All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2562
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
21 มีนาคม 2562
 
All Blogs
 
*** แสงกระสือ *** การแฝงร่างของสงครามและความแตกต่าง

*** แสงกระสือ ***






แสงกระสือ คือหนังที่หยิบเอาหนึ่งในตัวละครยอดนิยมของไทยอย่างกระสือ มารับใช้เรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของหนุ่มสาววัยรุ่น ที่มีฉากหลังเป็นชนบทของไทยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2



หนังเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของตัวละครที่เป็นเพื่อนกันสามคน,

1. สาย (ภัณฑิรา พิพิธยากร) สาววัยรุ่นที่พบว่าตนเองเป็นกระสือ

2. เจิด (สพล อัศวมั่นคง) เพื่อชายที่แอบรักสาย

3. น้อย (โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์) เพื่อนสนิทในวัยเด็กที่ต้องหนีภัยสงครามจากพระนครกลับมาที่บ้านเกิด



จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ เหมาะสำหรับผู้ที่ได้ดูแล้วเท่านั้น



หมายเหตุ: เป็นการตีความจากเนื้อหาของหนังจากมุมมองส่วนตัว ไม่มั่นใจว่าทางผู้สร้างตั้งใจบอกเล่าประเด็นเหล่านี้หรือไม่






แสงกระสือนำเสนอให้ผู้ชมเห็นว่าสงครามและความขัดแย้งเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยหนังนำเสนอผ่านภาพจำลองของหมู่บ้านเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล ที่ได้รับอิทธิพลจากความกลัวต่อสิ่งที่แตกต่างและไม่เข้าใจ อันเป็นที่มาของความขัดแย้ง



ซึ่งกระสือคือสัญลักษณ์ของความแตกต่างแปลกแยกที่แอบซ่อนอยู่ในสังคม



(กิจวัตรของกระสือคือ กลางวันแฝงตัวอยู่ในร่างกายที่เป็นมนุษย์ กลางคืนแยกร่างเฉพาะตัวตนที่แท้จริงออกมา )





การถ่ายทอดความเป็นกระสือโดยน้ำลายผ่านปาก คืออุปมาอุปไมยถึง การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านคำบอกเล่าจากปากต่อปาก

และหนึ่งในเรื่องราว (น้ำลาย) จากปากที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงก็คือ “การโกหก”





เราจะพบว่าเรื่องราวเลวร้ายลงไปเรื่อยๆจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมนั้น เริ่มมาจากคำโกหก



- การโกหกของน้อยที่บอก ทัด (สุรศักดิ์ วงษ์ไทย) หัวหน้าทีมนักล่ากระสือว่าหมู่บ้านของตนมีกระสือ ทั้งๆที่เขาเองไม่รู้ว่ามันมีกระสืออยู่จริง (อันที่จริงน้อยไม่เชื่อว่ามีกระสืออยู่ด้วยซ้ำ) เพื่อให้ทัดพากลับบ้าน


- การโกหกเพื่อปกปิดตัวตนที่เป็นกระสือของสาย เพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อได้ในสังคม


- การโกหกของเจิดโดยใส่ร้ายทัดเพื่อช่วยสายให้รอดจากการถูกลงทัณฑ์จากสังคม



แม้การโกหกของพวกเขาทำไปเพราะมีเหตุผลที่ยอมรับได้ และเป็นการโกหกเพื่อเอาชีวิตรอด แต่การการโกหกย่อมมีผลตามมาเสมอ






“การแฝงเร้นตัวตนที่แท้จริงอันแตกต่าง” คือ ประเด็นสำคัญของหนัง มันสามารถมองในฐานะแง่มุมทางสังคม แง่มุมทางการเมือง การใช้อำนาจ และการหาประโยชน์จากความกลัว (ซึ่งเป็นประเด็นสากล) ได้อย่างน่าสนใจ





สาย หญิงสาวที่เป็นกระสือโดยไม่ได้ตั้งใจ



จากเรื่องราวในหนัง สถานะของกระสือที่มีต่อคนในหมู่บ้านก็คือ “ศัตรู” ที่ต้องกำจัดทิ้ง นั่นก็เพราะกระสือทำความเสียหายให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขา (กระสือในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ถูกมองเป็นภูตผีแต่มีสถานะเหมือนปิศาจหรือสัตว์ร้ายมากกว่า)

สายที่เป็นกระสือ จึงต้องแฝงเร้นตัวตนเพื่อเอาชีวิตรอดในสังคมที่จ้องจะทำลายอีกตัวตนหนึ่งของเธอ



สาย คือตัวอย่างของคนที่มีความแตกต่างและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม







ทัด นักล่ากระสือ



แท้จริงแล้วทัดก็เป็นเป็นปิศาจไม่ต่างกับสาย เขาแฝงเร้นตัวเองเข้ามาในหมู่บ้านเพื่อตามล่ากระสือ อันเป็นความต้องการส่วนตัวของเขา (ทำเพื่อเป้าหมายของตัวเอง) โดยอาศัยความหวาดกลัวที่มีต่อกระสือของชาวบ้าน เป็นช่องทางในการก้าวเข้ามาเป็นผู้นำของชาวบ้าน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือชาวบ้านจากภัยของกระสือ (อ้างว่าทำเพื่อเป้าหมายของส่วนรวม)



ทัด คือตัวอย่างของคนที่เข้ามาสู่อำนาจ โดยอาศัยเหตุการณ์ไม่สงบในสังคมเป็นข้ออ้างในการตั้งตัวเองเป็นผู้นำในการคลี่คลายปัญหา แต่แท้จริงแล้วมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง






เจิด ชายหนุ่มที่ทำเพื่อความรัก



แม้รู้ว่าสายเป็นกระสือเขาก็ยังคงรักเธอ เจิดจึงแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มนักล่ากระสือของทัด เพื่อที่จะได้รู้ข่าวคราวภายในเพื่อหาทางหนีทีไล่ให้กับสาย



เจิด คือตัวอย่างของคนที่ไม่เห็นด้วยกับสังคมส่วนใหญ่ แต่ต้องยอมตามกระแสของคนส่วนใหญ่เพื่อเอาตัวรอดและหาโอกาสช่วยเหลือคนที่เขารัก






เราจะเห็นว่า ทั้ง สาย, ทัด และ เจิด ต่างก็เป็นคนที่ต้องปกปิดตัวตนและปกปิดความต้องการที่แท้จริงของตนเองต่อสังคม



แต่มีคนหนึ่งที่ไม่ต้องปกปิดตัวตนและความต้องการของตัวเองมากนัก คนคนนั้นก็คือน้อย





น้อย คือคนธรรมดาที่ไม่ได้แตกต่างหรือแปลกแยกกับคนในสังคม แต่น้อยคือคนที่ไม่เห็นด้วยกับสังคมส่วนใหญ่ น้อยจึงเป็น “คนส่วนน้อย” ของสังคมตามชื่อของเขา



ด้วยความที่เขาเชื่อในวิทยาศาสตร์และเชื่อในหลักการและเหตุผล เขาจึงพยายามหาวิธีช่วยเหลือสายแบบมีหลักการและเหตุผล (เช่น ศึกษาเรื่องพืชสมุนไพร รวมไปถึงมองเรื่องของกระสือในลักษณะเดียวกับที่มองโรคติดต่อ)

วิธีการมองและตัดสินเรื่องราวในสังคมของน้อยก็อยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผล (จริงอยู่ว่าเขาช่วยสายเพราะอารมณ์ความรัก แต่หนังก็ปูให้ผู้ชมรู้ว่าน้อยคิดและตัดสินใจด้วยเหตุผลร่วมด้วย)

ต่างจากชาวบ้านที่ใช้อารมณ์ตัดสิน โดยเฉพาะอารมณ์ความกลัว (กลัวในสิ่งที่ไม่รู้ กลัวในความแตกต่าง) โดยไม่พยายามใช้เหตุผลมากนัก



ดังนั้นเราจะพบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่พยายามขจัดความแตกต่างและความไม่รู้ (กระสือ) ทิ้งไป

ในขณะที่น้อยพยายามทำความเข้าใจ ศึกษา ในสิ่งที่แตกต่าง (กระสือ) และหาวิธีในการอยู่ร่วมกัน



น้อย คือตัวอย่างของคนกลุ่มน้อยในสังคม ที่ยอมรับในความแตกต่าง และพยายามหาวิธีอยู่ร่วมกันในสังคม






แสงกระสือ จึงเป็นหนังที่ว่าด้วยการจำลองความเป็นไปของสังคมมนุษย์ที่ "ความแตกต่าง" และ "ความกลัว" ก่อให้เกิดความขัดแย้งและลุกลามไปเป็นสงครามและความวุ่นวายได้อยู่เสมอ



หนังย้ำประเด็นนี้ให้เห็นว่า เรื่องราวความวุ่นวายที่เราเห็นในหนังนั้น เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในยุคสมัยก่อน (เรื่องของพระและเมียที่เป็นกระสือ)

อีกทั้งยังมีตำนานที่เล่าขานกันมานานในทำนองเดียวกัน ที่สำคัญคือหนังยังใช้ฉากหลังของเรื่องราวเป็นช่วงสงคราม ราวกับจะบอกว่า



สงครามและความขัดแย้งของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมดาที่พร้อมจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ






บทหนังของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ใช้ประโยชน์ของลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของกระสือได้อย่างคุ้มค่า

จากหนังที่เริ่มต้นด้วยรักสามเศร้ากลายเป็นหนังที่ไปไกลถึงขั้นวิพากษ์วิจารณ์ภาพกว้างของสังคมได้อย่างคมคาย

ข้อดีอีกอย่างของบทหนังก็คือ การทำให้ให้ผู้ชมคาดเดาไม่ถูกว่าหนังจะดำเนินต่อไปอย่างไร นั่นทำให้หนังสร้างความประหลาดใจได้เรื่อยๆไปจนจบ



นักแสดงหลักทั้ง 4 คนทำหน้าที่ได้อย่างดี โดยเฉพาะ ภัณฑิรา พิพิธยากร ในบทสาย ที่แสดงออกทางสีหน้าและแววตาได้อย่างยอดเยี่ยม นี่เองที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจอารมณ์ของเธอได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องพูดหรือแสดงท่าทางออกมามากมาย



ผู้กำกับ สิทธิศิริ มงคลศิริ คุมโทนของหนังได้ค่อนข้างดี และยอดเยี่ยมในการค่อยๆเร่งเร้าอารมณ์ของผู้ชม ด้วยการไล่ระดับความตึงเครียดให้เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนหนังจบ

อย่างไรก็ดี ยังสามารถพบเห็นความไม่สมบูรณ์ของหนังอยู่บ้างในบางช่วง (บางฉากดูไม่ต่อเนื่องราวกับถ่ายมาไม่พอ บางฉากดูรวบรัดเพื่อปกปิดร่องรอยที่ไม่สมบูรณ์)






แสงกระสือ อาจไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ถือว่าเป็นความบันเทิงที่ยอดเยี่ยม หนังเหมือนเป็นการผสมผสานหนังผีไทยในสมัยก่อน แต่เล่าด้วยสายตา มุมมอง และท่าทีแบบสมัยใหม่


ที่สำคัญประเด็นของหนังนั้นหนักแน่น ร่วมสมัย และสามารถดึงเอาความเป็นกระสือและหนังผีไทยอันเป็นขนบแบบเก่ามารับใช้สารที่ต้องการสื่อสารได้อย่างคุ้มค่าและน่าสนใจ





8 / 10 ครับ




Create Date : 21 มีนาคม 2562
Last Update : 22 มีนาคม 2562 7:20:23 น. 4 comments
Counter : 3572 Pageviews.

 
ไม่รีวิวกัปตันมาเวลเหรอครับ


โดย: somman IP: 110.77.176.112 วันที่: 26 มีนาคม 2562 เวลา:13:45:34 น.  

 
เพิ่งไปดูมาครับ ชอบนะ


โดย: คนขับช้า IP: 125.24.156.69 วันที่: 1 เมษายน 2562 เวลา:20:35:57 น.  

 
ตอบคุณ somman

Captain Marvel รีวิวเอาไว้ใน Facebook page ครับ

https://www.facebook.com/MovieNavigator/



ตอบคุณคนขับช้า

ดีใจที่ชอบครับ


โดย: navagan วันที่: 2 เมษายน 2562 เวลา:0:43:15 น.  

 
กระทู้ที่ตั้งใน Pantip

https://pantip.com/topic/38683221


โดย: navagan วันที่: 2 เมษายน 2562 เวลา:0:44:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.