All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
5 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 

*** ชั่วฟ้าดินสลาย *** พุทธพบคริสต์ ข้อคิดชีวิตรัก และโช่ตรวนที่มองไม่เห็น

*** ชั่วฟ้าดินสลาย ***






ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่เคยอ่านเรื่องสั้นชื่อเดียวกันกับหนังที่ถือเป็นต้นฉบับ จากฝีมือของ “เรียมเอง” หรือ มาลัย ชูพินิจ นักเขียนรุ่นคุณปู่ รวมถึงไม่เคยอ่าน The Prophet ของ Kahlil Gibran และ A Doll’s House ของ Henrik Ibsen ที่หนังหยิบยกมาอ้างอิงในหนังอยู่หลายครั้ง คล้ายจะเป็นการแสดงความคารวะ รวมถึงเป็นการให้ Credit อยู่กลายๆ (สำหรับ The Prophet นั้นพอจะรู้จัก และเคยอ่านเป็นบางตอน)


เช่นเดียวกับหนังสือต้นฉบับ และหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจทั้งหลาย ผมไม่เคยผ่านตาผลงานของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล เลยซักเรื่อง ซ้ำร้ายเพิ่งจะเคยได้ยินชื่อนี้ ก็ตอนก่อนหนังเรื่องนี้เข้าฉายไม่กี่วัน



ชั่วฟ้าดินสลาย เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ที่ผิดค่านิยมทางสังคมอย่างร้ายแรง อย่างที่ตัวละคร นิพนธ์ (เพ็ญเพชร เพ็ญกุล) บอกเอาไว้ว่า “อย่างกับนิยายเล่มละสลึง”

หนังเล่าเรื่องราวการลักลอบเป็นชู้ของ ยุพดี (เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ม่ายสาวชาวเมือง ที่เป็นเมียใหม่ของ พะโป้ (ธีรพงศ์ เหลียวรักวงศ์) คหบดีม่ายชาวพม่า ผู้เป็นเจ้าของปางไม้ในป่าลึกที่จังหวัดกำแพงเพชร กับ ส่างหม่อง (อนันดา เอเวอริงแฮม) หลานชายบุญธรรมชาวพม่าผู้ไม่ประสีประสาในเรื่องผู้หญิงและความรัก


หนังนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของ พี่ทิพย์ (ศักราช ฤกษ์ธำรงค์) ลูกน้องคนสนิทของพะโป้ โดยเป็นการเล่าเรื่องราวให้นิพนธ์ฟังอีกทอดหนึ่ง



ชั่วฟ้าดินสลาย อาจไม่ใช่หนังที่อัดแน่นด้วยประเด็นอันหนักหน่วงของผู้สร้าง แต่มันก็มีประเด็นที่น่าสนใจในหลายแง่มุมให้ได้วิเคราะห์กันสนุกสมอง







พุทธพบคริสต์



อาจเป็นเพราะผมเพิ่งเขียนบทวิจารณ์หนังที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาไปเมื่อหัวข้อที่แล้ว ทำให้ประเด็นเหล่านี้วาบขึ้นมาในสมองหลังจากดู ชั่วฟ้าดินสลาย จบ แต่จริงๆแล้วน่าจะเกิดจากความตั้งใจของผู้กำกับมากกว่า ที่จงใจเน้นในประเด็นนี้



ในหนังเราจะเห็นภาพของ พะโป้ ในบทบาทของชายผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เขาจัดให้มีการทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา เขามีห้องพระห้องใหญ่ และสวดมนต์ไหว้พระทุกคืน เมื่อจะมีงานมงคลเขาก็จะลงทุนไปขอฤกษ์ยาม-น้ำมนต์ จากวัดในเมือง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พะโป้เป็นชายผู้มักมากในกาม และตัณหาราคะ อย่างไรก็ตามเมื่อได้พบยุพดี เขาก็หยุดตัวเอง และตั้งเอายุพดีเป็นเมียอย่างสมฐานะ



อาจเป็นเพราะแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือการเข้าใจในธรรมชาติ (หรือธรรมะ) เมื่อพะโป้ เห็นความใกล้ชิดของ ยุพดีและส่างหม่อง ที่สาเหตุอาจเกิดจากช่วงวัยที่สมกัน หรือ เป็นเพราะธรรมชาติของวัยหนุ่มสาว ที่ถือว่าอยู่ในช่วงวัยเจริญพันธ์

พะโป้จึงพยายามที่จะทำความเข้าใจ และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยไม่เข้าไปทักท้วงห้ามปราม


อีกทั้งการที่คนทั้งคู่เป็นผู้ที่ตนเองรักมาก และคิดว่าทั้งสองก็คงรักตนเองมากเช่นกัน จึงไม่คิดว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเลยเถิด รวมถึงไม่อยากทำลายความรู้สึกอันดีต่อทั้งคู่ จึงไม่กล้าที่จะปรามความสัมพันธ์นี้







แต่พะโป้กลับพลาดไปอย่างหนึ่ง เพราะธรรมะไม่ใช่แค่การเข้าใจในธรรมชาติ หรือการปล่อยวางเพียงเท่านั้น การอยู่ร่วมกับธรรมชาติก็เป็นอีกหนึ่งใจความสำคัญของธรรมะ

โดยเฉพาะเรื่อง "ความไม่ประมาท" ที่ถือเป็นหนึ่งในคำสอนสำคัญ และเป็นพุทธโอวาทของพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน



เมื่อพะโป้รู้ว่า ยุพดีและส่างหม่อง ลักลอบเป็นชู้กัน พะโป้ก็เริ่มรู้ตัวว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความประมาทของตนเอง



พะโป้พยายามสวดมนต์ข่มใจ แต่ก็ไม่สามารถสวดได้ ราวกับว่าคำสวดที่พร่ำสวดทุกคืนนั้น แท้จริงแล้วเขาเองก็ไม่ได้เข้าใจมันอย่างถ่องแท้



เช่นเดียวกับธรรมะ สิ่งที่พะโป้ไม่สามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ก็คือ ยุพดี

ซึ่งถ้าความหมายของธรรมะในแง่หนึ่ง คือ ธรรมชาติ หากพิจารณาว่า ยุพดีเองก็คือหญิงสาวที่ไม่ต้องการอยู่ในกรอบ หรือกฎเกณฑ์ใดๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น เธอเพียงแค่ต้องการทำตามใจปรารถนาของตัวเอง ตามสัญชาติญาณดั้งเดิม

หรือพูดง่ายๆก็คือ “ตามธรรมชาติของมนุษย์” นั่นเอง



ดังนั้น ยุพดี อาจเปรียบได้กับ ธรรมชาติ ที่ยากจะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้






ชั่วฟ้าดินสลาย ยังสามารถโยงไปถึง มุมมองของศาสนาคริสต์ ได้อย่างกลมกลืน ด้วยการอ้างอิงเรื่องราวในหนัง กับเรื่องเล่าเกี่ยวกับ “มนุษย์และพระเจ้า” ในศาสนาคริสต์ที่ทุกคนรู้จักกันดี นั่นคือเรื่องของ อาดัม (Adam) กับ อีฟ (Eve)

โดยเรื่องราวสามารถซ้อนทับกันได้อย่างพอเหมาะพอดี ดังนี้



อาดัม (ส่างหม่อง) และ อีฟ (ยุพดี) อาศัยอยู่ใน สวนเอเดน (ปางไม้) ของพระเจ้า (พะโป้)

อีฟ (ยุพดี) ถูกล่อลวงโดยมารที่แปลงเป็น งู (กิเลสเรื่องเพศ) ให้เด็ด ผลไม้ต้องห้าม (การละเมิดคำสั่ง) ของพระเจ้าเพื่อรับประทาน และยังส่งต่อให้ อาดัม (ส่างหม่อง) รับประทานด้วย



แต่เดิมนั้น อาดัมและอีฟ เปลือยกายและไม่มีความละอาย แต่เมื่อทำบาป จึงเกิดความละอายเลยต้องใส่เสื้อผ้า


เมื่อพิจารณาถึงแง่มุมนี้ การเปลือยกายของสองดารานำในหนัง จึงไม่ใช่แค่การสร้างจุดขายให้กับหนังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการสื่อประเด็นถึง “อาดัมและอีฟ” ในมุมมองของศาสนาคริสต์

และยังสามารถสื่อถึง “ธรรมชาติ” ในความหมายสากลได้อีกด้วย



โดยการปลดเปลื้องเสื้อผ้า สื่อถึงอิสระที่ปราศจากสิ่งปรุงแต่งที่มนุษย์สร้างขึ้น อย่างค่านิยม กฎเกณฑ์ ประเพณี เพื่อกลับไปสู่ธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์



นี่คือความยอดเยี่ยมของ ชั่วฟ้าดินสลาย ที่สามารถผสมผสานมุมมองของทั้ง พุทธศาสนา และ คริสต์ศาสนา ได้อย่างลงตัว







โซ่ตรวนที่มองไม่เห็น



ชั่วฟ้าดินสลาย ยังทำให้ผมนึกไปถึง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ในประเด็นที่ว่าด้วยการพยายามหลุดพ้นจากกรอบและกฎเกณฑ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อกลับไปสู่ธรรมชาติที่แท้จริง แม้จะไม่เข้มข้นและไปไกลจนสุดขอบอย่างที่ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ได้ทำเอาไว้ก็ตาม



สำหรับตัวเอกของประเด็นนี้ ก็คือ ยุพดี และ โซ่ตรวน ก็ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของหนัง


ยุพดี คือหญิงสาวผู้เบื่อหน่ายในกฎเกณฑ์และค่านิยมทางสังคม ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ (โดยเฉพาะมนุษย์เพศชาย)

เธอคิดว่าการหนีไปอยู่ในป่า ท่ามกลางธรรมชาติ จะทำให้เธอหลุดพ้นจากกฎเกณฑ์เหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามเธอก็หนีไม่พ้นอยู่ดี เพราะว่าถึงจะอยู่ท่ามกลางป่าเขา เธอก็ยังคงต้องอยู่กับมนุษย์ด้วยกันอยู่ดี

ซึ่งทางเดียวที่เธอจะหนีพ้นคือการอยู่คนเดียว


ดังนั้น อาการโหยหาอยากไปเที่ยวภูเขาของยุพดี อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่มุขตลกของหนังเท่านั้น

แต่มันสะท้อนให้เห็นความต้องการที่จะกลับไปปลดเปลื้องพันธนาการ รวมถึงหวนระลึกถึงวันที่เธอและส่างหม่อง มีอิสระเสรีอย่างเต็มที่อีกครั้ง







หากสมมติว่ายุพดีสามารถอยู่คนเดียวลำพังได้จริง เธอก็ยังคงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติอยู่ดี โดยเฉพาะ พฤติกรรม รัก โลภ โกรธ หลง หรือความอยากและกิเลสต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์

แต่นี่ก็ถือเป็นกฎเกณฑ์เดียวที่เธอทำใจยอมรับได้


ซึ่งการจะหลุดพ้นจากกฎเกณฑ์ทั้งหมดในโลกนี้ อาจมีเพียงแค่ความตายเท่านั้น อย่างที่เธอเลือกที่จะหลุดพ้นไปในตอนสุดท้าย



ส่างหม่องเองก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ถูกพันธนาการไว้ด้วย ค่านิยมทางสังคม (เช่น ความกตัญญู) และธรรมชาติของมนุษย์ (เช่น ความปราถนาทางเพศ, ความรัก) แม้มันจะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงก็ตาม


ในท้ายที่สุดส่างหม่อง (และผู้ชม) ก็เข้าใจว่า ถึงจะเอาปืนยิงโซ่ให้ขาดก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นที่คอยพันธนาการอยู่นั้น ยังไม่หลุดออกจากตัวเขา



อย่างที่บอกไปแล้วว่า ความตายน่าจะเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากพันธนาการเหล่านี้ แต่หนังก็ไม่ได้สิ้นหวังขนาดนั้น หนังยังแสดงให้เห็นว่าเราสามารถอยู่ร่วมกับกฎเกณฑ์ทั้งหลายได้ หากเรารู้จักประนีประนอม และอยู่ในกรอบอย่างพอดี โดยไม่ทำให้โซ่ที่ขึงล่ามตึงเกินไป



ก็ถ้าโซ่ไม่ตึง เราก็แทบไม่รู้สึกถึงการถูกล่าม





นอกจากประเด็นที่ว่ามาข้างต้นแล้ว สิ่งที่ทำให้นึกไปถึง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ก็คือ แง่มุมทางการเมืองในอดีต ที่อาจโยงมาถึงปัจจุบันได้

ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่รู้รายละเอียดมากนัก แต่การที่หนังเลือกปี พ.ศ. 2476 (หนึ่งปีหลังจากการเปลี่ยนระบอบการปกครองของไทย) รวมถึงฉากตอนต้นเรื่อง และเรื่องราวที่ว่าด้วยการทรยศผู้มีพระคุณ (ในฐานะที่คล้ายกับ “พ่อบุญธรรม”) ย่อมมีนัยยะสำคัญทางการเมืองอย่างแน่นอน







ข้อคิดชีวิตรัก



ไหนๆก็จั่วหัวเป็นชื่อหัวข้อไว้แล้ว ก็คงต้องเขียนถึง (จริงๆเพราะมันคล้องจองดี เลยตั้งชื่อซะ ) แต่ก็คงไม่เขียนเยอะนะครับ เพราะผมเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตคู่มากมายอะไรขนาดนั้น แถมหนังก็บอกออกมาค่อนข้างชัดเจน คงจะน่าเกลียดเกินไปที่จะเอามาเขียนกันทื่อๆ โดยไม่ได้ต่อยอด หรือวิเคราะห์อะไร



ชั่วฟ้าดินสลาย ให้ข้อคิดและเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้ชีวิตคู่ ที่มักจะต้องพบกับปัญหา และการกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา ซึ่งในหนังก็ “เร่งปฏิกิริยา” ด้วยการจับตัวละครทั้งคู่มาอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชั่วโมง


หนังมีคำแนะนำในการใช้ชีวิตคู่ ผ่านอุปมาอุปมัยที่สวยงาม อย่างเรื่องของการรักษาระยะห่างในชีวิตคู่ ที่เปรียบกับเสาโบสถ์ที่ต้องอยู่ห่างกันเพื่อค้ำยันโบสถ์, การรักกันโดยไม่เห็นแก่ตัว ผ่านเรื่องของการรินน้ำและการดื่มน้ำ และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งก็ขึ้นกับผู้ชมแต่ละคนว่าจะเก็บเกี่ยวไปได้แค่ไหน


หนังยังมีบทกวีที่ว่าด้วยธรรมชาติของความรัก และความสัมพันธ์ ที่แปลออกมาอย่างสวยงามจากหนังสือ The Prophet โดยสำนวนแปลของ ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล



ส่วนตัวคิดว่า ผู้ชมที่มีประสบการณ์การใช้ชีวิตคู่ที่ยาวนาน ย่อมจะเข้าถึง และเข้าใจประเด็นต่างๆในแง่มุมของการใช้ชีวิตคู่จากหนังได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์







มาวิจารณ์กันบ้าง



ชั่วฟ้าดินสลาย มีกลิ่นของความเชยปรากฎอยู่ในตัวหนังค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ Cliché แบบเก่าๆ ที่กลายเป็นฉากเรียกรอยยิ้มโดยไม่ตั้งใจ


อย่างฉากที่ ส่างหม่องมองยุพดีที่เปลือยกายอาบน้ำ แล้วค่อยๆเปลื้องผ้าเตี่ยวของตัวเอง ภาพก็ตัดมาที่ปืนยาวของส่างหม่อง ที่แต่เดิมปากกระบอกปืนทิ่มดิน ค่อยๆชันขึ้น ชันขึ้น (หรือผมคิดมากไปเอง )

หรือตอนที่ทั้งคู่กำลังมีอะไรกันในน้ำ แล้วกำลังจะเสร็จภารกิจ หนังตัดภาพมาที่ปีนยาวของคนงานที่กำลังเล็งไปที่เสือ ก่อนที่จะลั่นไกเสียงดังลั่นสนั่นป่า!


รวมไปถึงมุขเก่าๆแบบละครโทรทัศน์ ที่ตัวละครต้องแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเกินจริง อย่างฉากที่พะโป้คิดถึงแผนการ ขณะกำลังเล่นหมากรุกกับพี่ทิพย์ ก่อนจะเผยแผนการเด็ดพร้อมกับเดินหมากรุก ตามด้วยคำพูดว่า “รุกฆาต” (เชยได้อีก )



อย่างไรก็ตามแม้หนังจะใช้ Cliché เชยๆ หรือดูเกินจริง แต่มันก็ไม่ได้ทำลายเนื้อสารที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อความหมายแต่อย่างใด



หนังยังเป็นเจ้าของมุขฮาที่เหนือคาดในหลายๆตอน แต่การที่หนังมีมุขตลกที่เยอะเกินไป ส่งผลให้มันทำลายความเข้มข้นจริงจังของเรื่องราวลงไปพอสมควร แน่นอนว่ามันส่งผลต่ออารมณ์ร่วมของผู้ชมโดยตรง







งานด้านภาพ และการออกแบบเครื่องแต่งกายในหนังแสดงให้ถึงความพิถีพิถันของทีมงาน แม้ว่างานสร้างเกี่ยวกับฉากในบางตอนจะหลุดโทนและโดดออกมาบ้าง แต่ก็ถือว่ายอมรับได้



สำหรับตัวบท หนังมีปัญหาในเรื่องของการให้น้ำหนักในแต่ละส่วนของเรื่องราวพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และความคิดของส่างหม่องและยุพดีหลังจากถูกล่ามโซ่ติดกัน ที่น่าจะค่อยเป็นค่อยไป ให้ผู้ชมได้ซึมซับถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ


แต่หนังกลับเดินเรื่องไปอย่างรวดเร็วในส่วนนี้ ผู้ชมจึงได้แค่ “รับรู้” ถึงความเปลี่ยนแปลง แต่ไม่ได้ “เข้าใจ” ในความคิดที่ค่อยๆเปลี่ยนไปของตัวละครมากเท่าที่ควร



ขณะที่ข้อด้อยอีกข้อของหนังคือ การตัดต่อที่ไม่ค่อยราบรื่นนักในช่วงแรก







ในส่วนของการแสดง สำหรับนักแสดงที่รับบทเป็นสามตัวละครหลักนั้น ต่างก็ทำหน้าที่ได้ดีตามบทบาทที่ได้รับ


สำหรับ อนันดา และ เฌอมาลย์ ถือว่ามีเสน่ห์ และขึ้นกล้องมากๆ อย่างไรก็ตามการแสดงในบางช่วงบางตอนกลับดูเกินจริงไปสักนิด

นึกถึงตอนที่ทั้งคู่ถูกล่ามโซ่ติดกันใหม่ๆ ที่ดีใจจนถึงขั้นวิ่งกระโดดโลดเต้น นั่งโปรยดอกไม้ หัวเราะคิกคัก ก็เข้าใจว่าต้องการจะสร้างภาพที่ดูมีความสุขมากๆ เพื่อที่จะสร้างความแตกต่างอย่างสุดขั้วในตอนสุดท้าย แต่ว่ามันเกินจริงจนดูไม่น่าเชื่อถือ แถมกลายเป็นเรื่องตลกไปเลย



เอาเป็นว่า นี่คือหนึ่งในการแสดงที่ดีของทั้งคู่ และต้องชมถึงความทุ่มเท อย่างไรก็ตามนี่ยังไม่ใช่การแสดงที่เรียกได้เต็มปากว่ายอดเยี่ยม ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะบทในช่วงกลางถึงท้ายเรื่อง ที่พัฒนาการของตัวละคร ก้าวกระโดดอย่างไม่ต่อเนื่อง



สำหรับตัวละครที่ “ดูดี” ที่สุด ก็คือ ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ ในบท พี่ทิพย์ ซึ่งสาเหตุหนึ่งคงมาจากบทที่ส่งเสริมกันเต็มที่







ชั่วฟ้าดินสลาย คือหนังที่มีประเด็นที่น่าสนใจทิ้งท้ายให้ได้ขบคิด และสามารถต่อยอดความคิดได้อย่างหลากหลาย


หนังเป็นเจ้าของงานด้านภาพที่ยอดเยี่ยม และการแสดงที่ทุ่มเทของนักแสดง



อย่างไรก็ตามหนังยังมีรอยแผลในหลายส่วน ทั้งเรื่องของการกระจายน้ำหนักของเรื่องราว และการแสดงที่เกินจริงและความไม่ต่อเนื่องในพัฒนาการของตัวละคร



โดยรวมแล้ว ชั่วฟ้าดินสลาย ถือว่าเป็นหนังดีเรื่องหนึ่งของปี





7 / 10 ครับ




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2553
6 comments
Last Update : 5 ตุลาคม 2553 14:17:48 น.
Counter : 21048 Pageviews.

 

วิจารณ์ได้ดีค่ะ ยังไม่ได้ดู เพราะจะเสียใจถ้าดูหนังที่บทไม่ดี แม้โปรดักส์ชั่นจะดี แต่ขอชื่นชมวิธีคิดของคุณค่ะ

 

โดย: khorbfaa IP: 58.8.42.69 5 ตุลาคม 2553 10:36:09 น.  

 

ในเรื่องของอาดัมกับอีฟ ถือว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจมากๆเลยครับ ไปดูมาสองรอบแล้ว รู้สึกเห็นด้วยกับพัฒนาการของตัวละคร round character ที่ก้าวกระโดดเกินไปจนไม่ค่อยอิน หรืออินไม่สุด โดยเฉพาะหลังถูกตรวนด้วยโซ่ น่าจะทำให้คนดูรู้สึกถึงความขัดแย้งมากกว่านี้
แต่โดยรวมถือว่าคุณน้อยทำหนังได้ดีนะครับ ถ้าเทียบจากหนังสือต้นฉบับ ผมว่าหนังสือต้นฉบับของครูมาลัย ชูพินิจเองก็ออกจะรวบรัดไปสักหน่อย ไม่ค่อยเห็นถึงความรักของทั้งคู่ ดูมุ่งไปทางความใคร่เลยมากกว่า ไม่เหมือนความรักแบบข้างหลังภาพ

ปล. อยากให้คุณลองหาหนังสือต้นฉบับมาอ่านจังเลยครับ ในหนังสือต้นฉบับ ยุพดีไม่ได้แนะนำให้ส่างหม่องอ่าน The phophet เหมือนในภาพยนตร์ แต่เป็น ขุนช้างขุนแผนซะนี่ ๕๕๕ ไม่รู้ทำไมคุณน้อยถึงเปลี่ยนมาเป็น The phophet แทน

 

โดย: ชิน IP: 124.120.134.89 5 ตุลาคม 2553 12:37:04 น.  

 

ดูแล้ว
กำลังจะไปเก็บรายละเอียดอีกรอบ
ไม่นึกว่าอนันนดาจะเล่นได้ดีขนาดนี้

 

โดย: ะนทนาน IP: 58.11.58.135 5 ตุลาคม 2553 13:17:19 น.  

 

อยากดูค่ะ เคยดูตั้งแต่คุณธิติมาเป็นนางเอกนู้นนแน่ะ

 

โดย: magic-women 5 ตุลาคม 2553 13:40:51 น.  

 

โทษทีครับแนฟ พี่หายไปนานมาก เกือบปีแล้วมั้งเนี่ย

พอดีวันนี้คุณ Beerled โผล่เข้าไปขอแอ๊ดพี่ใน FB ก็เลยนึกถึงเพื่อนๆ อีกหลายคนที่ยังอยู่ใน bloggang แล้วยังไม่ได้เจอกันในโน้นขึ้นมา

เลยขอถามนายโต้งๆ เลยแล้วกันว่าตอนนี้เล่น FB รึยังอ่ะครับผม ถ้าเล่นแล้วจะได้ตามไปแอ๊ด ... แต่ถ้ายังก็ไม่เป็นไร เด๋วถ้ามีเวลา คงได้ตามกลับมาเม้นต์ในนี้แหละครับ ขอบคุณคร้าบ

 

โดย: บลูยอชท์ 13 ตุลาคม 2553 18:18:14 น.  

 

เรื่องนี้ มีอะไรมากก่าที่คิดมากๆๆๆๆๆ

 

โดย: น่ารัก IP: 113.53.160.44 17 พฤศจิกายน 2553 21:24:40 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.