All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2566
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
5 พฤศจิกายน 2566
 
All Blogs
 

*** ไม่มีลูกเต๋าอยู่ในดาวหลุมดำ *** ไม่ใช่ความน่าจะเป็น แต่มันคือสิ่งที่กำลังเป็น

เขียน: กิตติศักดิ์ คงคา
สำนักพิมพ์ 13357







 
ชื่อเรื่องของหนังสือรวมเรื่องสั้นของ กิตติศักดิ์ คงคา เล่มนี้ทำให้นึกไปถึงคำพูดอันโด่งดังของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ ที่กล่าวถึงทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม

ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมว่าด้วย “ความน่าจะเป็น” ซึ่งขัดแย้งกับความคิดของไอน์สไตน์ที่คิดว่า พระเจ้า (หรือธรรมชาติ) ไม่ทอดลูกเต๋า (การทอดลูกเต๋าคือสัญลักษณของความน่าจะเป็น เพราะผลลัพธ์ว่าจะออกเลขอะไรนั้นไม่แน่นอนคาดเดาไม่ได้)

ไอน์ไสตน์เชื่อมั่นว่าธรรมชาติมีเหตุผลและหลักการในการกระทำ ไม่มีความบังเอิญหรือความน่าจะเป็นใด ๆ ทั้งสิ้น



เช่นเดียวกับ ‘เออร์วิน ชโรดิงเจอร์’ ผู้เชื่อเช่นเดียวกับไอน์สไตน์ ชโรดิงเจอร์สร้างการทดลองในจินตนาการเพื่อแสดงให้เห็นสิ่งที่ขัดกับสามัญสำนึกของทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม การทดลองนี้ถูกเรียกว่า ‘แมวของชโรดิงเจอร์’



ในทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัมบอกว่าถ้าไม่ถูกรบกวนโดยผู้สังเกต อนุภาคจะซ้อนทับอยู่ในหลายตำแหน่งตามความน่าจะเป็นที่มันจะอยู่ แต่เมื่อมันถูกสังเกตการณ์มันจะแสดงตำแหน่งที่แน่นอน

แมวของชโรดิงเจอร์ถูกขังอยู่ในกล่องกับยาพิษในคนโทที่สามารถถูกทำลายได้ด้วยการปล่อยรังสีตามทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม หากไม่มีการเปิดกล่องแมวจะอยู่ในสองสถานะที่เป็นไปได้ตามหลักความน่าจะเป็น นั่นคือ 'ความตาย' และ 'การมีชีวิต' ซ้อนทับในห้วงเวลาเดียวกัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ย้อนแย้งกับสามัญสำนึก แต่เมื่อกล่องถูกเปิดโดยผู้สังเกต ความจริงเพียงหนึ่งเดียวก็ปรากฏ





เช่นกันในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ (หลุมดำ/กล่อง) มีเรื่องราว (แมว) มากมายถูกรวมรวมอยู่ ทันทีที่ผู้อ่าน (ผู้สังเกตการณ์) เปิดอ่าน (เปิดกล่อง) ความจริงหนึ่งเดียวก็ปรากฏ ไม่มีความน่าจะเป็นอีกต่อไป (ไม่มีลูกเต๋า)

นั่นหมายความว่าเรื่องแต่แนววิทยาศาสตร์ที่ดูเป็นจินตนาการที่มี ‘ความน่าจะเป็น’ ว่าจะเกิดขึ้นได้อนาคตในเล่มนี้ ต่างก็เป็น ‘เหตุการณ์จริง’ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในปัจจุบัน เพียงแต่มันถูกฉีกทึ้งโดยหลุมดำแล้วประกอบสร้างเป็นเรื่องใหม่ที่ยังมีความจริงซ่อนอยู่
เหมือนที่เรื่องสั้นชื่อว่า ‘อนิยัตินิยมว่าด้วยความทรงจำของชโรดิงเจอร์’ ได้ให้คำจำกัดความโดยรวมของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้เอาไว้



ผมไม่แน่ใจว่าผู้เขียนจงใจตั้งชื่อเล่มด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ผมขออธิบายปรากฏการณ์ไว้แบบนี้








หากผู้อ่านรับได้กับเงื่อนไขทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกหยิยยกมาอ้างอิงแบบไม่เป็นเป็นเหตุเป็นผลเพียงพอและถูกละเลยรายละเอียดได้แล้วล่ะก็ รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ถือว่าอ่านได้สนุกเพลิดเพลิน
แต่ถ้าคุณปฎิเสธตรรกะและเงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นแบบหลวม ๆ ในเรื่องสั้นเหล่านี้ งานนี้ไม่เหมาะกับคุณ

ความเป็นวิทยาศาสตร์ในเรื่องถูกเอามาใช้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องราวและสนับสนุนประเด็นที่ต้องการเล่ามากกว่าจะถูกใช้เป็นแก่นของเรื่อง บางเรื่อง (เช่น ผืนป่าสุดท้ายของอลายเชอู) อาจไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขของความเป็นเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ เรื่องสั้นเหล่านั้นก็ถูกเล่าออกมาได้สมบูรณ์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามแม้ความเป็นวิทยาศาสตร์จะเบาบาง แต่เรื่องราวทั้งหลายต่างก็สะท้อนภาวะปัญหาที่มนุษย์ต้องเผชิญในปัจจุบันได้อย่างดี





ไอเดียการออกแบบรูปเล่มถือว่าทำได้น่าสนใจทั้งการที่หนังสือถูกออกแบบให้อ่านจากด้านหน้าหรือด้านหลังก่อนก็ได้

สิ่งที่ชอบคือการเสียดสีจิกกัดกับเรื่องสั้นที่ชื่อว่า ‘ผลการค้นหาเรื่องการกวาดล้างผู้เห็นต่างในหอความทรงจำแห่งชาติ’ ที่ไม่มีตัวอักษรใด ๆ นอกจากความว่างเปล่าราวกับจะบอกว่า ‘การกวาดล้างผู้เห็นต่าง’ นั้นถูกทำให้สูญหายไปโดยผู้มีอำนาจจนค้นหาไม่เจอ



เรื่องสั้นที่มีวิธีการนำเสนอที่ดีที่สุดคือเรื่อง ‘กลางกระแสกาลเวลาแห่งสาธารณ์’ ที่ใช้ความ เข้ม-จาง ของตัวอักษรเพื่อแสดงถึงภาวะการยึดติดในตัวตนของตัวละคร

อารมณ์ของเรื่องโดยรวมดูจะแห้งแล้งไปสักนิด แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่มีอารมณ์ขันและความเป็นมนุษย์ให้สัมผัสได้








จากนี้ไปเป็นการสรุปและตีความสั้น ๆ ซึ่งเปิดเผยจุดสำคัญ ไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้อ่าน



1. อัตถิภาวการณ์ของวิญญานไร้รูปรอย

หากต้องการสร้างศาสนาและความเชื่อ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่คำตอบ

เพราะศาสนาเกิดจากความกลัว ซึ่งความกลัวเกิดจาก ‘ความไม่รู้’ และ ‘ความไม่เข้าใจ’

แต่วิทยาศาสตร์คือการแสวงหา ‘ความรู้’ และ ‘ความเข้าใจ’





2. กลางกระแสกาลเวลาแห่งสาธารณ์

ยิ่งความเป็นปัจเจกของตัวตนน้อยลง ก็ยิ่งยึดติดน้อยลง

ยิ่งยึดติดน้อยลง ก็รู้จักความพอเพียง

แต่ความพอเพียงอาจเป็นแค่ยากล่อมประสาทให้ประชาชนเชื่องซึ่งมันทำให้ผู้มีอำนาจปกครองง่าย


น่าสนใจตรงการใช้คำคล้ายกันอย่าง 'ละเลิง' (หลงลืมตัวเพราะความลำพอง) ในตอนต้น และใช้คำว่า 'ระเริง' (ร่าเริงเบิกบานใจ) ในตอนก่อนจบ เพื่ออธิบายความคิดของตัวเอก
มองเผิน ๆ มันอาจดูคล้ายกันแต่ความหมายต่างกันลิบลับ





3. ผืนป่าสุดท้ายของอลายเชอู

เสียดสีได้เจ็บแสบกับการผลักภาระในการรักษ์โลกไว้กับประเทศโลกที่สาม ทั้งที่เขาอยู่อย่างยากลำบาก มีโรคติดต่อคนก็ตายมากมาย แถมยังโรแมนติไซส์ขายการท่องเที่ยว ด้วยการขายความสวยงามจากงานศพไว้ทุกข์ของคนอื่นได้หน้าตาเฉย

ถ้า CO2 + H2O >>> ต้นไม้ >>> กลูโคส (อาหาร) + O2 (อากาศ)
กลายเป็น CO2 + H2O >>> Alyzeyu >>> กลูโคส (อาหาร) + O2 (อากาศ)

ดังนั้น

Alyzeyu = ต้นไม้

แต่เป็นต้นไม้ที่ประเทศเจริญแล้วไม่ยอมปลูก หากก็ต้องการใช้ประโยชน์จากมัน





4. จงเป็นมนุษย์/จงเป็นมนุษย์

ถ้าปัญญาประดิษฐ์ฉลาดล้ำ แต่ไม่ตั้งคำถามต่อความไม่ยุติธรรม ไม่ตั้งคำถามต่อความเป็นไปของโลก ก็ไร้ประโยชน์





5. ร้านแลกเปลี่ยนซื้อขายความฝันครบวงจร

ชายผู้มีความฝันถึงอิสระเสรีในกรงขังแห่งสังคมวรรณะ

แม่ = อดีต

โรคที่ต้องกักตัวเฉพาะในบริเวณ = ระบบวรรณะ การแบ่งชนชั้น

แม่เป็นโรค = อดีตที่มีระบบวรรณะ

ตัวเอกติดอยู่กับแม่ = ตัวเอกติดอยู่กับระบบวรรณะ

การจะอยู่กับแม่ต้องขายฝัน = การจะอยู่กับระบบวรรณะ ต้องละทิ้งอิสระ





6. ดำฤษณาของผู้มาหลังเที่ยงคืน

จักรกลที่โกหกไม่เป็นไม่รู้จักสุดยอดในวิวัฒนาการณ์ของมนุษย์นั่นก็คือการโกหก





7. ฮีโร่อย่างพวกนายน่ะขาดเราไม่ได้หรอก

ยิ่งมีคน(อยากเป็นคน)ดี ยิ่งมีความฉิบหาย





8. อนิยัตินิยมว่าด้วยความทรงจำของชโรดิงเจอร์

หลุมดำที่ดูดกลืนโลกนี้เข้าไปแล้ว แต่เศษซากความทรงจำกระจัดกระจาย ก่อตัวรวมเป็นเรื่องเล่าใหม่ ๆ ที่ยังพบเห็นเศษซากของความจริงเดิม

ว่าแต่มันเป็นแค่ความน่าจะเป็นหรือความจริง

แล้วจะแน่ใจได้อย่างไรว่ายังไม่มีใครเปิดกล่องแล้วหยิบแมวของชโรดิงเจอร์ออกมา








ถือเป็นรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง ในช่วงที่วรรณกรรมไทยขาดแคลนเรื่องแนววิทยาศาสตร์

แม้ความเป็นวิทยาศาสตร์จะยังไม่เข้มข้นสะใจและอาจไม่ได้เป็นเรื่องราวที่แปลกใหม่ก็ตาม




 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2566
0 comments
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2566 10:31:10 น.
Counter : 401 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณLittleMissLuna

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.