Group Blog
All Blog
### รสอันประเสริฐของธรรมะ ###










“รสอันประเสริฐของธรรมะ”

ความจริงแล้ว ธรรมะนี้

ก็ไม่ใช่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า

   ธรรมะนี้เป็นธรรมะที่มีอยู่ในโลกนี้อยู่แล้ว 

  ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หรือไม่ก็ตาม

  เพียงแต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบ

ธรรมะอันประเสริฐนี้

   เมื่อทรงได้พิสูจน์กับพระองค์เองแล้วว่า

เป็นสิ่งประเสริฐ สามารถชำระกิเลสตัณหา

หนามต่างๆที่อยู่ในอกได้ จึงนำมาสั่งสอนผู้อื่น

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราจึงเรียกว่าธรรมะ

 แต่ความจริงแล้วธรรมะ ที่พระพุทธเจ้า

ทรงนำมาสั่งสอนนี้ มีอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม 

 เป็นธรรมชาติที่มีอยู่เดิม  ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนฉลา

ที่จะสามารถค้นพบได้หรือเปล่า

  เปรียบเทียบก็เหมือนกับเพชรนิลจินดาอันมีค่า

ที่ฝังอยู่ในดิน ถ้าคนฉลาดรู้จักหา รู้จักขุด

ก็จะสามารถขุดคุ้ยเพชรนิลจินดาอันมีคุณค่านี้

 ขึ้นมาเป็นสมบัติครอบครองได้

  ธรรมะก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเป็นคนฉลาด

รู้จักใช้เหตุใช้ผลอยู่ตลอดเวลา

ก็จะสามารถขุดคุ้ยนำธรรมะอันประเสริฐนี้

 มาเป็นสมบัติของตนได้ 

 ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงขุดคุ้ยแสวงหามา

เมื่อได้มาแล้ว ได้สัมผัส

รสอันประเสริฐของธรรมะแล้ว

 จึงได้นำมาเผยแผ่ให้กับผู้อื่นต่อไป

  ผู้อื่นที่เมื่อก่อนนี้ไม่เคยรู้จักธรรมะอันประเสริฐ

 ก็เลยได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมะอันประเสริฐนี้

 แล้วนำเอาไปใช้ในการชำระกิเลสตัณหา

เครื่องเศร้าหมอง ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย

ให้หมดสิ้นไปได้ ทำให้จิตใจของท่านเหล่านั้น

กลายเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา

เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า 

 บุคคลเหล่านี้เราเรียกท่านว่าพระอรหันตสาวก 

 ท่านเป็นสาวก หมายความว่าท่านเป็นผู้ฟัง

  คำว่าสาวกนี้ภาษาบาลีแปลว่าผู้ฟัง 

 คือได้ยินได้ฟังคำสอนจากพระพุทธเจ้าก่อน

 แล้วจึงนำคำสอน คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น

มาประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ยาก

ต่อคนธรรมดาสามัญทั่วไป

ที่จะสามารถขุดค้นพบได้ด้วยตนเอง

  ต้องเป็นคนอย่างพระพุทธเจ้า คือเป็นพระโพธิสัตว์

  ผู้ได้ตั้งจิตอธิษฐานที่จะแสวงหาความหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายทื่ครอบงำจิตใจ

ด้วยการสะสมบุญบารมี ทุกภพทุกชาติ

ที่มีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์

และเมื่อบุญบารมี ซึ่งเปรียบเหมือนกับยานพาหนะ

 ที่จะนำพาพระโพธิสัตว์ให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง

 ที่ปรารถนาคือพุทธภูมิ มีครบถ้วนบริบูรณ์

ก็สามารถนำพาให้พระโพธิสัตว์ได้บรรลุ

เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้

ในแต่ละพุทธสมัยจะมีพระพุทธเจ้า

เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

  เพราะยากที่จะมีคนอย่างพระพุทธเจ้า

มาปรากฏขึ้นในโลกได้ทีเดียวพร้อมๆกัน

แต่พระอรหันตสาวกสามารถมีเป็นจำนวนมาก

นับไม่ถ้วนได้ เพราะพระอรหันตสาวกไม่จำเป็น

ต้องเป็นผู้ขุดค้นหาธรรมะด้วยตนเอง

  มีพระพุทธเจ้าเขียนแผนที่บอกไว้ให้แล้ว

  บอกว่าถ้าต้องการธรรมะอันประเสริฐนี้

 ก็จงเดินไปในทางนี้เถิด

 แล้วก็จะพบกับธรรมะอันประเสริฐนี้ เมื่อมีแผนที่

 การที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง

 จึงไม่ยากเย็นอะไรนัก 

 ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีแผนที่

อย่างพระพุทธเจ้าแล้ว แตกต่างกันมาก

  คนที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน

 ก็เปรียบเหมือนกับคนตาบอด

ที่ต้องใช้มือคลำทางไป

  ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน 

 แต่คนที่มีคนบอกว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้น

ตั้งอยู่ตรงนั้น ขอให้เดินไปตรงนั้น

 ก็จะพบกับสิ่งที่ต้องการ

นี่ก็คือลักษณะของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย 

 ท่านเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่แสวงหา

ความพ้นทุกข์เหมือนกัน

  แต่โดยลำพังท่านเองนั้น

 ท่านไม่มีบุญบารมีแก่กล้า

 พอที่จะหลุดพ้นได้ด้วยตัวของท่านเอง 

  ท่านต้องอาศัยการปรากฏขึ้น

ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

มาประกาศสั่งสอนธรรมะให้ทราบ

ถึงจะสามารถปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์

  หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

นี่คือความแตกต่างระหว่าง

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก

  แต่เป็นพระอรหันต์ด้วยกัน 

 คำว่าพระอรหันต์นี้หมายถึงผู้สิ้นกิเลส

ผู้ไกลจากกิเลส คือผู้สิ้นแล้วในความโลภ

ความโกรธ ความหลง ด้วยการปฏิบัติ

ชำระจิตใจด้วยธรรมะอันประเสริฐนี้

 แตกต่างกันตรงที่ว่า

 พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 ทรงชำระจิตด้วยพระองค์เอง

ศึกษาด้วยพระองค์เอง จากธรรมชาติ

ที่มีอยู่ในตัวและรอบตัวพระองค์

จนเข้าถึงพระอริยสัจสี่ เห็นทุกข์และเหตุของทุกข์

 เห็นมรรคคือวิธีการที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ 

 ด้วยการถอดถอนกิเลสตัณหา

อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ 

 นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงขุดค้นพบ

ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง

โดยอาศัยพระบารมีอันแก่กล้า

ที่ได้ทรงสะสมมานับไม่ถ้วนในอดีตชาติต่างๆ 

  และเมื่อถึงเวลาที่บารมีเหล่านี้พร้อมที่จะ

แทงทะลุเมฆหมอกแห่งอวิชชา

ที่ครอบงำพระทัยของพระองค์

จึงทำให้พระองค์ทรงเห็นในพระอริยสัจสี่ 

 เห็นความสัมพันธ์ของทุกข์ที่เกิดจากเหตุคือสมุทัย

เห็นความสัมพันธ์ของนิโรธคือความดับทุกข์

ที่เกิดจากมรรค การปฏิบัติทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว

จึงได้ปฏิบัติทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

  ตั้งจิตตั้งใจให้อยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา 

 ศีลก็คือการประพฤติที่ดีงามทางกาย ทางวาจา

ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง

  เช่น ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ 

 ประพฤติผิดประเวณี 

   โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา

  นี่คือศีล ถ้าเป็นศีลของนักบวช

ก็มีละเอียดเข้าไปถึง ๒๒๗ ข้อ 

 แต่ศีลข้อใหญ่ๆ ก็อยู่ที่ศีล ๕ เป็นหลัก

  ถ้าเป็นนักบวชแล้วละเมิดศีล ๕

ซึ่งถือว่าเป็นศีลที่ร้ายแรง

เช่น การฆ่ามนุษย์ก็จะต้องถือว่า

เป็นผู้ที่ สิ้นจากความเป็นพระไปทันที 

 นี่คือศีลที่นักบวชต้องรักษากัน

หรือนักปฏิบัติธรรมจะต้องรักษา

  เพราะศีลเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

  ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดสมาธิ

   เพราะผู้ที่มีศีลย่อมสงบกาย สงบวาจา 

 เมื่อกายวาจาสงบ ใจก็สงบตามไปด้วย

ทำให้การทำจิตให้สงบที่เรียกว่าสมถภาวนา

หรือการเจริญสมาธิ ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

 ต่างจากคนที่ไม่มีศีล

คนที่ไม่มีศีลกายวาจาจะไม่สงบ

  เมื่อกายวาจาไม่สงบ ใจก็จะไม่สงบ

 เพราะใจเป็นตัวที่ต้องทำงานนั่นเอง 

 เวลาจะเคลื่อนไหวทางกายทางวาจา

ต้องใช้ใจเป็นผู้สั่งการ ใจต้องคิดก่อน

 เช่นจะไปขโมย ก็ต้องวางแผนก่อน

  จะไปทำอะไรก็ต้องใช้ใจเป็นผู้กระทำ

  ผู้ที่ไม่มีศีลจึงมีความยากลำบาก

ในการทำจิตใจให้สงบ

  สังเกตดูคนที่เป็นมิจฉาชีพ

  คนที่ชอบประพฤติตนผิดศีลผิดธรรม

จะไม่ชอบความสงบ

  จะไม่สามารถทำจิตใจของตนให้สงบได้ 

 เพราะจิตของตนเป็นเหมือนกับก้อนหิน

ที่กลิ้งลงมาจากภูเขา

 มันจะกลิ้งไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด

  แต่ถ้าเป็นคนที่มีศีล มีความสงบกาย สงบวาจา 

 ก็เปรียบเหมือนกับมีเบรก

หรือมีเครื่องกีดขวางก้อนหิน

ที่ไหลลงมาจากภูเขาให้หยุดได้นั่นเอง

   ถ้ามีศีลคือความสงบทางกายทางวาจาแล้ว

 ความสงบทางใจก็จะตามมาต่อไป 

  และเมื่อได้ใช้สติควบคุมกำหนดบังคับ

ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ

  แต่ให้คิดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเครื่องล่อ

 เป็นเครื่องดึงจิตให้รวมเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง

  เมื่อสามารถดึงเข้าไปสู่ความเป็นหนึ่งได้

 จิตก็จะสงบตัวนิ่งลง 

 แล้วก็จะไม่คิดไม่ปรุงอะไรชั่วขณะหนึ่ง

หรือนานกว่านั้น ก็สุดแท้แต่

กำลังของสติที่จะดึงจิตไว้

  ถ้าสติมีกำลังมากก็จะสามารถดึงจิต

 ให้อยู่ในความสงบเป็นเวลานาน

เมื่อจิตมีความสงบแล้ว กิเลสตัณหา

ที่อาศัยการทำงานของจิต

ก็ไม่สามารถทำงานได้ 

 กิเลสตัณหาก็เปรียบเหมือนกับ

คนที่อาศัยรถยนต์ไปไหนมาไหน 

 ถ้ารถยนต์จอดนิ่งอยู่ไม่ไปไหนมาไหน

คนที่นั่งอยู่ในรถก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้

 ก็ต้องนั่งรออยู่ในรถจนกว่ารถจะขับเคลื่อนต่อไป

 ถึงจะไปไหนมาไหนได้

  กิเลสความโลภ ความโกรธ

 ความหลงก็เช่นกัน 

 ในขณะที่จิตรวมตัวลง สงบตัวลง

 ก็จะไม่สามารถทำงานได้

 ไม่สามารถไปโลภไปโกรธได้ 

 เมื่อไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ

ความหลงอยู่ภายในใจ ใจก็ว่าง ใจก็มีความสุข

  แต่จะเป็นความว่างชั่วคราว ไม่ถาวร 

 เพราะสมาธิโดยลำพังไม่สามารถทำลาย

 หรือถอดถอนกิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ

 ความหลง ความอยากให้ออกไปจากจิตจากใจได้

 จำต้องอาศัยเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปัญญา

 คือความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริง

ของสิ่งต่างๆทั้งหลาย ที่จิตยังไม่เห็น

เพราะถูกความหลงครอบงำอยู่

ทำให้เห็นกลับตาลปัตร เห็นตรงกันข้าม

  เช่น เห็นความเที่ยงแท้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ 

 เห็นความสุขในกองทุกข์

  เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน

  นี่คือความเห็นของจิตที่มีความหลงครอบงำอยู่

  แต่ถ้านำปัญญาซึ่งพระพุทธเจ้า

ทรงเห็นแล้ว แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพวกเรา

  ทรงสอนให้เราเห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปยึดไปติดอยู่

 เช่น ร่างกายของเรา หรือเวทนา

 สัญญา สังขาร วิญญาณ

  ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น คือไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไม่มีตัวไม่มีตน 

 นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้ที่มีสมาธิแล้ว

ให้เจริญปัญญาต่อไป ให้พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ นี้ 

 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร

วิญญาณว่าเป็นไตรลักษณ์

  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ปล่อยวาง

อย่าไปยึดอย่าไปติด ให้มองขันธ์ ๕ นี้

เป็นเหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง หรือเมฆก้อนหนึ่ง

 ที่ไหลมาไหลไป มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

  เมฆก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของไอน้ำ 

 เมื่อก้อนเมฆมีน้ำหนักมากก็ตกลงมาเป็นน้ำฝน

  น้ำฝนก็จะระเหยกลับกลายเป็นก้อนเมฆอีก

  นี่คือวัฏฏะของธรรมชาติทั้งหลาย 

ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ก็เป็นเช่นนั้น

  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ก็เป็นคล้ายๆกับเมฆ 

 มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป 

 ร่างกายก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 สลายกลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ เวทนา

ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

 ก็หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา 

 เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

   สังขาร ความคิดปรุง ก็คิดไป คิดไปแล้วก็ดับไป

แล้วก็คิดใหม่อีก หมุนเวียนไป

ไม่มีตัวตนในสิ่งเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยง

 ไม่มีตัวตน จิตก็จะปล่อยวาง

 แล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๑๘๔ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๓)

“สุนัขขี้เรื้อน”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 ตุลาคม 2559
Last Update : 10 ตุลาคม 2559 13:31:29 น.
Counter : 736 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ