Group Blog
All Blog
### ป่าไม้ ###









“ป่าไม้”

ต่อไปสถานที่ปฏิบัติธรรมจะอยู่ในป่าสงวน

 อยู่ในป่าอนุรักษ์ เพราะจะไม่มีป่าเหลือ

 ถ้าไม่มีป่าก็จะไม่มีธรรม

 ที่เกิดของธรรมก็คือป่านี่เอง

เป็นที่เกิดของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์

ของพระพุทธศาสนา

ป่าจึงเป็นสถานที่สำคัญ ไม่ว่ายุคใดสมัยใด

 ต้องมีสถานที่สงบสงัดวิเวก

ห่างไกลจากแสงสีเสียง

ห่างไกลจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 เพราะรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี้

เป็นยาเสพติดดีๆนี้เอง

ที่ทำให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิด

 เพื่อกลับมาเสพ

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะอยู่เรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติเพื่อให้หลุดพ้น

ต้องคำนึงถึงข้อนี้เป็นสำคัญ

อยู่ใกล้แสงสีเสียงไม่ได้

ใกล้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้

ต้องสำรวมอินทรีย์

สำรวมตาหูจมูกลิ้นกายเวลาอยู่ใกล้

สำรวมก็คือต้องห้าม ต้องบังคับใจ

ไม่ให้ไปหาไปเสพ ถ้าอยู่ใกล้ก็อย่าเสพ

 ถ้าได้ยินก็ได้ยินเฉยๆ ถ้าเห็นก็เห็นเฉยๆ

ถ้าไม่เฉยก็ต้องหนีไปอยู่ไกลๆ

 ใช้สติช่วยดึงใจไว้ บริกรรมพุทโธๆไป

 เช่นเวลาไปตามศูนย์การค้า

ก็ควรบริกรรมพุทโธๆไป เหมือนเดินจงกรม

ให้คิดว่าร้านค้าต่างๆเป็นเหมือนต้นไม้

เป็นเหมือนป่า

 เวลาไปเดินป่าจะไม่เกิดอารมณ์

 เกิดความโลภเกิดความอยาก

 เวลาไปเดินตามศูนย์การค้า

เนื่องจากต้องซื้อสิ่งของต่างๆ

ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

 เช่นกับข้าวกับปลาอาหาร

ก็ต้องควบคุมความอยากให้ได้

ให้คิดว่ากำลังหาอาหาร หาผักหาผลไม้

 ส่วนสิ่งอื่นอย่าไปอยากได้

นี่คือวิธีปฏิบัติถ้ายังต้องอยู่ใกล้กับแสงสีเสียง

 ใกล้กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เพื่อไม่ให้เกิดอารมณ์ เกิดความอยาก

 วิธีที่ดีที่สุดก็คือสั่งทางโทรศัพท์ ไม่ต้องไปเอง

 เดี๋ยวนี้มีร้านค้าบริการส่งสินค้าต่างๆ

 ผ่านทางโทรศัพท์ เสียเงินดีกว่าเสียใจ

 เงินเป็นของต้องเสียอยู่แล้ว

เวลาตายก็ต้องเสียไปหมด

แต่เวลาเสียใจเอากลับคืนมายากมาก

 จึงต้องรักษาใจต้องสงวนใจ

 เหมือนเป็นลูกสุดที่รักเลย

ไม่ให้แสงสีเสียงมาพรากลูกเราไป

ต้องหวง ไม่ให้ใครมาเอาลูกเราไปง่ายๆ

ต้องรักใจเหมือนรักสามีรักภรรยา

ต้องหวงต้องห่วงใจ

อย่าไปหวงไปห่วงสามีไปห่วงภรรยา

 เพราะเขาไม่ได้เป็นของเรา

 หวงอย่างไรห่วงอย่างไร เขาก็ต้องจากเราไป

แต่ใจไม่มีวันจากเราไป ใจอยู่กับเราไปตลอด

 ถ้าไม่หวงไม่ห่วง ก็จะได้ใจที่ไม่ดี ใจจะเสีย

 จะเป็นเหมือนคนติดยาเสพติด

ที่ต้องหาแสงสีเสียง

 หารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะมาเสพอยู่เรื่อยๆ

 จึงควรหนีจากแสงสีเสียง

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไปให้ได้

ควรตั้งเป็นเป้าหมายของชีวิตเลย

 ต้องอยู่ปราศจากแสงสีเสียง

 ปราศจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เพราะเป็นยาเสพติดดีๆนี้เอง

ที่จะดึงให้ใจเวียนว่ายตายเกิดอยู่เรื่อยๆ

 ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้เลย

ต้องสำรวมอินทรีย์ เริ่มต้นด้วยการรักษาศีล ๘

 อยู่ที่บ้านก็รักษาได้ ไม่ต้องไปที่วัด

 ไม่ต้องไปปลีกวิเวก ถ้าเราตั้งเป้าไว้แล้ว

จะไม่เป็นสิ่งที่ยากเกินไป

เรื่องการรักษาศีล ๘ นี้ คือไม่ได้หมายความว่า

ตั้งแล้วก็ต้องทำทันที แต่ตั้งไว้เพื่อเป็นแนวทาง

ที่จะได้ก้าวไปสู่จุดนั้น

 เช่นศีลข้อ ๓ ถ้าตอนนี้ยังรักษาไม่ได้

 เพราะยังมีสามีมีภรรยา ก็ให้มีวันหยุดบ้าง

 เช่นวันพระก็หยุดสัก ๑ วัน

หรือมากกว่านั้นก็ได้

 เช่นรักษาอาทิตย์ละ ๖ วัน

 แทนที่จะรักษาอาทิตย์ละ ๑ วันก็เอา ๖ วันเลย

 เก็บไว้ ๑ วันหนึ่งให้กิเลส ถ้ายังมีคู่ครอง

 เวลาไม่มีคู่ครองต้องอยู่คนเดียว

จะอยู่ได้อย่างสบาย

 ควรตั้งเป้าสู่การรักษาศีล ๘ ให้ได้มากที่สุด

 ให้รักษามากกว่าการไม่รักษา

 อย่างน้อยเดือนหนึ่งก็ต้องรักษา ๑๕ วันขึ้นไป

ตอนเริ่มต้นใหม่ๆก็รักษาเดือนละ ๔ วัน

อาทิตย์ละวัน วันพระถือศีล ๘

ต่อไปก็เพิ่มเป็นอาทิตย์ละ ๒ วัน

อาทิตย์ละ ๓ วันเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

จะได้ก้าวหน้า

ไม่ต้องทำทันทีให้เต็มร้อย

ค่อยๆเพิ่มไปทีละเล็กทีละน้อย

 ก้าวไปวันละก้าวจะง่ายกว่าวันละร้อยก้าว

ถ้าไม่คิดริเริ่มเลย ก็จะไม่มีวันเริ่ม

 ก็จะติดอยู่ที่เดิม จะไม่เจริญก้าวหน้า

นี่คือการปฏิบัติสำหรับผู้ที่ยังมีคู่ครอง

ควรรักษาศีล ๘ อย่างน้อยก็อาทิตย์ละ ๑ ครั้ง

 แล้วค่อยเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ

เวลารักษาศีล ๘ ก็ต้องภาวนา

ให้มากกว่าวันที่ไม่ได้รักษา

 เช่นวันที่ต้องไปทำมาหากินทำงานทำการ

 ก็จะมีเวลาเฉพาะตอนเช้า

และตอนค่ำก่อนหลับนอน

ก็นั่งสมาธิ สัก ๓๐ นาที สัก ๑ ชั่วโมง

 ถ้าจะอ้างว่าไม่มีเวลา ก็ต้องหาเวลา

 เพราะเวลามีเท่ากัน วันละ ๒๔ ชั่วโมง

ถ้าไม่มีเวลาภาวนาก็แสดงว่า

เอาเวลาไปทำอย่างอื่น ก็ต้องสำรวจดู

ว่าเอาไปทำอะไรบ้าง

ถ้าไปทำกับแสงสีเสียงก็ควรลดลงมา

 เช่นดูหนังดูละคร แทนที่จะดู ๒ ชั่วโมง

 ๓ ชั่วโมง ก็ดู ๑ ชั่วโมง ดูสิ่งที่มีประโยชน์

 เช่นข่าวสารเหตุการณ์ต่างๆ

 ตัดเรื่องบันเทิงไป

จะได้มีเวลาภาวนามากขึ้น

 ถ้าเป็นวันหยุดทำงาน

ก็ถือศีล ๘ ตัดไปหมดเลย

 เรื่องข่าวสารเรื่องบันเทิง

ดูหนังสือธรรมะแทน

ฟังเทศน์ฟังธรรมแทน

 เดินจงกรมนั่งสมาธิ

สลับกับการทำภารกิจที่จำเป็น

 กวาดบ้านถูบ้าน

ทำอาหารรับประทานอาหาร

ทำตารางขึ้นมาว่าวันหยุดนี้

จะทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับจิตใจ

 ถ้าไม่ทำตารางพอถึงเวลาก็จะไม่ได้ทำ

 เช่นตื่นขึ้นมาก็นั่งปฏิบัติธรรม ๑ ชั่วโมง

 หลังจากนั้นก็ดูแลรักษาร่างกาย

 อาบน้ำแปรงฟัน รับประทานอาหาร

 เสร็จแล้วก็เดินจงกรม พอเมื่อยก็นั่งสมาธิ

 ออกจากสมาธิก็ดูหนังสือธรรมะ

หรือฟังเทศน์ฟังธรรม

 เวลาก่อนเที่ยงก็รับประทานอาหาร

 หลังจากเที่ยงวันก็จะไม่รับประทานอาหาร

 ต่อจากนั้นก็เดินจงกรม

 เสร็จแล้วก็พักสัก ๑ ชั่วโมง

 ทำตารางไว้เลย ถ้าทำตามได้

ก็จะก้าวไปข้างหน้า ก้าวไปด้วยการปฏิบัติ

 ด้วยการกระทำ

จึงต้องคอยดูการกระทำอยู่เสมอ

ว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่

กำลังทำประโยชน์ให้กับใจหรือเปล่า

 ถ้าไม่ทำตารางการปฏิบัติ

ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์

 รับรองได้ว่าจะไม่ได้ปฏิบัติ

 จะไปเปิดตู้เย็นเสียมากกว่า

 เปิดตู้เย็นแล้วก็ไปเปิดทีวี

เปิดทีวีแล้วก็ไปหาหมอน

ตื่นขึ้นมาก็เปิดตู้เย็นใหม่เปิดทีวีใหม่

 ต้องบังคับตัวเอง ต้องมีวินัย

ถ้าไม่มีวินัยจะไม่เจริญก้าวหน้า

ต้องคำนึงถึงผลที่จะได้รับ

จากการควบคุมบังคับตน

ก็คือมรรคผลนิพพาน ไม่มีอะไรจะวิเศษ

เท่ากับมรรคผลนิพพาน

ทำงานนี้เสร็จแล้ว

จะสบายไปตลอดอนันตกาล

ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป

ไม่ต้องกลับมาเกิดใหม่

 ไม่ต้องกลับมาดิ้นรน

ทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

 หาเงินหาทองมาซื้อความสุข

ไม่ต้องทุกข์กับความแก่ความเจ็บความตาย

 มีแต่ความสุขตลอดเวลา

 ไม่มีความทุกข์เลย

 ถ้าคิดอย่างนี้แล้วจะมีกำลังใจ

 มีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็ง

มีความพากเพียร มีความอดทน

ที่จะพาไปสู่ความหลุดพ้นจากความทุกข์

ไปสู่ความสุขที่ถาวรที่ยั่งยืน

เริ่มจากการปฏิบัติที่บ้าน

เพราะอยู่บ้านตลอดเวลา

ถ้าจะไปปฏิบัติที่วัด

 พอไปถึงวัดก็หมดแรงแล้ว

พอปฏิบัติเข้าร่องเข้ารอย
ก็ต้องกลับบ้าน

 เหมือนกับรถพอวิ่งได้หน่อยหนึ่งก็ต้องจอด

 ต้องกลับบ้าน จึงควรปฏิบัติที่บ้านไปก่อน

ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเวลาปฏิบัติ

เอาเวลาที่ใช้ไปกับพวกบันเทิง

 ถ้าเอามาไม่ได้หมดก็แบ่งมาสักครึ่งก่อน

 สละละครไปสัก ๑ หรือ ๒ เรื่อง

ละครน้ำเน่าดูไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร

เรื่องโลภโกรธหลง อิจฉาริษยา

อาฆาตพยาบาท ผิดศีลผิดธรรม

 ดูไปทำไม ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา

 เกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวช

 ดูธรรมะอ่านหนังสือธรรมะดีกว่า

ภาวนาดีกว่า ถ้าทำแล้ว

ก็จะเจริญก้าวหน้าไปตามลำดับ

ต่อไปถ้าปฏิบัติที่บ้านแล้ว

รู้สึกว่ามีอุปสรรคมาก

 ก็ต้องไปอยู่ที่วัดบ้าง

เพราะอยู่ที่บ้านจะมีธุระนั้นธุระนี้

 มีเรื่องนั้นเรื่องนี้มารบกวน

 มาคอยแย่งเวลาไป

 ถ้าปฏิบัติได้ผลบ้างแล้วจะเห็น

คุณค่าของการปฏิบัติ

และเห็นโทษของการทำภารกิจที่ไม่จำเป็น

 เช่นการหาเงินหาทองมากเกินความจำเป็น

ก็เป็นโทษ ไม่ได้เป็นประโยชน์

 เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ

ถ้าเอาไปเที่ยว เอาไปซื้อความสุข

ทางตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เหมือนไปซื้อยาเสพติด

 น้อยนักที่จะเอาไปทำประโยชน์

เช่นเอาไปทำบุญ

ถ้าไม่มีเงินจะทำบุญก็ไม่ต้องทำ

 ไม่ต้องเสียเวลาไปทำบุญ

 เอาเวลามาภาวนาเพื่อบุญที่ใหญ่กว่า

 มากกว่าบุญที่ได้จากการทำบุญให้ทาน

 เอาเวลามารักษาศีล ๘ ดีกว่า

มาภาวนากันดีกว่า

ตัดเวลาหาเงินให้น้อยลงไป

 อย่ามีเงินมาก มีเวลามากจะดีกว่า

เวลามีคุณค่ากว่าเงินทอง

ถ้ารู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นี้

เวลามีคุณค่ากว่าเงินทอง

เป็นหมื่นล้านแสนล้าน

เพราะเงินทองหมื่นล้านแสนล้าน

ดับความทุกข์ไม่ได้

แต่เวลาที่ใช้ปฏิบัติธรรมนี้

ดับความทุกข์ได้

เวลาจึงมีคุณค่าต่างกัน

อยู่ที่การใช้เวลาว่าใช้ไปในทางไหน

 มีคุณก็ได้ มีโทษก็ได้

มีโทษถ้าไปดูละคร ไปดื่มสุรา ไปเที่ยว

ไปหาเงินหาทองมากเกินไป

ถ้าหามาดูแลร่างกายก็เป็นคุณกับร่างกาย

 ถ้าหามากเกินไป หาเพื่อให้ร่ำรวย

ก็จะเป็นโทษกับจิตใจ

 เพราะจะเสริมกิเลสตัณหา

ให้มีกำลังมากขึ้น

 ถ้ามีกิเลสตัณหามากขึ้น

ก็จะมีเวลาปฏิบัติธรรมน้อยลง

 กิเลสตัณหาจะเอาเวลาไปหมด

ไปหาเงินต่อ ได้เงินมา

ก็เอาไปซื้อความสุขต่างๆ

การใช้เวลาจึงมีผลต่างกัน

ใช้ให้เกิดคุณก็ได้ ใช้ให้เกิดโทษก็ได้

 ถ้าใช้ปฏิบัติธรรม

ก็จะเป็นคุณประโยชน์ที่สูงสุด

อย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มา

ทรงใช้เวลาเพียง ๖ ปี ก็ได้ทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่

ทรัพย์ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าเงินทอง

หมื่นล้านแสนล้าน ได้ทรัพย์ภายใน

 ได้อริยทรัพย์

ได้พระนิพพานที่เป็นปรมังสุขัง

 ไม่มีทรัพย์อะไรในโลกนี้

ที่จะซื้อปรมังสุขังได้

 ต่อให้ซื้อรถแสนคันล้านคัน

ก็จะไม่ได้ความสุขของพระนิพพาน

 ต่อให้สร้างปราสาทราชวัง

ใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม

ก็จะไม่ได้ความสุขของพระนิพพาน

คนโง่จึงสร้างสมบัติภายนอก

สร้างปราสาทราชวัง สร้างอะไรต่างๆ

 แต่ใจร้อนยิ่งกว่าไฟ ทุกข์ยิ่งกว่านรก

สิ่งต่างๆในโลกนี้ดับความทุกข์ใจไม่ได้

มีพระนิพพานเท่านั้น

ที่ดับความทุกข์ใจได้อย่างสนิท

ได้อย่างถาวร

 การภาวนาเป็นเครื่องมือ

ที่จะดับความทุกข์ได้อย่างถาวร

ทุกเวลานาทีที่ใช้ไปกับการภาวนา

 เป็นคุณเป็นประโยชน์กับใจทั้งหมดเลย

 มีคุณค่าราคามาก

 ปฏิบัติธรรมเพียง ๕ นาที

ก็เหมือนกับได้เงินมา ๑๐๐ ล้านแล้ว

คิดดูก็แล้วกัน จะมัวไปหาเงินทองทำไม

วันหนึ่งทำงานแทบเป็นแทบตาย

ได้เงินมาสักกี่หมื่นกี่แสนกี่ล้าน

ได้มาแล้วดับความทุกข์ใจได้หรือเปล่า

 นั่งสมาธิเพียง ๕ นาที

ใจเย็นสบายกว่าสุขกว่าได้เงิน

เป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน

 นี่เป็นสิ่งที่เราต้องคิดกัน ต้องเปรียบเทียบ

เพื่อจะได้ใช้เวลา

ให้เกิดคุณประโยชน์อย่างสูงสุด

พระพุทธเจ้าทรงใช้เวลา ๖ ปี

ก็ได้พระนิพพานมา

 หลังจากที่ได้พระนิพพานแล้ว

 พระองค์ก็ทรงสามารถช่วยผู้อื่น

ให้ได้พระนิพพานได้เร็วกว่าพระองค์เอง

 เพราะไม่มีใครสอนพระองค์

 ไม่มีใครบอกวิธี

ที่ให้ได้พระนิพพานอย่างรวดเร็ว

 แต่พอพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว

ทรงสอนไม่ถึงนาทีก็ได้แล้ว

มีศรัทธาท่านหนึ่งอยากจะฟังธรรม

ในขณะที่ทรงบิณฑบาต

พระองค์ก็ทรงตรัสว่า

ไม่ใช่เวลาที่จะสอนธรรมะ

 เขาก็ขอร้องให้ทรงสอนสั้นๆ

ก็ทรงตรัสไปว่า

ให้สักแต่ว่ารู้ เห็นอะไรก็สักแต่ว่าเห็น

ได้ยินอะไรก็สักแต่ว่าได้ยิน

ไม่ให้มีอารมณ์เกิดขึ้นจากการเห็น

จากการได้ยิน ให้รู้เฉยๆ

 เท่านั้นเขาก็สำเร็จแล้ว

 แสดงว่าเขามีคุณธรรม

พร้อมที่จะรับกับธรรมะอันยิ่งใหญ่นี้

ถ้าเปรียบเหมือนกับคนที่มาขออาหาร

 ก็มีภาชนะมารองรับ

พอตักอาหารใส่ภาชนะ

 เขาก็รับได้หมดเลย

 พอรับประทานก็อิ่มเลย

 แต่พวกเรานี้ ฟังกันแล้วฟังกันอีก

 ก็ยังไม่เคยอิ่มกันเลย

เพราะไม่มีภาชนะมารองรับ

ภาชนะที่จะรองรับปัญญา

 ก็คือสมาธิ คือศีล คือทาน

จึงต้องทำทานก่อน ทำทานแบบจริงๆจังๆ

ทำให้หมดเลย ไม่ใช้เงินทองซื้อความสุข

 ตั้งสัจจาธิษฐานว่าต่อไปนี้

จะไม่ใช้เงินซื้อความสุข

 จะใช้เงินซื้อปัจจัย ๔ เท่านั้น

ของอย่างอื่นจะไม่ซื้อ เก็บเงินไว้ซื้อปัจจัย ๔

ถ้าไม่ได้บวช แต่ต้องตั้งกฎไว้เลยว่า

 จะไม่เอาเงินไปซื้อความสุข

ไม่ซื้อรูปเสียงกลิ่นรส

เช่นเห็นกระเป๋าเห็นเสื้อผ้าแล้วอยากได้

 อย่างนี้ก็เป็นรูป

 ได้ดมกลิ่นน้ำหอมก็อยากจะซื้อ

อย่างนี้ก็คือกลิ่น

 เห็นเครื่องดื่มชนิดต่างๆ

 เห็นขนมนมเนยก็อยากจะซื้อ

อย่างนี้ก็คือรส

ต้องไม่ซื้อรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ซื้อแต่อาหาร ซื้อแต่น้ำดื่ม

ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

เสื้อผ้าถ้ามีพอแล้วก็ไม่ต้องซื้อ

ซื้อต่อเมื่อจำเป็น ไม่พอใช้จริงๆ

 จะตัดกิเลสได้เยอะเลย จะมีเวลารักษาศีล ๘

 มีเวลาภาวนานี่คือเจตนาของการทำทาน

ต้องการให้หยุดใช้เงิน ถ้าหยุดใช้เงินได้

ก็หยุดหาเงินได้ หรือหาเท่าที่จำเป็น

 ทำงานปีเดียวก็หยุดได้สิบปี

ถ้าเอาเงินมาใช้ซื้อปัจจัย ๔ เท่านั้น

 เช่นซื้ออาหาร

อาหารก็ต้องแบบมักน้อยสันโดษเรียบง่าย

ถ้าอาหารราคา ๕๐ บาทกินแล้วอิ่ม

 ทำไมต้องซื้ออาหารราคา ๕๐๐ บาท

ถ้าอิ่มเหมือนกัน ดับความหิวได้เหมือนกัน

 รักษาสุขภาพของร่างกายได้เหมือนกัน

อย่างนี้ฉลาดหรือโง่ ซื้อของแพงทำไม

 ได้คุณประโยชน์เท่ากัน

ของมาจากที่เดียวกัน มาจากตลาด

 แต่เวลาขายทำไมราคาต่างกัน

 ขายที่หนึ่งราคาแพงกว่าอีกที่หนึ่งเป็น ๑๐ เท่า

ของมาจากที่เดียวกัน

มาจากตลาดเหมือนกัน

แล้วก็เข้าไปสู่ที่เดียวกัน

 คือเข้าไปในท้องเหมือนกัน

ต้องคิดบ้างสินักปฏิบัติ ศิษย์ตถาคต

 ผู้ปราดเปรื่องด้วยปัญญา อย่าให้กิเลสหลอก

 พอทำให้ดูสวยงาม ก็อยากจะรับประทานแล้ว

 ราคาเท่าไหร่ไม่ว่า

 ยอมเสียยอมหมดเนื้อหมดตัว

ไม่คิดถึงเวลาเข้าไปในปากบ้าง

 ว่าเป็นอย่างไร

 ประดับประดาสวยงามขนาดไหน

 พอเข้าไปขบเคี้ยวอยู่ในปาก

ผสมกับน้ำลายเราแล้วเป็นอย่างไร

สวยงามไหม ต้องคิดอย่างนี้

ถึงจะปราบกิเลสได้ ปราบความหลงได้

 จะได้ใช้เวลาที่มีคุณค่าให้เกิดคุณค่าจริงๆ

 ตอนนี้เราใช้เวลาให้เกิดโทษกับใจเรา

ไม่ได้เกิดคุณเกิดประโยชน์เลย

 มัวแต่หาเงินเพื่อมาใช้ ใช้หมดก็หาใหม่

วนกันไปอยู่อย่างนี้

อยู่ในวัฏจักรแห่งการหาเงินใช้เงิน

 แล้วเมื่อไหร่จะหลุดออกมาได้

ต้องหยุดใช้เงินเท่านั้นถึงจะหลุดออกมาได้

 ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

กัณฑ์ที่ ๔๕๒ วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๒)

“ป่าไม้”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์ สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 28 ตุลาคม 2559
Last Update : 28 ตุลาคม 2559 5:14:17 น.
Counter : 1670 Pageviews.

0 comment
### พระโพธิสัตว์ ###









“พระโพธิสัตว์”

พระโพธิสัตว์คือผู้ที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจ

ต่อการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ

คือทานบารมี ศีลบารมี

 เนกขัมมบารมี อุเบกขาบารมี

 ปัญญาบารมี เมตตาบารมี

 อธิษฐานบารมี สัจจบารมี

 วิริยบารมี และขันติบารมี

ทุกภพทุกชาติที่เกิดมา

จะไม่สนใจกับการสร้างลาภยศสรรเสริญ

สร้างความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 จะมุ่งสร้างบารมีเพียงอย่างเดียว

หมั่นทำทานรักษาศีลภาวนา ออกบวช

สร้างเนกขัมมบารมี และบารมีอื่นๆ

เพื่อการตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ด้วยตนเอง

ถ้าเกิดมาเพื่อแสวงหาลาภยศสรรเสริญ

หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็จะไม่มีบารมี

ที่จะบรรลุพระนิพพานได้ด้วยตนเอง

 ก็ต้องรอให้มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก่อน

 พอมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

ก็เหมือนกับมีคนสร้างทางให้เดินแล้ว

 ก็จะไปถึงพระนิพพานได้อย่างง่ายดาย

เพราะมีทางเดินแล้ว

เพียงแต่เดินไปตามทางเดินเท่านั้นก็จะถึง

 ถ้าอยากจะรู้ว่าเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่

ก็ถามใจดูว่ามุ่งไปทางไหน

 ถ้ามุ่งไปทางลาภยศสรรเสริญ

ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 ก็ไม่เป็นพระโพธิสัตว์

ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์

จะมุ่งสร้างบารมีเพียงอย่างเดียว

นี้คือลักษณะของพระโพธิสัตว์

แต่ไม่ควรบำเพ็ญทานบารมีเพียงอย่างเดียว

 เวลาที่ได้พบพระพุทธศาสนา

 เพราะจะเนิ่นนาน

ควรปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้าจะดีกว่า

 เพราะมีทางเดินแล้ว ไม่ต้องหาทางเอง

 เพราะจะไม่สามารถหาให้เสร็จได้

ภายในชาตินี้

 ต้องบำเพ็ญบารมีต่อไปอีกหลายภพ

หลายชาติด้วยกัน

ตอนนี้มีทางเดินแล้ว ไม่ต้องทำทางเอง

ไม่ต้องหาทาง เพียงแต่เดินตามทาง

ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนให้เดิน

 ก็จะถึงพระนิพพานได้อย่างรวดเร็ว

 ตอนนี้มีสมบัติข้าวของเงินทองมากน้อย

 ก็สละไปให้หมด บริจาคไปให้หมด

แล้วก็ออกบวช ออกมารักษาศีล

ออกมาภาวนาเลย อย่าไปเสียเวลา

กับการสร้างทานบารมี เพียงอย่างเดียว

 ต้องสร้างศีลบารมี อุเบกขาบารมี

สร้างปัญญาบารมี ด้วยการออกบวช

ด้วยการภาวนา ถึงจะหลุดพ้นได้

บรรลุธรรมได้ภายในชาตินี้เลย

 ๗ ปีเป็นอย่างมาก ๗ วันเป็นอย่างน้อย

ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ ขึ้นอยู่กับพละ ๕

คือศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญา

ถ้ามีมากก็ภายใน ๗ วัน

หรือถ้าในสมัยพระพุทธกาล

 ก็บรรลุในขณะที่ฟังธรรมเลย

บรรลุในขณะที่พระพุทธเจ้า

ทรงแสดงธรรมเลย

 เช่นพระอัญญาโกณฑัญญะ

 ฟังครั้งแรกก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเลย

แสดงว่ามีพละ ๕ ที่แก่กล้า

มีศรัทธาวิริยะสติสมาธิปัญญาที่แก่กล้า

 พอได้ยินได้ฟังพระอริยสัจ ๔

 ทุกข์สมุทัยนิโรธมรรค

ก็มีดวงตาเห็นธรรม เห็นว่า

สิ่งใดมีการเกิดขึ้น

ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา

 ถ้ายึดติดกับสิ่งที่มีการเกิดขึ้นและดับไป

ไม่อยากให้ดับไป

 ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

ความทุกข์ก็เกิดจากความอยาก

ไม่ให้สิ่งที่ต้องดับดับไป

ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา

พอมีปัญญาเห็นความจริงว่า ห้ามไม่ได้

 สิ่งที่เกิดแล้วต้องดับเป็นธรรมดา

 อยากไม่ได้ พอเห็นอย่างนั้น

ก็จะหยุดอยาก ยอมรับความจริง

ความทุกข์ก็ดับไป นิโรธก็ปรากฏขึ้นมา

นิโรธก็คือความดับทุกข์

 พระโสดาบันจะไม่ทุกข์กับความแก่เจ็บตาย

ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา

นี่คือเรื่องของการเป็นที่พึ่งของตน

 เรื่องของพระโพธิสัตว์

 เรื่องของการบรรลุ

มรรคผลนิพพานภายในชาตินี้

 ถ้าไม่มีคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ในโลกนี้

 ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา

ก็ต้องบำเพ็ญบารมีต่างๆไปก่อน

 เพราะไม่รู้ว่าจะต้องบำเพ็ญบารมีอะไรบ้าง

 มากน้อยเพียงไร อยู่ในสถานภาพใด

ที่เอื้อต่อการบำเพ็ญ บารมีแบบไหน

ก็บำเพ็ญไป

 ถ้าเป็นมหาเศรษฐีก็บำเพ็ญทานบารมีไป

 ถ้าอยู่ในสังคมของนักบวชก็บวชไป

 ถ้าไปเดือดร้อนตกระกำลำบาก

ลอยคออยู่ในทะเล

ก็ต้องว่ายน้ำไปอย่างเดียว

ก็บำเพ็ญวิริยบารมีไป

 แล้วแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิต

 ที่จะเป็นเหตุให้บำเพ็ญบารมีแบบไหน

ถ้าไปอยู่ในสังคมที่มีการขัดแย้งกัน

 ก็ต้องบำเพ็ญขันติบารมีไป

 แต่ก็บำเพ็ญไม่ได้ครบทั้ง ๑๐ บารมี

ถ้าบำเพ็ญครบทั้ง ๑๐ บารมี

ก็พร้อมที่จะตรัสรู้ พร้อมที่จะบรรลุ

เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 เช่นเจ้าชายสิทธัตถะ

ที่ประสูติเป็นพระราชโอรส

ทรงมีพระบารมีพร้อมทั้ง ๑๐ ประการแล้ว

 ก็รอเหตุการณ์ที่จะบังคับ

ให้เสด็จออกจากพระราชวังไป

พอได้ทราบข่าวว่า

พระมเหสีได้คลอดพระราชโอรส

ก็ทรงเสด็จออกจากพระราชวังไป

ในคืนนั้นเลย

 เพราะรู้ว่าอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว

 เพราะมีบ่วงมาคล้องคอแล้ว

 ถ้าอยู่ก็จะไม่สามารถออกไปบำเพ็ญ เพื่อตรัสรู้

เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้

พวกเราถ้าเกิดในสมัยที่ไม่มีพระพุทธศาสนา

 ก็ต้องบำเพ็ญบารมีไปตามสภาวะ

ที่จะกระตุ้นให้เราบำเพ็ญ

จนกว่าจะได้บารมีทั้ง ๑๐ ประการเต็ม ๑๐๐

 ก็จะได้ตรัสรู้

จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 หรือเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

 ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมของสังคม

 และความสามารถของตน

 ว่ามีความสามารถ

ประกาศพระศาสนาได้หรือไม่

 ถ้าภาวะของสังคมไม่เอื้อ

ต่อการประกาศพระศาสนา

หรือไม่มีกำลังพอที่จะประกาศพระศาสนา

 ก็จะไม่ประกาศ

 ก็จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไป

 ถ้าทรงเห็นว่าสังคมเอื้อ

ต่อการประกาศพระพุทธศาสนา

และทรงมีความสามารถ

ในการประกาศพระศาสนา

ก็จะประกาศพระศาสนา

 อย่างพระพุทธเจ้าของพวกเรา

 ตอนที่ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ

ไม่มีความปรารถนา

ที่จะ ประกาศพระศาสนา

 แต่หลังจากที่ได้ทรงพินิจพิจารณา

ก็ทรงเห็นว่า มีสัตว์โลกบางกลุ่มบางพวก

ที่อยู่ในเกณฑ์ ที่จะรับคำสอนได้

ทรงพิจารณาแยกสัตว์โลกไว้

เป็น ๔ กลุ่มด้วยกัน เหมือนบัว ๔ เหล่า

กลุ่มที่ ๑ คือกลุ่มบัวเหนือน้ำ

ที่พอได้รับแสงสว่างของพระอาทิตย์

 บัวก็จะบาน พวกนี้เป็นพวกนักบวช

 ที่ได้ศีลแล้ว ได้สมาธิแล้ว

 แต่ไม่รู้จักอริยสัจ ๔

พอทรงแสดงพระอริยสัจ ๔

 ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย

กลุ่มที่ ๒ คือกลุ่มบัวปริ่มน้ำ

ที่ต้องรออีกวันสองวันถึงจะโผล่เหนือน้ำ

 พวกนี้เป็นพวกนักบวชที่ยังไม่ได้สมาธิ

 กำลังเจริญสติ ได้บ้างไม่ได้บ้าง

ยังไม่ได้เต็มที่ แต่บำเพ็ญไปเรื่อยๆ

 พอจิตรวมเข้าสู่ความสงบอย่างเต็มที่แล้ว

 พอได้พิจารณาอริยสัจ ๔

 พิจารณาไตรลักษณ์

พิจารณาอสุภะก็จะตัดกิเลสได้

ตัดกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหาได้

กลุ่มที่ ๓ คือพวกที่ยังไม่ได้บวช

 ชอบทำทานแต่ไม่ชอบรักษาศีล ๘

 ไม่ชอบปลีกวิเวก ไม่ชอบไปอยู่ตามลำพัง

ตามสถานที่สงบสงัด

 ยังติดอยู่กับลาภยศสรรเสริญ

ยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

พวกนี้ก็ต้องใช้เวลาบำเพ็ญไปเรื่อยๆ

อยู่ที่ว่าจะขยันหรือขี้เกียจ

ถ้าขยันก็อาจจะหลุดพ้นได้ในชาตินี้

ถ้าไม่ขยันก็ต้องสะสมบารมีไปก่อน

กลุ่มที่ ๔ คือพวกที่ไม่สนใจเรื่องศาสนาเลย

 เวลาชวนมาวัดก็จะปฏิเสธ

ถ้าชวนให้ไปเที่ยวไปทันที

 ถ้าชวนให้มาวัด มาปลีกวิเวก

 มานั่งสมาธิ จะไม่เอา

พวกนี้จะไม่มีวันได้เห็นแสงสว่างแห่งธรรม

 เป็นดอกบัวที่อยู่กับโคลนตม

ที่จะกลายเป็นอาหารของปูของปลาไป

 ไม่มีวันที่จะโผล่เหนือน้ำขึ้นมาได้

หลังจากได้พิจารณาความแตกต่าง

ของมนุษย์ทั้งหลายแล้ว

ก็ทรงมีกำลังใจที่จะประกาศพระศาสนา

 ตอนต้นทรงคิดว่าเหมือนกันหมด

ชอบรูปเสียงกลิ่นรส

ชอบลาภยศสรรเสริญ เหมือนกันหมด

สอนอย่างไรก็จะไม่มีใครปฏิบัติตาม

 แต่หลังจากได้ทรงพิจารณา

 ก็ทรงเห็นว่ามีพวกนักบวช

ที่มีฌานมีสมาธิแล้ว

หรือพวกที่กำลังเจริญสติ

เดินจงกรมนั่งสมาธิอยู่

หรือพวกฆราวาสที่เข้าวัดทำบุญทำทาน

รักษาศีลเป็นประจำอยู่

ก็ทรงเห็นว่าเป็นพวกที่สามารถปฏิบัติ

ตามพระธรรมคำสอนได้

จึงทรงมุ่งไปสอนสู่บัวทั้ง ๓ กลุ่มนี้

โดยเฉพาะกลุ่มที่ ๑ กลุ่มที่อยู่เหนือน้ำแล้ว

 คือพวกนักบวช ทรงไปสอนตามสำนักต่างๆ

 หลังจากทรงสอน พระปัญจวัคคีย์

ที่เคยติดตามอุปถัมภ์อุปัฏฐาก

จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว

ก็ทรงไปสอนตามสำนัก ของนักบวชต่างๆ

 ในแต่ละครั้งที่ทรงสอน

ก็มีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา

พร้อมๆกันหลายรูป

เช่นครั้งหนึ่งมีนักบวชจำนวน ๕๐๐ รูป

 พอฟังธรรมเสร็จแล้วก็บรรลุ

เป็นพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูปเลย

ภายในเวลาเพียง ๗ เดือน

 นับตั้งแต่วันแรกที่ทรงประกาศพระศาสนา

 คือในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา

 มาถึงวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา

ก็ปรากฏมีพระอรหันต์อย่างน้อย ๑๒๕๐ รูป

 ได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า จากทิศต่างๆ

โดยที่ไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน

 เป็นสิ่งที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน

มีปรากฏขึ้นมาหลังจากที่

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

และประกาศพระศาสนา

 ก่อนหน้านั้นไม่มีพระอรหันต์แม้แต่รูปเดียว

นี่คือความสำคัญที่ยิ่งใหญ่

ของพระพุทธเจ้าต่อสัตว์โลก

เป็นผู้มีพระคุณที่ยิ่งใหญ่

ต่อผู้ปรารถนาความหลุดพ้น จากความทุกข์

 หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

เป็นทางลัดที่สุด

ไม่มีทางไหนที่จะลัดเท่ากับ

ทาง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงนำมาสั่งสอน

 ถ้าได้พบกับพระพุทธศาสนา

ได้พบกับพระพุทธเจ้า

ก็ถือว่าเป็นลาภที่ยิ่งใหญ่

 เป็นโชคที่ยิ่งใหญ่

 ยิ่งใหญ่กว่าการถูกลอตเตอรี่

รางวัลที่ ๑ ร้อยครั้งพันครั้ง

 ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑

แต่ละครั้งนี้มันง่ายไหม

 แล้วถ้าถูกร้อยครั้งพันครั้ง

จะยากขนาดไหน

 การได้พบกับพระพุทธเจ้า

 ได้พบกับพระพุทธศาสนาก็เป็นอย่างนั้น

เป็นสิ่งที่ยากมาก

 ถ้าได้พบก็ถือว่ามีโชคอันมหาศาล

จึงไม่ควรโยนโชคอันมหาศาลนี้ลงถังขยะไป

 ควรรีบเอามาทำประโยชน์

 ถ้าเป็นลอตเตอรี่ก็ไปขึ้นรางวัลเลย

อย่าโยนใส่ถังขยะ

ฉันใดพอได้พบคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว

 สิ่งที่ต้องทำก็คือปฏิบัติตาม

นี่คือการขึ้นรางวัล รับโชคที่มหาศาล

ที่ยิ่งใหญ่นี้ ด้วยการปฏิบัติทานศีลภาวนา

 ถ้าปฏิบัติได้ ก็อย่างที่ได้ทรงรับประกัน

ไว้แล้วว่า ๗ วันเป็นอย่างน้อย

 ๗ ปีเป็นอย่างมาก

 จะต้องได้ผลอย่างแน่นอน

 ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์

 อย่างน้อยก็ได้เป็นพระอนาคามี

 อย่าปล่อยโชควาสนา

ที่ยิ่งใหญ่นี้หลุดจากมือไป

 ปฏิบัติตามคำสอนทั้ง ๓ ข้อนี้ให้ได้

 ให้ครบทุกประการ

แล้วผลอันเลิศอันประเสริฐ

 ก็จะเป็นสิ่งที่จะตามมาต่อไป

บางคนมาวัด มาหาพระ

 แทนที่จะมาหาธรรมะกลับมาหาลาภยศกัน

 มาขอลาภขอยศกัน

 อยากได้ตำแหน่งนั้น อยากได้ตำแหน่งนี้

 อยากเข้ามหาวิทยาลัย

 อยากทำการค้าให้สำเร็จลุล่วง

อยากให้บริษัทเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง

 นี่คือพวกที่ยังไม่รู้ว่าศาสนามีไว้เพื่ออะไร

เข้าหาศาสนาเพื่อเข้าหาธรรมะ

 เข้าหาแสงสว่าง เข้าหาแผนที่

ที่จะนำพาไปสู่การพ้นทุกข์

เข้าหาพระเข้าหาวัด

ต้องหาธรรมะเพียงอย่างเดียว

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๔๕๓ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๒)

“ตนเป็นที่พึ่งของตน”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 27 ตุลาคม 2559
Last Update : 27 ตุลาคม 2559 6:09:57 น.
Counter : 710 Pageviews.

0 comment
### ทำสมาธิก่อน ###









“ทำสมาธิก่อน”

พระพุทธศาสนาสอนว่า

 การกระทำทางกายวาจาใจ

เป็นเหตุที่จะนำมาซึ่ง ความสุขหรือความทุกข์

ความเจริญหรือความเสื่อม

 ไม่ใช่สิ่งอื่น ไม่ใช่ชื่อ ไม่ใช่นามสกุล

ไม่ใช่ทรงผม ไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวมใส่

 อยู่ที่การกระทำเท่านั้น

ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเรา

ปฏิบัติกันอย่างสม่ำเสมอ

 ให้ทำในสิ่งที่ถูกที่ดีที่งาม

 ที่จะนำมาซึ่งผลที่เราต้องการ

 เพราะการกระทำมีอยู่ ๓ ชนิดด้วยกันคือ

 ทำดี ทำไม่ดี ทำไม่ดีไม่ชั่ว คือบุญ บาป

ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป ทำได้ ๓ ทางด้วยกันคือ

ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

 ที่สำคัญที่สุดก็คือการกระทำทางใจ

เพราะเป็นต้นเหตุของการกระทำ

ทางวาจาและทางกาย

เราจึงควรดูการกระทำทางใจเป็นหลัก

คือความคิดของเรา

 เพราะก่อนที่จะพูดจะทำอะไรได้

 เราต้องคิดก่อน คิดแล้วถึงค่อยพูด

 คิดแล้วถึงค่อยทำ

ถ้าไม่มีความคิด ก็จะไม่มีการพูด

 ไม่มีการกระทำ เช่นเวลาคนตายไปแล้ว

ไม่มีใจอยู่กับร่างกาย ก็จะไม่มีความคิด

ปล่อยร่างกายไว้ตรงไหน ก็จะอยู่ตรงนั้น

 ไม่พูดไม่ทำอะไรทั้งสิ้น

เพราะไม่มีใจสั่งให้คิดให้พูดให้ทำนั่นเอง

ความคิดก็เกิดขึ้นจากความเห็น ๒ ชนิดด้วยกันคือ

 ความเห็นถูกกับความเห็นผิด

 ถ้ามีความเห็นถูก ก็จะทำให้คิดถูก พูดถูก ทำถูก

 ถ้ามีความเห็นผิด ก็จะทำให้คิดผิด พูดผิด ทำผิด

เมื่อทำไปแล้วก็จะมีผลตามมา

 ถ้าทำถูก คือคิดดี พูดดี ทำดี ผลดีคือความสุข

และความเจริญก็จะตามมา

 ถ้าคิดผิด คือคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 ความทุกข์และความเสื่อมก็จะตามมา

 ต้นเหตุของการคิดดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ทิฐิ

ความเห็นความเข้าใจในเรื่องต่างๆ

 ถ้ามีความเห็นผิดเรื่องที่คิดว่าดีกลับไม่ดี

เรื่องที่คิดว่าไม่ดีกลับดี

เราจึงต้องพึ่งผู้มีความเห็นถูก ให้สอนเรา

 เพื่อเราจะได้ทำตาม เพราะการกระทำ

และผลมีอยู่ ๒ แบบคือ

 ความดีที่ดีจริงและความดีที่ไม่ดีจริง

 ความสุขที่สุขจริงและความสุขที่ไม่สุขจริง

ความทุกข์ที่ทุกข์จริง และความทุกข์ที่ไม่ทุกข์จริง

ความเสื่อมที่เสื่อมจริงและความเสื่อมที่ไม่เสื่อมจริง

 ถ้าไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ยินได้ฟังจากผู้รู้

เช่นพระพุทธเจ้า เราจะไม่มีปัญญาแยกแยะได้ว่า

 อะไรเป็นความสุขที่แท้จริง

 อะไรเป็นความเจริญที่แท้จริง

เราจะเห็นตรงข้ามกับความจริง

ที่จะทำให้เราคิดผิด ให้เราพูดผิด ให้เราทำผิด

 ทำให้เราได้รับผลที่ไม่ดีจริง

 คือความสุขและความเจริญที่ไม่แท้จริงนั่นเอง

 เราจึงควรเชื่อพระพุทธเจ้า

เพราะทรงได้สัมผัสความสุขความเจริญ

ทั้ง ๒ รูปแบบมาแล้ว

ความทุกข์ความเสื่อมทั้ง ๒ รูปแบบ

ก็ทรงสัมผัสมาแล้ว จึงเอามาสั่งสอนพวกเรา

ถ้าฟังแล้วนำเอาไปปฏิบัติ ก็จะได้รับประโยชน์

 จะได้พบกับความสุขและความเจริญที่แท้จริง

ไม่ต้องพบกับความสุขความเจริญที่ไม่แท้จริง

คือความเจริญในลาภยศสรรเสริญสุข ที่ไม่ถาวร

 ต้องสูญต้องหมดไป เมื่อตายไป

ลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ ก็หมดไป

จึงเป็นความสุขความเจริญที่ไม่แท้จริง

 เพราะความสุขความเจริญที่แท้จริง

ต้องติดไปกับใจของเรา เมื่อเราตายไปแล้ว

 ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย ต้องเดินทางต่อไปอีก

 เหมือนคนที่นั่งอยู่ในรถ เมื่อรถวิ่งไม่ได้

 ก็ต้องทิ้งรถไว้แล้วก็เดินไปหารถคันใหม่

 มีเงินมีทองก็เอาติดตัวไปได้ ใจก็เป็นอย่างนั้น

 เมื่อตายไปแล้ว ใจเอาร่างกาย

เอาลาภยศสรรเสริญสุขไปไม่ได้

 เอาไปได้แต่บุญกุศล ความสุขความเจริญของใจ

ชาตินี้เราได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เพราะใจเป็นมนุษย์

 ถ้าใจเสื่อมจากความเป็นมนุษย์

 เวลาไปเกิดชาติต่อไปก็จะไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์

ถ้าใจเป็นเดรัจฉาน ก็ต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

 ถ้าเป็นเปรต ก็ต้องไปเกิดเป็นเปรต

ถ้าเป็นสัตว์นรก ก็ต้องไปตกนรก

 ถ้าเป็นเทพ ก็จะไปเกิดเป็นเทพ

 ถ้าเป็นพรหม ก็จะไปเกิดเป็นพรหม

ถ้าเป็นพระอริยเจ้า ก็จะไปเกิดเป็นพระอริยเจ้า

นี่คือความสุขความเจริญที่แท้จริง

ความทุกข์ความเสื่อมที่แท้จริง

ที่จะติดไปกับใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน

 จะต้องเป็นไปตามความเจริญ

 หรือความเสื่อมของใจ

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้พวกเรา

เข้าหาความสุขและความเจริญที่แท้จริง

 แต่ต้องผ่านความเสื่อมความทุกข์ ที่ไม่แท้จริงก่อน

 เพราะต้องทำบุญให้ทาน ต้องเสียสละ

ต้องปฏิบัติธรรม นั่งหลับหูหลับตา นั่งสมาธิ

เข้าวัดถือศีล ๘ ถ้ามองทางโลก

ก็เหมือนกับการเสื่อมเดินถอยหลัง

เพราะต้องเสียเงินเสียทอง เสียเวลาทำมาหากิน

 หาลาภยศสรรเสริญสุข ต้องทุกข์ยากลำบาก

กับการถือศีล ๘ อยู่วัด อดข้าวเย็น นอนกับพื้น

 แต่ในสายตาของพระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่า

เป็นความทุกข์ที่ไม่แท้จริง

 เป็นความทุกข์เพื่อความสุขในบั้นปลาย

จึงเป็นความทุกข์ที่ไม่แท้จริง

เป็นความเสื่อมที่ไม่แท้จริง

 เพราะเสื่อมจากสิ่งที่ไม่จีรังถาวร

 คือลาภยศสรรเสริญสุข แต่เจริญอย่างถาวร

ทางด้านจิตใจ ที่จะสูงขึ้นดีขึ้นไปตามลำดับ

เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นเทพ เป็นพรหม

 เป็นพระอริยเจ้า

 ถ้าปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 คือเข้าวัด ทำบุญทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรม

 ถ้าอยู่ที่วัดได้ ก็อยู่หลายๆวัน

ถ้าอยู่ไม่ได้หลายวัน ก็อยู่เท่าที่จะอยู่ได้

 ถ้าอยู่ไปได้ตลอด ก็บวชเลย

เพราะจะทำให้ได้ความสุขความเจริญที่แท้จริง

 มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่ได้พบกับพระพุทธศาสนา

ไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมคำสอน

เราก็จะหลงติดอยู่กับ

ความสุขความเจริญ ที่ไม่แท้จริง

กับการแสวงหาลาภยศสรรเสริญสุข

ดังที่เป็นกันอยู่กับคนส่วนใหญ่ในโลกนี้

 มักจะหาความเจริญ

ทางลาภยศสรรเสริญสุขกันทั้งนั้น

 แต่ในขณะเดียวก็หาความทุกข์เข้ามาใส่ตัว

 อยู่ตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว

ไม่มีใครในโลกนี้ที่บอกว่าไม่มีความทุกข์

 ความกังวล ความวุ่นวาย ความห่วงใย

 ความเศร้าโศกเสียใจ

ที่แถมมากับความสุขทางลาภยศสรรเสริญสุข

 จึงเรียกว่าเป็นความสุขที่ไม่แท้จริง

 เพราะไม่ได้สุขอย่างเดียว มีความทุกข์แถมมาด้วย

 ส่วนความสุขที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น

 ก็มีความทุกข์ที่ไม่แท้จริงแถมมาด้วยเช่นเดียวกัน

ที่จะค่อยๆหมดไป ถ้าปฏิบัติตาม

ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

จะได้พบกับความสุขที่แท้จริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ที่จะลบล้างความทุกข์ที่ไม่แท้จริงให้หมดไป

 จนไม่มีเหลืออยู่เลย เช่นจิตของพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ที่ในเบื้องต้นก็ต้องทุกข์ทรมาน

กับการอยู่แบบขอทาน

 เคยเป็นราชโอรสอยู่ในวัง

มีความสุขกับลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ

 เมื่อต้องสละไป แล้วไปอยู่แบบขอทาน

 บิณฑบาตตามมีตามเกิด อยู่ตามมีตามเกิด

 อยู่ตามโคนไม้บ้าง อยู่ตามถ้ำบ้าง

อยู่ตามเรือนร้างบ้าง ไม่ได้มีความสุขเลย

มีแต่ความทุกข์ แต่ในขณะเดียวกัน

ก็สร้างความสุขขึ้นทางจิตใจ จากการเสียสละ

ปล่อยวาง ลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆไป

เมื่อปล่อยวางแล้วความทุกข์ที่ติดอยู่กับ

 ลาภยศสรรเสริญสุข ก็ไม่มีตามมา

 เหลือแต่ความสุขที่เกิดจากการรักษาศีล

ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ เจริญปัญญา

 พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลาย

จนเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่เที่ยงเป็นทุกข์

ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

จึงตัดอุปทานความยึดติดกับสภาวธรรม

 เช่นร่างกายไปได้

ถ้าไม่เจริญปัญญา จะไม่เห็นว่า

ร่างกายเป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์

ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

 เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

ถ้าได้เจริญปัญญาหลังจากที่จิตสงบแล้วก็จะเห็น

 ถ้ายังไม่สงบแล้วเจริญปัญญา

จะเห็นชั่วแวบเดียวเท่านั้น

เพราะไม่สามารถเจริญปัญญาได้อย่างต่อเนื่อง

การเจริญปัญญาเพื่อปล่อยวางอุปทาน

ความยึดมั่นถือมั่น จะต้องเจริญอย่างต่อเนื่อง

 ทุกลมหายใจเข้าออกเลย

 ถึงจะสามารถเห็นได้อย่างต่อเนื่อง

 ถึงจะสามารถตัดอุปทานความยึดมั่นถือมั่นได้

 ถ้าพิจารณาเป็นครั้งเป็นคราว

จะไม่เห็นได้อย่างต่อเนื่อง

จะไม่สามารถตัดอุปทานได้

 การจะพิจารณาได้อย่างต่อเนื่อง

 จิตต้องมีสมาธิสงบนิ่ง

ไม่มีอารมณ์ต่างๆรบกวนใจ

 เพราะถ้าจิตไม่สงบนิ่ง จะมีอารมณ์ต่างๆ

คอยมารบกวนใจ ทำให้ไม่สามารถคิด

 หรือทำอะไรได้อย่างต่อเนื่อง

 ดังที่เราได้ยินเสมอว่า ไม่มีสมาธิ

จะทำอะไรมักจะทำเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้

 คิดอะไรก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้

 เพราะคิดได้เดี๋ยวเดียว ก็มีเรื่องอื่นมาฉุดลากไป

 จึงไม่สามารถคิดอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้

ถ้ามีสมาธิก็จะคิดได้อย่างต่อเนื่องจนสำเร็จลุล่วงได้

 การเจริญปัญญาเพื่อตัดอุปทาน

จึงต้องมีสมาธิก่อน

 ถ้าไม่มีสมาธิจะตัดอุปทานไม่ได้

จะไม่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา

 จะเห็นเป็นบางครั้งบางคราว

ก็จะไม่มีกำลังพอที่จะตัดอุปทาน

ตัดความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย

 ถ้าตัดไม่ได้ ความกลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย

 กลัวความตายก็จะไม่หายไปจากใจ

 คนเราทุกคน ไม่มีใครไม่กลัวความแก่

ความเจ็บ ความตาย กลัวด้วยกันทั้งนั้น

จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง ขึ้นอยู่ที่ปัญญา

 ถ้ามีปัญญามาก เห็นไตรลักษณ์มาก

ก็จะมีความกลัวน้อย

 ถ้ามีปัญญาน้อย เห็นไตรลักษณ์น้อย

 ก็จะมีความกลัวมาก

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ทำสมาธิก่อน

ทำจิตใจให้สงบนิ่งเสียก่อน ให้รวมลงเป็นหนึ่ง

 เป็นเอกัคตารมณ์ เป็นอุเบกขา

เพราะเมื่อจิตเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขาแล้ว

เวลาถอนออกมา จะไม่มีอารมณ์ต่างๆมารบกวน

 ความโลภความโกรธความหลง จะไม่มารบกวน

 ถ้ามาก็ไม่รุนแรงเหมือนกับตอนที่ไม่มีสมาธิ

ความโลภความโกรธความหลง

 จะมีความรุนแรงมาก

 มีความถี่สูง จะคอยรบกวน

คอยฉุดลากจิตใจ

ให้ไปทำตามคำสั่งของความโลภ

ความโกรธความหลง จนไม่มีเวลาว่าง

ที่จะฟังเทศน์ฟังธรรม ที่จะเข้าวัดรักษาศีล

 ปฏิบัติธรรม เพราะมัวแต่ไปหาความสุขจอมปลอม

ความสุขที่ไม่แท้จริง คือลาภยศสรรเสริญ

สุขต่างๆนั่นเอง เราจึงต้องต่อสู้กับกิเลส

ความโลภความโกรธความหลง

 ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน

ของพระพุทธเจ้า ที่ทรงสอนให้เข้าวัดบ่อยๆ

เข้าวัดอยู่เรื่อยๆ ให้ทำบุญทำทาน รักษาศีล

 ปฏิบัติธรรมอยู่เรื่อยๆ อย่าให้สิ่งอื่นมาเป็นข้ออ้าง

ไม่ให้เราทำ ควรจะกำหนดเวลาแบ่งเวลาไว้เลย

 เพราะเราสามารถแบ่งเวลาได้

 วันหนึ่งๆมีอยู่ถึง ๒๔ ชั่วโมง

 เราแบ่งเวลาไปหลับไปนอนได้

แบ่งเวลาไปทำงานเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้

 เราก็ควรแบ่งเวลามาปฏิบัติกิจ

ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติได้

 แต่เราไม่แบ่งกันเท่านั้นเอง

 ส่วนใหญ่จะแบ่งเวลาให้กับกิเลสเสียมากกว่า

 แทนที่จะแบ่งเวลาให้กับธรรมะ

กลับแบ่งเวลาให้กับกิเลส

จึงไม่ค่อยได้พบกับสิ่งที่ดี

ที่ธรรมะจะให้กับเรา

มักจะพบกับสิ่งที่กิเลสให้กับเรา

 คือความทุกข์ ความวุ่นวายใจ

 ความหวาดกลัวความแก่ ความเจ็บ

ความตาย การพลัดพรากจากกัน

ต่อให้มีลาภยศสรรเสริญสุขมากเพียงไรก็ตาม

 ความกลัวก็จะไม่หมดไปจากจิตจากใจ

 กลับจะมีมากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งมีมากเท่าไร

 ก็ยิ่งรักยิ่งหวงมากขึ้นไปเท่านั้น

ยิ่งมีความกลัวมากขึ้นไปเท่านั้น

 คนที่ไม่มีอะไร มักจะไม่ค่อยกลัว

 เพราะไม่มีอะไรจะต้องเสีย

 คนจนทุกข์น้อยกว่าคนรวย

 ในเรื่องของความหวาดกลัว

คนรวยมีความหวาดกลัวมากกว่าคนจน

เพราะคนจนไม่รู้จะไปกลัวอะไร

 สมบัติข้าวของเงินทองก็ไม่มี ไม่ต้องกลัวขโมย

ไม่ต้องกลัวไฟ ไม่ต้องกลัวเศรษฐกิจจะตกต่ำ

 แต่คนที่มีมาก ยิ่งมีความหวาดกลัวมาก

นอกจากมีธรรมะมีปัญญา ก็จะไม่หวาดกลัว

มีมากน้อยเพียงไรก็จะไม่ยึดไม่ติด

มีแต่จะเอาไปทำประโยชน์

 เอาไปช่วยเหลือผู้อื่น

 เพราะไม่มีความจำเป็นกับตนเอง

 ช่วยเหลือผู้อื่นก็ทำให้เกิดบุญเกิดกุศล

เกิดความสุขขึ้นมาในจิตในใจ

 ทั้งของผู้รับและผู้ให้

เราจึงควรแบ่งเวลาให้ถูกต้อง

 สิ่งไหนที่จำเป็นต้องทำก็ทำ

 เช่นการทำมาหากินก็ต้องมีเวลาทำ

 การหลับนอนก็ต้องมีเวลาหลับนอน

การปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

ก็ต้องมีเวลาปฏิบัติ เพราะจำเป็นต่อจิตใจ

 แต่การไปเที่ยวไปดื่มไปกินไปเล่นไม่จำเป็น

 ไม่ได้ดื่ม ไม่ได้กิน ไม่ได้เที่ยว

ไม่ได้ดู ไม่ได้เล่นอะไรต่างๆ ก็ไม่ตาย

 ไม่มีผลเสียกับร่างกายหรือจิตใจเลย

 แต่เรากลับให้ความสนใจ

ให้เวลากับสิ่งเหล่านี้มากจนเกินไป

 เป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างคุณสร้างประโยชน์

 ไม่ได้สร้างความสุขความเจริญที่แท้จริงให้กับจิตใจ

ถ้าปล่อยให้เวลาหมดไปกับการเที่ยว

 การเล่น การดู การฟัง

เรื่องบันเทิงต่างๆ ก็จะเสียเวลาไป

ชีวิตที่มีค่าก็จะหมดไป โดยไม่ได้สร้าง

ความสุขความเจริญที่แท้จริง

ที่จะติดกับใจไปเมื่อตายจากโลกนี้ไป

 จะไม่ได้ไปดีกว่าเก่า แต่จะแย่กว่าเก่า

จึงควรให้ความสำคัญต่อการดำเนินตาม

 พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ให้แบ่งเวลาไว้สำหรับภารกิจนี้

อย่าให้สิ่งอื่นมาเป็นเหตุอ้างว่าไม่มีเวลาทำบุญ

 รักษาศีล ปฏิบัติธรรม เพราะจะขาดทุน

 ถูกกิเลสถูกความหลงหลอก เพราะความหลง

จะให้ความสำคัญต่อการแสวงหา

ลาภยศสรรเสริญสุข

 มากกว่าการหาบุญหากุศลหาธรรม

 เราจึงต้องกำหนดตารางเอาไว้เลย

 แล้วปฏิบัติตามให้ได้ คอยติดตามดู

ว่าได้ทำตามที่ได้กำหนดไว้หรือไม่

 ถ้าไม่ได้ทำก็ต้องแก้ไข ไม่เช่นนั้นแล้ว

ชีวิตจะตกต่ำไปเรื่อยๆ จะพบกับความทุกข์

มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ

ความสุขที่ได้จากสิ่งต่างๆในโลกนี้

ก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะสังขารร่างกาย

จะแก่จะเจ็บไข้ได้ป่วยมากขึ้นไปเรื่อยๆ

จะใกล้ความตายมากเข้าไปเรื่อยๆ

 ความทุกข์ ความกังวล ความหวาดกลัวต่างๆ

ก็จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ

 ถ้าเข้าหาพระธรรมคำสอน ศึกษาและปฏิบัติตาม

ก็จะใกล้ความสุขความสบายใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ

จะห่างไกลจากความกลัวต่างๆมากขึ้นไปเรื่อยๆ

เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 จะทำให้ปล่อยวางได้

จะไม่หวาดกลัวกับอะไรทั้งสิ้น

 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

จะไม่กระทบกระเทือนกับจิตใจ

นี่คือผลที่เราจะได้รับ จากการศึกษา

ฟังเทศน์ฟังธรรม และปฏิบัติตาม

ไม่มีอะไรในโลกนี้ ที่จะทำให้จิตใจหลุดพ้น

จากความทุกข์ ความหวาดกลัวต่างๆได้

มีแต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 และการปฏิบัติตามเท่านั้น ไม่มีใครทำให้เราได้

ไม่มีใครช่วยเราได้ มีเราเท่านั้นที่จะทำให้เราได้

 ช่วยเราได้ อย่าไปหวังพึ่งสิ่งอื่น

 อย่าไปหวังพึ่งใครทั้งนั้น เพราะพึ่งไม่ได้

 มีบุญกุศลหรือธรรมะเท่านั้นที่พึ่งได้

ที่เราสร้างขึ้นมาในจิตในใจ

ที่จะปกป้องคุ้มครองดูแลรักษา

 ให้เราอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 ท่ามกลางความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความตาย

 การพลัดพรากจากกัน

จะไม่สามารถกระทบกระเทือนจิตใจได้เลย

 จึงควรให้ความสำคัญต่อการเข้าหาพระธรรมคำสอน

 ต่อการศึกษา ต่อการปฏิบัติ

เพราะจะทำให้เราได้พบกับความสุข

และความเจริญที่แท้จริง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๓๒๑ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๐

(กำลังใจ ๓๓)

“ทำสมาธิก่อน”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 26 ตุลาคม 2559 12:06:21 น.
Counter : 657 Pageviews.

0 comment
### ตนเป็นที่พึ่งของตน ###









“ตนเป็นที่พึ่งของตน”

พวกเราต้องยึดหลัก อัตตาหิ อัตตโน นาโถ

 ตนเป็นที่พึ่งของตน เพราะพึ่งคนอื่นไม่ได้

เพราะไม่เที่ยงแท้แน่นอน

 แต่เราพึ่งเราได้ตลอดเวลา

เราเป็นที่พึ่งของเราอย่างแท้จริง

ที่พึ่งอื่นเป็นที่พึ่งชั่วคราว ไม่แน่นอน

 บางทีก็พึ่งได้ บางทีก็พึ่งไม่ได้

แต่ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะที่พึ่งอื่น

ไม่สามารถแก้ปัญหาที่แท้จริงของเราได้

 คือความทุกข์ใจ ไม่มีใครแก้ให้เราได้

 เราต้องแก้ด้วยตัวเราเอง แต่เราต้องอาศัยสิ่งอื่น

 เช่นอาศัยร่างกาย ร่างกายก็ต้องอาศัยปัจจัย ๔

 ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม อาหาร

 ถ้ายังต้องพึ่งร่างกายก็ต้องพึ่งปัจจัย ๔

ถ้ายังต้องทำบุญให้ทาน

รักษาศีล ภาวนา เพื่อดับทุกข์ใจ

 ก็ยังต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 ถ้าภาวนาจนถึงขั้นตัดกามตัณหาได้

ก็ไม่ต้องใช้ร่างกายอีกต่อไป

 เช่นพระอนาคามี ถ้าตายไปก่อนจะบรรลุ

เป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์

 มามีร่างกาย เพราะท่านสามารถปฏิบัติธรรมได้

 โดยไม่ต้องใช้ร่างกาย

 เพราะมีกิเลสเหลืออยู่แต่ภายในจิต

ส่วนใหญ่พวกเราจะใช้ร่างกาย

ไปในทางกามตัณหากัน

 ถ้ายังมีกามตัณหาอยู่ภายในใจ ก็ต้องมีร่างกาย

 มีตาหูจมูกลิ้น เพื่อเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพ

ะ ถ้าไม่มีร่างกาย ไม่มีตาหูจมูกลิ้น

ก็จะไม่สามารถเสพได้ จึงต้องไขว่คว้าหาร่างกาย

กลับมาเกิดใหม่ ถ้าตัดกามตัณหาได้แล้ว

ก็จะไม่อยากเสพรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ไม่ต้องมีตาหูจมูกลิ้นกายเป็นเครื่องมือ

 ถ้าเป็นพระอนาคามี

ก็ไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

 แต่ยังต้องใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือ

 เพราะยังมีกิเลสตัณหาส่วนละเอียด

ที่ยังติดค้างอยู่ภายในจิต คือรูปราคะ

 อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

 เป็นสังโยชน์เบื้องบน

จะเป็นพระอรหันต์ได้ก็ต้องชำระ

สังโยชน์ เบื้องบนให้หมดไป

แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือ

พระอนาคามีถ้าท่านตายไปก่อน

ที่จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ท่านก็สามารถเจริญวิปัสสนาภาวนาต่อได้เลย

 หลังจากที่ร่างกายของท่านดับไปแล้ว

 ใจของท่านไม่ได้ดับไปกับร่างกาย

ใจของท่านก็ทำงานต่อ

ใช้ธรรมะ ใช้สติ ใช้สมาธิ ใช้ปัญญา

เพื่อกำจัดรูปราคะความติดในรูปฌาน

 อรูปราคะความติดในอรูปฌาน

อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน มานะความถือตัว

และอวิชชาความไม่รู้ไม่เห็นพระอริยสัจ ๔

ที่ยังมีอยู่ภายในจิต เป็นการปฏิบัติจิตล้วนๆ

 ถ้าจะดูจิตก็ดูกันตอนนี้

 เพราะร่างกายไม่มีปัญหาแล้ว

ตัดได้แล้ว อุปาทานในขันธ์ ๕ คือ

ร่างกาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตัดได้แล้ว

 ตัดกามตัณหาได้แล้ว แต่ยังตัดรูปราคะ

 อรูปราคะ อุทธัจจะ มานะ อวิชชาไม่ได้

รูปราคะก็คือความติดอยู่กับรูปฌาน

 จิตของผู้ที่ตัดกามราคะได้แล้ว

จะสงบละเอียดเท่ากับจิตที่อยู่ในรูปฌาน

หรืออรูปฌาน เวลาอยู่ในความสงบก็มีความสุข

 แต่เวลาออกจากรูปฌานหรืออรูปฌานมาแล้ว

 ใจก็จะหงุดหงิด เนื่องจากมานะ อวิชชา

 ที่ผลิตความทุกข์อันละเอียดอยู่ภายในใจ

 ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณา ก็จะติดอยู่กับรูปราคะ

 อรูปราคะ เวลาไม่สบายใจก็กลับเข้าไปในรูปฌาน

ในอรูปฌาน ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาก็จะเห็นว่า

ไม่ใช่วิธีดับความทุกข์ที่ถาวร

พอออกจากรูปฌานหรืออรูปฌานก็จะคิดปรุงแต่ง

ไปในทางมานะ ไปในทางอวิชชา

ก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณา

 ถึงจะละมานะละอวิชชาได้

 ถ้าพิจารณาอย่างไม่หยุดยั้ง

พิจารณาอย่างเลยเถิด

 เพื่อกำจัดมานะ กำจัดอวิชชา

ก็จะเกิดอุทธัจจะ เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา

แต่เป็นความฟุ้งซ่านที่ต่างกับอุทธัจจะในนิวรณ์

ในนิวรณ์จะฟุ้งซ่านเกี่ยวกับลาภยศสรรเสริญ

เกี่ยวกับความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

 แต่อุทธัจจะในระดับของพระอนาคามีนี้

เป็นความฟุ้งซ่านที่เกิดจากการพิจารณา

ด้วยปัญญาแบบเลยเถิด

 พิจารณาจนไม่มีกำลังตัดกิเลส

ถ้าจิตเกิดความฟุ้งซ่าน

พิจารณาไม่เห็นความจริง

 ไม่เห็นมานะ ไม่เห็นอวิชชา ก็ต้องหยุดพัก

 เข้าไปพักในสมาธิ ในรูปฌานหรืออรูปฌาน

 แต่ไม่ได้พักเพื่อหนีความทุกข์ พักเพื่อเอาแรง

 เหมือนเวลาทำงาน พอทำจนเหนื่อยแล้ว

ไม่มีเรี่ยวไม่มีแรง ไม่ได้ผลงาน

ก็ต้องหยุดทำงานชั่วคราว

 กลับมาพักผ่อนที่บ้าน มาอาบน้ำอาบท่า

 รับประทานอาหาร หลับนอน พอได้พักผ่อนแล้ว

 ตื่นขึ้นมามีกำลังวังชาก็กลับไปทำงานต่อ

 เหมือนคนตัดไม้ด้วยมีด เวลาตัดใหม่ๆ

มีกำลังมาก มีดก็คม ตัดไม้ได้อย่างง่ายดาย

 พอตัดไปนานๆเข้า แรงก็จะหมดไป

ความคมของมีดก็จะหมดไป

 จนไม่สามารถตัดไม้ให้ขาดได้

ถึงตอนนั้นก็ต้องหยุดพักการตัดไม้ชั่วคราว

ไปรับประทานอาหาร ไปนอนเอากำลัง

ไปลับมีดให้คม พอได้พัก ได้รับประทานอาหาร

ได้ลับมีดแล้ว พอกลับมาตัดไม้ใหม่

ก็ตัดได้อย่างง่ายดาย

การพิจารณามานะ พิจารณาอวิชชา

ก็ต้องพิจารณาสลับกับการพักอยู่ในสมาธิ

ทำอย่างนี้ไม่เป็นการติดสมาธิ

การติดในสมาธิก็คือ

เวลาออกมาจากสมาธิแล้ว ใจวุ่นวาย

 ก็กลับเข้าไปในสมาธิ

ไม่ใช้ปัญญาแก้ความวุ่นวายใจ

 เวลาออกจากสมาธิแล้วมีความวุ่นวายใจ

เพราะมานะหรืออวิชชาเป็นเหตุ

 ต้องใช้ปัญญาพิจารณา ถึงจะไม่ติดในสมาธิ

ถ้าพิจารณาแล้วยังตัดมานะตัดอวิชชาไม่ได้

มีกำลังไม่พอ ก็ต้องเข้าไปพักในสมาธิก่อน

 พอออกจากสมาธิแล้ว ก็พิจารณาใหม่

 พิจารณามานะใหม่ พิจารณาอวิชชาใหม่

 จนกว่าจะตัดได้

ถ้าไม่พักเลยก็จะเกิดอุทธัจจะขึ้นมา

 พิจารณาแบบไม่หลับไม่นอน ทั้งวันทั้งคืน

 ด้วยความเพลิดเพลิน จนลืมพักจิต ลืมเข้าสมาธิ

นี้คือการพึ่งตนเองด้วยการปฏิบัติธรรม

 ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวาระสุดท้าย

 พอสติปัญญาได้ทำลายกิเลสตัณหา

จนหมดสิ้นไปแล้ว

 ก็จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

พอไม่มีความทุกข์ก็ไม่ต้องมีที่พึ่ง

ที่เราต้องพึ่งธรรมะ พึ่งมรรค ๘ พึ่งทานศีลภาวนา

 พึ่งสติสมาธิปัญญา ก็เพื่อดับความทุกข์ใจ

ที่เกิดจากตัณหาความอยากต่างๆ

พอความทุกข์ใจได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไปแล้ว

ก็ไม่ต้องพึ่งอะไรอีกต่อไป อยู่อย่างสบาย

 อยู่อย่างไม่มีความทุกข์ไปตลอด

นักปฏิบัติจึงต้องพึ่งตนเอง

 ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตนเอง

 เช่นการดูแลรักษาอัตภาพร่างกาย

และการภาวนา ต้องชำระจิตเอง ต้องภาวนาเอง

แต่ต้องอาศัยคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทาง

 การปฏิบัติจึงมีที่พึ่ง ๒ ส่วนด้วยกันคือ

 ๑. อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน

 ต้องเป็นผู้ปฏิบัติเอง

 ๒. พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่เป็นผู้นำทาง

ถ้าไม่มีพระธรรมคำสอนเป็นผู้นำทาง

 ก็จะไม่สามารถปฏิบัติให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้

 เพราะสติปัญญาของปุถุชน

จะไม่สามารถทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้

ยกเว้นพระโพธิสัตว์เท่านั้น

ที่มีสติปัญญาบารมี ที่สามารถค้นหาทาง

สู่การหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๔๕๓ วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๒)

“ตนเป็นที่พึ่งของตน”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 26 ตุลาคม 2559
Last Update : 26 ตุลาคม 2559 11:40:35 น.
Counter : 766 Pageviews.

0 comment
### วันปิยะมหาราช ###









“วันพระปิยมหาราช”

วันพระปิยมหาราช เป็นวันที่เรามารำลึกถึง

พระคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

พระปิยมหาราช

ผู้มีพระคุณแก่ปวงชนชาวไทย

ในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

ตามความเจริญของโลก

สิ่งต่างๆที่พวกเรามีกันอยู่ มีใช้มีกินมีอะไรกันอยู่

 ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการกระทำของพระปิยมหาราช

 ท่านจึงเป็นผู้ที่มีประชาชนเคารพนับถือ

ทั้งรักและเคารพ จนได้ตั้งชื่อพระฉายาว่า

พระปิยมหาราช ปิยะ แปลว่า ผู้น่ารัก

 พระมหาราชาที่น่ารักของปวงชนชาวไทย

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

ความน่ารักของคนไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา

แต่อยู่ที่คุณธรรมของจิตใจ ผู้ใดมีคุณธรรม

 ที่ทำให้เกิดความรักจากผู้อื่น

ผู้นั้นก็จะเป็นผู้ที่น่ารัก ไม่จำเป็นต้องเสริมความงาม

ทางร่างกายแต่อย่างใด

ไม่ต้องไปแต่งหน้าทาปากใช้เครื่องสำอาง

ทำผมทำเผ้าทำอะไรต่างๆ เกี่ยวกับร่างกาย

ใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ วิจิตรพิสดารสวยงาม

 ถ้าไม่มีคุณธรรมความดีงาม ความน่ารักอยู่ในใจ

 ต่อให้แต่งให้ดีขนาดไหน

 ก็เหมือนกับจับลิงมาแต่งตัวนั่นเอง

ลิงมันมีคุณธรรมอะไรบ้าง

จับมันแต่งตัวเดี๋ยวมันก็เต้นแร้งเต้นกา

ไปตามธรรมชาติของมัน คนเราก็เหมือนกัน

คนเราจะน่ารักน่าเคารพไม่ได้อยู่ที่รูปร่างหน้าตา

 ไม่ได้อยู่ที่เสื้ออาภรณ์ที่สวมใส่

แต่อยู่ที่คุณธรรม ๔ ประการด้วยกัน

ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

ห้ผู้ที่อยากจะให้คนรักตนมากๆ

 ให้พยายามสร้างคุณธรรม ๔ ประการนี้ขึ้นมา

 แล้วรับรองได้ว่าอยู่กับใครที่ไหน

จะมีแต่คนรักมีแต่คนชอบ

คุณธรรม ๔ ประการก็คือ

 ๑.จาคะ แปลว่า เสียสละ

 ๒.สัจจะ คือความซื่อสัตย์

๓. ขันติ ความอดทน

และ ๔ ทมะ แปลว่าการอดกลั้น

นี่คือคุณธรรมสำคัญ ๔ ประการ

ที่จะทำให้เป็นที่น่ารักน่าชื่นชมยินดีแก่ผู้อื่น

ถ้าใครมีจาคะมีการเสียสละ มีสัจจะมีความซื่อตรง

มีขันติมีความอดทน มีทมะมีความอดกลั้น

 รับรองได้ว่า อยู่กับใครจะไม่มีใครรังเกียจ

จะมีแต่คนรักคนชอบเสมอ

 แต่บุคคลใดที่ไม่มีจาคะ การเสียสละ

 ไม่มีสัจจะ ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีขันติ ความอดทน

ไม่มีทมะ ความอดกลั้น

 จะอยู่กับใครจะไม่มีใครรักไม่มีใครชอบ

มีแต่คนสาปคนแช่งอยากจะให้ตายไปเร็วๆ

หายไปเร็วๆ เพราะอยู่แล้วสร้างความวุ่นวาย

 สร้างความเดือดร้อน ให้แก่ผู้อื่นนั่นเอง

ดังนั้นถ้าเราอยากจะเป็นคนที่น่ารัก

คนที่ผู้อื่นยินดีต้อนรับ ยินดีเชื้อเชิญให้อยู่ร่วมด้วย

ขอให้เรา มาสร้างคุณธรรม ๔ ประการนี้กันเถิด

 จาคะ แปลว่า การเสียสละ เสียสละ

ประโยชน์สุขของเราให้แก่ผู้อื่นบ้าง

 อย่าเอาแต่ประโยชน์สุขใส่ตัว

เพราะจะกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว

แล้วจะไม่เป็นคนที่มีใครชื่นชมยินดี

 คนเห็นแก่ตัวกับคนที่ไม่เห็นแก่ตัว

เราชอบแบบไหน เราอยู่ร่วมกับใคร

เราก็อยากจะอยู่กับคนที่ไม่เห็นแก่ตัว

คนที่ไม่เห็นแก่ตัวก็ต้องรู้จักการเสียสละ

ไม่ใช่เอาแต่ประโยชน์สุขใส่ตัวเพียงถ่ายเดียว

 เอาใส่ได้บ้างเท่าที่จำเป็น

คนเราทุกคนก็ต้องมีความสุขมีประโยชน์ก่อน

แล้วถ้ามีมากเกินความจำเป็น

เกินความต้องการก็ควร ที่จะแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น

อย่างญาติโยมวันนี้ญาติโยมก็มาทำการเสียสละ

ด้วยการนำเอาข้าวของเงินทอง

ที่มีมากเกินที่ต้องการที่จะต้องใช้ก็เอามาแบ่งปัน

ให้กับพระภิกษุสามเณร

 สละประโยชน์สุขแทนที่จะเก็บเอาไว้

หวงเอาไว้ก็นำเอามาแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น

 เพื่อให้ผู้อื่นได้มีความสุขได้มีความสบาย

โดยความคิดที่ว่าทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ

 ที่มีมากเกินความต้องการ เกินความจำเป็น

 เก็บไว้ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร ตายไปก็เอาไปไม่ได้

 สู้เอามาแบ่งปันเอามาทำบุญทำทาน

จะได้มีมิตรมีผู้ที่รัก ผู้ที่ชอบเรา

 เพราะมิตรนี่แหละจะเป็นผู้ที่ปกป้องคุ้มครองเรา

 ถ้าเรามีมิตรแล้วอยู่ที่ไหนจะปลอดภัย

จะไม่มีใครคิดทำร้ายเรา

 แต่ถ้าเราไม่มีมิตร มีศัตรู

เพราะเรามีความเห็นแก่ตัว

ไม่ยอมเสีบสละเอาแต่ได้

อยู่กับใครก็จะไม่เป็นมิตรมีแต่ศัตรู

 ถึงแม้ว่าจะมีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองมากมาย

 แต่จะไม่มีความสุข จากทรัพย์สมบัติเหล่านั้น

 เพราะจะต้องมาคอยวิตกกังวล

กับการปกป้องรักษาทรัพย์สมบัติแล้วชีวิตของตน

 เพราะไปสร้างศัตรูไว้

เวลาที่เราอยากจะได้อะไรมากๆ

เรามักจะไปทำให้ผู้อื่นเขาเดือดร้อน

โดยที่เราไม่รู้สึกตัว ไม่คิดว่าผู้อื่นเขาจะเดือดร้อน

 ผู้อื่นเขาจะเจ็บช้ำน้ำใจจากการกระทำของเรา

แต่ถ้าเรารู้จักแบ่งปันสิ่งของที่เรามีมากเกินไป

 ที่เราไม่ได้ใช้และตายไปก็เอาไปไม่ได้นี้

 เอาไปแบ่งปันเอามาสร้างจาคะ

 สร้างคุณธรรมที่จะทำให้เป็นที่รักที่ชอบของผู้อื่น

นี่คือข้อที่ ๑ คนที่มีการเสียสละ นี้ไปอยู่ที่ไหน

จะไม่มีใครรังเกียจ เช่นไปอยู่กับใคร

เห็นเขาทำอะไรก็ไปช่วยเหลือเขา ไม่ใช่อยู่เฉยๆ

 จะเอาแต่กินแต่นอนอย่างเดียว

แต่งานการไม่ยอมทำ

อย่างนี้เรียกว่าเป็นการเห็นแก่ตัว

เอาประโยชน์ใส่ตัว แต่ไม่ยอมเสียสละเวลาของตน

เพื่อที่มาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

ช่วยกันทำงานทำการที่จำเป็น

เช่นการดูแลรักษาความสะอาดต่างๆ

 หรืองานการอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ที่มีความจำเป็นจะต้องทำ

 อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นการเสียสละเหมือนกัน

ถ้าอยู่แบบมีการเสียสละจะทำให้ผู้อื่นเขาไม่รังเกียจ

 จะทำให้ผู้อื่นเขา ยินดีชอบรักเรา

นี่คือข้อที่ ๑ อย่าเอาแต่ความสุขใส่ตัวมากจนเกินไป

 เอาพออยู่ได้ก็พอแล้วเอามาทำประโยชน์

ให้แก่ผู้อื่นบ้างจะได้มีมิตรจะมีความสุข

ข้อที่ ๒ คือ สัจจะ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง

ไม่คดไม่เคี้ยวไม่เบี้ยวไม่ขี้โกง

ตรงไปตรงมาใจกับปากตรงกัน

ใจคิดอะไรก็พูดไปแล้วก็ทำตามที่คิด

 สัญญากับใครว่าจะทำอะไรก็ทำตามสัญญา

 ไม่ผิดสัญญาไม่โกหก ไม่พูดปดไม่หลอกลวง

พูดตามความเป็นจริง คนที่มีสัจจะนี้

อยู่กับใครก็จะให้ความสบายใจแก่คนที่อยู่ด้วย

 เพราะเขาไม่ต้องมาวิตกกังวลว่า

กำลังถูกหลอกหรือเปล่า

กำลังถูกลอกคาบหรือเปล่า

ด้วยวาจาอันเเสนหวาน

 ด้วยเจตนที่โหดร้ายทารุณ

มุ่งเพื่อที่จะเอาทรัพย์เอาสมบัติของผู้อื่น

โดยไม่ได้ทำอะไรให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งตอบแทน

นี่คือลักษณะของคนไม่มีสัจจะ

ไม่มีความซื่อสัตย์

เป็นคนปลิ้นปล้อนโกหกหลอกลวง

พูดเพื่อที่จะหลอกให้ผู้อื่น ตายใจ

แล้วจะได้เอาประโยชน์จากเขาไปนั่นเอง

ฉะนั้นผู้ใดไม่มีสัจจะ ไม่มีความซื่อสัตย์

จะไม่เป็นที่นับหน้าถือตา

 จะไม่เป็นที่น่ารักน่าชอบของผู้อื่น

แต่ผู้ที่มีสัจจะนี้จะเป็นผู้ที่มีคนรักมีคนชอบ

เพราะอยู่ร่วมกันแล้ว มีความรู้สบายใจปลอดภัย

 ไม่ต้องมาหวาดระแวง

ว่าเขาจะมาทำร้ายเราหรือเปล่า

นี่คือข้อที่ ๒ สัจจะ ขอให้เรามีความซื่อสัตย์

เสียชีพอย่าเสียสัตย์

เป็นลูกเสือเขาสอนไว้ตั้งแต่เด็กๆว่า

ให้เสียชีพดีกว่าเสียสัตย์

ชีพนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสีย

ชีวิตของคนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายไป

แต่การเสียชีวิตไปโดยที่ไม่ได้เสียสัตย์นี้

จะทำให้เราไม่ได้เสียคุณงามความดี

ที่เป็นสิ่งที่จะเสริมสร้างชีวิตจิตใจของเรา

ให้มีความร่มเย็นเป็นสุข

แต่ถ้าเราเสียสัตย์เพื่อรักษาชีวิต

เราจะเสียสิ่งที่มีคุณค่าในตัวของเรา

จะทำให้เราเป็นคนที่ไม่มีใครเคารพนับถือ

 ไม่มีใครเขาเชื่อถือจะอยู่กับใคร

จะทำอะไรกับใครนี้จะยาก

เพราะจะไม่มีใครอยากจะให้อยู่ด้วย

ไม่อยากจะให้ทำอะไรด้วย

ดังนั้นอย่าไปเสียดายชีวิต

 เพราะชีวิตนี้ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องเสียอยู่ดี

ให้เสียดายสัจจะ ความซื่อสัตย์ดีกว่า

 เพราะถ้ามีสัจจะแล้วจะมีความสุขตามมา

ข้อที่ ๓ ให้มีขันติความอดทน

 ชีวิตของเรา มันก็ต้องมีทั้งสุขมีทั้งทุกข์

เวลามีความสุขนั้นไม่มีปัญหา

แต่เวลามีความทุกข์นี้ ถ้าเราไม่มีขันตินี้

เราจะไม่สามารถรักษาสัจจะ

 เราจะไม่สามารถเสียสละได้

ความเห็นแก่ตัวจะเข้ามาทันที

 ความคดโกงอะไรต่างๆ จะเข้ามาทันที

เพื่อที่จะทำให้ความทุกข์ยากลำบากต่างๆ ผ่านไป

 แต่ถ้ามีขันติจะไม่ยอมเสียสัจจะ

 จะไม่ยอมเสียจาคะจะยอมอดทน

อยู่กับความทุกข์ยากลำบากไป

 ไม่ช้าก็เร็วมันก็ผ่านไป

เพราะไม่มีอะไรที่มันจะเที่ยงแท้ถาวร

ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความทุกข์ก็ตาม

 แต่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรก็คือ

คุณธรรมที่อยู่กับใจของเรานี่แหละ

ถ้าเรารักษามันไว้มันก็จะอยู่กับเราไปตลอด

ถ้าเราสามารถรกัษาสัจจะ รักษาจาคะได้

สัจจะกับจาคะนี้ก็จะอยู่คู่กับเราไป

ไม่ว่าเราจะเป็นเป็นตาย ไม่ว่าเราจะสุขเราจะทุกข์

แล้วเมื่อเรามีคุณธรรมที่ดีงามนี้

เราจะอยู่อย่างมีความสุข

เราจะอยู่ท่ามกลางมิตรทั้งหลาย

เราจะไม่มีศัตรูไม่มีใครที่จะมาคิดทำร้ายเรา

 นี่คือขันติต้องพยายามสร้างขึ้นมาให้ได้

 เพราะขันตินี้จะทำให้เรา

สามารถรักษาคุณธรรมความดีงามต่างๆ ไว้ได้

และข้อที่ ๔ ทมะ แปลว่าความอดกลั้น

อันนี้ก็คือความอดกลั้นอารมณ์ต่างๆ

ที่มีอยู่ภายในใจของเรา

เวลาที่เราเกิดอารมณ์ไม่ดีขึ้นมา

ถ้าเราไม่มีความอดกลั้น

มันก็จะระบายออกมาทางวาจา ทางกาย

 จะพูดเสียหายจะทำอะไรเสียหาย

แล้วก็จะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่น

ทำให้เรากลายเป็นคนน่าเกียจน่าชังไป

แทนที่จะเป็นคนน่ารัก

ถ้าเราเป็นคนมีความอดกลั้น

 เราไม่ระบายความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ไม่ระบายความเกลียดความชัง

ความอาฆาตพยาบาทออกมา

 เราก็จะรักษาความสวยงามของจิตใจของเราได้

นี่แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้พวกเรามาเสริมความงามกัน

 มาเสริมความงามด้วยคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

อย่าเสริมความงามที่ร่างกาย

 ด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยสดงดงามวิจิตรพิสดาร

ด้วยการทำเผ้าทำผมด้วยการแต่งหน้าทาปาก

 อันนี้เวลาเจอกันก็จะเห็นว่าสวย

 แต่พอเวลาเห็นพฤติกรรมแล้ว

 ก็จะไม่ใครชื่นชมยินดี

ถ้าไม่มีจาคะ มีแต่ความเห็นแก่ตัว

 ถ้าไม่มีสัจจะ ไม่มีความซื่อสัตย์

 มีแต่ความโกหกหลอกลวง

ไม่มีขันติควมอดทน ไม่มีทมะความอดกลั้น

ถึงแม้ว่าจะรูปร่างหน้าตาสวยงาม

 หรือมีเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวยงามไว้สวมใส่

จะไม่เป็นที่น่าชื่นชมยินดีของผู้ที่ได้รู้จักมักคุ้นเลย

นี่แหละคือความสวยงาม

มีความสวยงามที่แท้จริง

และความสวยงามที่ไม่แท้จริง

 ความสวยงามไม่แท้จริง

ก็คือการเสริมสวยทางร่างกาย

สวยยังไงต่อไปร่างกายมันก็ต้องแก่

มันก็ต้องเจ็บ มันก็ตายไป หนังก็ต้องเหี่ยว

ผมก็ต้องหงอก ผมก็ต้องร่วงไป

เสริมยังไงก็เสริมไม่ได้

 แต่ความงามทางจิตใจนี้ไม่เสื่อมไปกับความแก่

 ความเจ็บ ความตาย ยังอยู่กับใจเหมือนเดิม

จะแก่ขนาดไหนจะรูปร่างหน้าตาไม่น่าดู

ไม่น่าชมขนาดไหน ก็ยังสวยงาม

เพราะมีจาคะความเสียสละ

 มีสัจจะความซื่อสัตย์ มีขันติ ความอดทน

และมีทมะความอดกลั้น

คุณธรรมเหล่านี้ไม่เสื่อมไปจากชีวิตจิตใจของเรา

 ถ้าเรารักษาได้แล้วมันอยู่กับเราไปตลอด

 เหมือนพระพุทธเจ้าที่เป็นที่รักที่เคารพของพวกเรา

 เพราะท่านมีจาคะ ท่านมีสัจจะ ท่านมีขันติ ท่านมีทมะ

 พวกเราจึงกราบไหว้พระพุทธเจ้าได้อย่างสนิทใจ

ดังนั้นถ้าเราอยากจะเป็นคนที่น่ารักที่มีคนชอบ

 คนนิยมดีพบปะคบค้าสมาคม

ขอให้เรามาเสริมความงามของเรา

ด้วยการสร้างคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

 คือจาคะ ความเสียสละ สัจจะ ความซื่อสัตย์

 ขันติ ความอดทน ทมะ ความอดกลั้นนี้เถิด

แล้วเราจะมีแต่คนรักคนชอบ

จะมีแต่ความร่มเย็นเป็นสุขไปตลอด

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

....................

ธรรมะในศาลา วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๘

“ฆราวาสธรรม ๔”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 23 ตุลาคม 2559
Last Update : 23 ตุลาคม 2559 11:17:06 น.
Counter : 785 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ