Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
13 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

วิธีสร้างความภาคภูมิใจให้ลูก

วิธีสร้างความภาคภูมิใจให้ลูก

เด็กที่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง วันนี้ เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคตที่ดีในวัน ข้างหน้า
แล้ววันนี้คุณได้สร้างความภาคภูมิใจในตัวเองให้แก่ลูกน้อยของคุณ หรือยัง

มิไยที่…คุณครูเสมอใจ จะพยายามให้ เด็กชายสุทัศน์ ทดลองสิ่งใหม่ๆ มากเท่าใดก็ตาม แต่สิ่งที่ปรากฏก็คือ
เด็กชายจะแสดงท่าเขินอาย และไม่ยอมทำ และเมื่อกระตุ้นบ่อยเข้า เด็กชายก็จะแสดงความต่อต้าน
และพูดอยู่คำเดียวว่า "ผมทำไม่ได้ ผมไม่ทำ" เมื่อถูกถามเหตุผล เด็กชายก็จะตอบว่า "ผมเป็นเด็กโง่"

ด้วยคำพูดของเด็กชายวัย 8 ขวบ ทำให้คุณครูต้องขอร้องให้ผู้ปกครองมาพบเป็น การส่วนตัว
และเมื่อเจอคุณพ่อคุณแม่ของสุทัศน์ และได้เล่าเรื่องของลูกชายให้ฟัง คุณแม่ก็หน้าเสีย พร้อมกับพูดว่า

"ความจริง เราไม่ได้คิดว่า เขาจะเป็นคนช่างจำเลย คือเวลาที่เขาทำอะไรผิด เราก็จะสั่งสอนเขา พร้อมกับพูดว่า
ที่ลูกจะคิดจะทำอย่างนั้นมันไม่ดี เด็กโง่เท่านั้นจึงจะคิดเช่นนั้น เขาคงจำที่เราว่า เขาโง่
ทั้งๆ ที่เราหวังดีไม่ได้คิดว่าเขาเป็นเด็กโง่จริงๆ เลย" คุณแม่กล่าวด้วยความเสียใจ

คุณครูเสมอใจ จึงได้ขอร้องให้คุณแม่อย่าพูดเป็นเชิงดูถูก หรือ วิจารณ์ ตัวเด็ก
เพราะจะทำให้เด็กคิดว่า คำพูดของพ่อแม่คือ ประกาศิต สำหรับเขา
แต่ให้ใช้คำพูดในทางสร้างสรรค์แทน เช่น "หนูทำอย่างนั้นแล้วเป็นอันตรายนะลูก ให้ทำอย่างนี้แทน"
กล่าวคือ ให้ทางเลือก กับเด็กเสมอ และไม่ให้สาปแช่ง ดูถูกเด็ก

ถ้าเราจะมาวิเคราะห์สิ่งที่เกิดกับตัวเด็กนั้น จากตัวอย่างข้างบน เราจะพบว่า
ความรู้สึกที่เด็กทุกคน มีต่อตนเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสามารถ ความเชื่อมั่น ความมุ่งมั่น
ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง หรือ Self Esteem ทั้งสิ้น

ความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเองนี้ จะมีผลต่อ ความนึกคิด ความกล้าแสดงออก ความสุข ความทุกข์ของบุคคล
อย่างไม่น่าเชื่อ และความภาคภูมิใจในตนเองนี้ จะอยู่กับบุคคลไปจน ตลอดชีวิต

ดูตัวอย่างง่ายๆ ก็ได้ว่า ถ้าเด็กชายสุทัศน์ถูกคุณพ่อคุณแม่ว่าให้ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าเขาโง่ ไม่ได้เรื่อง สู้พี่น้องก็ไม่ได้
เด็กชายก็จะเติบโตด้วยความรู้สึกที่เห็นคุณค่าในตนเองต่ำ แม้ใครๆ จะบอกว่าเขาเก่ง เขาดี หรือไม่โง่ก็ตาม
แต่ความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกฝังอยู่ในหัววันแล้ววันเล่า ค่อยๆ กลายเป็นความรู้สึกที่ไม่ดีกับตนเอง
เขาจะเติบโตเป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่น เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ เขาก็จะเป็นคนไม่กล้า กลัวหงอ
ทำอะไรก็ไม่มีความเด็ดเดี่ยว มีแต่ความกลัว และไม่มีวัน ที่จะเป็นผู้นำใครได้

ในทางกลับกัน ถ้าเด็กคนใดก็ตามที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง
เขาจะเป็นผู้ที่กล้าแสดงออก ไม่กลัวความผิดพลาด มีความเชื่อมั่น และกล้าคิด กล้าทำ
และเนื่องจากเขาไม่กลัว เขาจึงมักถูกเลือกให้เป็นผู้นำอยู่เสมอ

นอกจากนี้ เขาจะเป็นคนมองโลกในแง่ดี มีความรู้สึกที่ดีกับตนเอง และผู้อื่น
ถ้าทำงานก็จะมีผลงาน ที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นคนกล้าเสี่ยง มีพลังที่จะกล้าริเริ่มทำสิ่งใหม่ให้กับองค์การ

ในส่วนความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นก็ เช่นกัน เขาจะเป็นคนที่รักได้ทั้งตนเอง และผู้อื่น
ใส่ใจในความสุขทุกข์ของคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คือ ดูแลคนอื่นเป็น และเนื่องจากภายในเขา มีความมั่นคงในตนเอง
เขาจึงไม่ต้องแสดงอำนาจ หรือบีบบังคับให้ผู้อื่นต้องมาอยู่ใต้อำนาจของเขา
แต่ยินยอมให้ผู้อื่นได้มีการพัฒนาตนเอง งอกงามเติบโต โดยไม่อิจฉาตาร้อนไป กับโชควาสนาของผู้อื่น
คือ ยินดี กับผู้อื่นเป็น นั่นเอง

เมื่อความภาคภูมิใจสำคัญ ต่อบุคคลถึงปานนี้ พ่อแม่จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจ ให้เกิดกับตัวเด็กได้อย่างไร

พ่อแม่จะสร้างความรู้สึกที่ดี ให้เกิด กับเด็กได้ 2 ทาง คือ

1. ให้คำชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำ ไม่ว่าเด็กจะทำอะไรให้ เล็กน้อย เพียงใดก็ตาม
เช่น เมื่อหนูแดงต่อรูปได้เองเสร็จ คุณแม่อาจจะชมว่า หนูแดงทำได้เก่ง
หรือเมื่อหนูโจ้ช่วยคุณพ่อล้างรถ คุณพ่ออาจชมว่า ล้างได้สะอาด
หรือชมว่าเขามีความพยายามที่ดี เมื่อลูกขี่จักรยานได้หลังจาก ล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง เป็นต้น

สิ่งที่เราต้องการให้พ่อแม่ทุกคน ไม่ว่าคุณจะมีลูกอายุ 3 เดือน หรือ 20 ปี ได้รับรู้อยู่บ่อยๆ และสม่ำเสมอก็คือ
" ลูกเป็นคนเก่ง ลูกมีความสามารถ "
พ่อแม่จะต้องหมั่นสื่อให้ลูกได้รับรู้อยู่เสมอว่า คุณเห็นว่าเขาเป็นคนมีความสามารถ
การ "ใส่" ข้อมูลนี้ลงไป ให้เด็กได้รับรู้อยู่เสมอ จะช่วยทำให้เด็ก มั่นใจในตัวเองมากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะเด็กทุกคนจะติดตาม "ข้อมูล" ที่พ่อแม่ได้ส่งให้เขาเสมอ
และมันจะค่อยๆ กลายเป็น สิ่งที่เด็กเริ่มบอกกับตัวเอง ตามนั้น ไปในที่สุด

2. ให้ชื่นชมในการเป็นอยู่ มีอยู่ ของเด็ก
ในข้อนี้หมายความว่า พ่อแม่จะต้องให้เด็กรู้ว่า การเกิดมาของเด็ก การมีชีวิตของเขา และตัวตนของเขา
เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม การชื่นชม อาจทำในลักษณะของคำพูดประเภท "พ่อรักลูกมาก" "แม่ดีใจที่เห็นลูกมาคุยด้วย"
หรือ "แม่ภูมิใจในตัวลูก" เป็นต้น

การพูดทำนองนี้ จะช่วยย้ำให้เด็กรู้สึกรักในตัวของเขาเอง
มองเห็นคุณค่าในการเป็นตัวเขา และเขามีความหมายกับคนอื่น

การชื่นชมของพ่อแม่ ถ้าสามารถทำพร้อม กับการสื่อภาษากายด้วย ก็ยิ่งเป็นสิ่งดี เช่น
ดึงเขาเข้ามากอด และบอกว่ารักเขา
(อย่าทำเฉพาะเมื่อเขาเล็กๆ เด็กโตก็ต้องการการสัมผัส จากพ่อแม่ของเขา เช่นกัน)

บ่อยครั้ง ที่พ่อแม่แม้จะรักลูก แต่ไม่เคยแสดงออกให้เด็กรู้เลย ไม่ว่าจะทางคำพูด หรือการกระทำ
หรืออาจทำ เพราะเมื่อเด็ก ยังเล็ก และหยุดไป เมื่อเด็กโต
ถ้าพ่อแม่ไม่ทำ สม่ำเสมอ เด็กจะไม่มีทางรู้ว่า พ่อแม่ยังรักเขาอยู่ หรือไม่

เด็กๆ ต้องการการตอกย้ำ ครั้งแล้วครั้งเล่า จากพ่อแม่ของเขาว่า เขาคือ บุคคลที่มีคุณค่า น่ารัก
และเขาเป็นที่ต้องการของพ่อแม่ แต่บ่อยครั้งเราจะเห็นพ่อแม่ปฏิบัติในทางตรงข้าม เช่น
เมื่อเด็กทำผิด ก็อาจจะดุเด็กด้วยอารมณ์ว่า "โง่"
และเมื่อโดนบ่อยๆ เด็กก็จะมีความเชื่อ และปฏิบัติตนตามคำสาปแช่งนั้น ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะชมเด็ก ก็ขอให้เป็นสิ่งที่จริงใจ อย่าแกล้งพูด หรือกระแนะกระแหน
เพราะจะยิ่งทำให้เด็กเจ็บปวด และสับสน หรืออย่าชมในลักษณะที่ทางภาษาจิตวิทยาเรียกว่า " คำชมพลาสติก"
คือ ฟังดูคล้ายชม แต่ไม่ได้ชม เช่น "ไม่คิดว่าน้ำหน้า อย่างแก ก็ทำเป็นกับเขาด้วย"
หรือ "คนไม่เอาไหนอย่างแก ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว"

สรุปก็คือ การสร้างความภาคภูมิใจเป็นสิ่งจำเป็น ที่พ่อแม่ทุกคนจะต้องพยายามให้แก่เด็ก มากที่สุด
เพราะเมื่อเด็กมีความภาคภูมิใจในตนเองสูง เขาจะเป็นเด็กที่มีความสุข มีความเชื่อมั่น
เป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้า สุขภาพจิตดี
และมีดวงใจที่สามารถรักได้ทั้งตนเอง และผู้อื่นในเวลา เดียวกัน

ที่มา หนังสือก่อนจะถึงวันนั้น โดย รศ.ดร.นวลศิริ เปาโรหิตย์




 

Create Date : 13 มิถุนายน 2552
2 comments
Last Update : 13 มิถุนายน 2552 20:49:10 น.
Counter : 1011 Pageviews.

 

เอามาใช้กับลูกได้เลยค่ะ ขอบคุณมากๆเลย

 

โดย: แม่หมู (แม่หมูมหัศจรรย์ ) 16 มิถุนายน 2552 15:50:01 น.  

 

เอามาใช้กับลูกได้เลยค่ะ ขอบคุณมากๆเลย

 

โดย: แม่หมู (แม่หมูมหัศจรรย์ ) 16 มิถุนายน 2552 15:50:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.