Group Blog
All Blog
### วิธีแก้นิวรณ์ ###









“วิธีแก้นิวรณ์”

การจะบรรลุธรรมได้ช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ความฉลาด

ในการที่จะพิจารณาไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

พิจารณาอสุภะ ถ้าเห็นได้อย่างรวดเร็ว

เห็นอะไรปั๊บก็เห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 เห็นร่างกายปั๊บก็เห็นเป็นอสุภะ

ถ้าเห็นอย่างนี้แสดงว่าเป็นผู้ที่รู้เร็ว บรรลุได้เร็ว

 แต่ก่อนจะบรรลุได้ก็ต้องทำใจให้สงบให้ได้ก่อน

 ถ้าใจไม่มีนิวรณ์ก็จะปฏิบัติง่าย

 ถ้าใจมีนิวรณ์ก็จะปฏิบัติยาก

แต่จะยากจะง่ายก็สามารถที่จะทำใจให้สงบได้

 เพราะถ้ามีนิวรณ์

พระพุทธเจ้าก็มีเครื่องไม้เครื่องมือมาแก้นิวรณ์

 เช่นถ้ามีความลังเลสงสัย

ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ท่านก็สอนให้เข้าหาพระอริยบุคคลต่างๆ

 ฟังเทศน์ฟังธรรม ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ศึกษาคำสอนของพระอริยบุคคลต่างๆ

ถ้าเราได้ศึกษาได้ยินได้ฟังธรรมจากพระอริยเจ้า

จากพระพุทธเจ้า เราก็จะเกิดศรัทธา

ในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ขึ้นมา

 ความลังเลสงสัยว่านิพพานมีจริงหรือไม่

 การยุติของการเวียนว่ายตายเกิดมีจริงหรือไม่

การปฏิบัติเพื่อให้ได้หลุดพ้นนี้

สามารถปฏิบัติได้หรือไม่

 ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

จากพระอริยสงฆ์สาวก

 ความลังเลสงสัยต่างๆเหล่านี้จะหายไป

 แล้วจะทำให้เราไม่ต้องมากังวลว่ามาปฏิบัติแล้ว

 จะได้ผลหรือไม่ได้ผล

 เพราะเราจะเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่า

 ปฏิบัติแบบพระพุทธเจ้าก็ต้องได้ผล

 แบบพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

นี่คือวิธีแก้นิวรณ์ที่เกิดจากการมีความลังเลสงสัย

 ถ้ามีนิวรณ์ที่เกิดจากความง่วงเหงาหาวนอนเกียจคร้าน

 อันนี้ก็ต้องใช้อุบายไปอยู่ที่ในที่น่ากลัว

 เช่นไปปฏิบัติในป่าไปอยู่ในป่าช้า

 หรือเวลาบางองค์ก็ชอบไปเดินจงกรม

 ที่มีเป็นทางเดินของเสือ

สมัยก่อนครูบาอาจารย์ท่านจะเข้าไปในป่า

หาทางเดินของเสือเป็นทางเดินจงกรม

ตรงไหนมีรอยเท้าเสือท่านจะเรียกตรงนั้น

เป็นทางเดินจงกรม เพราะเวลาเห็นรอยเท้าเสือแล้ว

มันจะไม่ง่วงนอน มันจะกลัว

 ความกลัวนี้มันจะทำให้เราไม่ง่วงนอน

 หรือบางท่านก็ชอบไปให้ผีมาปลุกความง่วงนอน

มาทำลายความง่วงนอน

ไปเดินจงกรมไปนั่งสมาธิในป่าช้า

เวลาอยู่ในป่าช้านี้มันจะนอนไม่หลับ มันจะไม่ง่วงนอน

 หรือว่าถ้าไม่สามารถไปหาสถานที่เหล่านี้ได้

ก็ใช้วิธีการผ่อนอาหารหรืออดอาหาร

 อย่ารับประทานอาหารให้มันมากเกินไป

รับประทานพอให้ร่างกายอยู่ได้เป็นปกติสุข

แต่อย่าไปรับประทาน เพื่อความอิ่มหนำสำราญใจ

 อย่ารับประทานตามความอยาก

รับประทานพอให้ร่างกายอยู่ได้

ไม่ง่วงเหงา หาวนอน

 ถ้าง่วงเหงาหาวนอนก็ต้องลดปริมาณลงไป

ทีละเล็กทีละน้อย ดูให้มันเหมาะสม

คือจะไม่ให้ร่างกาย รับประทานอาหารเลยนั้น

ย่อมเป็นไปไม่ได้ ย่อมเกิดโทษกับร่างกาย

แต่ถ้ารับประทานแล้วเกิดความง่วงนอน

 เกิดความเกียจคร้าน

การรับประทานก็เป็นโทษเหมือนกัน

 ต้องหาความพอดีในการรับประทานอาหาร

 รับประทานแล้วไม่ง่วงนอน

ในเบื้องต้นอาจจะต้องอดบ้าง

เพราะว่าปริมาณอาหารที่สะสมไว้ในร่างกายนี้

มันมีมากเกินไป บางคนนี้ ไม่รับประทานอาหาร ๑๐ วัน

ก็ไม่ตาย เพราะมีเสบียงที่สะสมไว้ในร่างกาย

ในรูปแบบของไขมัน

 ไขมันนี้ สามารถที่จะดูดออกมาใช้เป็นอาหารได้

เวลาที่ไม่มีอาหารใหม่เข้าไป

ก็เอาอาหารสะสมที่มีอยู่ในร่างกายนี้ใช้ได้

 เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีมาตรการการอด

การผ่อนอาหารมากน้อยต่างกัน

ถ้าคนผอมแล้วไปอดมากๆ

ก็อาจจะเกิดโทษกับร่างกายได้

 แต่ถ้าคนอ้วนนี้ถ้าอดมากๆ

 ก็ไม่น่าจะเกิดโทษกับร่างกายมาก

 เพราะร่างกายมีอาหารพอเพียง

ที่จะทำให้อยู่อย่างเป็นปกติสุขได้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ดังนั้นผู้ที่จะใช้มาตรการ อดอาหาร

ผ่อนอาหารก็ต้องดูสภาพของตนว่า

ควรจะทำมากน้อยเพียงไร

 ทำแล้วทำให้ความง่วงนอนหายไป หรือไม่

ถ้าผ่อนอาหารแล้วยังไม่หาย

 เช่นเคยรับประทานวันละ ๓ มื้อก็มารับประทาน ๒ มื้อ

ไม่รับประทานมื้อเย็น เช่นถือศีล ๘

ถ้ารับประทาน ๒ มื้อยังมีความง่วงนอนอยู่

ก็ลองลดเหลือมื้อเดียว

ถ้ามื้อเดียวยังมีความง่วงนอนอยู่

ก็อาจจะกินวันเว้นวัน วันละมื้อ วันนี้กินพรุ่งนี้ไม่กิน

 ผ่อนไปอย่างนี้แล้วรับรองได้ว่า

 ความง่วงเหงาหาวนอนนี้จะหายไป

จะไม่มาเป็นอุปสรรคต่อการเดินจงกรม นั่งสมาธิ

 นี่คือมาตรการของการแก้กิเลส

ที่เรียกว่าความง่วงเหงาหาวนอน

มาตรการที่เราจะใช้มาแก้กามฉันทะคือ

ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรส

 เราก็ต้องสำรวมตาหูจมูกลิ้นกาย

อย่าไปดูไปฟังในสิ่งที่เราชอบดูชอบฟัง

 ฝืนต้องบังคับปิดทวรทั้ง ๕

วิธีปิดทวารก็ให้ไปปลีกวิเวก ไปอยู่ที่ห่างไกล

จากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

เช่นไปอยู่ตามวัดป่าวัดเขาที่เป็นวัดปฏิบัติ

ที่จะไม่มีรูปเสียง กลิ่นรสให้เสพกัน ทีวีไม่มีดู

เพลงไม่มีฟัง อะไรเรื่องบันเทิงต่างๆ ไม่มี

 สมัยนี้ไปอยู่วัดป่าแล้วก็ต้องปิดโทรศัพท์

 เพราะโทรศัพท์ก็เป็นเครื่องมือของกามฉันทะ

 พอเปิดโทรศัพท์แล้วเดี๋ยวก็เข้าไปดูอะไรต่างๆ ได้

ในเวปต่างๆ อันนี้ถ้าอยากจะสำรวมอินทรีย์

ต้องการที่จะควบคุมกามฉันทะความอยาก

ในรูปเสียงกลิ่นรส ก็ต้องไม่ดูไม่ฟังอะไร

สมัยก่อนที่วัดป่าบ้านตาดไม่มีโทรศัพท์มือถือ

ก็เลยไม่ได้มีการห้ามเรื่องโทรศัพท์

ส่วนโทรศัพท์ที่วัดก็ไม่มี เพราะไม่มีสายโทรศัพท์

ไฟฟ้าก็ไม่มีทีวีก็เลยดูไม่ได้ไม่มีดู

หนังสือพิมพ์ก็ไม่ให้ดู เพราะของพวกนี้มันจะดูดใจ

 ให้ออกมาเสพรูปเสียงกลิ่นรส

 พอเสพแล้วก็จะเกิดความไม่สงบของใจขึ้นมา

 เกิดความอยากจะเสพมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ก็จะทำให้การทำใจให้สงบนี้ทำได้ยาก

เพราะความสงบของใจนี้ ต้องดึงใจ

ให้ออกจากกามอารมณ์ต่างๆ

ออกจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

 ผู้ที่บำเพ็ญจึงจำเป็นต้องไปปลีกวิเวก

อยู่ในสถานที่สงบสงัดห่างไกลจาก

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆ

นี่คือมาตรการที่ใช้ในการควบคุมกามฉันทะ

 แล้วถ้ามีความคิดฟุ้งซ่านชอบคิดอยู่เรื่อยๆ

ก็ต้องเจริญสติให้มากๆ บังคับจิต

ให้อยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งให้อยู่กับพุทโธๆไป

อย่าปล่อยให้แว๊บไปคิดถึงคนนั้นคนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้

เพราะถ้าปล่อยให้คิดแล้วมันจะไม่มีวันที่จะสงบได้

 ต้องใช้สติต้องเจริญสติตั้งแต่ตื่นขึ้นมา

 พอลืมตาขึ้นมาก็พุทโธๆไปเลย

 อย่าไปคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้

ถ้าจะคิดก็คิดเกี่ยวกับเรื่องที่เรา กำลังทำอยู่

เช่นกำลังอาบน้ำก็คิดอยู่กับเรื่องอาบน้ำ

ฟอกสบู่หรือเวลาแปรงฟันก็คิดอยู่กับเรื่องแปรงฟัน

 อย่าไปคิดเรื่องอื่นหรือแปรงไปแล้วใช้พุทโธๆไปก็ได้

 อย่าไปแปรงฟันแล้วก็คิดถึงคนนั้นคนนี้

คิดถึงเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้

คิดถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้นวันพรุ่งนี้

 อย่าปล่อยใจให้คิด ถ้าคิดแล้วเดี๋ยวมันก็จะไม่สงบ

 ใจก็จะฟุ้งซ่านต้องใช้สติต้องหมั่นเจริญสติให้มากๆ

ถึงจะสามารถฟันฝ่านิวรณ์ตัวนี้ไปได้

แล้วถ้ามีใจที่โกรธเกลียด เคียดแค้น อาฆาตพยาบาท

 เพราะคนนั้นคนนี้พูดไม่ดีทำไม่ดี

พูดแล้วทำให้เกิดความไม่พอใจ

เกิดความเกลียดขึ้นมาก็ต้องแผ่เมตตา

 ต้องสัพเพ สัตตา อเวรา โหนตุ

ต้องให้อภัยไม่จองเวรคนที่เขาพูด

หรือทำอะไรให้เราไม่พอใจ ทำให้เราเสียหาย

 อย่าไปเอาโทษให้อภัย พอให้อภัยแล้ว

ความโกรธเกลียดก็จะสงบระงับไป

 ถ้าให้อภัยไม่ได้จะจองเวรจองกรรม

ความโกรธ ความเกลียดมันก็จะไม่ดับไป ไม่หายไป

นี่คือมาตรการที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ให้ผู้ที่มีกิเลสหนาคือมีนิวรณ์มาก มีกามฉันทะ

 มีวิจิกิจฉา มีความง่วงเหงาหาวนอน

 มีความฟุ้งซ่าน มีความโกรธ

เกลียดเคียดแค้นอาฆาตพยาบาท

ให้ทำลายนิวรณ์ เหล่านี้ให้ได้

 เพราะถ้าทำลายไม่ได้

จิตจะไม่สามารถเข้าสู่ความสงบได้

 ถ้ามีนิวรณ์มากก็จะทำให้การปฏิบัติยาก

 ถ้ามีนิวรณ์น้อยก็จะทำให้การปฏิบัติง่าย

นี่คือขั้นต้นของการปฏิบัติเพื่อทำใจให้สงบก่อน

 จึงมีการปฏิบัติง่ายหรือปฏิบัติยากขึ้นอยู่ที่ว่า

มีนิวรณ์มากหรือมีนิวรณ์น้อย

ส่วนเมื่อได้ใจที่สงบแล้วก็ต้องไปทางปัญญาต่อ

 เพราะการจะบรรลุธรรมรู้เห็นธรรมนี้ต้องรู้ด้วยปัญญา

 ไม่ได้รู้ด้วยสมาธิ ไม่ได้รู้ด้วยความสงบ

จะรู้ธรรมก็ต้องให้รู้ไตรลักษณ์ รู้อนิจจัง

รู้ว่าความไม่เที่ยงเป็นอย่างไร

ความไม่เที่ยงก็คือ เกิดแล้วต้องมีการแก่

มีการเจ็บ มีการตาย มีการพลัดพรากจากกัน

อันนี้เรียกว่าไม่เที่ยง

เกิดมาแล้วไม่ได้เป็นเด็กทารกไปตลอด

พอเป็นผู้ใหญ่โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่แล้ว

เป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว

 ก็ไม่ได้เป็นหนุ่มเป็นสาวไปตลอด

จากหนุ่มจากสาวก็ไปเป็นคนสูงอายุ คนชรา

แล้วก็เป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วในที่สุดก็เป็นคนตาย

นี่คืออนิจจัง ต้องมองเห็นสภาพของการเปลี่ยนแปลง

 ของร่างกาย และของต่างๆ สิ่งต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง

 เช่นเสื้อผ้าซื้อมาใหม่ก็ดูสวยงาม พอใช้ไปๆ ใส่ไป

 ความสวยงามมันก็ค่อยจืดจางไป

แล้วไม่นานมันก็ขาดใช้การไม่ได้

อันนี้ก็เรียกว่าอนิจจัง

 มีเกิดแล้วต้องมีการดับไปเป็นธรรมดา

 ให้เห็นอนิจจัง ต้องเห็นอย่างนี้

เห็นอสุภะก็เห็นความไม่สวยงามของร่างกาย

 ร่างกายเวลาออกไปนอกบ้างมักจะถูกแต่ง

เสริมความงามทำให้ดูแล้วน่าดู

แต่เวลาอยู่ในบ้านนี้จะเป็นคนละคน

เวลาไม่อยู่บ้านนี้จะไม่ได้แต่งเนื้อแต่งตัว

 แต่งหน้าทาปาก จะไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่สวยงาม

จะใส่เสื้อผ้าแบบสบายๆ ดูแล้วก็ไม่สวยงาม

 ถ้าจะดูร่างกาย ก็ดูตอนที่ตื่นขึ้นมา

ถ้าจะดูว่าไม่สวยงามเวลาคนตื่นขึ้นมานี้

ไม่เหมือนกับคนที่เวลา ออกไปนอกบ้าง

หรือเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือเวลาที่ตายไป

 จะเห็นสภาพของความไม่สวยงามของร่างกาย

 ยิ่งตายไป ๓ วัน ๕ วัน ๗ วันนี้สภาพยิ่งไม่น่าดู

เพิ่มมากขึ้นไปตามลำดับ นี่คือการดูอสุภะ

ดูให้เห็นว่าร่างกายที่สวยงามนี้

 ความจริง มันเป็นของปลอม

ของจริงมันจะต้องกลายเป็นซากศพไป ไม่ช้าก็เร็ว

สักวันใดวันหนึ่ง หรือจะมองเข้าไป

ภายใต้ผิวหนังของร่างกายก็ได้ ก็จะเห็นอาการ ๓๒

ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ของผิวหนัง เช่นเห็นโครงกระดูก

 เห็นปอด เห็นหัวใจ เห็นตับ เห็นลำไส้

เห็นอะไรต่างๆ ที่ดูไม่น่าดู อันนี้เรียกว่าการเห็นอสุภะ

 ต้องใช้ความพยายามพิจารณา มองอยู่เรื่อยๆ

คิดอยู่เรื่อยๆ เพราะการมองเห็นเพียงแค่แว๊บเดียว

ครั้งเดียวนี้ไม่พอ เพราะว่าเดี๋ยวมันลืมได้

พอเห็นปั๊บเดี๋ยวมันก็ลืมแล้ว ถ้าไม่เอามาคิดอยู่เรื่อยๆ

 มาดูอยู่เรื่อยๆ ต้องคิดอยู่เรื่อยๆ ต้องดูอยู่เรื่อยๆ

เพราะว่าถ้าไม่เห็นความไม่สวยงาม

ก็จะเกิดกิเลสตัณหาขึ้นมาได้

 แล้วก็จะเกิดความทุกข์ใจตามมาต่อไป

อันนี้ก็เรื่องของการเจริญปัญญา

 บางคนนี้สามารถรู้ได้อย่างรวดเร็ว

และรู้แล้วก็จำได้ตลอดเวลาไม่หลงไม่ลืม

 เห็นร่างกายของใครปั๊บก็จะเห็นเป็นซากศพไปทันที

เห็นอาการ ๓๒ เห็นส่วนต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหนัง

 เห็นทะลุเหมือนกับการฉายเอ็กซเรย์

เวลาหมอเขาอยากจะดูกระดูกนี้

เขาต้องไปฉายเอ็กซเรย์

ถึงจะเห็นกระดูก ปัญญานี้ไม่ต้องใช้เครื่องเอ็กซเรย์

 เพียงแต่นึกถึงภาพนั้นบ่อยๆ นึกถึงโครงกระดูกบ่อยๆ

 พอเวลามองใครก็นึกถึงโครงกระดูกของเขา

 ต่อไปมันก็จะเห็นโครงกระดูกโผล่ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

 อันนี้เห็นด้วยปัญญา อยากจะรู้เร็วรู้ช้า

ก็อยู่ที่ความสามารถว่าจะเห็นสิ่งนี้ได้หรือไม่

 ถ้าเห็นได้ก็จะบรรลุได้เร็ว ถ้าไม่เห็นก็จะบรรลุได้ช้า

 เพราะจะต้องใช้เวลามากต่อการที่จะทำให้เห็นได้

บางคนก็ต้องใช้เวลาพิจารณานาน กว่าจะเห็นอสุภะ

 นานกว่าจะเห็นอนิจจัง นานกว่าจะเห็นทุกขัง

นานกว่าจะเห็นอนัตตา ถ้าไม่เห็นธรรมเหล่านี้

 ก็จะบรรลุธรรมไม่ได้

นี่คือเรื่องของการปฏิบัติยากง่ายหรือบรรลุเร็วหรือช้า

ขึ้นอยู่ที่กิเลสกับความรู้ความฉลาดของผู้ปฏิบัติ

ถ้ามีกิเลสหนาปัญญาทึบก็จะปฏิบัติยาก

 แล้วก็จะบรรลุช้า

ถ้ามีกิเลสบางปัญญาฉลาดแหลมคมก็จะบรรลุเร็ว

 และปฏิบัติง่าย แต่สิ่งเหล่านี้มันก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไร

 ถ้าตราบใดที่ผู้ปฏิบัติมีความเพียรพยายาม ไม่ย่อท้อ

 ถึงแม้จะยากก็สู้ไป ถึงแม้จะช้าก็ปฏิบัติไป

ก็สามารถที่จะบรรลุผลได้เหมือนกัน

พอบรรลุผลแล้วก็ได้ผลเท่ากัน

จะบรรลุเร็วปฏิบัติง่าย หรือจะรู้ช้าปฏิบัติยาก

 แต่พอได้นิพพานแล้ว มันก็เป็นนิพพานอันเดียวกัน

 เหมือนกับเด็กเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย

บางคนเรียน ๔ ปีจบ บางคนเรียน ๕ ปี ๖ ปีจึงจะจบ

แต่พอได้ปริญญาแล้วก็เป็นปริญญาอันเดียวกัน

เขาไม่ได้แยกแยะว่าอันนี้เป็นปริญญา ๔ ปี

อันนี้เป็นปริญญา ๕ ปี หรือเป็นปริญญา ๖ ปี

 ก็ถือว่าเป็นปริญญาเหมือนกัน ฉันใด

นิพพานก็เหมือนกัน นิพพานบรรลุ ๗ วัน

หรือบรรลุ ๗ เดือน หรือบรรลุ ๗ ปี

 มันก็เป็นนิพพานเหมือนกัน หลุดพ้นจากกองทุกข์

ของการเกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน

 ที่แสดงนี้เพื่อให้ผู้ปฏิบัติจะได้ไม่ต้องกังวล

 เวลาเห็นคนอื่นเขาปฏิบัติง่าย และบรรลุเร็ว

แล้วเรามันปฏิบัติยากและบรรลุช้าก็อย่าไปท้อแท้

 อย่ายกธงขาว ขอให้เราทำไป

เพราะว่าเหมือนกับกระต่ายกับเต่า

 กระต่ายมันวิ่งเร็ว ถ้ามันจะวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทาง

 มันก็จะไปถึงได้อย่างรวดเร็วกว่าเต่า

เพราะเต่ามันก็ต้องคลานไปเรื่อยๆ

กว่าจะถึงมันก็ต้องช้ากว่ากระต่าย

 แต่ถ้าเต่ามันไม่ยอมยกธงขาว ไม่ยอมถอย

 ไม่ยอมหยุดในการปฏิบัติ ยากก็ปฏิบัติ

 บรรลุช้าก็พิจารณาไปเรื่อยๆ

เดี๋ยวไม่ช้าก็เร็วสักวันหนึ่งก็จะบรรลุถึงผลได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙

“นักปฏิบัติ ๔ ประเภท”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 01 กันยายน 2559
Last Update : 1 กันยายน 2559 8:57:50 น.
Counter : 804 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ