All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
24 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
เรียนจิตวิทยาสังคม จาก *** The Lives of Others *** ศิลปะ การเมือง และเรื่องของคนอื่น

*** The Lives of Others ***






The Lives of Others นำเสนอเรื่องราวในเยอรมันตะวันออก ช่วงปี 1984 ห้าปีก่อนการล่มสลายของกำแพง Berlin และการรวมประเทศของเยอรมนี


ประเทศเยอรมนีถูกแบ่งเป็น 2 ฝ่าย นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุคที่สงครามเย็นกำลังคุกรุ่น ตอนนั้น เยอรมันตะวันออกซึ่งปกครองในระบอบสังคมนิยม ได้จัดตั้ง “ตำรวจลับ” หรือที่เรียกว่า "Stasi" ขึ้น


โดยจุดประสงค์ที่หนังบอกให้รู้ก็คือ “เพื่อรู้ในทุกสิ่ง”


นั่นก็คือ คอยตรวจสอบ สอดแนม ดักฟัง ผู้ที่ “รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์” คิดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของ “ระบอบสังคมนิยม”




Gerd Wiesler (Ulrich Muhe) เจ้าหน้าที่ Stasi ชั้นสูง ได้รับมอบหมายให้จับตาดู Georg Dreyman (Sebastian Koch) นักเขียนบทละครที่ถูกสงสัยว่า “ฝักใฝ่เยอรมันตะวันตก” แต่แท้จริงแล้ว การสอดแนมครั้งนี้มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝง






สาเหตุที่แท้จริงมาจาก Christa-Maria Sieland (Martina Gedeck) นักแสดงละครเวที แฟนสาวของ Dreyman นั้นเป็นที่หมายปองของ ท่านรัฐมนตรี Bruno Hempf (Thomas Thieme) เขาจึงพยายามหาเหตุผลในการเอาผิด Dreyman เพื่อที่จะได้ครอบครองตัว Sieland ไว้คนเดียว


เมื่อ Wiesler เริ่มเข้าไปสอดส่องชีวิตของ Dreyman เขาก็ค่อยๆซึมซับเรื่องราวของความสัมพันธ์ของทั้งคู่


นั่นแทบไม่ต่างจากการนั่งดูละคร หรือ reality show เลย ซึ่งมันได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทัศนคติของ Wiesler ที่มีต่อระบอบการปกครองของประเทศ ถึงขั้นที่เขายอมทรยศอุดมการณ์ที่ยึดมั่นมาตลอด เพื่อช่วยเหลือ Dreyman



นอกจากจะได้รับรางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศในปี 2007 แล้ว The Lives of Others ยังมีแง่มุมทางจิตวิทยาที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ดี ในการศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (Attitude Change)” ได้อีกด้วย


โดยผ่านความสัมพันธ์ของ Wiesler และ Dreyman ที่มีต่อ ระบอบสังคมนิยม






มาเริ่มกันเลย


กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ทัศนคติ (Attitude) หมายถึง ความเชื่อ และความรู้สึกนึกคิดของบุคคล ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นได้ทั้งด้านบวกและด้านลบ และทำให้บุคคลพร้อมที่จะแสดงออกตอบโต้ต่อสิ่งต่างๆ


ทัศนคติเป็นนามธรรมและเป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเครื่องมือกำหนดความคิด และ พฤติกรรมของบุคคล



องค์ประกอบสำคัญของ ทัศนคติ มีอยู่ 3 ประการ คือ


1. ความรู้ หมายถึง ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงความเชื่อที่บุคคลนั้นมีต่อสิ่งนั้นๆ พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้น เราจะมีทัศนคติต่อมันไม่ได้

2. ความรู้สึก หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลที่มีต่อสิ่งนั้นๆ

3. พฤติกรรม หมายถึง เมื่อบุคคลมีทัศนคติในทางใดทางหนึ่งต่อสิ่งนั้นๆแล้ว บุคคลจะแสดงออกมาในลักษณะของการกระทำ หรือ การงดเว้นไม่กระทำ



ในหนังเราจะได้เห็น ทัศนคติของ 3 ตัวละครหลัก ในช่วงแรกของเรื่องราว ที่มีต่อ “ระบอบสังคมนิยม” (หรือ รัฐบาลในเรื่อง)



Wiesler เป็น คนที่ เคร่งครัด และ เชื่อมั่นต่อระบอบนี้อย่างเต็มที่ เขาเต็มใจรับใช้รัฐบาล คอยสอดส่องและลงโทษผู้ที่เขาเห็นว่าเป็นภัยต่อระบอบนี้อย่างจริงจัง


ส่วน Dreyman และ Sieland แม้หนังจะไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ทำไมทั้งคู่ถึงอยู่ในดินแดนตะวันออก แต่เมื่อพิจารณาจะพบว่าในใจลึกๆทั้งคู่ ไม่พอใจในการกระทำของรัฐบาล แต่ก็ยังมีความเกรงกลัวต่อรัฐบาลอยู่ จึงไม่กล้าทำอะไรที่ขัดแย้งกับฝ่ายรัฐบาล






แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ เราก็จะพบว่า ทัศนคติของ Wiesler ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเขารับรู้เรื่องราวของ Dreyman มากขึ้น


หรือพูดได้ว่า

ขณะที่ Wiesler ได้เข้ามาสอดส่องชีวิตของ Dreyman นั้น
เขาก็ค่อยๆถูก Dreyman แทรกแซงเข้ามาในความคิดด้วยเช่นกัน



ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของ Wiesler นั้นเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าจะอธิบายตามทฤษฎีก็ อธิบายได้ดังนี้



การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (Attitude Change) คือ การที่บุคคลนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของทัศนคติ 3 ประการ จนมีผลต่อทัศนคติโดยรวม



ผมจะขอใช้ ทฤษฎีความสมดุล (Balance Theory) ของ Fritz Heider มาอธิบายแล้วกัน


ซึ่งมีหลักการง่ายๆคือ ให้


P (Person) แทนบุคคลที่เราต้องการศึกษา

O (Other) แทนบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องและมีอิทธิพลกับ P

X แทนเป้าหมายของทัศนคตินั้นๆ



และกำหนดให้


สัญลักษณ์ + แทน ทัศนคติในเชิงบวก นั่นคือ เห็นด้วย คิดเห็นไปในทางเดียวกัน หรือ ชื่นชอบ

สัญลักษณ์ - แทน ทัศนคติในเชิงลบ นั่นคือ ไม่เห็นด้วย คิดเห็นตรงกันข้าม หรือ ไม่ชื่นชอบ



ทีนี้ก็ลองมาวาด สามเหลี่ยม ความสัมพันธ์ และใส่เครื่องหมาย + หรือ – แทนทัศนคติของแต่ละคน

ขอยกตัวอย่าง






จากตัวอย่างก็คือ P ไม่ชอบ O, P เห็นด้วยกับการกระทำ X และ O ไม่เห็นด้วยกับการกระทำ X


สำหรับวิธีการอ่านค่าแผนภาพและแปลผล คือ


ถ้าในแผนภาพ มีเครื่องหมาย – เป็นจำนวน “คี่” ก็จะถือว่า ความสัมพันธ์นั้นไม่อยู่ในสภาวะสมดุล และมีแนวโน้มที่จะต้องเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อให้กลับสู่สภาวะสมดุลอีกครั้ง



สำหรับสภาวะที่สมดุล คือ ไม่มีเครื่องหมาย – หรือมีเครื่องหมาย – เป็นจำนวน “คู่”


ฉะนั้น จากภาพตัวอย่าง ถือว่าอยู่ในสภาวะสมดุลแล้ว



ทีนี้เรามาใช้หนังเป็นตัวอย่างในการศึกษากันเลยดีกว่า


แรกเริ่มเดิมทีนั้น Wiesler มีทัศนคติที่ดี (+) ต่อ “ระบอบสังคมนิยม” แต่เมื่อเขาได้เข้ามาเป็น “ผู้ชม” ในละครชีวิตของ Dreyman เขาก็ค่อยๆสร้างความสัมพันธ์ เริ่มผูกพัน และ เห็นใจในชีวิตของ Dreyman นั่นทำให้ Wiesler มีทัศนคติที่ดี (+) ต่อ Dreyman ด้วยเช่นกัน

แต่ Dreyman มีทัศนคติต่อ ระบอบสังคมนิยม ที่ตรงข้ามกับ Wiesler


เมื่อเขียนแผนภาพจะได้ดังรูปข้างล่างนี้






จากรูปเราจะพบว่า นี่เป็น ความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุล



ทีนี้ เมื่อ Wiesler ทราบความจริงว่าแท้จริงแล้ว การสอดแนมนี้เป็นเพราะ รัฐมนตรี Hempf ต้องการหาเรื่องเอาผิด Dreyman เพื่อครอบครองตัว Sieland ทัศนคติของ Wiesler ที่มีต่อ รัฐมนตรี Hempf ก็เป็นไปในเชิงลบ (-)

แม้ทั้งคู่จะมีทัศนคติในทางที่ดี (+) ต่อ ระบอบสังคมนิยม เหมือนกันก็ตาม



เมื่อเขียนแผนภาพจะได้ดังรูปข้างล่างนี้






จากรูปเราจะพบว่า นี่ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลเช่นกัน



ตอนนี้ Wiesler เต็มไปด้วยความสับสนในจิตใจ เมื่อความเชื่อ และ ทัศนคติที่ยึดมั่นมานานถูกสั่นคลอน

ดังนั้นจิตใจของ Wiesler จึงต้องการกลับเข้าสู่สมดุลอีกครั้ง



แต่ Wiesler จะเลือกทางไหนหล่ะ ระหว่าง Dreyman หรือ “ระบอบสังคมนิยม”






จากการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่โน้มน้าวให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติก็คือ การให้ข้อมูลข่าวสาร และวิธีส่งข้อมูลข่าวสาร



เราจะพบว่า ชีวิตของ Wiesler นั้นอ้างว้างและเปลี่ยวเหงาแค่ไหน ในชีวิตเขาแทบจะไม่มีอะไรเลยนอกจากงาน (เรียกได้ว่าเป็นคนที่น่าสงสารคนหนึ่ง ในฉากที่เขาซื้อบริการจากโสเภณี เราจะเห็นว่าเขาต้องการเพื่อนแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการมากกว่า Sex) เขาต้องการสิ่งที่จะเติมเต็มชีวิตของเขา เขาต้องการ “เพื่อน”


แต่เมื่อเขาต้องเกาะติดชีวิตของ Dreyman ถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน (และกลับไปคิดถึงมันที่บ้านอีกไม่รู้กี่ชั่วโมง) นั่นทำให้เขาเสพย์ติด และพัฒนามาเป็นความผูกพัน ถึงขั้นที่เรียกได้ว่า Dreyman อาจจะเป็น "เพื่อน" ที่เขารู้จักมากที่สุดก็ได้ ในช่วงเวลานี้ และนี่เองที่เป็นสิ่งเติมเต็มชีวิตเขา



อีกเหตุผลที่สนับสนุนก็คือ เคยมีคนทำการศึกษาเรื่องการโน้มน้าวใจ พบว่า การให้ข้อมูลทั้งทาง ภาพ และ เสียง จะได้ผลในการโน้มน้าวใจที่ดีกว่า การให้ข้อมูลที่เป็น เสียง หรือ ภาพ เพียงอย่างเดียว

แต่ในกรณีของ Wiesler แล้ว นี่มันยิ่งกว่า ภาพ และ เสียง เพราะว่าตัวเขาเองแทบจะคลุกคลีกับชีวิตของ Dreyman โดยตรง




ดังนั้น Wiesler จึงเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เพื่อปรับเข้าสู่ สภาวะสมดุล ในลักษณะของรูปข้างล่างนี้






นั่นคือ

คงทัศนคติในแง่บวก (+) กับ Dreyman ไว้
แต่เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อ "ระบอบสังคมนิยม" ไปในแง่ลบ (-) แทน




จึงไม่น่าแปลกใจที่ Wiesler จะช่วยเหลือ Dreyman อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับอนาคตของตัวเองมากขนาดไหน แต่นั่นก็ทำให้จิตใจของ Wiesler กลับคืนสู่ความสงบอีกครั้ง


และในท้ายที่สุดแม้เขาจะถูกลงโทษด้วยการลดตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่เชื่อได้ว่าสภาพจิตของเขาได้รับการเยียวยาจนกลับมาสมบูรณ์มากกว่าเดิม






ไม่ใช่แค่เรื่องราวในหนังเท่านั้นที่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยา ความสำเร็จของตัวหนังเองก็สามารถนำมาวิเคราะห์ในแง่มุมนี้ได้เช่นกัน


จากที่ผมได้พูดไปแล้วว่า การให้ข้อมูลทั้งทาง ภาพ และ เสียง จะได้ผลดีกว่า เสียง หรือ ภาพ เพียงอย่างเดียว

ซึ่ง ภาพยนตร์ ก็คือ การให้ข้อมูลทั้งทาง ภาพ และ เสียง รูปแบบหนึ่ง

ดังนั้น หนัง หรือ ภาพยนตร์ จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของ "สื่อ" ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในการโน้มน้าวใจผู้คน




ถ้าเราลองเปรียบเทียบเรื่องราวในหนัง กับอิทธิพลของหนังที่มีต่อผู้ชม



โดยกำหนดให้


ผู้ชม = Wiesler

เนื่องจากนี่คือตัวละครหลักที่เหมือนเป็นตัวแทนผู้ชมในการสังเกตการณ์ชีวิตของผู้คนในหนัง ที่ถูกกระทำ(ร้าย) โดย ระบอบสังคมนิยม

และให้

ทัศนคติของหนัง = ทัศนคติของ Dreyman หรือ ทัศนคติของ Wiesler ในตอนสุดท้าย

นั่นคือ ทัศนคติในเชิงลบ (-) ต่อ ระบอบสังคมนิยม ที่แม้หนังจะไม่ได้โจมตีระบอบนี้โดยตรงก็ตาม (แต่ก็อ้อมๆโดยผ่านตัวละครที่เป็นตัวร้ายของเรื่องอย่าง รัฐมนตรี Hempf) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังเลือกข้างอย่างชัดเจน



The Lives of Others ทำได้สำเร็จในการโน้มน้าวใจผู้ชม ผ่าน “ศิลปะภาพยนตร์”

ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากในหนังเมื่อ “ศิลปะ” หลายแขนงที่ Dreyman เสพย์ ได้ส่งผลถึง Wiesler ด้วยเช่นกัน



เราสามารถเขียนความสัมพันธ์ที่อยู่ในสภาวะสมดุลได้ดังรูปข้างล่างนี้









จากรูปอธิบายได้ดังนี้


สำหรับฝ่าย "เสรีนิยม" มีแนวโน้มที่จะชอบหนังเรื่องนี้มาก เพราะมันสอดคล้องกับทัศนคติเดิมของพวกเขาอยู่แล้ว


หรือในอีกมุมหนึ่งคือ


สำหรับผู้ที่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ มันก็ส่งผลให้เขามีทัศนคติในแง่บวก (+) ต่อฝ่าย "เสรีนิยม" และมีทัศนคติในแง่ลบ (-) ต่อฝ่าย "สังคมนิยม" ด้วยเช่นกัน





ออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้อคติกับตัวหนังนะครับ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่สาเหตุนี้ทำให้หนังได้รับรางวัล Oscar สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยชนะตัวเก็งขวัญใจนักวิจารณ์ (และตัวผม) อย่าง Pan’s Labyrinth ที่มีการพูดถึงการเมืองคล้ายๆกัน


ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างไร เมื่อพิจารณาว่า ฝ่ายอเมริกา (บ้านของคณะกรรมการ และเจ้าภาพในการจัดงาน) เป็นประเทศ "เสรีนิยม" จะมอบรางวัลให้กับหนังเรื่องนี้ เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว Pan’s Labyrinth ไม่ได้โน้มน้าวเราในประเด็นการเมืองมากนัก และเลือกที่จะปล่อยให้ผู้ชมตีความได้อย่างอิสระ แถมตอนจบยังค่อนข้างที่จะหดหู่อีก


ต่างกับ The Lives of Others ที่เลือกที่จะจบอย่างมีความสุข ที่เหมือนเป็นการบอกกับผู้ชมว่า “เลือกฝ่ายเราสิ แล้วจะมีความสุข”



และอีกประเด็นก็คือ ความข้องเกี่ยว ผูกพันกันระหว่าง อเมริกา กับ เยอรมัน ในยุคสงครามเย็น มีมากกว่า สงครามกลางเมืองของสเปน


เนื่องจากในยุคสงครามเย็น อเมริกาสนับสนุนฝ่าย เยอรมันตะวันตก เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเดียวกัน ขณะที่ยักษ์ใหญ่ฝ่ายตรงข้ามอย่าง สหภาพโซเวียต นั้นถือหางฝ่าย เยอรมันตะวันออก อยู่นั่นเอง



นั่นทำให้ทัศนคติของ The lives of Others น่าจะตรงใจคณะกรรมการส่วนใหญ่มากกว่า






โอเคครับ จบบทเรียนแล้ว คราวนี้มา วิเคราะห์ – วิจารณ์ ที่ตัวหนังกันบ้างดีกว่า



The Lives of Others เป็นหนัง drama ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ ของผู้คนในหลายสถานะ ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ที่มีปัญหาระหว่างคู่รัก ความสัมพันธ์ของคนนอกต่อเรื่องราวที่เขารับรู้ ความสัมพันธ์ในหน้าที่การงาน

ที่สำคัญมันแฝง "ประเด็นทางการเมือง" ได้อย่างแนบเนียน เพราะระหว่างที่ชม ไม่ได้รู้สึกถึงความยัดเยียดของมันเลย ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันสะท้อนทัศนคติทางการเมืองของผู้สร้างอย่างเข้มข้น



ผู้กำกับ Florian Henckel von Donnersmarck ประสบความสำเร็จในการทำให้ผู้ชมยอมรับ และคล้อยตามในสิ่งที่หนังนำเสนอ ด้วยการสร้างเรื่องราวที่ดูจริง ค่อยเป็นค่อยไป และไม่บีบคั้นจนเกินพอดี


ทีมนักแสดงหลักทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี โดยเฉพาะ Ulrich Muhe ในบท Wiesler ที่แม้จะมาในมาดนิ่ง แสดงออกน้อย แต่ใบหน้าและสายตาของเขาก็แสดงออกให้ผู้ชมทราบถึงอารมณ์ลึกๆในใจ ที่สำคัญนี่คือตัวละครที่ผู้ชมรัก และ ได้ใจผู้ชมไปเต็มๆ






The Lives of Others เดินเรื่องอย่างเรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ก็น่าจดจำ
แม้จะไม่เข้มข้นมาก และไม่ได้ทิ้งท้ายอะไรให้ขบคิดมากนัก แต่เรื่องราวความประทับใจของมันก็ยังติดอยู่ในหัวไปอีกนานหลังดูจบ


ถ้าตัดประเด็นการเมืองไปแล้ว The Lives of Others เป็นหนังที่เชิดชูเสรีภาพของมนุษย์กันอย่างเต็มที่



นอกจากนี้หนังยังประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการแสดงให้เห็นถึง "พลัง" ของ “ศิลปะ” ที่มีผลต่อจิตใจมนุษย์


ทั้งในส่วนของเรื่องราวที่หนังบอกเล่า และ “พลัง” ของตัวหนังเองที่ส่งให้กับผู้ชม




8 / 10 ครับ









หมายเหตุ



อ้างอิง

1. หนังสือ “จิตวิทยาสังคม” ผู้เขียน ดร. จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. สื่อการเรียน Online “บทที่ 5 ทัศนคติ” //www.sau.ac.th/Subject/pc102/lesson5.pdf



สำหรับ “ระบอบสังคมนิยม” หรือ “คอมมิวนิสต์” ที่หนังอาจจะให้ภาพที่ไม่ดีนัก แต่ถ้ามองอย่างเป็นกลางแล้ว อุดมการณ์ของมันเป็นสิ่งที่ดี เฉกเช่นระบอบอื่นๆนั่นแหล่ะครับ

แล้ว “สังคมนิยม” กับ “คอมมิวนิสต์” คืออะไร ต่างกันหรือไม่

เอาเป็นว่า “สังคมนิยม” จะให้ความหมายในระบอบเศรษฐกิจ มากกว่า เช่นเดียวกับคำว่า “เสรีนิยม”

ขณะที่ “คอมมิวนิสต์” จะให้ความหมายเชิงการปกครอง เช่นเดียวกับคำว่า “ประชาธิปไตย”

โดย “คอมมิวนิสต์” มีหลักง่ายๆ คือ “ประชาชนทุกคนมีความเป็นเจ้าของประเทศและทรัพยากรร่วมกัน โดยคอมมิวนิสต์มุ่งจุดประสงค์ให้สังคมไร้ชนชั้น ประชาชนทุกคนมีฐานะทางสังคมเท่าเทียมกัน”

ฟังแล้วเป็นอุดมการณ์ที่ดี แต่ก็ต้องการผู้นำที่ดีเช่นกัน ถ้าผู้นำเอาแต่หาประโยชน์ใส่ตน ประชาชนก็จะถูกกดขี่เอาง่ายๆได้เหมือนกัน (จะว่าไปก็ไม่ต่างกับประชาธิปไตยสักเท่าไหร่นี่นะ สำหรับประเด็นนี้ )

หาความรู้เพิ่มเติมได้จาก Link นี้
//th.wikipedia.org/wiki/สังคมนิยม
//th.wikipedia.org/wiki/คอมมิวนิสต์


ปล. ใครชัวร์ หรือ แน่นเรื่องการเมือง ก็ช่วยเพิ่มข้อมูลด้วยแล้วกัน ผมอาจจะผิดก็ได้ครับ


Create Date : 24 กรกฎาคม 2552
Last Update : 24 กรกฎาคม 2552 11:53:17 น. 11 comments
Counter : 8701 Pageviews.

 
เป็นอีกครั้งที่ยังไม่ได้ดูหนังครับ (ทั้งๆที่แผ่นก็อยู่บนชั้นมานานแสนนานและคนก็ชมกันเยอะมากกับหนังเรื่องนี้ T-T)

ดูคร่าวๆแล้วน่าจะเจาะลึกมากๆครับ ฉะนั้นแล้วจึงขอข้ามไปก่อนนะครับ

ติดไว้สองเรื่องแล้วครับ ทั้ง The Orphanage และเรื่องนี้


โดย: Seam - C IP: 58.9.197.177 วันที่: 24 กรกฎาคม 2552 เวลา:9:28:03 น.  

 
อะหือ อ่านไปได้นิดหน่อยแล้วหัวร้อนเลยครับ... (พอกลับมามองเอนทรี้ของตัวเองแล้วรู้สึกอายจัง 55+)

ยังไม่ได้ดูเรื่องนี้เลยครับ (เหมือนคุณ Seam - C ฝุ่นจับแผ่นหมดแล้ว -*-) แล้วถ้าได้ดูแล้วสัญญาว่าจะมาร่วมแชร์นะครับ (แต่คงไม่สามารถเจาะลึกขนาดขนาดนี้ 55+)


โดย: BdMd IP: 58.137.81.98 วันที่: 24 กรกฎาคม 2552 เวลา:18:49:57 น.  

 
เคยดูนานแล้วค่ะ เรื่องนี้ แต่จำอะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่
ได้มาเข้าคลาส จิตวิทยา ของคุณ นวกานต์ รู้สึกกลับไปเป็นเด็กอีกครั้งเลย
ทำไมเราดูแล้ว คิดได้ไม่เท่านี้ ก้อไม่รู้นิ

ชอบงานเขียนของคุณ นวกานต์ มากกกกก

จะเข้ามาอ่าน + แสดงความคิดเห็นบ่อยๆนะคะ


โดย: i love johnny depp IP: 125.25.72.233 วันที่: 24 กรกฎาคม 2552 เวลา:22:44:23 น.  

 
ว่าแต่หนังสือในดวงใจคืออะไรบ้างครับ
ฝากบอกกันหน่อย


โดย: คนขับช้า IP: 115.67.38.254 วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:7:02:12 น.  

 
บทความของคุณ navagan เข้าขั้นใช้ความรู้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวมาวิเคราะห์เป็นฉากๆ เลยครับ

อย่างเช่นเอาเรื่องของกลศาสตร์ มาบูรณาการกับสังคมวิทยา รวมถึงนิเทศศาสตร์ว่าด้วยการวิพากษ์ตัวละคร

ทำเอาผมมึนเลยครับ หุหุ -_-"

ว่างๆ ผมอยากไปเรียนปอโทนิเทศ ภาคฟิล์มที่จุฬาฯ จังเลยครับ คงเครียดใช่เล่น


โดย: phaley13 วันที่: 27 กรกฎาคม 2552 เวลา:21:26:56 น.  

 
เคยดูแต่พากย์ไทยครับ หาดูซับด๊อยช์ไม่ได้เลย มีให้ยืมป่าวครับ


โดย: Neoracle IP: 161.200.255.162 วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:16:34:29 น.  

 
^
^
^

มี DVD อยู่ ไปถอยมาหน้า Lido 79 บาท

จะเอาก็นัดวันเลย เดี๋ยวเอาไปให้


โดย: navagan วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:23:36:07 น.  

 
LOL

Briiiiiiiiiiiiilliant~


โดย: satboom IP: 212.42.178.91 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2552 เวลา:18:15:18 น.  

 
เพิ่งไปซื้อมาเมื่อวาน £5 คิดว่าน่าจะคุ้มค่า พอมาอ่านวิจารณ์แล้วรู้สึกดีเพราะน่าจะจบแบบ happy?? (ใช่มั๊ย)

ปล. ทำได้ไงเนี่ย เอาศาสตร์ต่างๆ มาวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ เยี่ยมจริงๆ ให้ตาย


โดย: satboom IP: 212.42.178.91 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2552 เวลา:18:16:29 น.  

 
ชอบบทความของคุณครับ :)


โดย: Lester_17 IP: 203.144.144.165 วันที่: 21 มีนาคม 2553 เวลา:2:44:22 น.  

 
พึ่งดูหนังจบค่ะ หาอ่านบทวิจารณ์ในกูเกิ้ล พบว่าของคุณเจ๋งมาก


โดย: theploy IP: 217.239.14.5 วันที่: 12 เมษายน 2553 เวลา:2:36:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.