All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
16 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

*** There Will Be Blood *** น้ำมันดิบชั้นดี

*** There Will Be Blood ***






แม้จะเป็นหนึ่งในผลงานที่นักวิจารณ์ และสถาบันเกี่ยวกับภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างชาติ ให้การยอมรับว่า เป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2007 แต่ด้วยหลายสาเหตุที่ทำให้ผมไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้ในช่วงนั้น จนเวลาผ่านมานานชื่อของ There Will Be Blood ก็หายไปจากความคิด


แต่เมื่อไม่นานมานี้ ด้วยสาเหตุบางประการ (ที่บอกไปแล้วอาจฟังดูไร้สาระ ) บวกกับ คำแนะนำจากหลายๆคน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ทำให้ต้องหยิบเรื่องนี้มาดู และพบว่าตัวเองพลาดหนังที่ยอดเยี่ยมมากๆเรื่องหนึ่งไปแล้ว



There Will Be Blood ดัดแปลงมาจากหนังสือนิยาย ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1926 เรื่อง Oil! ของ Upton Sinclair โดยเล่าเรื่องราวของ Daniel Plainview (Daniel Day-Lewis) นักขุดน้ำมันผู้ทะเยอทะยาน


Daniel ต้องไปขุดน้ำมันที่ Little Boston หมู่บ้านเล็กๆใน California ที่ซึ่งผืนดินแห้งแล้งทำการเกษตรไม่ได้

และที่นี่ เขาได้เจอคู่แข่งคนสำคัญ ที่ทะเยอทะยานไม่แพ้กัน แถมใช้วิธีการคล้ายๆกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย

ชายผู้นั้นคือ Eli Sunday (Paul Dano) เด็กหนุ่มผู้ตั้งตัวเป็นผู้นำทางศาสนาของชุมชน



แม้จะดัดแปลงมาจากนิยายที่เก่ากว่า 80 ปี แต่หนังมีความร่วมสมัยด้วยประเด็นที่เข้ากับยุคปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็หยิบประเด็นทางคริสต์ศาสนา และทุนนิยมมาวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างน่าสนใจ


เรามาพิจารณากันครับ







อานุภาพของ “พ่อ”



ใน There Will Be Blood เราจะเห็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของ “พ่อ-ลูก” เป็นส่วนประกอบสำคัญของหนัง

โดยเฉพาะเรื่องของ “พ่อ” นั้น หนังใช้ทั้งความหมายโดยตรงและความหมายเชิงสัญลักษณ์





สำหรับความหมายโดยตรงของ “พ่อ” ก็คือ

Daniel เป็นพ่อของ H.W. (Dillon Freasier) เด็กชายที่แท้จริงแล้วเป็นลูกของคนงานขุดเจาะน้ำมันคนหนึ่ง ที่ Daniel รับมาเลี้ยง หลังจากที่คนงานผู้นั้นเสียชีวิตในอุบัติเหตุจากการขุดเจาะ





สำหรับอีกความหมายหนึ่งนั้น แม้ในหนังตัวละครนี้จะไม่โผล่หน้ามาให้เห็น แต่เราจะเห็นตัวละครในเรื่องพูดถึงอยู่ตลอดเวลา จนอบอวลด้วยอิทธิพลของ “พ่อ” ผู้นี้



ซึ่ง “พ่อ” ที่ว่านี้ก็คือ “พระเจ้า” นั่นเอง



และตัวละครที่พยายามจะเป็นตัวแทนของพระเจ้าก็คือ Eli เด็กหนุ่มชาวเมือง Little Boston ผู้ตั้งตนเป็นนักเทศน์ใน นิกายโปรเตสแตนต์ (Protestant, คล้ายกับบาทหลวงในนิกายคาทอลิกนั่นเอง)





นอกจากนี้ “พ่อ” ยังมีความหมายเชิงนัยยะ อีกความหมายที่น่าสนใจ

นั่นก็คือ “ผู้ปกครอง” นั่นเอง



ลองคิดดู

เมื่อเราพิจารณาถึงหน่วยย่อยทางสังคมที่เล็กที่สุด ซึ่งก็คือครอบครัว เราจะพบว่า โดยทั่วไปแล้ว “พ่อ” จะเป็นหัวหน้าของกลุ่มสังคมนี้
และคิดว่าหลายคนคงเคยได้ยิน และรู้ความหมายของคำว่า “พ่อเมือง” กันอยู่แล้ว







ตามสัญชาตญาณและธรรมชาติของเพศชาย

หนึ่งในความปรารถนาของเพศชาย คือการได้เป็นพ่อ หรือการมีลูก
ซึ่งการอยากเป็น “ผู้ปกครอง” ของผู้ชายก็อาจมาจากเหตุผลเดียวกัน

นี่เป็นธรรมชาติของเพศชาย เป็นความจริงที่สามารถยืนยันได้จากสถิติทั้งหลาย
ลองนึกถึงสัดส่วนจำนวน นายก หรือ ประธานาธิบดี เพศหญิงในโลกนี้ก็คงพอจะเข้าใจ


ดังนั้น การสร้างเขตปกครอง หรือ “อาณาจักร” จึงเป็นเรื่องปกติของชายผู้มีความสามารถ และมีความทะเยอทะยาน





ใน There Will Be Blood เราจะเห็นการสร้างอาณาจักรของตัวละครทั้งสอง นั่นคือ Daniel และ Eli


ด้วยความที่ Daniel รู้ความจริงข้างต้นดี เขาจึงเห็นประโยชน์จากการนำ H.W. มาเป็นลูกบุญธรรม (โดยที่ไม่ได้บอกความจริงกับ H.W.)
เขาพา H.W. ไปด้วยในทุกๆที่ที่เขาจะกว้านซื้อที่ดิน (หรือซื้อใจชาวบ้านมาเป็นลูกในปกครอง)

เพราะภาพลักษณ์ของ “พ่อ” นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจาก



“การเป็นพ่อที่ดี” ย่อมแสดงถึง “การเป็นผู้ปกครองที่ดี” ไปในตัว



ซึ่งแน่นอนว่าชาวบ้านก็จะรับความคิดนี้เข้ามาโดยไม่รู้ตัว





ขณะที่ Eli นั้นไม่มีลูกมาเป็นวัตถุดิบ แต่เขาก็เป็น “พ่อ” ด้วยการตั้งตัวเป็นตัวแทนของพ่อผู้มีพลังอำนาจมากที่สุดในโลก (ของชาวคริสต์) นั่นก็คือ “พระเจ้า” มาใช้ในการสร้างอำนาจปกครอง







แต่ในความจริงแล้ว ทั้ง Daniel และ Eli ต่างก็ไม่ได้เป็นพ่อที่ดีอย่างที่สร้างภาพเอาไว้ และเป็นผู้ที่ไม่ศรัทธาใน “การเป็นพ่อที่ดี” แม้แต่น้อย

ทั้งสองเพียงแค่ต้องการลูก ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ตัวเองได้เท่านั้น


แม้ว่าในกรณีของ Daniel ผู้ชมจะยังมองเห็น ความรักความผูกพันที่เขามีต่อ H.W. ที่แม้จะไม่ได้มาจากเจตนาดั้งเดิม แถมในท้ายที่สุด Daniel เลือกที่จะจบความสัมพันธ์นี้ลงก็ตาม



แต่ในกรณีของ Eli นั้นเห็นได้ชัดจากฉากระเบิดอารมณ์กลางโต๊ะอาหารว่า เขาเองไม่ได้เคารพและศรัทธากระทั่งพ่อแท้ๆของตนเองด้วยซ้ำ


โดยเฉพาะในฉากสุดท้าย เป็นการตอกย้ำว่า ที่ Eli ทำเป็นศรัทธาในพระเจ้าก็เพียงเพื่อผลประโยชน์เท่านั้น ซึ่งไม่ต่างจากการสารภาพบาปของ Daniel เพื่อให้ได้วางท่อน้ำมันในตอนกลางเรื่องเลยแม้แต่น้อย



ด้วยความคล้ายคลึงกันของสองตัวละครนี้ อาจเป็นไปได้ว่า วัยเด็กของ Daniel นั้น อาจไม่ต่างกับ Eli เท่าใดนัก (จากบทสนทนาในตอนกลางเรื่องทำให้รู้ว่า Daniel เองก็มีปัญหากับพ่อ)





หนังยังแสดงให้เห็นว่า เป็นไปได้ยากที่ผู้ปกครองจะมีลูกร่วมกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการสิทธิในการควบคุมดูแล และผลประโยชน์จากลูกๆ อย่างเต็มที่เพียงผู้เดียว ดังนั้นการปะทะกันของผู้ปกครองเพื่อแย่งลูกย่อมเป็นเรื่องธรรมดา


ไม่เว้นกระทั่ง H.W. ที่พอโตขึ้น ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นพ่อ ก็ทำให้เขาพยายามออกไปสร้างอาณาจักร หรือเขตปกครองของตนเองเช่นกัน







จากประเด็นเรื่อง การพยายามสร้างอาณาจักรของเพศชาย ทำให้ There Will Be Blood มีประเด็นที่ว่าด้วย การสร้างอาณาจักร หรือการล่าอาณานิคม
และในยุคที่น้ำมันมีค่ามากกว่าทองคำนั้น หนังสามารถโยงไปถึงการเมืองในโลกปัจจุบันได้



หนังนำเสนอการใช้ อำนาจจากการ “สร้างภาพ” ที่อาจเปรียบเหมือนการใช้ “สื่อ” เป็นเครื่องมือ ในการเข้าถึงน้ำมัน

[อเมริกาอ้างว่า อิรัก มีอาวุธ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อสงคราม เพื่อเป้าหมายที่แท้จริงก็คือ น้ำมัน]



หรือการใช้ ศาสนา เป็นเครื่องมือในการ ต่อสู้
ซึ่งในหนังคือการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายคริสต์ศาสนา และผู้ไม่ศรัทธา

[การโยงกลุ่มตาลีบันเข้ากับศาสนาอิสลาม เพื่อสร้างความแตกแยกระหว่างศาสนา]

(ซึ่งตอนที่เขียนบทความนี้ก็มีข่าวการประท้วงการสร้างศูนย์อิสลามที่ New York ด้วยการวางแผนเผาทำลายคัมภีร์อัลกุรอานพอดี)





และด้วยความที่คิดว่าชื่อ H.W. น่าจะมีความหมายอะไรบ้าง (สารภาพว่า ครั้งแรกไม่ได้คิดถึงการเมืองเลย) ผมเลยลอง Search ใน Wikipedia และพบว่า

นี่คือ "คำย่อชื่อกลาง" ของอดีตประธานาธิบดี George H.W. Bush (George Herbert Walker Bush) หรือ Bush คนพ่อ ที่เคยก่อสงครามกับอิรัก ก่อนจะส่งต่อให้ Bush คนลูก จัดการ

ที่สำคัญนี่เป็นชื่อที่ไม่เหมือนในนิยายต้นฉบับ



ดังนั้นยืนยันได้เลยว่า ผู้กำกับ Paul Thomas Anderson จงใจเล่นกับแง่มุมทางการเมืองเต็มที่ และต้องมีสัญลักษณ์ต่างๆ แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องมากกว่านี้

ซึ่งผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องการเมืองโลกมากนัก จึงไม่สามารถถอดประเด็นในส่วนนี้อย่างลึกซึ้งได้




ผู้อ่านท่านใดมีความรู้ ความคิดเห็น ในแง่มุมการเมือง ก็สามารถแบ่งปันกันได้ครับ






Capitalism and Christianity



ขอเกริ่นนำเล็กน้อย


Capitalism หรือ ทุนนิยม และ Christianity หรือ คริสต์ศาสนา นั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันสุดขั้ว


แต่ใน There Will Be Blood เราจะเห็นว่าสองสิ่งนี้กลับ ส่งเสริมกัน


(ออกตัวก่อนว่าผมเป็น Freethinker ที่เลื่อมใสใน “คำสอนของพุทธศาสนา” แต่เคยเรียนอยู่ในโรงเรียนคริสต์นาน 9 ปี เพียงแต่ว่าโรงเรียนของผมนั้นเป็นคาทอลิก

แต่ใน There Will Be Blood นั้น เป็นนิกายโปรเตสแตนต์ ผมจึงต้องค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของบทความ แต่ข้อมูลอาจยังไม่ถูกต้อง 100% นะครับ หากผิดพลาดก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย )





ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดระหว่าง โปรเตสแตนต์ และ คาทอลิก คือ


โปรเตสแตนต์ ไม่ยอมรับพระสันตะปาปา และถือว่า ทุกคนที่มีศรัทธาคือผู้รับใช้พระเจ้า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวช ถึงจะรับใช้พระเจ้าได้ เหมือนที่คาทอลิกเชื่อ

ดังนั้นโปรเตสแตนต์ จึงไม่มีนักบวช แต่จะมีนักเทศน์ หรือ ผู้ถวายตัวรับใช้พระเจ้า ซึ่งสามารถแต่งงานได้ เพราะไม่มีข้อห้ามในพระคัมภีร์ (เช่นเดียวกับ พระสันตะปาปา ที่ไม่มีในพระคัมภีร์)




พูดง่ายๆคือ


โปรเตสแตนต์ เป็นการต่อต้านสำนักวาติกัน และสันตะปาปา ที่ผูกขาดสิทธิในการเป็นตัวแทนมนุษย์เพื่อติดต่อพระเจ้า และยกเลิกการผูกขาดทางศาสนกิจที่บาทหลวงเท่านั้นถึงจะไถ่บาปให้ผู้อื่นได้ เพราะถือว่า ทุกคนมีสิทธิไถ่บาปได้ด้วยการติดต่อพระเจ้าโดยตรง







มองในมุมนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะหลุดพ้นจากการครอบงำของศาสนจักร ที่มีอำนาจมากเกินไป และเป็นการทวงคืนกรรมสิทธิ์ในการเข้าถึงพระเจ้าให้แก่ทุกคน

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะนี่เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้คนอย่าง Eli เข้ามาหาหาผลประโยชน์จากศาสนา เนื่องจากการขาดการควบคุม และความง่ายที่ใครก็ได้จะมาเป็นผู้นำทางศาสนา



ซึ่งชื่อของ Eli Sunday สามารถเรียงสลับได้ใหม่ว่า



“Lie Sunday” หรือ “การโกหก วันอาทิตย์” (วันเข้าโบสถ์ของคริสต์ศาสนิกชน)





ขณะเดียวกัน ชื่อของ Daniel Plainview เอง ก็เรียงลำดับใหม่ได้ดังนี้



“Lie and Plainview” หรือ “การโกหก และ คุณ Plainview”





ดั้งนั้นสองคนนี้ต่างก็มี “Lie” หรือ “การโกหก” เป็นองค์ประกอบหลักเหมือนๆกัน



ผมอาจจะคิดมากไปเอง แต่เป็นไปได้สูงว่า นี่คือความตั้งใจของ Anderson

เนื่องจากตัวละครในเรื่องใช้ชื่อต่างกับในนิยายต้นฉบับ และร่องรอยการใช้ชื่อที่สื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์อย่าง H.W. ก็ช่วยสนับสนุนการตีความของผมเป็นอย่างดี







การร่วมมือกันของทุนนิยม กับ ศาสนา นั้น แม้จะดูขัดแย้ง แต่ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจ และมีตัวอย่างให้เห็นทั่วไป



สมมติว่า ในบางประเทศที่ระบบกษัตริย์แข็งแรง ประชาชนมีความจงรักภักดี และรักใคร่กษัตริย์ของตนเองมาก กลุ่มบริษัทจากต่างชาติที่เข้ามาประกอบกิจการในประเทศนั้น ก็ต้องสร้างภาพว่า ตนเองจงรักภักดีต่อกษัตริย์ด้วย แม้ว่าเขาอาจยังไม่ได้ทำความรู้จัก หรือรับทราบความดีงามอันน่าเลื่อมใสของกษัตริย์องค์นั้นเท่าไรนัก

ซึ่งนี่ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มลูกค้าในประเทศนั้น การทำตัวเป็น “พวกเดียวกัน” หรือครอบครัวเดียวกัน ทำให้บริษัทได้รับการยอมรับมากขึ้น




เช่นเดียวกัน Daniel รับรู้ความจริงข้อนี้ เขาจึงยอมทุกอย่างเพื่อให้ได้วางท่อน้ำมัน กระทั่งฝืนทำในสิ่งที่เขาเกลียดมากที่สุด





นอกจากนี้ Daniel ยัง (ฝืน) ปฏิบัติตามคำสอนอันเลื่องชื่อของพระเยซูที่ว่า “จงรักศัตรูของท่าน” โดยไม่รู้ตัว


ซึ่งแน่นอนว่าการปฏิบัตินี้ส่งผลดีกับทุกคนในชุมชน เพราะ ชาวบ้านมีงานมีเงิน, Daniel ได้วางท่อน้ำมันสมใจ ขณะที่ Eli ได้ทั้งเงิน และการยอมรับ







ในกรณีของ Daniel อาจไม่ใช่เรื่องแปลก ที่การสร้างภาพลักษณ์ของการเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาแบบเดียวกับชาวบ้านจะส่งผลประโยชน์มหาศาล


แต่ที่น่าแปลกคือ ทำไมคริสต์ศาสนา ที่น่าจะไม่ส่งเสริมเรื่องทางโลก และเรื่องของความโลภ กลับเอื้อประโยชน์ให้กับระบบทุนนิยมได้ถึงเพียงนี้



ก่อนอื่นคงต้องพิจารณาถึงนิยายต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1926 นั้น ถือเป็นปีที่ 21 ของหนังสือ “The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism” หรือ “จริยธรรมโปรเตสแตนต์และจิตวิญญาณแห่งทุนนิยม” ผลงานชิ้นโด่งดังที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1905 ของ Max Weber ผู้ได้รับการขนานนามว่า “ผู้ก่อตั้งวิชาสังคมวิทยาสมัยใหม่”

ซึ่งเนื้อหาในหนังสือมีใจความว่า


โดยทั่วไปแล้ว การอุทิศตนให้กับศาสนามักทำให้เกิดการละเลิกในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับทางโลก ซึ่งรวมถึงการดิ้นรนทางเศรษฐกิจ ปัญหาก็คือทำไมลักษณะเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นในกรณีของนิกายโปรเตสแตนต์? [อ้างอิง 1]



ซึ่ง Weber ให้คำตอบว่า


“ระบบทุนนิยม" เป็นผลมาจาก "การสร้างระบบเหตุผล" (rationalization) ขององค์การและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ "ระบบเหตุผล" นี้มิได้เกิดจากความต้องการชีวิตที่สุขสบาย แต่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า "ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับความโปรดปราน และความรอดจากพระเจ้า"
ผลกำไรและความมั่งคั่งจะเป็นข้อพิสูจน์ที่ว่า ตนเองได้รับพรจากพระเจ้า และถูกรวมอยู่ในบรรดาผู้ที่พระเจ้าเลือกสรรแล้ว (The elect หรือ The predestined) ให้เป็นผู้รอดพ้น

ผู้ที่ถูกพระเจ้าเลือกสรรแล้ว ไม่เพียงแต่ทำงานที่ดีเป็นเรื่องๆ ไปเท่านั้น แต่จะต้องมี "ชีวิตการงานที่ดี" อีกด้วย "การงานที่ดี" ในที่นี้มิได้หมายถึง "การงานทางศาสนา" แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง "การงานทางโลก" อีกด้วย เพราะฉะนั้น "ความเคร่งวินัย" (Asceticism) จึงมิได้ถูกจำกัดอยู่แต่ภายในกำแพงโบสถ์เท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในโรงงาน และสถานที่ทำงานอีกด้วย” [อ้างอิง 2]







นี่อาจเป็นสาเหตุสำคัญที่หนัง และอาจรวมถึงนิยายต้นฉบับ เลือกเล่าเรื่องราวของการพบกันระหว่าง “ทุนนิยม” และ “คริสต์ศาสนา โดยเฉพาะนิกายโปรเตสแตนต์”



ส่วนตัวคิดว่าหนังไม่ได้เน้น และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงประเด็นที่ Weber ได้วิพากษ์วิจารณ์ไว้มากนัก

แต่ก็สามารถหยิบยกมาอ้างอิงถึงพฤติกรรม และสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังได้





แต่นี่ก็เกินความสามารถของผมเช่นเดียวกับเรื่องการเมือง เนื่องจากความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ก็น้อยนิด

(ที่นึกถึงประเด็นนี้เพราะเคยอ่านเรื่องเกี่ยวกับ “ศาสนาและทุนนิยม” ที่มีการอ้างถึง Weber ด้วย ซึ่งในหนังสือกล่าวถึงเพียงแค่ไม่กี่บรรทัดเท่านั้น)



ดังนั้นผมเลยไม่กล้าที่จะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในหนังมากนัก จึงขอจุดประเด็นเอาไว้เพียงเท่านี้




ผู้อ่านท่านใดมีความรู้ ความคิดเห็น ในแง่มุม “เศรษฐศาสตร์และศาสนา” ก็สามารถแบ่งปันกันได้ครับ






รู้สึกได้ว่า There Will Be Blood กำลังเสียดสี และโจมตีระบบทุนนิยมในปัจจุบัน ด้วยการแสดงให้เห็นสภาพที่โดดเดี่ยวไร้ความสุข และหลุดพ้นจากกรอบศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ของ Daniel ในตอนสุดท้าย


และถ้าพิจารณาว่า ในเมื่อหนังโจมตีระบบทุนนิยม ก็ย่อมเป็นการโจมตีนิกายโปรเตสแตนต์ ไปในตัวด้วยเช่นกัน เพราะนิกายนี้สนับสนุนระบบทุนนิยมทางอ้อม



หนังไม่ได้บอกตรงๆว่าหลักปฏิบัติหรือแนวทางของนิกายไม่ดี เพียงแต่บอกว่า “ระบบจัดการ” ที่ไม่รัดกุมของนิกาย ทำให้นักบุญจอมปลอมอย่าง Eli เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้โดยง่าย



ซึ่งหนังก็ให้ภาพของตัวละคร Eli ในแง่ร้ายเต็มที่ จนแทบมองไม่เห็นความดี

และให้ Daniel (ตัวแทนของทุนนิยม) เป็นผู้ลงโทษ Eli (ตัวแทนของความไม่รัดกุมของ โปรเตสแตนต์) ในท้ายที่สุด





เราอาจมองได้ว่า H.W. คือตัวแทนของ คาทอลิก


เพราะ H.W. ผู้ซึ่งหูหนวก ต้องใช้ล่าม (บาทหลวง) เป็นตัวแทนในการติดต่อกับ Daniel (พ่อ, พระเจ้า)

เป็นภาพแทนระบบคาทอลิกที่ต้องมี พระ หรือบาทหลวง เป็นตัวกลางในการติดต่อกับพระเจ้า
(อีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ เมียของ H.W. นั้นชื่อ Mary เหมือนกับ Mary Magdalene หรือ สาวกหญิงคนแรก และสาวกที่ใกล้ชิดพระเยซูมากที่สุด)



ในทุกครั้งที่ H.W. จากไป “เครื่องยึดเหนี่ยวความเป็นมนุษย์” (คริสต์ศาสนา) ของ Daniel ได้จากไปเช่นกัน


เมื่อลองสังเกตก็จะพบว่า ทุกช่วงเวลาที่ Daniel ฆ่าคน เป็นช่วงเวลาที่ H.W. ไม่ได้อยู่กับเขา







สำหรับแง่มุมทางคริสต์ศาสนาใน There Will Be Blood อาจมองในเชิงสัญลักษณ์ ได้ดังนี้



โปรเตสแตนต์ ไม่ได้ช่วยทำให้มนุษย์มีศีลธรรมอันดีตามเป้าหมายของคริสต์ศาสนาได้เลย หนำซ้ำกลับส่งเสริมทุนนิยม ซึ่งทำให้มนุษย์เกิดความโลภ มีกิเลส และยิ่งห่างไกลจากศีลธรรมมากขึ้นไปอีก



สรุปว่า การพบกันของ ระบบทุนนิยม และ คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ สามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้น ตามความต้องการของทุนนิยม
แต่จิตใจของผู้คน อาจเสื่อมถอยลงด้วยความโลภ และกิเลส ซึ่งนี่สวนทางกับความต้องการของคริสต์ศาสนา



ดังนั้น ผู้ชนะตัวจริงก็คือ ระบบทุนนิยม



เหมือนในตอนจบของหนังที่ Daniel กระหน่ำตี Eli จนตายคามือนั่นเอง





การที่หนังโจมตีข้อเสียของ นิกายโปรเตสแตนต์ แบบอ้อมๆนั้น ทำให้ผมสงสัยว่า ผู้กำกับ Anderson นับถือศาสนาอะไร นิกายไหน

แล้วก็ไม่ผิดคาด Anderson เป็น คาทอลิก [อ้างอิง 3]







มาสู่การวิจารณ์กันบ้าง


There Will Be Blood เล่าเรื่องราวอย่างเรียบง่าย ค่อยเป็นค่อยไป แต่ด้วยการแสดงอันยอดเยี่ยมที่ดึงดูดสายตาผู้ชม และความที่เรื่องราวค่อยๆเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่งของหนังไม่น่าเบื่อเลยแม้แต่น้อย แถมยังทรงพลังขึ้นทุกนาที



หนังเป็นเจ้าของฉากเปิดเรื่องอันยอดเยี่ยมที่แทบไม่มีบทสนทนา แต่โชว์เทคนิคการถ่ายทำ และทักษะการเล่าเรื่องด้วยภาพ


พูดถึงงานด้านภาพ Robert Elswit ถ่ายทอดบรรยากาศเวิ้งว้างในมุมกว้างของผืนดินอันแห้งแล้ง รวมถึงการเคลื่อนกล้อง ที่ช่วยสร้างบรรยากาศตรึงเครียดและน่าหวาดหวั่นได้ แม้กระทั่งภาพที่ปรากฏบนจอ จะเป็นเพียงแค่ผืนดินว่างเปล่า

นอกจากนี้ยังช่วยเสริมการแสดงอันยอดเยี่ยมของ Day-Lewis อีกด้วย

เรียกได้ว่า งานกำกับภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างพลังให้กับหนัง เป็นหนังที่ใช้ประโยชน์จากงานด้านภาพได้อย่างคุ้มค่าจริงๆ





ส่วนงานดนตรีประกอบจากฝีมือของ Jonny Greenwood มือกีตาร์วง Radiohead นั้น แม้บางครั้งจะโดดเด่นเกินไปนิด แต่ก็สามารถสร้างอารมณ์ “ไม่น่าไว้ใจ” และ “คาดเดาได้ยาก” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งช่วยเกื้อหนุนให้สไตล์การถ่ายภาพที่เน้นภาพในมุมกว้าง ดูน่ากลัวขึ้นมาได้ อีกทั้งยังช่วยกำกับอารมณ์ของผู้ชมได้อยู่หมัด


ที่ชอบมากๆคือทำนองที่จะสนุกสนานก็ไม่ใช่ น่าหวาดกลัวก็ไม่เชิง ในฉากที่ Daniel ทำแผนที่เพื่อวางท่อส่งน้ำมัน



และถ้าอยากรู้ว่าพลังของดนตรีประกอบช่วยเสริมอารมณ์ของเรื่องราวได้ดีขนาดไหน เวลาดูฉาก “ไฟไหม้แท่นขุด” ให้ลองปิดเสียงดูก็จะรู้







และที่ถือว่าเป็นความยอดเยี่ยมที่สุดเห็นจะเป็นการแสดงของ Daniel Day-Lewis ในบท Daniel Plainview ที่สร้างมิติความลึกทางอารมณ์ และค่อยๆเปิดเผยตัวตนให้ผู้ชมได้รับรู้ ผ่านการแสดงที่ส่วนใหญ่แล้วเป็นการแสดงออกแต่น้อยทางสีหน้าและแววตา

จะยกเว้นก็ตอนท้ายเรื่องที่อาจจะดู “เกิน” ไปสักนิด แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก หนำซ้ำยังทำให้ฉากจบของหนังเป็นฉากที่ peak สุดๆ



เรียกได้ว่า Day-Lewis คือหัวใจหลักของหนัง ด้วยการแสดงที่โดดเด่น ไม่น่าไว้วางใจ แผ่รัศมีน่าเกรงขาม เข้าใจยาก มีมิติซับซ้อน เป็นได้ทั้ง "ตัวร้าย และ ตัวดี" ที่ผู้ชมรู้สึก "หมั่นไส้ และ เห็นใจ" ไปพร้อมๆกัน


นี่คือการแสดงที่น่าทึ่ง และยอดเยี่ยมที่สุดอันดับต้นๆ ในรอบ 10 ปี เลยทีเดียว



ขณะที่ Paul Dano ในบท Eli ก็มอบการแสดงที่น่าประทับใจ และการที่ Dano สามารถร่วมจอกับ Day-Lewis โดยที่ตัวเองไม่ถูกข่มนั้น ก็ถือว่าน่าชมเชยแล้ว นี่ต้องเป็นอีกหนึ่งนักแสดงขายฝีมืออนาคตไกลอีกคน







สำหรับจุดด้อยเล็กๆน้อยๆ ของหนังก็คือ


หนังอาจจะสับสนว่า จะวางตัวเองเป็นหนังเล่าเรื่องราวชีวิตของคนหนึ่งคน หรือจะเป็นการพบกันระหว่างสองขั้วความคิด ที่เลวร้ายพอๆกัน



ก็ถ้าจะเน้นไปที่การพบกันระหว่างสองขั้วความคิด หนังก็พลาดที่ในช่วงครึ่งหลังไปเสียเวลากับการให้รายละเอียด และเพิ่มมิติให้กับตัวละคร Daniel ผ่านตัวละคร Henry น้องชายจอมปลอมมากเกินไป จนตัวละคร Eli ถูกลืมทิ้งไว้ กว่าจะโผล่มาอีกทีก็ตอนท้ายเรื่อง


หรือถ้าจะนำเสนอเรื่องราวชีวิตของ Daniel ก็ควรจะให้เรื่องของ Eli คอยส่งเสริมประเด็นนี้ เพื่อแสดงตัวตนของ Daniel ออกมา ในลักษณะเดียวกับเรื่องราวของ H.W. หรือ เรื่องราวในส่วนของ Henry มากกว่าจะให้ตัวละคร Eli กลายมาเป็นตัวละครหลักของหนัง


หรือถ้าจะควบทั้งสองแบบ ก็ควรทำให้ทั้งสองแบบโดดเด่นเท่ากันตลอดเรื่อง ไม่ใช่พอเล่าเรื่องหนึ่ง ก็ทิ้งอีกเรื่องหนึ่งไปเลย



ซึ่งถ้าทำได้น่าจะทำให้หนังมีเอกภาพ หนักแน่น และยอดเยี่ยมมากกว่านี้





อย่างไรก็ตาม There Will Be Blood ถือว่าเป็นผลงาน Masterpiece ของ Anderson ไปแล้ว

และถ้าพิจารณาว่านี่คือ ผู้กำกับที่อายุแค่ 36 (ตอนกำกับเรื่องนี้) และนี่เป็นเพียงแค่ผลงานหนังใหญ่ชิ้นที่ 5


Anderson ต้องมีผลงาน Masterpiece ในระดับนี้ หรืออาจเยี่ยมกว่านี้ อย่างแน่นอนในอนาคต







There Will Be Blood คือน้ำมันดิบชั้นดี ที่รอให้ผู้ชมขุดขึ้นมา


ซึ่งการขุดน้ำมันครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการขุดค้นจิตใจของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นการขุดค้นประวัติศาสตร์ของ ทุนนิยม และ ศาสนา รวมถึงแง่มุมทางการเมือง อีกด้วย



หากน้ำมันดิบ สามารถนำมา “กลั่น” เพื่อแยกเป็นน้ำมันบริสุทธิ์หลากประเภท เพื่อเป็นเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ได้แล้ว


There Will Be Blood ก็เป็นวัตถุดิบ ที่ผู้ชมสามารถ “กลั่น” เพื่อแยกประเด็นอันหลากหลาย สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงทางความคิด ได้เช่นกัน





9 / 10 ครับ







หมายเหตุ



[อ้างอิง 1: //th.wikipedia.org/wiki/มักซ์_เวเบอร์]


[อ้างอิง 2: บทความ "ศาสนากับการกำเนิดของ ?ระบบทุนนิยม?" โดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ที่มา //www.yimwhan.com/board/show.php?user=UNCLE-CHALOKE&topic=14&Cate=5 คัดลอกจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน. ฉบับประจำวันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2547. คอลัมน์หน้าต่างความจริง, หน้า 6.]


[อ้างอิง 3: //www.myspace.com/paulthomasanderson]



ขอบคุณคุณ Apple101 มากครับ ที่คะยั้นคะยอให้ผมไปหามาดู ไม่ผิดหวังจริงๆ




 

Create Date : 16 กันยายน 2553
9 comments
Last Update : 17 กันยายน 2553 15:45:50 น.
Counter : 7728 Pageviews.

 

คุณลุง Daniel ยังคงอยู่บนจุดสูงสุดเสมอ

 

โดย: jarman 16 กันยายน 2553 10:47:54 น.  

 

อุแหม...เขียนให้ตามที่รีเควสต์ไปจริงๆซะด้วย ขอซูฮกเลยครับที่สามารถนำประเด็นเกี่ยวกับการเมือง,ศาสนา,เศรษฐศาสตร์มาผูกเข้ากับหนังเรื่องนี้ได้ ทึ่งมากครับ(จริงๆ)


ตรงจุดด้อยของหนังที่คุณ navagan ว่ามานั้น ส่วนตัวแล้วผมไม่ค่อยเห็นด้วยสักเท่าไหร่นะครับ เพราะหนังทั้งเรื่องมันก็เป็นการปลอกเปลือกคาแรคเตอร์ของ Daniel มาตั้งแรกแล้ว เรื่องราวการห่ำหั่นกันระหว่าง Daniel กับ Eli ผมว่ามันเป็นแค่ส่วนเสริมที่ทำให้การ"ปลอกเปลือก"ตัวละครของ Daniel มัน"เมามัน"(และมีหลากหลายแง่มุม)ยิ่งขึ้นก็เท่านั้น

ผมจึงไม่เห็นว่าการที่ตัวหนังทิ้งตัวละครของ Eli ไปพักใหญ่ๆตอนครึ่งหลังจะทำให้ตัวหนังเสียสมดุล กลับกัน ผมว่าบทบาทเท่าที่ Eli ได้มีในหนังก็ถือว่ามากเพียงพอแล้วสำหรับการเป็นหนึ่งใน"มีด"ที่ใช้ปลอกเปลือก Daniel (ในฉากสารภาพบาปในโบสถ์)

แต่สุดท้ายก็นานาจิตตังน้อ...คนเราคิดเห็นต่างกันได้

ส่วนตัวแล้วผมยกให้หนังเรื่องนี้เป็น Citizen Kane แห่งยุคเราครับ เพราะเป็นหนังที่ขึ้นชื่อเรื่ององค์ประกอบหนังที่"แน่นปึ้ก"เหมือนกัน(ถึงขานั้นจะเขาขั้นตำนานเพราะเป็นแม่แบบ) เป็นหนังแนว Character study เหมือนกัน มีการแสดงชั้นยอดของนักแสดงนำเหมือนกัน(แต่ถ้าเทียบกันแล้ว...ผมให้การแสดงของลุง Day-Lewis เหมือนกว่าการแสดงของ Welles นะ เอาน่า...คลื่นลูกใหญ่ย่อมใหญ่กว่าคลื่นเก่าได้เป็นธรรมดา)

ถ้าจะให้คะแนน ผมก็ให้ 9.0/10 เหมือนกันครับ

 

โดย: Apple101 16 กันยายน 2553 12:52:11 น.  

 

สำหรับเรา หนังเรื่องนี้ควรได้ออสการ์ยิ่งนัก เราเชียร์มากกว่า No country อีก เพราะมันนิ่งๆแต่รุนแรงยิ่งนัก

และสำหรับการวิจารณ์นี้ ผมขอยกเป็นหนึ่งในการวิจารณ์ที่เยี่ยมยุทธแห่งปีครับ เจาะลึกและครอบคลุมมากๆ

อ่านเรื่องของพ่อและศาสนาไป ทำให้ผมคิดสารตะไปถึงการเมืองบ้านเราซะงั้น...

ขออนุญาตเอาไปแชร์ใน FB นะครับ

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.188.253 20 กันยายน 2553 12:39:01 น.  

 

^
^
^

ด้วยความยินดีครับ

เป็นเกียรติมากๆเลย


 

โดย: navagan 21 กันยายน 2553 3:01:32 น.  

 

เป็นหนึ่งเรื่องที่กำลังจะดู

 

โดย: คนขับช้า IP: 110.49.57.128 24 กันยายน 2553 4:33:03 น.  

 

ขอบคุณที่แวะไปหาที่บล็อกครับ

หนังเรื่องนี้ว่าไปแรงมาก ๆ เลยครับ เป็นเหมือนการปะทะกันของระบบคิดสองระบบเลยก็ว่าได้ ถ้าเป็นเมืองไทยคงได้แต่ฝันครับที่จะทำหนังแบบนี้

 

โดย: I will see U in the next life. IP: 61.19.53.83 24 กันยายน 2553 14:00:50 น.  

 

หูยย ไม่ได้เข้ามาซะนาน

เห็นหนังเรื่องโปรดได้วิจารณ์ซักที ดีใจจริงๆ

วิเคราะห์ได้ยอดเยี่ยมไปเลยแนฟ ยกนิ้วให้

ค่อยๆคิดตามไป รู้สึกว่า เหมือนแนฟปอกเปลือกส้มให้ดูทีละชิ้น

รักหนังเรื่องนี้ รักเดย์ ลูอิส ขอร้องนะป๋าเดย์ อย่ารับงานเยอะ นานๆรับที แบบนี้น่ะ หนูชอบ

 

โดย: i love johnny depp IP: 125.25.208.183 12 พฤศจิกายน 2553 22:40:38 น.  

 

เฮ้


ผมชอบการวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ของคุณมากเลยครับ

 

โดย: Nutonline 31 มีนาคม 2554 22:42:23 น.  

 

What's up, I check your new stuff like every week. Your humoristic style is witty, keep up the good work!
mulberry sale //www.tnsi.com/pinterests.aspx

 

โดย: mulberry sale IP: 94.23.252.21 12 สิงหาคม 2557 22:00:49 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.