All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2562
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
8 ตุลาคม 2562
 
All Blogs
 
*** Joker *** สังคมทำลายตัวเอง

*** Joker ***






ผลงานการหยิบเอาตัวละครชื่อดังของ DC comics อย่าง Joker มาตีความใหม่โดยผู้กำกับ Todd Phillips ถือว่าเป็นได้ทั้งหนัง วิเคราะห์ตัวละคร (Character study) ที่พาผู้ชมเข้าไปสำรวจและทำความเข้าใจความคิดของตัวละคร และเป็นหนังสะท้อนสังคมที่เป็นเหมือนบทบันทึกถึงเหตุการณ์สำคัญในยุคปัจจุบันได้ในเรื่องเดียวกัน

นั่นก็เพราะตัวละคร Arthur Fleck ที่รบบทโดย Joaquin Phoenix นั้น ถูกนำเสนอในฐานะตัวละครที่ถูกสังคมประกอบสร้างขึ้นมาจนกลายเป็น Joker ในท้ายที่สุด (แม้สิ่งที่ Arthur ทำลงไปนั้น จะไม่ได้มีเจตนา หรืออุดมการณ์ใดๆทางการเมืองก็ตาม)



เมื่อ Joker เป็นผลผลิตจากความเลวร้ายของสังคม จึงไม่แปลกที่เราจะถือว่า



Joker คือ ดัชนีชี้วัดความเลวร้ายของสังคม



ดังนั้นการทำความเข้าใจในการถือกำเนิดขึ้นของตัวละคร Joker ก็คือการทำความเข้าใจสังคมในหนัง ซึ่งก็คือเมือง Gotham ช่วงยุค 1980s

และภาพของเมือง Gotham ที่หนังนำเสนอนั้นก็ไม่ต่างจากภาพของสังคมทุนนิยมในปัจจุบัน ที่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ชนชั้นล่างถูกเพิกเฉย จนเริ่มมีการประท้วงจากชนชั้นล่างในหลายประเทศ ซึ่ง “ความเหลื่อมล้ำ” กลายเป็นกระแสโลกที่ร้อนแรงมากในช่วงปีที่ผ่านมา (กระทั่งหนังรางวัล Palme d’ Or 2019 อย่าง Parasite ก็ว่าด้วยเรื่องของ “ความเหลื่อมล้ำ” เช่นกัน)



น่าสนใจว่า ช่วงที่ Joker ถ่ายทำ เป็นช่วงที่การประท้วงในฝรั่งเศสที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเดือน มีนาคม 2018 กำลังลุกลามกลายเป็นกลุ่ม “เสื้อกั๊กเหลือง” ในเดือนพฤศจิกายน 2018



นี่เองที่ทำให้ Joker เป็นหนังที่มาถูกที่ถูกเวลา (บังเอิญว่า Joker ใส่เสื้อกั๊กเหลืองอีกด้วย)

ไม่ต่างกับตัวละคร Arthur ที่ถูกสิ่งรอบตัวบีบคั้นอย่างหนักจนระเบิดความกดดันออกมาเป็น Joker ได้ถูกที่ถูกเวลาจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นล่างในที่สุด



(จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)






ไม่แน่ใจว่า ผู้กำกับ Todd Phillips ตั้งใจจะสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันหรือเป็นแค่ความบังเอิญ

แต่สิ่งที่มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ผู้กำกับตั้งใจนำเสนอก็คือ การเล่าเรื่องราวที่เป็นสากลของตัวละครที่ไร้ตัวตน ผู้ถูกกดดันจากสังคมจนกลายมาเป็นคนที่ทำลายสังคมนั้นเสียเอง



เราจะพบว่าในเมือง Gotham คนจนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ และถูกเพิกเฉยราวกับไร้ตัวตน ผู้มีอำนาจก็ไม่สามารถที่จะจัดการบริหารบ้านเมืองได้ส่วนพวกชนชั้นสูงก็มองชนชั้นล่างเป็นปัญหา



หากเรากำหนดให้



Arthur = ชนชั้นล่างในสังคม



Arthur มีอาการป่วย เขาต้องพึ่งพาหมอจากหน่วยงานสังคมสงเคราะห์ของรัฐบาล แต่หมอที่ควรจะรับฟังเขากลับไม่รับฟังอะไรเลย

[ชนชั้นปกครองไม่ฟังเสียงชนชั้นล่าง]



จนในที่สุดงบประมาณที่ใช้ในการดูแลคนป่วยที่เป็นชนชั้นล่างเหล่านี้ก็ถูกตัดออกไป

[ชนชั้นปกครองไม่สนใจดูแลปัญหาของชนชั้นล่าง]



Arthur ที่จิตใจป่วยเกินเยียวยา กลายเป็น Joker ที่กลายเป็นอันตรายกับระบบสังคมในที่สุด

[ชนชั้นล่างที่ไม่ได้รับการเยียวยาไม่สามารถทนได้อีกต่อไปจนเกิดการประท้วงต่อต้านระบบสังคมในที่สุด]



จากความเชื่อมโยงข้างต้น Arthur จึงเป็นตัวแทนของชนชั้นล่างในสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ






เพื่อให้ชัดเจน หนังสร้างตัวละครที่มีสถานะสูงกว่า Arthur เพื่อขับเน้นประเด็นให้ชัดเจนขึ้น



1. Penny แม่ (บุญธรรม) ของ Arthur = ผู้ปกครองของ Arthur

Penny แม่ของ Arthur รับเขามาเลี้ยงเพียงเพื่อใช้เขาเป็นข้ออ้างในการสร้างเรื่องโกหก Thomas ว่าเธอมีลูกกับ Thomas (และบางทีอาจเป็นการหลอกตัวเองที่จิตไม่ปกติไปด้วย)



2. Murray Franklin = คนที่ Arthur อยากให้เป็นพ่อ

Murray Franklin พิธีกรชื่อดังที่มีมุขตลกคมคาย จน Arthur ใฝ่ฝันอยากเป็นแบบเขา อยากให้เขายอมรับเป็นลูก แต่สุดท้าย Arthur ก็ถูก Murray หยิบเอาความไม่ได้เรื่องในการแสดงตลกของ Arthur มาล้อเลียนเพื่อเป็นจุดขายของรายการ



เรายังพบว่าแม้แต่คนชนชั้นเดียวกันอย่างเพื่อนร่วมงานของ Arthur ก็ไม่ได้จริงใจและยังหาประโยชน์จากตัวเขาด้วยเช่นกัน







3. Thomas Wayne = คนที่ Arthur คิดว่าเป็นพ่อ

ความสัมพันธ์ของ Thomas Wayne กับ Arthur เป็นสิ่งที่น่าสนใจที่สุด เพราะมันถูกนำมาเทียบเคียงกับความสัมพันธ์ของคนชั้นล่างใน Gotham ได้อย่างดี



Thomas เป็นมหาเศรษฐีที่ Arthur เข้าใจว่าเป็นพ่อของตนเอง
ฉากที่ Arthur เผยความในใจกับ Thomas ในห้องน้ำ คือการเปลือยความในใจของ Arthur ว่าเขาอยากได้รับการยอมรับ อยากได้เพียงแค่อ้อมกอด ก็เท่านั้น (นี่ถือเป็นหนึ่งในฉากที่ยอดเยี่ยมของหนัง) ก่อนจะโดน Thomas ทำลายความหวังเหล่านั้นลงไป

[การไม่พอใจ Thomas ของชนชั้นล่างก็มาจากกรณีที่คล้ายๆกัน เมื่อ Thomas มองชนชั้นล่างว่าเป็นตัวตลก และเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งชนชั้นล่างไม่ได้ต้องการผู้ปกครองที่มองพวกเขาเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข พวกเขาต้องการคนที่เห็นใจและรับฟังพวกเขาก็เท่านั้น]



สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนระหว่างความสัมพันธ์ของ Arthur ในฐานะคนชั้นล่างของสังคมกับผู้ปกครองที่อยู่ชนชั้นบนอย่าง Thomas ก็คือ


Arthur (คนชั้นล่างของสังคม) ไม่ได้อยากถูกมองเป็นตัวปัญหา พวกเขาต้องการเป็นที่ยอมรับ ต้องการเป็นคนที่มี “ตัวตน” ในสังคม






หลังจากถูกสังคมทำร้ายจนรู้สึกไร้ซึ่งความอดทนที่จะอยู่ต่อไป คล้ายกับที่ Arthur จดไว้ในสมุดบันทึกว่า “บางทีการตายของเขาน่าจะมีความหมายมากกว่าการมีชีวิตอยู่”


เขาจึงตัดสินใจไปออกรายการของ Murray เพื่อฆ่าตัวตายออกอากาศ



แต่ก็อย่างที่เห็นก่อนจะได้ฆ่าตัวตาย Arthur เริ่มฆ่าตัวละครที่เป็นตัวแทนต่างๆในสังคม ไม่ว่าจะเป็น



1. ฆ่า Penny แม่เลี้ยงของเขา (หมายถึงการทำลายผู้ปกครองที่หล่อหลอมเขาขึ้นมา)

2. ฆ่า Randal เพื่อนของเขา (หมายถึงการทำลายสังคมที่คอยทำร้ายเขา)

3. ฆ่า Murray พิธีกรที่เป็นเหมือนความใฝ่ฝันของเขา (หมายถึงการทำลายความฝันที่ไม่มีทางเป็นจริงของเขา)



สุดท้ายแม้จะไม่ได้ฆ่าตัวตายในเชิงรูปธรรมตามที่ตั้งใจ

แต่ในเชิงนามธรรม Arthur ได้ตายแล้วเกิดใหม่ในนาม Joker






ฉากการฟื้นขึ้นมาร่ายรำบนรถตำรวจของ Arthur หลังจากได้รับการช่วยเหลือโดยกลุ่มผู้ประท้วงเป็นฉากที่ชัดเจนมากในการอุปมาอุปไมยถึงการถือกำเนิดขึ้นของ Joker


การเกิดใหม่ของเขาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการไม่ยอมรับในระบบกฏเกณฑ์ของสังคม โดยเฉพาะกฏเกณฑ์ที่ถูกตั้งขึ้นและควบคุมโดยอิทธิพลของชนชั้นสูง

ส่วนการตายของ Thomas Wayne ที่เป็นคนที่อยู่ในระดับบนสุดของชนชั้น โดยชนชั้นล่างที่ใส่หน้ากาก Joker คือการแสดงให้เห็นว่า Joker ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นล่างโดยไม่เจาะจงว่า Joker จะต้องเป็นใครคนใดคนหนึ่ง



หากพิจารณาว่า Joker เกิดขึ้นจากคนที่โดนสังคมทำร้ายจนเปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นสัญลักษณ์ในการทำลายสังคม เราสามารถสรุปได้ว่า



Joker คือ ผลผลิตของสังคมที่ย้อนกลับไปทำลายสังคมนั้นเอง





นอกจากนี้ฉากสุดท้ายของหนังยังกลายเป็นมุขตลกที่ดีที่สุดในหนัง



เราจะพบว่าช่วงแรกของหนัง ที่ยังเป็นตัวละครชื่อ Arthur หมอที่สถานสงเคราะห์ไม่สนใจที่จะรับฟังเรื่องที่เขาเล่า หนำซ้ำสถานพยาบาลสงเคราะห์ก็ยังถูกปิดไปในที่สุด

แต่พอเป็นอาชญากรชื่อ Joker หมอกลับตั้งใจฟังเขาเป็นอย่างดี แถมยังได้ย้ายไปอยู่โรงพยาบาลใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย



บางทีนี่อาจเป็นตลกร้ายที่ขำไม่ออกแต่ทรงพลังที่สุดของ Joker






ผู้กำกับ Todd Phillips และ ผู้เขียนบท Scott Silver เลือกที่จะโน้มน้าวให้ผู้ชมเข้าใจ เห็นใจ และคล้อยตามการกระทำของ Arthur โดยไม่นำเสนอมุมมองอื่นที่เป็นทางเลือกให้ผู้ชม

ซึ่งอารมณ์ร่วมและผลกระทบต่อจิตใจของหนังที่มีต่อผู้ชมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเคยมีประสบการณ์แบบ Arthur มากหรือน้อยเพียงใด

สุดท้ายก็ขึ้นกับวิจารณญานของผู้ชมว่าจะเห็นด้วยกับตัวละครนี้หรือไม่



ส่วนตัวแล้วไม่ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดของหนังที่ไม่นำเสนอแง่มุมอื่น นั่นก็เพราะชื่อหนังก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าใครคือตัวละครที่ผู้ชมควรจะได้ทำความรู้จัก

แต่มันก็มีข้อเสียตรงที่หนังดูราบเรียบเกินไปเพราะขาดความคิดที่เป็นขั้วตรงข้ามมาคอยขับเน้น



หนังเป็นเจ้าขององค์ประกอบที่ดีในหลายๆด้านทั้งการถ่ายภาพ การแสดง การออกแบบงานสร้าง แต่น่าเสียดายที่จังหวะของหนังยังไม่ดีพอที่จะทำให้องค์ประกอบดีๆเหล่านี้เป็นที่น่าจดจำและกลายเป็นความเข้มข้นได้อย่างที่ควรจะเป็น



การแสดงของ Joaquin Phoenix ในบท Arthur Fleck/Joker คือส่วนที่ดีและโดดเด่นที่สุดของหนัง นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ชมติดตามหนังไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ






Joker เป็นหนังแนววิเคราะห์ตัวละครที่ทำได้ดีเรื่องหนึ่ง

ไม่เพียงแค่นั้นตัวละครอย่าง Joker ที่เป็นเหมือนผลิตผลของความเลวร้ายของสังคมที่หนังนำเสนอช่างสอดคล้องและสามารถเชื่อมโยงกับสังคมโลกในปัจจุบันได้อย่างเหลือเชื่อ



ดังนั้น Joker จึงเป็นเหมือนภาพสะท้อนของสังคมปัจจุบัน ซึ่งนี่เองที่ทำให้หนังกลายเป็นบทบันทึกแห่งยุคสมัยอีกเรื่องหนึ่ง





8 / 10




Create Date : 08 ตุลาคม 2562
Last Update : 9 ตุลาคม 2562 12:06:40 น. 3 comments
Counter : 3250 Pageviews.

 
กระทู้ที่ตั้งใน Pantip

https://pantip.com/topic/39300169


โดย: navagan วันที่: 10 ตุลาคม 2562 เวลา:1:06:53 น.  

 
Joaquin phoenix ได้ส้รางบรรยากาศแล้วขับเคลื่อนหนังด้วยตัวของเขามากจริงๆ คิดเหมือนกันเลยครับเรื่องการตีความ ของชนชั้นและการบีบคั้นทางสังคม และความราบเรียบของหนัง จังหวะจุดพีคหรือความกดดันยังไม่เท่า the dark night หรือ sicrio 1 ที่ค่อยๆปูมา 1 ชม. เต็มแล้วค่อยมาระเบิดที่กลางถนน ซึ่งมีชั้นเชิงมาลำดับการไล่อารมณืที่น่าสนใจกว่ามาก
ส่วนการแสดงของ joker ให้ความดิบและวิปริตอย่างถึงขั้น แต่ส่งนตัวชอบ การแสดงของ ฮีต เลเจอร์ มากกว่า ทั้งเสียงแววตา ดูน่ากลัวแบบน่าขนลุก


โดย: PR (สมาชิกหมายเลข 5448984 ) วันที่: 14 ตุลาคม 2562 เวลา:13:44:28 น.  

 
ตอบคุณ PR

ใช่เลยครับถ้าเทียบการไล่ระดับความกดดันและความเข้มข้นนี่ห่างชั้นจาก The Dark Knight และผมว่าเทียบไม่ได้กับ Sicario เลยครับ

แต่ก็พอเข้าใจว่าหนังเขาตั้งใจขายการแสดงเป็นหลักเลยละเลยการเน้นในส่วนนี้ไป


โดย: navagan วันที่: 16 ตุลาคม 2562 เวลา:1:10:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.