Group Blog
All Blog
### อนัตตา ###














“อนัตตา”

ฝนนี้ก็เป็นธรรมชาติดินฟ้าอากาศ

 เรียกว่าธรรมชาติ เรียกว่าอนัตตา

คำว่า อนัตตาก็คือไม่มีตัวตน

 ไม่มีใครควบคุมบังคับ

 ความจริงของทั้งหมดในโลกนี้

เป็นอนัตตาทั้งหมด

 แต่ความหลงของใจของพวกเรา

มาแยกบางอย่างว่าเป็นอัตตา เป็นของเรา

 เช่นร่างกายนี้เรามาแยกว่าเป็นของเรา

ความจริงก็เป็นอนัตตา เหมือนกัน

 เพราะเขาทำมาจากดินน้ำลมไฟ

 เหมือนกับฝนที่ตกนี้ก็เป็นน้ำ

 น้ำฝนนี้เราควบคุมบังคับไม่ได้

จะให้ตกหรือให้หยุดไม่ได้

 เขามีเหตุปัจจัยที่ทำให้เราตก ทำให้เขาไม่ตก

 ร่างกายของเรา เราก็บังคับไม่ได้

เขาจะเจริญเติบโต เขาก็เจริญเติบโตขึ้นมา

 พอเขาจะเสื่อม เขาก็เสื่อม

 เช่นเวลาเเก่นี้ก็เรียกว่าเสื่อม

ร่างกายก็ต้องเสื่อม

ดินน้ำลมไฟในร่างกายแปรปรวนเสื่อมลง

ทำให้รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป เป็นคนชรา

 แล้วก็เกิดอาพาธ เกิดอาการแปรปรวนไม่ปกติ

ทำให้ร่างกายไม่สบายเจ็บไข้ได้ป่วย

ก็เหมือนกับธรรมชาติ ฝนฟ้าอากาศ

 บางครั้งก็เกิดพายุขึ้นมา บางครั้งก็เกิดน้ำท่วม

บางครั้งก็เกิดแผ่นดินไหว อันนี้คือธรรมชาติ

สรุปแล้วพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่า

ร่างกายของพวกเรานี้ก็เป็นธรรมชาติ

ไม่ใช่ของเรา เราเป็นใจ

 เราเป็นใจที่มีครอบครองร่างกาย

แต่เราไม่สามารถควบคุมบังคับร่างกายให้เป็นไป

 ตามความปรารถนา ของเราได้เสมอไป

 บางเวลาธรรมชาติเขาก็จะ takeover

 เขาจะไม่ให้เราควบคุม

เช่นร่างกายบางเวลาเขาก็เจ็บไข้ ได้ป่วย

 เราพยายามควบคุมไม่ให้เจ็บไข้ได้ป่วย

 แต่เราก็สู้ธรรมชาติไม่ได้

ธรรมชาติก็ทำให้ร่างกายเราเจ็บไข้ได้ป่วย

 เราควบคุมไม่ให้ร่างกายแก่ เราก็ควบคุมไม่ได้

 เราควบคุมให้ร่างกายไม่ตายก็ควบคุมไม่ได้

ดังนั้นเราควรที่จะปฏิบัติต่อร่างกาย

เหมือนกับเราปฏิบัติกับสิ่งที่เป็นธรรมชาติอย่างอื่น

ก็คือเราต้องไม่ไป ควบคุมบังคับธรรมชาติ

 ปล่อยให้ธรรมชาติ

เขาเป็นไปตามเหตุปัจจัยของเขา

 เช่นพระอาทิตย์ พระอาทิตย์นี้ ก็มีขึ้นมีลง

มีการโคจรรอบโลก คือมีขึ้นมีตก

ก็เหมือนกับโคจรรอบโลก

แต่ความจริงโลกหมุน

เลยทำให้เหมือนกับว่า

พระอาทิตย์หมุนตามโลก

 แต่ความจริงพระอาทิตย์นี้อยู่นิ่งๆ

โลกหมุนก็เลยทำให้ มองเห็นว่า

พระอาทิตย์เคลื่อนไหว

จากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก

 อันนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติไม่ใครอยาก

 จะไปควบคุมบังคับการหมุนเวียนของโลก

ว่าให้หมุนเร็วกว่านี้หรือให้หมุนช้ากว่านี้

เพราะเราทำไม่ได้ จะไปควบคุมบังคับ

ไม่ให้พระอาทิตย์ฉายแสงก็ไม่ได้

 ฉันใดเราก็ควรจะที่จะปฏิบัติ

กับร่างกายของเราฉันนั้น

 คือเราอย่าไปห้ามอย่าไปอยาก

ให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 เพราะความอยากนี้

จะทำให้สร้างความทุกข์ใจขึ้นมา

ใจของเรานี้ทุกข์หรือไม่ทุกข์

ไม่ได้อยู่ที่ธรรมชาติ

ธรรมชาติจะเจริญจะเสื่อม

ไม่ได้มาทำให้ใจเราทุกข์

 แต่ใจเราทุกข์เพราะไปอยากให้ธรรมชาติ

เป็นไปตามความอยากของเรา

คือไม่อยากให้เสื่อมนั่นเอง

 อยากให้เจริญอย่างเดียว

ซึ่งตามหลักของธรรมชาติ

เขาไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เขามีเจริญมีเสื่อม สลับกันไป

เหมือนพระอาทิตย์มีขึ้นมาตกสลับกันไป

เราต้องมาสอนใจใหม่

สอนให้มองร่างกายว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา

 ร่างกายเป็นเพียงดินน้ำลมไฟ

 อาการ ๓๒ ที่มีอยู่ในร่างกาย

ทำมาจากดินน้ำลมไฟ

น้ำก็คือน้ำต่างๆ ที่เราดื่มเข้าไปในร่างกาย

 เช่นตอนต้นออกมาจากท้องแม่เราก็ดื่มน้ำกันมาก

 ดื่มน้ำนม ภายในน้ำนมนั้นก็มีธาตุดิน

คืออาหารผสมอยู่ด้วยจึงทำให้ร่างกายเรา

เจริญเติบโตขึ้นมาแล้ว

เราก็หายใจเข้าหายใจออก

 อันนี้ก็เอาธาตุลมเข้าไป

เอาธาตุน้ำ ธาตุดิน เข้าไป

 เอาธาตุทั้ง ๓ นี้มาผสมกันก็ทำให้เกิดธาตุที่ ๔

คือความร้อนขึ้นมา นี่คือร่างกายของเรา

เป็นการผสมผสานของธาตุทั้ง ๔ ดินน้ำลมไฟ

 แล้วก็มีการเจริญ เติบโตในเบื้องต้น

พอคลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว

พอได้ดื่มน้ำนม

ได้รับประทานอาหารที่มีอยู่ในนม

 ธาตุดินที่มีอยู่ในนม ได้หายใจ ได้รับความร้อน

ก็ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตขึ้นไปตามลำดับ

 จากทารกก็เป็นเด็กเล็ก

จากเด็กเล็กก็เป็นเด็กโต

จากเด็กโตก็เป็นผู้ใหญ่

 พอเจริญถึงขีดเจริญเต็มที่

เหมือนกับพระอาทิตย์ที่โคจรมาถึงกลางฟ้า

 ตอนเที่ยงวัน นั่นคือความเจริญสูงสุด

ของดวงอาทิตย์ พระอาทิตย์จะขึ้นสูงไปเรื่อยๆ

 จากพื้นดินไปจนกระทั่งถึงกลางฟ้า

ตอนเวลาเที่ยงวัน แล้วหลังจากนั้น

พระอาทิตย์ก็จะเริ่มลดความสูงลงมา

 จะค่อยๆ ตกลงไปทีละเล็กทีละน้อย

พอถึงหกโมงเย็นก็ตกถึงดิน

 ร่างกายก็เหมือนกับดวงอาทิตย์

อายุตั้งแต่ ๑ วันขึ้นไปถึง ๔๐ ปีนี้

ก็เรียกว่าไปถึงกลางทาง ไปถึงขีดสูงสุด

ของความเจริญทางร่างกาย

 ร่างกายหลังจากอายุ ๔๐ ไป

ก็เริ่มจะแก่ชราลงไป

 พอถึง ๘๐ ก็ถือว่าถึงดินแล้ว

ถึงเวลาที่พระอาทิตย์ตกแล้ว

 ร่างกายของคนเราโดยประมาณก็ ๘๐บวกลบ

 ๑๐- ๒๐ เปอร์เซ็นต์แล้วแต่บุญบาป

 แล้วแต่ความสามารถที่จะดูแลประคับประคอง

ร่างกายนี้ให้อยู่ไปได้นานสักเท่าไร

บางคนก็มีบุญมากมีความสามารถมาก

ก็อยู่ได้เกิน ๑๐๐ ก็มี แต่มีจำนวนน้อยมาก

 โดยเฉลี่ย ๘๐ นี้รู้สึกจะเป็นเกณฑ์

ของชีวิตของร่างกายนี้

ไม่ว่าใครจะอยากอยู่นานไปเท่าไร

ก็ไม่สามารถที่จะไปสั่ง ให้ร่างกายอยู่ได้

ดังนั้นขอให้เรามองร่างกาย

ว่าเป็นเหมือนกับการโคจรของดวงอาทิตย์

ที่ไม่มีใครไปยับยั้ง วิถีโคจรของร่างกายนี้ได้

 ถ้าเราไปอยากให้ร่างกายนี้ไม่โคจร

ตามที่เขาเป็นอยู่ เราก็จะทุกข์ไปเปล่า

เช่นเราอยากจะให้ร่างกายนี้อยู่อายุ ๔๐

 คือหลังจาก ๔๐ แล้ว

ก็ไม่ให้เสื่อมให้อยู่ ๔๐ ไปตลอด

ถ้าทำได้ก็ดี แต่ก็ไม่ดีตรงที่ว่าคนจะล้นโลก

แล้วเดี๋ยวจะต้องทำสงครามก็ต้องฆ่ากันอยู่ดี

 เพราะถ้าคนไม่ตายอยู่อาย ๔๐ ไปเรื่อยๆ

เดี๋ยวอาหารก็ไม่พอกิน ก็ต้องเเย่งกัน

นี่ขนาดมีคนตายยังต้องแย่งกันเลย

 ยังมีทำสงครามกันอยู่

 เพราะว่าที่ทำสงครามก็เพื่อแย่งทรัพยากรต่างๆ

 เพื่อที่จะได้เอามาเลี้ยงร่างกายและเลี้ยงจิตใจ

จิตใจนี้ก็ต้องการของในโลกนี้เหมือนกัน

 เช่นสิ่งต่างๆ ที่เราผลิตขึ้นมา

นอกเหนือจากปัจจัย ๔ เราก็ผลิตขึ้นมา

 เพื่อเลี้ยงใจของเรา ให้ใจของเรามีความสุข

 เช่นภาพยนต์โทรทัศน์อะไรต่างๆ เหล่านี้

 ถ้าเราไม่มีเราก็ไม่เดือดร้อน แต่ใจอยากได้

 ใจก็ต้องเอาของที่มีอยู่ในโลกนี้ผลิตขึ้นมา

 เมื่อผลิตแล้วก็ต้องแย่งกัน

 เราผลิตรถยนต์ ผลิตอะไรต่างๆ

แล้วก็ต้องใช้น้ำมัน พอน้ำมันเราไม่มี

เราก็ต้องไปซื้อจากที่อื่น

ถ้าเขาไม่ขายถ้าเราเป็นประเทศที่มี

อาวุธมีพลังเราก็อาจจะไปยึดประเทศนั้น

เพื่อเอาน้ำมันของเขามาใช้

นี่ก็คือเรื่องของใจของพวกเราที่มา

 ครอบครองร่างกายไม่ได้ร่างกายแล้ว

ก็ใช้ร่างกายนี้เป็นเครื่องมือไปหาสิ่งต่างๆ

ที่ใจอยากจะได้ สิ่งที่ใจอยากได้

ก็คือรูป เสียง กลิ่น รส ใจนี้อยากดูอยากฟัง

อยากดมกลิ่นอยากลิ้มรส

อยากเสพสัมผัสทางร่างกาย

ก็ต้องไปหาสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนี้มาเสพกัน

 อันนี้เป็นตัวที่สร้างปัญหาให้กับโลก

 เพราะว่าความอยากของใจนี้ มันไม่มีประมาณ

 เหมือนกับความต้องการของร่างกาย

 ร่างกายนี้มีประมาณ กินได้เท่านั้นแหละ

 วันหนึ่งก็กินได้เท่านั้นมากไปกว่านั้นก็กินไม่ได้

 แต่ใจนี้มันอยากจะกินอยู่เรื่อยๆ

 มันบังคับให้ร่างกายกินทั้งๆที่

ร่างกายไม่อยากกิน

จนร่างกายนี้เสียหุ่นไปเสียรูปไป

กลายเป็นตุ่มไปแล้วยังไม่พอ

นอกจากกินแล้วยังอยากจะดู

 อยากจะฟัง อยากจะดื่ม

 ก็ไปหารูป เสียง กลิ่น รสในรูปแบบต่างๆ

มาเสพมาดูมาฟังกัน

 ก็ทำให้ต้องไปแก่งแย่งกัน

 เพราะของเหล่านี้มันก็มีจำนวนจำกัด

 คนที่มีพลังทางเงินทองก็สามารถซื้อสิ่งต่างๆ

 มาเสพได้ คนที่ไม่มีก็ต้องไปหากัน

บางทีก็หาโดยวิธีไม่ชอบไปลักทรัพย์ของผู้อื่น

 เมื่อเกิดการต่อสู้กันก็ต้องทำร้ายชีวิตกัน

ทำลายชีวิตกัน อันนี้เป็นเพราะความอยากของใจ

ที่อยากจะหาความสุขจากสิ่งต่างๆ

ที่มีอยู่ในโลกนี้ เวลาเกิดความอยาก

 ก็ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้

 เขาเรียกว่าอยู่ไม่เป็นสุข

อยากแล้วไม่ได้ทำนี้รู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ

อยากจะดูละคร พอดีไฟดับ ไม่ได้ดูก็หงุดหงิด

อยากจะทำอะไรแล้วไม่ได้ทำก็หงุดหงิด

ต้องไปหาไปทำให้ได้

 แล้วบางทีก็ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่น

เพื่อให้ได้ทำสิ่งที่อยากได้อยากทำ

อันนี้เป็นตัวปัญหาของโลกของชีวิต

 ของพวกเราคือความอยากของพวกเรา

ที่เป็นตัวสร้างความทุกข์

สร้างความไม่สบายใจต่างๆให้กับเรา

ทำให้เราอยู่เฉยๆไม่ได้

 ต้องหาสิ่งต่างๆ มาเสพอยู่เรื่อยๆ

แต่ก็ต้องมีเวลาที่จะไม่สามารถเสพมันได้

 เช่นต่อไปร่างกายก็ต้องแก่ลงไป

ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย

ตอนนั้นก็จะไม่สามารถเสพสิ่งต่างๆ

ทางตาหูจมูกลิ้นกายได้

 ตอนนั้นก็จะเกิดความทุกข์เกิดความซึมเศร้า

 เกิดความว้าเหว่แล้วถ้าไม่ระมัดระวัง

 ก็อยากจะฆ่าตัวตายเพราะอยู่ไปก็ไม่มีความสุข

แต่การฆ่าตัวตายก็ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหา

 เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย

 ปัญหาอยู่ที่ความอยากของเรา

ของใจของพวกเรา ถ้าอยากจะแก้ปัญหา

ก็ต้องมาแก้ที่ความอยาก

ต้องทำลายความอยาก

ต้องไม่ทำตามความอยาก

 การที่จะไม่ทำตามความอยากได้

 เราต้องทำใจให้สงบให้ได้

 เพราะถ้าเราทำใจให้สงบได้ความอยาก

ก็จะหยุดทำงาน แล้วพอความอยากหยุดทำงาน

 ความไม่สบายใจ ความทุกข์ทรมานใจ

ที่เกิดจากความอยาก ก็จะหายไป

นี่คือเรื่องของใจของพวกเราทุกคน

 ที่เราต้องมามีร่างกายกัน

ก็เพราะว่าเรายังมีความอยาก

 ในรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ

 ยังอยากดูอยากฟังอยากลิ้มรส

อยากดมกลิ่นต่างๆ

 เวลาอยากแล้วไม่ได้ทำก็ทุกข์

 เวลาร่างกายนี้ตายไปความอยากยังมีอยู่ในใจ

 ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

ใจก็ต้องไปหาร่างกายอันใหม่ ก็ไปเกิดใหม่

 กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่

 แล้วก็กลับมาทุกข์กับการดูแลเลี้ยงดูร่างกาย

 ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ

 ความตายของร่างกาย

 เพราะร่างกายก็เป็นธรรมชาติ

ที่ต้องมีการเจริญแล้วก็มีการเสื่อมไป

ร่างกายนี้เป็นการรวมตัวของธาตุทั้ง ๔

คือดินน้ำลมไฟ ตอนต้นก็อาศัยธาตุ

ของพ่อของแม่มาอย่างละหยด มาผสมกัน

พอผสมแล้วก็เริ่มขยายตัว จาก ๒ เป็น ๔

จาก ๔ เป็น ๘ ขยายตัวไปเรื่อยๆด้วยอาหาร

ที่มีอยู่ในสายเลือดของเเม่

 เอาอาหารคือดินน้ำลมไฟที่อยู่ในเลือดนี้

มาขยายร่างกายนี้ให้เติบโตขึ้นมา

ให้มีอาการ ๓๒ พอร่างกายที่อยู่ในครรภ์นี้

เจริญเติบโตจนไม่สามารถที่จะอยู่ในครรภ์ได้

 ก็คลอดออกมาเพื่อที่จะได้ เจริญเติบโตต่อไป

เหมือนกับต้นไม้ที่เราปลูกไว้ในกระถางนี้

ถ้ามันโตเต็มที่แล้ว

 เราก็ต้องย้ายออกจากระถาง

 เอาไปลงดินมันถึงจะโตได้

พราะว่าในกระถางนี้

ดินหมดแล้วกลายเป็นรากหมด

 ต้องย้ายเอาต้นไม้

ที่เราปลูกไว้ ในกระถางไปลงดิน

เพื่อจะได้มีดินให้มันเจริญเติบโต

มีดินมีน้ำมีอากาศ มีความร้อน

ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีชีวิตนี้

 ต้องมี ๔ อย่างนี้ สิ่งที่มีชีวิตนี้มี ๒ ชนิด

ชนิดที่มีวิญญาณกับชนิดที่ไม่มีวิญญาณ

เช่นต้นไม้นี้เขาเป็นสิ่งที่มีชีวิต

เหมือนกับร่างกายแต่ต่างกัน

ตรงที่เขาไม่มีวิญญาณมาครอบครอง

 แต่ร่างกายของพวกเรานี้มีวิญญาณ

คือมีใจมาครอบครอง

ใจคือผู้รู้ผู้คิด ผู้สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ

ผู้อยากได้อะไรต่างๆ แล้วก็เป็นผู้ทุกข์

กับความอยากของตนเอง โดยไม่รู้สึกตัว

 เวลาทุกข์จากความอยาก

แทนที่จะแก้ที่ความอยาก

ก็กลับไปทำตามความอยากแทน

 อยากได้อะไรก็ไปหามา

 พอได้มาความอยากก็หยุดไป

ความทุกข์ที่เกิดจากความอยากก็หยุดไปชั่วคราว

 แล้วเดี๋ยวก็เกิดความอยากขึ้นมาใหม่

อันนี้ไม่ได้เป็นวิธีแก้ปัญหาของความไม่สบายใจ

 ของความทุกข์ใจ ของความวุ่นวายใจต่างๆ

 วิธีแก้ต้องหยุดความอยาก ต้องหยุดความอยาก

 วิธีจะหยุดความอยากนี้

ต้องมีเบรคหยุดความคิด

ต้องหยุดความคิด

 สิ่งที่จะหยุดความคิดได้เรียกว่าสติ

 สติก็คือการจดจ่อให้ใจ

 อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ

 เช่นให้จดจ่ออยู่กับคำบริกรรมพุทโธๆ

 ถ้าเราอยู่กับคำบริกรรมพุทโธ

เราก็จะไม่สามารถไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

 สิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ พอเราไม่คิดเราก็ลืม

 เรื่องราวต่างๆ ไป

เช่นเรากำลังทุกข์อยู่กับเรื่องของลูก

คิดอยู่กับเรื่องของลูก

 อยากให้ลูกสบายอยากให้ลูกดี

 แต่ลูกกำลังไปในทางที่ไม่ดี

ก็ไม่สบายใจอยากจะให้ลูกหยุดไปในทางที่ไม่ดี

 แต่บอกอย่างไรสอนอย่างไร เขาก็ไม่ฟัง

เราก็ไม่สบายใจ แต่ถ้าเราหยุดคิดถึงเรื่องลูกได้

 เรามาคิดอยู่กับพุทโธๆ เราก็จะลืมเรื่องลูกไป

 แล้วความอยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

ก็จะหายไป แล้วเราก็จะสบายใจขึ้นมา

เพราะเราไม่ได้มีความอยาก

ให้ลูกเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้

แต่มันก็เป็นการหยุดชั่วคราว

พอเราถอนเบรคออกมา

เราก็จะกลับไปคิดถึงลูกอีก

 พอคิดถึงลูกอีกก็จะไม่สบายใจอีก

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..................

สนทนาธรรมะบนเขา

 วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 08 ตุลาคม 2559
Last Update : 8 ตุลาคม 2559 11:06:19 น.
Counter : 658 Pageviews.

0 comment
### ความสุขที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกได้สัมผัส ###













“ความสุขที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกได้สัมผัส”

ความสุขที่แท้จริงอยู่ในปัจจุบัน อยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้

อยู่ในขณะที่มีสติ ถ้ามีสติจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน

นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริงอยู่ตรงนั้น

จึงต้องเพียรสร้างสติให้มากๆ นั่งสมาธิให้มากๆ

 ทำจิตให้รวมลงเป็นหนึ่งให้ได้ เป็นเอกัคตารมณ์

 ขาดจากอารมณ์ต่างๆ

 ขาดจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ถึงแม้จะมีเสียงมีรูปมีกลิ่นมีรส

มีโผฏฐัพพะเข้ามาตามทวารทั้ง ๕

ถ้าจิตขาดจากอารมณ์เหล่านั้นแล้ว

 มันก็จะไม่รบกวน จิตจะนิ่งเฉยสบาย

เหมือนกับไม่ได้ยินไม่ได้เห็น

 เวลาจิตสงบจะเป็นอย่างนั้น

 ถ้าลงลึกไปอีกระดับหนึ่ง ก็จะหายไปเลย

 รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะต่างๆหายไป

จากการรับรู้ของจิต แม้แต่ร่างกายก็หายไป

เหลือแต่จิตอยู่ตามลำพัง สักแต่ว่ารู้เท่านั้น

จะอยู่ได้เดี๋ยวเดียวหรืออยู่ได้นาน

 ก็แล้วแต่กำลังของการปฏิบัติ

 ถ้าได้พบจุดนั้นแล้ว

 รับรองได้ว่าศรัทธาจะมีมาก วิริยะก็จะตามมา

อยากจะปฏิบัติอย่างเดียว อยากจะเจริญให้มาก

 อยากจะให้จิตเป็นอย่างนั้นอยู่บ่อยๆ เป็นอยู่เรื่อยๆ

 ตอนนั้นก็จะตัดความสุขทางโลกได้

ความสุขที่เกิดจากการดูการฟัง

การรับประทานการดื่มอะไรต่างๆ

จะไม่มีความหมายอีกต่อไป

 เพราะความสุขที่ได้รับจากการรวมลงของจิต

มีอานุภาพมาก เทียบกันไม่ได้เลย

 เหมือนช้างกับมด

 แต่เราไม่เคยเจอความสุขแบบช้างเลย

 พอได้ความสุขแบบมดก็ดีอกดีใจ มีความยึดติด

 ก็เลยไม่ได้สัมผัสกับความสุขที่เลิศที่ประเสริฐ

 ที่พระอริยะทั้งหลายได้สัมผัสกัน

แต่ถ้าบำเพ็ญอย่างต่อเนื่อง ตั้งสติอยู่เรื่อยๆ

 นั่งสมาธิจนจิตรวมลงได้แล้ว

 จะรู้ว่าความสุขที่พระพุทธเจ้า

 และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ได้สัมผัสเป็นอย่างไร

จะมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติ

เพื่อให้ได้ความสุขนั้น

มาอยู่กับเราตลอดเวลา

การปฏิบัติก็จะคืบหน้า

 พอได้สมาธิแล้วก็เจริญปัญญาต่อไป

ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามที่เข้าใจกัน

 คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเมื่อได้สมาธิแล้ว

ปัญญาจะเกิดตามมา

 สมาธิเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้เกิดปัญญา

เวลามีสมาธิจิตสงบนิ่งแล้ว

 จิตจะไม่ลอยไปลอยมา

 เวลาจะให้พิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด

เช่นพิจารณากาย ให้เห็นเป็นอสุภไม่สวยไม่งาม

 จิตก็จะอยู่กับการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง

 ไม่ได้พิจารณาเพียงแว้บเดียว

 แล้วก็หายไปคิดเรื่องอื่น

แต่จะคิดพิจารณาทั้งวันทั้งคืนจนกว่าจะเข้าใจ

 เห็นอย่างทะลุปรุโปร่งตลอดเวลา

 จนตัดความหลงยึดติด

ในความสวยงามของร่างกายได้

 ระงับดับราคะความกำหนัดยินดี

ในร่างกายได้เท่านั้น

 ถึงจะหยุดการพิจารณา

 ที่ต้องพิจารณาอสุภก็เพราะจิตยังหลง

 ยังมีความยินดีกับร่างกายของผู้อื่น

โดยเฉพาะเพศตรงข้าม

หญิงก็ต้องพิจารณาชาย

 ชายก็ต้องพิจารณาหญิง

 พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม

 อาการ ๓๒ หรือสภาพที่ตายไปแล้ว

ว่าเป็นอย่างไร พิจารณาดูไปเรื่อยๆ

ถ้ามีสมาธิก็จะสามารถพิจารณาได้ทั้งวันทั้งคืน

 เดินยืนนั่งนอน ในอิริยาบถต่างๆ

 เพราะจิตไม่ลอยไปไหน

ไม่หิวกับอารมณ์ต่างๆ

 เพราะมีความสุขของสมาธิ หล่อเลี้ยงอยู่

ความสุขที่เกิดจากความสงบ

เป็นเหมือนกับยาสลบ

 ที่จะทำให้กิเลสตัณหาความหลงต่างๆ

ไม่มีกำลังฉุดลากจิตให้ไปอยากไปโลภได้

 แต่ถ้าไม่มีสมาธิ

จะไม่สามารถพิจารณาอสุภได้อย่างต่อเนื่อง

 หรือจะพิจารณาอะไรก็ตาม

จะพิจารณาได้เดี๋ยวเดียว

พิจารณาได้ชั่วขณะหนึ่งแล้ว

ก็หิวกับอารมณ์ต่างๆ

 กังวลกับคนนั้นกังวลกับคนนี้

ห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ ห่วงเรื่องนั้นห่วงเรื่องนี้

ก็จะไม่ได้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง

ก็จะไม่เห็นอย่างชัดแจ้ง

 ไม่สามารถตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น

 ตัดตัณหาความอยากในสิ่งต่างๆได้

 สมาธิจึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญปัญญา

 เมื่อได้เจริญปัญญาอย่างเต็มที่แล้ว

 ก็จะตัดอุปาทานตัดตัณหาได้

วิมุตติการหลุดพ้นก็จะเป็นผลตามมา

 นี่คือการปฏิบัติทางพุทธศาสนา เป็นขั้นเป็นตอน

นี่พูดถึงส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติโดยตรง

คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา

ยังไม่รวมถึงศีลและทาน

ที่เป็นองค์ประกอบที่ต้องมีด้วยเช่นกัน

 ถ้ายังไม่ใจกว้างยังตระหนี่อยู่

ก็จะปฏิบัติธรรมยาก จะรักษาศีลยาก

 ถ้าไม่มีศีลจิตจะไม่สงบง่าย

จะวุ่นวายรุ่มร้อนกับเรื่องต่างๆ

เวลาทำผิดแล้วจะมีความกังวลวุ่นวายใจ

 นอกจากมีศรัทธาสติวิริยะสมาธิปัญญาแล้ว

 ก็ยังต้องทำบุญให้ทานรักษาศีล

 อย่างที่พวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติกัน

อย่าไปเสียดายสมบัติข้าวของเงินทอง

 ทำบัญชีจำแนกมันไว้

ส่วนไหนที่จำเป็นก็เก็บไว้ ส่วนไหนไม่จำเป็น

ก็เอาไปจำหน่ายจ่ายแจก

 จะได้ตัดความตระหนี่ตัดความโลภ

จะได้ไม่อยากได้เงินทอง

 เพราะพอมีพอกินแล้วจะเอามาทำไม

ได้มาก็เอามาทำบุญอยู่ดี

อย่าไปหามาเพื่อเอามาทำบุญ

 เป็นความหลงติดในการทำบุญ

 ทำให้ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะทำด้วยความโลภ

 โลภในบุญ ทำบุญเพื่อตัดความโลภ

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

กัณฑ์ที่ ๒๙๙ วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐

 (จุลธรรมนำใจ ๘)

“ใจเป็นใหญ่”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 07 ตุลาคม 2559
Last Update : 8 ตุลาคม 2559 10:44:20 น.
Counter : 547 Pageviews.

0 comment
### เรายังต้องเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น ###













“เรายังต้องเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น”

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

จะชี้ให้ไปในทางธรรม

ถ้าเกิดศรัทธาแล้วปฏิบัติตาม

 ก็จะเป็นจุดหักเหของชีวิต

 เปลี่ยนจากการเดินตามอวิชชาตามมิจฉาทิฐิ

ไปเดินตามธรรมตามสัมมาทิฐิ

ใจก็จะหมุนไปอีกแบบหนึ่ง

จากวัฏฏะก็จะเป็นวิวัฏฏะ

 สวนกระแสของสังสารวัฏ

 การเวียนว่ายตายเกิด

ภพชาติก็น้อยลงไปตามลำดับ

จนหมดไปในที่สุด

 เพราะความโลภความอยาก

จะถูกทำลายไปตามลำดับ

 ชีวิตของพวกเราคงมีอยู่ครั้งหนึ่ง

 อาจจะเป็นชาตินี้หรือชาติก่อนๆ

 ที่ได้พบกับจุดหักเห ได้พบผู้แนะนำ

เรื่องความเห็นที่ถูกต้อง

 หรืออาจจะคิดขึ้นมาเอง

 ว่าการทำตามความอยาก

การแสวงหาความสุขจากสิ่งต่างๆในโลกนี้

 เช่นรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ไม่ได้เป็นความสุขที่แท้จริง

 ไม่ได้ให้ความอิ่มความพอ

เห็นว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การระงับ

ดับความโลภความอยากต่างๆ

จึงพยายามปฏิบัติอย่างเข้มข้น

 จนหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง

 พวกเราคงได้พบกับจุดหักเหแล้ว

จึงได้มีฉันทะวิริยะ

มีความพอใจความพากเพียร

 ที่จะเดินตามทางที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ได้ดำเนินไป

ถ้าปฏิบัติอย่างไม่ท้อแท้ อย่างขะมักเขม้น

ปฏิบัติให้มากยิ่งๆขึ้นไป

 ก็เชื่อได้ว่าไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่ง

 จะถึงจุดหมายปลายทางที่ดีที่เลิศ

คือมรรคผลนิพพานอย่างแน่นอน

แต่ต้องมีวินัย ต้องบังคับตนเอง

ให้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์

ก็จะเป็นแบบกระต่าย

ที่วิ่งแข่งกับเต่า เต่ามีวินัยถึงแม้จะเดินช้า

แต่เดินไม่หยุด เดินไปเรื่อยๆ

 แต่กระต่ายจะวิ่งไปตามอารมณ์

 มีอารมณ์อยากจะวิ่งก็วิ่ง ไม่มีก็จะไม่วิ่ง

 ก็จะไปไม่ถึงไหน แต่ถ้ามีวินัยทำไปเรื่อยๆ

 ก็จะติดเป็นนิสัยไป จะทำแบบไม่หยุดไม่หย่อน

ถึงแม้จะช้าบ้างเร็วบ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้าง

 เพราะมีความตั้งใจที่แน่วแน่

ที่จะทำอย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง

 ทำให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

รับรองได้ว่าไม่มีอะไรจะมาขวางกั้น

มรรคผลนิพพานได้ อย่างในสุภาษิตที่ว่า

 ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น

พวกเรามีเหตุมีปัจจัยที่ดีแล้ว

 คือมีสัมมาทิฐิความเห็นชอบ

แต่เรายังต้องเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น

 เพราะการจะหลุดพ้นจากความทุกข์

บรรลุมรรคผลนิพพานได้

ต้องมีความเพียรเป็นส่วนประกอบสำคัญ

คุณธรรมอย่างอื่นก็สำคัญ

 เช่นสติปัญญาสมาธิ

ถ้ามีศรัทธาแล้วธรรมที่ต้องเจริญให้มาก

ก็คือสติและความพากเพียร

 แล้วก็เจริญสมาธิเจริญปัญญา

ตามลำดับต่อไป

 เมื่อมีปัญญาแล้วก็จะหลุดพ้น

 จากความทุกข์ทั้งปวง

 บรรลุมรรคผลนิพพาน

ได้ด้วยคุณธรรมทั้ง ๕ ประการคือ

๑. ศรัทธาความเชื่อ ในพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

 ๒. วิริยะความเพียร

 ๓. สติ ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา

ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ให้ใจปราศจากสติ

 ให้มีกรรมฐานเช่นการบริกรรมพุทโธ

เป็นหลักผูกใจไว้

ไม่ให้ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ

 ให้รู้อยู่กับพุทโธๆก็ได้

 อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ได้

 อยู่กับลมหายใจเข้าออกก็ได้

 ถ้านั่งอยู่เฉยๆก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออก

 ถ้ากำลังเดินกำลังเคลื่อนไหว

ก็ให้อยู่กับการเดินการเคลื่อนไหว

จะได้ไม่ลื่นไม่ล้ม ไม่ไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้

ถ้าเดินไปแล้วก็คิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้

ก็อาจจะลื่นหกล้ม

 ไปชนไปเตะสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้

 เพราะไม่มีสติอยู่กับตัว

ถ้ามีสติอยู่กับตัวจะรู้ทุกย่างก้าว

 จะรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า นี่คือการมีสติ

ถ้านั่งรับประทานอาหาร

ก็ให้อยู่กับการรับประทานอาหาร ไม่คุยกัน

 ไม่คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

ซึ่งคงจะยากสำหรับฆราวาสญาติโยม

 เพราะไม่เคยได้รับการปลูกฝัง

ให้ปฏิบัติแบบนี้กัน

 ส่วนใหญ่จะถือการรับประทานอาหาร

เป็นกิจกรรมทางสังคม

 เวลาจะคุยกันก็กินข้าวไปด้วย

เป็นปกติของฆราวาส

ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้

การปฏิบัติก็จะไม่เจริญก้าวหน้า

ต้องดูการรับประทานอาหารของพระ

เวลาฉันจะไม่คุยกัน

 ถึงแม้จะมีพระ ๑๐๐ รูป ๑๐๐๐ รูป

 ก็จะไม่มีเสียงออกมาเลย

 ทุกองค์จะฉันด้วยการมีสติ

แม้แต่การขบเคี้ยวก็ต้องระวัง

 อยู่กับหลวงตาเวลาเคี้ยวดังๆจะโดนเทศน์

 เวลาเคี้ยวผักบุ้งดังกรอบๆ ท่านก็จะมองละ

 พระทุกองค์ก็หันมามอง

แต่องค์ที่เคี้ยวกลับไม่รู้สึกตัวเพราะขาดสติ

 ถ้ามีสติจะรู้ว่าดังกรอบๆก็ต้องหยุดก่อน

 แล้วค่อยเคี้ยวใหม่ไม่ให้มีเสียงดัง

 ถ้ายังมีเสียงดังก็เลิกฉันเลย

 ฉันอย่างอื่นที่ไม่ดังแทน

ถ้ามีสติอย่างต่อเนื่องแล้ว ใจจะอยู่ใกล้ตัว

ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงที่ถูกผูกไว้ ก็จะไปไม่ไกล

เวลาต้องการมันก็ไม่ต้องเสียเวลาไปตามหา

 ถ้าไม่ผูกไว้บางทีก็หาไม่เจอ ไม่รู้ว่าไปไหน

ใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าไม่ผูกด้วยสติ

ให้อยู่กับปัจจุบัน

อยู่กับกิจกรรมที่กำลังทำอยู่

 พอเวลาจะนั่งสมาธิทำจิตให้สงบก็จะยาก

 เพราะจิตจะไม่อยู่กับกรรมฐาน

เช่นการบริกรรมพุทโธ จะคิดถึงเรื่องต่างๆ

 บางวันนั่งสมาธิไม่สงบเลย นั่งไม่ได้เลย

 เพราะปล่อยจิตให้ไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

หรือมีเรื่องที่มีผลกระทบมาก

ดึงให้จิตไปคิดจนไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

 วันนั้นจะนั่งสมาธิไม่ได้

 เพราะใจอยู่ไกลจากฐานของความสงบ

ถ้ารู้สึกว่านั่งยาก บริกรรมพุทโธก็ไม่ได้

 ดูลมหายใจเข้าออกก็ไม่ได้

ก็ต้องฟังเทศน์ของครูบาอาจารย์แทน

ฟังด้วยสติ ไม่ใช่ฟังแล้วก็คิดถึงเรื่องต่างๆ

หรือสวดมนต์ด้วยสติไปก่อน

 ให้อยู่กับบทสวดมนต์

 ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องต่างๆ

 หรือใช้ปัญญาพิจารณา

เรื่องที่ไปกังวลไปเกี่ยวข้องด้วย

เพื่อจะได้ปล่อยวาง

ให้เห็นว่าเป็นไตรลักษณ์

 ไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ต้องจบ

 ให้เห็นว่าไม่มีสาระอะไร

 ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้

เป็นของปลอมทั้งนั้น

 ถ้าเป็นความสุขก็เป็นความสุขปลอม

ถ้าเป็นสมบัติก็เป็นสมบัติปลอม

 ไม่ต้องไปเสียดาย

 เพราะสักวันหนึ่งก็ต้องทิ้งมันไป

 เมื่อตายไปก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย

 เอาความสุขปลอมไปไม่ได้

ความสุขแท้อยู่ที่ความสงบใจ

ปล่อยวางสิ่งต่างๆ ถ้าใช้ปัญญาพิจารณา

จะตัดเรื่องที่เกี่ยวข้องผูกพันได้

 จะภาวนาทำจิตให้สงบนิ่งสบายได้

พอจิตสงบนิ่งแล้วก็จะเป็นสมาธิ

 จิตตั้งมั่น ไม่ลอยไปลอยมา ไม่คิดปรุงอะไร

ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องบริกรรมพุทโธ

ไม่ต้องดูลมหายใจ จิตจะนิ่งอยู่เฉยๆ

จะนานหรือไม่นาน

ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของการปฏิบัติ

 ถ้าปฏิบัติมากก็มีกำลังมาก

ถ้ามีสติมาก ก็จะสงบนาน

 มีสติน้อย ก็จะสงบไม่นาน

การฝึกสติจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ต่อการเจริญสมาธิ และการเจริญปัญญา

ในลำดับต่อไป

 เราสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา

 ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ในวัด อยู่นอกวัด

อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ทำงาน ก็เจริญได้

 แต่สถานที่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ

ที่จะทำให้การเจริญสติง่ายหรือยาก

 เรียกว่าสัปปายะ

ถ้าอยู่คนเดียวในสถานที่สงบสงัดวิเวก

การเจริญสติก็จะง่ายกว่าอยู่ ๒ คนหรือ ๓ คน

 พออยู่ ๒ คน ๓ คนแล้วจิตมักจะคิดถึงกัน

อยากจะคุยกัน

แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร

จะทำให้การดูแลการรักษาสติ

เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

เวลานั่งสมาธิก็จะสงบได้ง่ายกว่า

 เพราะไม่มีอะไรมาฉุดกระชากลากใจไป

ถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงอึกกระทึกคึกโครม

เวลานั่งสมาธิจะยาก

 เพราะเสียงจะเข้ามากระทบกับจิต

ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นมา

เกิดความรำคาญใจ เกิดความโกรธขึ้นมา

 ทำให้จิตขุ่นมัวยากต่อการทำให้สงบ

 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า

การเจริญสติจะต้องรอเวลา

 รอสถานที่สงบสงัด

 เพราะบางทีเรายังมีความผูกพันกับสังคม

กับการทำงานทำการอยู่

ก็ต้องพยายามปฏิบัติ

ในสภาพที่เราอยู่นั้นไปก่อน

 ถึงแม้จะไม่ได้เต็ม ๑๐๐ ได้เพียง ๑๐

 ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย

 รักษาสติได้บ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้รักษาเลย

 ให้คิดว่าขณะที่เดินไปไหนมาไหน

เป็นการเดินจงกรม ขณะที่นั่งรออะไร

 ถ้าไม่มีความจำเป็นจะต้องคิดเรื่องอะไร

 ก็ให้คิดว่ากำลังนั่งสวดมนต์

 กำลังนั่งทำสมาธิ

บริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ

 พอกลับถึงบ้านอาบน้ำอาบท่าเสร็จ

 ก่อนจะนอนก็นั่งสมาธิ จิตก็จะสงบง่าย

 พอตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็นั่งได้อีก

 แต่ต้องตัดเรื่องอย่างอื่นไป

 ถ้าไม่ตัดจะไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน

 เช่นตัดพวกละครไป

 เสร็จจากงานกลับบ้าน

กินข้าวอาบน้ำเสร็จก็นอนเลย

 พอแล้วสำหรับเรื่องบันเทิงต่างๆ

 เป็นของปลอมทั้งนั้น

 เป็นตัวที่จะขัดขวาง

ไม่ให้ได้พบกับความสุข

พบกับสมบัติที่แท้จริง

ตัดไปเลย อย่าไปเสียดาย

ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติจะไม่ก้าวหน้า

จะหลอกให้รอไปวัดก่อนค่อยปฏิบัติ

ปีหนึ่งก็อาจจะไปได้เพียงครั้งเดียว ก็จะไม่พอ

 เพราะการปฏิบัติจะให้ได้ผลเป็นกอบเป็นกำ

 จะต้องปฏิบัติตลอดเวลาเลย

 เพราะกิเลสทำงานอยู่ตลอดเวลา

 อวิชชาทำงานอยู่ตลอดเวลา

 มิจฉาทิฐิทำงานตลอดเวลา

คอยหลอกคอยล่อเราอยู่ตลอดเวลา

แต่ธรรมกลับไม่ได้ทำตลอดเวลา

ก็โดนต่อยอยู่ฝ่ายเดียว ไม่ได้ต่อยกิเลสเลย

 กิเลสจึงมีกำลังมากกว่า

 แต่ถ้าผลัดกันต่อยก็จะพอฟัดพอเหวี่ยงกัน

 ถ้าธรรมต่อยมากกว่า กิเลสก็จะต้องแพ้ธรรม

 แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่ธรรมจะแพ้เสียมากกว่า

 เวลาเกิดความโลภก็โลภตาม

 เวลาเกิดความโกรธก็โกรธตาม

 เวลาเกิดความหลงก็หลงตาม

จึงมีแต่ความทุกข์ความวุ่นวายใจตามมา

 นี่คือผลจากการที่ไม่ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

 อย่างสม่ำเสมอ

แต่ถ้าปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว

 จะสลับผลัดกัน มีทุกข์บ้างมีสุขบ้าง

แต่จะไม่ทุกข์เสมอไป

แล้วก็ไม่ได้สุขแบบทางโลก

ไม่ได้สุขจากการได้ดูได้ยิน

ได้ฟังได้ดื่มได้รับประทาน

แต่สุขจากการชนะความโลภ

ความอยากความโกรธ

 เวลาโกรธแล้วดับมันได้

จะเกิดความสุขขึ้นมาภายในใจ

เวลาโลภแล้วตัดมันได้ ก็เกิดความสุขขึ้นมา

 โดยไม่ต้องไปเสียเงินเสียทองเสียเวลา

กับการ หาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก

 จะมีเวลาปฏิบัติ

พอกลับบ้านรับประทานอาหาร

อาบน้ำอาบท่าเสร็จ ก็ไหว้พระสวดมนต์

นั่งทำสมาธินอนแต่หัวค่ำ

เช้าก็ตื่นสักตี ๒ ตี ๓ ภาวนาจนถึงตี ๕ ตี ๖

 แล้วค่อยอาบน้ำอาบท่าไปทำงาน

 ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ไม่ต้องไปวัดก็ได้

ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

พอตื่นขึ้นมาก็มีสติอยู่กับตัว

 อยู่กับทุกย่างก้าว ไม่ว่าจะทำอะไร

 ให้มีสติกับการกระทำนั้นๆ

ตั้งแต่อาบน้ำอาบท่าแต่งหน้าแต่งตัว

 ขับรถหรือขึ้นรถไปทำงาน

อยู่ที่ทำงานก็มีสติอยู่กับการทำงาน

 ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น

 ก็จะได้ปฏิบัิติอย่างต่อเนื่อง

ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วรับรองว่าจะได้ผลมาก

 จะเจริญก้าวหน้า จะทำให้มีกำลังคือพละ ๕

 ศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา

จะเจริญเติบโต จากอินทรีย์

ก็จะกลายเป็นพละเป็นพลัง

เป็นระดับอริยะไป

 พระอริยะก็อาศัยพละทั้ง ๕ นี้

คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา

 เป็นเครื่องมือพัฒนาจิตให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

 อย่างพระโสดาบันนี่ก็มีศรัทธาที่ไม่สั่นคลอน

 ไม่สงสัยในพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

รู้ว่านี่คือทางที่ถูกต้อง

พระพุทธเจ้ามีจริง พระธรรมมีจริง พระสงฆ์มีจริง

 เพราะพระโสดาบันได้บรรลุธรรมได้เห็นธรรมแล้ว

เมื่อได้เห็นธรรมก็ได้เห็นพระพุทธเจ้าไปพร้อมๆกัน

 ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

 ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต

 ผู้เห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม

ผู้ที่จะเห็นตถาคตเห็นธรรมได้

ก็ต้องเป็นพระอริยะสงฆ์เท่านั้น

 ก็คือพระโสดาบัน เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม

 เป็นอริยบุคคลขั้นแรก

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..............................

กัณฑ์ที่ ๒๙๙ วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐

(จุลธรรมนำใจ ๘)

“ใจเป็นใหญ่”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 ตุลาคม 2559
Last Update : 6 ตุลาคม 2559 10:02:05 น.
Counter : 686 Pageviews.

0 comment
### เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก ###








“เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก”

เวลาปฏิบัติควรมุ่งไปที่จิตใจเป็นหลัก

เสียกายไม่เป็นไร ถ้าเป็นการแลกเปลี่ยน

กับการได้ความเป็นอิสระของใจ

ได้หลุดพ้นจากกิเลสความโลภความโกรธ

ความหลงความอยากต่างๆ

 เสียอย่างนี้เสียไปเถิด

 เพราะร่างกายสักวันหนึ่งก็ต้องตายไป

แต่ใจไม่ได้ถูกทำลายไปด้วย

 ถ้ายังไม่ได้รับการปลดปล่อยให้มีอิสรภาพ

ก็ยังต้องเป็นทาสอยู่

 ไปเกิดชาติหน้าก็ยังต้องเป็นทาสอีก

 แต่ถ้ายอมสละร่างกายเป็นเดิมพัน

 จะเป็นจะตายอย่างไร

จะลำบากอย่างไร ก็ไม่ถอย

เพื่อทำลายความโลภความโกรธความหลง

ที่มีอยู่ในจิตใจ ทำอย่างนี้จะได้กำไร

เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะชีวิตนี้

มีไว้เพื่อทำประโยชน์นี้นั้นเอง

 เหมือนกับซื้อรถยนต์ขับเคลื่อน ๔ ล้อ

สำหรับใช้ในป่าในเขา มาใช้ในบ้านในเมือง

 ไม่รู้จะซื้อมาทำไม ถนนก็ไม่ขรุขระ

ต้องเอาไปลุยในป่าในเขาสิ

รถชนิดนี้มีไว้ใช้อย่างนั้น

ร่างกายของเราก็อย่างนั้น

 เป็นเหมือนรถขับเคลื่อน ๔ ล้อ

 ไว้สำหรับลุยกับกิเลส

กับความโลภความโกรธความหลง

 แต่เรากลับเอาไปรับใช้กิเลส

 รับใช้ความโลภความโกรธความหลง

 แล้วเราจะได้อะไรจากการเกิดในแต่ละชาติ

 ก็ไม่ได้อะไร ยังตกเป็นทาสของกิเลส

 รับใช้กิเลสอยู่

 เป็นวาสนาของพวกเรา

ที่ได้พบพระพุทธศาสนา

 ที่ทำให้เรารู้ถึงหน้าที่ที่แท้จริงของร่างกายเรา

 ว่ามีไว้ทำอะไร ก็มีไว้เพื่อปลดเปลื้องจิตใจ

ที่เป็นทาสของกิเลส ที่อยู่ภายใต้อำนาจ

ของความโลภความโกรธความหลงอยู่นี้

ให้ได้รับอิสรภาพ ทุกขณะที่เราหายใจอยู่นี้

เราอยู่ภายใต้อำนาจของความหลงทั้งนั้น

 คืออวิชชาปัจจยาสังขารา

อวิชชาเป็นตัวสั่งให้สังขารคิด

 ให้คิดแต่เรื่องลาภยศสรรเสริญสุข

 วันนี้จะไปเที่ยวไหนดี

วันนี้จะไปกินอะไรที่ไหนดี

 แต่เรื่องไปปฏิบัติธรรมแทบจะไม่คิดกันเลย

 ส่วนพวกเราอาจจะมีคิดกันบ้าง

เพราะได้สัมผัสได้

พบคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ที่สอนให้คิดไปทางวิชชาปัจจยาสังขารา

วิชชาก็คือธรรมะคำสอนของครูบาอาจารย์

 ที่คอยกระตุ้นให้คิดไปในทางบุญทางกุศล

อย่างวันนี้เราก็คิดมาทำบุญกัน

 ถ้าไม่เคยสัมผัสกับศาสนาเลย

วันนี้วันหยุดก็ต้องพาลูกไปเที่ยวกัน

 เพราะเป็นวันเด็ก ไปเที่ยวไหนดี ไปกินที่ไหนดี

ก็เป็นเรื่องของอวิชชาปัจจยาสังขาราทั้งนั้น

 พอไปแล้วก็จะเป็นตัณหาความอยาก

เป็นอุปาทานความยึดติด

 เป็นภพเป็นชาติขึ้นมา

 พอตายไปจิตก็ยังไม่หยุด

อวิชชาปัจจยาสังขารา

 ก็ส่งให้จิตไปเกิดใหม่

แต่ถ้าใช้ธรรมะปัจจยาสังขาราแล้ว

 ก็จะดับตัณหา ดับอุปาทาน

ดับภาวะคือภพชาติ

 ก็จะไม่มีการไปไหนมาไหน

จิตใจมีความสุขแล้ว ก็ไม่ต้องออกไปเที่ยว

 อยู่บ้านเฉยๆก็มีความสุข อยู่วัดก็มีความสุข

ไม่ต้องออกไปแสวงหา ความสุขภายนอก

 นอกจากมีธุระจำเป็น ไปเผยแผ่ธรรมะ

 แต่จะไม่ออกไปเหมือนอย่างพวกเรา

 ที่อยู่บ้านเฉยๆไม่ได้

 พอวันเสาร์วันอาทิตย์ก็คิดหาเรื่องทำแล้ว

จะไปไหนดี อยู่บ้านแล้วอึดอัดใจ หงุดหงิดใจ

 ทั้งๆที่ไม่มีอะไรจะสบายเท่าการอยู่บ้าน

ไม่ต้องแต่งเนื้อแต่งตัวให้เหนื่อย

ห้องน้ำห้องท่าก็สะดวก

 ไม่ต้องไปเข้าแถวไปแย่งกัน

 อาหารก็มีเก็บไว้ในตู้เย็น

ทำกินในบ้านแสนสบาย

แต่ต้องออกไปดิ้นรน

 หาความสุขภายนอกบ้านกัน

 เพราะอยู่บ้านไม่ติด

อยากจะเห็นรูปแปลกๆใหม่ๆ

 อยากจะได้ยินเสียงแปลกๆ ใหม่ๆอยู่เรื่อยๆ

 เพราะใจอยู่ภายใต้อำนาจของความโลภ

ความโกรธความหลง

 จึงเป็นอวิชชาปัจจยาสังขารา

 สังขารก็ปรุงให้ออกไปทางอายตนะ

ไปทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไปสู่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไปสู่การสัมผัส แล้วก็เกิดเวทนา

พอได้ออกจากบ้านแล้วเป็นอย่างไร มีความสุข

ไปดูหนังฟังเพลง ไปกิน ไปเที่ยว

ไปซื้อของฟุ่มเฟือย

 แล้วก็เกิดอุปาทานความยึดมั่น

 เกิดตัณหาความอยาก ต้องออกไปเรื่อยๆ

 ออกไปวันนี้แล้วเดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ต้องออกไปอีก

 ก็เป็นภาวะจะต้องออกไปทำใหม่

 เสาร์อาทิตย์นี้ไปเที่ยวที่นั่น

เสาร์อาทิตย์หน้าก็ไปเที่ยวที่อื่นต่อ

 ก็จะไปอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนแก่ตาย

 พอตายไปใจก็ไปเกิดใหม่

 ไปเริ่มต้นทำอย่างนี้ใหม่

 เป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆ

 แต่ถ้าใช้ธรรมะมาเป็นตัวขับเคลื่อนสังขาร

ธรรมะปัจจยาสังขารา

ก็จะไปที่สงบที่สงัดที่วิเวก

ที่ไม่มีรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่จะทำให้เกิดตัณหาขึ้นมา

 เกิดความอยากขึ้นมา

ไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขา

ไปไหว้พระสวดมนต์ ไปฟังเทศน์

 ฟังธรรมะของครูบาอาจารย์

 ไปนั่งทำจิตให้สงบ

เพื่อตัดตัณหาความอยาก

 ตัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น

 ตัดภาวะภพชาติที่จะตามมาต่อไป

นี่คือธรรมะปัจจยาสังขารา

 ถ้าเจริญมรรคอยู่เรื่อยๆ

 เจริญธรรมอยู่เรื่อยๆ

ต่อไปธรรมะจะมีแรงมากกว่าอวิชชา

ก็จะทำลายอวิชชาให้หมดไปจากจิตจากใจได้

พออวิชชาถูกทำลายหมดไป

จิตก็กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เป็นธรรมทั้งแท่ง

 ใจเป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่เลย

 จะคิดแต่เรื่องธรรมะ เรื่องของเหตุเรื่องของผล

 ไม่คิดอยากไปมีสมบัติข้าวของเงินทอง

 เป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณ เป็นสังฆราช

 หรือเป็นอะไรทั้งสิ้น

 จะไม่มีอยู่ในจิตในใจ

ไม่คิดอยากไปเที่ยวดูหนังฟังเพลง ไปโน้นมานี่

ไปหาความสุขจากสิ่งต่างๆภายนอก ใจจะไม่คิด

เพราะในใจมีแต่ความสงบ มีแต่ความสุข

ถ้าไม่มีความโลภความโกรธความหลงแล้ว

ก็จะไม่มีอะไรมาสร้างความอยาก

ก็จะไม่ไปไหน อยู่บ้านสบายที่สุด

 อยู่วัดสบายที่สุด

นี่คือการใช้ธรรมะมาปลดเปลื้องจิต

ให้หลุดพ้นจากความทุกข์

ใช้ร่างกายให้เป็นประโยชน์

อย่าปล่อยให้ร่างกายเป็นทาสของกิเลส

 ด้วยการขับรถไปหาร้านเชลล์ชวนชิม

 ไปกินที่โน้นที่นี่ อาหารชนิดนั้นดี ชนิดนี้ดี

 บางคนอุตสาห์นั่งเครื่องบินไปกินอาหารที่ฮ่องกง

 ไปเช้าเย็นกลับ

 เพราะอวิชชาปัจจยาสังขาราพาไป

 ถ้าเป็นธรรมะปัจจยาสังขารา

ก็อยู่ที่บ้านทอดไข่เจียวกิน

กินเสร็จจะได้นั่งสมาธิต่อ

 ไหว้พระสวดมนต์ปฏิบัติธรรม

 เราทำอยู่ปีหนึ่ง อยู่ในบ้านไม่ได้ไปไหน

 แต่ไม่ได้ทำอาหารกินเอง

ไปกินที่ร้านเพราะมันสะดวก

 กินก๋วยเตี๋ยวชาม ข้าวผัดชาม ก็อิ่มแล้ว

ก็อยู่ได้วันหนึ่ง เช้าตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิ

 พอออกจากสมาธิก็เดินจงกรม

ให้มีสติอยู่กับตัวตลอดเวลา

ไม่ว่าจะทำอะไร ให้จิตอยู่ในปัจจุบัน

อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

 จะเข้าห้องน้ำ จะแปรงฟันก็อยู่ตรงนั้น

จะทำอะไรก็อยู่ตรงนั้น แล้วก็เดินจงกรม

พิจารณาว่าเกิดมาแล้ว

ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย เป็นเรื่องธรรมดา

 พิจารณาไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะไม่วิตก

กับความแก่ความเจ็บความตาย

เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

เหมือนกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์

เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องธรรมดา

 ไม่ได้ดีอกดีใจเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นมาตอนเช้า

 ไม่ได้เสียอกเสียใจเวลาที่ตกลงไปตอนเย็น

 เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่ใจรับรู้

ร่างกายก็เป็นเหตุการณ์อย่างหนึ่ง

ที่ใจรับรู้เช่นเดียวกัน

ต่างกันตรงที่ใจไปยึดติดร่างกาย

ว่าเป็นตัวเราของเรา

เพราะความหลงหลอกให้ไปยึด

 ถ้าแก้ตรงนี้ได้แล้ว

 ร่างกายก็จะเป็นเหมือนดวงอาทิตย์

 จะขึ้นจะตก ใจก็เฉยๆ

ร่างกายจะเป็นจะตาย ใจก็เฉยๆเหมือนกัน

เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดว่า

เป็นตัวเราของเรานั่นเอง

 นี่คือสิ่งที่เราต้องพยายามฝึกสอนตัวเรา

 ว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นดินน้ำลมไฟ

 เป็นการเปลี่ยนแปลงของดินน้ำลมไฟ

เป็นการรวมตัวกันเข้ามาแล้วก็แยกออกไป

 ไม่มีอะไรที่รวมตัวกันแล้วจะอยู่ไปได้ตลอด

 แม้กระทั่งศาลาหลังนี้ก็เช่นเดียวกัน

 สักวันหนึ่งก็จะเสื่อมลงไป ผุพังลงไป

แยกจากกันไป ศาลาหลังนี้ก็จะหายไป

ถ้าไม่ยึดไม่ติด ก็ไม่เสียอกเสียใจ

 แต่ถ้ายึดติดก็จะเสียใจ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๒๗๖ วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๐

(จุลธรรมนำใจ ๗)

“กินเพื่ออยู่”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 06 ตุลาคม 2559
Last Update : 6 ตุลาคม 2559 9:36:07 น.
Counter : 618 Pageviews.

0 comment
### รูปขันธ์และนามขันธ์ ###










“รูปขันธ์และนามขันธ์”

การเจริญวิปัสสนา เพื่อให้เข้าใจ

ให้เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

ในสภาวธรรมทั้งหลาย

ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา

หรือร่างกายของคนอื่น

 หรือนามขันธ์ที่อยู่ในจิต

 ได้แก่เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน

เวทนาก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวไม่สุขไม่ทุกข์

วนไปเวียนมา เหมือนกับฝนตก แดดออก

ที่สลับกันไป ถ้าเข้าใจแล้วก็จะไม่ยึดไม่ติด

 จะได้ไม่เดือดร้อน

แต่เราถูกความหลงครอบงำจึงไม่รู้กัน

 จึงยึดติดกับสุขเวทนา

 ส่วนทุกขเวทนากับไม่สุขไม่ทุกขเวทนา

จะไม่อยากเจอเลย

ทุกขเวทนาเป็นตัว ที่เราเกลียดมากที่สุด

 รองลงมาก็คือไม่สุขไม่ทุกขเวทนา คือเฉยๆ

ที่ทำให้เบื่อทำให้เซ็ง

 เพราะอยากจะให้สุข ตลอดเวลา

 จึงอยากสัมผัสอยากได้ยินได้ฟัง

สิ่งที่ทำให้เกิดสุขเวทนา

 แต่เราไม่สามารถบังคับสิ่งต่างๆในโลกนี้

ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้

 เราจึงต้องสัมผัสกับเวทนาทั้ง ๓ นี้อยู่เสมอ

 สัมผัสทุกข์บ้าง สัมผัสสุขบ้าง

สัมผัสไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

ปัญหาของเราจึงอยู่ตรงที่ต้องทำใจ

ให้รับกับเวทนาทั้ง ๓ นี้ให้ได้

 คืออย่าไปจงเกลียดจงชังทุกขเวทนา

อย่าไปจงเกลียดจงชังไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนา

 อย่าไปรักษาอย่าไปยินดี แต่กับสุขเวทนา

 ต้องทำใจให้เป็นอุเบกขา

ด้วยการเจริญสมาธิทำจิตให้สงบ

ให้เป็นอุเบกขา

 เพราะหลังจากนั้นแล้ว

จะสัมผัสกับอะไรก็ได้ทั้งนั้น

 ร้อนก็ได้เย็นก็ได้ สุขก็ได้ทุกข์ก็ได้

ไม่เดือดร้อนอะไร

 เพราะตัวที่สร้างความอยาก

 สร้างความรัก สร้างความชังนี้

ถูกกำลังของสมาธิกดไว้

 เพราะเวลาจิตสงบกิเลสก็ต้องสงบตามไปด้วย

 จะออกมาเพ่นพ่านแสดงอาการต่างๆไม่ได้

ถ้าสามารถเจริญสมถภาวนา

ได้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง

 จนจิตสงบนิ่งอยู่ตลอดเวลาในอิริยาบถทั้ง ๔ แล้ว

 กิเลสตัณหาต่างๆจะไม่ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนตอนที่จิตยังไม่สงบ

จะออกมาบ้างก็เป็นช่วงๆ

ในเวลาที่ได้สัมผัสกับบางสิ่งบางอย่าง

บางเหตุการณ์ กิเลสตัณหา

ก็จะผุดขึ้นมาเหมือนภูเขาไฟระเบิด

 จะแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน

เช่นเกิดความไม่พอใจ

ก็จะเกิดความร้อนใจขึ้นมาทันที

ตอนนั้นเป็นเวลาที่ต้องใช้วิปัสสนาเข้าไปดับ

 พอโกรธขึ้นมาปั๊บก็ต้องรีบดับทันที

 ต้องรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร

 ถ้าไม่รู้ก็จะโกรธไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะหมดแรงไปเอง

 จะทดสอบการปฏิบัติกันก็ทดสอบกันตรงนี้

เวลาที่กิเลสเกิดขึ้นมา ว่าจะดับมันได้หรือไม่

จะดับได้ช้าหรือเร็ว

เพราะกิเลสไม่ได้ตายด้วยอำนาจของสมาธิ

เพียงแต่ถูกกดไว้ ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนในขณะที่ไม่มีสมาธิ

คนที่ไม่มีสมาธิจะแสดงความโลภ โมโทสัน

ออกมามากกว่าคนที่มีสมาธิ

คนที่มีสมาธิจะเป็นคนสมถะสงบเสงี่ยมเจียมตัว

 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ้นกิเลสแล้ว

 เพียงแต่กิเลสไม่ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนเมื่อก่อนนี้ จะออกมาก็ต่อเมื่อ

มีอะไรไปกระตุ้น

 เช่นไปเห็นอะไรที่รักจริงๆอยากได้จริงๆ

 ถึงจะโผล่ออกมา

หรือโกรธจริงๆ เกลียดจริงๆ

 ถึงจะโผล่ออกมา

เวลาโผล่ออกมาก็เหมือนกับบอกให้รู้ว่า

ฉันยังไม่ตายนะ ฉันยังอยู่

 บางทีผู้ปฏิบัติเองก็ไม่รู้ คิดว่าสิ้นกิเลสแล้ว

 ถึงต้องไปหาคนเก่งๆอย่างหลวงตา

คอยช่วยกระทุ้งให้

 กิเลสมีเท่าไหร่เดี๋ยวก็ออกมาหมด

 เพราะท่านรู้วิธีกระทุ้งกิเลส

ท่านมีเทคนิคมีอุบายมีลีลาต่างๆเยอะแยะไปหมด

 มีทั้งลูกล่อลูกไล่

การไปอยู่กับครูบาอาจารย์

ที่ผ่านกิเลสมาอย่างโชกโชนแล้วจะมีประโยชน์มาก

 เพราะท่านจะช่วยทดสอบจิตใจของเรา

 ให้รู้ว่าสิ้นกิเลสหรือยัง

หรือมีแต่ตัวโลภโกรธหลงชนิดหยาบๆ

ที่ได้ถูกทำลายลงไปแล้ว

แต่ตัวขนาดกลางและขนาดละเอียดยังหลบซ่อนอยู่

เวลาเจริญปัญญาใหม่ๆ

จะพบกับกิเลสได้อย่างง่ายดายเพราะมีเต็มไปหมด

 ไม่ต้องไปตามหา เพราะกิเลสเพ่นพ่านอยู่ตลอดเวลา

 แต่พอพวกกิเลสส่วนหยาบถูกทำลายไปหมดแล้ว

 ขั้นต่อไปก็ต้องขุดคุ้ยหากิเลส

 เพราะจะหลบซ่อน ไม่ออกมาเพ่นพ่าน

เหมือนกิเลสหยาบๆทั้งหลาย

การปฏิบัติก็จะเป็นขั้นๆไป

จากรูปขันธ์ก็ขยับเข้าไปสู่นามขันธ์

 ในเบื้องต้นก็พิจารณารูปขันธ์ก่อน

 พิจาณาร่างกายให้เข้าอกเข้าใจ

อย่างถ่องแท้เลยว่าเป็นอย่างไร

 ก็มีอยู่สองสามลักษณะด้วยกันคือ

๑. อนิจจัง เห็นว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตาย

ทั้งของเราและของผู้อื่น

ต้องมีการพลัดพลาดจากกันเป็นธรรมดา

 ต้องพิจารณาจนปล่อยวางร่างกายได้

 จะแก่ก็ไม่เดือดร้อน จะเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่เดือดร้อน

 จะตายก็ไม่เดือดร้อน

จะพลัดพรากจากกันก็ไม่เดือดร้อนอะไร

จะรู้สึกเฉยๆ เป็นเรื่องธรรมดา

 ๒. พิจารณาดูความเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 ให้เห็นว่าร่างกายประกอบขึ้น

มาจากดินน้ำลมไฟ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

 มีการไหลเข้าออกของดินน้ำลมไฟอย่างต่อเนื่อง

ได้แก่อาหารชนิดต่างๆ

 อาหารก็มาจากดินน้ำลมไฟ

ข้าวก็ต้องออกมาจากดิน

 ผักก็ต้องออกมาจากดิน

 สัตว์ก็ต้องกินผักกินหญ้า

 ก็มาจากดินน้ำลมไฟ

 เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็แปลงจากผัก

จากข้าวจากเนื้อสัตว์ มาเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ

 เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นเอ็น เป็นกระดูก

 เป็นอวัยวะต่างๆ เมื่อร่างกายแตกสลายดับไป

 ก็กลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ ไม่ได้ไปไหน

ต้องพิจารณาอยู่เรื่อยๆ พิจารณาจนช่ำชอง

 คิดถึงปั๊บก็รู้เลย จนปล่อยวางได้

เหมือนกับถือก้อนดินไว้ก้อนหนึ่ง

 จะเสียดายทำไม

 จะคิดว่าเป็นของเราได้อย่างไร

เมื่อรู้ว่าเป็นดิน ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ได้ก็ใช้ไป

เอามาปั้นเป็นลูกเล็กๆไว้ใช้กับหนังสติ๊ก

ไว้ยิงสัตว์ที่มารบกวน ก็ใช้ไป

 แต่ไม่ยึด ไม่ติด ไม่คิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา

 ร่างกายก็เป็นเหมือนก้อนดินก้อนหนึ่ง

 เมื่อถึงเวลาที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิม

 ก็ต้องกลับคืนไป

นี่คือการพิจารณาให้เกิดปัญญา

ในส่วนของร่างกาย

เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่างๆให้หมดสิ้นไป

 ๓. การพิจารณาอสุภะความไม่สวยงาม

เพราะถ้าไม่พิจารณา ก็จะเห็นแต่ความสวยงาม

 ทำให้เกิดราคะตัณหาความกำหนัดยินดีในกาม

 ก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่าไม่สวยไม่งาม

เพราะถูกซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง

ถ้ามีตาเอ็กซเรย์ก็สามารถมองทะลุเข้าไปได้

 ก็จะเห็นอาการต่างๆ เช่นโครงกระดูก

ตับไตไส้พุงต่างๆ เป็นส่วนที่ไม่สวยงามเลย

เหมือนกับตับไตไส้พุง

ของหมูของวัวที่ขายในตลาด

แต่ถูกหุ้มห่อไว้ด้วยหนัง

จึงมองไม่เห็นความไม่สวยไม่งามนี้

จึงต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูอยู่เรื่อยๆ

 จนติดตาติดใจ หรือจะพิจารณาดู

ตอนที่ตายไปแล้วว่าเป็นอย่างไรก็ได้

เวลาขึ้นอืดเป็นอย่างไร เช่นเวลาไปงานศพ

ควรไปปลงอนิจจังกัน คือความตาย

 ความไม่เที่ยงแท้แน่นอน

ควรพิจารณาอสุภะกัน

ว่าร่างกายนี้ไม่สวยไม่งามเลย

 ต้องพิจารณาจนกำจัดราคะตัณหา

ความกำหนัดยินดีให้หมดไป

เมื่อหมดไปแล้วการพิจารณาร่างกาย

ก็ไม่ต้องทำอีกต่อไป เพราะไม่มีปัญหาแล้ว

กลัวตายก็ไม่กลัวแล้ว กลัวแก่ก็ไม่กลัวแล้ว

กลัวเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่กลัวแล้ว ไม่ยึดไม่ติดแล้ว

 รู้แล้วว่าเป็นเพียงดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง

จะไปหลงไปชอบ ว่าสวยว่างามได้อย่างไร

การพิจารณาร่างกายก็จบลงโดยปริยาย

 เพราะไม่เป็นปัญหากับจิตใจอีกต่อไป

 ต่อจากนั้นก็มีงานที่ละเอียดกว่านั้นอีก

ที่ต้องทำต่อ คือการพิจารณานามขันธ์ที่อยู่ในจิต

 ได้แก่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ที่จิตยังหลงยึดติดอยู่ ยังติดอยู่กับสังขาร

ความคิดปรุงแต่ง ยังชอบคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้

คิดแล้วก็มีความสุขบ้างมีความทุกข์บ้าง

 แต่พอมีความทุกข์ก็ไม่รู้จักระงับดับมัน

 เพราะติดสังขาร ไม่รู้จักหยุดคิด

จึงต้องพิจารณาแยกจิตผู้รู้

ออกจากสังขารความคิดปรุง

 แยกจิตออกจากเวทนา แยกจิตออกจากสัญญา

แยกจิตออกจากวิญญาณ

ให้เห็นว่าจิตกับขันธ์เป็นคนละส่วนกัน

 ขันธ์ออกมาจากจิต เป็นอาการของจิต

เหมือนกับฟองน้ำกับคลื่น

ที่ต้องอาศัยน้ำทำให้เกิดขึ้นมา

 เช่นเดียวกับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 ต้องมีจิตถึงจะเกิดขึ้นมาได้

ท่านจึงเรียกว่าอาการของจิต แต่ไม่ใช่ตัวจิต

 ตัวจิตเป็นตัวที่ถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง

 ไม่ตายไม่เกิดไม่แก่ไม่เจ็บ

 แต่ตัวขันธ์มีการเกิดดับๆอยู่เสมอ

มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ดังที่ได้แสดงไว้

 เช่นเวทนาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากสุขเป็นทุกข์

จากทุกข์เป็นสุข เป็นไม่สุขไม่ทุกข์

 วิญญาณที่รับรู้เรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา

ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย

ก็รับรู้ไปแล้วก็ดับไป เกิดดับๆตลอดเวลา

 เห็นรูปนี้แล้วก็รับรู้ พอรูปนี้ดับไป

ความรับรู้รูปนี้ก็ดับไปด้วย

 เช่นเห็นรูปของนาย ก. พอนาย ก. เดินผ่านไป

 ความรับรู้รูปของนาย ก. ก็หายไป

พอเห็นนาย ข. ก็รับรู้นาย ข. ต่อ

ก็เกิดดับๆ รับรู้อยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ

เปลี่ยนไปตามสิ่งที่มาสัมผัส

กับตาหูจมูกลิ้นกาย

 เรียกว่าวิญญาณผู้รับรู้

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ต่อจากนั้นสัญญาก็ทำงานต่อ

 รูปนี้เป็นใครหนอ อ๋อเป็นคุณนั่นคุณนี่

 เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้

 รู้ว่าคนนี้น่ารักไม่น่าชังเพราะเคยให้เงินให้ทอง

 จึงน่ารัก ก็ดีอกดีใจ

แต่คนนี้เคยมาทวงหนี้ทวงสิน

 ก็น่าเบื่อน่ารังเกียจ

เรียกว่าสัญญาความจำได้หมายรู้

แล้วก็ทำให้เกิดเวทนาตามมา

เวลาเห็นภาพที่ถูกใจ ก็เกิดสุขเวทนา

เห็นภาพที่ไม่ถูกใจก็เกิดทุกขเวทนา

 เห็นภาพที่เฉยๆก็เกิดไม่สุขไม่ทุกขเวทนาขึ้นมา

 ต่อจากนั้นก็เกิดสังขาร

ความคิดปรุงแต่งตามมา ว่าจะทำอย่างไรดี

ถ้าเห็นคนน่ารักน่ายินดีก็ต้อนรับขับสู้

เป็นอย่างไร สบายดีหรือ

 เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง

 ถ้าเจอเจ้าหนี้ก็เตรียมทางหนีทีไล่

มองซ้ายมองขวา

 เป็นการทำงานของสังขารความคิดปรุงแต่ง

 คิดว่าจะไปทางไหนดี

ถ้าหลบไม่ได้หลีกไม่ได้ก็ทำใจดีสู้เสือ

เป็นหน้าที่ของสังขาร

 แล้วก็ทำให้เกิดทุกข์สุขขึ้นมา

 ถ้ามีปัญญาสังขารก็จะอยู่ในกระแสของธรรม

ของเหตุของผล โดยคิดไปว่า

เกิดมาแล้วก็ต้องใช้กรรมที่สร้างเอาไว้

เมื่อผลปรากฏขึ้นมาก็ไม่ต้องไปกลัวมัน

 เจ้าหนี้มาทวงหนี้ก็คุยกันไป

มีอะไรให้เขาได้ก็ให้เขาไป

ไม่มีอะไรก็ให้เขาด่าให้เขาบ่นไป

หรือจะจับเข้าคุกเข้าตะรางก็ยอมให้จับไป

 ไม่หนี ไม่หวั่นไหว พร้อมที่จะชดใช้กรรม

นี้คือคิดด้วยธรรมะ คิดไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา

 คือความอยากจะหนี

วิภวตัณหาคือความไม่อยากเจอคนนี้

 อยากจะหนีจากคนนี้ไป

หรือเวลาเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย

 หมอก็บอกว่ามีเวลาอยู่ได้อีกหกเดือนเท่านั้น

 ถ้าคิดไปทางธรรมะ

ก็จะยอมรับความจริง จะไม่กลัว

 อะไรจะเกิดก็เกิด หนีไม่พ้น

เกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายด้วยกันทุกคน

 แต่ถ้าไม่มีธรรมะเลย

พอหมอบอกว่าอยู่ได้อีกหกเดือน

 หัวใจก็หล่นลงไปอยู่ที่เท้าเลย

 หมดกำลังใจที่จะอยู่ต่อไป

ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

นี่คือสังขารความคิดปรุงแต่ง

การที่เรามาเจริญวิปัสสนาภาวนากันนี้

ก็เพื่อสร้างสังขาร

ให้คิดปรุงแต่งไปในทางธรรมะ

 เพื่อรับกับการทำงาน

ของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

 เวลาสัมผัสกับเหตุการณ์ต่างๆ

 เวลาไปอยู่ต่างประเทศ

ถ้าไม่รู้ภาษาที่เขาพูดกัน

 เราก็จะไม่รู้เรื่อง

เพราะสัญญาไม่สามารถสื่อความหมายได้

 ถ้าหมอบอกว่าคุณจะตายภายในหกเดือน

 ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ก็จะรู้สึกเฉยๆ ไม่ตื่นเต้น

นี่คือการทำหน้าที่ของสัญญา

 เราสามารถปรับเปลี่ยนสัญญาได้

 ถ้าเราถูกสอนมาให้เห็นผิดเป็นชอบ

 เช่นสอนว่าร่างกายนี้เป็นเรา

ถูกสอนมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

ถูกอวิชชาโมหะสอนมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดแล้ว

 ว่าร่างกายนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา

นี่ก็เป็นสัญญาที่ไม่ถูก

การฟังเทศน์ฟังธรรม

ก็เป็นการแก้สัญญาที่ผิดให้ถูก

 แก้อวิชชาที่เป็นสัญญาที่ผิด

ให้เป็นธรรมะที่เป็นสัญญา

ที่ถูกตรงตามความเป็นจริง เรียกว่าวิปัสสนา

รู้ตามความเป็นจริง

 รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง

 ถ้ารู้ตามอวิชชาก็จะหลงผิด

ไม่เห็นตามความเป็นจริง

 แต่เห็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

 เห็นกลับตาลปัตร เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน

 เห็นความถาวรในสิ่งที่ไม่ถาวร

 เห็นความสุขในสิ่งที่เป็นความทุกข์

นี่คืออวิชชาความไม่รู้จริง โมหะความหลง

 ซึ่งมีอยู่ในใจของเราทุกคน เพราะยังวิ่งเข้าหา

ความทุกข์อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้สึกตัว

เหมือนกับแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ

ไม่รู้ว่าไฟมันร้อน

เห็นแสงสว่างก็คิดว่ามันสวยงาม

 น่าจะสนุกเพลิดเพลินดี

 พอได้มาแล้วก็ได้ความทุกข์มาแบกด้วย

 พอได้สามีได้ภรรยามา

ก็ต้องแบกความทุกข์กับสามีกับภรรยา

 พอได้ลูกมาก็ต้องแบกเพิ่มขึ้นไปอีก

 เพราะถูกโมหะอวิชชาหลอกให้แบก

เราจึงต้องเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรมกัน

 เพื่อให้เกิดปัญญา แล้วก็ต้องเอาไปปฏิบัติ

 มันยากตรงที่ต้องปฏิบัติ เวลาฟังมันง่าย

 เหมือนคนติดยาเสพติด

ที่รู้ว่ายาเสพติดมีโทษมากกว่ามีคุณ

 แต่ก็เลิกไม่ได้

 พอถึงเวลาเสพใจจะสั่น ต้องมีความกล้าหาญ

 ต้องกล้าทิ้งมันไป หนีมันไป

 ถ้าอยู่ใกล้จะเลิกไม่ได้ ถ้ารู้ว่ากำลังติดอะไรอยู่

ก็ต้องตัดใจเลิกให้ได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๒๗๔ วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๗)

“สมถะ วิปัสสนา”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 ตุลาคม 2559
Last Update : 6 ตุลาคม 2559 9:23:26 น.
Counter : 916 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ