Group Blog
All Blog
### ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก ###









“ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก”

ความทุกข์ใจเกิดจากความอยาก อยู่ในพระอริยสัจ ๔

 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เกี่ยวกับอนิจจังความไม่เที่ยง

 เพราะอยากให้สิ่งที่ไม่เที่ยงเที่ยง

ก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

 ถ้าพิจารณาว่า ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 ก็จะไม่อยาก ยอมรับความไม่เที่ยง

มีขึ้นมีลงมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ก็จะไม่ทุกข์ใจ

 อย่างนี้เรียกว่าปัญญา

คือการพิจารณาไตรลักษณ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง

 ที่ใจมีความสัมพันธ์ด้วย เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด

ร่างกายก็เป็นไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง

มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นอนัตตา

ไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ

 บังคับให้เป็นไปตามความต้องการไม่ได้

ไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตายไม่ได้

ถ้าไม่ศึกษาไม่คอยสอนใจ ก็จะยึดติดกับร่างกาย

 อยากจะให้ร่างกายไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

เวลาแก่เจ็บตาย ก็จะกลัวมาก

จนไม่สามารถทำอะไรได้ หมดกำลังใจ

 พอหมอบอกว่าจะต้องตายภายใน ๓ เดือน

ไม่รู้จะทำใจอย่างไร

เพราะไม่ศึกษาความจริงของร่างกายไว้ก่อน

 จึงคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

 พอเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็ทำใจไม่ได้

เพราะไม่ได้สอนใจให้เตรียมรับกับเหตุการณ์

ที่จะเกิดขึ้น ถ้าได้เจริญปัญญาอยู่เรื่อยๆ

ก็จะรับกับความเจ็บไข้ได้ป่วยได้

จะรู้สึกเฉยๆไม่เดือดร้อน

ถ้าจิตไม่สงบไม่มีสมาธิ

เวลาพิจารณาความแก่เจ็บตายจะพิจารณาไม่ได้

เพราะกิเลสคอยขัดขวาง ไม่ให้พิจารณา

 จึงต้องทำสมาธิ ทำจิตให้สงบก่อน

พอจิตสงบแล้วกิเลสตัณหาจะอ่อนกำลังลง

เวลาพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกาย

 ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

กิเลสตัณหาก็จะไม่มีกำลังมาขัดขวาง

 จะทำให้จิตเห็นอนิจจังความไม่เที่ยงได้

 ก็จะไม่วุ่นวายเดือดร้อน

เพราะมีความสุขอยู่กับความสงบของสมาธิ

จะไม่รู้สึกเสียดาย ไม่มีร่างกายก็ไม่เป็นปัญหา

 ตราบใดจิตมีความสุขอยู่กับความสงบ

 ถ้าจิตไม่มีความสุขความสงบ

ก็จะยึดติดกับความสุขทางร่างกาย

ความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส การทำกิจกรรมต่างๆ

 พอไม่ได้ทำก็จะไม่มีความสุข มีแต่ความทุกข์ใจ

ถ้าได้ความสงบแล้ว จะไม่พึ่งร่างกาย

เป็นเครื่องมือหาความสุข

ถ้าชอบออกสังคม ชอบหาความสุขจากรูปเสียงกลิ่นรส

ก็จะพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ จะชอบไปอยู่วัด

ชอบอยู่ตามลำพังอยู่ที่สงบ แล้วก็เจริญสตินั่งสมาธิ

ออกจากสมาธิก็เจริญปัญญา

 พิจารณาความจริงของสิ่งต่างๆ ที่จิตสัมผัสรับรู้

 ว่าจะต้องจากกันไปในที่สุด

ถ้ามีสมาธิเวลาพิจารณาความจริง

จะไม่เสียดายหรือทุกข์ใจแต่ประการใด

 เพราะรู้ว่าเป็นความจริงที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

จะไม่ยึดติด อะไรจะเกิดจะดับก็ไม่เป็นปัญหา

 สติสมาธิและปัญญานี่แหละที่เป็นสรณะ

 เป็นที่พึ่งของใจที่แท้จริง ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา

 จิตจะปล่อยวางสิ่งต่างๆได้

ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม

อยู่ในสภาพที่ร่างกายเป็นปกติ เจ็บไข้ได้ป่วย

 หรือใกล้จะตายก็จะทำได้

ถ้าได้ฝึกมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จะไม่เป็นปัญหา

ไม่มีผลกระทบต่อความสงบสุขของจิตใจ

จะสงบสุขไปตลอดเวลา

นี่คือความสุขที่พวกเราสามารถผลิตขึ้นมาได้

ไม่มีใครผลิตให้เราได้

พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

 ไม่สามารถเอานิพพานมาแจกให้พวกเราได้

ได้แต่เพียงบอกวิธีที่จะทำให้เกิดนิพพานขึ้นมา

 อยู่ที่พวกเราจะต้องขวนขวาย ต้องเจริญสติให้มาก

 ตั้งแต่ตื่นจนหลับ

พอมีเวลาว่างจากภารกิจต่างๆก็นั่งสมาธิ

 พอได้สมาธิแล้ว เวลาออกจากสมาธิ

ก็ต้องพิจารณาความไม่เที่ยง ความทุกข์

และอนัตตา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเรา

เป็นสมบัติชั่วคราว พอร่างกายตายไป

ก็กลายเป็นสมบัติของผู้อื่นไป

สมบัติที่แท้จริงอยู่ภายในใจเรา คือมรรคผลนิพพาน

 เป็นสมบัติที่เอาติดตัวไปได้

เช่นถ้าได้โสดาปัตติผลแล้ว เวลาไปเกิดใหม่

 ก็สามารถปฏิบัติต่อได้เลย

 เหมือนกับเรียนจบชั้นมัธยม ๑ แล้ว

เวลาย้ายไปอีกโรงเรียนหนึ่ง ก็ต่อชั้นมัธยม ๒ ได้เลย

 ไม่ต้องกลับไปเรียนชั้นมัธยม ๑ ใหม่

นี่คือประโยชน์ของการมีทรัพย์ภายใน

 จะไม่สูญหายไปเหมือนทรัพย์ภายนอก

 พอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ปฏิบัติต่อได้เลย

จากขั้นโสดาบันก็ขึ้นไปขั้นสกิทาคามีได้เลย

ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่

สติสมาธิปัญญาที่ได้เจริญแล้วก็ยังอยู่กับเรา

 ต้องเจริญส่วนที่ยังไม่ได้เจริญ

เช่นขั้นโสดาบันก็ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว

 แต่ยังไม่ได้เจริญอสุภะ ยังไม่ได้ละกามราคะ

 ความกำหนัดยินดีในกาม

พอกลับมาเกิดใหม่ก็ต้องเจริญอสุภะ

แต่ไม่ต้องกลับไปพิจารณาขันธ์ ๕

ว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เพราะรู้แล้วปล่อยวางได้แล้ว

 ไม่ยึดไม่ติดกับขันธ์ ๕ แล้ว

ร่างกายเกิดแก่เจ็บตายไม่เดือดร้อน

แต่ยังมีกามราคะ เวลาเห็นรูปร่างหน้าตาสวยงาม

 ก็ยังอยากจะเสพกาม ก็ต้องพิจารณาอสุภะ

 พิจารณาความไม่สวยไม่งามของร่างกาย

พิจารณาดูอาการ ๓๒ พิจารณาซากศพ

ว่าคนตายกับคนเป็นก็เป็นร่างกายอันเดียวกัน

ต่างวาระเท่านั้นเอง คนเป็นก็ยังมีลมหายใจอยู่

เวลาไม่มีลมหายใจแล้วก็เป็นซากศพ

 ที่จะพองขึ้นอืดขึ้นมา

ถ้าทิ้งไว้ในป่าช้าก็จะถูกแร้งกากัดกิน

 ถ้าไม่มีปัญญาก็จะหลงใหลคลั่งไคล้ เกิดกามารมณ์

ถ้าเห็นว่าเป็นอสุภะไม่สวยงาม

เห็นอวัยวะต่างๆที่อยู่ภายใต้ของผิวหนัง

 ก็จะดับกามราคะได้ นี่คือเรื่องของทรัพย์ภายใน

 คือสติสมาธิปัญญาและวิมุตติขั้นต่างๆ

พอได้ทรัพย์ภายในแล้วก็จะเป็นของเราไปตลอด

ไม่มีใครมาพรากจากเราไปได้

ไม่เหมือนกับลาภยศสรรเสริญสุข

 พอตายไปแล้วก็หมดไป เกิดใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่

นี่คือความแตกต่างระหว่าง

ทรัพย์ภายในกับทรัพย์ภายนอก

 คนฉลาดก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ

 ให้กับการสร้างทรัพย์ภายใน

 คนโง่ก็จะทุ่มเทชีวิตจิตใจ

ให้กับการสร้างทรัพย์ภายนอก

 เพราะคนโง่ไม่รู้ว่าตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่

แต่คนฉลาดรู้ว่าตายไปแล้วต้องไปเกิดใหม่อีก

 เพราะตายแต่เพียงร่างกาย ใจไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 นี่คือคำสอนของคนฉลาด คือพระพุทธเจ้า

 พวกเราเชื่อคำสอนของคนฉลาด

ก็ต้องปฏิบัติตามให้มากที่สุด

 จะไม่ขาดทุนอย่างแน่นอน จะไม่คว้าน้ำเหลว

 เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เป็นความจริงทั้งหมด

 ไม่ได้ทรงแต่งขึ้นมา

เพื่อหลอกให้พวกเราทำความดีกัน

 แต่มีผลที่เกิดจากการปฏิบัติจริงๆ

 จึงควรเชื่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์

เชื่อการศึกษาและการปฏิบัติ

 แล้วภายในอนาคตอันใกล้นี้

พวกเราจะได้รับทรัพย์ภายในที่ประเสริฐ

 เป็นสมบัติอย่างแน่นอน

เวลาจะตายไม่มีใครรู้ จึงต้องไม่ประมาท

 ต้องคิดว่าจะไปได้ทุกเวลา ถึงจะไม่ประมาท

 ถ้าคิดว่าจะอยู่ไปอีกหลายปี ก็จะประมาท

ถ้าคิดว่าอาจจะตายในวันพรุ่งนี้หรือคืนนี้

ควรรีบศึกษาและปฏิบัติให้เสร็จก่อน ก็จะปลอดภัย

หลังจากนั้นจะไปทำอะไรก็ได้ ถ้าเสร็จกิจนี้แล้ว

ก็จะไม่อยากทำอะไร

เพราะไม่มีความอยากเหลืออยู่ในใจ

ถ้าได้พบกับความสงบจริงๆสักครั้งหนึ่ง

ถ้าจิตรวมลงจริงๆสักครั้งหนึ่งก็จะติดใจ

จะมีความมั่นใจว่าจะปฏิบัติได้ จะไปได้เร็ว

 จะทุ่มเทเวลาชีวิตจิตใจให้กับภารกิจนี้

 เพราะไม่มีอะไรจะสุขเท่ากับความสงบ

 พอจิตรวมลงเป็นสมาธิแล้ว เป็นเหมือนอยู่กันคนละโลก

 เหมือนอยู่ที่ร้อนๆ แล้วเดินเข้าไป

ในห้องปรับอากาศที่เย็นสบาย

ความทุกข์ว้าวุ่นขุ่นมัววิตกกังวลจะหายไปหมดเลย

 เหลือแต่ความสุขสงบเย็นสบาย

จะรู้ว่าชีวิตนี้มีทางออก ก่อนหน้านี้หาทางออกไม่เจอ

 ต้องพึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ก็รู้ว่าไม่ได้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง

 เป็นที่พึ่งชั่วคราว ไม่ถาวร ไม่ดีไปตลอด

เพราะต้องเปลี่ยนไป ถ้าจำเจก็จะเบื่อ

ต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 แต่ความสงบจะไม่เบื่อ จะดูดดื่มใจตลอดเวลา

อยู่ที่การฝึกสตินี่แหละ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.............................

กัณฑ์ที่ ๔๒๗ วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

 (จุลธรรมนำใจ ๒๖)

“หลักของสติ”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 03 สิงหาคม 2559
Last Update : 3 สิงหาคม 2559 8:35:54 น.
Counter : 718 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ