All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
เมษายน 2563
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
13 เมษายน 2563
 
All Blogs
 
*** The Platform *** คุกจำลองโลก

*** The Platform ***






(แนะนำให้ลองหาหนังเรื่องนี้ดู ก่อนอ่านบทความนี้ครับ ลิขสิทธิ์ของ Netflix)



หนังสเปนของผู้กำกับ Galder Gaztelu-Urrutia เล่าเรื่องราวของคุกประหลาดที่เป็นเหมือนสถานที่ทดลองลับของรัฐบาล โดยห้องขังจะเป็นแนวตั้ง เรียงลำดับห้องตามตัวเลข โดยห้องที่ 1 จะอยู่ชั้นบนสุด

แต่ละห้องจะมีนักโทษ 2 คน เมื่อถึงเวลาให้อาหารในแต่ละวัน อาหารที่ถูกจัดเตรียมอย่างดีและเพียงพอสำหรับทุกคนจะถูกนำไปให้ห้องที่ 1 ได้กินก่อน และสามารถกินเท่าไรก็ได้ไม่จำกัด เมื่อครบเวลาที่กำหนด อาหารที่เหลือจะถูกส่งลงไปห้องข้างล่าง ด้วยเงื่อนไขเดียวกันจนถึงชั้นล่างสุด

เมื่อถึงชั้นล่างสุด โต๊ะอาหารจะเลื่อนกลับไปที่ชั้น 0 ที่อยู่บนสุด เพื่อให้ผู้คุมเตรียมอาหารชุดใหม่อีกครั้ง


สำหรับเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ ทุก 1 เดือนนักโทษจะถูกเปลี่ยนห้องขังโดยที่นักโทษเองไม่สามารถรู้ได้ว่า ตัวเองจะได้อยู่ชั้นที่ต่ำลงไปหรือสูงขึ้นมา แต่สิ่งที่พวกเขาเลือกนำติดตัวเข้ามาได้ 1 ชิ้นตั้งแต่เข้ามาในคุกแห่งนี้ จะถูกส่งไปกับพวกเขาทุกชั้น



(จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)






หนังพาผู้ชมตามติดตัวละครชื่อ Goreng นักโทษชายคนใหม่ ที่อาสาเข้ามาอยู่ในคุกนี้ 6 เดือน

Goreng จึงเปรียบเสมือนสายตาของผู้ชมที่พามาสำรวจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้



ทั้งตัวหนัง The Platform และ คุกในหนัง ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็น Model สำหรับจำลองให้ผู้ชมเห็นภาพของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ยุคที่ “ทุนนิยม” เป็นที่ “นิยม” สำหรับมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลก

(ฉากหนึ่งที่ Trimagasi เพื่อนร่วมห้องขังคนแรกของ Goreng พูดว่า Goreng เป็น “คอมมิวนิสต์” หรืออย่างไร ที่จะแบ่งอาหารโดยเท่าเทียมกัน เพราะกติกาง่ายๆในคุกนี้ก็คือใครมีโอกาสอยู่ชั้นบนก็มีสิทธิกินก่อน เนื่องจากลักษณะทางกายภาพและกฎกติกาที่วางไว้ของคุกแห่งนี้ถูกออกแบบให้สอดคลองกับรูปแบบของ “ระบบทุนนิยมเสรีที่ถูกควบคุมโดยรัฐ” ที่แบ่งระดับชั้นของคนโดยการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งต่างกับคอมมิวนิสต์ที่มีนโยบายว่าทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน)



โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร (อาหาร) ของแต่ละคนไม่เท่ากัน แม้ว่ารัฐ (ผู้คุม) จะจัดสรรทรัพยากร (อาหาร) ไว้เพียงพอสำหรับทุกคน แต่คนที่มีทุนและโอกาส (อยู่ชั้นบน) ย่อมมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร (อาหาร) ก่อน และแม้ว่ารัฐจะกำหนดช่วงเวลาสัมปทานในการถือครองทรัพยากร (จำกัดเวลาในการรับประทาน) และสั่งห้ามครอบครองโดยถาวร พร้อมมาตรการลงโทษ (ถ้ากักตุนอาหาร ห้องจะร้อนหรือเย็นจนอยู่ไม่ได้) แต่ทรัพยากร (อาหาร) ก็ถูกครอบครองโดยคนไม่กี่คน และไม่ทั่วถึงลงไปถึงชนชั้นล่าง



จากข้อความด้านบน คงไม่เกินเลยนักที่จะบอกว่า



“นี่คือคุกที่จำลองความจริงของสังคมมนุษย์ในโลกปัจจุบัน”






ในคุกแห่งนี้ยังมีการสับเปลี่ยนลำดับชั้นของห้องขังทุกเดือน ซึ่งเป็นเหมือนการใส่ค่าตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้ในโลกแห่งความจริง ที่วันหนึ่งคุณอาจกลายเป็นคนในอีกระดับชั้นขึ้นมาก็ได้



หากวันหนึ่งคุณอยู่ชั้นบน แล้วต้องกลายมาอยู่ชั้นล่าง ศีลธรรมอันดีงามของคุณจะยังคงอยู่ (โดยที่ตัวเองไม่อดตาย) หรือไม่ ?


แล้วหากคุณได้เลื่อนชั้นจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน จากคนที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาชีวิตรอด จะกลายเป็นคนดีมีศีลธรรม ได้หรือไม่ ?

ในเมื่อคุณมีประสบการณ์รับรู้ว่าคนอื่นๆที่อยู่ข้างล่างคุณนั้น ครั้งหนึ่งก็เคยอยู่สูงกว่าคุณ คอยกอบโกยตักตวงผลประโยชน์โดยไม่สนใจคุณที่อยู่ข้างล่างแม้แต่น้อย



เหล่านี้คือสิ่งที่หนังแสดงให้เห็นในเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก






สิ่งที่ Goreng และ Imogiri เพื่อร่วมห้องขังคนที่สองของเขา (ที่เคยเป็นเจ้าหน้าที่คัดคนเข้ามาอยู่ในคุกแห่งนี้) มีเหมือนกันก็คืออุดมการณ์และความเชื่อว่า พวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมที่แบ่งเป็นระดับชั้นได้ด้วยการ “หว่านล้อม”



Imogiri พยายามสอนและโน้มน้าวให้ทุกคนแบ่งอาหารส่วนหนึ่งไว้ให้ชั้นถัดไปเป็นเวลากว่าครึ่งเดือนแต่ก็ไม่เป็นผล

แต่พอ Goreng บอกว่าถ้าไม่ทำตาม จะถ่ายอุจจาระใส่อาหาร ทุกคนที่อยู่ชั้นล่างกลับกลัวและทำตาม ซึ่งนี่ก็คือความหมายของ “การบังคับใช้กฎหมาย”



อย่างไรก็ตามเราก็ไม่มั่นใจว่ามันจะถูกส่งต่อไปได้ไกลอีกกี่ชั้น และเราจะบังคับคนชั้นบนได้อย่างไร ในเมื่อเขาอยู่สูงกว่าพวกเขา






ฉากที่น่าสนใจฉากหนึ่งเมื่อ Goreng ต้องไปอยู่ชั้นที่ต่ำมาก โอกาสที่อาหารจะเหลือมาถึงพวกเขาแทบจะเป็นไปไม่ได้



Goreng พยายามจะไม่กินเนื้อของ Imogiri ที่ชิงฆ่าตัวตายไปแล้ว เขาฉีกหนังสือที่พกติดตัวเข้าไปกิน (หนังสือ Don Quixote ที่ว่าด้วยขุนนางชราผู้ฝันอยากเป็นอัศวิน) แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้เขาอิ่มท้อง

สุดท้าย Goreng ก็ต้องกินเนื้อ Imogiri เพื่อประทังชีวิต



นี่เองที่เป็นการยืนยันว่า



“ในโลกทุนนิยมนั้น อุดมการณ์กินไม่ได้”






เพื่อนร่วมห้องขังคนที่ 3 ของ Goreng คือ Baharat ชายผิวสีที่มองโลกในแง่บวก เชื่อมั่นในพระเจ้า ของติดตัวของเขาคือเชือก ซึ่ง Baharat พยายามจะใช้เชือกเพื่อปีนขึ้นไปชั้นที่สูงกว่า แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากคนชั้นบน

การได้พบกับ Baharat ทำให้ Goreng มีความหวังอีกครั้งในการเปลี่ยนแปลงสังคม เขาต้องการให้ทุกชั้นอิ่มท้องได้ทั้งหมด


Goreng ได้เรียนรู้และเข้าใจแล้วว่า การโน้มน้าวจากชั้นตัวเองยังไงก็ไปไม่ถึงข้างล่าง

Goreng ได้เรียนรู้และเข้าใจแล้ว่า แม้จะขู่ว่าจะละเลงอุจจาระใส่อาหาร ยังไงมันก็ไม่สามารถทำให้อาหารเหลือไปถึงข้างล่าง


Baharat และ Goreng จึงเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ด้วยการทำตัวเป็นผู้คุมเสียเอง โดยเขาจะลงไปพร้อมอาหาร และทำหน้าที่ “แจกจ่ายอาหาร” แทนกลไกที่ทางผู้คุมได้วางเอาไว้



ระหว่างเส้นทางการปฏิวัติสังคมของ Goreng และ Bahart พวกเข้าได้พบกับชายชราผู้เป็นอาจารย์ของ Baharat ซึ่งชายชราได้แนะนำว่า ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงสังคมในคุกนี้ได้เสร็จแล้ว ผู้คมข้างบนจะรับรู้การเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร ?

ดังนั้นจะต้องมีการส่งสัญญาณให้พวกผู้คุมที่ชั้น 0 รับรู้ มันต้องมี “สาร” ที่เป็นตัวบอกว่า พวกเขาทำสำเร็จแล้ว



ขนม Panna Cotta ที่จะต้องไม่มีใครแตะต้อง จึงถูกเลือกให้เหลือไว้ไปถึงชั้น 0






นอกจากเพื่อนร่วมห้องขังของ Goreng ทั้ง 3 คนแล้ว ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในหนังคือ Miharu สาวเอเชียไม่พูดไม่จาที่ออกตามหาลูกไปพร้อมกับแท่นลำเลียงอาหาร

หลายคนต่างก็คิดว่า Miharu น่าจะมีอาการทางประสาท เพราะไม่น่าเป็นไปได้ที่จะมีเด็กอายุต่ำกว่า 16 อยู่ในคุกนี้


สุดท้ายเมื่อ Goreng และ Baharat ได้ลงไปถึงชั้นล่างสุดที่ชั้น 333 ก็ได้พบกับ “เด็กหญิง” ที่น่าจะเป็นลูกของ Miharu

ซึ่งชั้นล่างสุดนี้น่าจะเป็นชั้นพิเศษที่สามารถกักตุนอาหารได้ และคนในชั้นนี้จะไม่ถูกเปลี่ยนไปที่ชั้นอื่น



ที่ชั้นนี้พวกเขาต้องยอมสละ Panna Cotta ให้เด็กหญิงกินเพื่อประทังชีวิต ก่อนจะเปลี่ยนใจใช้เด็กหญิงที่อยู่ชั้นล่างสุดนี้ เป็น “สาร” ที่จะถูกส่งไปที่ชั้น 0 แทน



ประเด็นนี้คือการเปรียบเทียบที่น่าสนใจว่า

ในขณะที่ทุกคนเอาตัวรอดจากการแก่งแย่งอาหาร “เด็กหญิง” ที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นถัดไปกลับถูกเพิกเฉยและเป็นคนไร้ตัวตนอยู่ที่ชั้นล่างสุด


นี่คือภาพสะท้อนให้เห็นว่า การแก่งแย่งทรัพยากรนั้นถูกกระทำโดยไม่สนใจถึงอนาคตข้างหน้าของลูกหลาน ที่จะกลายมาเป็นมนุษย์รุ่นถัดไป



ระบบนี้กำลังเพิกเฉยต่ออนาคตของมนุษยชาติ






หนังจบลงตรงที่ Goreng สละตัวเองอยู่ชั้นล่างสุด แล้วส่งเด็กหญิงขึ้นไปสู่ชั้นบนสุดโดยแท่นขนส่งอาหาร โดยที่หนังตัดจบไปโดยที่เราไม่รู้ว่าเด็กหญิงถูกส่งไปที่ชั้นบนสุดได้สำเร็จหรือไม่


นี่เป็นเหมือนอุปมาอุปไมยที่ยอดเยี่ยมของหนัง



“ตัวหนังเรื่องนี้” ก็คือ “สารที่ผู้สร้างต้องการส่งต่อให้ผู้ชม”


“ผู้สร้างหนัง” ก็คือ “ตัวละคร Goreng”


“กรรมวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคมของ Goreng คือการเข้ามาอยู่ในคุกและลงไปในทุกๆชั้น เพื่อเห็นปัญหา” ก็คือ “กรรมวิธีในการเปลี่ยนแปลงสังคมของหนัง คือการที่หนังนำเสนอปัญหาในแง่มุมที่หลากหลายของสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน”


“เด็กหญิงในฐานะสัญลักษณ์ของสารที่ต้องการส่งถึงผู้คุมที่ชั้นบนสุด” ก็คือ “สัญลักษณ์ที่หนังต้องการส่งถึงสังคม”



สุดท้ายการที่ Goreng (ผู้สร้างหนัง) ยุติบทบาทอยู่ที่ชั้นใต้ดิน คือการส่งต่อหน้าที่ผู้นำสารให้กับผู้ชมที่ได้รับชมหนังเรื่องนี้

และการที่หนังเลือกตัดจบก่อนจะเห็นผลลัพธ์สุดท้ายว่าเด็กหญิงได้ขึ้นไปถึงชั้นบนหรือไม่นั้น ก็คือการ "เปิดโอกาส" ให้ผู้ชมกำหนดชะตากรรมของ เด็กหญิง (สัญลักษณ์ของสาร) ว่าจะรอดไปถึงชั้นบนหรือไม่






ดังนั้นถ้าคุณอยากช่วยให้เด็กหญิงรอดไปถึงชั้นบน (ช่วยให้ประเด็นของหนังถูกรับรู้โดยสังคมวงกว้าง)

คุณก็เพียงแค่แนะนำหนังเรื่องนี้ออกไปเท่านั้น



เหมือนที่ผมกำลังแนะนำให้ทุกคนดูหนังเรื่องนี้






8 / 10





Create Date : 13 เมษายน 2563
Last Update : 13 เมษายน 2563 23:36:49 น. 1 comments
Counter : 2000 Pageviews.

 
กระทู้ที่ตั้งใน Pantip

https://pantip.com/topic/39803385


โดย: navagan วันที่: 17 เมษายน 2563 เวลา:1:54:04 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.