Group Blog
All Blog
### เลือกทางเดินของชีวิต ###










“เลือกทางเดินของชีวิต”

ปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งวิถีชีวิต

ให้วิถีชีวิตนี้ไปในทิศทางหนึ่งทางใด

จะให้ไปในทางสวรรค์ก็ได้ ไปทางสุคติก็ได้

จะให้ไปในทางทุคติก็ได้

หรือจะให้ยุติการไปทั้ง ๒ ทางก็ได้

 ไม่ไปทางสุคติ และไม่ไปทางทุคติ

นี่คือความรู้ที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงตรัสรู้

แล้วได้นำเอาเผยแผ่สั่งสอน

ให้แก่สัตว์โลกอย่างพวกเรา

 ที่ยังไม่รู้กันให้ได้รู้กัน เมื่อได้รู้แล้ว

ก็จะสามารถเลือกทางเดินของชีวิตของตนได้

 พระพุทธเจ้าไม่ได้บังคับ ให้เดินตามทางของพระองค์

 พระองค์ทรงเป็นเพียงผู้มาบอกความจริงของทาง

ที่จะไปกันว่ามีทางไหนบ้าง ไปกันได้อย่างไร

แต่ไม่ทรงสั่งไม่ทรงบังคับว่าจะต้องไปทางนี้

ผู้ที่จะไปจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเอาเองว่า

จะต้องการไปทางไหน เพราะผู้ที่ตัดสินใจ

ผู้ที่เลือกทางนั้น

จะเป็นผู้รับผลของการตัดสินใจของตน

 นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้า

ซึ่งต่างจากคำสอนของศาสดาอื่นๆ

ทรงสอนความจริงให้ฟังให้รู้ แต่ไม่ทรงบังคับ

ให้กระทำหรือไม่กระทำ

เพราะทรงรู้ว่าการบังคับนี้ไม่เป็นผลดี

 เพราะเวลาบังคับนี้ มักจะเหมือนกับ

จะสร้างการต่อต้านขึ้นมาในใจของผู้ที่ถูกบังคับ

หรือถ้าอย่างที่มีคำพูดว่ายิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

 ยิ่งห้ามแทนที่จะหยุดให้เขากระทำสิ่งที่ห้าม

กลับไปยุยงให้เขาทำเพิ่มมากขึ้น

พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจหลักของจิตวิทยาอันนี้

 จึงไม่ทางบังคับยกเว้นในกรณีของผู้ที่มาบวช

 ในพระพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าต้องบังคับ

คือทรงตั้งกฎกติกา

ให้ผู้ที่จะมาอยู่มาบวชในพระพุทธศาสนา

 จะต้องอยู่ในกฎระเบียบคือในพระวินัย

ในข้อห้ามต่างๆของการเป็นพระภิกษุ

ถ้าละเมิดข้อห้ามก็จะสามารถถูก จับสึก

 ลาสิกขาลาเพศไปได้ คือจะถูกขับออกจากองค์กร

ออกจากสมาคมของพระภิกษุได้

 เหตุที่จะต้องทำเพราะว่าสถาบันสงฆ์

เป็นสถาบันที่เป็นตัวอย่าง

เป็นเหมือนกับสถานที่ศึกษาเล่าเรียน

ผู้ที่จะมาศึกษาเล่าเรียนจำเป็น

ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎตามระเบียบ

ของสถาบันการศึกษา

 เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมายของการศึกษา

แต่ก็ไม่ได้บังคับให้มาบวชกัน

การบวชนี้ก็ปล่อยให้เป็นไปตามความสมัครใจ

 ถ้าอยากจะบวชก็มาบวชได้

 แต่มาบวชแล้วก็ตั้งอยู่ในกฎกติกา

 ของการเป็นนักบวช

 ถ้าละเมิดกฎกติกาของการเป็นนักบวช

ก็ต้องสิกขาลาเพศไป ไม่ให้อยู่ร่วมกัน

 เพราะจะทำความเสื่อมเสีย

ให้แก่สถาบันของพระสงฆ์

ที่เป็นสถาบันที่มีประชาชนเคารพนับถือ

และยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่งเป็นที่อาศัยในเรื่อง

 ของการประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม

 เมื่อไม่สามารถที่จะ ประพฤติปฏิบัติตน

ให้ดีงามได้ก็ไม่ควรที่จะอยู่ในสถาบัน

 ที่สอนเรื่องการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม

เรื่องอย่างนี้พระพุทธเจ้าจึงจำเป็นต้องมีกฎกติกา

เพื่อที่จะได้ไม่ปล่อย ให้ผู้ที่ประพฤติตน

ไม่ดีไม่น่าดูไม่สวยงาม เข้ามาปะปน

กับผู้ที่ประพฤติดีประพฤติที่สวยงาม

 เพราะเหมือนกับจะเอาน้ำสกปรก

มาผสมกับน้ำที่สะอาด

ก็จะทำให้น้ำที่สะอาดนั้นต้องสกปรกไปด้วย

จึงเป็นที่ทำให้พระองค์ทรงต้องมีกฎกติกาบังคับ

 ให้ผู้ที่มาบวชในพระพุทธศาสนา

จำเป็นที่จะต้องเคารพกฎกติกาของการเป็นนักบวช

แต่ถ้าเป็นพุทธศาสนิกชนทั่วไป

 คือเป็นผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อ

ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

 พระองค์ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องรักษาศีล ๕

จะต้องใส่บาตรทุกวันจะต้องบำเพ็ญจิตตภาวนา

จะต้องไปที่สังเวชนียสถาน ๔ อันนี้ไม่ทรงบังคับ

 แต่ทรงแนะนำว่าเป็นการกระทำที่พึงกระทำ

ทำแล้วผู้กระทำจะได้รับประโยชน์

แต่ไม่กระทำก็ไม่ทรงว่าอะไร

พระพุทธศาสนาอย่างในประเทศไทย

จึงเป็นของที่ค่อนข้างจะแปลกสำหรับชาวประเทศ

ที่ได้ศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ก็จะคิดว่าประเทศไทยมีพุทธศาสนิกชน

อยู่ ๙๐ กว่าเปอร์เซ็นต์

ก็จะคิดว่าประเทศไทยนี้เป็นประเทศที่สะอาด

ปราศจากอบายมุข ปราศจากผู้กระทำบาป

เพราะเป็นชาวพุทธ

 เมื่อเป็นชาวพุทธก็จะไม่เสพอบายมุข

 เช่นไม่ดื่มสุรายาเมาไม่เล่นการพนัน

ไม่เที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวยามราตรี

 ไม่ไปดูมหรสพบันเทิงต่างๆ ไม่คบคนไม่ดีเป็นมิตร

 ไม่มีความเกียจคร้านแต่พอมาถึงเมืองไทยแล้ว

กลับเห็นภาพที่ไม่ตรงกับที่ตนเองได้คิดไว้

ไปไหนก็เห็นอบายมุขเต็มไปหมด เห็นบาร์เห็นผับ

เห็นสถานอาบอบนวด แหล่งโสเภณีอะไรต่างๆ

เต็มไปหมดก็ทำให้ไม่เข้าใจว่า

นี่เป็นเมืองพุทธได้อย่างไร

 ก็เป็นเพราะว่าพระพุทธศาสนาไม่ได้บังคับ

 ให้ชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตาม

 เพียงแต่สอนให้รู้ว่า

ควรจะปฏิบัติตามหรือไม่เท่านั้นเอง

 เช่นควรละเว้นจาก อบายมุขทั้งหลาย

ควรละเว้นจากการกระทำบาป

ควรเข้าวัดทำบุญฟังเทศน์ฟังธรรม ใส่บาตรทำบุญ

ส่วนที่ชาวต่างประเทศเห็นที่ชาวพุทธทำกันมาก

ก็คือการทำบุญการใส่บาตร

 อันนี้เป็นจุดเด่นของ พุทธศาสนิกชนในประเทศไทย

 แต่จุดด้อยก็คือการไม่รักษาศีล

 การไม่ละเว้นจากอบายมุขต่างๆ

อันนี้เป็นเพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบังคับ

ให้พุทธศาสนิกชนที่ถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิกชน

 จะต้องกระทำ แต่เพียงทรงแสดงว่า

คุณสมบัติของชาวพุทธที่ดี

 ควรเป็นผู้ที่มีศรัทธาความเชื่อในกฎแห่งกรรม

 คือเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

เชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอน

ให้คิดดี พูดดี ทำดี ที่สอนให้ละเว้น

จากการคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

อันนี้เป็นคุณสมบัติของชาวพุทธที่แท้จริง

 ถ้าเราอยากจะรู้ว่าเราเป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียม

 ก็ขอให้ดูการปฏิบัติ ของเรา

 ว่าเราได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่

ถ้าเราได้ปฏิบัติตามเราก็เป็นชาวพุทธ

เราก็เรียกตนเองว่าเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าได้

 เป็นลูกศิษย์ของพระอรหันตสาวกได้

 แต่ถ้าเราไม่ประพฤติ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ไม่ประพฤติตามคำสอนของพระอริยสงฆ์สาวก

ถึงแม้ว่าเราจะเรียกตนเองว่า เป็นลูกศิษย์

มันก็เป็นเพียงแต่ชื่อเท่านั้นเอง

แต่ตัวตนเองลูกศิษย์นั้นไม่ปรากฏขึ้นมา

เพราะตัวตนของลูกศิษย์นี้เกิดจากการประพฤติ

ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ดังนั้นถ้าเราเป็นชาวพุทธ เราอยากจะเป็นพุทธแท้

และอยากจะได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนา

 เราก็ต้องปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่ทรงสอนให้เราทำบุญละบาป

และกำจัดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 กำจัดความอยากต่างๆ ให้หมดไปจากใจของพวกเรา

 เพื่อที่พวกเราจะได้ไม่ต้องกลับมา

เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

 เพราะถ้ายังมีการเวียนว่ายตายเกิด

ก็ยังต้องมีการไปใช้วิบากกรรม

 ไปรับวิบากกรรมต่างๆทั้งส่วนที่ดีและส่วนที่ไม่ดี

 แล้วก็ต้องกลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตายต่อไปอยู่เรื่อยๆ

 ดังนั้นถ้าเราอยากจะเป็นชาวพุทธที่แท้จริง

และได้รับประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา

เราก็ต้อง ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

 หมั่นทำความดีอยู่เรื่อยๆ

 หมั่นละการกระทำบาปอยู่เรื่อยๆ

 หมั่นชำระใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เรื่อยๆ

ถ้ามีการกระทำทั้ง ๓ ส่วนนี้แล้วเราก็จะเรียกตนเองว่า

 เป็นพุทธศาสนิกชน ได้อย่างเต็มร้อย

 และเราก็จะสามารถรับประโยชน์

จากการได้เป็นพุทธศาสนิกชน ได้อย่างเต็มร้อย

คือ ได้บรรลุถึงมรรคผล นิพพาน.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

“กฎแห่งกรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 สิงหาคม 2559
Last Update : 30 สิงหาคม 2559 11:52:21 น.
Counter : 1125 Pageviews.

0 comment
### การพลัดพราก ###








“การพลัดพราก”

พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนพุทธศาสนิกชน

ให้หมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่า

เราเกิดมาแล้วย่อมมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

 ล่วงพ้นการพลัดพรากจากกันไปไม่ได้

นี่คือความจริงของชีวิตของทุกๆชีวิต

 ไม่ว่าจะสูงจะต่ำจะรวยจะจน จะฉลาดหรือโง่

จะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

 ถ้าไม่พิจารณาอยู่เนื่องๆใจจะหลงจะลืม

จะคิดว่าจะอยู่ร่วมกันไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด

พอถึงเวลา ที่จะต้องพลัดพรากจากกัน

ก็จะเกิดความทุกข์ใจเกิดความไม่สบายใจขึ้นมา

 แต่ถ้าหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ จะไม่หลงจะไม่ลืม

จะเตรียมตัวเตรียมใจจะไม่ยึดไม่ติดกับสิ่งต่างๆ

 กับบุคคลต่างๆ เพราะรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ว

จะต้องจากกันอย่างแน่นอน

นี่คือธรรมที่สำคัญเพราะจะปกป้องจิตใจไม่ให้ทุกข์

กับการพลัดพรากจากกันจากการสูญเสียสิ่งต่างๆไป

 การพิจารณาก็ควรพิจารณาสิ่งต่างๆ หรือบุคคลต่างๆ

 ที่เรารักหรือเราชัง เพราะบุคคลที่เรารัก

 หรือสิ่งที่เรารักนี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเรานั่นเอง

 สำหรับสิ่งที่เราไม่รักไม่ชัง บุคคลที่เราไม่รักไม่ชังนี้

ไม่ค่อยเป็นปัญหา เขาจะมาเขาจะไปไม่มีปัญหาอะไร

 แต่คนที่เรารักสิ่งที่เรารัก ถ้าเขาจากเราไป

 เราจะเดือดร้อน เราจะวุ่นวายใจ

 หรือสิ่งที่เราชัง บุคคลที่เราชัง

เวลาจะต้องอยู่กับเขา

 เราก็วุ่นวายใจ ไม่สบายใจ

 เราต้องพิจารณาว่าไม่ช้าก็เร็ว

 เขาก็ต้องจากเราไปอยู่ดี

 ในขณะที่เขาอยู่ เราไม่สามารถที่จะให้เขาไปได้

 เราก็ต้องทำใจ สำหรับคนที่เราหรือสิ่งที่เรารัก

 ถ้าเขาอยู่กับเรา เราก็จะดีใจมีความสุข

 แต่เราก็จะไม่สามารถสั่งให้เขาอยู่กับเราไปได้ตลอด

 ไม่ช้าก็เร็ว ไม่เขาก็เราก็ต้องจากกันไปอยู่ดี

นี่คือสิ่งที่เราต้องหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 ถามตัวเราเองว่าเรารักใคร เราชอบใคร

เราอยากให้เขาอยู่กับเรา ไปนานๆใช่ไหม

 แต่เขาจะอยู่กับเราไปนานๆได้หรือเปล่า

หรือเราจะอยู่กับเขาไปนานๆได้หรือเปล่า

 เรากับเขาจะไม่มีวันจะต้องจากกันไปหรืออย่างไร

ถ้ามันมาถึงวันนั้นวันที่จะต้องมีการจากกัน

 เราจะทำใจอย่างไร ถ้าเราหมั่นคอยเตือนใจสอนใจ

 ถึงความเป็นจริงอันนี้ว่า

จะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา

ไม่ว่าจะเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นสามีเป็นภรรยา

เป็นบุตรเป็นธิดา เป็นญาติสนิทมิตรสหาย

หรือเป็นสิ่งของต่างๆ เช่นลาภ ยศสรรเสริญ

สุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย เป็นสิ่งที่จะต้องมี

การพลัดพรากจากกันอย่างแน่นอน

ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง

 ถ้าเราหมั่นพิจารณาอยู่เรื่อยๆ

 เราจะเตรียมตัวเตรียมใจและปรับใจของเรา

 หัดอยู่แบบไม่ต้องมีเขาให้ได้

 ไม่ต้องมีลาภยศ สรรเสริญ

 สุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไม่ต้องมีบิดามารดา ไม่ต้องมีสามีภรรยา

 ไม่ต้องมีบุตรธิดา ไม่ต้องมีญาติพี่น้อง

 อยู่ตัวคนเดียวนี่แหละดีที่สุด

แม้แต่ร่างกายนี้ก็ต้องจากเราไป

การอยู่คนเดียวนี้หมายถึงว่า

แม้แต่ไม่มีร่างกายก็ยังอยู่ได้ไม่เดือดร้อน

 แม้เเต่ร่างกายนี้ก็ต้องจากเราไปเช่นเดียวกัน

และการที่เราจะอยู่คนเดียวได้

โดยที่ไม่ต้องมีบุคคลต่างๆ ไม่ต้องมีสิ่งต่างๆ

 เราต้องมีธรรมเท่านั้น

ถึงจะทำให้เรา อยู่คนเดียวได้

 อยู่ตามลำพังได้ “ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ”

เราต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง

 ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งแล้ว

 เราไม่ต้องพึ่งสิ่งต่างๆ ไม่ต้องพึ่งบุคคลต่างๆ

ไม่ต้องพึ่งลาภยศ สรรเสริญ

 ไม่ต้องพึ่งความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ไม่ต้องพึ่งพ่อพึ่งแม่ พึ่งสามีพึ่งภรรยา

 พึ่งบุตรธิดา พึ่งญาติสนิทมิตรสหาย

 พึ่งร่างกายของเราเอง

เพราะเขาเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่ถาวร

 ไม่ช้าก็เร็วเขาก็จะต้องจากเราไป

 และเวลาที่เขาจากเราไป

 เราไม่มีที่พึ่งเราจะทำอย่างไร

 เราก็ต้องเดือดร้อน จนกว่าเราจะหาที่พึ่งใหม่ได้

 เช่นสามีจากไป ถ้ายังต้องการมีสามี

ก็ต้องไปหา สามีใหม่

 ลูกจากไป ถ้ายังอยากจะมีลูกก็ต้องหาลูกมาใหม่

ถ้าคลอดเองไม่ได้ก็ไปขอเด็กมาเลี้ยงเป็นลูก

 เพราะเรายังพึ่งสิ่งเหล่านี้

เพื่อมาให้ความสุขกับเรานั่นเอง

เพราะว่าเราไม่มีธรรมะเป็นที่พึ่ง

ไม่มีธัมมัง สรณัง คัจฉามิ เป็นที่พึ่ง

ถ้าเรามีธัมมัง สรณัง คัจฉามิเป็นที่พึ่งแล้ว

เราไม่ต้องพึ่งอะไร ไม่ต้องพึ่งใคร

 ไม่ต้องพึ่งลาภยศ สรรเสริญ

ไม่ต้องพึ่งตาหูจมูกลิ้นกาย

ไม่ต้องพึ่งทรัพย์สมบัติ

ไม่ต้องพึ่งตา หู จมูก ลิ้น กาย

ไม่ต้องพึ่งร่างกายคือชีวิตอันนี้

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สละให้หมด

สละทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

สละอวัยวะคือความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

และให้สละชีวิตสละร่างกายอันนี้

ถ้ามันต้องไปให้มันไปไม่ต้องไปพึ่งมัน

 มันไม่ใช่เป็นที่พึ่ง มันเป็นภาระ หะเว ปัญจักขันธา

 มันเป็นภาระที่ใจจะต้องแบก

ตั้งแต่วันเกิดไปจนถึงวันตาย

 ผู้ฉลาดนี้จึงไม่กลับมาเกิด

 ไม่กลับมาแบก ภาระ หะเว ปัญจักขันธา อันนี้

ไม่มาแบกรูปขันธ์นี้ เพราะว่ามันเป็นทุกข์นั่นเอง

 ตั้งแต่เกิดมานี้ก็ต้องทุกข์แล้ว

ทุกข์กับการหายใจเข้าออก

ทุกข์กับการหาอาหาร หาน้ำอะไรต่างๆ

 มาดูแลเลี้ยงดูร่างกาย

แล้วก็ต้องมาทุกข์กับความเจ็บไข้ได้ป่วย

 ทุกข์กับความชราภาพของร่างกาย

แล้วก็มาทุกข์กับความตายของร่างกาย

 พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า

อย่าไปยึดอย่าไปติดให้สละให้หมด

 ทรัพย์ก็เช่นเดียวกัน เวลาทรัพย์หมดไป

ก็ต้องวุ่นวายเดือดร้อน เวลาอวัยวะเสื่อมไป

เวลาตา หู จมูก ลิ้น กายเสื่อมไปก็เดือดร้อน

 เวลาร่างกายตายไปก็เดือดร้อน

ดังนั้นอย่าไปพึ่งสิ่งเหล่านี้ให้มาพึ่งธรรมะ

นี่คือความหมายของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสสอน

ให้ละ ให้สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละร่างกาย

เพราะถ้าไม่สละก็ยังจะยึดติดกับสิ่งเหล่านี้อยู่

เมื่อยึดติดกับสิ่งเหล่านี้

ก็จะไม่สามารถไปสร้างธรรมะ

ให้เป็นธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ขึ้นมาได้นั่นเอง

 ผู้ที่ต้องการธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

จึงต้องละทุกสิ่งทุกอย่าง

ด้วยการพิจารณาอยู่เนืองๆว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง

จะต้องมีการพลัดพรากจากกันเป็นไป

 ถ้าเราเห็นการพลัดพรากอยู่เรื่อยๆ

เราก็จะเห็นโทษของสิ่งต่างๆ เหล่านี้

 เห็นความทุกข์ที่เกิดจากการไปยึดไปติดไปพึ่ง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้มาให้ความสุข

เพราะเวลาที่เขาพลัดพรากจากไป

ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไป

 แล้วก็จะเหลืออยู่แต่ความอยากได้กลับคืนมา

 เวลาไม่ได้ก็จะทุกข์ทรมานใจ

 อย่างมีนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง ในสมัยพระพุทธกาล

มีแม่คนหนึ่งคลอดลูกออกมาเล็กๆ อายุไม่กี่วัน

 ก็เสียชีวิตไป แม่ที่รักลูก

ก็อยากจะให้ลูกฟื้นกลับคืนมา

 ร้องห่มร้องไห้นอนกอดลูก ไม่ยอมไปทำอะไร

 ชาวบ้านเห็นเข้าก็สงสารก็เลยบอกว่า

ให้ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจะช่วยเธอได้

 เธอก็คิดว่าพระพุทธเจ้าจะทำให้

ลูกของเธอฟื้นกลับคืนมา

เธอก็เกิดมีความดีใจ มีกำลังใจ

อุ้มลูกไปหาพระพุทธเจ้า ไปกราบพระพุทธเจ้า

แล้วก็กราบขอพรจากพระพุทธเจ้าว่า

ขอให้พระพุทธเจ้าช่วย

ทำให้ลูกของเธอฟื้นกลับคืนมา

 พระพุทธเจ้าทรงตอบไปว่า

 อ๋อ ง่ายมากเรื่องอย่างนี้

ไม่ใช่เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร

เพียงแต่ว่าเธอต้องไปหาเมล็ดผักกาด

มาให้เราสักกำมือหนึ่ง

และเมล็ดผักกาดนี้จะต้องมาจากบ้าน

ที่ไม่มีการพลัดพรากจากกัน ไม่มีคนตายจากกัน

พอเธอได้ยินอย่างนั้นเธอก็รีบกลับไปที่หมู่บ้าน

 เพื่อที่จะไปขอเมล็ดผักกาดจากเพื่อนบ้านมา

 พอเธอเคาะประตูถามบ้านแรกถามว่า

มีเมล็ดผักกาดหรือเปล่า เขาก็ตอบว่ามี

 แล้วมีคนที่ตาย มีคนที่พลัดพรากกัน

ในบ้านนี้หรือเปล่า เขาก็บอกว่ามี

 ไปบ้านที่สอง บ้านที่สาม

จนถึงบ้านสุดท้ายก็มีคำตอบเหมือนกันหมด

 ทุกคนทุกบ้านนี้มีการพลัดพรากจากการกัน

 ไม่ปู่ ไม่ย่า ไม่ตาก็ยายหรือทวด ไม่พี่ก็น้า อา

 ไม่ก็น้อง ไม่ก็ลูก ไม่ก็หลาน

 มีการพลัดพรากจากกันทุกบ้าน

ไม่มีบ้านไหนไม่มีการพลัดพรากการกัน

 พอเธอได้พบกับความจริงอันนี้

เธอก็มองกลับมาที่ตัวเธอเองแล้วก็พิจารณาว่า

เราก็เป็นเหมือนเขา เขาก็เป็นเหมือนเรา

 เราก็ไม่ได้เป็นคนที่สูญเสียเพียงคนเดียว

ทุกๆคนนี้ก็มีการสูญเสียด้วยกันทั้งนั้น

เสียมากเสียน้อยเสีย ไม่ช้าก็เร็วต้องเสียไป

ถึงแม้ว่าลูกคนนี้จะโตเป็นหนุ่มเป็นสาว

ในที่สุดเขาก็ต้องแก่ตายไปอยู่ดี

พอเธอพิจารณาความจริงอันนี้ได้

ความเศร้าโศกเสียใจที่เกิดจาก

ความอยากให้ลูกฟื้นคืนมาก็หมดไป

ความทุกข์ใจก็หมดไป

เพราะเห็นสัจจธรรมความจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้น

 เป็นของไม่เที่ยง เป็นของชั่วคราวมีวันที่จะต้องหมด

 มีวันที่จะต้องจากกันไป มาทุกข์กับเขา

มันก็เป็นความโง่เขลาเบาปัญญา

นี่คือสิ่งที่ทำให้คนเราหายทุกข์ได้

 เวลาที่จะต้องเผชิญกับการพลัดพรากจากกัน

ก็คือต้องยอมต้องเห็นความจริง

และต้องยอมรับความจริงอันนี้

ไม่ฝืนไม่ต่อต้านความจริง

 เพราะพวกเราที่เกิดขึ้นมาในโลกนี้

มีความเสมอภาคในเรื่องของการสูญเสีย

 เสียกันหมดทุกคน

 ได้มากได้น้อยก็ต้องเสียกันไปหมด

 เพราะทุกคนก็มาตัวเปล่าๆ

 และเวลาไปก็ไปตัวเปล่าๆ ผู้ที่มานี้ก็คือจิตนี่เอง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘

“การพลัดพราก”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 สิงหาคม 2559
Last Update : 29 สิงหาคม 2559 9:33:35 น.
Counter : 834 Pageviews.

0 comment
### ความอยากไม่มีขอบเขต ###













“ความอยากไม่มีขอบเขต”

ผู้ที่มาบวชที่นี่ถ้าอยากจะปฏิบัติ

ก็มักจะไปอยู่ศึกษากับครูบาอาจารย์กัน

 ส่วนพวกที่บวชชั่วคราวก็ไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติ

 ก็ไม่ค่อยชอบขึ้นมา เพราะข้างบนนี้

 (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาชีโอน)

มันกันดารพอสมควร

 ไฟฟ้าก็ไม่มี น้ำก็ต้องอาศัยน้ำฝนรองใส่แท้งก์

ต้องใช้อย่างประหยัดเพราะมีไม่มาก

มีแท้งก์อยู่ ๒ – ๓ ลูก ต่อหนึ่งกุฏิ

ถ้าต้องการสรงน้ำให้จุใจ ก็สรงที่ข้างล่างก็ได้

ในตอนเช้าเวลาลงไปข้างล่างก่อนจะออกบิณฑบาต

 เพราะมีน้ำประปา มีไฟฟ้า

 ที่ข้างบนนี้เวลาสรงน้ำก็ต้องประหยัดๆหน่อย

สัก ๔ – ๕ ขัน พอทำความสะอาดร่างกายก็พอแล้ว

สำหรับคนที่ชอบความสงบ

 เรื่องเหล่านี้จะไม่เป็นอุปสรรค

 เพราะความสงบให้ความสุขมากกว่า

มากกว่าความสุขที่ได้จากการอาบน้ำมากๆ

อาบฝักบัว อาบในอ่าง

 มันก็สุขแค่ขณะที่อาบเท่านั้นเอง

 พอออกจากห้องน้ำเดี๋ยวก็ร้อน จิตใจก็ร้อนต่อ

 แต่ถ้าจิตใจเย็นด้วยความสงบแล้ว

 จะเย็นตลอดเวลา

 เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าเรื่องอื่น

ถ้าเข้าถึงใจแล้ว ได้เห็นความสงบของใจแล้ว

 จะสามารถสละทุกสิ่งทุกอย่างได้

 เพราะไม่มีอะไรมีคุณค่าเท่ากับใจ

ที่ได้รับการดูแลรักษา ได้รับการอบรม ให้สงบ

ไม่วุ่นวายตามกระแสของความอยากต่างๆ

 ที่เป็นตัวสร้างความวุ่นวายให้กับใจของพวกเรา

 แต่พวกเราไม่ค่อยรู้กัน

 เพราะเราอยู่ภายใต้กระแส

ของความอยากมานาน

 จนติดเป็นนิสัย ถ้าได้ทำอะไรตามความอยาก

แล้วจะมีความสุข เหมือนกับคนที่ติดยาเสพติด

 หรือติดสุราหรือบุหรี่ ถ้าได้เสพเป็นประจำแล้ว

 เวลาอยากจะเสพแล้วได้เสพก็จะมีความสุข

 แต่ถ้าวันไหนไม่ได้เสพ

ก็จะรู้สึกหงุดหงิดเป็นทุกข์

 ต้องรีบบำบัดด้วยการหามาเสพต่อ

เลยกลายเป็นทาสของสิ่งต่างๆเหล่านี้ไป

พวกเราก็เช่นเดียวกัน มีความสุขกับความอยาก

 เวลาอยากจะไปไหนแล้วได้ไป ก็มีความสุข

 แต่ถ้าวันไหนไม่ได้ไปเพราะเจ็บไข้ได้ป่วย

ก็จะมีความทุกข์มาก เพื่อนฝูงไปกินเลี้ยงกัน

 แต่เราต้องนอนอยู่บ้านหรือนอนอยู่โรงพยาบาล

มีแต่ความทุกข์ใจ แต่พอออกจากโรงพยาบาล

หายจากไข้แล้ว ก็ต้องรีบไปทันที

 มีโอกาสก็ไปอยู่เรื่อยๆ ไม่เคยหยุดคิดเลยว่า

 การไปนี้เป็นการสร้างความทุกข์ให้กับเรา

ที่จะรอเราอยู่ภายภาคหน้า

 เวลาที่เราไม่สามารถทำตามสิ่งที่เราต้องการได้

 อย่างเมื่อเช้านี้ก็มีหญิงชราคนหนึ่ง

ลูกหลานพามาทำบุญ

เป็นอัมพฤตเดินกะโผลกกะเผลก

 ก็ต้องประคับประคองมา เพราะอยากจะทำบุญ

ลูกหลานก็บอกเธอว่า ถ้าอยากจะทำบุญ

 ก็ต้องพยายามเดินมาให้ได้

เพราะรถวิ่งไปถึงกุฏิไม่ได้

 ต้องเดินไป เดินไปแล้วก็มีความทุกข์มาก

เพราะร่างกายไม่สามารถทำอะไร

ตามความต้องการ

อย่างที่เคยทำได้ ก็พยายามปลอบใจว่า

 เป็นเหมือนกันทุกคน

ต้องเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น

 ต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย

แล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น

แต่ใจของเราไม่ได้แก่

ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

ถ้าสามารถระงับดับความอยาก

 ที่จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้

 ที่ต้องอาศัยร่างกายเป็นเครื่องมือ

เราจะไม่เดือดร้อนเลย

ถ้าเป็นอัมพฤตอัมพาตไปไหนไม่ได้

 ต้องอยู่กับที่ก็อยู่ไป ใจไม่ได้อยากจะไปไหน

 ก็ไม่เดือดร้อน ใจมีความสุขเหมือนเดิม

ถ้ารู้จักทำความสงบให้เกิดขึ้น

ความทุกข์เกิดจากความดิ้นรนตะเกียกตะกาย

 ตามความอยาก

 ความอยากทำให้จิตกระเสือกกระสนดิ้นรน

 ก็เลยเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 เวลาได้ทำตามความอยากก็มีความสุข

นี่เป็นจิตของคนที่ไม่เคยพบกับความสงบ

แต่คนที่พบกับความสงบแล้ว

 กลับเห็นการกระเสือกกระสนนี้เป็นความทุกข์

 เป็นความวุ่นวาย เวลาจะทำอะไร

ถ้าเรื่องมากก็ไม่ทำดีกว่า อยู่เฉยๆนี่แหละ

แสนจะสบาย กินแล้วนอนก็พอแล้ว

 คนเรากินแล้วนอนกันไม่ได้ อยู่ไม่เป็นสุข

 เพราะจิตใจไม่ได้รับการดูแลรักษา

ไม่ได้กำจัดความอยากที่อยู่ในจิตในใจ

เพราะพวกเราไม่รู้ว่าความอยากนี้เป็นโทษ

 ทนอยู่กับมันมา จนเป็นเหมือนเพื่อนของเรา

 เป็นเหมือนตัวที่จะเนรมิตสิ่งต่างๆมาให้กับเรา

โลกนี้จึงมีข้าวของเต็มไปหมด

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผลิตออกมานี้

ก็ออกมาจากความอยากของมนุษย์ทั้งนั้น

มันให้ความสุขกับเรามากน้อยเพียงไร

หรือให้ความทุกข์กับเรามากน้อยเพียงไร

เราไม่เคยเอามาชั่งดูกัน พอเกิดความอยาก

ก็อดไม่ได้ที่จะต้องขวนขวายหามา

หามาได้ไม่นาน

ก็ต้องหาสิ่งใหม่มาแทนสิ่งที่มีอยู่

 เพราะสิ่งที่มีอยู่ไม่มีความหมายแล้ว

ของในบ้านจึงเต็มไปหมด หาที่เก็บไม่ได้

 อย่างเสื้อผ้านี่มีเป็นสิบๆชุด เป็นร้อยชุดก็มี

สำหรับคนบางคน รองเท้าก็มีเป็นร้อยคู่

ทั้งๆที่เท้าก็มีอยู่เพียงคู่เดียว

เวลาใส่ก็ใส่ได้เพียงคู่เดียว

 แต่ความอยากไม่มีขอบไม่มีเขต

พอเห็นคู่ใหม่ก็ติดใจอยากจะได้ขึ้นมา

ซื้อมาใส่หนเดียวแล้วก็เก็บไว้ในตู้

บางทีไม่ได้ใส่อีกเลย

สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยคิดกัน

 เพราะมันบาดใจเรา

 เวลาอยากจะได้อะไรแล้วไม่ได้

 ทำตามที่อยาก มันทรมานมาก

จึงต้องทำกันไปเรื่อยๆ

ชีวิตของเราก็เลยวนเวียนอยู่กับการแสวงหา

 สิ่งต่างๆไปเรื่อยๆ

เหมือนกับวิ่งตะครุบเงาตัวเราเอง

 เงาของตัวเราจะทอดไปข้างหน้าอยู่เสมอ

เราเดินตามเงาไป เงามันก็หนีเราไปเรื่อยๆ

ความพอก็เหมือนกัน

ความพอที่จะเกิดจากความอยากนั้นมันไม่มี

 ที่ว่าได้สิ่งนี้แล้วจะพอ มันไม่พอ

พอได้มาแล้วก็มีสิ่งอื่นที่อยากจะได้อีก

 เราจึงต้องเข้ามาแก้ปัญหาที่ใจเป็นหลัก

เพราะใจเป็นผู้สร้างความสุข

และสร้างความทุกข์ให้กับเรา

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน

 ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดที่ใจ

 ไม่ว่าจะเป็นความสุขก็ดี

 ความเจริญก็ดี ความทุกข์ก็ดี

ความเสื่อมก็ดี ล้วนเกิดจากใจทั้งนั้น

 ถ้าใจฉลาดที่เรียกว่ากุสลาธัมมา มีปัญญา

ใจก็จะสร้างสิ่งที่ดีที่งามที่สุขให้กับเรา

ถ้าใจเป็นใจที่โง่เขลาเบาปัญญา ที่เรียกว่าอกุสลา

 มีความหลง มีอวิชชาความไม่รู้อยู่ในใจ

ก็จะไปตามความอยากต่างๆ

 จึงต้องมาพิจารณาดูว่า

 เราควรทำอะไรกับใจของเรา

ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษา

 การได้ยินได้ฟังพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

 จากพระพุทธเจ้าเองก็ดี

หรือจากพระอริยสงฆสาวกทั้งหลายก็ดี

 จะทำให้เกิดปัญญา ว่าควรทำอย่างไร

ที่จะให้เรา มีความสุข มีความเจริญ

อย่างวันนี้เรามาทำบุญกัน

 ก็ถือว่าเป็นกุสลาธัมมา

 เป็นการกระทำที่เกิดจากความฉลาด

 จากปัญญา เป็นการกระทำ

ที่จะทำให้จิตใจมีความสงบ

การทำบุญให้ทานเป็นวิธี

ที่จะช่วยตัดความอยาก ความต้องการต่างๆได้

 ทำให้จิตใจเกิดความอิ่ม เกิดความสุขขึ้นมา

 ถึงแม้จะไม่ได้มากมายก่ายกอง

 แต่อย่างน้อยก็จะช่วยดับ

หรือต้านความอยากได้ในระดับหนึ่ง

 เช่นเรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง

วันนี้เรามาทำบุญกัน ๕๐๐ บาท ๑,๐๐๐ บาท

เงินก้อนนี้เราสามารถเลือกได้ว่า

 จะเอาไปทำอะไร

จะเอาไปซื้อของตามความอยากก็ได้

 ซื้อเสื้อผ้าสักชุดหนึ่งก็ได้

 ซื้อไปแล้วก็มีความสุขชั่วขณะที่ได้ของนั้นมา

 แต่ความอิ่มความพอมันไม่มี

 แต่จะมีความอยากเพิ่มขึ้นอีก

 พอได้ชุดนี้มาแล้ว

 เดี๋ยวไปเห็นชุดใหม่แขวนอยู่ในตู้

 เห็นว่าสวยก็อยากจะได้อีก

ถ้าเอาเงิน ๕๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ บาทนี้มาทำบุญ

แทนที่จะไปซื้อสิ่งที่เราอยากจะได้

 ก็ทำให้เราตัดความอยากได้ในระดับหนึ่ง

ทำให้จิตใจของเรามีความสุข

เพราะว่าเวลาได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์

เป็นความสุขกับผู้อื่น เราจะมีความสุขใจ

มีความอิ่มใจ แล้วเราจะทำไปเรื่อยๆ

เพราะเห็นว่าการทำบุญ

ทำให้เรามีความสุขใจอิ่มใจ

 เพราะบุญเป็นอาหารของจิตใจนั่นเอง

ส่วนการกระทำตามความอยากนี้

เป็นเหมือนตัวพยาธิ

 ที่จะคอยทำให้เรามีความหิวอยู่เรื่อยๆ

ทำตามความอยากมากน้อยเพียงไรก็ไม่พอสักที

คนบางคนที่หาเงินมาได้เป็นหมื่นล้านแสนล้าน

 ก็ยังไม่พอ ยังอยู่เฉยๆไม่ได้

 เพราะการทำตามความอยาก

ไม่ได้ทำให้จิตใจอิ่มนั่นเอง

 แต่คนที่ทำบุญให้ทานอยู่เรื่อยๆ

 จะไม่ค่อยมีความอยากเท่าไร

มีแต่ความสุข ความสบายใจ ไม่มีอะไรก็อยู่ได้

 เพราะธรรมชาติของใจเป็นอย่างนี้

ยิ่งได้มามากเท่าไรตามความอยาก

 ยิ่งมีความอยากความต้องการเพิ่มมากขึ้นไป

 ยิ่งตัดความอยากด้วยการเสียสละ

สิ่งที่ตนเองมีอยู่ไปได้เท่าไร

ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

 แทนที่จะไปซื้อของ ไปทำตามความอยาก

 ความอยากนั้นก็จะถูกตัดไป เมื่อถูกตัดไป

กำลังของความอยากก็จะอ่อนลงไปเรื่อยๆ

 ทุกครั้งที่อยากจะทำอะไรแล้ว

ไม่ทำตามความอยากนั้น

ครั้งต่อไปความอยากนั้นก็จะเบาลงไป

เช่นอยากจะเสพสุรายาเมา

แต่ตัดสินใจว่าวันนี้จะไม่เสพ จะไม่ดื่มวันหนึ่ง

พอพรุ่งนี้ความอยากจะดื่มก็จะเบาลงไป

 ถ้าไม่เสพไปสักระยะหนึ่ง ก็จะรู้สึกเฉยๆ

ธรรมชาติของความอยากเป็นอย่างนี้

 ยิ่งทำตามความอยากมากน้อยเพียงไร

มันจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นเพียงนั้น

 สังเกตดูสมัยที่เราเป็นเด็กๆ

ความอยากของเด็กๆก็เป็นระดับหนึ่ง

 ได้สตางค์ไปซื้อขนมก็มีความสุขแล้ว

แต่พอโตขึ้นมาหน่อยก็ต้องซื้อของที่แพงขึ้น

ต้องใช้เงินมากขึ้น เมื่อโตเป็นหนุ่มเป็นสาว

ก็ยิ่งใช้เงินมากขึ้นไปใหญ่

พวกเราทุกคนไม่เคยมีความพอ

กับการใช้เงินใช้ทอง

 หามาได้มากน้อยเพียงไร

 ก็ยังรู้สึกว่าไม่ค่อยพอใช้

เพราะจะมีรายจ่ายเพิ่มตามมากับรายรับเสมอ

 เพราะความอยากของเรา

จะขยายแผ่วงกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ

 แต่ถ้าเคยฝึกหัดใช้เงินใช้ทองตามความจำเป็น

 ก็จะมีเหลือใช้ เช่นมีเสื้อผ้าสัก ๒ – ๓ ชุด

เอาไว้ใส่ เอาไว้เปลี่ยน

มีรองเท้าสักคู่สองคู่ไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ก็พอแล้ว

 ถึงแม้จะมีเงินมีรายได้มากขึ้น

 ก็ไม่ใช้เงินนั้น ก็จะมีเหลือใช้

 เพราะสามารถควบคุมความอยากได้

ไม่ให้ฉุดลากให้เราไปทำตามความต้องการ

ตามความอยากต่างๆ

เพราะความอยากไม่มีที่สิ้นสุด

 ไม่มีขอบ ไม่มีเขต ถ้ามีเงินมาก

เราก็จะซื้อของแพงๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 เมื่อก่อนขับรถคันละห้าแสน

ต่อไปอาจจะขับรถคันละห้าล้านก็ได้

 มันก็รถเหมือนกัน

พาเราไปจุดสู่หมายปลายทางได้เหมือนกัน

 เพียงแต่ว่ามีรสนิยมสูงขึ้น

 มีราคาแพงขึ้นเท่านั้นเอง

 ปัญหาของคนเราจึงอยู่ที่การใช้เงินใช้ทอง

ใช้ไปเท่าไรก็ไม่พอใช้เสมอ

 ถ้าใช้ไปตามความอยาก ตามความต้องการ

 แต่ถ้าใช้ไปตามความจำเป็น

 จะมีเงินทองเหลือใช้ จะได้เอาไปทำประโยชน์

 เอาไปช่วยเหลือคนอื่น เอาไปทำบุญทำทาน

 ก็จะทำให้จิตใจมีความสุข มีความอิ่มมากขึ้น

 ทำให้ความอยากความต้องการสิ่งต่างๆน้อยลง

คนที่ทำบุญจริงๆจะเป็นคนสมถะ

 ตัวเองจะไม่ค่อยมีสมบัติอะไรมาก

อย่างครูบาอาจารย์ทั้งหลาย

ท่านเคยอยู่อย่างไรท่านก็อยู่อย่างนั้น

 มีสมบัติแค่ ๘ ชิ้น คือบริขาร ๘

 ได้แก่บาตรใบหนึ่ง ผ้าสามผืน มีดโกน ที่กรองน้ำ

 ประคดเอว ด้ายกับเข็ม นี่เป็นสมบัติ ๘ ชิ้นของท่าน

มีคนบริจาคมากี่ร้อยล้าน กี่พันล้าน

 ท่านก็ไม่ได้เอามาซื้อข้าวของมาใช้กับตัวท่านเอง

มีเท่าไรท่านก็เอาไปทำประโยชน์หมด.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

...........................

กัณฑ์ที่ ๒๓๔ วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๙

 (จุลธรรมนำใจ ๓)

“ความอยากไม่มีขอบเขต”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 สิงหาคม 2559
Last Update : 28 สิงหาคม 2559 7:34:32 น.
Counter : 860 Pageviews.

1 comment
### รางวัลที่ ๑ ###








“รางวัลที่ ๑”

เวลานี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับพวกเราเป็นอย่างมาก

 โดยเฉพาะผู้ที่ปรารถนา การเจริญในทางธรรมะ

ผู้ที่ปรารถนาการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่ยากต่อการที่จะหาได้

 คือเวลาที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

และเวลาที่ได้มีพระพุทธศาสนา ปรากฏขึ้นมาบนโลก

เพราะถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาก็จะไม่มีผู้นำทาง

ให้เราได้ไปสู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 ถ้ามีพระพุทธศาสนาแต่ถ้าเราไม่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

 เราก็จะไม่ได้มีโอกาสที่จะศึกษา ที่จะปฏิบัติ

เพื่อให้ได้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

 การที่เราได้มีสิ่งทั้ง ๒ สิ่งนี้คือได้มาเกิดเป็นมนุษย์

 และได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ยากมาก

ยากกว่าการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑

 และรางวัลที่เราจะได้รับจากการได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

 ก็มีคุณค่ามากกว่าเงินรางวัลที่ ๑

 อีก หลายร้อยหลายล้านเท่าด้วยกัน

 เพราะรางวัลที่เราจะได้รับจากการได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ได้มาพบกับ พระพุทธศาสนานี้

จะทำให้เราได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

ที่สัตว์โลกทั้งหลายในไตรภพจะสามารถรับได้

นั่นก็คือมรรคผล นิพพาน

คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

ตอนนี้มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้เป็นของเราแล้ว

 อยู่ที่ว่าเราจะไปรับรางวัลนี้หรือไม่

 เหมือนกับเราได้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ แล้ว

อยู่ที่ว่าเราจะไปขึ้นรางวัลหรือไม่

ถ้าเราไม่ไปขึ้นรางวัล ลอตเตอรี่ที่เราถูกนี้

ก็เป็นเพียงเศษกระดาษเป็นชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง

 ไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา

 แต่ถ้าเราเดินทางไปขึ้นรางวัล

 เราก็จะได้รับรางวัล

มีมูลค่าหลายล้านบาทด้วยกัน ฉันใด

การที่เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ได้มาพบกับพระพุทธศาสนานี้

ก็เรียกว่าเราได้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑

ทางจิตวิญญาณทางจิตใจแล้ว

รางวัลที่เราจะได้รับก็คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

แต่เราต้องเดินทางไปรับรางวัล

การได้พบกับพระพุทธศาสนา

การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้ยังไม่ได้รับรางวัล

 แต่เป็นการมีสิทธิที่จะไปรับรางวัลได้

ถ้าเราทำตามเงื่อนไขของการรับรางวัล

เงื่อนไขของการรับรางวัลก็คือเราต้องเจริญมรรค

 คือทางที่จะพาให้เราไปสู่ผล

คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

มรรคที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราหมั่นเจริญกัน

 ให้มากๆก็คือทาน ศีล ภาวนานี่เอง

 ถ้าเราได้เจริญทาน ศีล ภาวนาแล้ว

 ผลก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับ

คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน

มรรค ๔ นี้ก็มีโสดาปฏิมรรค สกิทาคามีมรรค

อนาคามีมรรค อรหันตมรรค

 ผล ๔ ก็คือโสดาปฏิผล สกิทาคามีผล

อนาคามีผล อรหันตผล

 แล้วก็รางวัลชิ้นสุดท้ายก็คือพระนิพพาน

รางวัลเหล่านี้อยู่ในเอื้อมมือของเราแล้ว

 ถ้าเราทำทาน เรารักษาศีล เราภาวนาได้

รางวัลเหล่านี้ก็จะปรากฏขึ้นมาตามลำดับอย่างแน่นอน

 เพราะมีผู้ที่ได้ไปรับรางวัลนี้มาแล้วกันจำนวนมาก

 นับตั้งแต่วันแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศ

 พระธรรมคำสอน ก็คือเป็นเหมือนกับออกลอตเตอรี่

บอกหมายเลขของรางวัลที่ ๑

 ผู้ใดมีลอตเตอรี่หมายเลขนี้ ก็มาขึ้นรางวัลได้เลย

 คือผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์

และได้มาพบพระพุทธศาสนามีศรัทธา

 มีความเชื่อในพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ก็สามารถมารับรางวัลนี้ได้เลย ด้วยการมาทำทาน

ด้วยการมารักษาศีล ด้วยการมาภาวนา

นี่ก็คือโอกาสอันเลิศอันประเสริฐ

ที่มีวันที่จะหมดไปเหมือนกับรางวัลที่ ๑

ที่เขาก็มีกำหนดระยะเวลาให้ไปขึ้นรางวัล

ให้ไปขึ้นภายในระยะเวลาเท่านั้นเท่านี้

 ถ้าเวลาผ่านไปแล้ว ก็จะไม่สามารถไปขึ้นรางวัลได้อีก

การขึ้นรางวัลของพวกเรา การขึ้นรางวัลของ

มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็มีเวลาเหมือนกัน

 ก็คือถ้าตราบใด เรายังมีชีวิตอยู่ตราบนั้น

เราก็ยังสามารถที่จะไปขึ้นรางวัลได้

 แต่ถ้าเวลาใดที่เราสิ้นชีวิตไปแล้ว ตายไปแล้ว

เราก็จะหมดสิทธิ์ที่จะไปขึ้นรางวัล

 และวันเวลาของพวกเราก็จะสั้นลงไปเรื่อยๆ

 ชีวิตของพวกเราจะน้อยลง ไปเรื่อยๆ

ถ้าเราไม่รีบขวนขวายไม่รีบเร่งทำทาน

 รักษาศีล ภาวนา

 เดี๋ยวอาจจะหมดเวลาไปอย่างที่ไม่คาดฝันก็ได้

เพราะชีวิตของเราแต่ละคนนี้

ไม่มีใครสามารถรับประกันได้ว่า

 จะอยู่ถึงอายุเท่าไร บางคนอาจจะอยู่ถึง ๑๐๐

 บางคนก็ ๙๐ ปี บางคนก็ ๘๐ ปี บางคนก็ ๗๐ ปี

 ๖๐ ปี ๕๐ ปี ๑๐ ปี ๓๐ ปี ๒๐ ปี

หรือแม่แต่ ๑ วันหรือ ๑ ชั่วโมงก็มี

เพราะชีวิตนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท

จงรีบทำกิจที่พึงกระทำให้เสร็จลุล่วงไป

ก็คือการไป ขึ้นรางวัลนี่เอง ด้วยการทำทาน

ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนา

 การที่เราจะไม่ประมาทนี้ทำอย่างไร

พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์ว่า

ให้ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ

 ถ้าระลึกได้ทุกลมหายใจเข้าออกได้เลยยิ่งดี

 เพราะถ้าเราได้ระลึกถึงความตาย

รู้ว่าเราจะต้องตายไปเวลาใดเวลาหนึ่ง

เราจะได้ไม่ประมาทนอนใจนั่นเอง

เราจะได้รีบขวนขวายไปขึ้นรางวัล

 ไปขึ้นมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ กัน

ไม่มัวหลงอยู่กับสิ่งที่ไม่เป็นคุณ

ไม่เป็นประโยชน์แก่จิตใจ

 เป็นคุณเป็นประโยชน์กับกิเลสตัณหา

คือตอบสนองความอยากความต้องการต่างๆ

ของกิเลสตัณหา

 แต่ไม่ได้เป็นการสร้างมรรคผล นิพพานขึ้นมา

 กลับเป็นการสร้างความทุกข์

ให้มีเพิ่มมากขึ้น ไปตามลำดับ

ถ้าพวกเรายังไปแสวงหาลาภยศ สรรเสริญ

 หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกันอยู่

ก็แสดงว่าพวกเรา กำลังไม่ได้ทำ

ภารกิจที่เราควรจะกระทำกัน

 แทนที่จะทำทาน รักษาศีล ภาวนา

 เรากลับไปหาลาภยศ สรรเสริญ

 หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายกัน

แล้วผลก็จะเป็นผลที่พวกเราจะต้องเสียอกเสียใจ

ร้องห่มร้องไห้กัน เพราะลาภยศ สรรเสริญ

 และความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายนี้

จะต้องมีวันเสื่อมไป

มีวันหมดไป มีเจริญลาภ เจริญยศ

 เจริญสรรเสริญ เจริญสุข

ก็ต้องมีวันที่จะต้องเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญ

ได้นินทา เสื่อมสุขได้ความทุกข์

เพราะนี่เป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้

 เขาเป็นของที่ไม่ถาวรไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 มีการเจริญและมีการเสื่อม

เวลาเจริญก็เป็นเวลาสนุกสนาน

 แต่เวลาที่เสื่อมก็เป็นเวลที่เศร้าโศกเสียใจ

ถ้าเสื่อมมากๆก็อาจจะถึงขั้นที่ไม่อยากจะอยู่ต่อไป

ถึงกลับต้องทำลายชีวิตของตนเองไป

การได้มาเกิดเป็นมนุษย์การได้มาพบพระพุทธศาสนา

ก็จะไร้ประโยชน์ เหมือนกับการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑

 แต่ไม่ไปขึ้นรางวัล ก็กลายเป็นกระดาษชิ้นเล็กๆไป

ใบหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่มีประโยชน์อะไร

แต่ถ้าเราหมั่นเตือน เราอยู่เรื่อยๆ

ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าชีวิตของเรานี้

ไม่มีใครมารับประกันได้ว่าจะอยู่ถึงเมื่อไหร่

 ถ้าเราระลึกอย่างนี้เราก็จะได้รีบขวนขวาย

ตักตวงมรรคผล นิพพานกัน

 เหมือนกับเวลาที่คนเขาไปหาหมอ

แล้วหมอก็บอกว่าเขาเป็นโรคมะเร็งขั้นสุดท้าย

ไม่สามารถที่จะรักษาให้หายได้

เหลือเวลาอีก ๓ เดือน ๖ เดือน ก็จะต้องจากโลกนี้ไป

 เวลานั้นเขาจะไม่มีความอยาก

ที่จะไปหาลาภยศ สรรเสริญ

หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายเลย

แต่เขาอยากจะไปทำทาน อยากจะไปรักษาศีล

 อยากจะไปภาวนา เพราะจะได้ทำให้เขาได้รับรางวัล

ที่จะเป็นที่พึ่งของใจได้ เป็นที่ดับความทุกข์ใจ

ที่กำลังเกิดขึ้นได้ คนเราเวลารู้ว่า

ตนเองจะต้องตายไปนั้น

เป็นเวลาที่มีความทุกข์มาก

 ถ้าไม่มีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

 มาคอยคุ้มคอยปกป้องรักษาใจ

แต่ถ้ามีมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑

 เวลารู้ว่าตนเองจะต้องตายนี้

 จะไม่รู้สึกเดือดร้อนแต่อย่างใด

เหมือนกับคนที่มีเสื้อเกราะหุ้มไว้

เวลาถูกกระสุนปืนยิงก็จะไม่รู้สึกเจ็บ แต่อย่างใด

 เพราะว่ากระสุนไม่เข้าไปถึงตัวของร่างกายได้

 ถูกเกราะกันกระสุนป้องกันเอาไว้ ฉันใด

 มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ นี้

ก็เป็นเหมือนเกราะคุ้มครองจิตใจ

 ที่จะป้องกันไม่ให้ความทุกข์ที่เกิดจากความแก่

 ความเจ็บ ความตายของร่างกาย

เข้ามาสร้างความทุกข์ความวุ่นวายใจให้กับใจได้เลย.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๗

“รางวัลของการปฏิบัติธรรม”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 สิงหาคม 2559
Last Update : 26 สิงหาคม 2559 11:10:04 น.
Counter : 647 Pageviews.

0 comment
### ปฏิบัติเพื่อละตัวตนยิ่งธรรมสูงตัวตนยิ่งน้อยลง ###









“ปฏิบัติเพื่อละตัวตน

ยิ่งธรรมสูงตัวตนยิ่งน้อยลง”

ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

จะไม่รังเกียจเดียดฉันท์กับสิ่งที่

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติเลย

เพราะการปฏิบัติจริงๆก็เพื่อลดละตัวตน

ยิ่งปฏิบัติธรรมสูงขึ้นเท่าไร ตัวตนยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ

 ความถือตัวถือตน ถือว่าเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้ยิ่งใหญ่

 จะหายไปจนไม่มีหลงเหลืออยู่ในตัวเลย

 เพราะความถือตัวนี้แหละเป็นต้นเหตุของความทุกข์

 พอใครปฏิบัติไม่ถูกใจเราหน่อย

เพราะเราเป็นถึงผู้จัดการ

แต่เขากลับทำกับเราเหมือนกับเรา

เป็นพนักงานเช็ดกวาดถู เราก็จะรู้สึกไม่พอใจ

 แต่ถ้าเรารู้สึกเฉยๆ ถือว่าเป็นเรื่องของเขา

 สายตาของเขาเป็นอย่างนั้น

เขาจึงมองเห็นเราเป็นอย่างนั้น เขาไม่มีปัญญา

 มองไม่เห็นว่าเราเป็นผู้จัดการ ก็ช่วยไม่ได้

เขาจะมองว่าเราเป็นเด็กรับใช้ ก็ไม่เป็นไร

 เป็นความเห็นของเขา สายตาของเขา

 แต่เราก็รู้อยู่ในใจของเรา ว่าเราเป็นอะไร

ความเป็นอะไรของเรานี้ ไม่ได้หมายความว่า

จะต้องให้คนอื่นเขาเห็นตาม เขาจะเห็นอย่างไร

 เราก็ยังเป็นเราอยู่นั่นแหละ

ยิ่งปฏิบัติธรรมสูงขึ้นไปเท่าไร

 ความอิ่มความพอก็มีมากขึ้นไม่หิวไม่อยาก

ให้คนนั้นทำอย่างนั้นอย่างนี้กับเรา

เมื่อปฏิบัติถึงขั้นสูงสุดแล้ว

จะไม่มีความหิวความอยากกับอะไรเลย

 เคยได้ยินว่าคุณแม่แก้วมีคุณธรรมในจิตใจที่สูงมาก

 แต่เวลามีพระไปหาท่าน แม้จะเป็นพระบวชใหม่

ท่านก็ยังกราบไหว้ เพราะเป็นสมมุติ

ฆราวาสก็ต้องแสดงความเคารพต่อบรรพชิต

เราต้องรู้ทัน ต้องแยกแยะได้ว่า

โลกนี้มีทั้งสมมุติและวิมุตติ

 วิมุตติก็เป็นอย่างหนึ่ง

สมมุติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

หลวงตาท่านเคยเขียนไว้ในประวัติหลวงปู่มั่น

 ตอนที่ท่านตอบปัญหาเทวดา

เกี่ยวกับเวลาที่พระอรหันต์มาประชุมกัน

ท่านนั่งกันอย่างไร ท่านก็แสดงเป็นสองนัยด้วยกัน

 ถ้าเป็นแบบวิมุตติ ก็จะไม่ถือว่าใครสูงใครต่ำกว่ากัน

ใครมาก่อนจะนั่งข้างหน้าก็ได้ จะนั่งตรงไหนก็ได้

นั่งไปตามอัธยาศัย แล้วก็แสดงแบบสมมุติ

คือต้องนั่งไปตามลำดับพรรษา

ถึงแม้ตนจะเป็นพระอรหันต์ ถ้ามีพระที่อาวุโสกว่า

 ที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์

 ตนก็จะไม่ไปนั่งข้ามหน้าข้ามตาท่าน

เวลาเดินบิณฑบาต

ก็ให้พระที่มีพรรษามากกว่า เดินนำไป

 ถึงแม้ตนเองจะเป็นพระอรหันต์

แต่พระที่เดินนำหน้าจะไม่เป็นพระอรหันต์

ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะรู้จักแยกแยะสมมุติ

กับวิมุตติออกจากกัน

วิมุตติเป็นเรื่องที่อยู่ในใจเราล้วนๆ

ไม่มีใครรู้หรอกว่าเราเป็นอะไร

แต่รู้ว่าเราบวชมากี่พรรษาแล้ว

ก็ต้องปฏิบัติไปตามสมมุติ

 เหมือนลูกกับพ่อกับแม่ ลูกบางคนเป็นอภิชาตบุตร

 มีจิตใจที่สูงกว่าพ่อกว่าแม่ อย่างพระพุทธเจ้าเป็นต้น

 แต่ลูกก็ยังเคารพคุณพ่อคุณแม่อยู่

ไม่ได้ถือว่าตนฉลาดกว่า เก่งกว่า

 การเคารพพ่อแม่ ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ยังมีอยู่

 แม้จะมีความรู้ ความฉลาด ความสามารถ

มากกว่าพ่อกว่าแม่ ก็แยกไว้เป็นเรื่องหนึ่ง

 คนเราสมัยนี้มักจะหลงตัวเอง พอเป็นใหญ่แล้ว

 กลับเห็นพ่อแม่เป็นคนไม่มีความหมายไป

 เหตุก็เป็นเพราะความหลงนี้เอง

 แต่คนที่มีปัญญาอย่างในหลวง

เวลาอยู่ส่วนพระองค์กับสมเด็จย่า

ก็ยังกราบสมเด็จย่า

 ทรงถือว่าเป็นพระมารดา

แต่เวลาที่ทรงเสด็จออกงาน

ก็ต้องประทับบนบัลลังก์

 สมเด็จย่าก็ทรงประทับอยู่ข้างล่างอย่างนี้เป็นต้น

สมมุติก็มีอยู่หลายระดับด้วยกัน

 เวลาออกงานก็แบบหนึ่ง เวลาอยู่บ้านก็แบบหนึ่ง

 ต้องทำไปให้ถูกกาลเทศะ ตามธรรมเนียมประเพณี

ไม่มีปัญหาอะไร เหมือนการเล่นละคร

เรื่องนี้เขาให้เป็นพระเอก แต่เรื่องหน้าเขาให้เป็นผู้ร้าย

ก็ต้องเล่นไปตามบท มันก็เป็นละครเท่านั้น

 ถ้าไม่ยึดไม่ติดกับบทแล้ว ก็ไม่มีปัญหาอะไร

 เล่นได้ทุกรูปแบบ ให้เล่นเป็นขอทานก็ได้

เป็นคนรับใช้ก็ได้ เป็นมหาเศรษฐีก็ได้

 แล้วแต่จะเล่นเรื่องอะไร ขอให้จ่ายเงินให้เราก็แล้วกัน

เราเป็นเหมือนลูกจ้าง เขาจ้างให้ทำอะไร ก็ทำไป

นี่คือความหมายของการไม่ยึดไม่ติด

 แต่รู้ว่าอะไรสูงอะไรต่ำ อะไรดีอะไรชั่ว

อยู่ในเหตุการณ์ที่จำเป็น

จะต้องทำตามขั้นตอนก็ทำไป

 ไม่ได้คิดว่าเราวิเศษวิโส

 จะต้องปฏิบัติกับเราอย่างนั้นอย่างนี้

ถ้าเขาไม่รู้จักเรา เขาจะปฏิบัติได้อย่างไร

บางคนที่ปฏิบัติไม่ดีกับเรา เพราะเขาไม่รู้

 แต่พอมารู้เข้าทีหลัง ก็มาขอโทษขอโพย

 บอกว่าผมไม่รู้ว่าท่านเป็นใครก็มี

 แต่เราก็ไม่ได้ถือโทษโกรธเคืองตั้งแต่ต้นแล้ว

เพราะรู้อยู่แล้วว่าเรื่องของโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ

เรื่องสรรเสริญนินทามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

 จึงต้องพร้อมที่จะรับกับทุกสภาพ

ถูกเหยียดหยามก็ได้ สรรเสริญก็ได้

ได้รับการต้อนรับอย่างดีก็ได้

ไม่แยแสปล่อยให้ทำเองทุกอย่างก็ได้ ก็แล้วแต่

ในเมื่อไม่ได้ไปหวังอะไรจากใครแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร

จึงขอให้เรามีความแน่วแน่มั่นคงกับพระพุทธศาสนา

 พยายามปฏิบัติไป เป็นโอกาสที่ดีที่สุดแล้ว

ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นเดรัจฉาน เป็นนกเป็นกา

 ก็ปฏิบัติไม่ได้ อย่างมากก็ได้แต่อาศัยศาสนา

อยู่กินไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง นี่เราไม่ได้เป็นนกเป็นกา

 เราเป็นมนุษย์ มีสติปัญญา

พอที่จะรับความรู้ของพระพุทธศาสนาได้

เมื่อได้ยินได้ฟังแล้วก็ขอให้นำไปปฏิบัติ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๒๒๙ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๘

 (จุลธรรมนำใจ ๒)

“ความผิดหวัง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 25 สิงหาคม 2559
Last Update : 25 สิงหาคม 2559 11:02:11 น.
Counter : 693 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ