All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
เมษายน 2561
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
27 เมษายน 2561
 
All Blogs
 
*** บุพเพสันนิวาส *** เกศสุรางค์และฟอลคอน กับการรักษาอำนาจของคนนอก

*** บุพเพสันนิวาส ***






ขอออกตัวไว้ก่อนว่า ปกติแล้วแทบจะไม่มีโอกาสชมละครโทรทัศน์มากนัก ดังนั้นจึงไม่ค่อยคุ้นชินกับขนบบางประการของละครโทรทัศน์ ซึ่งบทความนี้เกิดจากมีผู้สนใจอยากให้เขียนถึงละครเรื่องนี้ กอปรกับความโด่งดังอันเป็นกระแสของละครก็มีผลให้อยากพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง การไล่ดูย้อนหลังจึงเกิดขึ้นหลังจากละครได้จบไปแล้ว ซึ่งกระแสของละครตอนนี้ก็เริ่มซาลงไปแล้ว ดังนั้นบทความนี้ขอเขียนเป็นเหมือนบทบันทึกกึ่งวิเคราะห์มากกว่าจะเป็นการวิจารณ์ถึงละครเรื่องนี้ครับ



บุพเพสนนิวาส เล่าเรื่องราวของ เกศสุรางค์ นักโบราณคดีในยุคปัจจุบัน ที่ประสบอุบัติเหตุจนวิญญานหลุดลอยไป เธอพบกับวิญญานของแม่หญิงการะเกด หญิงสาวในอยุธยาในรัชสมัยของพระนารายณ์ ที่ถูกมนต์กฤษณกาลีลงโทษให้ต้องตายเนื่องจากการฆาตกรรมที่แม่หญิงการะเกดได้กระทำไว้


ซึ่งแม่หญิงการะเกดได้ขอให้เกศสุรางค์เข้าไปอยู่ในร่างไว้วิญญานของเธอ เพื่อทำความดีเพื่อแสดงให้ผู้คนเห็นว่า แม่หญิงการะเกดก็เป็นคนดีคนหนึ่งเหมือนกัน




อันที่จริง “การย้อนเวลากลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ของเกศสุรางค์” นั้นก็ไม่ต่างกับ “การศึกษาอดีตของนักประวัติศาสตร์”



แต่การที่เกศสุรางค์เข้าไปสิงร่างของแม่หญิงการะเกด แล้วช่วยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของแม่การะเกดให้เป็นคนที่ดีขึ้น



มองในแง่นี้มันคือ “การกลับไปเปลี่ยนประวัติอันเลวร้ายให้กลายเป็นดี โดยเกศสุรางค์ที่เป็นนักโบราณคดี”


ซึ่งก็อาจจะอุปมาอุปไมยถึง “การกลับไปแก้ไขประวัติศาสตร์อันเลวร้ายในราชสำนักไทยที่มีการแก่งแย่งชิงอำนาจของขุนนางในสมัยพระนารายณ์ให้ดูดีขึ้นมาโดยนักเขียนที่จบโบราณคดีอย่าง “รอมแพง” ที่เป็นผู้แต่งเรื่อง”



แต่การจะเปรียบเทียบในแง่นี้มันก็ไม่ถูกต้องนัก นั่นก็เพราะนี่คือ “ละครอิงประวัติศาสตร์” แถมเรื่องราวการย้อนเวลาก็เป็นเรื่องเหนือจริง ดังนั้นเรื่องราวที่เกิดในละครก็ถูกป่าวประกาศโดยตัวของมันเองอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรื่องจริง (อันที่จริงประวัติศาสตร์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่าเป็นเรื่องจริงอยู่แล้ว)



ดังนั้นนี่คือเรื่องราวแฟนตาซีที่อ้างอิงบางส่วนของเรื่องจริงในมุมมองของผู้เขียนเท่านั้น






สิ่งที่ถูกเล่าควบคู่ไปกับเรื่องราวความรักของเกศสุรางค์ก็คือเรื่องราวในประวัติศาสตร์สมัยพระนารายณ์ที่เต็มไปด้วยชาวต่างชาติและเกมการเมืองภายใน

ซึ่งตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์ยุคนี้อย่าง คอนสแตนติน ฟอลคอน (ที่จะได้ตำแหน่งและเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆในละคร ตามธรรมดาของยุคสมัยที่ชื่อตัวไม่สำคัญเท่าชื่อตำแหน่ง ดังนั้นจะขอเรียกสั้นๆว่า “ฟอลคอน”)



เกศสุรางค์และฟอลคอน คือตัวละครที่สามารถนำมาเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน เพราะต่างก็มีความเหมือนและความต่างที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้แสดงผลลัพธ์ของสิ่งที่ละครต้องการบอกกับเราในท้ายที่สุด (แม้ผู้เขียนบทหรือผู้กำกับอาจไม่ได้ตั้งใจนำเสนอประเด็นเหล่านี้ก็ตาม)



สิ่งที่เหมือนกันระหว่าง เกศสุรางค์ กับ ฟอลคอน ก็คือทั้งคู่เป็น “คนนอก” (ทั้งนอกสถานที่ และนอกเวลา) ของสังคมอยุธยาตอนปลายในสมัยพระนารายณ์ แถมทั้งคู่ยังมาจากที่ที่มีความเจริญมากกว่าอยุธยาในสมัยนั้นอย่างมากมาย

[เกศสุรางค์ มาจากอนาคต ประมาณ 300 ปีข้างหน้า]

[ฟอลคอน มาจากดินแดนตะวันตกที่เจริญกว่า]



ทั้งคู่เป็นคนนอกที่ถูกต่อต้าน ที่อยู่ในรูปแบบของคนที่ถูกต่อต้านในสังคม

[เกศสุรางค์อยู่ในร่างแม่หญิงการะเกดที่ถูกทั้งครอบครัวของออกญาโหราธิบดีเกลียดชัง]

[ฟอลคอนอยู่ในนามของฝรั่งชาวตะวันตกที่ขุนนางของพระนารายณ์เกลียดชัง]



จะยกเว้นก็แต่คนที่มีอำนาจที่สุดในสังคมของทั้งคู่ที่ยอมรับและให้ความสำคัญในการมีอยู่ของพวกเขา

[ออกญาโหราธิบดี ผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านให้การยอมรับและปล่อยให้เกศสุรางค์ในร่างการะเกดสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้]

[พระนารายณ์ ผู้มีอำนาจสูงสุดในฐานะกษัตริย์อยุธยาให้การยอมรับและให้อำนาจทางการเมืองแก่ฟอลคอน]



ดังนั้นสังคมในบ้านออกญาโหราธิบดีก็คือภาพจำลองย่อส่วนของสังคมอยุธยา



ออกญาโหราธิบดี ก็เหมือนกับ พระนารายณ์ ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้าน

เกศสุรางค์ ก็เหมือนกับ ฟอลคอน ในฐานะคนนอกของสังคมที่โดนเกลียดชัง






แต่สิ่งที่ต่างกันระหว่างเกศสุรางค์และฟอลคอนก็คือวิธีการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมที่แตกต่างกับพวกเขาโดยสิ้นเชิง

[เกศสุรางค์ปรับตัวเข้าหาสังคมและค่านิยมของอยุธยาในสมัยนั้นและเอาชนะใจคนในบ้านของออกญาโหราธิบดีได้ในท้ายที่สุด]

[ฟอลคอนที่พยายามจะรวบอำนาจในอยุธยาไว้ในช่วงเปลี่ยนถ่ายอำนาจ แต่ถูกเหล่าขุนนางนำโดยกลุ่มของพระเพทราชากำจัดทิ้ง เพื่อยึดอำนาจคืน]



ความแตกต่างของเกศสุรางค์และฟอลคอนในการเดินเกมรักษาอำนาจนี่เองที่ให้ผลลัพธ์ต่างกัน



สำหรับเกศสุรางค์แล้วแม้จะมีโอกาสใช้ข้อได้เปรียบที่รู้เรื่องราวทั้งหมดจากการศึกษาประวัติศาสตร์ในสมัยนี้ กับข้อได้เปรียบที่มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาการในอนาคต เพื่อหาประโยชน์ส่วนตัวเอง แต่เธอกลับไม่ทำ หรือถ้าทำก็ทำแต่น้อย (ซึ่งแน่นอนว่าเธอสามารถทำได้ถึงขั้นเปลี่ยนประวัติศาสตร์ได้เลย)

เหมือนที่เธอรำพึงรำพันกับตัวเองให้ผู้ชมได้ยินเป็นระยะว่า “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” ซึ่งถือเป็นการยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยไม่พยายามขัดขวาง เหมือนเธอยอมสิโรราบต่อประวัติศาสตร์ที่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

แถมบทบาทของเกศสุรางค์ที่เธอเลือกจะเป็น ก็คือการทำทุกอย่างให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งมันก็คือการให้ความร่วมมือกับประวัติศาสตร์นั้น

ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ต่างกับการใช้ประโยชน์จากการรู้ประวัติศาสตร์ในการเลือกข้างและวางตัวเพื่อเอาตัวรอดนั่นเอง



ส่วน ฟอลคอน ทำในสิ่งตรงข้ามกับเกศสุรางค์ (ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าฟอลคอนนั้นด้อยกว่าเกศสุรางค์ตรงที่เขาไม่รู้อนาคต) ด้วยการใช้ข้อได้เปรียบจากความรู้และวิทยาการ เพื่อสร้างอำนาจ และขยายอำนาจไปเรื่อยๆ แถมยังท้าทายอำนาจเก่า จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมของตัวเองในท้ายที่สุด

(หมายเหตุ: อันที่จริงในประวัตศาสตร์ ฟอลคอนอาจเป็นแค่หมากตัวหนึ่งในเกมการเมืองของพระเพทราชาและพระนารายณ์ ซึ่งสามารถหาอ่านได้ตามหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม แต่ในที่นี้เราจะมองตามเนื้อเรื่องของละครเท่านั้น)






ดังนั้นมองในแง่อำนาจ เกศสุรางค์คือคนที่ยอมปรับตัวเข้ากับสังคมพร้อมกับใช้ข้อได้เปรียบของตัวเอง เพื่ออยู่รอดในสังคม โดยที่ไม่พยายามไปฝืนหรือหักล้างกับสังคมโดยตรง แต่ค่อยๆเข้าครอบงำแล้วใช้วิธีโน้มน้าวคนในสังคมด้วยขนบและค่านิยมของสังคมนั้นๆ



ส่วนฟอลคอนคือคนที่ไม่ปรับตัวเข้ากับสังคม แต่พยายามสั่งสมอำนาจแล้วใช้วิธีบีบบังคับให้สังคมส่วนใหญ่ทำตามค่านิยมและกฏเกณฑ์ที่ตนเองต้องการให้เป็น




ที่เห็นภาพเชิงเปรียบเทียบได้ง่ายเลยก็คือ เกศสุรางค์ไม่ได้เข้าหาแต่ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในบ้านอย่าง ออกญาโหราธิบดีแต่เพียงผู้เดียว เธอพยายามชนะใจทุกคนในบ้าน จนในท้ายที่สุดเมื่อสิ้นออกญาโหราธิบดี เธอก็ยังอยู่ต่อไปได้ในสังคมนี้



ต่างกับฟอลคอนที่เข้าหาแต่ผู้มีอำนาจสูงสุดอย่างพระนารายณ์เพียงผู้เดียว โดยที่ไม่สามารถชนะใจคนอื่นในสังคมได้เลย ดังนั้นเมื่อพระนารายณ์สิ้นพระชนม์เขาก็ต้องหาทางสืบต่ออำนาจ แต่วิธีที่เขาใช้เพื่อสืบอำนาจต่อกลับเป็นการเลือกที่จะปะทะมากกว่าจะประณีประนอม ผลลัพธ์สุดท้ายจึงออกมาอย่างที่เห็น






บุพเพสันนิวาส เป็นละครที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักตามชื่อเรื่องเป็นประเด็นหลัก แต่มันก็แฝงด้วยแง่มุมอำนาจและการเมืองที่เล่าผ่านฉากหลังในยุคสมัยอยุธยา


ส่วนตัวพบว่าการแสดงของนักแสดงดูล้นไปบ้างในบางครั้ง แถมบางฉากบางบทพูดถูกใส่เข้ามาแบบจงใจเกินความจำเป็น (อาจเป็นความไม่ชินกับขนบแบบละครของผมเอง)

เรื่องประวัติศาสตรที่ถูกดัดแปลงส่วนตัวไม่ติดใจอะไร เพราะละครเรื่องนี้วางตัวเองเป็นเรื่องเหนือจริงที่อิงกับประวัติศาสตร์แบบหลวมๆอยู่แล้ว จึงดูได้อย่างเพลิดเพลินลื่นไหลไม่ติดขัดนัก



จุดเด่นที่ต้องชมเชยคือการแสดงของ ราณี แคมเปน ในบทเกศสุรางค์ ที่มีเสน่ห์ และทำให้เชื่อได้จริงๆว่าตัวละครในเรื่องที่เคยเกลียดชังเธอจะกลับมารักชอบเธอได้ในท้ายที่สุด

อีกส่วนที่ทำได้ดีคือการใส่มิติความเป็นมนุษย์ลงไปในตัวละครสำคัญ ทำให้พวกเขาดูมีชีวิต โดยเฉพาะฟอลคอนที่รับบทโดย หลุยส์ สก๊อต ที่เราจะได้เห็นมิติตัวละครที่หลากหลาย ทั้งในแง่ดี แง่ร้ายและเข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใดเขาถึงตัดสินใจทำสิ่งต่างๆลงไป






แม้ภาพรวมจะยังไม่ลงตัว แต่บุพเพสันนิวาส คือละครที่มีมิติความลึกและสามารถคิดต่อยอดได้หลายแง่มุม และเป็นความบันเทิงไปพร้อมๆกัน

เนื้อหาของละครและทีมนักแสดงก็สร้างเสน่ห์เฉพาะตัวจนกลายเป็นความน่าประทับใจ






Create Date : 27 เมษายน 2561
Last Update : 29 เมษายน 2561 1:27:53 น. 1 comments
Counter : 2717 Pageviews.

 
สุดยอดดดดด


โดย: หมุย IP: 223.24.186.69 วันที่: 20 พฤษภาคม 2561 เวลา:17:38:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.