Group Blog
All Blog
### นักปราชญ์ไม่ดีใจกับ"วันเกิด" ###








“นักปราชญ์ไม่ดีใจกับ “วันเกิด””

นักปราชญ์เขาไม่ได้ดีใจกับ “วันเกิด” นะ

เขาดีใจกับวันตาย

คือเขาให้ความสำคัญ

กับวันตายมากกว่าวันเกิด

เพราะวันเกิดมันผ่านมาแล้ว

 มันเป็นอดีตไปแล้ว

มันไม่มีความหมายอะไร

 ตัวที่จะมีความหมายก็คือ “วันตาย”

เป็นวันทดสอบจิตใจว่า

จะสอบตกหรือจะสอบผ่าน

 อันนี้ต่างหากที่เราต้องให้ความสำคัญ

 เราต้องเตรียมตัวทำข้อสอบกัน

ถามว่าเราพร้อมที่จะตายหรือยัง

ถ้าวันนี้เราจะต้องตาย เราตายได้ไหม

 เรายินดีที่จะตายหรือไม่

พร้อมที่จะตายหรือไม่

เพราะถ้าพร้อมมันก็จะไม่ทุกข์

 ถ้าไม่พร้อมมันก็จะทุกข์

ศาสนาพุทธเขามีไว้สอน

เพื่อให้เราไม่ทุกข์กัน

 ท่านก็เลยสอนให้เรา

ระลึกถึงความตายอยู่เรื่อยๆ

 ไม่เคยสอนให้ระลึกถึงวันเกิดเลย

พวกเรานี้เป็นพวกลูกศิษย์ไม่มีครู

ครูบาอาจารย์สอนอย่างแต่ไปทำอีกอย่าง

 สอนให้คิดถึงวันตาย

กลับไปคิดถึงวันเกิดกัน

 เลี้ยงฉลองวันเกิดเฮฮาปาร์ตี้กัน

 อันนั้นแหละเป็นกิเลส เชื่อกิเลส เชื่ออาจารย์

กิเลสมันชอบให้เราสนุกสนานเฮฮาร่าเริง

 แต่มันเป็นความสนุกสนานร่าเริงเพียงชั่วคราว

 เพราะว่าอย่างที่เขาพูดกันว่า

งานเลี้ยงย่อมมีวันสิ้นสุดลง

 เวลางานเลี้ยงผ่านไปแล้ว

เดี๋ยวเย็นนี้ผ่านไปแล้ว เดี๋ยววันนี้หมดแล้ว

พรุ่งนี้ก็ไม่มีเสียแล้ว ไม่มีงานเลี้ยงแล้ว

ก็จะมีแต่ความเหงาว้าเหว่

วันนี้คนมากันเต็มไปหมด

 เดี๋ยวพอพรุ่งนี้ไม่มีใครมาเลย

ถ้าไม่มีความสุขในตัวก็จะเดือดร้อน

 แต่ถ้ามีความสุขในตัวอยู่แล้ว

 ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร ใครจะมาใครจะไป

 ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร

 เพราะว่าไม่ได้อาศัยจากสุข

จากการไปการมา ของผู้คนต่างๆ

 มีความสุขหล่อเลี้ยงตัวเองอยู่ตลอดเวลา

อันนี้แหละที่พระพุทธเจ้าสอน

ให้พวกเราหากัน

ถ้าเรามีความสุขอยู่ในตัวเราแล้ว

เราก็ไม่ต้องไปหาความสุข ภายนอกตัวเรา

 ไม่ต้องไปจัดงานเลี้ยงวันเกิด

 วันแต่งงาน วันครบรอบ วันอะไรต่างๆ

ที่ต้องจัดกันก็เพราะว่า ไม่มีความสุขในตัวเอง

ก็เลยต้องไปหาความสุข หาเท่าไรมันก็หมด

หามาได้ปั๊บแล้วมันก็หมดไป

 เดี๋ยวพรุ่งนี้มันก็หมดแล้ว

วันนี้เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ไม่มีแล้ว

 พรุ่งนี้ก็กินอาหารบิณฑบาตตามปกติ

 วันนี้มีอาหารพิเศษมาเยอะแยะไปหมด

 กินเสร็จแล้วมันก็เหมือนกัน

 อาหารก็กินเพื่อให้ร่างกายมันอยู่ได้ ไม่หิว

 กำจัดความหิว มันก็ผ่านไปเหมือนกัน

ดังนั้นอย่าไปหลงหาความสุข

ที่เป็นความสุขที่ไม่จีรังถาวร

 เป็นความสุขที่ต้องคอยแสวงหาอยู่เรื่อยๆ

 เพราะต่อไปมันจะหาไม่ได้

มันจะไม่มีกำลังหา ต่อไปร่างกายแก่ลงไป

ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย หรือร่างกายตายไป

 มันก็ไม่สามารถหาความสุขผ่านทางร่างกาย

 เมื่อไม่สามารถหาความสุข

มันก็มีแต่ความทุกข์อยู่ในใจ

ให้หาความสุขในใจดีกว่า

 เพราะความสุขในใจมัน

พอเราหาได้แล้วมันจะอยู่กับเราไปตลอด

 ความสุขข้างนอกมีก็ได้ ไม่มีก็ได้

 ถือว่าเป็นของแถม

เช่นวันนี้ถือว่าเป็นของแถม

 มีขนมนมเนย ข้าวของอะไรต่างๆ

 มากมายก่ายกองก็เท่านั้น ไม่มีมันก็เท่าเดิม

 มันก็ไม่ได้ทำให้ความสุขที่มีอยู่ในใจนี้

มันมากขึ้นหรือน้อยลง

ความสุขในใจนี้มันสม่ำเสมอ

 ถ้ารู้จักวิธีสร้าง รู้จักวิธีรักษาแล้ว

มันจะสม่ำเสมอ มันจะอยู่ของมันไปเรื่อยๆ

 ความสุขภายนอกจะมีมากมีน้อย

ก็ไม่ได้มาทำให้ความสุขภายใน

มีความมากน้อย เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

 เช่นเดียวกับความทุกข์ภายนอกก็เช่นเดียวกัน

 ก็ไม่มาทำให้ความสุขภายในลดน้อยลงไป

ต่อให้ทุกข์อย่างไร

ต่อให้ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างไร

 มันก็จะอยู่ข้างนอก

มันจะไม่ได้เข้ามาข้างในใจ

มันจะอยู่ที่ร่างกาย

สำหรับคนที่รู้จักแยกร่างกายออกจากใจ

 เรื่องของร่างกายก็จะไม่เข้ามาสู่ใจ

 แต่คนที่แยกไม่เป็นนี้ก็จะเอาร่างกาย

มามัดติดไว้กับใจเหมือนข้าวต้มมัด

เห็นไหม ข้าวมัดเขามัดกันเป็นคู่ๆนั่นแหละ

 เวลาอันหนึ่งเป็นอะไร อีกอันก็เป็นด้วย

โยนเข้าไปในตู้เย็น มันก็เย็นด้วยกันทั้งคู่

โยนเข้าไปในเตา มันก็ร้อนด้วยกันทั้งคู่

 เพราะมันอยู่ติดกันมันผูกติดกัน

 ร่างกายเป็นอะไรใจก็เป็นไปกับร่างกายด้วย

ทั้งๆที่ใจไม่ได้เป็นเลย

 เพราะไม่รู้จักแยกร่างกายออกจากใจ

 เวลาร่างกายทุกข์นี่ใจก็ทุกข์ตามไปด้วย

ทั้งๆที่ใจไม่ต้องทุกข์ก็ได้

การปฏิบัติธรรมก็เพื่อที่จะแยกใจ

ให้ออกจากร่างกาย ให้ต่างฝ่ายต่างอยู่กัน

 อยู่ตามธรรมชาติของตน

 ธรรมชาติของร่างกายก็คือ

 “เกิด แก่ เจ็บ ตาย”

ธรรมชาติของใจก็คือ “สักแต่ว่ารู้” “อุเบกขา”

นั่นคือสิ่งที่เราต้องแยก มันออกจากกัน

 ปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างเป็นไป

ตามธรรมชาติของเขา

ที่ใจไม่เป็นสักแต่ว่า ไม่เป็นอุเบกขา

ก็เพราะว่า มันถูกตัณหาถูกโมหะความหลง

มันหลอกให้มาจับมามัดให้ติดกับร่างกาย

แล้วให้ไปหลงคิดว่าเป็นร่างกาย

แล้วก็เกิดความอยากไม่ให้ร่างกายแก่

 ไม่ให้ร่างกายเจ็บ ไม่ให้ร่างกายตาย

แต่ไปห้ามมันไม่ได้

เรื่องธรรมชาติของร่างกาย

มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

พอไปมีความยึดมั่นถือมั่น กับร่างกาย

คิดว่าเป็นตัวเราของเรา

มันก็เกิดตัณหาความอยาก

 อยากให้ร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 ทั้งๆที่ร่างกายมันก็แก่ เจ็บ ตาย

ไปตามธรรมชาติของมัน

 พอเกิดความอยากไม่ให้มันแก่

ความทุกข์ก็เกิดขึ้นภายในใจ

ความทุกข์นี่แหละที่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้

ทุกข์ในอริยสัจ ๔ ทุกข์ภายในใจ

ความทุกข์ของใจ เกิดจากความอยาก

 ไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

 ไม่ให้ร่างกายตาย พอมันเจอร่างกาย

 เห็นร่างกายแก่ มันก็ทุกข์ขึ้นมา

 ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็ทุกข์ขึ้นมา

ร่างกายตายก็ทุกข์ขึ้นมา

ทุกข์เพราะความอยาก ไม่ใช่ทุกข์เพราะว่า

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 ความทุกข์ของใจไม่ได้ทุกข์เพราะว่า

ร่างกายแก่ ร่างกายเจ็บ ร่างกายตาย

ความทุกข์ของใจเกิดจากความอยาก

ไม่ให้ร่างกายแก่ ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

ไม่ให้ร่างกายตาย

ถ้าผู้ปฏิบัติแยกใจออกจากร่างกายได้

 เบื้องต้นก็แยกด้วยสมาธิด้วยสติ

 แยกมันออกไป จิตรวมเข้าสู่ความสงบ

 ก็แยกออกจากร่างกายชั่วคราว

ก็จะรู้ว่าใจนี้มีความสุขเวลาที่ไม่มีร่างกาย

 ไม่ต้องมีร่างกายกลับมีความสุขมากกว่า

พอออกจากสมาธิมาเมื่อมันรวมกัน

ก็คอยเตือนใจคอยสอนใจว่า

 อย่าไปยึดอย่าไปติดกับร่างกาย

ถ้าไปยึดไปติดแล้วมันจะอยากให้ร่างกาย

ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

แล้วมันก็จะสร้างความทุกข์ให้กับใจขึ้นมา

เมื่อสอนอยู่อย่างนี้เรื่อยๆแล้วก็ต้องไปพิสูจน์ดูว่า

 ปล่อยวางร่างกายได้หรือเปล่า

 นั่งให้มันเจ็บดู หรืออดข้าวก็ได้

อดข้าวให้มันหิวดู หิวแล้วดูซิว่ามันทุกข์ไหม

 ความหิวก็เป็นความเจ็บของร่างกายอย่างหนึ่ง

 ดูซิว่าอยู่กับความหิวได้หรือเปล่า

รับรู้ความหิวได้หรือเปล่า

 ใจเป็นเพียงผู้รู้ ผู้รับรู้

รู้ไปซิว่าร่างกายมันหิว ร่างกายมันเจ็บ

ถ้าไม่มีความอยากให้ร่างกายอิ่ม

มันก็จะไม่ทุกข์

แต่ถ้ามันมีความอยากมันก็ทุกข์

 อยากให้ร่างกายไม่หิว

อยากให้ร่างกายอิ่ม

 มันก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา

อยากให้ไม่ให้ร่างกายเจ็บ

 เวลาร่างกายเจ็บเราไปห้ามมันได้ที่ไหน

 เวลาเราไปอยู่ที่ในที่อดยากขาดแคลน

ไม่ได้กินข้าว มันก็หิวจะทำอย่างไร

 ก็มีอยู่ ๒ ทาง ทุกข์หรือไม่ทุกข์

 ถ้าอยากให้มันอิ่ม

อยากให้ความหิวหายไปมันก็จะทุกข์

 แต่ถ้ายอมรับว่า ร่างกายมันหิวแล้ว

ทำอะไรไม่ได้ก็ปล่อยมันหิวไป

เราก็เพียงแต่รับรู้ ใจก็เพียงแต่รับรู้

 รู้ว่ามันหิว หิวก็หิวไป ใจก็จะไม่ทุกข์

ถ้าใจไม่มีความอยาก ใจจะละความอยาก

หรือไม่มีความอยากได้ก็ต้องมีสมาธิเป็นฐาน

 เพราะเวลาใจสงบนี้ใจจะเป็นกลาง

ไม่มีความอยาก พอออกจากสมาธิมา

ก็ใช้ปัญญาสอนใจ ให้อยู่เป็นกลาง ไปเรื่อยๆ

 อย่าไปทางความอยาก

อย่าออกมาทางความอยาก

เพราะออกมาทางความอยากแล้ว

ใจมันจะทุกข์ ขึ้นมาทันที

 ถ้าใจอยู่เฉยๆ ให้รู้เฉยๆ

รู้กับเรื่องของร่างกาย ร่างกายหิวก็รู้ว่าหิว

 ร่างกายเจ็บก็รู้ว่าเจ็บ

ร่างกายจะตายก็รู้ว่าร่างกายจะตาย

ถ้ารู้เฉยๆ ได้ไม่มีความอยากใจก็จะไม่ทุกข์

ใจก็จะผ่านความทุกข์ของความเจ็บ

ความตายของร่างกายได้

ต้องไปพิสูจน์ความเจ็บก็นั่งให้มันเจ็บ

หรือเดินให้มันเมื่อยจนกระทั่งมันเดินไม่ไหว

เดินไปเรื่อยๆ ให้มันเจ็บจากการเดิน

ฝ่าเท้าแตก เห็นไหมท่านบอก

แต่ใจอย่าไปเจ็บกับร่างกาย

 ความตายก็ไปหาที่มันเสี่ยง เป็นเสี่ยงตายดู

หาที่ที่มันท้าทายต่อความเป็นความตายดู

ในป่าในเขา ในที่เราคิดว่ามีภัยอันตราย

จากสิงสาราสัตว์ เวลาเกิดความกลัวตายขึ้นมา

ก็ดูซิว่าจะใช้ปัญญาปล่อยวางร่างกายได้หรือไม่

 ร่างกายอนิจจัง ไม่เที่ยง เกิดแล้วต้องแก่

 ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา

 ร่างกายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา

 เป็นดินน้ำลมไฟ เดี๋ยวก็ต้องกลับคืนสู่ดินน้ำลมไฟ

 เราเอาดินน้ำลมไฟเข้ามาสู่ร่างกายตลอดเวลา

 ธาตุลมนี้เราเอาเข้ามาอยู่เรื่อยๆ

ทุกลมหายใจเข้า-ออกนี้

เป็นเรื่องของธาตุลมทั้งนั้น

เวลาหิวน้ำก็เอาน้ำเข้ามา

 เวลาหิวข้าวก็เอาข้าวเข้ามา

ก็เป็นการต้องการธาตุต่างๆ นั่นเอง

 เวลาร่างกายหิวก็แสดงว่าธาตุดินมันหมดแล้ว

ต้องเติม ข้าวก็มาจากดิน

ปลูกข้าวปลูกที่ไหนไม่ได้ปลูกในน้ำ

ไม่ได้ปลูกในทะเล ปลูกบนดิน

 มันก็เอาดินนี่แหละมาทำเป็นข้าว

พอกินเข้าไปในร่างกาย

มันก็ไปต่อเติมอวัยวะต่างๆ อาการต่างๆ

อาการ ๓๒ ของร่างกาย

ทำให้ผมมันงอกยาว ขึ้นมาได้

ทำให้อวัยวะต่างๆ อยู่ต่อไปได้

ก็เพราะว่ามีการเสริมธาตุอยู่เรื่อยๆ

เวลาเริ่มต้นของร่างกาย ก็เริ่มจากธาตุนี้แหละ

 ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกัน

 เวลาที่ธาตุของแม่ของพ่อมารวมกัน

 พ่อก็ธาตุ ๔ ของพ่อ ธาตุ ๔ ของแม่มารวมกัน

ก็มาสร้างร่างกายอันใหม่ขึ้นมา

 แล้วก็อาศัยธาตุ ๔

ที่เข้ามาทางสายเลือดของมารดา

เป็นตัวที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา

 สร้างอวัยวะ ๓๒ ขึ้นมาในร่างกาย

พอร่างกายมีอวัยวะครบ ๓๒ ก็คลอดออกมา

 คลอดออกมาแล้วก็เติมธาตุต่อไป

 เติมน้ำ เติมลม เติมดิน เติมไฟต่อไป

อวัยวะอาการต่างๆ ๓๒ อาการ

ก็เริ่มเจริญเติบโต ก็เติบโตมาจากธาตุทั้ง ๔ นี้

 ถ้าไม่กินข้าวดูซิ ไม่กินน้ำดูซิ ไม่หายใจดูซิ

 แล้วร่างกายมันจะโตขึ้นมาได้ไหม

 มันก็หยุดชะงักไป ดูทารกที่ตายไป

 ตัวมันก็แข็งทื่อ เขียวแล้วมันก็ไม่เติบโต

มันมีแต่จะเน่าไปเท่าเอง

เน่ามันก็กลับคืนไปสู่ดินน้ำลมไฟไป

 นี่คือเรื่องธรรมชาติของร่างกาย

มันไม่มีตัวไม่มีตน

 มันเป็นเรื่องของดินน้ำลมไฟแท้ๆ

 แต่เรากลับไปหลง

ไปเรียกว่ามันเป็นตัวเราของเรา

 เพราะเราได้มาครอบครองเป็นสมบัติ เป็นผู้รับใช้

ท่านเรียกว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ร่างกายก็เป็นบ่าวมารับใช้ใจ ใจก็คือเรานี่แหละ

 เราเป็นคนคิดไม่ใช่หรือ

 คิดให้ร่างกายทำโน่นทำนี่

คิดแต่งเนื้อแต่งตัวให้ร่างกาย ใครเป็นคนคิด

 ร่างกายคิดเองได้ที่ไหน ถ้าไม่มีใจคนสั่งให้คิด

 มันก็นอนแข็งทื่ออยู่ หรือเวลาใจไม่สั่ง

 เวลานอนหลับนี้ใจไม่สั่งการ

ร่างกายมันนอนอยู่เฉยๆ ไม่มีใครสั่งการ

 พอใจสั่งการปั๊บมันก็ลุกขึ้นมา

ลุกขึ้นๆ ถึงเวลาตื่นแล้ว ถึงเวลาไปทำงานแล้ว

ใครเป็นคนบอกให้ลุกก็ใจนี่แหละ

 แล้วใจนี้เป็นคนบอกให้แต่งเนื้อแต่งตัว

 อาบน้ำอาบท่า กินข้งกินข้าว

 เตรียมออกไปนอกบ้านไปทำธุระต่างๆ

 ก็เป็นใจนั่นแหละเป็นผู้สั่ง

 ถ้าใจไม่สั่งวันไหนใจขี้เกียจ ไม่อยากทำงาน

 วันนี้ไม่ต้องทำงานอยู่บ้านเฉยๆ ก็ใจเป็นผู้สั่ง

แต่ใจไม่ได้เป็นร่างกาย ใจมาได้ร่างกาย

ตอนที่พ่อแม่ สร้างร่างกายนี้ขึ้นมา

ที่เรียกว่า “ปฏิสนธิ”

 เวลาธาตุของพ่อกับธาตุของแม่

มารวมกันมาผสมกัน

 ถ้าไม่มีจิตเข้ามาครบอครองปฏิสนธิก็ไม่เกิด

 ต้องมีทั้ง ๓ ส่วน ส่วนของธาตุของพ่อธาตุ ๑ ส่วน

ธาตุของแม่ ๑ ส่วน แล้วก็ธาตุรู้คือใจ

 ผู้ที่กำลังหาร่างกาย เหมือนกำลังไปซื้อรถ

 ไปตามโชว์รูมต่างๆ ไปเห็นรถรุ่นนั้นรุ่นนี้

 ชอบรุ่นนี้ก็สั่งจองไว้ เพราะว่าเขายังไม่ได้ผลิต

หรือกำลังผลิตอยู่ในโรงงานก็สั่งจองไว้

 แล้วพอเขาผลิตรถยนต์เสร็จ เขาก็มาส่งให้เรา

พอแม่คลอดเราออกมาก็เป็นเราขึ้นมาทันที

 เป็นของเราขึ้นมาทันที

ตอนต้นก็ต้องหัดขับรถก่อน

หัดขับร่างกายนี้ก่อน หัดขับถ่าย

หัดดื่ม หัดกิน หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน

 เป็นการฝึกหัดขับรถยนต์ไปก่อน

 รถยนต์คันนี้หัดตั้งหลายปี เรียนรู้ตั้งหลายปี

 กว่าที่จะสามารถที่จะขับไปไหนมาไหนได้

๒-๓ ปี แล้วก็ไปโรงเรียนอนุบาลได้

 ไปแบบตอนนั้นก็ยังต้องมีพี่เลี้ยงคอยควบคุมอยู่

 แต่พอร่างกายโตขึ้นๆ แข็งแรงมากขึ้น

สามารถดูแลตนเองได้ก็ไม่ต้องมีพี่เลี้ยง

 ก็มีใจเป็นพี่เลี้ยง

ใจก็คอยดูแลร่างกายของตนไป

ดูแลไปอย่างไรก็หยุดธรรมชาติของร่างกายไม่ได้

 ธรรมชาติของใจที่จะเจริญเติบโตไปเรื่อยๆ

 โตจนกระทั่งโตเต็มที่แล้ว

พอโตเต็มที่แล้วก็เริ่มเข้าสู่วัยชรา

 ก็เริ่มแก่ลงไปๆ แล้วก็ต้องพบโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

 จนในที่สุดก็หยุดไปไม่ไหว หายใจไม่ไหว

พอไม่หายใจแล้ว

ก็ไม่มีธาตุลมเข้ามาล่อเลี้ยงร่างกาย

เมื่อร่างกายขาดธาตุลมก็หยุดการทำงาน

 ถ้าเป็นโรงงานก็เหมือนกับปิด

ไม่มีเชื้อเพลิงมาขับเคลื่อน เครื่องจักรต่างๆ

 ก็ต้องปิดโรงงานไป

 เมื่อปิดโรงงานทิ้งโรงงานไว้สักพัก

เดี๋ยวเครื่องจักรต่างๆ

 มันก็ชำรุดทรุดโทรมเก่าพังไปเอง

 ร่างกายพอหยุดทำงานถ้าทิ้งไว้

มันก็จะชำรุดทรุดโทรมไป มันก็จะย่อยสลายไป

 สมัยก่อนเขาเอาศพไปทิ้งไว้ในป่าช้า

ก็จะมีประเพณีไปเยี่ยมป่าช้า

เพื่อจะได้เห็นสภาพของร่างกาย

ที่ค่อยๆ บุบสลายหายไป

ธาตุน้ำก็จะแยกออกมา ธาตุไฟก็ไปแล้ว

 ร่างกายก็เย็นเฉียบ ธาตุน้ำก็ออกมา

 ธาตุลมก็ออกมา จนในที่สุดก็เหลือแต่ธาตุดิน

เป็นกระดูกเป็นหนังที่เหี่ยวแห้งกรอบ

ทิ้งต่อไปก็ผุเปื่อยกลายเป็นฝุ่น กลายเป็นดินไป

นี่คือเรื่องของร่างกาย ที่เราไปหลงคิดว่า

เป็นตัวเราของเรา พอมันเป็นอะไร

ก็เลยทุกข์ไปกับมัน แต่ถ้าได้มาศึกษา

 ดูธรรมชาติดูความจริงของร่างกาย

 นับตั้งแต่จุดที่มันเริ่มต้นมันมาจากที่ไหน

 มันมีที่มาที่ไปเห็นชัดๆ

 มันต้องมีธาตุดินน้ำลมไฟของพ่อ

 มาผสมกับธาตุดินน้ำลมไฟของแม่

แล้วก็เจริญเติบโตด้วยธาตุดินน้ำลมไฟ

ที่แม่ส่งมาให้ผ่านทางสายเลือด

เมื่อมีการส่งธาตุดินน้ำลมไฟ

มาสู่ร่างกายของทารก

 ร่างกายของทารก ก็เจริญเติบโตขึ้นมา

 มีอวัยวะต่างๆ ปรากฏขึ้นมาตามลำดับ

 มาจากอะไรมาจากธาตุทั้งนั้นดินน้ำลมไฟทั้งนั้น

มีตัวเราที่ไหน ตัวเราอยู่ตรงไหน

 อยู่ในธาตุของพ่อหรืออยู่ในธาตุของแม่ มันไม่มี

 แล้วยิ่งถ้ามาภาวนา ทำจิตให้รวม

ให้แยกออกจากร่างกายได้ยิ่งเห็นชัดเลยว่า

 อ๋อ จิตเพียงแต่ว่าครอบครองร่างกายนี้เท่านั้นเอง

 เวลาจิตออกจากสมาธินี้

มันก็กลับไปติดอยู่กับร่างกาย ผ่านทางวิญญาณ

วิญญาณสัมผัสรับรู้รูปเสียงกลิ่นรส

ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกาย จากใจ

 วิญญาญก็เข้าไปสู่ตาหูจมูกลิ้นกาย

 ใจก็รับรู้ว่า อ๋อ ตอนนี้มีตามีหู

ลืมตาขึ้นก็เห็นภาพ หูก็ได้ยินเสียง

เวลาเข้าไปในสมาธินี้

วิญญาณมันถอยออกมา

เหมือนกับมันตัด การรับรู้ทางทวารทั้ง ๕

 ทางตาหูจมูกลิ้นกาย

ก็เลยเหมือนกับว่าร่างกายมันไม่มี

ร่างกายหายไป เพราะใจหยุดการทำงาน

ของเวทนาสัญญา สังขาร วิญญาณไว้ชั่วคราว

 วิญญาณไม่รับรู้รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ก็เลยไม่รับรู้เรื่องของร่างกาย

 แต่พอออกจากสมาธิมาก็เริ่มมารับรู้ต่อ

เป็นการรับรู้เท่านั้นเอง

 แล้วก็ไปมีอวิชชาความหลงที่ไปคิดว่า

เป็นตัวเราของเรา เพราะใจไม่มีรูป

ไม่มีร่างกายเป็นของตนเอง

 พอได้ร่างกายมาก็เลยหลงไปคิดว่า

เป็นรูปร่างของตนเอง

ก็เลยยึดติดอยากจะให้ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 เพราะใจมันไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ใจมันอยู่ไปได้ตลอด

ดังนั้นถ้าร่างกายไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

มันก็จะอยู่กันไป ได้ตลอด

แต่ร่างกายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย

 แต่ใจไม่รู้หรือไม่ยอมรับความจริงอันนี้

 ใจก็เลยเกิดความอยากขึ้นมา

พออยากแล้วก็ทุกข์ เวลาไม่ได้ดังใจอยาก

 เวลาร่างกายแก่ก็ทุกข์ ร่างกายเจ็บก็ทุกข์

ร่างกายตายก็ทุกข์ แต่ถ้าได้มาศึกษา

จากพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนให้พิจารณา

สอนใจให้รู้ว่าร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุ ๔

ดินน้ำลมไฟ เป็นของขวัญจากพ่อจากแม่

พ่อแม่เป็นผู้ผลิตร่างกายนี้ขึ้นมา

 แม่คนเดียวผลิตไม่ได้ ต้องมีพ่อด้วย

 แต่แม่เป็นคนทำงานหนัก

 พ่อเพียงแต่มา ให้ส่วนผสมเท่านั้นเอง

 แต่การเลี้ยงดูให้ร่างกายเจริญเติบโตนี้

เป็นหน้าที่ของแม่ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แล้ว

 ออกมาแม่ก็ดูแลต่อ

 พ่อก็เป็นผู้สนับสนุนแม่อีกทีหนึ่ง

 ไปทำงานทำการหาเงินหาทอง

หาธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟมาให้แม่

 เอาเข้าไปในร่างกายของแม่

แล้วก็ส่งไปสู่ที่ร่างกายของทารก

ที่อยู่ในร่างกายของแม่ อีกทีหนึ่ง

 พอคลอดออกมาก็เอาธาตุ ๔ ที่มีอยู่ข้างนอก

เข้าไปในร่างกายแทน เอาลมหายใจเข้าไป

 เอาน้ำเข้าไปเอาดินเข้าไป มันก็มีแค่นี้แหละ

มันมีแค่ดินน้ำลมไฟ มีแค่อาการ ๓๒

แต่เราไม่มองความจริงอันนี้

 เราไปมองความจริงอีกด้านหนึ่ง

ความจริงที่เกี่ยวกับความสัมพันกัน

เช่น ร่างกายนี้ออกมาจากท้องคนนี้

ก็ต้องเป็นลูกของคนนี้ คนนี้ก็เป็นพ่อแม่

 คนนี้ก็เป็นลูก แล้วก็มีความผูกพันกัน

เพราะว่ามีบุญมีคุณต่อกัน

 ลูกก็มีความรู้สึกสำนึกในบุญคุณของพ่อแม่

ก็รักพ่อรักแม่ขึ้นมา รักแล้วก็หวงแล้วละซิ

อยากให้พ่อแม่ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

 พอพ่อแม่แก่ เจ็บ ตายก็ทุกข์ไปกับพ่อแม่

พอได้ใครมาเป็นของตนก็ยึดติดทันที

ก็อยากให้เขาไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย

ได้สามี ได้ภรรยาก็อยากให้เขาไม่แก่

ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะไปคิดว่า

ตัวเขาอยู่ที่ร่างกาย เวลาร่างกายตายแล้ว

เขาจะตายไปกับร่างกาย

 แต่ความจริงเขาก็ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย

 เพราะเขาไม่ได้อยู่กับร่างกาย

 ตัวเขาก็อยู่กับใจของเขา

พอร่างกายเขาตายไป

 เขาก็ไปหาร่างกายอันใหม่ต่อ

ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว

ต่อไปเวลาใครตาย เราก็จะรู้ว่าเขาไม่ตาย

 ส่วนที่ตายนั้นเป็นเพียงคนรับใช้เขาเท่านั้นเอง

 ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

จำไว้ ใจไม่ตายไปกับบ่าว

 บ่าวตายแต่ใจไม่ตาย

นายต้องไปหาบ่าวใหม่

 ก็ไปเกิดใหม่ได้ร่างกายอันใหม่

ได้มาเลี้ยงวันเกิดกันใหม่

เวลาเกิดออกมาก็จำวันที่ไว้

 พอครบปีก็เลี้ยงกันที

 แทนที่จะมาคิดให้มันเกิดปัญญาขึ้นมา

ก็ไม่คิดกัน ก็ไปคิดว่าเป็นตัวเราของเรา

 แล้วก็อวยพรวันเกิดกันขอให้อยู่กันไปนานๆ

 อย่าเจ็บไข้ได้ป่วย ขอไปอย่างไร

มันเป็นไปได้ทีไหน ก็รู้กันอยู่ทุกวันอยู่ทุกคน

ว่ามันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายใช่ไหม

ต้องอวยพรแบบนี้ว่า

 “ขอให้อย่าทุกข์กับความแก่

 ความเจ็บ ความตายเลยนะคะ”

อย่างนี้มันถึงจะดี

อวยพรแบบนี้มันถึงเป็นธรรมเข้าใจไหม

 ต่อไปเวลาไปอวยพรวันเกิดใคร

 ขอให้พี่อย่าทุกข์กับความแก่

ความเจ็บ ความตายเลยนะ

 ที่มันจะตามมานี้ ถ้าพี่ไม่รู้จักทำใจ

ก็ไปปฏิบัติธรรมเถิด แล้วจะรู้สึกวิธีทำใจ

แล้วจะไม่ทุกข์กับความแก่ ความเจ็บ ความตาย

 วันนี้ก็จะให้พรวันเกิดอย่างนี้แหละ

ขอให้ทุกคนนี้ “จงไม่มีความทุกข์

กับความแก่ ความเจ็บ ความตายนะ”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘

“พรวันเกิด”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 02 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2559 5:41:15 น.
Counter : 861 Pageviews.

1 comment
### บุญบารมี ###









“บุญบารมี”

บุญบารมีเป็นสมบัติที่แท้จริงของพวกเรา

 สมบัติอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นวัตถุ

ข้าวของเงินทองต่างๆ บุคคลต่างๆ

ไม่ได้เป็นสมบัติที่แท้จริง

 เพราะเอาติดตัวไปไม่ได้

เมื่อเราตายจากโลกนี้ไป

 บางทียังไม่ทันตายก็จากไปก่อนแล้ว

 แต่บุญบารมีจะติดอยู่กับใจของเรา

 ไม่มีใครพรากจากเราไปได้

 เป็นที่พึ่งที่แท้จริง

การได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ก็เป็นเพราะบุญบารมี

 ที่เราได้สะสมไว้ในอดีต

ได้มาเกิดมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม

 ไม่ขี้เหร่ มีอายุยืน

 มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

มีอวัยวะครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่พิกลพิการ

 มีสติปัญญาความฉลาด ไม่โง่เขลา

 มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง ไม่ยากจน

ล้วนเป็นผลของบุญบารมี

ที่เราได้สร้างไว้ในอดีตชาติ

ส่งผลให้มาเกิดเป็นมนุษย์

 แทนที่จะเกิดเป็นเดรัจฉาน

ถ้ายังบำเพ็ญบุญบารมีต่อ

สะสมให้มากกว่าเดิม

 ภพหน้าชาติหน้าของเรา

ก็จะดีกว่าเดิมไปเรื่อยๆ

จนถึงภพสุดท้าย ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เป็นพระพุทธเจ้าไป

เป็นผลของบุญบารมีทั้งนั้น

ที่ไม่มีใครสามารถสร้างแทนเราได้

เราต้องเป็นผู้สร้างผู้สะสมเอง

 พ่อแม่ไม่สามารถสร้างบุญบารมีให้กับเราได้

 ญาติสนิทมิตรสหายก็เช่นเดียวกัน

 เพราะเป็นเรื่องของ อัตตา หิ อัตโน นาโถ

ตนเป็นที่พึ่งของตน เป็นผู้สร้างบุญบารมีเอง

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สัตว์โลกทั้งหลาย

หมั่นสะสมบุญบารมีไว้เสมอๆ

 เพื่อประโยชน์สุขและความเจริญ

ที่จะเป็นผลตามมา ทั้งในปัจจุบันชาติ

และชาติที่จะตามมาต่อไป

ในปัจจุบันก็จะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 มีความเจริญ ตายไปก็ได้ภพชาติที่ดีกว่าเดิม

 ได้ไปเกิดเป็นเทพเป็นพรหม

ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์

ได้เป็นพระอรหันต์

 เป็นพระพุทธเจ้าไปในที่สุด

 จึงควรหมั่นบำเพ็ญกันอย่างสม่ำเสมอ

บารมีที่เราต้องบำเพ็ญในเบื้องต้นก็คือ

อธิษฐานบารมี อธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ

 ไม่ได้แปลว่าขอ

ก่อนที่จะสร้างบารมีอื่นได้

ต้องมีอธิษฐานบารมีก่อน

 เช่นจะสร้างทานบารมี ก็ต้องมีอธิษฐานบารมี

คือความตั้งใจในการบำเพ็ญทานบารมี

 วันนี้ญาติโยมก่อนจะมาที่วัดได้

ก็ต้องมีความตั้งใจไว้ก่อนแล้ว

ว่าวันนี้จะมาวัด มาทำบุญ

รักษาศีลฟังเทศน์ฟังธรรม

ถ้าไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้าว่าจะมา

พอถึงเวลาก็อาจจะไม่ได้มา

 ขณะนี้ยังอาจจะนอนหลับอยู่

 เพราะไม่ได้ตั้งใจไว้ว่าจะมาวัด

 เมื่อคืนนี้เลยอยู่ดึก ก็ตื่นเช้าไม่ได้ ต้องตื่นสาย

 เพราะไม่ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่าจะมาวัด

 ไม่ว่าจะบำเพ็ญบารมีอะไรก็ตาม

 ต้องมีอธิษฐานบารมีก่อน

จะบำเพ็ญทานบารมีก็ดี ศีลบารมีก็ดี

 เนกขัมมะบารมีก็ดี ปัญญาบารมีก็ดี

 ต้องมีอธิษฐานบารมีก่อนทั้งนั้น

ต้องมีความตั้งใจ พอตั้งใจแล้ว

จะได้มีจุดหมายปลายทางไป

เหมือนกับเวลาออกจากบ้าน

 ถ้าไม่ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะไปไหน

ก็จะไม่รู้ว่าจะไปไหน ไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้า

 ก็จะไปไม่ถึงไหน เพราะไม่ได้ตั้งใจไว้ก่อน

ฉันใดชีวิตของเราก็เป็นเหมือนกับการเดินทาง

 ต้องตั้งเป้าหมายไว้

ให้ไปสู่ความสุขและความเจริญ

 ไม่ปล่อยให้ไปตามยถากรรม

 เหมือนกับเรือที่ไม่มีหางเสือ

รถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัย

 ไม่สามารถควบคุมบังคับ

 ให้ไปในทิศทางที่ต้องการจะไปได้

ชีวิตของเราก็ต้องมีพวงมาลัยมีหางเสือ

ก็คือมีอธิษฐานบารมี

ต้องตั้งจิตอธิษฐานว่า

จะทำบุญทำทานอย่างสม่ำเสมอ

จะรักษาศีลอย่างสม่ำเสมอ

จะปฏิบัติเนกขัมมะถือศีลบวช

ไม่ว่าจะเป็นศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา

 ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร

ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ

จะตั้งใจสร้างปัญญาบารมี

ด้วยการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อมีอธิษฐานบารมีแล้ว

ก็ต้องมีสัจจะบารมี

ถ้าไม่มีสัจจะบารมีความจริงใจแล้ว

 เวลาตั้งใจจะทำอะไรพอถึงเวลาจะทำจริงๆ

ก็อาจจะเปลี่ยนใจได้

เช่นวันนี้ตั้งใจจะมาวัด

พอตื่นขึ้นมาก็นึกได้ว่ามีอะไรบางอย่างต้องทำ

ก็เลยไม่มาวัด ไปทำในสิ่งที่ต้องทำ

ถ้ามีสัจจะบารมีความจริงใจ

 เวลาตั้งจิตอธิษฐานแล้วจะไม่ให้ล้มเหลว

 ตั้งใจจะทำอะไรก็ต้องทำให้ได้

เช่นวันนี้ตั้งใจจะมาวัด

ถึงแม้ฝนจะตกแดดจะออกน้ำจะท่วมก็ตาม

 ถ้ายังสามารถมาได้ก็จะมา

เรียกว่ามีสัจจะคือความจริงใจ

ถ้าไม่มีสัจจะแล้ว

ตั้งจิตอธิษฐานไปก็จะไม่ได้ผล

ตั้งไปได้วันสองวันก็ล้มแล้ว

 เช่นในพรรษาตั้งใจจะเลิกดื่มสุรา

ตลอดเวลา ๓ เดือน

 พอเวลาผ่านไปสัก ๓-๔วันก็ทนไม่ไหว

อยากจะดื่มสุรา ก็กลับไปดื่มใหม่

 แสดงว่ามีอธิษฐานแต่ไม่มีสัจจะ

ไม่สามารถทำตามที่ตั้งใจไว้ได้

นอกจากมีอธิษฐานบารมีแล้ว

ก็ต้องมีสัจจะบารมี

 มีความจริงใจต่อตนเอง

อย่าหลอกตนเอง บอกตนเองว่า

จะทำอะไร ก็ต้องทำให้ได้

 เช่นเดียวกับการให้คำมั่นสัญญากับผู้อื่น

 ก็ต้องรักษาคำมั่นสัญญาให้ได้

 จึงจะมีสัจจะ ถ้าไม่มีสัจจะ

ก็จะไม่สามารถทำความดีได้

พอถึงเวลาจะทำก็มักจะเปลี่ยนใจ

ถูกอำนาจใฝ่ต่ำชักจูงไปทำ

 เช่นตั้งใจจะเลิกดื่มสุรา

พอถึงเวลาจริงๆ ก็ถูกอำนาจ

ของความอยากดื่มสุรา ฉุดลากไปดื่มสุราอีก

 ถ้ามีสัจจะบารมีแล้ว

 เป็นตายอย่างไรก็ต้องรักษาให้ได้

ดังที่พระพุทธเจ้าในขณะที่ทรงนั่งอยู่ใต้ต้นโพธิ์

ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 ก็ได้ทรงตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า

จะนั่งไปจนกว่าจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ถึงแม้เลือดในร่างกายจะเหือดแห้งไป

ก็จะไม่ลุก ถ้าไม่ได้ตรัสรู้ก็ขอยอมตาย

เมื่อมีความจริงใจแล้ว

ก็ต้องมีวิริยะบารมีความพากเพียร

 เมื่อตั้งใจจะทำอะไรแล้ว

ก็ต้องขยันทำอย่างสม่ำเสมอ

ตั้งใจมาวัดตลอดพรรษา มาทำบุญตักบาตร

 ก็ต้องขยันมา ตั้งใจจะใส่บาตรที่บ้านทุกวัน

 ก็ต้องขยันใส่ ตั้งใจจะรักษาศีล

ก็ต้องขยันรักษา

 ตั้งใจฟังเทศน์ฟังธรรมตลอดพรรษา

 ไม่ดูโทรทัศน์ไม่ฟังเพลง

ก็ต้องขยันฟังแต่ธรรมะอย่างเดียว

 ความสำเร็จไม่ได้เกิดจาก

ความตั้งใจจากสัจจะเท่านั้น

 ต้องมีวิริยะบารมีด้วย

ความพยายามอยู่ที่ไหน

ความสำเร็จย่อมอยู่ที่นั่น

 ไม่ว่าตั้งใจจะไปที่ไหน

ถ้าไม่มีความขยันก็จะไปไม่ถึง

 เช่นตั้งใจจะมาวัด

พอถึงเวลาก็บอกว่าขี้เกียจ

ไม่อยากจะมา เปลี่ยนใจ

 เพราะขาดวิริยะบารมี

ถูกความขี้เกียจแซงหน้าไป

 เราจึงต้องบำเพ็ญวิริยะบารมี

ให้มีความขยันหมั่นเพียรติดเป็นนิสัย

 อย่าอยู่เฉยๆ โดยไม่ทำอะไร

ให้เกิดประโยชน์

อย่าปล่อยให้เวลาเสียไปกับเรื่องไร้สาระ

 เช่นเรื่องเล่นเรื่องเที่ยวเป็นต้น

 ไม่เป็นบุญบารมี

ไม่ส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้า

มีแต่จะฉุดลงสู่ที่ต่ำ

ต้องขยันทำความดีอยู่เสมอ

 อยู่ที่บ้านมีอะไรพอจะช่วยกันได้ก็ช่วยกัน

 กวาดถูทำความสะอาด

เพื่อจะได้เป็นนิสัย

เวลาตั้งใจทำในสิ่งที่ดีที่เลิศ

จะได้มีความขยันพาไปได้

ถ้าขี้เกียจแล้วจะทำบุญไม่ได้

รักษาศีลไม่ได้ ฟังเทศน์ฟังธรรมไม่ได้

 ภพหน้าชาติหน้าจะไม่เจริญขึ้น ไม่ดีขึ้น

เมื่อมีวิริยะบารมีแล้ว ก็ต้องมีขันติบารมี

เป็นเครื่องสนับสนุน

เพราะการทำความดีเป็นสิ่งที่ยาก

เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา

 ถ้าไม่มีความอดทนก็จะทำไม่สำเร็จ

 เวลาเกิดอารมณ์อยากจะพูดปด

 ก็ต้องอดทนไม่พูดปด

จะทำทำบุญตักบาตรก็ต้องตื่นแต่เช้า

 ถ้าไม่อดทนก็จะตื่นไม่ได้

 เวลานั่งสมาธิไปนานๆ เจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้

 ถ้าไม่อดทนก็จะนั่งไม่ได้

จึงต้องมีขันติบารมีคอยสนับสนุน

 ต้องฝึกให้มีความอดทน

 อย่าเอาแต่ความสุขความสบาย

 ให้คิดว่าความทุกข์ยากลำบากนี้

จะพาให้ไปสู่ความสุขในบั้นปลาย

 ดีกว่าความสุขความสบาย

ที่จะพาไปสู่ความทุกข์ในบั้นปลาย

ถ้าไม่มีขันติบารมีเวลาทุกข์ในบั้นปลาย

 ตอนที่เราแก่ เราเจ็บ เราตาย

 จะทุกข์ทรมานใจมาก

ถ้าได้ฝึกฝนสร้างขันติบารมี

ในขณะที่ยังหนุ่มยังแน่นอยู่

ยอมต่อสู้กับความทุกข์ยากลำบาก

 ที่เกิดจากการนั่งสมาธิก็ดี

 เกิดจากการทำความดีต่างๆก็ดี

 เราจะมีขันติความอดทนไว้ต่อสู้

จิตใจจะไม่ทรมาน ไม่ทุรนทุราย

จิตใจจะสงบนิ่ง นี่คือบารมี ๔ ประการ

ที่สำคัญอย่างยิ่งในการบำเพ็ญบารมี

 เช่นทานบารมีการให้

มีอะไรที่ไม่จำเป็นต้องเก็บไว้

ก็ควรเอาไปจำหน่ายจ่ายแจก

 ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือเป็นอะไรก็ตาม

 เก็บไว้ไม่เกิดประโยชน์ทั้งกับเราและกับผู้อื่น

 จะได้ทานบารมี

ทำให้เป็นเศรษฐีในภายภาคหน้า

ในภพหน้าชาติหน้า

ไม่ต้องไปหาเงินหาทองให้ลำบากยากเย็น

 เพราะจะไปเกิดบนกองเงินกองทอง

ไปเกิดเป็นลูกของเศรษฐี

 เป็นลูกของพระมหากษัตริย์เป็นต้น

 ศีลบารมีการไม่เบียดเบียนกัน

 เป็นการสร้างสุคติ ภพชาติที่ดี

จะเกิดเป็นเทพ เป็นพรหม

 เป็นพระอริยเจ้า เป็นมนุษย์ได้

จะต้องมีศีลบารมีพาไป

ถ้าไม่มีศีลบารมี

ก็จะต้องไปเกิดเป็นเดรัจฉานบ้าง

 เป็นเปรตบ้าง ไปตกนรกบ้าง

เนกขัมมะบารมีการถือศีลบวช

เพื่อพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น

ถ้าไม่มีเนกขัมมะบารมี

 ก็จะไม่สามารถเข้าสู่พรหมโลกได้

 ไม่สามารถเข้าสู่มรรคผลนิพพานได้

ต้องอาศัยเนกขัมมะบารมี ต้องถือศีลบวช

 ไม่ว่าจะเป็นศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อก็ดี

 จะต้องโกนหัวห่มเหลืองห่มขาวหรือไม่

ความจริงก็ไม่จำเป็น

ถ้ารักษาศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ได้

ก็เป็นเหมือนนักบวชแล้ว

เพราะศีลไม่ได้อยู่ที่ผ้าเหลือง

ไม่ได้อยู่ที่ผ้าขาว

 ไม่ได้อยู่ที่โกนศีรษะหรือไม่

ไม่ได้อยู่ที่ผู้หญิงที่ผู้ชาย เด็กหรือผู้ใหญ่

 อยู่ที่การรักษาศีลได้หรือไม่

ถ้ารักษาได้ก็ถือว่าได้บำเพ็ญเนกขัมมะบารมี

 มีสิทธิที่จะก้าวเข้าสู่พรหมโลก

สู่มรรคผลนิพพาน

ปัญญาบารมีความรู้ความฉลาด

จะทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้

 ถ้ามีแต่เนกขัมมะบารมี

ก็จะได้แค่ขั้นพรหมโลก ได้แค่ฌาน

 ได้แค่สมาธิ ถ้าต้องการมรรคผลนิพพาน

 หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด

 จากความทุกข์ทั้งปวง

 ก็ต้องบำเพ็ญปัญญาบารมี

ต้องฟังเทศน์ฟังธรรม

 บำเพ็ญวิปัสสนาภาวนา

เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง

ในสภาวธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นไตรลักษณ์

 เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา

 ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ที่เห็นด้วยตาก็ดี

 ได้ยินด้วยหูก็ดี สัมผัสด้วยกายก็ดี

ล้วนเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตาทั้งนั้น

 เห็นแล้วก็หายไป ได้ยินแล้วก็หายไป

 ร่างกายก็เช่นเดียวกัน

 เกิดแล้วก็ต้องแก่เจ็บตายไป

 ไม่มีอะไรอยู่กับใจไปตลอด

มีการเกิดดับ มีมามีไป

ถ้าหลงยึดติดก็จะต้องเกิดความทุกข์

เกิดตัณหาความอยากได้ขึ้นมา

ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีก

ถ้ามีปัญญารู้แล้วว่า ไม่สามารถยึดติด

กับสิ่งต่างๆในโลกนี้ได้ ก็จะปล่อยวาง

 จะเกิดก็เกิด จะดับก็ดับ

ปล่อยให้เป็นไปตามความเป็นจริง

จะได้ไม่ทุกข์ ไม่อยาก

ไม่มีเหตุที่จะพาให้ไปเกิดอีกต่อไป

จิตก็จะกลายเป็นพระนิพพานไป

 ไม่ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด

ไปแก่ ไปเจ็บ ไปตาย ไปพลัดพรากจากกัน

 นี่คือปัญญาที่จะเกิดขึ้น

จากการฟังเทศน์ฟังธรรมอย่างสม่ำเสมอ

วันนี้เราฟังแล้วก็เกิดปัญญา

รู้อะไรหลายอย่างที่ไม่รู้มาก่อน

 เช่น อธิษฐานบารมี

ส่วนใหญ่จะคิดว่าอธิษฐานคือการขอ

 ทำบุญแล้วก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้

ถ้าทำแล้วไม่ขอก็ได้อยู่ดี

เพราะการกระทำเป็นเหตุที่จะทำให้ได้ผล

 ถ้าให้ทานก็จะได้ทานบารมี

 ถ้ารักษาศีลก็จะได้ศีลบารมี

ไม่ต้องขอก็ได้

คำว่าอธิษฐานนี้ไม่ได้แปลว่าขอ

 แต่เป็นการตั้งใจ

ถ้าไม่ได้ตั้งใจก็จะไม่ได้ทำ

 เมื่อไม่ได้ทำก็จะไม่ได้ผล

ถ้าจะขออย่างเดียว ไม่ทำอะไรเลย

 ขอไปจนวันตายก็จะไม่ได้ผล

 เช่นขอไปพระนิพพาน

ถ้าไม่ทำบุญให้ทาน ไม่รักษาศีล

ไม่บำเพ็ญเนกขัมมะบารมี

 ไม่เจริญปัญญาบารมี ต่อให้ขอไปจนวันตาย

 ขออีกร้อยล้านชาติ ก็จะไปไม่ถึงพระนิพพาน

 เพราะพระนิพพานไม่ได้เกิดจากการขอ

 แต่เกิดจากการบำเพ็ญบุญบารมี

ทั้ง ๑๐ ประการ

 ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นตัวอย่าง

 จนได้บรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 พระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ก็ได้บำเพ็ญบุญบารมีมาเช่นเดียวกัน

 พวกเราก็เช่นเดียวกัน

ถ้าบำเพ็ญบุญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ

ได้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว

 ก็จะได้เป็นพระอรหันต์

เป็นพระพุทธเจ้าในลำดับต่อไปอย่างแน่นอน

 จึงควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

 ด้วยการบำเพ็ญบารมีอย่างต่อเนื่อง

 คืออธิษฐานบารมี สัจจะบารมี

วิริยะบารมี ขันติบารมี ทานบารมี

ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี

 เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี

จะได้กำไรจากการได้มาเกิดเป็นมนุษย์

ได้มาพบกับพระพุทธศาสนา

ถ้าบำเพ็ญเพื่อลาภยศสรรเสริญสุข

ก็จะขาดทุน ตายไปเอาติดตัวไปไม่ได้

จะไม่ได้ไปเกิดดีกว่าเดิม

 ไม่ได้พัฒนาภพชาติให้สูงขึ้น

 จึงควรให้ความสำคัญต่อการบำเพ็ญบุญบารมี

 ให้ถือเป็นหน้าที่หลักของชีวิตเลย

 ถ้ามีใครถามว่าเกิดมาเพื่อทำอะไร

 ก็ตอบได้เลยว่า เกิดมาเพื่อบำเพ็ญบุญบารมี

 นี่คือหน้าที่ของมนุษย์

นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 ได้ทรงบำเพ็ญมา

จึงนำมาเผยแผ่สั่งสอนพวกเรา

 จึงควรเชื่อในสิ่งที่พระพุทธเจ้า

ทรงสั่งสอนแล้วนำมาปฏิบัติ

 จะได้มีแต่ความเจริญก้าวหน้า

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

........................

กัณฑ์ที่ ๓๕๘ วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๐

 (กำลังใจ ๓๙)

“บุญบารมี”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 01 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 1 พฤศจิกายน 2559 5:04:55 น.
Counter : 681 Pageviews.

0 comment
### พรหมวิหาร ๔ ###












“พรหมวิหาร ๔”

การที่เราจะคิดดี พูดดี ทำดีได้

 เราต้องมีคุณสมบัติ คุณธรรม ๔ ประการด้วยกัน

คือ ๑. ความเมตตา ๒. ความกรุณา ๓. มุทิตา

 และ๔. ความอุเบกขา

ถ้าเรามีคุณธรรมทั้ง ๔ ประการนี้

เราจะอยู่ด้วยกัน อย่างร่มเย็นเป็นสุข

 อยู่ด้วยความรักด้วยความสามัคคี

อยู่อย่างมีความแน่นหนามั่นคง

 ทุกคนจะมีความสุข ดังนั้นขอให้เรามาศึกษา

วิธีเจริญคุณธรรมทั้ง ๔ ประการ

คือเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

ให้มีอยู่ภายในใจของพวกเรา

ถ้าเราขาดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

 เราจะคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 แต่ถ้าเรามีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

 เราจะคิดดี พูดดี ทำดี แล้วเราจะมีความสุข

และเราจะให้ความสุข แก่ผู้ที่อยู่ร่วมกันกับเรา

 นี่คือวิธีการอยู่อย่างสันติสุข

ต้องมีคุณธรรม ๔ ประการ

ความเมตตานี้

ก็มีอยู่หลายลักษณะด้วยกัน

 ดังที่เราสวดกันอยู่บ่อยๆ

 สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ

 อันนี้ท่านบอกว่า

การไม่จองเวรจองกรรมกัน

 สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ

 แปลว่าไม่เบียดเบียนกัน

สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ

ไม่สร้างความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น

สัพเพ สัตตา สุขีอัตตานัง ปะริหะรันตุ

 มีความปรารถนาให้ทุกคน มีแต่ความสุข

 นี่คือความเมตตา วิธีที่เราจะแผ่เมตตา

 ไม่ใช่แผ่ตอนที่เรานั่งไหว้พระ

สวดมนต์อยู่ตามลำพัง

 ตอนนั้นเป็นการเตือนใจสอนใจ

ให้เรามีอะเวรา

ให้เรามีอัพยาปัชฌา ให้เรามีอะนีฆา

 ให้เรามีสุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ

 คือให้เรามีความให้อภัยต่อกันและกัน

ไม่จองเวรจองกรรมกัน

 เพราะการจองเวรจองกรรม

 จะนำมาแต่เวรแต่กรรม ดังที่ทรงตรัสไว้ว่า

 “เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร”

 แต่ “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

การไม่จองเวรก็คือให้การอภัยยกโทษ

ไม่ถือโทษโกรธเคืองต่อผู้ที่พูด

หรือ กระทำอะไร

ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับเรา

 ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เราจะให้อภัย

 เราจะต้องการรักษา

ความดีงามในใจของเราไว้

 เพราะถ้าเราเกิดความอาฆาตพยาบาท

 คิดจองเวรจองกรรม เราก็จะเลวเท่ากับเขา

 หรือเลวยิ่งกว่าเขา

เช่นถ้าเขาตีเราแล้วเราก็ไปฆ่าเขาอย่างนี้

เพราะเราโกรธเขา เขาเพียงแต่ตีเรา

 แต่เราไปฆ่าเขา อันนี้เราเลวกว่าเขา

การที่เราจะทำตัวของเราให้ดีกว่าเขา

 เราต้องไม่โต้ตอบ เราต้องให้อภัยเขา

แล้วเราจะดีกว่าเขา

 เพราะเราไม่ไปทำร้ายเขา

 เรามีความเมตตา มีคุณธรรมที่สูงส่ง

นี่คือลักษณะของไม่ของเวรกัน

เป็นความเมตตาอย่างหนึ่ง

ความเมตตาอีกอย่างหนึ่ง

ก็คือการไม่เบียดเบียนกัน

ก็คือการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์

 ไม่ประพฤติ ผิดประเวณี

ไม่โกหกหลอกลวง

 ไม่ดื่มสุรายาเมา

 เพราะการกระทำบาปทั้ง ๕ ข้อนี้

จะเบียดเบียนผู้อื่น

จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

แล้วอีกข้อหนึ่งก็คือ

ให้เราให้ความสุขแก่ผู้อื่น

 การให้ความสุขแก่ผู้อื่นนี้

ก็มีหลากหลายวิธีด้วยกัน

 เช่นเวลาเราพบปะเพียงแต่ยิ้มให้กัน

นี้ก็ทำให้ผู้อื่นเขามีความสุขแล้ว เ

ห็นรอยยิ้มของเรา เขาก็มีความสุข

 เราเห็นรอยยิ้มของผู้อื่นเราก็จะมีความสุข

ถ้าเขาหน้าบึ้งตึงเราก็จะไม่มีความสุข

 ถ้าเราหน้าบึ้งตึง เขาก็จะไม่มีความสุข

ดังนั้นการแผ่เมตตา

ต้องแผ่ตอนที่เราพบปะกัน

ไม่ใช่แผ่เมตตาตอนที่เราอยู่คนเดียว

ตอนนั้นยังไม่ได้แผ่

ตอนนั้นเป็นเพียงสอนใจ

เตือนใจว่า เราต้องมีความเมตตาต่อกัน

พอเจอกันก็ให้ยิ้มให้กัน อย่าหน้าบึ้งตึง

ถ้าเขาพูดไม่ดีก็อย่าไปโกรธเขา

ให้อภัยเขา

 ถือว่าเขายังเป็นเหมือนเด็กอยู่

เวลาเด็กเขาทำอะไรผิดนี้

 เรามักจะไม่โกรธเด็ก

 เพราะเรารู้ว่าเป็นเด็กไร้เดียงสา

ยังไม่รู้จักผิดถูกดีชั่ว ทำไปตามอารมณ์

 ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ถ้าไปพูดไม่ดี ทำไม่ดี

ก็เป็นเหมือนเด็กไร้เดียงสา

 เพียงแต่ว่าร่างกายนี้อาจจะเป็นผู้ใหญ่

แต่ใจนี้ ก็ยังเป็นเหมือนเด็กอยู่

ดังนั้นถ้าเราไม่โกรธเด็ก

เราก็อย่าไปโกรธคนที่ไร้เดียงสา

คนที่ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว คนที่พูดหรือทำอะไร

ให้เกิดความเสียหาย เราควรจะให้อภัยเขา

แล้วเราก็จะสบาย เราก็จะมีความสุข

 เขาก็ไม่ทุกข์จากการที่เรา

ไปทำร้ายเขาตอบโต้เขา

 นี่คือ “ความเมตตา”

ความเมตตาอีกอันก็คือ

ให้ความสุขแก่ผู้อื่น

 วิธีให้ความสุขนอกจากให้รอยยิ้ม

แล้วก็ให้มีการแบ่งปันสิ่งต่างๆ

 ที่เรามีอยู่มากกว่าที่เราจะใช้ได้

 ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ก็ไม่ได้

ใช้ก็เอามาแบ่งปันกัน

 อย่างที่ญาติโยมมากันในวันนี้

 ญาติโยมก็เอานำความสุขมาแบ่งปัน

ให้กับพระภิกษุที่อยู่จำพรรษาอยู่ในวัดนี้

นำกับข้าวกับปลาอาหาร ของคาวของหวาน

เครื่องใช้ไม้สอยอะไรต่างๆ มาแบ่งปันกัน

 มาให้พระที่ไม่มีอาชีพ

หาเงินหาทองหาข้าวหาของ

 ก็ต้องรอความเมตตาของญาติโยม

 ญาติโยมก็มีโอกาสได้แผ่เมตตา

 ได้สร้างบารมี ได้สร้างเมตตาบารมี

ผู้ที่มีเมตตาบารมีนี้

จะมีอานิสงส์หลายประการด้วยกัน

 เช่น ๑. จะเป็นที่รักของมนุษย์

และเทวดาทั้งหลาย

 จะไม่มีใครเกลียดคนที่มีความเมตตา

อย่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๕ หรือรัชกาลที่ ๙

ทั้งๆที่ท่านจากเราไป

รัชกาลที่ ๕ ก็จากเราไปเป็นเวลายาวนาน

รัชกาลที่ ๙ ก็เพิ่งจากไป

แต่พระเมตตาของท่าน

 ทำให้เรายังรักยังเคารพท่านอยู่

 ยังคิดถึงท่านอยู่

ยังอาลัยอาวรณ์ท่านอยู่

นี่คืออานิสงส์ของการมีความเมตตา

ถ้าเรามีความเมตตา เวลาเราจากไป

พวกเขาจะอาลัยอาวรณ์จะคิดถึง

จะไม่สาปแช่งส่งให้ไป

 คนที่ไม่มีความเมตตา

คนที่มีความโหดร้ายทารุณ

 เวลาตายไปนี้มีแต่คนเขาสาปส่งต่อไป

ไปได้ก็ดี อยู่ไปก็หนักโลก

คนที่ไม่มีความเมตตา

 ส่วนคนที่มีความเมตตานี้

ไม่มีใครอยากจะให้จากไป

 คนที่มีความเมตตาจึงไม่ตาย

 ด้วยการทำร้ายของผู้อื่น

เพราะจะไม่มีใครคิดทำร้าย

ไม่มีใครคิดจะฆ่าด้วยอาวุธต่างๆ

 ไม่มีใครคิดจะฆ่าด้วยยาพิษ

เพราะว่าไม่มีศัตรูนั่นเอง

 ผู้ที่มีความเมตตา มีแต่มิตร

เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย

 เวลาตายไปก็ไปสู่สุคติไปสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ

 หรือไปถึงพระนิพพาน

ถ้าบุญบารมีมีถึงแล้ว

ก็เวลาอยู่ตื่นก็มีความสุข

เวลาหลับก็มีความสุข

 นอนหลับก็จะไม่ฝันร้าย

นี่คืออานิสงส์ของการมีความเมตตา

ขอให้พวกเราพยายามสร้างความเมตตา

ให้มีอยู่ในใจแล้วเวลาเราพูด เวลาเราคิด

 เวลาเราทำอะไรเราจะคิดดี พูดดี ทำดี

แล้วจะทำให้ผู้อื่นนั้นเขามีความสุข

และเขาก็จะให้ความสุขกลับมา

เวลาเราให้ความสุขแก่ผู้อื่น

 เราก็จะเกิดความสุขขึ้นมาภายในใจของเรา

 อย่างวันนี้เอาความสุขมาให้กับพระภิกษุ

พอให้แล้วญาติโยม ก็เกิดความสุขใจ

 เกิดความอิ่มใจขึ้นมา

 นี่คือวิธีสร้างความสุขให้กับตัวเรา

และสร้างความสุข ให้แก่ผู้อื่น

 จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข

 จะอยู่ร่วมกันด้วยความรัก

ด้วยความสามัคคีกัน

ข้อที่ ๒.คุณธรรมที่เราควรจะมี

ก็คือ “กรุณา”

กรุณาก็คือความสงสาร

 เวลาที่เราเห็นผู้อื่น

เขาตกทุกข์ได้ยาก เดือดร้อน

 ถ้าเราพอที่จะช่วยเขาได้

ก็ควรที่จะช่วยไป อย่าดูดาย

 แต่การช่วยก็อาจจะต้องมีปัญญาบ้าง

คือช่วยแล้วให้เขาช่วยตัวเองได้

อย่าไปช่วยให้เขาต้องมาให้เราช่วยอยู่ตลอด

ถ้าช่วยแบบนี้ไม่ดี

เช่นเวลาเขาไม่มีเงิน มาขอเงิน

 เราก็ให้เงินเขาไป พอเขาใช้เงินหมด

 เขาก็กลับมาขอใหม่ ถ้าช่วยแบบนี้

ก็จะต้องช่วยไปจนวันตาย

 มีคำโบราณที่เขาบอกว่า อย่าให้ปลาเขา

 สอนให้เขาหาปลาดีกว่า

เพราะถ้าเขาหาปลา เป็นแล้ว

เขาก็ไม่ต้องมาขอปลาจากเรา

เขาก็จะไปหาปลาของเขาเองได้

 ฉันใดคนที่มาขอเงิน ก็อย่าให้เงินเขา

 แต่สอนวิธีให้เขารู้จักหาเงิน

พอเขาหาเงินได้เองแล้ว

เขาก็จะไม่ต้องมาขอเรา

 เช่นถ้าเขาไม่มีเงิน ก็หางานให้เขาทำ

ไปฝากถ้าฝากใครได้ก็เอาไปฝาก

ให้เขามีงานทำแล้วพอเขามีงานทำ

 เขาก็จะได้พึ่งตนเองได้

อย่าไปช่วยแบบอุ้มเขาแบกเขา

 เพราะว่าจะต้องอุ้มไปจนวันตาย

 เพราะเขาจะไม่มีความสามารถ

ที่จะช่วยตัวเองได้

 ถ้าเราช่วยเขาแบบนี้เหมือนกับลูกๆของเรา

ถ้าเราเลี้ยงดูแบบให้เขาไม่ทำอะไรเลย

 ให้เขาทุกอย่างทำอะไร ทุกอย่างให้เขา

เขาก็จะไม่รู้จักทำอะไรเอง

เขาก็จะต้องมาขอให้เรา

ทำนั่นทำนี่ให้อยู่เรื่อยๆ

 ขอให้เราขอเงินจากเรา อยู่เรื่อยๆ

การเลี้ยงลูกเราควรจะเลี้ยงให้เขารู้จัก

ช่วยตัวเองพึ่งตนเองได้

 สอนให้เขาหัดทำอะไรต่างๆ

 งานในบ้าน อย่าไปถือว่าเป็นสิ่งต่ำต้อย

 อย่าไปคิดว่าเป็นงานของคนรับใช้

งานทุกชนิดนี้มีคุณมีประโยชน์กับเรา

เพราะถ้าเราทำแล้วเราก็จะได้รู้จักวิธีทำ

แล้วเราก็จะมีความสามารถพิเศษ

แม้แต่การล้างส้วม การกวาดบ้านถูบ้าน

การล้างชาม การซักเสื้อผ้า

การกระทำต่างๆ เหล่านี้

เป็นคุณเป็นประโยชน์กับผู้กระทำ

เพราะจะทำให้สามารถพึ่งตนเองได้

 ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น

 แล้วถ้าเกิดไม่มีอาชีพไม่มีงานทำ

ก็ยังสามารถใช้ ความสามารถนี้

ไปทำงานได้

นี่คือสิ่งที่เราควรที่จะช่วยเหลือกัน

ช่วยเหลือให้พึ่งตนเองได้

 อย่าช่วยเหลือแบบให้เขา

ต้องมาพึ่งเราตลอดเวลา

 ยกเว้นในกรณีฉุกเฉิน

เช่นเวลาเกิดไฟไหม้เกิดน้ำท่วม

 เราก็ต้องหาข้าวหาอาหาร

หาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ

 ไปบริจาคไปช่วยเหลือกัน

แต่นั่นเป็นการทำเฉพาะกิจเท่านั้น

 พอเหตุการณ์ที่เสียหายผ่านไปแล้ว

ก็มาหาวิธีช่วยให้เขา

ได้ก่อร่างสร้างตัวของเขาต่อไป

 ไม่ใช่จะเอาอาหารเอาเครื่องใช้ไม้สอย

มาให้ตลอดเวลา ก็ต้องหาบ้านให้เขาอยู่

ให้เขาหางานให้เขาทำ

เพื่อเขาจะได้พึ่งตนเองได้ต่อไป

 นี่คือความกรุณา ความสงสาร

ถ้าผู้อื่นเขาตกทุกข์ได้ยากเดือดร้อน

 เขาต้องการความช่วยเหลือ

เราพอจะช่วยเหลือกันได้

ก็ควรจะช่วยเหลือ

 เพราะถือว่าเป็นการทำบุญ

เป็นการสร้างมิตรภาพ

เป็นการสร้างเมตตาไปด้วย

 แล้วเราจะมีความสุข

ดีกว่า เอาเงินทองไปเที่ยว

ไปกินไปเล่นกัน กินเที่ยวเล่นเสร็จแล้ว

ความสุขนั่นก็หายไป

ไม่เหมือนกับความสุขที่เราได้

จากการไปช่วยเหลือผู้อื่น

ช่วยเหลือเขาแล้ว

ทำให้เรามีความสุขใจอิ่มใจ

 เวลาคิดถึงการช่วยเหลือที่เรา

 ให้กับเขาแม้จะผ่านไปแล้ว

คิดทีไรเราก็จะมีความสุขใจทุกที

ไม่เหมือนกับการไปเที่ยว

ไปเที่ยวแล้วก็จะทำให้เรา

คิดถึงการไปเที่ยวอีก

ก็จะทำให้เราอยากเราหิว

อยากจะไปเที่ยวอีก

 แทนที่จะมีความสุขใจอิ่มใจ

กลับมีความหิวความอยากขึ้นมา

ดังนั้นขอให้เราใช้เงิน

ไปในทางที่ทำให้เราเกิดความสุขใจอิ่มใจ

ดีกว่าการใช้เงินไปแล้วทำให้เกิดความหิว

ความอยากได้เท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ

 นี่คือคุณธรรมข้อที่ ๒ คือความกรุณา

คุณธรรมข้อที่ ๓.

 มุทิตาก็คือให้เรามีความยินดี

กับความสุขกับความเจริญของผู้อื่น

 เวลาเพื่อนเราเขาได้ดิบได้ดี

ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ดิบได้ดีไปกับเขา

เราก็อย่าไปอิจฉาริษยา

 เพราะถ้าเราอิจฉาริษยา

 เราจะคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

แต่ถ้าเรามีมุทิตา มีความชื่นชมยินดี

 ดีใจไปกับความสุขความเจริญของเขา

 เราก็จะมีความสุข

แล้วเราก็จะคิดดี พูดดี ทำดี

อันนี้ขอให้เราคิดว่า

ความสุขความเจริญของคนเรานี้

มันเป็นผลที่เกิดจากการกระทำต่างๆ ของเขา

 เขาได้ดิบได้ดีก็เพราะว่าเขาได้ทำอะไรมา

จึงทำให้เขาได้ดิบได้ดี

 เรายังไม่ได้ดิบได้ดีก็เพราะว่าเรายังไม่ได้ทำ

หรือทำไม่พอ หรือทำแล้วแต่ยังไม่มีเวลา

ให้มันออกดอกออกผล

 เราก็ต้องใจเย็นๆ รอไปก่อน

 ใครได้ดิบได้ดีก็ถือว่า

เป็นอานิสงส์ของการกระทำของเขาในอดีต

 ทำให้เขาได้รับความสุขความเจริญ

ถ้าเรายังไม่ได้รับความสุขความเจริญ

เหมือนกับเขาก็ขอ

ให้เราทำความดีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 แล้วเดี๋ยวไม่ช้าก็เร็ว

 ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับเรา

 ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะไม่รู้สึกอิจฉาริษยา

หรือรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ

 เพราะเราต้องยอมรับกฎแห่งกรรม

ว่าใครทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว

จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น

อันนี้คือ มุทิตา

 ขอให้เราชื่นชมยินดีกับความสุข

ความเจริญความก้าวหน้าของผู้อื่น

 อย่าอิจฉาริษยา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ

 เพราะจะทำให้เราไม่สบายใจ

แล้วจะทำให้เราคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี

 แล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์เกิดปัญหาต่างๆ

 ตามมาต่อไป

คุณธรรมข้อสุดท้ายคืออุเบกขา

 อุเบกขาก็คือการฝึกใจ

ให้ปล่อยวางให้ “สักแต่ว่ารู้”

ให้รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ว่าจะดีหรือจะชั่ว

 บางทีมันก็ไม่อยู่ในการควบคุมบังคับของเรา

 เราเห็นคนที่เรารักต้องรับทุกข์

 เช่นเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย

 เราจะไปทุกข์ไปอยากให้เขาหาย

 มันก็ไม่หาย เราก็จะทุกข์ไปเปล่าๆ

 เราก็ต้องหัดทำใจให้เป็นอุเบกขา

คือยอมรับสภาพของเขา

หรือยอมรับสภาพของเรา

ว่ามันเป็นวิบากของเรา

เราเคยทำบุญทำบาปมา พอถึงเวลา

ก็เลยต้องมารับผลบุญผลบาป

ที่ไม่มีใครที่จะมายับยั้งหักห้ามได้

หรือเวลาที่เราไปพบกับเหตุการณ์ต่างๆ

หรือบุคคลต่างๆ ที่ทำให้เราไม่สบายใจ

ก็ขอให้เรามีอุเบกขาคือทำใจเฉยๆ

 อย่าไปรัก อย่าไปชัง

อย่าไปกลัว อย่าไปหลง

 วิธีที่ไม่รักไม่ชังไม่กลัวไม่หลง

ก็ขอให้เราคิดแบบที่พระพุทธเจ้า

ทรงสอนให้คิดว่า

 ถ้าเขาไม่ชอบเราก็ให้คิดว่าดีแล้ว

เขายังไม่ด่าเรา ถ้าเขาด่าเราก็ให้คิดว่า

ดีแล้วเขายังไม่ตีเรา

ถ้าเขาตีเราก็ให้คิดว่า

ดีแล้วเขายังไม่ฆ่าเรา

 ถ้าเขาฆ่าเราก็คิดว่าดีแล้ว

ถือว่าเป็นการใช้เวรใช้กรรมกันไป

 หมดเวรหมดกรรมกันไป

และยังไงเราก็ต้องตายอยู่ดี

อยู่ไปแบบมีเวรกันมันอยู่ไม่มีความสุข

สู้ยอมใช้เวรใช้กรรมกัน

ให้มันหมดไปดีกว่า

 แล้วต่อไปจะได้ไม่มีเวรมีกรรมกันอีก

นี่คือวิธีคิดที่จะทำให้เราปล่อยวาง

ทำใจให้เฉยๆได้

 ไม่ตอบโต้ไม่ต่อสู้ ไม่ทำร้ายผู้อื่น

เพื่อปกป้องภัยอันตรายต่างๆ

ที่จะเกิดขึ้นกับเรา

 เพราะถ้าเราไปทำร้ายผู้อื่น

 มันก็จะไปสร้างเวรสร้างกรรมกันต่อไป

ไม่มีวันจบสิ้น

 ดังนั้นขอให้เราหัดฝึกทำใจให้เป็นอุเบกขา

วิธีที่จะทำใจให้เป็นอุเบกขาได้อย่างแท้จริง

ก็คือการนั่งสมาธิ เจริญสติพุทโธๆ

ควบคุมความคิดควบคุมอารมณ์ต่างๆ

 แล้วใจเราจะเฉย

 เวลาเกิดอารมณ์ไม่ดีเราก็ใช้พุทโธๆไป

 เดี๋ยวอารมณ์ไม่ดีหายไป

 ใจเราก็เย็นสงบสบาย

 ก็จะไม่ต้องพูดไม่ต้องทำอะไรที่ไม่ดี

นี่คือคุณธรรม ๔ ประการ

ที่จะทำให้เราเป็นคนดี

 เพราะว่าคนดีก็คือ

คนที่คิดดี พูดดี ทำดีนั่นเอง

 คนที่จะคิดดี พูดดี ทำดีได้

ก็จะต้องมีความเมตตา มีกรุณา

มุทิตาและมีอุเบกขานี่เอง

 จึงขอฝากเรื่องคุณธรรมความดี

ทั้ง ๔ ประการนี้

ให้ท่านได้นำเอาไปพินิจพิจารณา

และนำเอาไปปฏิบัติ

เพื่อสร้างความสุขและความเจริญ

ให้กับตัวเราและกับเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

ธรรมะในศาลา วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๙

“พรหมวิหาร ๔”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 31 ตุลาคม 2559
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2559 5:57:44 น.
Counter : 773 Pageviews.

0 comment
### ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ###















“ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

การจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

 ก็ต้องใช้กับการดับความทุกข์ภายในใจ

ใช้กับการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา

ถ้ามีความสามารถมากหรือมีบุญมาก

สามารถหาทรัพย์หรือมีทรัพย์มาก

เกินความจำเป็น ก็อย่าเอาไปใช้

กับการเลี้ยงดูกิเลสตัณหา

ให้เอามาใช้เพื่อดับความทุกข์ภายในใจ

ด้วยการทำทาน ทำให้เต็มที่ไปเลย

ทำอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำ

 พระพุทธเจ้าทรงสละพระราชสมบัติ

 นี่เรียกว่าทำทานอย่างเต็มที่

 ตอนที่ทรงออกจากพระราชวัง

ไม่มีสมบัติติดตามพระองค์ไป

แม้แต่ชิ้นเดียว

 นอกจากเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ทรงสวมใส่อยู่

 ตอนที่ออกไปก็พบกับขอทาน

 ที่อยากจะได้เสื้อผ้าอาภรณ์

ที่พระองค์สวมใส่ ก็เลยขอแลกเปลี่ยน

 พระองค์ก็ยินดีสละ ยินดีแลกเปลี่ยน

 เอาเสื้อผ้าอาภรณ์ของขอทาน มาสวมใส่

 สละเสื้อผ้าอาภรณ์ของพระราชโอรสไป

 นี่แหละคือการกระทำที่จะผลักดัน

ให้ได้ตรัสรู้

 เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

การกระทำของขอทาน

 เป็นการกระทำเพื่อให้

เวียนว่ายตายเกิดต่อไป

 เพราะการกระทำของขอทานนี้

ทำด้วยความโลภ

อยากได้ของสวยๆงามๆ

 เพราะความโง่

ไม่รู้ว่าการกระทำอย่างนั้น

 เป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหา

 เป็นการส่งเสริมภพชาติให้มีมากขึ้นไป

 แต่พระพุทธเจ้าทรงเป็นนักปราชญ์

เป็นคนฉลาด ทรงเห็นว่า

การสละเสื้อผ้าอาภรณ์อันสวยงาม

 เป็นการตัดภพตัดชาติ ตัดกิเลสตัณหา

ให้น้อยลงไป ไม่ทรงยึดติด

กับของสวยๆงามๆ ของราคาแพงๆ

 ทรงใช้ด้วยเหตุด้วยผล ตามความจำเป็น

 ตามความต้องการของร่างกายเท่านั้น

เป็นการกระทำที่พวกเรา

ควรยึดเป็นตัวอย่าง

 พวกเราเป็นชาวพุทธ

มีพุทธัง สรณัง คัจฉามิ

 มีสังฆัง สรณัง คัจฉามิ

 แล้วการปฏิบัติของเรานี้

 เป็นไปตามพระพุทธพระสงฆ์หรือเปล่า

 หรือสวนกัน ปากก็ว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

 สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

 แต่การกระทำนี้ เป็นไปในทางเดียวกับ

การพูดของเราหรือเปล่า

ถ้าเราถือพระพุทธเจ้า

ถือพระอริยสงฆ์สาวกเป็นสรณะ

การกระทำของเรา

ก็ต้องไปในทางเดียวกัน

 คือทางแห่งความเรียบง่าย

 มักน้อยสันโดษ

มักน้อยก็คือเอาเท่าที่จำเป็น

 ไม่ต้องการมากไปกว่าความจำเป็น

 ถ้าไม่ได้ตามเท่าที่จำเป็น ก็เอาเท่าที่ได้

 คือยินดีตามมีตามเกิด เรียกว่าสันโดษ

ถ้าได้น้อยกว่าความจำเป็น

ก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ให้คิดอย่างนี้

ถ้าไม่ได้เลยก็แล้วไป

ถ้าจะต้องตายไปก็ตายด้วย

การฆ่ากิเลสความมักมาก จะไม่ขาดทุน

 เพราะความทุกข์ภายในใจจะมีน้อยลงไป

 แต่ถ้าตายด้วยความโลภมาก อยากได้มาก

จะตายแบบขาดทุน

เพราะจะมีความทุกข์เพิ่มมากขึ้น

นี่คือเรื่องของการปฏิบัติของพวกเรา

 ที่ควรพิจารณาอยู่เนืองๆ

ควรถามตัวเองว่าวันเวลาผ่านไป ผ่านไป

 เรากำลังทำอะไรอยู่

 เพราะเวลาเป็นเหมือนงู

ที่ค่อยๆเขมือบเหยื่อ

เข้าไปทีละเล็กทีละน้อย

 เวลาก็ค่อยๆกลืนกิน

สรรพสิ่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย

ไปทีละเล็กทีละน้อย

ชีวิตของเราตอนนี้ก็ถูกเวลา

ค่อยๆเขมือบไปทีละเล็กทีละน้อย

 ตอนนี้ถึงท้องถึงหน้าอกถึงศีรษะ

หรือถึงที่ไหนแล้ว ควรพิจารณาดู

อย่าไปคิดว่าเราอยู่อย่างยาวนาน

ขอให้คิดว่าเราได้ไปหาหมอมา

แล้วหมอก็บอกว่าเป็นโรคร้าย

 มีเวลาเหลือไม่มากแล้ว รักษาไม่ได้แล้ว

นอกจากเตรียมตัวเตรียมใจ

เตรียมทำสิ่งที่ควรจะทำ

 ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะทำบุญกัน

เวลาเข้าโรงพยาบาลนี้

จะถวายผ้าบังสุกุลกัน

หรือเวลาตายไปแล้ว

 ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับผู้ตาย

ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือผู้ที่ทำให้ผู้ตาย

 แต่ผู้ตายไม่ได้รับประโยชน์

 เพราะไม่ได้ทำ

ประโยชน์จะเกิดกับผู้กระทำ

ไม่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น

ถ้าจะได้ก็ได้เพียงบุญอุทิศ

ซึ่งถ้าเรามีบุญอยู่แล้ว

 ก็ไม่เกิดประโยชน์อยู่ดี

เพราะบุญอุทิศเป็นเหมือนเงินที่ให้ขอทาน

 ถ้าเรามีเงินติดตัวไป

เราก็จะมีเงินใช้ค่าใช้จ่ายต่างๆ

เงินที่อุทิศก็จะไม่มีความหมายอะไร

 เพราะเป็นจำนวนน้อยมาก

 นอกจากว่าไม่มีเงินติดตัวไปเลย

 ต้องไปขอข้าวเขากินเป็นเหมือนขอทาน

 ถ้าอย่างนั้นบุญอุทิศก็จะเป็นประโยชน์บ้าง

 อย่างน้อยก็ช่วยให้มีเงิน

ซื้อข้าวกินไปเป็นระยะๆ

ดังที่หลวงตาสอนอยู่เรื่อยๆว่า

 ตอนเราตายแล้วอย่ามากุสลาให้เรา

 เพราะคำว่ากุสลาก็คือความฉลาด

 ให้สร้างความฉลาดในขณะที่มีชีวิตอยู่

ความฉลาดก็คือปัญญา

การที่จะเกิดปัญญาได้

 ก็ต้องเกิดจากทานศีลภาวนา

ต้องทำทานก่อนแล้วก็รักษาศีล

แล้วก็เจริญสมถภาวนา

แล้วถึงมาเจริญวิปัสสนาภาวนา

ถึงจะได้กุศลคือความฉลาด

 ความฉลาดก็คือการมีดวงตาเห็นธรรม

 เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เห็นอริยสัจ ๔

 เห็นทุกข์สมุทัยนิโรธมรรคภายในใจ

ไม่ใช่เห็นภายนอก เช่นเห็นในหนังสือ

 หรือเห็นจากการได้ยินได้ฟัง

 อย่างที่ได้ยินได้ฟังในขณะนี้

อย่างนี้ยังไม่ได้เห็นอย่างแท้จริง

จะต้องเห็นภายในใจ

เห็นเวลาเกิดความทุกข์ใจ

เศร้าโศกเสียใจ ว่าเกิดจากความอยาก

 แล้วก็เห็นการดับ

ของความเศร้าโศกเสียใจด้วยปัญญา

 ที่เห็นว่าสิ่งที่เราเศร้าโศกเสียใจนี้

เป็นเรื่องธรรมดา

ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดแล้ว

ต้องมีดับไปเป็นธรรมดา

เศร้าโศกเสียใจไป

ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

 ไม่ทำให้สิ่งที่ดับไปกลับคืนมา

พอเห็นอย่างนี้ก็จะหยุดความอยาก

ให้สิ่งที่ดับไปกลับมาอีก

 ความเศร้าโศกเสียใจก็จะหายไป

นี่คือการเห็นธรรม นี่คือกุสลา ธัมมา

ที่ให้ปฏิบัติกันก็เพื่อให้มาถึงจุดนี้

ให้มาเห็นอริยสัจ ๔ เห็นว่าความทุกข์ใจ

 ความไม่สบายใจ เกิดจากความอยาก

 อยากจะให้สิ่งที่เกิดแล้วไม่ดับ

ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสิ่งที่เกิดแล้ว

ต้องดับไปเป็นธรรมดา

 สิ่งที่เกิดแล้วดับไม่ใช่ตัวเรา

 ไม่ใช่ของเรา นี่คือกุสลา ธัมมา

ต้องทำตอนที่ยังมีชีวิตอยู่

 เช่นตอนนี้พวกเราก็กำลังมาทำ

 กุสลา ธัมมากัน

 ในเบื้องต้นก็ต้องฟังก่อน

เรียกว่าสุตมยปัญญา

 การฟังธรรมะจะทำให้เกิดปัญญา

 ความรู้ความฉลาด เป็นกุศลอันดับที่ ๑

ที่จะนำไปสู่กุสลาอันดับที่ ๒

และที่ ๓ ต่อไป

 กุสลาอันดับที่ ๒ ก็คือจินตามยปัญญา

 ก็คือการพินิจใคร่ครวญอยู่เรื่อยๆว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวเราของเรา

ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติด

ต้องไม่อยากให้เขา

เป็นตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

 คือต้องไม่อยากให้เขาเที่ยง

ไม่อยากให้เขาให้ความสุขกับเรา

 ไม่อยากให้เขาเป็นของเรา

 เพราะเป็นไปไม่ได้

ใคร่ครวญพิจารณาไปเรื่อยๆ

เป็นการเตือนใจสอนใจ

ไว้รับกับเหตุการณ์จริงที่จะเกิดขึ้น

 เรียกว่าจินตามยปัญญา

ปัญญาขั้นที่ ๑ และ ๒

 ยังไม่ใช่กุสลาที่แท้จริง

กุสลาที่แท้จริงจะเกิดในขณะที่

ได้เผชิญกับความจริง

เผชิญกับการดับ

ของสิ่งที่เราไม่ต้องการให้ดับ

 เกิดความทุกข์ขึ้นมา

อย่างรุนแรงภายในจิตใจ

 แล้วก็ใช้สติปัญญา

ที่ได้ฝึกได้ซ้อมมาจากการได้ยินได้ฟัง

และจากการใคร่ครวญ

พินิจพิจารณาอยู่อย่างเนืองๆนี้

มาใช้กับเหตุการณ์จริง

มาสอนใจให้ยอมรับความจริงว่า

 สิ่งใดที่เกิดแล้วย่อมมีการดับไป

เป็นธรรมดา

 พอใจยอมรับได้แล้ว

ก็จะหยุดความอยาก

ที่จะให้สิ่งที่ดับไปนั้นกลับคืนมา

 พอรับความจริงได้

 ความเศร้าโศกเสียใจ

ความทุกข์ใจที่รุนแรงก็จะหายไป

จะรู้ขึ้นมาภายในใจว่า รู้แล้วหนอ

ฉลาดแล้วหนอ เข้าใจแล้วหนอ

ในคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

ว่าธรรมทั้งหลายมีเกิดย่อมมีดับ

เป็นธรรมดา

 ธรรมทั้งหลายเป็นทุกข์

ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวเราไม่ใช่ของเรา

 นี่คือกุสลา ที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ

ในขณะที่มีชีวิตอยู่

แต่ก็ต้องเริ่มที่การให้ทาน

 ถ้าให้มากก็จะมีเวลาปฏิบัติมาก

ถ้าให้น้อยก็แสดงว่ายังมีความผูกพัน

 กับการใช้เงินกับการหาเงินอยู่

เวลาที่จะปฏิบัติก็จะมีไม่มาก

ถ้าอยากจะมีเวลาปฏิบัติอย่างเต็มที่

 ก็ต้องให้อย่างเต็มที่

ไม่ใช้เงินใช้ทองไม่หาเงินหาทอง

 หาแต่ธรรมะเพียงอย่างเดียว

 นี่คือการสร้างประโยชน์ให้กับเรา

พอจิตใจหลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว

ก็สามารถสอนให้คนอื่นหลุดพ้นตามได้

อย่างไม่มีจำนวนจำกัด

 มีเวลาที่จะเป็นตัวจำกัดว่า

จะสอนได้มากน้อยเพียงไร

อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนวันละ ๔ รอบ

รอบบ่ายก็สอนฆราวาสญาติโยม

 รอบค่ำก็สอนพระภิกษุสามเณร

รอบดึกก็สอนเทวดา

ตอนเช้ามืดก่อนที่จะทรงออกบิณฑบาต

ก็ทรงเล็งญาณดูว่า

จะไปสอนให้กับผู้ใด

เป็นกรณีพิเศษในวันนั้น

นี่คือการทำหน้าที่ทำประโยชน์

ให้กับผู้อื่นของพระพุทธเจ้า

หลังจากที่ได้ทรงทำประโยชน์ของพระองค์

ได้สำเร็จเรียบร้อยไปแล้ว

ทรงทำอยู่ถึง ๔๕ ปีด้วยกัน

ประโยชน์ของพระองค์ใช้เวลาเพียง ๖ ปี

 เพราะฉะนั้นอย่าหวั่นไหว

เวลาถูกว่าเห็นแก่ตัว

 เวลาเราออกไปปฏิบัติ

 ไปทำประโยชน์ให้กับตัวเรา

 เพราะหลังจากที่เราทำประโยชน์

ของเราเสร็จแล้ว

 เราจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้มากกว่า

 เพราะประโยชน์ที่เราทำให้กับผู้อื่น

ในขณะนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์ที่แท้จริง

 เป็นประโยชน์ชั่วคราว

 เช่นช่วยเหลือให้ร่างกายของผู้อื่น

ให้อยู่ต่อไป

ไม่ตายไปก่อนเวลาอันสมควร

หรือไม่เช่นนั้น

ก็จะไปสร้างโทษให้แก่ผู้อื่น

 ด้วยการทำประโยชน์

ให้แก่กิเลสตัณหาของผู้อื่น

 จึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลืออย่างแท้จริง

เพราะไม่ได้ช่วยทำให้จิตใจ

มีความทุกข์น้อยลงไป

มีภพชาติน้อยลงไป

 กลับส่งเสริมให้มีภพชาติเพิ่มมากขึ้นไป

ดังนั้นถ้าช่วยเหลือคนนั้นคนนี้ในตอนนี้

 จะไม่ได้ช่วยให้เขา

ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

 ถ้าช่วยทางร่างกาย

ก็จะได้ประโยชน์เพียงชั่วคราว

 ร่างกายจะได้อยู่รับความทุกข์ต่อไปอีก

 ถ้าไปช่วยกิเลสตัณหาของเขา

 ก็ยิ่งทำให้เขามีความทุกข์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

 เช่นไม่กล้าทิ้งสามี ไม่กล้าทิ้งภรรยา

 เพราะกลัวเขาจะเหงา อยู่คนเดียวไม่ได้

 อย่างนี้เป็นการช่วยสร้างความทุกข์

ให้กับใจของเขา

ไม่ได้ช่วยให้ทุกข์ของเขาน้อยลงไป

 ถ้าเราจากเขาไปในวันนี้

 เขาก็จะต้องทำใจ อยู่คนเดียว

ถ้าอยู่คนเดียวได้

ก็จะมีความทุกข์น้อยกว่า

เวลาอยู่กับคู่ครอง

 เพราะว่าเวลามีคู่ครองก็จะเกิดความอยาก

 เวลาไม่ได้ทำตามความอยาก

ก็จะเกิดความว้าเหว่เศร้าสร้อยหงอยเหงา

 เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

 แต่ถ้าต้องอยู่คนเดียว

ก็ต้องทำใจให้สงบ

 พอทำใจให้สงบได้

ความเศร้าสร้อยหงอยเหงา

ว้าเหว่ก็จะไม่เกิด

 การจากไปของเรา

กลับเป็นประโยชน์กับเขาเสียอีก

 ถ้าเขามีปัญญา

คือถ้าสูญเสียคนที่รักไป

 แล้วก็ไม่หาแฟนใหม่

เพราะเห็นโทษของการมีแฟนมีคู่รัก

 ว่ามีทุกข์มากกว่าสุข

จะเข็ดหลาบไม่กล้ามีคนใหม่

 แล้วก็จะน้อมเอาคำสอน

ของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ ทำใจให้สงบ

เจริญอสุภกรรมฐาน

เพื่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในร่างกาย

จะได้ดับราคะตัณหา

อยู่คนเดียวได้เป็นโสดได้

การจากไปของเรานี้

กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเขา

 เพราะถ้าไม่จากเขาไป ก็จะไม่มีเหตุ

ให้เขาต้องแก้ปัญหา ดังที่มีคำพูดว่า

 ทุกข์บ่มี ปัญญาบ่เกิด

ถ้าไม่มีความทุกข์

ก็จะไม่ใช้สติปัญญามาแก้

พอมีความทุกข์ก็จะต้องใช้ปัญญา

เพราะปัญญาจะเป็นผู้ดับ

ความทุกข์ภายในใจ

 ปัญญาที่เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตานี่แหละ

 ที่เห็นว่ามีเกิดย่อมมีดับไปเป็นธรรมดา

ถ้าไปยึดไปติดกับสิ่งที่มีเกิดมีดับ

ก็จะต้องทุกข์ให้คิดอย่างนี้

 แล้วก็จะทำแบบพระพุทธเจ้าได้

 พระพุทธเจ้าทรงคิดอย่างนี้

ทรงคิดว่าตอนที่พระองค์จากเขาไป

จะได้ทุกข์ใจกัน จะได้ทำใจกัน

 หลังจากที่พระองค์ได้บรรลุแล้ว

 ก็ทรงกลับมาช่วยเหลือเขา

เพื่อให้เขาได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

 มีพระญาติออกบวช

ตามพระพุทธเจ้าหลายพระองค์

 ลูกก็ได้บวชเป็นพระอรหันต์

แม่เลี้ยงก็ได้บวช พ่อก็ได้บรรลุธรรม

 นี่แหละคือการทำประโยชน์

ของตนและของผู้อื่น

 ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

เริ่มที่ความไม่ประมาทนี้

ต้องสมมุติว่า

เราได้ไปหาหมอมาเมื่อวานนี้

 แล้วหมอบอกว่าจะต้องตายวันนี้พรุ่งนี้

อย่างวันนี้หมอคนนี้ก็ได้บอกแล้วว่า

 พวกคุณอาจจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้

 เพราะไม่มีใครรับรองได้ ถ้าคิดอย่างนี้

จะได้รีบทำประโยชน์ของตน

 เพราะโอกาสที่จะได้ทำประโยชน์อย่างนี้

 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.........................

กัณฑ์ที่ ๔๕๑ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖

 (จุลธรรมนำใจ ๓๒)

“ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 30 ตุลาคม 2559
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2559 6:07:32 น.
Counter : 708 Pageviews.

0 comment
### ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ###











“ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง”

ร่างกายของพวกเราเป็นของไม่เที่ยง

 มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตายเป็นธรรมดา

จงยังประโยชน์ของตนและของผู้อื่น

 ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด

 นี่เป็นพระปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า

 ที่ทรงตรัสไว้ ก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไป

 ทรงมีความห่วงใยพวกเราเป็นอย่างมาก

ที่อาจจะไม่ค่อยได้คิดถึง ความจริงข้อนี้

ความจริงที่ว่าชีวิตของพวกเรานี้

 ไม่เที่ยงแท้แน่นอน

จะหมดไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

 และจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน

 เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น

จึงไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท

 ไม่ควรคิดว่าจะอยู่ไปนานๆ

เพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่

 จึงควรคิดตรงกันข้าม

 ควรคิดว่าอาจจะอยู่ไปไม่นาน

 จะได้ถือว่าไม่ประมาท

 ถ้าคิดว่าจะอยู่นานก็ถือว่าประมาท

ถ้าคิดว่าอาจจะไปวันนี้หรือพรุ่งนี้

จะได้รีบจัดการกับสิ่งที่ควรจะจัดการ

รีบจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ

ว่าสิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนไม่สำคัญ

 ไม่มีอะไรที่จะสำคัญกว่าการปฏิบัติธรรม

 เพื่อให้เกิดประโยชน์กับตนก่อน

ให้ตนได้หลุดพ้นจากความทุกข์

หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดก่อน

 แล้วค่อยทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นต่อไป

 ถ้ามัวแต่ไปทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น

 ไม่ทำประโยชน์ให้กับตน

 ตนจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร

 ประโยชน์ของตนจึงต้องมาก่อน

ประโยชน์ของตนก็คือประโยชน์ของใจนี่เอง

ต้องมาก่อนประโยชน์ของร่างกาย

และของกิเลสตัณหา

ร่างกายเป็นเครื่องมือ

ที่จะทำประโยชน์ให้กับใจก็ได้

ให้กับกิเลสตัณหาก็ได้

ถ้าเอาร่างกายมาทำประโยชน์

ให้กับกิเลสตัณหา ก็จะสร้างความทุกข์

ให้มีเพิ่มมากขึ้นไป

ไม่ได้ทำให้ความทุกข์ภายในใจลดน้อยลงไป

 หรือหมดไป

แต่ถ้าเอาร่างกายมาทำประโยชน์ให้กับใจ

ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล

 ด้วยการภาวนา ก็จะทำประโยชน์ให้กับใจ

ได้อย่างเต็มที่

 ในเวลาไม่กี่ปีถ้าตั้งใจทำจริงๆ

พระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองไว้แล้วว่า

ผู้ใดปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนได้

ไม่เกิน ๗ ปีก็จะสำเร็จ ได้บรรลุธรรม

มีผู้ปฏิบัติตามพระพุทธเจ้า มาเป็นจำนวนมาก

ที่ได้สำเร็จประโยชน์

ภายในเวลาที่ได้ทรงกล่าวไว้

 ถ้าไม่บรรลุธรรมภายใน ๗ ปี

ก็ต้องบรรลุภายในชาตินี้อย่างแน่นอน

นี้คือเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

 คือการทำประโยชน์ให้แก่ใจก่อน

ส่วนประโยชน์ของกิเลสตัณหานั้น

 เป็นประโยชน์ปลอม

 ไม่เป็นประโยชน์กับใจเลย

เป็นการเพิ่มความทุกข์ให้มีมากขึ้นภายในใจ

ถ้ายังแสวงหาประโยชน์

 ทางลาภยศสรรเสริญ

 ความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกายอยู่

ก็แสดงว่ากำลังทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา

 กำลังทำโทษใจ เพิ่มความทุกข์ภายในใจ

 เพิ่มการเวียนว่ายตายเกิดให้มีมากขึ้นไป

 นี่คือเรื่องของพวกเรา อยู่ตรงนี้

การกระทำของพวกเราก็แบ่งเป็น ๓ ส่วน

ส่วนที่ ๑ ก็ทำให้ร่างกาย ที่จำเป็นจะต้องดูแล

 เพราะร่างกายเป็นเครื่องมือ

ที่เราใช้ทำประโยชน์ ให้กับใจ

หรือให้กับกิเลสตัณหา

 ส่วนที่ ๒ ก็ทำให้กับกิเลสตัณหา

 ส่วนที่ ๓ ก็ทำให้กับใจ

ถ้าได้ศึกษาพระธรรมคำสอนแล้ว

ก็จะรู้ว่าควรทำเพียง ๒ ส่วน

คือทำให้ร่างกายและทำให้ใจ

ไม่ควรทำให้กิเลสตัณหา

 ไม่ควรแสวงหาลาภยศสรรเสริญ

 หาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย

แต่ควรแสวงหาความดับทุกข์ใจ

ด้วยการทำทาน รักษาศีล

 ด้วยการภาวนา ส่วนการดูแลร่างกาย

 ก็ดูตามอัตภาพ ตามความจำเป็น

 ด้วยความมักน้อยสันโดษ

 ไม่ควรเสียเวลาดูแลร่างกายแบบหรูหรา

เกินเหตุเกินผล ร่างกายต้องการเพียงปัจจัย ๔

 ที่ไม่ต้องวิเศษหรูหราแต่อย่างใด

 ให้ทำหน้าที่ดูแลรักษาร่างกาย

ให้อยู่อย่างปกติสุขก็พอแล้ว

 วิถีชีวิตของพระพุทธเจ้าที่ทรงดำเนินนี้

 เป็นแบบฉบับ เป็นตัวอย่าง

ของการดูแลร่างกายแบบพอดี

แบบเรียบง่าย แบบมักน้อยสันโดษ

ทรงหาอาหารด้วยการบิณฑบาต

 ได้มากน้อยก็ทรงเสวยเพียงมื้อเดียว

 อาหารที่เหลือก็ทรงสละไป ไม่ทรงเก็บเอาไว้

 ที่อยู่อาศัยก็ทรงประทับในป่าในเขาเป็นหลัก

อยู่ตามโคนไม้ ตามเพิง ตามถ้ำ ตามเงื้อมผา

 ตามเรือนร้าง นี้คือที่อยู่อาศัย

ของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันต์

เครื่องนุ่งห่มก็ทรงใช้ผ้าบังสุกุล

 ผ้าที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า ผ้าที่ใช้ห่อศพ

หรือผ้าที่ทิ้งไว้ตามกองขยะ

ไม่มีใครต้องการแล้ว

 ทรงเก็บผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมารวบรวมเอาไว้

พอได้จำนวนพอกับการเย็บให้เป็นผืน

ก็ทรงเย็บ เสร็จแล้วก็ย้อมด้วยน้ำ

ที่ต้มกับแก่นไม้ เช่นแก่นขนุน

นี่คือเครื่องนุ่งห่ม

ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์

ในยุคบุกเบิก ในยุคที่ไม่ได้ทรงสอน

ให้ญาติโยมถวายผ้ากฐิน

 ต้องใช้ผ้าป่าที่เรียกว่าผ้าบังสุกุล

 ผ้าป่าก็คือผ้าที่ได้จากป่าช้า

ส่วนยารักษาโรค ก็รักษาด้วยสมุนไพร

หรือดื่มยาดองน้ำมูตร

 ก็พอที่จะดูแลรักษาร่างกาย

 ให้อยู่ไปจนถึงเวลาอันควร

นี่คือวิถีชีวิตของผู้ที่ต้องการหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิด

ผู้ที่ต้องการดับทุกข์ที่มีอยู่ภายในใจ

 ถ้ามัวแต่ไปวุ่นวายกับการแสวงหา

ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้าอาภรณ์ อาหาร

ยารักษาโรคอันประณีตอันหรูหรา

ก็จะเสียเวลาอันมีค่าไป

เพราะจะต้องใช้เวลามาก

เวลาที่จะเอามาใช้กับการปฏิบัติจะมีน้อย

 แทนที่จะเอื้อประโยชน์ส่งเสริมการปฏิบัติ

กลับเป็นอุปสรรคของการปฏิบัติ

ขอให้พวกเราพิจารณาดู

 ว่าการอยู่การรับประทานของพวกเรานี้

 อยู่แบบไหน อยู่แบบพระพุทธเจ้า

 อยู่แบบพระอรหันตสาวก

 หรืออยู่แบบมหาเศรษฐี

อยู่แบบราชามหากษัตริย์

ถ้าอยู่แบบมหาเศรษฐี

อยู่แบบราชามหากษัตริย์

 ก็อยู่เพื่อกิเลสตัณหานี้เอง

 เป็นการทำประโยชน์ ๒ ส่วนไปพร้อมๆกัน

คือ ทำประโยชน์ให้กับร่างกาย

 และทำประโยชน์ให้กับกิเลสตัณหา

ควบคู่กันไป

เช่นบ้าน ก็ต้องใหญ่โตมโหฬาร

ราคาเป็น ๑๐ เป็น ๑๐๐ ล้าน

เสื้อผ้าอาภรณ์ก็ต้องประดับเพชรประดับพลอย

 ต้องออกแบบจากนักออกแบบมีชื่อเสียง

 ตัดชุดละหมื่นชุดละแสน

 อาหารก็ต้องอาหารที่วิเศษ

 อาหารที่ขายในร้านอาหารที่มีชื่อเสียง

 มีราคาแพงๆ ยารักษาโรค

ก็ต้องรักษาด้วยยาที่มีราคาแพงๆ

 รักษาตามโรงพยาบาล ที่มีราคาแพงๆ

ถ้าอยู่แบบนี้ก็จะต้องเสียเวลา

กับการหาเงินหาทอง เพื่อมาใช้จ่าย

กับการเลี้ยงดูร่างกาย

จะต้องยุ่งกับการหาเงินหาทอง

จนไม่มีเวลาที่จะมาทำประโยชน์ให้กับใจ

 เพราะทานก็ไม่อยากจะทำ

เพราะจะต้องทุ่มรายได้ทั้งหมดที่ได้มา

ไปกับการดูแลรักษาร่างกายแบบหรูหรานั่นเอง

นอกจากดูแลร่างกายแล้ว

 ถ้ามีเงินเหลือก็เอาไปดูแลกิเลสตัณหาต่อไป

ซื้อของฟุ่มเฟือยต่างๆ

เสื้อผ้าอาภรณ์มีพอใช้แล้วก็ยังไม่หยุดซื้อ

 ได้รับประทานอาหารอันเลิศหรู

แล้วก็ยังไม่พอ ต้องหาความสุขจากสิ่งอื่นต่อ

 ต้องหาความสุขจากรูปเสียง

ไปดูไปฟังการแสดงต่างๆ

 ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

 อย่างนี้เป็นการกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์

 กับกิเลสตัณหา แล้วก็จะเกิดความทุกข์

เกิดโทษกับจิตใจ เพราะกิเลสตัณหา

 เป็นเหมือนเชื้อโรคของใจ

ถ้าร่างกายได้รับการส่งเสริม

ให้มีเชื้อโรคมากขึ้น

โรคภัยไข้เจ็บในร่างกาย

ก็ต้องมีมากขึ้นไป ตามกำลังของเชื้อโรค

 ฉันใด ความทุกข์ใจก็เช่นเดียวกัน

จะมีมากมีน้อย ก็อยู่ที่ปริมาณ

หรือกำลังของกิเลสตัณหานั้นเอง

 ถ้ากิเลสตัณหามีกำลังมาก มีปริมาณมาก

 ความทุกข์ภายในใจก็จะมีมาก

ถ้ากิเลสตัณหามีปริมาณน้อย

ความทุกข์ภายในใจก็จะมีน้อย

 นี่คืองานที่พวกเราทำกัน

ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันตาย

ลองทบทวนดูว่าทำงานส่วนไหนมากกว่ากัน

 ทำทานรักษาศีลภาวนา

หรือแสวงหาลาภยศสรรเสริญ

แสวงหาความสุขทางรูปเสียงกลิ่นรส

 แสวงหาการอยู่แบบหรูหราแบบแพงๆ

 กำลังทำแบบไหนกัน

ถ้าต้องการบรรลุมรรคผลนิพพาน

 อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก

ทั้งหลายบรรลุกัน

 ก็ต้องดูเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นมา

 เหตุก็คือวิถีชีวิตที่พระพุทธเจ้าได้ทรงดำเนินมา

 ที่พระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 ได้ดำเนินตาม ก็คืออยู่แบบเรียบง่าย

 อยู่แบบสมถะ อยู่แบบมักน้อยสันโดษ

พอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย

 อาหารจะราคาเป็นหมื่น หรือราคา ๑๐๐ บาท

 ก็ทำหน้าที่เหมือนกัน

คือทำให้ร่างกายอยู่ต่อไปได้

 ระงับความหิวภายในร่างกายให้หายไป

 ให้อยู่อย่างสุขสบาย

 เช่นเดียวกับเสื้อผ้าอาภรณ์

จะเป็นเสื้อที่ตัดมาจากผ้าขี้ริ้ว

หรือตัดจากผ้าอันประณีต

ประดับเพชรประดับพลอย

ก็เป็นเพียงเสื้อผ้าอาภรณ์

 ไว้ปกปิดร่างกายเท่านั้นเอง

ทำหน้าที่ได้เท่ากัน คนฉลาดจึงไม่เสียเวลา

 กับการดูแลร่างกายมากเกินเหตุเกินผล

 จะดูแลตามความจำเป็น

 ตามความต้องการของร่างกาย

ถึงเรียกว่าเป็นคนฉลาด

คนที่ดูแลร่างกายแบบเกินเหตุเกินผลนี้

 เรียกว่าเป็นคนโง่ ไม่ฉลาด

ไม่รู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๔๕๑ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๖

(จุลธรรมนำใจ ๓๒)

“ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง”





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 29 ตุลาคม 2559
Last Update : 29 ตุลาคม 2559 5:43:46 น.
Counter : 837 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ