All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
มกราคม 2563
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 มกราคม 2563
 
All Blogs
 
*** Little Women *** เส้นแบ่งระหว่าง “อิทธิพลของความเป็นชาย” กับ “อิทธิพลของความรัก”

*** Little Women ***






ผลงานดัดแปลงวรรณกรรมปี 1868 อันโด่งดัง (และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาหลายครั้ง) ของ Louisa May Alcott ที่ว่าด้วย 4 สาวพี่น้องที่ต้องเติบโตขึ้นมาในช่วงสงครามกลางเมืองของอเมริกา ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่มีอำนาจเพียงพอจะเอาตัวรอดด้วยตัวเอง



ผู้กำกับ/เขียนบท Greta Gerwig เล่าเรื่องราวการก้าวผ่านวัย จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ของผู้หญิงในยุคของสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ของ 4 สาวพี่น้องตระกูล March อันประกอบด้วย



- Meg (Emma Watson) พี่สาวคนสวยที่เป็นสาวหวาน


- Jo (Saoirse Ronan) หญิงสาวที่อยากเป็นนักเขียน ผู้ไม่ยอมตกอยู่ในกรอบของสังคม


- Beth (Eliza Scanlen) สาวน้อยเรียบร้อยที่ชอบเล่นเปียโน


- Amy (Florence Pugh) สาวน้อยที่ชื่นชอบการวาดภาพที่เอาแต่ใจตัวเอง



(จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง เหมาะสำหรับผู้ที่รับชมแล้วเท่านั้น)






เหมือนกับที่ป้า March (Meryl Streep) คอยสอนหลานๆของเธอว่า เป็นผู้หญิงถ้าไม่แต่งงานกับผู้ชายรวยๆ ก็ต้องมีทรัพย์สมบัติติดตัวมหาศาลถึงจะอยู่อย่างสุขสบายได้โดยไม่ต้องแต่งงาน


ไม่เว้นแม้แต่โลกในจินตนาการอย่าง "โลกในนิยาย" เพราะ Jo ที่ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนนิยาย ยังถูก บ.ก. (Tracy Letts) ให้คำแนะนำว่า "ตัวละครหญิงในนิยาย ถ้าไม่ตายก็ต้องแต่งงาน" นิยายจึงจะเป็นที่นิยม


ราวกับจะบอกว่าผู้หญิงในยุคนั้น ไม่มีทางเลือกในชีวิตอะไรมากนัก ถ้าไม่แต่งงานกับผู้ชายก็ตายไปเสียดีกว่า



นี่คือภาพสะท้อนของสังคมในยุคนั้นที่ผู้หญิงไม่ได้มีทางเลือกอื่นใดในมากนักนอกจากต้องพึ่งพาอำนาจและอิทธิพลของผู้ชาย






หนังเล่าเรื่องผ่านตัวละคร Jo เป็นหลัก ในฐานะที่เป็นตัวละครหญิงหัวก้าวหน้า ที่พยายามจะไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของความเป็นชาย

แต่กลายเป็น Jo ที่ถูก “ความเป็นชาย” เล่นงานอย่างจัง เพราะเธอปฏิเสธความรักจากผู้ชายที่รักเธอ จนทำให้เธอว้าวุ่นใจและเป็นทุกข์ในที่สุด เพียงเพราะว่าเธอคิดว่ามันเป็นการพ่ายแพ้ให้กับระบอบชายเป็นใหญ่


ในความฉลาดก็มีความโง่เขลา Jo คิดไปเองว่าการแต่งงานกับผู้ชายคือการตกอยู่ในระบบชายเป็นใหญ่ กระทั่งรับไม่ได้ที่ Meg จะต้องแต่งงาน

ในขณะที่ Jo เองก็กลัวที่จะลองคบกับ Laurie (Timothée Chalamet) เพื่อนชายแถวบ้านที่แอบชอบ Jo
(แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Jo ไม่ได้คิดกับ Laurie แบบคนรัก แต่เธอก็ปฏิเสธที่จะลองคบเพราะกลัวอิทธิพลของความรักที่จะมีผลต่อความสัมพันธ์ของพวกเขาในอนาคต)



Jo ไม่เข้าใจว่า “ความรัก” ไม่ใช่เรื่องของ “อิทธิพลของความเป็นชาย”



และการแต่งงานเป็นแค่พิธีการ มันไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด
"สาเหตุของการแต่งงาน" ต่างหากที่จะเป็นตัวบอกถึงความแตกต่าง นั่นก็เพราะ



“การแต่งงานเพราะความรัก” ไม่ใช่ “การแต่งงานเพราะความมั่นคงในชีวิต”






เรื่องราวของ Meg จึงเป็นเหมือนตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ Jo ได้เรียนรู้ว่า การแต่งงานกับผู้ชายไม่ใช่การตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเพศชาย

แม้ชีวิตแต่งงานจะมีปัญหาบ้าง แต่ Meg ก็แสดงให้เห็นว่า การแต่งงานไม่ได้หมายถึงการพึ่งพิงผู้ชายเท่านั้น แต่ทั้งชายและหญิงต่างก็ต้องช่วยกันในการนำพาครอบครัวต่อสู้กับปัญหาร่วมกัน


ในขณะที่เรื่องราวความสัมพันธ์แบบพ่อ-ลูกของ Beth และ Mr. Laurence (Chris Cooper) ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ Beth จะได้รับประโยชน์จากอิทธิพลและความร่ำรวยของ Mr. Laurence แต่ในขณะเดียวกัน Beth ก็เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปจากการสูญเสียลูกสาวของ Mr. Laurence ไปพร้อมๆกัน

ทั้งคู่ต่างก็มีอิทธิพลต่อกันและกัน และนี่เป็นความสัมพันธ์ที่งดงาม



เรื่องราวของ Meg และ Beth จึงทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้และเข้าใจไปพร้อมๆกับ Jo ว่า



“อิทธิพลของความเป็นชาย” แตกต่าง “อิทธิพลของความรัก”






อีกตัวละครที่โดดเด่นและมีความสำคัญกับหนังพอกันกับ Jo แต่เป็นขั้วตรงข้ามของ Jo ก็คือ Amy



ในขณะที่ Jo หนีการแต่งงานและหนีการมีความสัมพันธ์กับผู้ชาย

Amy กลับคิดว่าการแต่งงานกับผู้ชายรวยๆสักคน คือหนทางในการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต



แต่ Amy ก็ไม่ต่างกับ Jo ตรงที่มองข้ามและประเมินคุณค่าของ “ความรัก” ต่ำไป

เหมือน Jo ที่กลัวการมีความรัก เพราะไม่อยากตกอยู่ในอำนาจของเพศชาย

Amy กลัวที่จะทำตามความต้องการของหัวใจในการยอมรับความรักที่มีต่อ Laurie (ที่ตอนนี้หันมาชอบเธอแล้ว) เพราะ Amy ไม่อยากตกอยู่ใต้อำนาจของ Jo






น่าสนใจที่ว่า ขณะที่ Jo พยายามปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจของความเป็นชาย

Jo กลับกลายมาเป็นอำนาจที่เหนือกว่า Amy จน Amy พยายามปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจของ Jo



หนังใช้ตัวละครขั้วตรงข้ามอย่าง Jo และ Amy ในการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสิ่งที่กดทับ

อิทธิพลของสิ่งที่กดทับทำให้เกิดการต่อต้าน ซึ่งการต่อต้านอาจทำให้ตัวละครหลงทาง



- Jo ต่อต้านอิทธิพลของความเป็นชาย จนทำให้เธอกลัวความรัก

- Amy ต่อต้านอิทธิพลของ Jo จนทำให้เธอกลัวความรัก



แต่แล้วเมื่อทั้งคู่ได้ตกผลึกทางความคิด ทั้งสองต่างก็เข้าใจว่า ความรักไม่ใช่อิทธิพลที่พวกเธอต่อต้าน






สำหรับประเด็นเรื่องการต่อต้านอิทธิพลของความเป็นชายที่คอยกดทับเพศหญิงในยุคสมัยนั้น หนังให้บทสรุปว่า


Jo เอาชนะอิทธิพลของความเป็นชาย (บ.ก.) โดยไม่ยอมขายลิขสิทธิ์ความเป็นเจ้าของนิยาย

เพียงแค่ Jo ต้องปรับตอนจบเล็กน้อยเท่านั้น (เหมือนที่ Friedrich (Louis Garrel) บอกว่า ความเก่งกาจของ Shakespeare คือการเล่าประเด็นอันซับซ้อนผ่านเรื่องราวที่ถูกใจผู้ชมในวงกว้าง)



เราไม่รู้ว่าเนื้อเรื่องช่วงสุดท้ายเกี่ยวกับความรักใหม่ของ Jo กับ Friedrich ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่เธอปรับแก้ในนิยายกันแน่

แต่ที่แน่ๆก็คือ Jo มี “ลูก” และ “ทรัพย์สมบัติ” ได้โดยไม่ต้องแต่งงานกับผู้ชาย

ซึ่งลูกและทรัพย์สมบัติของ Jo ก็คือนิยาย เรื่อง Little Women นั่นเอง



Jo ก็เรียนรู้ที่จะไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของความเป็นชาย และหาวิธีอยู่ร่วมกับมันได้ในที่สุด






มาที่การวิจารณ์กันบ้าง



ผู้กำกับ/ดัดแปลงบท Greta Gerwig ฉลาดในการดัดแปลงบทหนังและยอดเยี่ยมในการกำกับ (ทั้งกำกับนักแสดงและกำกับอารมณ์ผู้ชม)


นี่คือหนังที่ใช้ “การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลา” ได้อย่างคุ้มค่า เป็นเหตุเป็นผล และช่วยส่งเสริมอารมณ์และประเด็นของหนังได้อย่างชาญฉลาด

เพราะการเล่าแบบไม่เรียงลำดับเวลาของหนังมีเหตุผลเพื่อรองรับประเด็นที่หนังต้องการนำเสนอ ส่งเสริมให้เห็นการเติบโตของตัวละคร รวมถึงการไล่ระดับอารมณ์ของผู้ชม

หนังไม่ได้ตัดสลับให้ผู้ชมสับสนเลยแม้แต่น้อย เพราะหนังมีจุดที่ทำให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่าย เช่นมีฉากแทรกเข้ามาให้รู้ว่านี่คือการนึกย้อนอดีตของ Jo รวมทั้งโทนสีที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลา


ตัวอย่างที่ดีคือ ฉากที่ Beth ตอนเด็กนอนป่วย เมื่อ Jo ที่ตื่นขึ้นมาไม่เจอ Beth นอนบนเตียง จากนั้น Jo เดินลงบันไดมาเจอกับ Beth ที่หายป่วยแล้ว

กับอีกฉากในอีกช่วงเวลาที่ Beth ป่วยเป็นครั้งสุดท้าย Jo ตื่นขึ้นมาไม่เจอ Beth นอนบนเตียง จึงเดินลงบันไดมาเจอกับแม่ที่ร้องไห้อยู่

นี่คือการใช้การเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเวลาที่ขับเน้นความต่างทางอารมณ์ และมันได้ผลดีโดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียด



หรือฉากที่ Amy ในวัยเด็ก ฟังคำของป้า March ที่ถูกแทรกเข้ามาทำให้เราเข้าใจว่าทำไม Amy ตอนโตถึงคิดแบบนี้ หรือการที่เธอเลือกร่างภาพของ Laurie ในการเที่ยวทะเล ที่ตัดแทรกเข้ามาในช่วงที่เธอต้องเผยความในใจต่อ Laurie อีกครั้ง

นั่นทำให้เราเข้าใจความคิดและเหตุผลในใจของตัวละคร Amy ได้อย่างดี






Gerwig ยังเก่งในการกำกับอารมณ์ผู้ชมโดยไม่ต้องโหมประโคมด้วยเทคนิคทางภาพหรือดนตรีประกอบมากมาย เพียงแค่ลำดับการเล่าเรื่องให้ดี และใช้การปูความสัมพันธ์ของตัวละคร

ดังนั้นแค่เสียงเปียโนของ Beth ที่ทำให้ Mr. Laurence ชายแก่ผู้สูญเสียลูกสาวเดินลงบันไดมานั่งฟัง ก็สร้างความซาบซึ้งให้กับผู้ชมได้อย่างทรงพลัง



หนังใช้ตัวละครสี่พี่น้องได้อย่างคุ้มค่า ในการนำเสนอสารและใช้เพื่อสร้างความน่าติดตามให้กับหนัง

แม้ Beth จะมีบทไม่มากนัก แต่ทุกครั้งที่ปรากฏตัวก็สร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมได้อย่างมากมาย

ส่วน Meg แม้จะไม่มีบทบาสำคัญ แต่นี่เป็นตัวละครที่จำเป็นต่อการเติบโตของตัวละครหลักอย่าง Jo และจำเป็นในการเสริมประเด็นต่างๆของหนัง



สำหรับ 2 ตัวละครที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังก็คือ Jo และ Amy


Jo เป็นตัวละครหลักที่ทำหน้าที่ดำเนินเรื่องและเป็นหัวใจของเรื่องนี้ ซึ่ง Saoirse Ronan มอบการแสดงที่เป็นธรรมชาติ และสลับซับซ้อนได้อย่างยอดเยี่ยม


ส่วน Amy คือตัวละครที่โดดเด่นและมีพัฒนาการมากที่สุดในเรื่อง ต้องชมไปที่ Florence Pugh ที่เริ่มจากความสดใสในวัยเด็ก แล้วเปลี่ยนไปเป็นผู้ใหญ่ที่เก็บกดอารมณ์ ก่อนจะเติบโตอีกครั้งเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจหัวใจของตัวเอง






ที่น่าทึ่งอีกอย่างก็คือ แม้จะไม่มีตัวละครเพศชายที่โดดเด่นมากมายในเรื่อง (โดดเด่นที่สุดก็คงเป็นตัวละคร Laurie แต่ก็ถือว่าเป็นตัวละครสมทบที่มีบทรองจาก Jo และ Amy)

แต่ Gerwig ก็สอดแทรก “อิทธิพลของความเป็นชาย” ที่คอยกดทับตัวละคร Jo ลงในบรรยากาศของหนังได้อย่างยอดเยี่ยม



หนังยังใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยทั้งหลายของนักแสดง การวางตำแหน่งภาพ การพูดจา ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นเอกลักษณ์ของตัวละคร

(เช่น Amy คอยดึงจมูกตัวเองเพราะคิดว่าตัวเองจมูกไม่สวยแบบพวกพี่ๆ หรือ สายตาท่าทางที่แตกต่างของ Jo ที่มีต่อ Laurie และ Friedrich)


ซึ่งนี่ถือเป็นหนังที่สามารถศึกษาตัวละครได้อย่างละเอียด และน่าจะเป็นหนังที่มีอะไรให้สังเกตเพิ่มเติมเมื่อดูซ้ำ






Little Women ของ Greta Gerwig ว่าด้วยอิทธิพล 2 อย่างที่มีต่อผู้หญิง นั่นก็คือ อิทธิพลของความเป็นชาย กับ อิทธิพลของความรัก ที่หากมองเพียงผิวเผินแล้วอาจคล้ายกัน แต่สุดท้ายมันแตกต่างกันอย่างมหาศาล

เหมือนที่ตัวละครในเรื่องพูดไว้ว่า เรื่องธรรมดาก็กลายเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมได้เมื่อถูกให้ความสำคัญ และตัวหนังเองก็ยืนยันคำพูดนี้ได้อย่างสมบูรณ์


นี่คือหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมของปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย





10 / 10





Create Date : 20 มกราคม 2563
Last Update : 20 มกราคม 2563 1:33:13 น. 3 comments
Counter : 1994 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse, คุณThe Kop Civil, คุณอุ้มสี


 
เป็นหนังที่น่าดูอีกเรื่องเลยนะคะ
ปล.ดีจังที่กลับมาเขียนบล็อกอีก
เจิมบอก


โดย: อุ้มสี วันที่: 26 มกราคม 2563 เวลา:20:45:22 น.  

 
นานๆมาทีครับ

ขอบคุณมากครับคุณอุ้มสี


โดย: navagan วันที่: 30 มกราคม 2563 เวลา:3:29:31 น.  

 
กระทู้ที่ตั้งใน Pantip

https://pantip.com/topic/39576485


โดย: navagan วันที่: 30 มกราคม 2563 เวลา:3:30:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.