Group Blog
All Blog
### ความโกรธ ###









“ความโกรธ”

ถาม : ถ้าเราทำไม่เป็น เราโกรธแล้วบริกรรมพุทโธ

พระอาจารย์ : ก็เป็นอุบายของสมาธิ

 แต่ไม่ได้แก้แบบถึงรากถึงโคน

 เพราะความโกรธเกิดจากความหลง

 ต้องแก้ด้วยปัญญา

 เอาความรู้เข้าไปแก้

ถึงจะหายโกรธได้อย่างถาวร

 ถ้าบริกรรมพุทโธๆ

ก็เหมือนเอาหินไปทับความโกรธไว้

 ความโกรธก็แสดงตัวออกมาไม่ได้

 แต่ไม่ได้ถูกทำลายด้วยการบริกรรม

พอหยุดบริกรรมปั๊บ

ก็กลับไปคิดถึงเรื่องนั้นได้อีก

 เกิดความโกรธขึ้นมาได้อีก

 แต่ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องของไตรลักษณ์

 ไม่มีสาระอะไร

 เราไปหลงมันเอง ให้ความสำคัญกับมันเอง

 ทั้งๆที่ความจริงแล้วไม่มีสาระอะไร

ถ้าเราเห็นอย่างนี้ เห็นว่าไม่มีสาระ

 เป็นเรื่องที่เราไปควบคุมบังคับไม่ได้

 เหมือนกับแดด กับลม กับฝน

ฝนตกเราไม่โกรธฝนไม่ใช่หรือ

 เพราะไปควบคุมบังคับมันไม่ได้

 ยกตัวอย่างเวลาเราพายเรือ

 แล้วมีคนพายเรืออีกลำมาชนเรือเรา

 เราจะโกรธคนที่พายเรือใช่ไหม

 แต่ถ้าเรือลอยมาเฉยๆไม่มีคนพาย

 แล้วก็ชนเหมือนกัน

 เราก็ไม่โกรธเรือลำนั้นใช่ไหม

 เพราะเรือไม่มีตัวตน

 แต่ถ้ามีคนพาย ซึ่งเราเห็นว่ามีตัวมีตน

 เราก็จะโกรธคนนั้น

 แต่เราเห็นว่าเรือไม่มีตัวตน เราก็เลยไม่โกรธ

ถือว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย ไปบังคับควบคุมไม่ได้

สิ่งที่เราควบคุมได้ก็คือใจของเรา

ถ้ามีปัญญาเราก็ควบคุมไม่ให้ไปโกรธได้

 เพราะความโกรธมันร้อน มันเป็นทุกข์

ความไม่โกรธนี้สบาย

 อย่างตอนนี้เราไม่โกรธใจเราสบาย

 ถ้าใครมาพูดหรือมาทำอะไรให้เราโกรธ

 ใจเราจะเกิดความรุ่มร้อนขึ้นมา

 ถ้าเราไม่มีสมาธิ

เราจะไม่เห็นภัยของความโกรธที่ปรากฏขึ้นมา

แต่ถ้ามีสมาธิจะมีความแตกต่างกันเยอะ

 ใจที่มีสมาธิเหมือนใจอยู่ในห้องแอร์

พอเจอความโกรธก็เหมือนออกมาจากห้องแอร์

 จะสัมผัส จะรู้ชัดทันที

แต่ถ้าอยู่นอกห้องแอร์ตลอดเวลา

 ก็จะไม่รู้ว่าความร้อนเป็นอย่างไร

เพราะร้อนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว

 คนที่ไม่มีสมาธิจะไม่เห็นกิเลส

จะไม่รู้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร

 เวลาเกิดขึ้นก็หลงไปกับเรื่องราวที่ทำให้โกรธ

แทนที่จะเห็นตัวโกรธ กลับไปเห็นเรื่องรา

หรือบุคคลที่สร้างความโกรธ เห็นคนนั้นคนนี้

เห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ไม่เห็นความโกรธ

ที่ผลักดันให้เราไปวุ่นวาย กับเรื่องนั้นกับเรื่องนี้

 กับคนนั้นกับคนนี้

แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีความสงบเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

 พอเกิดความโกรธขึ้นมา

 มันจะเป็นเหมือนไฟลุกขึ้นมาในใจทันที

เราก็รีบแก้รีบดับ แทนที่จะไปหลงกับเหตุการณ์

หรือคนที่ทำให้เราโกรธ

 เราก็ย้อนกลับมาระงับดับตรงนี้

ด้วยการปล่อยวางเหตุการณ์นั้น

ยอมจำนนกับเหตุการณ์นั้น

ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป

มันผ่านไปแล้ว เราจะเสียอะไรก็เสียไปแล้ว

 ไม่ต้องไปเสียใจ เสียของก็พอแล้ว

ไม่ต้องเสียใจ

คนมีปัญญาจะเสียอย่างเดียว เสียของ

 ถ้าไม่มีปัญญาก็จะเสียใจด้วย

 เพราะคนที่มีปัญญาจะเตรียมตัว

รับกับการสูญเสียอยู่เสมอ

 ไม่มีอะไรที่จะอยู่กับเราไปตลอด

 เดี๋ยวเครื่องอัดเสียงนี่ก็เสียได้ พังได้

ถูกขโมยไปได้ ลืมทิ้งไว้ที่ไหน คนอื่นก็หยิบไปได้

พอหายไปปั๊บถ้ามีปัญญาก็จะรู้ว่า อ๊ะ!มันไปแล้ว

 ใจก็ไม่วูบ ไม่เสียใจ

 แต่ถ้าไม่มีปัญญา พออะไรหายไป

ใจจะวูบขึ้นมาทันทีเลย เสียดาย วุ่นวายใจ

 พยายามตามหา แทนที่จะคิดว่า

เอาไปแล้วก็หมดภาระกันไป

ต่อไปจะได้ไม่ต้องไปมีมัน

 ไม่มีเราก็อยู่ได้ ใช่ไหม

สมัยก่อนพระพุทธเจ้าไม่มีของพวกนี้

ยังตรัสรู้ได้เลย

ของพวกนี้จำเป็นต่อการตรัสรู้มากน้อยเพียงไร

 ไม่จำเป็นหรอก เพียงแต่ว่า

เมื่อมีเราก็ใช้ให้เป็นประโยชน์

 แต่ถ้าไม่มีเราก็สามารถบำเพ็ญ เจริญธรรมได้

แต่ใจของเรามักจะหลอกเราอยู่เรื่อยๆ

 มีไอ้นั่นดีนะ มีไอ้นี่ดีนะ

 โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่มีตามมา

 คือความกังวลใจ ความวุ่นวายใจ

เวลามีอะไรก็ต้องคอยดูแลรักษา

 เวลาหายไปเสียไปก็เสียใจ

 ถ้าไม่มีเลยก็สบายใจ

 ไม่ต้องเป็นภาระกับจิตใจ

เพราะใจยิ่งปลดเปลื้องได้มากเท่าไร

 ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งเบาขึ้น ยิ่งสบายขึ้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งแบกมาก

 แต่เราไม่เห็นกัน

เพราะใจเราไม่เคยปลดเปลื้องด้วยสมาธิมาก่อน

 ถ้าจิตเรารวมลงเป็นอัปปนาสมาธิ

รวมลงแบบสุดๆจนถึงฐานของมัน

จะไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่เลย

จะมีความรู้สึกเบาหวิว โล่งไปหมด

 มีความอิ่ม มีความสุข มีความพออยู่ในใจ

 แล้วจะรู้ว่านี่คือจุดที่เราต้องการที่จะไป

 อยากจะรักษาให้เป็นอย่างนี้ไปตลอด

 เพียงแต่ว่ามันอยู่ได้ไม่นานจากการทำสมาธิ

 แต่จะอยู่ได้นานด้วยปัญญา

ที่คอยหักห้ามใจไม่ให้ไปแสวงหาสิ่งต่างๆมาแบก

 มาเป็นสมบัติ ยิ่งมีสมบัติน้อยเท่าไร

 ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

ถ้ามีมากๆ มี ๗๓,๐๐๐ ล้าน มีความสุขที่ไหน

 แต่เรื่องของกิเลสหนักเท่าไรก็ยอมแบก

 เพราะมันหลง เขาเรียกพวกบ้าหอบฟาง

มันมีสาระมีคุณค่าที่ไหน แต่ขอให้ได้แบก

 เงินทองถ้ามีเกินความจำเป็นแล้ว

ก็จะไม่เป็นประโยชน์กับเรา.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๒๓๓ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๙

(จุลธรรมนำใจ ๓)

“แสงสว่างแห่งธรรม”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 22 กันยายน 2559
Last Update : 22 กันยายน 2559 10:52:25 น.
Counter : 532 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ