Group Blog
All Blog
### สันติสุขเป็นความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ###










“สันติสุข เป็นความสุข

ที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม ”

พระพุทธศาสนา

เป็นคำสอนของผู้รู้จริงเห็นจริง

 คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 ธรรมที่พระพุทธองค์

ทรงนำมาสั่งสอนเป็นของจริง

ไม่ขึ้นกับกาลกับเวลา

 ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ได้

 เป็นธรรมที่นำผู้ปฏิบัติ

ไปสู่ความสุขความเจริญที่แท้จริง

 พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ พุทธะแปลว่าผู้รู้

 เป็นพระอรหันต์ คือเป็นผู้สิ้นกิเลส

ปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลง

 การประกาศพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 จึงประกาศออกมาจากพระทัยที่บริสุทธิ์

ไม่มีความปรารถนา

ความต้องการอามิสสินจ้างแต่อย่างใด

 ไม่หวังผลจากการประกาศพระธรรม

คำสอนจากผู้ใดเลย

 เพราะในพระทัยเต็มเปี่ยมด้วยบรมสุขแล้ว

 การสั่งสอนจึงออกมาจากความกรุณา

ทรงเห็นสัตว์โลกยังเป็นผู้มืดบอดอยู่

ถูกอำนาจของโมหะความหลง

อวิชชาความไม่รู้จริง ครอบงำจิตใจ

หลอกลวงให้สัตว์โลกต้องเวียนว่ายตายเกิด

ในกองทุกข์แห่งการเกิดแก่เจ็บตาย

อย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น

ถ้าไม่ได้รับพระธรรมคำสอนไปแล้ว

 จะไม่มีโอกาสที่จะหลุดพ้น

จากการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย

พระพุทธองค์เอง

ก็ทรงเคยเวียนว่ายตายเกิดมาแล้ว

 ในแต่ละภพแต่ละชาติ

ก็ต้องประสบกับความทุกข์

 เพราะคำว่าภพชาติก็คือทุกข์นั่นเอง

 มีการเกิดขึ้น มีการเจริญ

 มีการตั้งอยู่ แล้วก็ต้องมีการดับไป

 เวลาที่ต้องดับไปย่อมนำมาซึ่งความทุกข์

ความเศร้าโศกเสียใจ

ให้กับสัตว์โลกอย่างแน่นอน

 พระพุทธเจ้าทรงเห็นทุกข์นี้แล้ว

 หลังจากที่ได้ทรงปฏิบัติ

จนได้บรรลุธรรมอันประเสริฐ

ได้หลุดพ้นจากกองทุกข์

 แห่งการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว

ก็ทรงมีพระกรุณา มีความสงสาร

ที่อยากจะช่วยเหลือให้สัตว์โลก

 ผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด

 ได้มีโอกาสนำตนให้พ้นจากกองทุกข์

จึงทรงประกาศพระธรรมคำสอน

 ให้กับผู้ที่มีความสนใจ

ผู้ที่ได้ยินได้ฟังแล้วก็เกิดศรัทธา

นำไปประพฤติปฏิบัติ ก็สามารถยกตน

ให้พ้น จากกองทุกข์ได้

พระพุทธเจ้าจึงเป็นพระศาสดา

คือเป็นครู เป็นอาจารย์ ไม่ได้เป็นพระเจ้า

ผู้ที่จะเสกจะเป่า จะบันดาล

ให้เราหลุดพ้นจากกองทุกข์

ให้สมความปรารถนาในสิ่งต่างๆที่เราต้องการ

การกราบไหว้พระพุทธเจ้า

 จึงไม่ได้กราบไหว้ เพื่อบนบาน

ขอสิ่งนั้นสิ่งนี้จากพระพุทธเจ้า

 แต่กราบพระพุทธเจ้าเนื่องจากความสำนึก

ในพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง

 ที่ทรงมีต่อสัตว์โลกทั้งหลาย

และน้อมรำลึกถึงวิถีทาง

อันดีงามที่ได้ทรงปฏิบัติ

 แล้วนำมาเผยแผ่ให้กับพวกเรา

 พวกเราจึงเปรียบเหมือน กับนักศึกษานักเรียน

 ผู้มีความเชื่อในคำสอนของพระบรมศาสดา

 แล้วพยายามปฏิบัติตามด้วยความเชื่อมั่น

 ด้วยความอุตสาหะวิริยะ

ด้วยสติ ด้วยปัญญา

เราเชื่อว่าธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

แม้จะได้ประกาศมา

 เป็นเวลา ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว

 ก็ยังมีความถูกต้อง มีประสิทธิภาพ

สามารถยังผลให้กับผู้ปฏิบัติได้

 คือพระธรรมไม่ได้เสื่อมไปตามเวลา

เหมือนกับสิ่งต่างๆในโลกนี้

 ไม่ว่าจะเป็นวัตถุหรือบุคคล

ย่อมต้องเสื่อมไปตามกาลตามเวลา

วัตถุต่างๆ เมื่อผลิตขึ้นมา สร้างขึ้นมา

 หลังจากทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง

ก็ต้องชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสลายหมดไป

 ร่างกายของคนเรา

 ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นเช่นนั้น

 เมื่อเกิดมาแล้วก็มีการเจริญเติบโต

ตามมาด้วยความแก่ ความเจ็บไข้ได้ป่วย

 แล้วก็ความตาย

นี่คือลักษณะของสิ่งต่างๆในโลกนี้

แต่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ไม่ได้เป็นเหมือนกับสิ่งเหล่านี้

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 เคยเป็นอย่างไร ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่

คงเส้นคงวา ทั้งเหตุและผล

 ผู้ใดปฏิบัติตามเหตุ

ย่อมได้รับผลอย่างแน่นอน

 ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

และประกาศพระธรรมคำสอนนี้หรือไม่ก็ตาม

 พระธรรมก็ยังเป็นพระธรรมอยู่

พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ที่ได้มาค้นคว้าศึกษา

 จนได้พบพระธรรมอันประเสริฐนี้

แล้วก็นำมาถ่ายทอดให้กับผู้อื่น

 ผู้ที่มีความศรัทธาแล้วนำไปปฏิบัติ

 ย่อมได้รับผลดังที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลายในอดีตได้รับมา

 ไม่ได้ขึ้นกับกาลกับเวลา

ในสมัยพุทธกาลมีผู้บรรลุธรรม

มีผู้พ้นทุกข์ได้ฉันใด

ในสมัยปัจจุบันนี้ ผู้ปฏิบัติตาม

คำสอนของพระพุทธเจ้า

ก็จะสามารถยกตน

ให้พ้นจากกองทุกข์ได้เหมือนกัน

 ไม่ใช่ว่าหลังจากที่

พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว

 จะทรงนำเอาพระธรรมติดตัวไปด้วย

พระธรรมเป็นสมบัติคู่กับพระศาสนา

 เป็นสมบัติคู่กับโลกนี้

ขึ้นอยู่กับผู้ฟังว่าจะมีความศรัทธา

มีความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงไร

 จะมีความอุตสาหะวิริยะ มีขันติ

ความอดทนที่จะปฏิบัติตาม

 คำสอนของพระพุทธเจ้า

ได้มากน้อยเพียงไรเท่านั้นเอง

ถ้าปฏิบัติได้และปฏิบัติถูกต้อง

ผลย่อมปรากฏขึ้นมา

คือความทุกข์ย่อมลดน้อยลงไป

ตามลำดับแห่งการปฏิบัติ

ความสุขที่จะได้รับก็จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

จนในที่สุดจะมีแต่ความสุขล้วนๆอยู่ภายในใจ

 ความทุกข์จะไม่มีหลงเหลืออยู่เลย

ผู้ที่ได้ยินได้ฟังพระธรรม

คำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว

 จึงควรนำไปปฏิบัติ อย่าไปผัดวันประกันพรุ่ง

 บางท่านฟังพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

ที่สอนให้กระทำความดี ละความชั่ว

ชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากความโลภ

 ความโกรธ ความหลงแล้ว

ก็มัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง

ขอรอให้พระพุทธเจ้าองค์ใหม่

มาตรัสรู้ธรรมเสียก่อน

 ตอนนี้ขอเพียงแต่สะสมบารมีไปพรางๆก่อน

 เช่นทำบุญให้ทานไปพรางๆก่อน

ยังไม่อยากจะรักษาศีล

ยังไม่อยากจะปฏิบัติธรรม

 นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา เพราะไม่คิดว่า

จะสามารถบรรลุธรรมได้ในภพนี้ชาตินี้

 แต่จะบรรลุธรรมได้ก็ต่อเมื่อ

มีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ คือพระศรีอารย์

มาตรัสรู้ธรรมก่อน

แล้วได้ยินได้ฟังธรรมจากท่านโดยตรง

 จึงจะสามารถบรรลุธรรมได้

ความคิดอย่างนี้เป็นความคิดที่ผิด

เป็นความคิดที่เกิดจากโมหะความหลง

 เป็นความคิดที่เกิดจากความอ่อนแอ

เกิดจากความยึดติด

อยู่ในเรื่องของความสุขทางโลก คือกามสุข

 โดยคิดว่ากามสุขเป็นความสุขที่ประเสริฐ

แต่ความจริงแล้วในสายตาของผู้รู้

 คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

 จะรู้ว่าความสุขที่แท้จริง

ความสุขที่ประเสริฐนั้น ไม่ใช่กามสุข

 แต่เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ

 เรียกว่าสันติสุข

 เป็นความสุขที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม

 นั่งสมาธิ เจริญวิปัสสนา

เพื่อลดละ เพื่อตัดกิเลสตัณหา

ความโลภ ความโกรธ ความหลง

ให้หมดออกไปจากใจต่างหาก

ตราบใดถ้าใจยังไม่ได้ตัดกิเลสตัณหา

ให้หมดไปจากใจ ต่อให้มีความสุขจากรูป

 เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 มากน้อยเพียงไรก็ตาม ความสุขเหล่านั้น

 ก็จะเป็นความสุขชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

 ชั่วระยะหนึ่ง ชั่วในขณะที่ได้เสพเท่านั้นเอง

 หลังจากนั้นแล้ว ก็จะมีความอยาก

ที่จะต้องไปสัมผัสไปเสพเพิ่มขึ้นอีก

 อย่างที่เราได้เสพได้สัมผัสกันมา

 ตั้งแต่เกิดมาจนถึงวันนี้

ก็ยังไม่เคยถึงเมืองอิ่มเมืองพอ

ยังอยากดูรูป ยังอยากฟังเสียง

 ยังอยากลิ้มรส ยังอยากดมกลิ่น

 ยังอยากสัมผัสโผฏฐัพพะชนิดต่างๆอยู่เสมอๆ

นี่แหละเป็นความหลง

 ทำให้คิดว่าการได้เสพกามจะมีความสุข

แต่หารู้ไม่ว่าตนเองได้กลายเป็นทาส

 ของกามกิเลสไปเสียแล้ว

คือถ้าวันใดไม่ได้เสพ ไม่ได้สัมผัสกามรส

 ในขณะที่เกิดตัณหา คือราคะตัณหา

 หรือกามราคะแล้ว ในวันนั้นก็จะมีความทุกข์

 มีความไม่สบายใจ ต้องดิ้นรนออกไปหา

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

 ที่ถูกอกถูกใจมาเสพ เมื่อได้เสพแล้ว

ก็จะมีความสุขอยู่ระยะหนึ่ง

หลังจากนั้นก็จะเกิดความอยาก

ที่จะเสพขึ้นมาอีก

 ก็เลยกลายเป็นวงจรอย่างนี้

ไปเรื่อยๆ ไม่มีจบสิ้น

แม้ชีวิตนี้จะหาไม่แล้วก็ตาม

 ดวงจิตที่ยังสะสมความอยากในกามอยู่

 ก็จะไปแสวงหากามรสในภพหน้า

ชาติหน้าต่อไป ก็ต้องไปเกิดในกามภูมิ

คือที่อยู่ของสัตว์โลกที่ยังเสพกามอยู่

ตั้งแต่ชั้นเทพลงมาสู่ชั้นมนุษย์

สู่ชั้นเดรัจฉาน ชั้นเปรต

ชั้นอสุรกาย ชั้นสัตว์นรก

 นี่คือที่อยู่ของสัตว์โลกที่ยังมีความผูกพัน

 มีความต้องการในกามรสอยู่

ถ้าตราบใดยังไม่ได้ลดละ

ไม่ได้ตัดความอยากในกามรสนี้แล้ว

 ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพเหล่านี้

จะไปภพใดก็ขึ้นอยู่กับ

วิธีการแสวงหากามสุข

 ถ้าแสวงหาด้วยความถูกต้อง

 คือด้วยความสุจริต

 เช่นไม่ได้แสวงหามา

ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ด้วยการลักทรัพย์

 ด้วยการประพฤติผิดประเวณี

 ด้วยการโกหกหลอกลวง

ด้วยการเสพสุรายาเมา

 ถ้าหาด้วยความสุจริตแล้ว

หลังจากที่ตายไปก็จะไปเกิดในสุคติ

 คือไปเกิดบนสวรรค์ชั้นเทพ

 หรือกลับมาเกิดเป็นมนุษย์

แต่ถ้าแสวงหากามสุขด้วยวิธีที่ไม่ชอบ

คือด้วยทุจริตวิธี ด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ด้วยการลักทรัพย์

ด้วยการประพฤติผิดประเวณี

 ด้วยการโกหกหลอกลวง

ด้วยการเสพสุรายาเมา

 ถ้าประพฤติดังนี้แล้ว

 เมื่อตายไปก็จะต้องไปเกิดในอบายทั้ง ๔

 คือภพของเดรัจฉาน ของเปรต

 ของอสุรกาย และสัตว์นรก

เพราะความหลงผิดนั่นเอง

 เห็นว่าความสุขอยู่ที่การได้เสพสัมผัสรูป

 เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ถูกอกถูกใจ

จึงต้องเวียนว่ายตายเกิด

อยู่ในกามภพไม่รู้จักจบจักสิ้น

แต่ถ้าได้มาเจอพระพุทธศาสนา

 ได้ยินได้ฟังเรื่องของความสุขที่แท้จริง

 ความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์

 ความสุขที่ไม่ต้องมีอะไร

มาเป็นเครื่องให้ความสุข

 เป็นความสุขที่มีอยู่ในใจของตนเอง

แล้วนำไปปฏิบัติ ก็จะค่อยๆ ห่างเหิน

จากความอยากในกามสุข

เพราะความสุขที่เกิดจากความสงบของจิตใจ

 เป็นความสุขที่เลิศกว่า ดีกว่า

เป็นความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา

อาศัยสิ่งภายนอก

ไม่ต้องอาศัยบุคคลนั้นบุคคลนี้

มาให้ความสุข

 ไม่ต้องอาศัยสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ความสุข

เพียงแต่หาที่สงบ มุมสงบที่ไหนสักแห่งหนึ่ง

 แล้วกำหนดจิตไม่ให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ

 ให้จิตอยู่กับธรรมะบทใดบทหนึ่ง

 เช่นคำว่า พุทโธๆๆ

 หรือบทสวดมนต์บทใดบทหนึ่ง

 หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออก

 เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า

เวลาหายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก

ควบคุมจิตด้วยสติ ไม่ให้จิตแวบออกไป

คิดถึงเรื่องราวต่างๆ เรื่องราว

ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตก็ดี

 เรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตก็ดี

เรื่องเขาเรื่องเรา เรื่องดีเรื่องชั่วทั้งหลาย

 ในขณะนั้นไม่ให้ไปคิดเลย

ให้อยู่กับธรรมที่ได้กำหนดไว้ ให้จิตมีสติรู้อยู่

เช่นถ้าจะบริกรรมคำว่าพุทโธๆๆ

ก็ให้มีคำว่าพุทโธๆๆเพียงอย่างเดียวอยู่ในใจ

 บริกรรมไปโดยไม่ต้องออกเสียง

พุทโธๆๆไปเรื่อยๆ ถ้าสามารถควบคุมจิต

ให้อยู่กับพุทโธๆๆได้แล้ว

 ไม่ช้าก็เร็วจิตก็จะค่อยๆสงบตัวลง

 แล้วรวมลงเป็นสมาธิ

เป็นเอกัคตารมณ์ เป็นหนึ่ง

เหลือแต่สักแต่ว่ารู้เท่านั้น

ในขณะนั้นจิตจะไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ

ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายเลย

จิตจะไม่สนใจ

 ถึงแม้จะไม่ขาดจากอารมณ์เหล่านี้

แต่ในขณะนั้นจิตจะไม่สนใจ

 จิตจะมีความนิ่ง มีความสุขอยู่กับความสงบ

นี่แหละคือความสุขที่พระพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ทรงสอนให้พวกเราได้ไปถึงกัน

 เพราะเป็นความสุข

ที่มีอยู่กับตัวเราอยู่ตลอดเวลา

เป็นความสุขที่เราสามารถรักษาไว้ได้

 ให้อยู่กับเราไปตลอดอนันตกาลเลยทีเดียว

ถ้าเรามีความขยันที่จะปฏิบัติ.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

............................

กัณฑ์ที่ ๑๖๒ วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๑)

“ฟังด้วยสติ”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 11 ตุลาคม 2559
Last Update : 11 ตุลาคม 2559 10:32:44 น.
Counter : 732 Pageviews.

0 comment
### รสอันประเสริฐของธรรมะ ###










“รสอันประเสริฐของธรรมะ”

ความจริงแล้ว ธรรมะนี้

ก็ไม่ใช่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า

   ธรรมะนี้เป็นธรรมะที่มีอยู่ในโลกนี้อยู่แล้ว 

  ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หรือไม่ก็ตาม

  เพียงแต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ค้นพบ

ธรรมะอันประเสริฐนี้

   เมื่อทรงได้พิสูจน์กับพระองค์เองแล้วว่า

เป็นสิ่งประเสริฐ สามารถชำระกิเลสตัณหา

หนามต่างๆที่อยู่ในอกได้ จึงนำมาสั่งสอนผู้อื่น

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราจึงเรียกว่าธรรมะ

 แต่ความจริงแล้วธรรมะ ที่พระพุทธเจ้า

ทรงนำมาสั่งสอนนี้ มีอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิม 

 เป็นธรรมชาติที่มีอยู่เดิม  ขึ้นอยู่กับว่าจะมีคนฉลา

ที่จะสามารถค้นพบได้หรือเปล่า

  เปรียบเทียบก็เหมือนกับเพชรนิลจินดาอันมีค่า

ที่ฝังอยู่ในดิน ถ้าคนฉลาดรู้จักหา รู้จักขุด

ก็จะสามารถขุดคุ้ยเพชรนิลจินดาอันมีคุณค่านี้

 ขึ้นมาเป็นสมบัติครอบครองได้

  ธรรมะก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเป็นคนฉลาด

รู้จักใช้เหตุใช้ผลอยู่ตลอดเวลา

ก็จะสามารถขุดคุ้ยนำธรรมะอันประเสริฐนี้

 มาเป็นสมบัติของตนได้ 

 ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงขุดคุ้ยแสวงหามา

เมื่อได้มาแล้ว ได้สัมผัส

รสอันประเสริฐของธรรมะแล้ว

 จึงได้นำมาเผยแผ่ให้กับผู้อื่นต่อไป

  ผู้อื่นที่เมื่อก่อนนี้ไม่เคยรู้จักธรรมะอันประเสริฐ

 ก็เลยได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมะอันประเสริฐนี้

 แล้วนำเอาไปใช้ในการชำระกิเลสตัณหา

เครื่องเศร้าหมอง ต้นเหตุของความทุกข์ทั้งหลาย

ให้หมดสิ้นไปได้ ทำให้จิตใจของท่านเหล่านั้น

กลายเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมา

เหมือนกับจิตของพระพุทธเจ้า 

 บุคคลเหล่านี้เราเรียกท่านว่าพระอรหันตสาวก 

 ท่านเป็นสาวก หมายความว่าท่านเป็นผู้ฟัง

  คำว่าสาวกนี้ภาษาบาลีแปลว่าผู้ฟัง 

 คือได้ยินได้ฟังคำสอนจากพระพุทธเจ้าก่อน

 แล้วจึงนำคำสอน คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น

มาประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าธรรมะนี้เป็นสิ่งที่ยาก

ต่อคนธรรมดาสามัญทั่วไป

ที่จะสามารถขุดค้นพบได้ด้วยตนเอง

  ต้องเป็นคนอย่างพระพุทธเจ้า คือเป็นพระโพธิสัตว์

  ผู้ได้ตั้งจิตอธิษฐานที่จะแสวงหาความหลุดพ้น

จากความทุกข์ทั้งหลายทื่ครอบงำจิตใจ

ด้วยการสะสมบุญบารมี ทุกภพทุกชาติ

ที่มีโอกาสได้เกิดเป็นมนุษย์

และเมื่อบุญบารมี ซึ่งเปรียบเหมือนกับยานพาหนะ

 ที่จะนำพาพระโพธิสัตว์ให้ไปถึงจุดหมายปลายทาง

 ที่ปรารถนาคือพุทธภูมิ มีครบถ้วนบริบูรณ์

ก็สามารถนำพาให้พระโพธิสัตว์ได้บรรลุ

เป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้

ในแต่ละพุทธสมัยจะมีพระพุทธเจ้า

เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น

  เพราะยากที่จะมีคนอย่างพระพุทธเจ้า

มาปรากฏขึ้นในโลกได้ทีเดียวพร้อมๆกัน

แต่พระอรหันตสาวกสามารถมีเป็นจำนวนมาก

นับไม่ถ้วนได้ เพราะพระอรหันตสาวกไม่จำเป็น

ต้องเป็นผู้ขุดค้นหาธรรมะด้วยตนเอง

  มีพระพุทธเจ้าเขียนแผนที่บอกไว้ให้แล้ว

  บอกว่าถ้าต้องการธรรมะอันประเสริฐนี้

 ก็จงเดินไปในทางนี้เถิด

 แล้วก็จะพบกับธรรมะอันประเสริฐนี้ เมื่อมีแผนที่

 การที่จะเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทาง

 จึงไม่ยากเย็นอะไรนัก 

 ถ้าเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีแผนที่

อย่างพระพุทธเจ้าแล้ว แตกต่างกันมาก

  คนที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน

 ก็เปรียบเหมือนกับคนตาบอด

ที่ต้องใช้มือคลำทางไป

  ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้นตั้งอยู่ตรงไหน 

 แต่คนที่มีคนบอกว่าสิ่งที่ตนเองต้องการนั้น

ตั้งอยู่ตรงนั้น ขอให้เดินไปตรงนั้น

 ก็จะพบกับสิ่งที่ต้องการ

นี่ก็คือลักษณะของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย 

 ท่านเหล่านี้ก็เป็นผู้ที่แสวงหา

ความพ้นทุกข์เหมือนกัน

  แต่โดยลำพังท่านเองนั้น

 ท่านไม่มีบุญบารมีแก่กล้า

 พอที่จะหลุดพ้นได้ด้วยตัวของท่านเอง 

  ท่านต้องอาศัยการปรากฏขึ้น

ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

มาประกาศสั่งสอนธรรมะให้ทราบ

ถึงจะสามารถปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความทุกข์

  หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้

นี่คือความแตกต่างระหว่าง

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระอรหันตสาวก

  แต่เป็นพระอรหันต์ด้วยกัน 

 คำว่าพระอรหันต์นี้หมายถึงผู้สิ้นกิเลส

ผู้ไกลจากกิเลส คือผู้สิ้นแล้วในความโลภ

ความโกรธ ความหลง ด้วยการปฏิบัติ

ชำระจิตใจด้วยธรรมะอันประเสริฐนี้

 แตกต่างกันตรงที่ว่า

 พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

 ทรงชำระจิตด้วยพระองค์เอง

ศึกษาด้วยพระองค์เอง จากธรรมชาติ

ที่มีอยู่ในตัวและรอบตัวพระองค์

จนเข้าถึงพระอริยสัจสี่ เห็นทุกข์และเหตุของทุกข์

 เห็นมรรคคือวิธีการที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ 

 ด้วยการถอดถอนกิเลสตัณหา

อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ 

 นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงขุดค้นพบ

ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง

โดยอาศัยพระบารมีอันแก่กล้า

ที่ได้ทรงสะสมมานับไม่ถ้วนในอดีตชาติต่างๆ 

  และเมื่อถึงเวลาที่บารมีเหล่านี้พร้อมที่จะ

แทงทะลุเมฆหมอกแห่งอวิชชา

ที่ครอบงำพระทัยของพระองค์

จึงทำให้พระองค์ทรงเห็นในพระอริยสัจสี่ 

 เห็นความสัมพันธ์ของทุกข์ที่เกิดจากเหตุคือสมุทัย

เห็นความสัมพันธ์ของนิโรธคือความดับทุกข์

ที่เกิดจากมรรค การปฏิบัติทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้ว

จึงได้ปฏิบัติทาน ศีล สมาธิ ปัญญา

  ตั้งจิตตั้งใจให้อยู่ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา 

 ศีลก็คือการประพฤติที่ดีงามทางกาย ทางวาจา

ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นและตนเอง

  เช่น ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ลักทรัพย์ 

 ประพฤติผิดประเวณี 

   โกหกหลอกลวง เสพสุรายาเมา

  นี่คือศีล ถ้าเป็นศีลของนักบวช

ก็มีละเอียดเข้าไปถึง ๒๒๗ ข้อ 

 แต่ศีลข้อใหญ่ๆ ก็อยู่ที่ศีล ๕ เป็นหลัก

  ถ้าเป็นนักบวชแล้วละเมิดศีล ๕

ซึ่งถือว่าเป็นศีลที่ร้ายแรง

เช่น การฆ่ามนุษย์ก็จะต้องถือว่า

เป็นผู้ที่ สิ้นจากความเป็นพระไปทันที 

 นี่คือศีลที่นักบวชต้องรักษากัน

หรือนักปฏิบัติธรรมจะต้องรักษา

  เพราะศีลเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติ

  ศีลเป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดสมาธิ

   เพราะผู้ที่มีศีลย่อมสงบกาย สงบวาจา 

 เมื่อกายวาจาสงบ ใจก็สงบตามไปด้วย

ทำให้การทำจิตให้สงบที่เรียกว่าสมถภาวนา

หรือการเจริญสมาธิ ก็จะเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

 ต่างจากคนที่ไม่มีศีล

คนที่ไม่มีศีลกายวาจาจะไม่สงบ

  เมื่อกายวาจาไม่สงบ ใจก็จะไม่สงบ

 เพราะใจเป็นตัวที่ต้องทำงานนั่นเอง 

 เวลาจะเคลื่อนไหวทางกายทางวาจา

ต้องใช้ใจเป็นผู้สั่งการ ใจต้องคิดก่อน

 เช่นจะไปขโมย ก็ต้องวางแผนก่อน

  จะไปทำอะไรก็ต้องใช้ใจเป็นผู้กระทำ

  ผู้ที่ไม่มีศีลจึงมีความยากลำบาก

ในการทำจิตใจให้สงบ

  สังเกตดูคนที่เป็นมิจฉาชีพ

  คนที่ชอบประพฤติตนผิดศีลผิดธรรม

จะไม่ชอบความสงบ

  จะไม่สามารถทำจิตใจของตนให้สงบได้ 

 เพราะจิตของตนเป็นเหมือนกับก้อนหิน

ที่กลิ้งลงมาจากภูเขา

 มันจะกลิ้งไปเรื่อยๆ ไม่ยอมหยุด

  แต่ถ้าเป็นคนที่มีศีล มีความสงบกาย สงบวาจา 

 ก็เปรียบเหมือนกับมีเบรก

หรือมีเครื่องกีดขวางก้อนหิน

ที่ไหลลงมาจากภูเขาให้หยุดได้นั่นเอง

   ถ้ามีศีลคือความสงบทางกายทางวาจาแล้ว

 ความสงบทางใจก็จะตามมาต่อไป 

  และเมื่อได้ใช้สติควบคุมกำหนดบังคับ

ไม่ให้จิตไปคิดเรื่องราวต่างๆ

  แต่ให้คิดอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเครื่องล่อ

 เป็นเครื่องดึงจิตให้รวมเข้าสู่ความเป็นหนึ่ง

  เมื่อสามารถดึงเข้าไปสู่ความเป็นหนึ่งได้

 จิตก็จะสงบตัวนิ่งลง 

 แล้วก็จะไม่คิดไม่ปรุงอะไรชั่วขณะหนึ่ง

หรือนานกว่านั้น ก็สุดแท้แต่

กำลังของสติที่จะดึงจิตไว้

  ถ้าสติมีกำลังมากก็จะสามารถดึงจิต

 ให้อยู่ในความสงบเป็นเวลานาน

เมื่อจิตมีความสงบแล้ว กิเลสตัณหา

ที่อาศัยการทำงานของจิต

ก็ไม่สามารถทำงานได้ 

 กิเลสตัณหาก็เปรียบเหมือนกับ

คนที่อาศัยรถยนต์ไปไหนมาไหน 

 ถ้ารถยนต์จอดนิ่งอยู่ไม่ไปไหนมาไหน

คนที่นั่งอยู่ในรถก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้

 ก็ต้องนั่งรออยู่ในรถจนกว่ารถจะขับเคลื่อนต่อไป

 ถึงจะไปไหนมาไหนได้

  กิเลสความโลภ ความโกรธ

 ความหลงก็เช่นกัน 

 ในขณะที่จิตรวมตัวลง สงบตัวลง

 ก็จะไม่สามารถทำงานได้

 ไม่สามารถไปโลภไปโกรธได้ 

 เมื่อไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ

ความหลงอยู่ภายในใจ ใจก็ว่าง ใจก็มีความสุข

  แต่จะเป็นความว่างชั่วคราว ไม่ถาวร 

 เพราะสมาธิโดยลำพังไม่สามารถทำลาย

 หรือถอดถอนกิเลสตัณหาความโลภ ความโกรธ

 ความหลง ความอยากให้ออกไปจากจิตจากใจได้

 จำต้องอาศัยเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่าปัญญา

 คือความรู้แจ้งเห็นจริงในความเป็นจริง

ของสิ่งต่างๆทั้งหลาย ที่จิตยังไม่เห็น

เพราะถูกความหลงครอบงำอยู่

ทำให้เห็นกลับตาลปัตร เห็นตรงกันข้าม

  เช่น เห็นความเที่ยงแท้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ 

 เห็นความสุขในกองทุกข์

  เห็นตัวตนในสิ่งที่ไม่มีตัวตน

  นี่คือความเห็นของจิตที่มีความหลงครอบงำอยู่

  แต่ถ้านำปัญญาซึ่งพระพุทธเจ้า

ทรงเห็นแล้ว แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับพวกเรา

  ทรงสอนให้เราเห็นว่า

ทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตไปยึดไปติดอยู่

 เช่น ร่างกายของเรา หรือเวทนา

 สัญญา สังขาร วิญญาณ

  ล้วนเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งสิ้น คือไม่เที่ยง

 เป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปติด ไม่มีตัวไม่มีตน 

 นี่เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ผู้ที่มีสมาธิแล้ว

ให้เจริญปัญญาต่อไป ให้พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ นี้ 

 คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร

วิญญาณว่าเป็นไตรลักษณ์

  เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้ปล่อยวาง

อย่าไปยึดอย่าไปติด ให้มองขันธ์ ๕ นี้

เป็นเหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง หรือเมฆก้อนหนึ่ง

 ที่ไหลมาไหลไป มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป

  เมฆก็เกิดขึ้นจากการรวมตัวของไอน้ำ 

 เมื่อก้อนเมฆมีน้ำหนักมากก็ตกลงมาเป็นน้ำฝน

  น้ำฝนก็จะระเหยกลับกลายเป็นก้อนเมฆอีก

  นี่คือวัฏฏะของธรรมชาติทั้งหลาย 

ร่างกายหรือขันธ์ ๕ ก็เป็นเช่นนั้น

  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ก็เป็นคล้ายๆกับเมฆ 

 มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป 

 ร่างกายก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

 สลายกลับคืนสู่ดิน น้ำ ลม ไฟ เวทนา

ความรู้สึก สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์

 ก็หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมา 

 เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง ไม่สุขไม่ทุกข์บ้าง

   สังขาร ความคิดปรุง ก็คิดไป คิดไปแล้วก็ดับไป

แล้วก็คิดใหม่อีก หมุนเวียนไป

ไม่มีตัวตนในสิ่งเหล่านี้ เมื่อเห็นว่าไม่เที่ยง

 ไม่มีตัวตน จิตก็จะปล่อยวาง

 แล้วก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................

กัณฑ์ที่ ๑๘๔ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๓)

“สุนัขขี้เรื้อน”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 10 ตุลาคม 2559
Last Update : 10 ตุลาคม 2559 13:31:29 น.
Counter : 735 Pageviews.

0 comment
### ในศาสนาพุทธไม่มีการทำดีเพื่อล้างบาป ###










ในศาสนาพุทธ

ไม่มีการทำดีเพื่อล้างบาป

 ขอให้ทำความเข้าใจว่า

ไม่มีการทำบุญเพื่อล้างบาป

แต่การทำบุญหรือทำดีเพื่อหนีบาปนั้น

เรามีหนทางที่จะทำได้

คือพยายามทำความดีให้มากขึ้น มากขึ้น

ให้คุณความดีเป็นเครื่องอุ่นใจ

 เป็นวิหารธรรม เครื่องอยู่ของใจ

ใจมันก็ปราโมทย์บันเทิงอยู่กับความดี

 เมื่อมันไปอยู่กับความดี

มันก็ไม่คิดถึงบาปในอดีตที่ทำมาแล้ว

 ทีนี้เมื่ออารมณ์บาปไม่ไปรบกวน

 เราก็มีโอกาสได้ทำความดีเพิ่มมากขึ้น

 ถ้าหากความดีนั้นมีอำนาจเหนือบาป

 มีผลแรงกว่าบาป จิตของเราหนีบาปไปไกล

 เมื่อเวลาตายไปแล้ว ก็ไปสู่สุคติ

 ถ้าไม่ไปสู่สุคติแล้วเรามาเกิดใหม่

 ถ้าหากว่าเราไม่ทำความดีเพิ่มเติม

 บาปมันก็มีโอกาสให้ผล

บาปเล็กๆ น้อยๆ มันไม่หายไปไหนหรอก

ทีนี้ถ้าหากเรากลัวบาป จะตัดกรรมตัดเวร

 ถ้าหากพระองค์ใดไปแนะนำว่า

ทำบาปแล้วไปตัดเวรตัดกรรมอย่าไปเชื่อ

 มันตัดไม่ได้ เวรนี่อาจตัดได้

แต่กรรมคือการกระทำนั้นมันตัดไม่ได้

ที่ว่าเวรนี่ตัดได้ เช่นอย่างเราอยู่ด้วยกัน

ทำผิดต่อกัน เมื่อปรับความเข้าใจกันได้แล้ว

 เราขอโทษซึ่งกันและกัน

ต่างฝ่ายต่างยกโทษให้กัน

 เวรที่จะตามคอยจองล้างจองผลาญกัน

มันก็หมดสิ้นไป

แต่ผลกรรมที่ทำผิดต่อกันนั้น

มันไม่หายไปไหนหรอก

แต่ถ้าหากว่าเราพยายามทำดีให้มันมากขึ้นๆ

 เรารู้สำนึกว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันไม่ดี

 เราเลิก เราประพฤติแต่ความดี

บาปที่ทำแล้วมันแก้ไม่ได้

 แต่นิสัยชั่วที่เราประพฤติอยู่นั้น

มันแก้ได้ ท่านให้แก้กันที่ตรงนี้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย






ขอบคุณที่มา fb. วัดป่า
ชอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 ตุลาคม 2559
Last Update : 9 ตุลาคม 2559 18:27:39 น.
Counter : 693 Pageviews.

0 comment
### อดทน อดกลั้น ###










“อดทน อดกลั้น”

ถาม : ขอหลวงพ่อเมตตา

 ขอบเขตของคำว่าอดทนและอดกลั้น

ว่ามันจะต้องคิดแบบไหนและทำอย่างไร

จึงจะได้ชื่อว่าผู้มีความอดทนอดกลั้น

พระอาจารย์ : คือความอดทนนี้หมายถึง

ให้เราทนกับสภาพต่างๆ ที่มากระทบกับเรา

 เช่นความทุกข์ยากลำบาก ทางร่างกาย

 บางวันขาดอาหาร บางวันขาดน้ำ

 ขาดอะไรต่างๆ ก็อย่าไปวุ่นวาย

กับการขาดแคลนเหล่านั้น ให้ทำใจเฉยๆ

ให้ทำใจเป็นปกติ อยู่กับมันไปตามมีตามเกิด

อยู่ได้อยู่ไม่ได้ก็ตายให้คิดอย่างนี้ว่า

อย่างมากก็แค่ตาย

ก็จะเกิดความอดทนขึ้นมาได้

 หรือมองว่าของต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นกับเรานี้

มันเป็นของสุดวิสัยเราไม่สามารถ

ที่จะไปควบคุมบังคับมันได้

เป็นเหมือนธรรมชาติเหมือนฝนฟ้าอากาศ

ฝนตกแดดออกน้ำท่วม

 เราก็ไม่ค่อยวุ่นวายใจกันเท่าไร

เพราะเรายอมรับกับสภาพของสิ่งต่างๆ

เพราะเรารู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้

 ฉันใดเวลาเราเจอกับสิ่งต่างๆ

 ที่มากระทบกับชีวิตของเรา

 เราก็ให้ทำใจว่ามันเป็นเรื่องสุดวิสัย

 เป็นเรื่องของธรรมชาติ

หรือจะเรียกว่าเป็นเรื่องของ

วิบากกรรมของเราก็ได้

 มันจึงทำให้เราจะต้องมาประสบ

กับเคราะห์กรรมอะไรต่างๆ

 แต่ถ้าเราไม่ไปพยายามที่จะดิ้นรนหนีมัน

หรือพยายามที่จะให้มันหายไป

เราก็จะไม่ทุกข์ เราก็จะทนอยู่กับมันได้

นี่คือวิธีการฝึกความอดทน

ไม่ใช่อดทนด้วยการไม่มีปัญญา

อดทนแบบนั้นอดทนไม่ได้

ต้องอดทนด้วยปัญญาแล้วก็จะอดทนได้

 ถ้ามองว่าทุกสิ่งทุกอย่าง

เกิดขึ้นกับเราเป็นอนัตตา

 ฝนฟ้าอากาศ ฟ้าร้องตอนนี้ก็ห้ามมันไม่ได้

มันจะร้องก็ร้อง มันจะตกก็ตก

 อะไรที่เกิดกับเรา

มันจะเกิดก็ปล่อยมันเกิดไป

ถ้าเราหลบไม่ได้หลีกไม่ได้หนีไม่ได้

ก็ต้องยอมรับมันไป

 อันนี้เราก็จะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายไปกับมัน

อันนี้เรียกว่าความอดทน

ต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบกับเรา

ส่วนความอดกลั้นก็ให้อดกลั้นกับอารมณ์

เช่นความโลภ ความโกรธ

 อันนี้ก็ต้องใช้ธรรมะใช้สติหรือใช้ปัญญา

จึงจะอดกลั้นได้

 เวลาเกิดความโลภ ความโกรธ

 ถ้าใช้สติก็ให้ระลึกถึงพุทโธๆไป

 อย่าให้เราไปคิดถึงสิ่งที่เราโลภ สิ่งที่เราโกรธ

 พอเราไม่คิดถึงมัน

ความโลภ ความโกรธก็จะระงับไป

 เราก็จะอดกลั้นได้

หรือถ้าเราจะระงับแบบถาวร

 เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาว่า

สิ่งที่เราโลภมันไม่เที่ยง

มันเป็นทุกข์ไม่ใช่ของเรา

ได้มาแล้วเดี๋ยวก็ต้องเสียใจ

สู้อย่าโลภอยากได้ดีกว่า

 พอเห็นด้วยปัญญาก็อาจจะเลิกได้

 เลิกความโลภ ความอยากได้

อันนี้ก็จะทำให้เราอดกลั้น

กับความโลภได้อย่างง่ายดาย

ความโกรธก็เช่นเดียวกัน

 สิ่งที่ทำให้เราโกรธนั้น

เป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้เหมือนฝนฟ้าอากาศ

เขาทำไปแล้วก็เกิดไปแล้ว

มันก็ผ่านไปแล้ว

 โกรธไม่ได้ไปเปลี่ยนแปลงอะไร

 เขาด่าเราแล้วมันก็จบไปแล้ว

เราก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่เราห้ามใจเราได้

ว่าเราไปทำอะไรไม่ได้

มันผ่านไปแล้วเราห้ามเขาไม่ได้

เขาก็เหมือนๆ เสียงฟ้าร้องเมื่อสักครู่นี้

ร้องปุ๊บมันก็ผ่านไปแล้ว

เสียงคนด่าก็เหมือนกับเสียงฟ้าร้อง

ก็ผ่านไปแล้ว

 ถ้าเราฟังเฉยๆไม่ไปมีปฏิกิริยาอะไร

 เราก็จะระงับอารมณ์โกรธได้.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.....................

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๕๙

“สุขที่เหนือกว่าถูกรางวัลที่ ๑”







ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 ตุลาคม 2559
Last Update : 9 ตุลาคม 2559 9:36:15 น.
Counter : 795 Pageviews.

0 comment
### สุนัขขี้เรื้อน ###











“สุนัขขี้เรื้อน”

การประพฤติปฏิบัติ

ตามพระธรรมคำสอนเท่านั้น

 ที่จะเป็นเหตุพาให้ผู้ปฏิบัติ

ไปสู่ความสุขความเจริญ

และสิริมงคลทั้งหลาย

 ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามแล้ว

 ยากนักที่จะหวังให้สิ่งที่ดีที่งามทั้งหลาย

 ปรากฏขึ้นกับชีวิตของตน

เพราะสิ่งที่ทุกคนปรารถนา

 คือความสุขความเจริญ

ความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตนั้น

 ล้วนเป็นผลที่เกิดจากกระทำของตนเองทั้งสิ้น

 คือการกระทำทางกาย วาจา ใจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกระทำทางใจ

ที่เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้สร้างผลทั้งหลาย

ให้ปรากฏขึ้นมา ถ้าใจเป็นใจที่ฉลาด

 รู้เหตุรู้ผล รู้ความจริง

ของความสุขของความทุกข์

 ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

ย่อมสามารถนำการกระทำ

ทางกายและทางวาจา

ที่จะตามมาต่อไป

ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีที่งามได้

ถ้าใจเป็นใจที่ขาดปัญญามีแต่ความหลง

 มีความไม่รู้จริง คืออวิชชาอยู่ในใจ

เป็นเครื่องผลักดันแล้ว ใจจะไม่รู้จักแยกแยะ

ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ

อะไรเป็นเหตุของความสุข

อะไรเป็นเหตุของความทุกข์

มักจะหลงผิด คือจะมองกลับตาลปัตร

 มองตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

มักจะเห็นความทุกข์เป็นความสุข

 เห็นความสุขเป็นความทุกข์

คือเห็นว่าการกระทำดีไม่ได้เป็นเหตุ

ที่จะนำความสุขมาให้ แต่กลับเห็นว่า

การกระทำความชั่วเป็นเหตุ

ที่จะนำความสุขมาให้กับตน

ยกตัวอย่างคนที่ไปประพฤติผิดมิชอบ

ทุจริตด้วยวิธีการต่างๆ

 เพื่อจะได้สิ่งที่ตนปรารถนามา

 เช่น ลาภยศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ

 เขามีความเห็นผิด

เพราะไม่รู้ว่าการกระทำทุจริตนี้

ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะนำมา

ซึ่งความสุขและความเจริญ

แต่เพราะความหลง ความเห็นผิดเป็นชอบ

 ทำให้เขากลับเห็นว่าทำการทุจริตแล้ว

จะได้สิ่งที่ตนปรารถนามา

 เช่น ได้เงินได้ทอง เมื่อได้เงินได้ทอง

ก็สามารถนำไปซื้อตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์

 ซื้อบริษัทบริวาร ซื้อความสุขต่างๆในโลกนี้ได้

 เขาจึงกล้าที่จะกระทำบาป กระทำผิด

อันเป็นเหตุที่จะนำความเสื่อมเสียมาให้กับตน

 โดยคิดว่าเขาสามารถทำโดยไม่มีใครรู้ได้

 ไม่มีใครสามารถจับเขาเข้าคุกเข้าตะรางได้

 เขาจึงมีความกล้าที่จะกระทำสิ่งเหล่านี้

แต่เขาเห็นโลกนี้เพียงชีวิตนี้เท่านั้น

เขาไม่เห็นถึงโลกในภายภาคหน้า

ที่จะตามมาต่อไป

โลกที่เขาจะต้องไปเกิดต่อไปนั้นว่ามีจริง

 เขาคิดว่าชีวิตนี้ก็มีเพียงโลกนี้เท่านั้น

เมื่อตายไปแล้วทุกอย่างก็จบ

 จะทำบุญทำความดีขนาดไหนก็ไม่มีผลตามมา

 จะทำความชั่วทำบาปทำกรรม

ขนาดไหนก็ไม่มีผลตามมา

จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะต้องทำความดี

ให้เสียเวลาเปล่าๆ

เพราะการทำความดีนั้นมีแต่เสีย

 เสียทั้งเวลา เสียทั้งทรัพย์สินเงินทองต่างๆ

อย่างที่ท่านทั้งหลาย

มากระทำกันเป็นประจำทุกๆวันพระ

 ต้องเสียเวลาทำมาหากิน

เสียเงินทองซื้อข้าวของต่างๆมาถวายพระ

 แต่สิ่งที่ได้นั้นเป็นสิ่งที่คนตาบอด

 คนที่มีโมหะอวิชชา ไม่สามารถเห็นได้

สิ่งนั้นก็คือความเจริญความสุขทางด้านจิตใจ

จิตใจได้รับการพัฒนาให้สูงขึ้น

มีความสุขมากขึ้น เพราะได้รับการขัดเกลา

 ได้รับการชำระสิ่งที่เป็นมลทิน

เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ให้เบาบางลงไป นี่แหละคือความเจริญที่แท้จริง

ความเจริญนี้ก็คือจิตที่มีความสะอาด

 ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

 เพราะเมื่อไม่มีมลทิน เครื่องเศร้าหมองแล้ว

 ก็ไม่มีอะไรที่จะมารบกวนจิตใจ

ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้จิตใจ

ต้องไปกระทำในสิ่งที่เป็นโทษ

เป็นบาป เป็นกรรม

เพราะจิตใจที่ไม่มีความโลภ

 ความโกรธ ความหลง

ย่อมอยู่เย็นเป็นสุขเป็นปกติ

ไม่ต้องมีอะไรมากมายมาทำให้มีความสุข

เพราะมีความสุขอยู่ในตัว ของตนเองอยู่แล้ว

 อยู่ในจิตที่ไม่มีความโลภ

 ความโกรธ ความหลง

 ซึ่งเปรียบเหมือนกับหนามยอกอก

เวลามีหนามอยู่ในอกนี้ จะขยับสักนิดสักหน่อย

ก็จะรู้สึกเจ็บขึ้นมา

ฉันใดเวลามีกิเลสตัณหาอยู่ภายในใจแล้ว

 ถึงแม้จะมีอะไรมากมายก่ายกองเพียงไร

มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง

 มียศถาบรรดาศักดิ์อันสูงส่ง

มีบริษัทมีบริวารที่คอยยกย่อง

สรรเสริญเยินยออยู่เสมอ

 แต่ภายในใจก็ยังมีความรู้สึกเจ็บโน่นเจ็บนี่

 คือรู้สึกขาดโน่นขาดนี่

 รู้สึกอยากได้โน่นอยากได้นี่

คืออยู่เฉยๆไม่เป็นสุข

 ต้องหาอะไรมาเพิ่มให้กับชีวิตถึงจะมีความสุข

 เปรียบเหมือนกับสุนัขขี้เรื้อน

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะหาความสุขไม่ได้

 เพราะความสุขไม่ได้อยู่กับสถานที่

 ถึงแม้จะจับสุนัขขี้เรื้อนไปอยู่ในพระราชวัง

 แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาขี้เรื้อนให้หายไป

ก็ยังต้องเกาต้องคันอยู่อย่างนั้น

ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่ในพระราชวัง

 อยู่ในกระต๊อบ ก็ยังคันอยู่อย่างนั้น

ฉันใดจิตของคนเราก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าตราบใดยังมีกิเลสตัณหาความโลภ

 ความโกรธ ความหลง

ความอยากต่างๆอยู่ในใจแล้ว

 ต่อให้มีสมบัติข้าวของเงินทองกองเท่าภูเขา

 มีตำแหน่งสูงๆ เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์

ถ้าจิตใจยังไม่ได้รับการปลดเปลื้อง

หรือได้รับการชำระ

ไม่ได้รับการเอาหนามที่อยู่ในอกออกไป

 ก็ยังจะมีแต่ความเจ็บ มีแต่ความทุกข์อยู่เสมอ

 มีแต่ความหิว มีแต่ความอยากอยู่เสมอ

ทั้งๆที่สิ่งต่างๆที่มีอยู่รอบตัวนั้น

ใช้ไปสิบๆชาติก็ใช้ไม่หมด

 แต่ความรู้สึกของใจ

 ก็ยังรู้สึกไม่สบายอกไม่สบายใจ

 ไม่พอใจ ไม่อิ่มใจ

 เพราะนี่คือธรรมชาติของกิเลสตัณหาทั้งหลาย

 เป็นตัวสร้างความรู้สึกหิว

ความรู้สึกอยาก ความรู้สึกไม่พอ

ให้กับใจของสัตว์โลกทั้งหลาย

 ถ้าไม่มีคนอย่างพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้

เห็นถึงปัญหาอันนี้ เห็นถึงโทษของกิเลสตัณหา

 และเห็นวิธีการชำระ ถอดถอนกิเลสต่างๆ

ให้ออกไปจากจิตจากใจได้แล้ว

สัตว์โลกทั้งหลายจะไม่มีโอกาส

ได้พบกับความสุขเลย

 จะเป็นเหมือนกับสุนัขขี้เรื้อน

 ถึงแม้จะร่ำรวย ถึงแม้จะมีตำแหน่งสูงๆ

 แต่ภายในใจก็ยังเป็นเหมือนกับ คนอื่นๆทั่วๆไป

 ยังมีความหิวมีความอยากอยู่

เหมือนกับขอทานข้างถนน

เพราะการมีทรัพย์มากมายเพียงไรก็ตาม

 มีตำแหน่งสูงขนาดไหนก็ตาม

 ไม่ได้เป็นตัวแก้ปัญหา ที่สร้างความหิว

สร้างความอยากอยู่ภายในใจ

สิ่งที่จะแก้ปัญหาของใจได้ ก็คือ

การทำจิตใจให้สะอาดหมดจด

การจะทำให้จิตใจปราศจากความหิว

 ความอยากนั้นต้องใช้ธรรมะ

ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

 เพราะธรรมะนี้แหละเป็นเครื่องซักฟอกจิตใจ

 เป็นเครื่องถอดถอนกิเลสตัณหา

ความอยากทั้งหลาย ให้หมดไปจากจิตจากใจได้

 เพราะพระพุทธเจ้าได้ใช้มาแล้ว

 ได้ประสบความสำเร็จจากการประพฤติปฏิบัติ

ตามธรรมอันประเสริฐแล้ว

ใช้ธรรมะเป็นเครื่องมือต่อสู้

 ถอดถอนกิเลสตัณหาทั้งหลาย

ให้ออกไปจากจิตจากใจได้แล้ว

นอกจากธรรมะอันประเสริฐนี้แล้ว

ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะสามารถถอดถอน

ชำระกิเลสตัณหาที่มีอยู่ภายในใจ

ให้หมดสิ้นไปจากใจได้

 พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกในโลก

 ที่ค้นพบพระธรรมอันประเสริฐนี้

 แล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ

ชำระพระทัยของพระองค์จนสะอาดหมดจด

 กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ เรียกว่าบริสุทธิ์พุทโธ

 พุทโธก็คือผู้รู้ บริสุทธิ์ก็คือความสะอาด

ผู้รู้นี่ก็คือใจ ใจที่สะอาด

ก็หมายถึงใจที่ได้รับการชำระ

ด้วยธรรมะอันประเสริฐของพระพุทธเจ้าแล้ว.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

.......................

กัณฑ์ที่ ๑๘๔ วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

 (กำลังใจ ๑๓)

“สุนัขขี้เรื้อน”






ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ




Create Date : 09 ตุลาคม 2559
Last Update : 9 ตุลาคม 2559 9:18:29 น.
Counter : 654 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ