Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 
18 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 

8 วิธี สร้างบรรยากาศ ให้ลูกฉลาด



ความฉลาดของลูก นอกจากพันธุกรรมและเรื่องอาหารการกินแล้ว
อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ การที่ลูกได้เรียนรู้ตามวัย มีการส่งเสริมที่เหมาะสมจากที่บ้าน
ฉะนั้นการสร้างบรรยากาศภายในบ้าน เพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีของลูก
จึงเป็นสิ่งจำเป็นมากที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้ามค่ะ


1. ให้ความรัก ลอยไปทั่วบ้าน
การสร้างบ้านให้มีบรรยากาศน่าอยู่ ไม่ใช่ความใหญ่โต หรือความสวยงามของบ้าน
แต่เป็นเรื่องที่คนในบ้านต้องสร้าง

การยิ้มแย้มแจ่มใส พูดคุยกันด้วยความรัก ความเข้าใจในธรรมชาติของลูก ความเข้าใจซึ่งกันและกันของสมาชิก
ความมีน้ำใจ และอภัยกัน สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานให้บรรยากาศภายในบ้านเอื้อต่อการเรียนรู้
ลูกจะอยู่ด้วยความรู้สึกอบอุ่น มั่นคงในจิตใจ


อย่างที่ทราบกันแล้ว พ่อแม่เป็นต้นแบบที่สำคัญที่สุดของลูก ลูกใช้เวลาภายในบ้านกับพ่อแม่มากที่สุด
ดังนั้นการเลียนแบบต่างๆ จึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา การเคลื่อนไหว พฤติกรรม
ดังนั้น เมื่อพ่อแม่แสดงความรักกับลูกทุกครั้งที่มีโอกาส ลูกก็จะรู้จักแสดงความรักออกไป
และพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับในสิ่งใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน



2 .สร้างประชาธิปไตย
การอยู่ร่วมกัน สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือ การเคารพในสิทธิของกันและกัน การรับฟังความคิดเห็น
ซึ่งก็คือการมีประชาธิปไตยภายในบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึง ความอิสระเสรีที่จะทำอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ
เพราะเด็กเล็กๆ ต้องเรียนรู้ผ่านระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์

การมีประชาธิปไตยภายในบ้าน พ่อแม่ต้องเตรียมกิจกรรมต่างๆ ให้ลูกได้เล่นตามวัย
ในแต่ละกิจกรรมต้องให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ฝึกให้ลูกรู้จักคิด
รู้จักสิทธิ และความสามารถของตัวเอง แต่ก็ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และข้อตกลงร่วมกัน



3. คำชมสร้างกำลังใจ
วิธีการหนึ่ง ที่ช่วยให้ลูกฉลาดได้คือ การสนับสนุนในด้านกำลังใจ ชมเชยลูกในช่วงที่เหมาะสม
ควรชมแต่พอเหมาะ ให้ลูกรู้สึกว่าคำชมนั้นมีคุณค่า ชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ถูกต้อง
เมื่อลูกได้รับคำชม ก็จะเกิดกำลังใจในการทำสิ่งนั้นๆ เช่น เมื่อลูกเล่นเสร็จ รู้จักเก็บของให้เป็นที่
ก็ชมเชยว่าลูกทำให้บ้านสะอาด ของเล่นลูกก็ไม่เสียหาย ครั้งต่อไปเมื่อเล่นเสร็จ ลูกก็จะอยากเก็บของเล่นอีก

เมื่อมีคำชม ก็ต้องมีการว่ากล่าวตักเตือนในสิ่งที่ลูกทำผิดด้วยเช่นกัน
แต่ต้องเป็นการตักเตือนด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
ถ้าลูกยังเล็กการห้ามในสิ่งที่เป็นอันตราย ก็ต้องห้ามแบบเด็ดขาด จริงจัง เพื่อให้ลูกรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ควรเล่น
เช่น ปลั๊กไฟ เตาแก๊ส เป็นต้น
แต่ถ้าลูกโตแล้ว พ่อแม่ต้องใช้เหตุผลในการอธิบายประกอบมากขึ้น
การห้ามโดยไม่บอกเหตุผล จะเป็นแรงเสริมทำให้ลูกอยากรู้อยากลองมากขึ้นก็ได้


ทั้งคำชมเชย และคำว่ากล่าวตักเตือน เป็นเสมือนเกราะคุ้มภัย และแรงเสริมให้ลูกเรียนรู้ได้ดีต่อไป



4 .คำว่า ‘ไม่รัก’ ไม่มีอยู่ในบ้าน
คำขู่เด็กๆ ที่เราคุ้นเคยมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ “ถ้าไม่นอน เดี๋ยวตุ๊กแกมากินตับ”
“ดื้อเหรอ เดี๋ยวยักษ์มาจับตัวนะ”
ตอนเด็กๆ คำขู่พวกนี้อาจจะได้ผล เด็กคนไหนที่ขวัญอ่อนก็จะกลัว และอาจกลัวจนฝังใจ
เด็กคนไหนที่กล้าหน่อยก็ไม่กลัว และกลายเป็นไม่เชื่อในสิ่งที่ผู้ใหญ่พูด

ส่วนคำขู่ยอดฮิตอีกคำ ที่ผู้ใหญ่มักเผลอหลุดปากออกมา คือ คำว่า “ทำแบบนี้ แม่/พ่อ ไม่รักนะ”
หรือบางครั้ง อาจจะหยอกล้อ เช่น “ไม่รักลูกแล้ว ไปรักคนอื่นดีกว่า” (แล้วก็แกล้งกอดคนอื่นแทน)
การพูดยั่ว ขู่ หรือลงโทษ โดยใช้คำว่า ‘ไม่รัก’ เพราะคิดว่าเป็นการลงโทษให้ลูกรู้สึกกลัว และไม่กล้าทำอีก
หรือจะเป็นการล้อเล่นสนุกๆ ก็แล้วแต่ เท่ากับเป็นการตัดกำลังใจ และตัดโอกาสในการเรียนรู้ของเด็ก
คุณลองคิดดูว่า ลูกที่อายุเพียงไม่กี่ขวบ ยังไม่เข้าใจความหมายซับซ้อน หรือเข้าใจอารมณ์ที่ลึกซึ้งได้
แต่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟังได้เห็นเฉพาะหน้า เมื่อเขารู้สึกว่าผู้ใหญ่ไม่รัก ก็อาจจะมีพฤติกรรมที่แปรปรวน
ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ในบ้านเจ้าอารมณ์ เด็กก็จะมีนิสัยเจ้าอารมณ์ตามมาเช่นกัน




5. คำห้าม มีให้น้อยที่สุด
ช่วงวัย 2-6 ปี เป็นช่วงหนึ่งที่พ่อแม่เหนื่อยหน่อยกับพละกำลัง ความอยากรู้อยากเห็นอันมหาศาลของลูก
แล้วยังเป็นวัยที่ช่างจินตนาการอีกด้วย สิ่งไหนที่อยากรู้ เด็กก็มักจะอยากลองทำ อยากรู้ผลที่ตามคืออะไร
ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจจุดนี้ ก็อาจจะห้ามลูกในการทำสิ่งต่างๆ เพราะกลัวว่าอาจจะเกิดอันตรายกับลูก
หรือแม้กระทั่งลูกอาจจะทำบ้านเลอะเทอะ

คุณทราบหรือไม่ว่า ทุกคนต้องเคยทำผิดพลาด ถ้าพ่อแม่รู้จักสอนความผิดพลาดนี้ให้เป็นประสบการณ์ของลูก
ลูกจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ อีกมากมาย เช่น ลูกเทน้ำหกเลอะเทอะ ถ้าคุณแม่เอาแต่ดุลูกอย่างเดียว
ลูกก็ไม่เกิดการเรียนรู้ แต่กลับรู้สึกใจเสีย จนไม่อยากเทน้ำเองอีกก็เป็นได้
คุณแม่ต้องใช้ความผิดพลาดครั้งนี้สอนลูกว่า เทน้ำอย่างไรไม่ให้หกออกมา
และเมื่อหกแล้วควรเช็ดอย่างไร จึงจะไม่เกิดอุบัติเหตุ
ครั้งต่อไปลูกก็จะสามารถทำได้เองในที่สุด (ถ้าได้รับการฝึกฝนบ่อยๆ )

มีนักวิชาการกล่าวว่า เด็กสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้
โดยการมีประสบการณ์ใหม่ๆ มีการเก็บข้อมูล จนมีความเข้าใจ เกิดความชำนาญและเชื่อมโยงนำมาใช้ได้
ฉะนั้น การห้ามลูกทำนู่นทำนี่ทุกเรื่องก็เท่ากับ เป็นการตัดโอกาสการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของลูก
นอกจากนี้แล้ว การให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นการส่งเสริมให้เขารู้จักพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด
เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองในเรื่องต่างๆ ได้เร็ว ก็จะมีความสนใจในเรื่องต่อไปมากขึ้นเช่นกัน
คำพูดของพ่อแม่ จึงมีผลต่อการพัฒนาสติปัญญาของลูกได้อย่างไม่น่าเชื่อ




6. เปิดโทรทัศน์ให้น้อย
อย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่ารายการโทรทัศน์หรือการดูโทรทัศน์ ก่อให้เกิดผลเสียกับเด็กมากกว่าผลดี
และส่งผลต่อการเรียนรู้โดยตรง รวมถึงพฤติกรรมต่างๆ ด้วย
ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกฉลาดต้องปิดทีวี
เป็นเรื่องไม่ยากที่จะทำ เพียงแต่พ่อแม่และสมาชิกในบ้านต้องให้ความร่วมมือเท่านั้นเองค่ะ
ถ้าบ้านไหนดูโทรทัศน์เป็นเวลา เช่น ดูช่วงข่าว หรือสารคดี ไม่ได้เปิดแช่ไว้ทั้งวัน มีกิจกรรมอื่นๆ ให้ลูกได้ทำ
รับรองว่าลูกก็ไม่ร้องขอที่จะดูโทรทัศน์เช่นกันค่ะ
แต่ถ้าบางรายการที่เหมาะกับลูก น่าสนใจก็ขอให้มีผู้ใหญ่นั่งดูกับลูกด้วย
และคอยอธิบายให้ลูกฟัง จะได้ประโยชน์กว่าให้ลูกนั่งดูเองแบบเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง



7. บ้านมีระเบียบ
การจัดบ้านให้มีระเบียบ เก็บของเป็นที่เป็นทาง และรักษาความสะอาดบ้านอยู่เสมอ
ทำให้ลูกเคยชิน จนกลายเป็นนิสัยที่ติดตัว เวลาลูกจะทำอะไรก็กลายเป็นเด็กที่มีระเบียบไปในตัว
เช่น มีที่เก็บของเล่นเป็นสัดส่วน รู้จักการแยกหมวดหมู่
(บางคนทั้งของเล่น เครื่องเขียน หนังสือ รวมอยู่ในลังเดียวกันหมด)

หลายท่านอาจเกิดคำถามว่า แล้วเกี่ยวข้องอะไรกับความฉลาด
เพราะความมีระเบียบเป็นในสิ่งที่มองเห็นเป็นรูปธรรมแบบนี้ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีระเบียบในวิธีคิด
วิธีการเรียนรู้ และทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างราบรื่น
เช่น
เมื่อลูกต้องการระบายสี ก็สามารถเดินไปหยิบอุปกรณ์ที่ต้องใช้ได้ทันที เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็สอนวิธีการเก็บรักษา
ครั้งต่อไปอยากเล่น ก็เล่นได้เลย แต่ถ้าไม่มีการเก็บที่เป็นระเบียบ ก่อนเล่นก็ต้องหา หาเจอบ้างไม่เจอบ้าง
อาจจะอารมณ์เสีย และก็เลยอดเล่น อดเรียนรู้กันไปนั่นเอง



8. สร้างโอกาสให้ลูกเสมอ
มีวิธีการมากมายที่พ่อแม่เป็นผู้ช่วยในการส่งเสริมความฉลาดให้ลูก โดยเฉพาะการสร้างโอกาสในเรื่องต่อไปนี้

● เปิดโอกาสให้ลูกตั้งคำถาม และชวนกันหาคำตอบ พร้อมทั้งชวนให้ลูกคิด
หรือตั้งคำถามกลับเพื่อให้ลูกคิดหาคำตอบให้หลากหลายรูปแบบ

ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกของตัวเองออกมาให้มากที่สุด
จะทำให้พ่อแม่รู้จักลูกมากขึ้นอีกด้วย


ช่วยแนะนำ ส่งเสริมในเรื่องที่ลูกอยากรู้
เช่น ลูกสงสัยเรื่องดวงดาว ก็หาหนังสือ สารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้มาศึกษา เมื่อมีโอกาสก็พาลูกไปท้องฟ้า-จำลอง
หรือพาไปเข้าค่ายดูดาว จะช่วยต่อยอดการเรียนรู้ได้มากมาย
อย่าปล่อยโอกาสเมื่อเห็นว่าลูกกำลังสนใจเรื่องใด ต้องรีบส่งเสริมทันที
เพราะช่วงความสนใจของเด็กไม่ได้ยาวนานมากนัก นี่อาจทำให้ลูกได้ค้นพบความชอบของตนเองได้


พยายามสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่า การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เป็นเรื่องน่าสนุก
โดยเริ่มจากตัวพ่อแม่ ที่มีความกระตือรือร้นในเรื่องนั้น ลูกก็จะมีความสุขที่เรียนรู้พร้อมกับพ่อแม่


● ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ลูกเรียนรู้อะไรก่อนวัยอันควร
หรือยัดเยียดในสิ่งที่ลูกไม่สนใจ เพราะนั่นเป็นการฝืนใจ ซึ่งไม่มีผลดีต่อการเรียนรู้ระยะยาว

● เปิดโอกาสให้ลูกได้พบปะผู้คน หรือสิ่งใหม่ๆ สถานที่ใหม่ๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส


ที่มา : //www.motherandcare.in.th


สารบัญแม่และเด็ก




 

Create Date : 18 มิถุนายน 2553
0 comments
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 21:07:19 น.
Counter : 1255 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.