Group Blog
All Blog
### ฟังด้วยสติ ###










“ฟังด้วยสติ”

การที่จะรักษาจิตให้มีความสุขได้นั้น

ในเบื้องต้นต้องมีสติ

 คือสติจะเป็นตัวคอยควบคุมจิต

ไม่ให้คิดไปในเรื่องราวต่างๆ

ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพ

ถ้าจะคิดก็คิดแต่เรื่องที่จำเป็น

เช่นวันนี้จะต้องไปทำอะไรบ้าง

เมื่อรู้แล้วก็หยุดคิด

 แล้วก็หันเอาจิตกลับมาให้ตั้งอยู่กับปัจจุบัน

 คือให้อยู่กับร่างกาย

ให้อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกาย

ร่างกายจะเคลื่อนไหวในอิริยาบถใด

 จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน

ก็ให้รู้อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้น

เฝ้าดูกายอยู่ตลอดเวลา

และเฝ้าดูใจความคิดปรุงของใจ

 ว่ากำลังคิดอะไรอยู่

ถ้ากำลังคิดเรื่องราวไม่เข้าเรื่อง

 ก็หยุดด้วยการกำหนดให้ใจอยู่กับอารมณ์

 ธรรมะที่เคยใช้อยู่เป็นประจำ

ถ้าเคยใช้บริกรรมพุทโธๆๆอยู่

 ก็ขอให้บริกรรมพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

 ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด

จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน

จะทำอะไรก็ตาม

ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความคิด

 ก็ขอให้จิตบริกรรมอยู่กับคำว่าพุทโธๆๆไปเรื่อยๆ

 ถ้าทำอย่างนี้แล้วจิตจะไม่ฟุ้งซ่าน

จะไม่สร้างอารมณ์ต่างๆ ขึ้นมา

 ความทุกข์หรืออารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในใจ

 ก็เกิดจากความคิดปรุงแต่งของจิตนี้เอง

ถ้าปล่อยให้จิตคิดไปเรื่อยๆ

เห็นอะไรมาสัมผัสก็คิด

 ก็จะทำให้จิตแกว่งไปแกว่งมา

 เห็นสิ่งใดที่ไม่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความไม่พอใจ

 เห็นสิ่งใดที่ถูกอกถูกใจ ก็เกิดความยินดี

 เกิดความอยาก เกิดความดิ้นทุรนทุราย

เพื่อที่จะหามาให้ได้ ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

 เมื่อได้มาแล้วก็ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อรักษาไว้

จิตเลยไม่มีโอกาสที่จะสงบนิ่ง

 เพราะจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ

 ที่มาสัมผัสผ่านทวารทั้ง ๕

แต่ถ้าจิตมีสติแล้ว เวลามีอะไรเข้ามาสัมผัส

 เช่นรูปเข้ามาสัมผัสกับตา

 เสียงเข้ามาสัมผัสกับหู จิตมีสติรู้อยู่

 ก็เพียงแต่รับรู้ว่าเป็นรูป เป็นเสียง

 รู้ว่าเป็นของไม่เที่ยง

 คือเมื่อเข้ามาสัมผัสแล้ว เดี๋ยวก็หายไป

เสียงมากระทบหูแล้วก็ผ่านไป

ไม่จำเป็นที่จะต้องให้มีอารมณ์ตามมา

 เสียงจะดีหรือจะชั่ว ไม่ได้อยู่ที่เสียงนั้นๆ

 แต่อยู่ที่ใจต่างหาก

ผู้ที่ไปให้ความหมายกับเสียงนั้น

เสียงเดียวกันสำหรับคนๆหนึ่ง

รู้สึกว่าไพเราะเพราะพริ้ง

แต่กับอีกคนหนึ่งกลับเป็นเหมือนมีดบาดหัวใจ

 เช่นพ่อแม่พูดชมลูกคนหนึ่งว่าเป็นคนดี

ลูกที่ไม่ได้รับคำชม ก็มีความรู้สึกน้อยอกน้อยใจ

 ลูกที่ได้รับคำชมก็เกิดความดีอกดีใจ

ทั้งๆที่เป็นเสียงของคนๆเดียวกัน เรื่องเดียวกัน

แต่คนสองคนเมื่อฟังแล้ว กลับมีอารมณ์

 มีปฏิกิริยาแตกต่างกันไป

นั่นก็เป็นเพราะว่าฟังโดยไม่มีสติ

ฟังโดยไม่มีปัญญานั่นเอง ฟังด้วยอารมณ์

ฟังด้วยความหลง ฟังด้วยอัตตาตัวตน

 ฟังว่าเขาชมคนนั้น เขาไม่ชมเรา

 เมื่อไม่ชมเรา เราก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ

เสียอกเสียใจขึ้นมา แต่ถ้าฟังด้วยสติ

 มันก็เป็นเสียงเท่านั้นเอง เสียงออกมาจากปากคน

 จะมาทำให้เราวิเศษ หรือทำให้เราเลวได้อย่างไร

 เพราะความดีความชั่วไม่ได้อยู่ที่ปากคน

แต่อยู่ที่การกระทำของเรา ถ้ากระทำความดี

 ถึงแม้จะไม่มีใครมาชม เราก็ยังดีอยู่อย่างนั้นแหละ

 ถ้ากระทำความชั่ว ถึงแม้จะมีใครมายกย่องสรรเสริญ

เราก็ไม่ดีตามคำยกย่องสรรเสริญของเขาเลย

แม้แต่นิดเดียว แต่ใจของเรากลับดีอกดีใจ

 ลืมไปว่าเราเพิ่งไปกระทำความชั่วมาหยกๆ

นี่คือลักษณะของจิตที่ไม่มีสติควบคุมดูแลนั่นเอง

ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์อยาก อารมณ์ชอบ

 อารมณ์รัก อารมณ์ชังทั้งหลาย

 เมื่อได้ยินได้ฟังอะไรที่ถูกอกถูกใจ

ก็เกิดความยินดี ดีอกดีใจ

เมื่อได้ยินได้ฟังในสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ

ก็เกิดความเสียใจ เกิดความอึดอัดใจ

ไม่สบายใจขึ้นมา แต่ถ้าได้ศึกษาธรรม

แล้วปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว

 รับรองได้ว่าต่อไปเวลาได้ยินได้ฟังอะไร

 จิตจะเป็นอุเบกขา คือจะวางเฉยทั้ง ๒ ด้าน

ไม่ว่าจะเป็นคำชมก็ดี หรือเป็นคำติก็ดี

 เพราะฟังด้วยสติ ฟังด้วยปัญญา

 รู้ว่าเสียงก็เป็นเพียงแต่เสียงเท่านั้นเอง

 ถ้าไม่เอาความหมายมาคิด มาแบก มายึด มาติด

แล้วละก็ เสียงนั้นเมื่อพูดไปแล้ว มันก็ผ่านไป

 เมื่อไม่เอามายึดเป็นของเราเสียอย่าง

ก็ไม่มีปัญหาอะไร เช่นเวลาใครพูดคำหยาบ

 คำผรุสวาท ด่าใคร เราอยู่ในที่นั้นด้วย

ถ้าเราฟังแล้ว เราไม่ได้คิดว่าเขาด่าเรา ว่าเรา

 ใจของเราก็ไม่มีความรู้สึกอะไร

 แต่ถ้าไปคิดว่าเขาด่าเรา ว่าเรา

ใจของเราก็จะต้องเกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา

 ในทางหลักธรรมแล้ว

พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราฟังเฉยๆ

 ฟังเพื่อรู้ อย่าฟังเพื่อแบกรับ

 คืออย่าเอาอัตตาตัวตนออกไปแบกรับ

 แต่เอาใจผู้รู้ไปรับรู้ ใจเป็นผู้รู้ ใจไม่ใช่ตัวตน

 รู้เฉยๆ รู้แล้วก็ปล่อยวาง

รู้ว่ามีเสียงปรากฏขึ้นมา

แล้วเสียงนั้นก็ดับไป ผ่านไป

นี่คือรู้แบบธรรมะ รู้ด้วยปัญญา

ถ้ารู้ด้วยความหลง ก็รู้ด้วยตัวตน

ตัวตนออกไปรับ ว่าเขากำลังชมเรา

ก็เกิดอาการดีอกดีใจขึ้นมา

 ถ้าเขาด่าเรา ว่าเรา ก็เกิดอาการโมโหโทโสขึ้นมา

 เพราะฟังด้วยโมหะความหลงนั่นเอง

 เอาตัวตนออกไปรับ

และเมื่อเอาตัวตนออกไปรับแล้ว

ผลที่ตามมาคืออะไร ก็คือความทุกข์ใจนั่นเอง

ความไม่สบายอกไม่สบายใจ

 แต่ถ้าไม่เอาตัวตนออกไปรับ

เอาธรรมะออกไปรับ คือเอาความจริงออกไปรับ

คือจิตหรือใจนี้ไม่ใช่ตัวตนเป็นตัวรู้อย่างเดียว

 มีหน้าที่รับรู้ ใครพูดอะไรก็ฟังไป รับรู้ไป

 เหมือนกับไมโครโฟนอันนี้

 จะพูดอะไรมันก็รับเสียงเข้าไป

แล้วส่งต่อไปเข้าเครื่องขยายเสียง

ออกมาตามลำโพง ตัวไมโครโฟนนี้ไม่เคยบ่น

 ไม่เคยว่าอะไรเลย ว่าจะพูดดีหรือไม่ดีอย่างไร

 มันรับไปหมด รับแล้วก็ปล่อยวาง

 รับแล้วก็ส่งต่อไป

 แล้วมันก็ผ่านไป แล้วมันก็หมดไป

 เสียงต่างๆที่เราได้ยินได้ฟัง ก็เป็นอย่างนั้น

เสียงใครจะพูดอะไรอย่างไร พูดแล้ว เข้าหูเราแล้ว

 ใจรับรู้แล้ว มันก็ผ่านไปแล้ว

ถ้ามีสติมีปัญญา ก็ตัดมันเสีย อย่าเอาเข้ามาแบก

 มาหาม มาว่าเขาชมเรา หรือเขาติเรา

รู้ว่าเป็นเสียงของเขาที่ปรากฏขึ้น

ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เท่านี้ก็จบ

ถ้าจะฟังถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เขาพูด

ก็ฟังด้วยเหตุด้วยผล ฟังด้วยปัญญา

 ว่าสิ่งที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง

หรือไม่เป็นความจริง เท่านั้นเอง

 ถ้าเป็นความจริงและเป็นประโยชน์

ก็เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์

อย่างที่เราฟังธรรมกันในวันนี้

 ฟังแล้วก็ใช้ปัญญาแยกแยะ

 ว่าสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเป็นประโยชน์

หรือไม่เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าไม่เป็นประโยชน์

 ฟังเข้าหูซ้ายแล้วก็ปล่อยให้ออกหูขวาไป

 มันก็จบกัน ถ้าเป็นประโยชน์เราก็เอามาคิด

 เอามาไตร่ตรอง เอามาปฏิบัติต่อไป

ก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

 นี่คือลักษณะของการฟังด้วยเหตุด้วยผล

 ด้วยสติด้วยปัญญา ด้วยธรรมะ

 ไม่ได้ฟังด้วยอารมณ์ ถ้าฟังด้วยอารมณ์

 ถึงแม้สิ่งที่เขาพูดจะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์

จะเป็นสิ่งที่ดี เป็นความจริง

 แต่ไปกระทบกับอัตตาตัวตน

เช่นเขาตำหนิเราว่าเราเป็นคนไม่ดี

เพราะเราเป็นคนเกียจคร้าน ชอบเสพสุรายาเมา

 เล่นการพนัน พอฟังแล้ว

 ถ้าเอาอัตตาตัวตนออกไปรับ

ก็รับรองได้ว่าจะต้องไม่พอใจทันที

ที่เขามาว่าเราเป็นคนเกียจคร้าน เสพสุรายาเมา

เล่นการพนัน แต่กลับไม่คิดว่าเขากำลังเตือนเรา

 ชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา ชี้ความบกพร่องของเรา

ถ้าเห็นว่าเป็นความจริง แล้วนำไปแก้ไขดัดแปลง

 เปลี่ยนจากความเกียจคร้านเป็นความขยัน

 เลิกเสพสุรายาเมา เลิกเล่นการพนัน

 เราก็จะได้รับประโยชน์ จึงควรฟังด้วยสติ

 ฟังด้วยปัญญา เพื่อประโยชน์สุขที่จะตามมาต่อไป.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

......................

กัณฑ์ที่ ๑๖๒ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๑)

“ฟังด้วยสติ”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 12 ตุลาคม 2559
Last Update : 12 ตุลาคม 2559 10:42:47 น.
Counter : 714 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ