Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
16 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

งานวิจัยระบุ 5 ปัจจัย ทำเด็กฆ่าตัวตาย ชี้ครอบครัวเป็นต้นเหตุ

ครอบครัว

งานวิจัยกรมสุขภาพจิตชี้ 5 ปัจจัย ครอบครัวต้นเหตุเด็กฆ่าตัวตาย พ่อแม่ด่าทอ ไม่มีเวลาให้ กดขี่ เครียด ไร้ค่า
แนะพูดจาให้เกียรติกันและกัน งดเว้นการดูถูกเหยียดหยาม
กรณีเด็ก หนุ่มฆ่าตัวตาย เชื่อมีปมในใจเป็นทุนเดิม บวกการถูกบีบคั้นจิตใจรุนแรง

นายนิตย์ ทองเพชรศรี เจ้าหน้าที่ศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 จ.สงขลา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
กล่าวว่า จากการทำวิจัยเรื่อง “ปัจจัยด้านครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ กับการพยายามฆ่าตัวตายของประชาชน
จังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย” โดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากครอบครัวผู้พยายามฆ่าตัวตาย
ในทุกอำเภอของจังหวัดตรัง จำนวน 30 ครอบครัว
และครอบครัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน จำนวน 30 ครอบครัว
ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ.2551
พบว่า ปัจจัยภายในครอบครัวที่มีผลต่อการพยายามฆ่าตัวตายอย่างมาก คือ

1.การสื่อสารในครอบครัว ที่ไม่เข้าใจกัน มีการใช้คำพูดที่รุนแรง คำด่าทอ เช่น “...โง่”
โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่มักได้ฟังคำพูดจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือญาติว่า
“อยู่ไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใคร ให้ไปตายเสีย”
คำพูดเหล่านี้ อาจสร้างความน้อยใจให้เกิดขึ้น กับบุตรหลาน โดยที่ไม่มีใครรู้

2.สัมพันธภาพในครอบครัวที่พ่อแม่ลูก หรือคนในครอบครัวเดียวกัน
ไม่มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันและกัน และไม่มีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ
ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของแต่ละคน จึงไม่สามารถช่วยกันคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
นำไปสู่การคิดว่า หาทางออกไม่เจอของใครคนใดคนหนึ่ง จนคิดแก้ปัญหาในทางที่ผิดด้วยการฆ่าตัวตาย

3.วิธีการเลี้ยงดูแบบกดขี่ การสั่งการ
โดยพ่อแม่มักคิดเองว่าลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ฟังความต้องการ หรือความคิดเห็นของอีกฝ่าย

4.การปรับตัวของสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาเศรษฐกิจ และความเครียด
เกิดการแสดงออก หรือมีท่าทีที่ทำให้สัมพันธภาพของคนในครอบครัวห่างไกลกันมากขึ้น

5.บทบาทของสมาชิกในครอบครัว
สมาชิก บางคนอาจรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในครอบครัวต่อไป
ซึ่งอาจเป็นผลมาจาก การถูกตอกย้ำความไร้ค่า จากสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวเดียวกัน

"ข้อมูลที่ได้จากงานวิจัย ศูนย์ฯได้นำมาจัดทำเป็นแผ่นพับ และจัดพิมพ์คู่มือประชาชน เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย
ประมาณ 400 - 500 เล่มแจกให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภายในจ.ตรัง
โดยหวังว่า จะเป็นแนวทางให้ประชาชน ใช้สำหรับป้องกันไม่ให้คนใกล้ชิดฆ่าตัวตาย
เนื่องจาก แนวโน้มการฆ่าตัวตายของคนไทยในทุกจังหวัด เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา
อย่างในปัจจุบัน มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเพิ่มขึ้นราว 1 % ต่อแสนประชากร
จากเดิมอยู่ที่ 4.5 % ต่อแสนประชากรเพิ่มเป็น 5.5 % ต่อแสนประชากร"

นายนิตย์ กล่าวอีกด้วยว่า
สำหรับกรณีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ฆ่าตัวตายเพราะอกหัก และติดยา
และกรณีเด็กชายชาว อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ฆ่าตัวตาย จากการที่พ่อบังคับให้ไปเรียนที่กทม.
ส่วนตัวเห็น ว่าทั้งสองคน อาจมีปมบางเรื่องอยู่ในใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
เมื่อต้องพบเจอกับเรื่องราวที่บีบคั้นจิตใจเพิ่มเติม กอรปกับการไม่มีภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจ
จึงหาทางออกของปัญหาไม่ได้ ซึ่งอยากแนะนำบุคคลทุกวัยที่ต้องประสบปัญหาไม่ว่าในเรื่องใด อยากให้คิดว่า
เราต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะทุกคนล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น
แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ต้องรักชีวิตตนเอง ก่อนที่จะไปรักคนอื่น

“สิ่งที่คนในครอบครัวควรจะปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีคนในครอบครัวฆ่าตัวตาย
ต้องเริ่มจากการพูดจากัน ในลักษณะที่ให้แต่ละคนรู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่า
มีหน้าที่ของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดชอบให้ดีที่สุด
เว้นการด่าทอที่มีลักษณะเป็นการดูถูก หรือเหยียดหยามเกียรติ จนทำให้อีกฝ่ายน้อยใจ
และสังเกตบุตรหลาน หากเห็นมีการเศร้าซึมผิดปกติ หรือชอบหมกมุ่นอยู่คนเดียว
ควรเข้าไปพูดจาถามไถ่ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา ซึ่ง สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็ก และเยาวชนฆ่าตัวตาย”
นายนิตย์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักสุขภาพจิตสังคม กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า
เด็กซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น จะมีความละเอียดอ่อนมาก จำเป็นต้องระวังความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
แม้จะเป็นเรื่องที่ คนอื่นคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ก็อาจเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กบางคนได้
จำเป็นต้องมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผล อธิบายถึงผลดี ผลเสีย และรับฟังเด็กให้มาก
หากมีปฏิกิริยา หรือการต่อต้านเกิดขึ้น จำเป็นต้องอธิบายและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิดทีละนิดด้วยความเข้าใจ

“เด็กบางคนอาจมีปัญหาในเรื่องการปรับตัว การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม
บางครั้ง เข้าข่ายเป็นโรคภาวะการปรับตัวผิดปกติ (adjustment disorder) คือ จะมีความสามารถในการปรับตัวต่ำ
บางครั้ง พบในผู้สูงอายุได้ด้วย แสดงอาการหลายอย่าง เช่น ซึมเศร้า ดื้อ ใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรง
ซึ่งอาการเหล่านี้ บอกได้ยาก ว่าเกิดขึ้นกับเด็กกลุ่มใด ต้องใช้การสังเกตเฝ้าระวังอาการที่ผิดปกติไป”
นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญคือ เรื่องการเก็บอาวุธปืน ควรเก็บให้พ้นมือ และลับตาเด็ก
เพราะปัจจุบัน มีกรณีการใช้ความรุนแรงที่นำอาวุธปืนมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเด็กอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้ตั้งใจ
แต่เมื่อการที่เด็กได้สัมผัสอาวุธ ไม่ว่าจะเป็น ปืน มีด หรือ อาวุธอื่นๆ ก็อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงได้
เพราะเด็กยังถือว่า มีวุฒิภาวะที่ยังไม่เพียงพอ

ที่มา ผู้จัดการ




 

Create Date : 16 มิถุนายน 2552
0 comments
Last Update : 16 มิถุนายน 2552 21:52:35 น.
Counter : 960 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.