่จะใช้ก็ลืมนึกไม่ถึง

 เวลาเกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลงขึ้นมา

 ก็ลืมนึกถึงปัญญาไป อย่างนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 มารู้ปัญญาตอนที่ยังไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง

แต่พอเกิดความโลภ เกิดความโกรธ

เกิดความหลงขึ้นมาก็ลืมปัญญาไป

กลับไปทำตามความโลภ ความโกรธ ความหลง

ก็จะไม่สามารถที่จะดับความทุกข์ได้

การที่จะไม่หลงไม่ลืมปัญญานี้จำเป็นจะต้องมีสติ

มีสมาธิก่อน ถ้ามีสติ มีสมาธิแล้วเวลาพิจารณาอะไร

 ก็จะติดอยู่กับใจ แล้วเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา

เกิดความทุกข์ขึ้นมา

เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 เกิดความอยากขึ้นมาก็จะมีปัญญา

 เข้ามากำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 กำจัดความอยากต่างๆได้

ก็จะดับความทุกข์ที่ปรากฏขึ้นมาภายในใจได้

 ทำให้บรรลุมรรคผล นิพพานขั้นต่างๆ ได้

ดังนั้นถ้าเราจะเริ่มต้นเราต้องเริ่มต้นที่การเจริญสติ

ต้องเพียรสร้างสติขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ต้องทำตั้งแต่เวลาที่เรา ตื่นขึ้นมาเลย

 สติก็คือผู้ที่จะมาควบคุมสังขาร

ความคิดปรุงเเต่งนี่เอง

 ถ้าเราปล่อยให้สังขารความคิดปรุงเเต่งคิดไปเรื่อยๆ

 มันก็จะคิดไปในทางของกิเลสตัณหา

 เพราะว่าใจของปุถุชนนี้ยังอยู่ภายใต้อำนาจ

ของอวิชชา ปัจจยา สังขารา อวิชชา ปัจจยา

 สังขาราก็คืออวิชชาเป็นผู้ผลักดันเป็นผู้ชักจูงให้คิด

ไปในทางของกิเลสตัณหา ของความโลภ

ของความโกรธ ของความหลง

คือจะคิดให้ออกไปหาสิ่งต่างๆ ภายนอกใจ

ให้ออกไปหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ให้ไปหาความสุขจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

แล้วก็ให้เกิดตัณหาความอยาก

ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 แล้วก็เกิดความทุกข์ตามมา

เวลาที่ได้ไม่ได้ตามความอยาก

หรือเวลาที่สูญเสีย สิ่งที่ได้มาไป

อันนี้ไม่ใช่เป็นทางที่จะพาไปสู่ความดับทุกข์

 แต่เป็นทางที่จะพาให้ไปสู่ความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไป

ดังนั้นเราจึงต้องหยุดอวิชชา ปัจจยา สังขาราให้ได้

 ด้วยการเจริญธัมมา ปัจจยา สังขารา

คือให้ธรรมะคือสตินี้

 เป็นผู้ควบคุมสังขารให้หยุดคิด

ไปในทางกิเลสตัณหา ในทางควมโลภ

ในทางความอยากต่างๆ

ด้วยการบริกรรมพุทโธๆ เป็นต้น

 ถ้าสังขารมีแต่การบริกรรมพุทโธๆไป

 อวิชชา ปัจจยา สังขาราก็จะไม่สามารถ ทำงานได้

เพราะอวิชา ปัจจยา สังขาราก็จะต้องใช้สังขาร

ความคิดปรุงเเต่งอันเดียวกัน

ถ้าสังขารความคิดปรุงเเต่ง ปรุงเเต่งไปในทาง

การบริกรรมพุทโธๆ สังขารความคิดปรุงเเต่ง

ก็จะไม่สามารถปรุงเเต่งไปในทาง

อวิชชา ปัจจยา สังขาราได้

ไม่สามารถไปคิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ไม่สามารถไปคิดถึงลาภยศ สรรเสริญได้

พอไม่สามารถที่จะไปคิดถึงเรื่องราวต่างๆ ได้

ใจก็จะว่างจะเย็น จะสบาย

ถ้านั่งเฉยๆ ได้ ควบคุมความคิด

ให้อยู่กับการบริกรรมพุทโธต่อเนื่องได้

 ใจก็จะรวมเข้าสู่ความสงบได้ เป็นสมาธิได้

 เป็นอุเบกขาได้ พอใจเป็นอุเบกขา

ก็จะได้พบกับความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง

 ที่เรียกว่าสันติสุข

 ซึ่งเป็นความสุขที่เหนือกว่าความสุข

ทั้งหลายในโลกนี้

ถ้าได้เข้าพบกับสันติสุขอันนี้แล้ว

ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย

ต่อความสุขต่างๆ ที่เคยได้รับ

ผ่านทางลาภยศ สรรเสริญ

ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

จะเกิดศรัทธา จะเกิดฉันทะ วิริยะ

ที่จะเจริญที่จะรักษาอุเบกขา

รักษาความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ให้อยู่ไปนานๆ

 ให้เป็นถาวร อันนี้ก็จะทำให้เกิดมีกำลังจิตกำลังใจ

ถ้าจิตได้รวมลงเป็นอุเบกขาแล้ว

จะรู้แล้วว่าความสุขที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่

 ที่ดีกว่าความสุขทั้งหลายนี้ไม่ได้อยู่ที่ภายนอกใจ

 แต่อยู่ที่ภายในใจ อยู่ที่ความสงบของใจนี่เอง

พอได้พบอย่างนี้แล้วก็จะมีความเพียรพยายาม

ที่จะดึงใจให้เข้าข้างในเพื่อที่จะได้รักษาความสุข

ที่เกิดจากความสงบอันนี้ไว้

เวลาออกมาจากความสงบก็จะใช้ปัญญาเป็นเครื่องมือ

ในการต่อสู้กับ ความอยากต่างๆ

ที่ยังไม่ได้ตายไปจากการเข้าไปในสมาธิ

 เวลาอยู่ในสมาธิความอยากต่างๆ

 ก็จะหยุดทำงาน ชั่วคราว เป็นเหมือนกับหินทับหญ้า

สมาธินี้เป็นเหมือนหิน หญ้านี้เป็นเหมือนกิเลสตัณหา

ความโลภ ความอยากต่างๆ เวลาเข้าไปในสมาธิ

ก็เหมือนกับเอาหินไปทับหญ้าเอาไว้

หญ้าก็จะไม่สามารถเจริญงอกงาม ขึ้นมาได้

 แต่หญ้าที่ถูกหินทับอยู่นี้ ยังไม่ตาย

เพราะยังมีรากอยู่ในดิน

เวลาเอาหินออกมาหินออกจากหญ้าไป

ไปรับน้ำ น้ำค้าง ได้รับน้ำฝนหญ้าก็จะงอกงาม

กลับคืนขึ้นมาใหม่ ฉันใด

เวลาที่จิตเข้าไปในสมาธิ เข้าไปในความสงบ

กิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากต่างๆ ก็จะหยุดทำงานชั่วคราว

ไม่สามารถทำงานได้ เพราะกิเลสตัณหา

ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ต้องอาศัยสัญญา สังขารเป็นเครื่องไม้ เครื่องมือ

ในการทำงาน แต่เวลาที่จิตสงบ

สัญญา สังขารนี้จะไม่ทำงานก็เลย

 ไม่สามารถออกมาได้ แต่พอออกจากสมาธิมา

 จิตเริ่มคิดปรุงเเต่ง เริ่มใช้สัญญา สังขาร กิเลสตัณหา

ก็จะแย่งกับธรรมะทันที

ถ้าไม่มีสติไม่มีการบริกรรมพุทโธต่อ

หรือถ้าไม่มีปัญญา

คือการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 อวิชชา ปัจจยา สังขาราก็จะกลับมาทำงานต่อ

ก็จะคิดถึงความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

คิดถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

แล้วก็จะเกิดตัณหาความอยาก

ที่จะเสพรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เกิดความอยากที่จะไปหา

ลาภยศ สรรเสริญ สุขต่ออีก

ดังนั้นถ้าออกมาจากสมาธิแล้ว

 ถ้ายังอยากจะรักษาความสงบความสุข

ที่ได้จากความสงบของสมาธินี้

ก็จำเป็นจะต้องใช้สติ

หรือใช้ปัญญารักษาไว้

ถ้ายังใช้ปัญญาไม่เป็นก็ใช้สติไปก่อน

 เช่นเวลาเข้าสมาธิใช้อะไรเป็นสติกำกับ

ก็ใช้อย่างนั้นต่อ

ถ้าใช้การบริกรรมพุทโธก็บริกรรมพุทโธต่อ

 ถ้าใช้การเฝ้าดูร่างกาย เรียกว่ากายคตาสติ

ก็เฝ้าดูร่างกายต่อ

อย่าปล่อยให้ใจไปคิดถึงเรื่องต่างๆ

ในอดีตก็ดี ในอนาคตก็ดี ให้จิตอยู่กับปัจจุบัน

 ให้สักแต่ว่ารู้ เช่นรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย

รู้การกระทำต่างๆ ของร่างกาย

 อย่างนี้ก็จะรักษาความสงบความอุเบกขาของจิต

ที่ได้จากสมาธิไว้ได้ แต่มันก็เป็นการรักษาไม่ถาวร

เวลาใดที่เผลอไม่ได้ควบคุมไม่ได้บริกรรมพุทโธ

 ไม่มีการจดจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหว

กับการกระทำของร่างกาย

เผลอไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็จะเกิดความอยากขึ้นมา

 แล้วพอไปทำตามความอยาก

ก็จะทำให้อุเบกขา

 ความสงบที่ได้จากสมาธินี้จางหายไปได้

 แต่ถ้าอยากจะรักษาแบบที่จะให้อยู่อย่างถาวร

ก็จำเป็นที่จะต้องเจริญปัญญา

 ต้องรู้จักการพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 ในสิ่งต่างๆ ที่ใจไปอยากได้

 เช่นอยากได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

ก็ต้องพิจารณาให้เห็นว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 เป็นอนิจจัง เป็นของชั่วคราวเป็นความสุขชั่วคราว

เวลาที่ความสุขชั่วคราวนี้หมดไป

ก็จะมีความทุกข์กลับมาแทนที่

เป็นอนัตตาก็คือไม่สามารถควบคุมบังคับ

ไปสั่งให้ความสุขชั่วคราวนี้เป็นความสุขถาวรได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗

“ต้องศึกษาให้ถ่องแท้”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 05 กันยายน 2559
Last Update : 5 กันยายน 2559 11:23:31 น.
Counter : 844 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ