" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0061. COMPASSIONATE CAPITALISM : 1 ใน 109 หนังสือควรอ่าน จาก นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร






เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีแนะนำหนังสือรวม 2 เล่ม เล่มที่ 2 ชื่อ Compassionate Capitallism ซึ่งเขียนโดย Marc Benioff และ Karen Southwick เล่มนี้ มีเนื้อหาที่พูดถึงว่า ทำอย่างไรองค์กรธุรกิจในระบบทุนนิยมจะสามารถดำรงความเป็นองค์กรที่ดีมีคุณธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรีพูดว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบที่ขาดเมตตาโดยไม่สนใจว่าใครจะแพ้ โดยนายกรัฐมนตรีต้องการให้คณะรัฐมนตรีไปบอกข้าราชการว่าประเทศอยู่ในระบบทุนนิยมก็จริง แต่ ถ้าขาดเมตตาคนจนจะลำบาก...


Create Date : 10 มีนาคม 2551
Last Update : 10 มีนาคม 2551 12:51:10 น. 4 comments
Counter : 1468 Pageviews.

 
ทุนนิยม และเมตตาธรรม
บ้านเขาเมืองเรา : ดร.ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2547

แนวคิดของเศรษฐกิจทุนนิยมมีมานานหลายพันปี และถูกรวบรวมขึ้นเป็นระบบโดย อดัม สมิธ เมื่อปี 2319 ปีนั้น สหรัฐ ถือกำเนิดและอยู่ในช่วงต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนได้สมญาว่า คลื่นลูกที่ 2 ประเทศที่ก้าวหน้าใช้ระบบทุนนิยมมาเป็นเวลานาน และคงจะใช้ต่อไป เพราะได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า มีลักษณะคล้ายการปกครองระบอบประชาธิปไตย

นั่นคือ มีจุดอ่อนมาก แต่หากเปรียบเทียบกับระบบอื่น ซึ่งมนุษย์นำมาใช้ ยังมีจุดอ่อนน้อยกว่า ระบบทุนนิยมยืนหยัดอยู่ได้ แม้โลกจะเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จาก คลื่นลูกที่ 3 ซึ่งเกิดจากการปฏิวัติดิจิทัลเมื่อคอมพิวเตอร์แผ่กระจายไปทั่วโลก เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว

ณ วันนี้ สังคมโลกจึงยึดระบบทุนนิยมเป็นหลักพัฒนา ยกเว้น คิวบาและเกาหลีเหนือ

ผู้ได้อ่านหนังสือเรื่อง It?s Alive และเรื่อง As the Future Catches You ซึ่งนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แนะนำอาจจำได้ว่า เทคโนโลยีก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงถี่ขึ้น การเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งรุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากขึ้น ทั้งระหว่างบุคคล และระหว่างสังคมที่ก้าวหน้ากับสังคมที่ล้าหลัง

หนังสือ 2 เล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า โลกเดินตามกระแสคลื่นลูกที่ 1 ซึ่งเกิดเมื่อมนุษย์รู้จักทำการเกษตรอยู่ราวหมื่นปี จึงเกิดคลื่นลูกที่ 2 ซึ่งครองโลกอยู่ 200 ปี ก่อนที่จะเกิดคลื่นลูกที่ 3 ตอนนี้คลื่นลูกที่ 4 ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมค่อยๆ ก่อตัวแล้ว

เมื่อตอนเริ่มต้นของคลื่นลูกที่ 2 ผู้ที่อยู่ในประเทศมั่งคั่ง มีรายได้ประมาณ 5 เท่าของผู้ที่อยู่ในประเทศยากจน ในระหว่างคลื่นลูกที่ 3 ความแตกต่างของรายได้นั้น กลายเป็น 390 เท่า บิล เกตส์ เพียงคนเดียวมีทรัพย์สินมากกว่ารายได้ประชาชาติของ 141 ประเทศ

คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 3 กันยายน อ้างถึงหนังสือ 2 เล่มชื่อ Nickel and Dimed และ The Working Poor เพื่อแสดงให้เห็นว่า ท่ามกลางความร่ำรวยมหาศาลของสังคมอเมริกัน ซึ่งบิล เกตส์ เป็นสมาชิกอยู่ ความยากจนมีอยู่แทบทุกหย่อมหญ้า นั่นแสดงถึงจุดอ่อนอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่เอื้อให้สหรัฐก้าวหน้า ทว่า ไม่สามารถขจัดความยากจนได้อย่างเด็ดขาด

ชาวอเมริกันจำนวนมากมองเห็นจุดอ่อนนั้น ชาร์ล แฮนดี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 16 ปรมาจารย์ในหนังสือเรื่อง Rethinking the Future ซึ่งนายกฯ ทักษิณแนะนำเช่นกัน จึงเน้นว่า จุดมุ่งหมายของการทำธุรกิจควรจะเปลี่ยนจากเพื่อทำให้เจ้าของร่ำรวย ไปเป็นเพื่อบริการชุมชน แน่ละ นั่นคือแก่นของหนังสือแนะนำของนายกฯ ทักษิณ อีกเล่มหนึ่งชื่อ Compassionate Capitalism หรือ "ทุนนิยมแบบมีเมตตาธรรม" ซึ่งเสนอให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจตั้งจุดมุ่งหมายไว้ตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่า การให้คืนแก่ชุมชนเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจ อันที่จริงแนวคิดนี้ ไม่ใช่ของใหม่ในสังคมอเมริกัน ในสมัยที่ธุรกิจส่วนใหญ่ยังทำกันในครอบครัว บริษัทห้างร้านถือว่า การบริการหรือให้คืนแก่ชุมชนมีความสำคัญยิ่ง ผู้ที่สนใจไปอ่านหนังสือเรื่อง Celebration of Fools ซึ่งนายกฯ ทักษิณแนะนำย่อมจำได้ว่า ก่อนที่บริษัท J C Penny จะประสบวิกฤติเกือบล่มสลาย เพราะการมุ่งแสวงหากำไรทางลัดของผู้บริหาร

ผู้ก่อตั้งบริษัทถือว่า การให้บริการชุมชนสำคัญยิ่ง (หากไม่มีเวลาอ่านจะดูเพียงผ่านๆ เรื่อง "การเฉลิมฉลองของคนโง่" ในคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 9 กรกฎาคมก็ได้) เมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มจ้างมือปืนรับจ้างผู้อ้างตัวเองว่าเป็น "มืออาชีพ" มาบริหาร จุดมุ่งหมายในด้านการให้บริการแก่ชุมชนหดหายไป เพราะความกดดันในการสร้างกำไร และผู้บริหารไม่มีความผูกพันกับชุมชนอย่างแนบแน่น เนื่องจากพวกเขาเป็นคนนอก ซึ่งเข้ามาบริหารกิจการเพียงชั่วคราว

ผู้เขียน "ทุนนิยมแบบมีเมตตาธรรม" เสนอการปฏิบัติของบริษัทต่างๆ มากมาย และนำข้อคิดที่ได้มารวมไว้สำหรับผู้จะนำไปปฏิบัติบ้าง เขาเสนอให้บริษัทห้างร้านสละ 1% ของผลกำไร เวลาของพนักงานและทรัพย์สินของบริษัทเพื่อการบริการหรือให้คืนแก่ชุมชน นอกจากเงินแล้ว ผู้บริหารและพนักงานควรใช้ความรู้ความสามารถและสายสัมพันธ์กับผู้อื่นเพื่อบริการชุมชนด้วย แน่ละ "ชุมชน" มีหลายระดับ จากหมู่บ้านไปจนถึงโลกทั้งโลก

ผู้ที่ติดตามเรื่องการพัฒนาย่อมจำได้ว่า เมื่อหลายทศวรรษก่อน สมาชิกขององค์การสหประชาชาติเคยแสดงความจำนงว่า จะสละ 1% ของรายได้ประชาชาติ เพื่อพัฒนาชุมชนโลก (ณ วันนี้ ยังไม่มีใครทำได้)

ผู้เขียนยกตัวอย่างของมหาเศรษฐีอเมริกันหลายคน โดยเฉพาะบิล เกตส์ ซึ่งร่ำรวยที่สุดในโลก และตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือชุมชน ทั้งในระดับเมืองที่เขาอาศัยอยู่และในระดับโลก เช่น การรณรงค์เพื่อกวาดล้างโรคเอดส์และวัณโรค

รายงานเมื่อวันที่ 10 กันยายน บ่งว่า บิล เกตส์ บริจาคเงินไปแล้วราว 27,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น เขายังประกาศว่า เมื่อเขาตายเขาจะกันทรัพย์สมบัติไว้ให้ลูกเพียง 5% เท่านั้น ส่วนอีก 95% เขาจะยกให้มูลนิธิ

ผู้อ่านคอลัมน์นี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาคงจำได้ว่า จอร์จ โซรอส บริจาคเงินไปแล้วราว 5,000 ล้านดอลลาร์ สนับการปลูกฝังระบอบประชาธิปไตยในส่วนต่างๆ ของโลก

Marc Benioff ผู้เขียน Compassionate Capitalism เป็นเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งพยายามช่วยทำชุมชนของเขาให้น่าอยู่ เขาเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มีความตระหนักว่า เขาเอาไปไม่ได้และใช้ไม่หมด การสร้างกุศลด้วยการช่วยทำให้ชุมชนดีขึ้น จะทำให้โลกน่าอยู่ พวกเขาทำจริงๆ ไม่ใช่บอกให้แต่คนอื่นทำ หรือมุ่งสร้างภาพเหมือนกับหนึ่งในคำแนะนำในหนังสือเรื่อง The Underdog Advantage

น่าสังเกตว่า หนังสือที่นายกฯ ทักษิณแนะนำล่าสุดเล่มนี้ มีคำพูดของ นายพลจอร์จ แพตตัน อันแสนหยาบที่ว่า The idea is not to die for your country. The idea is to get the other son of a bitch to die for his country. หนังสือเล่มนี้และคำพูดนี้อาจชี้ให้เห็นว่า นายกฯ ยังจะสร้างภาพต่อไป และกำลังบอกให้คนอื่นเป็น "นายทุนผู้มีเมตตาธรรม"

ตามสามัญสำนึก เนื่องจากคณะรัฐมนตรีดูจะเป็นมหาเศรษฐีกันถ้วนหน้า หากจะทำให้เกิดศรัทธา พวกเขาน่าจะทำเป็นตัวอย่างก่อน ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อการสร้างภาพ เพราะคนจะรู้ทันอย่างรวดเร็ว หากไม่แน่ใจในภาษาไทยที่เขียนมา ก็อาจนึกถึงภาษาฝรั่งที่ว่า Charity begins at home. และ You cannot fool all people all the time. หากทำได้เมืองไทยอาจจะเดินเข้ายุคหลังวัตถุนิยม (Post-materialism) ก่อนสังคมอื่น

ยุคนั้นเป็นอย่างไร และทำไมเราต้องการยุคนั้น เพื่อลดจุดอ่อนของระบบทุนนิยม และโต้คลื่นลูกที่ 4 และลูกที่จะตามมา กรุณาอ่านหนังสือเรื่อง The Progress Paradox หากไม่มีเวลาก็อ่านเพียงผ่านๆ คอลัมน์นี้ประจำวันที่ 13 และ 20 กุมภาพันธ์ หากไม่มีเวลาจริงๆ ขอเรียนว่า หนังสือเล่มนี้มีข้อมูลมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า ความร่ำรวยจนเหลือกิน เหลือใช้ ไม่ก่อให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น ตรงข้ามอาจนำความทุกข์มาให้

แน่ละ การจำกัดความมั่งมีให้อยู่ในระดับพอกินพอใช้ คือการให้คืนแก่ชุมชน บิล เกตส์ เป็นต้นแบบที่มหาเศรษฐีเช่นคณะรัฐมนตรีไทยน่าจะทำตาม

Resource:
//www.nidambe11.net/ekonomiz/2004q3/article2004sep24p2.htm


โดย: ทุนนิยม และเมตตาธรรม (moonfleet ) วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:12:55:28 น.  

 
เมตตาทุนนิยม Compassionate capitalism #2



ไม่ผิดหรอกที่จะบอกว่า หัวใจของระบบทุนนิยม คือ กำไร ... เพราะกำไรจะถูกนำไปจ่ายเป็นเงินเดือน เป็นเงินปันผลปลายปี และเป็นเงินสำหรับการลงทุน หรือ เพื่อขยายงาน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมาได้อีกด้วย ปราศจากกำไรแล้ว ธุรกิจนั้นก็ไม่สามารถเดินต่อไปได้



เพื่อความเข้าใจง่ายๆ ถึงที่มาของกำไรในระบบทุนนิยม ริชนำเสนอด้วยเขียนสมการขึ้นไว้ดังนี้



MW* = NR + HE x T

MW: Material welfare ความมั่นคั่งทางวัตถุ, NR: Natural resources ทรัพยากรธรรมชาติ, HE: Humans energy แรงงานมนุษย์, T: Tools เครื่องมือ



สมการนี้บอกว่า “กำไร” ในระบบทุนนิยมนั้น ได้มาจากการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาแปรรูปโดยใช้แรงงานคน ร่วมกับเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต



อธิบายในทางสุดโต่งได้ว่า หากต้องการกำไรมากๆ ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากก็จะถูกทำลาย โดยมีการใช้แรงงานมนุษย์ แต่ให้ความสำคัญในคุณค่าของคนน้อยลงไปเรื่อยๆ สวนทางกับการเพิ่มขึ้นของเครื่องจักรกลและเทคโนโลยี



แม้ว่า ริช ให้ความสำคัญของระบบทุนนิยมหรือระบบการค้าเสรี แต่ก็เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการการ”หากำไร”ในทำนองนั้นด้วย ดังนั้น เพื่อความยั่งยืนของการค้าเสรี ริชจึงได้เสนอทางออกที่เรียกว่า เมตตาทุนนิยม (Compassionate capitalism) โดยสอดแทรก “เมตตา” เอาไว้ในสมการดังกล่าวด้วย จนกลายเป็น MW* = NR + HE x T x C*



ริชไม่ได้ปฏิเสธการหากำไร หากแต่มีความเชื่อว่า กำไรที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ตลอดจนความเชื่อในศักดิ์ศรีและศักยภาพของคน โดยนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องกับความเชื่อดังกล่าว จะเป็นระบบธุรกิจที่มีกำไรอย่างยั่งยืนยิ่งกว่า ... ธรรมชาติและ “คน”มาก่อน โดยมีเครื่องมือและเทคโนโลยีเป็นเพียงตัวช่วย ส่วนกำไรจะพิจารณาเป็นเรื่องสุดท้าย กำไรจะเกิดขึ้นได้จากการยกระดับชีวิตของเพื่อนมนุษย์ให้ดีขึ้น



ริช ย้ำอย่างชัดเจนว่า ผลกำไรที่เกิดขึ้นจากความเสียหายของเพื่อนมนุษย์ เป็นการทำลายโลก ไม่ใช่กำไรอย่างแน่นอน และผลกำไรที่เกิดจากการทำลายคุณค่าของมนุษย์ชาติ ในที่สุดมันจะนำมาสู่ความตายของมนุษย์โลก



ถึงตรงนี้ ความชัดเจนอย่างยิ่ง คือ แอมเวย์คือธุรกิจ เราทำการค้าขาย มีกำไรได้เงิน แต่สินค้าแอมเวย์ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าสินค้าทั่วไป และที่สำคัญ แผนการตลาดแอมเวย์มีพื้นฐานอยู่บนอิสรภาพ ความหวัง รางวัล และ ครอบครัว



ธุรกิจเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกันครับ




โดย: เมตตาทุนนิยม Compassionate capitalism #2 (moonfleet ) วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:12:57:00 น.  

 
สุทธิชัย หยุ่น


'ทุนนิยม' ประชานิยมเป็น
ศัตรูกับ 'เศรษฐกิจพอเพียง'

นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร อ้างระบบ 'ทุนนิยม' มาทำทุกอย่างในประเทศ ประหนึ่งว่าทุนนิยมเป็นทางออกทางเดียวของสังคม และประหนึ่งว่าทุนนิยมมีแต่เพียงสูตรเดียว นั่นคือ สูตรของคุณทักษิณ ซึ่งเน้นว่า 'ไว้วางใจให้ผมทำเต็มที่' ตามแนวทางของเขาเพียงคนเดียว

อันตรายอย่างยิ่งก็คือ การอ้างทุนนิยมเพื่อ 'รวบอำนาจรัฐ' มาเป็นของตนและกลุ่มตน ด้วยการใช้เงินของคนอื่น (other people's money หรือ OPM) มาต่อเงินของอื่นเพื่อค้ำบัลลังก์แห่งตนเอาไว้ให้ยาวนานที่สุดเท่าที่ยาวนานได้

'ทุนนิยม' ในความหมายแคบๆ เช่นนี้ ลงท้ายก็คือ 'ใครมือยาวสาวได้สาวเอา'

ทุนนิยมที่คุณทักษิณอ้างวันก่อนก็คือ การเรียกร้องให้คนไทยมี 'ความเชื่อมั่น' ในตัวของเขาและรัฐบาลของเขา แต่พูดเพี้ยนไปใช้คำว่า 'เชื่อมั่นในประเทศ' ซึ่งเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง

อันตรายของทุนนิยมยี่ห้อประชานิยมก็คือ การเหมาเอาว่าผู้ได้อำนาจมาด้วยอำนาจการ 'แจกทุน' อย่างกว้างขวางโดยไม่ต้องประเมินประสิทธิภาพนั้น คือความชอบธรรมที่จะใช้ทุนเพื่อเป้าหมายทางการเมืองต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด

ทุนนิยมสุดขั้วในความหมายนี้หมายถึงการ 'มอมเมา' ชาวประชาด้วยสิ่งจูงใจที่มาจากการแปลงทุนให้เป็น 'ของล่อใจ' ที่ไม่จำเป็นจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นเพียงเครื่องมือสู่อำนาจและสามารถครอบงำสังคมเท่านั้น

'เศรษฐกิจทุนนิยม' ในภาคปฏิบัติในเมืองไทยทุกวันนี้จึงยืนอยู่คนละข้างกับ 'เศรษฐกิจพอเพียง' โดยสิ้นเชิง

ที่ผู้นำรัฐบาลเน้นความเป็น 'ทุนนิยม' นั้น ความจริงก็คือ การส่งเสริมให้ผู้คนสร้างหนี้สิน, ยืมเอา 'ทุน' อนาคตมาใช้วันนี้ โดยไม่สนใจว่าลูกหลานจะต้องแบกภาระหนี้ของคนยุคนี้อย่างไร

'ทุนนิยม' ยี่ห้อประชานิยมวันนี้ เน้นหนักที่ความเห็นแก่ตัวและเห็นแก่ได้ในสังคมปัจจุบัน ส่งเสริมให้มีค่านิยมผิวเผิน สมาธิสั้น คิดเป็นท่อนๆ แบบ SMS กระโจนเข้าใส่กระแสวันต่อวัน ไม่รู้จักประมาณตน ใช้เงินเกินตัว และขาดความยั้งคิด ขาดการประมาณตน

ทุนนิยมที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ไร้ความเมตตา ไร้จริยธรรม ตรงกันข้ามกับแนวทาง 'compassionate capitalism' อันหมายถึงทุนนิยมที่มีความเอื้ออาทรต่อกัน เคารพในความเห็นแตกต่าง และมีความเจียมตนถ่อมตัว ไม่ใช้ทุนเพื่อยึดครอง ไม่ใช่ทุนเพื่อเอาชนะคะคาน และไม่ 'ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า'

เพราะทุนนิยมที่เห็นวันนี้ยังหมายรวมถึงการเอาทุนไปซื้อความภักดีทางการเมืองอย่างน่าสยดสยองอีกต่างหาก

ทุนนิยมที่ยืนตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่ออนาคตของสังคม เพราะระบบทุนนิยมที่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดวันนี้ คือการรวมตัวของ 'กลุ่มทุน' กับ 'กลุ่มอำนาจ' ที่ไม่รู้จักพอ และรวมหัวกันปล้นประเทศชาติอย่างไร้ยางอาย

ถึงขั้นที่ว่าทุนนิยมลักษณะนี้กำลังจะทำลายพื้นฐานของ 'เศรษฐกิจพอเพียง' อย่างรุนแรง และท้ายสุดประชาชนก็จะติดซากเศษของระบบทุนนิยมเช่นว่านี้อย่างงอมแงม ลืม 'ความเรียบง่าย' และเหยียดหยาม 'ความพอเพียง'

ที่ผู้นำของประเทศบอกว่าในระบบ 'ทุนนิยม' นั้น ความ 'เชื่อมั่น' สำคัญที่สุด เพราะจะนำไปสู่ 'ความเชื่อถือ' เป็นความจริงเพียงส่วนเดียว ที่ท่านพูดไม่ครบถ้วนก็คือว่า ในระบบสังคมที่ถูกต้อง ยั่งยืนและเป็นธรรมนั้น 'ความเชื่อมั่น' ของประชาชนจะต้องมาจากความ 'เลื่อมใสศรัทธา' ต่อผู้มีอำนาจด้วย

ระบบสังคมนิยมและระบบคอมมิวนิสต์บังคับให้ผู้อยู่ใต้อำนาจรัฐต้องมีความเชื่อมั่นต่อผู้นำโดยปราศจากคำถาม เพราะเขาอ้างว่าได้อำนาจจากมวลชน ดังนั้น 'ความเชื่อมั่น' ของเขาจึงมาจากความเชื่อที่ว่าผู้นำของเขาจะพาเขาไปสู่จุดหมายปลายทางที่สังคมเข้าใจเป็นอย่างเดียวกัน

แต่ระบบ 'ทุนนิยม' ที่ถูกต้องนั้น ต้องเคารพในสิทธิส่วนบุคคล หรือ individual rights ที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อผู้นำทางการเมืองของตน และต้องยอมรับในความเห็นที่แตกต่างในการสร้างความมั่งคั่ง และการกระจายทุนให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด

ในระบบทุนนิยมที่ควรจะเป็นนั้น ผู้นำไม่อาจจะบังคับให้ใครมีความเชื่อมั่นในตัวผู้นำได้หากผู้นำไม่สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นนั้นอย่างถูกต้องและโปร่งใส

ทุนนิยมที่คนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ยึดครองสินทรัพย์ร้อยละ 90 ของประเทศนั้น ย่อมเป็นทุนนิยมที่รอวันหายนะเท่านั้น


โดย: จาก http://www.nationweekend.com/weekend/20050704/wea03.shtml (moonfleet ) วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:12:59:19 น.  

 
คนไทยก้าวหน้ากว่าคนอเมริกัน
บ้านเขาเมืองเรา : ดร.ไสว บุญมา กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2548

หมอไทยจำนวนมาก สนใจในคำสอนของท่านพุทธทาส จึงพออนุมานได้ว่า สัดส่วนของหมอไทย ที่ทำงานบนฐานของความเมตตา แทนการมุ่งหาเงิน คงสูงกว่าของหมออเมริกัน ทำให้อัตราการติดยาเสพติด ของหมอไทยน้อย

ย้อนหลังไปปีกว่าผู้อ่านอาจจำได้ว่าคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 16 ม.ค. 2547 เรื่อง "หลังภูเขาเหล่านี้ยังมีภูเขา" ต้นเรื่องได้แก่ หนังสือชื่อ Mountains Beyond Mountains ซึ่งปรับปรุงมาจากคติพจน์ของประเทศเฮติที่ว่า Beyond mountains there are mountains ผู้เขียนตั้งชื่อหนังสือตามคติพจน์นี้ เพื่อชี้ให้เห็นอุปสรรคของนายแพทย์หนุ่ม พอล ฟาร์เมอร์ ผู้หนีออกจากวังวนของความยากจนสำเร็จเพราะได้ทุนการศึกษา ขณะเป็นนักเรียนแพทย์อยู่ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

หมอฟาร์เมอร์ ใช้เวลาส่วนใหญ่บินไปทำงานในโรงพยาบาลกลางถิ่นทุรกันดารในเฮติ เท่านั้นยังไม่พอหมอฟาร์เมอร์ยังเรียนวิชามนุษยวิทยาไปด้วย จึงได้ทั้งปริญญาเอกทางการแพทย์ และมนุษยวิทยาพร้อมกัน

หลังเรียนจบหมอฟาร์เมอร์รับเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เขาไม่ได้สอนอย่างเดียว หากยังทำงานในโรงพยาบาลรอบๆ กรุงบอสตัน และบินไปทำงานในโรงพยาบาลที่เฮติด้วย ท่ามกลางความยากจน และความขัดสนเวชภัณฑ์ และเครื่องใช้ไม้สอยสารพัด หมอฟาร์เมอร์ต่อสู้กับโรคร้ายหลายชนิด โดยเฉพาะโรคเอดส์ และวัณโรคดื้อยา นอกจากโรคร้าย และความยากจนของคนในเฮติ เขาต้องต่อสู้กับการขาดแคลนเงินทุน สำหรับใช้จ่ายในการซื้อยา และจัดหาเครื่องมือ และกับองค์กรต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าไม่ควรรักษาคนป่วยด้วยโรคดื้อยาเพราะไม่คุ้มทุน

ในการต่อสู้กับโรคร้ายในเฮติ หมอฟาร์เมอร์ให้ความสนใจแก่คนไข้อย่างทุ่มเท บ่อยครั้งเขาเดินทางด้วยเท้าข้ามภูเขา และลำห้วยเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อไปเยี่ยมคนไข้ซึ่งอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล

นอกจากงานประจำแล้ว หมอฟาร์เมอร์เขียนหนังสือเดินทางไปประชุมทั่วโลกในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ และร่วมก่อตั้งองค์กรเอกชนชื่อ Partners In Health เพื่อนำความก้าวหน้าทางการแพทย์ไปสู่ชุมชนยากจนในหลายประเทศ วันหนึ่งๆ หมอฟาร์เมอร์จึงแทบไม่ได้หลับได้นอน

ความทุ่มเทของหมอฟาร์เมอร์สร้างศรัทธาแก่บรรดาเศรษฐีผู้มีใจกุศล และหมอด้วยกันอย่างกว้างขวาง มหาเศรษฐีเช่น บิล เกตส์ และจอร์จ โซรอส บริจาคเงินให้โครงการของเขาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นเจ้าของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในกรุงบอสตันบอกว่า จะยกสมบัติให้แก่ หมอฟาร์เมอร์ทั้งหมด โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งคณะสังคมศาสตร์การแพทย์และความไม่ทัดเทียมกันด้านสุขภาพขึ้นใหม่เพื่อให้เขาเป็นคณบดีโดยเฉพาะ

คณะนี้มีหมอ 20 คน ซึ่งสละโอกาสสร้างความร่ำรวย เพื่อมาช่วยงานของเขา และเดินทางไปรักษาโรคติดต่อร้ายแรง และฝึกหมอในท้องถิ่นยากจนในหลายประเทศ หมอเหล่านี้มักยังมีอายุน้อย มาจากภูมิหลังต่างกันแต่มีอุดมการณ์ แรงบันดาลใจและความเมตตาสูง

คนหนึ่งเป็นหญิงอายุ 35 ปีมาจากครอบครัวคาทอลิกซึ่งเคร่งครัดมาก เธอรักความเป็นอิสระ เมื่อถูกส่งไปเรียนหนังสือในโรงเรียนของโบสถ์ก็เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างแรง และมักทำอะไรแผลงๆ เสมอ แต่เนื่องจากเธอเรียนเก่งจนหาตัวจับไม่ได้โรงเรียนจึงไม่กล้าไล่เธอออก ปัจจุบันเธอไปทำงานในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงลิมา ประเทศเปรู เพื่อรักษาผู้ป่วยเป็นวัณโรคดื้อยา อีกคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งระหว่างพ่อชาวอิหร่าน และแม่ชาวอเมริกัน เธออายุ 35 ปี ตอนนี้ทำงานในแหล่งเสื่อมโทรมของกรุงบอสตัน เพื่อช่วยผู้ป่วยเป็นโรคเอดส์

ทางฝ่ายชายคนหนึ่งอายุ 42 ปี หลังจบปริญญาตรีแล้วเข้าร่วมหน่วยอาสาสมัครที่ประเทศแคเมอรูน การล้มตายแบบใบไม้ร่วงของเด็กจากโรคธรรมดาๆ ซึ่งควรป้องกันได้ด้วยการฉีดยาเพื่อสร้างภูมิต้านทานเป็นแรงบันดาลใจให้เขากลับไปเรียนแพทย์ ตอนนี้เขาทุ่มเทเวลาให้กับการรักษาวัณโรคดื้อยาแก่นักโทษในคุกที่ไซบีเรีย

อีกคนหนึ่งอายุ 37 ปี มาจากครอบครัวอเมริกันนิโกร ขณะที่กำลังเรียนแพทย์เขาเดินทางไปดูงานในโครงการของหมอฟาร์เมอร์ ที่เฮติ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงแบบสุดๆ ที่นั่นบันดาลใจให้เขาอุทิศชีวิตเพื่องานด้านสังคมศาสตร์การแพทย์

ไม่เฉพาะหมอหนุ่มสาวเท่านั้นที่เกิดแรงบันดาลใจจากการได้สัมผัสกับงานของหมอฟาร์เมอร์ นายแพทย์อาวุโสคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นอาจารย์ของหมอฟาร์เมอร์ เมื่อครั้งที่เขารั้งตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก็เกิดความศรัทธาในตัวลูกศิษย์แรงกล้า เขาจึงอาสาทำงานกับกลุ่มนี้ทั้งที่อายุ 79 ปีแล้ว

ในสังคมอเมริกันอาชีพหมอทำรายได้สูงสุด ผู้เรียนหมอพอจะคาดได้ทันทีว่า จะเป็นเศรษฐีในอนาคต ส่วนมากเมื่อเรียนจบมาก็ก้มหน้าก้มตาหาเงินขะมักเขม้น และมักเป็นเศรษฐีกันตามคาดจริงๆ แต่สิ่งหนึ่งซึ่งอาจไม่เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปคือ หมอในสหรัฐมีอัตราติดยาเสพติดสูงสุดเมื่อเทียบกับคนทำอาชีพอื่น เพราะอะไรยากที่จะหยั่งรู้

ผู้อ่านคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 13 และ 20 ก.พ. 2547 อาจจำหนังสือเรื่อง Progress Paradox ได้ หนังสือเล่มนี้นำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาชี้ว่า ความร่ำรวยเป็นต้นเหตุของความเครียด และความกระสับกระส่าย เราจึงพออนุมานได้ว่าคงเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งผลักดันให้หมอติดยาเสพติด

นั่นไม่ได้หมายความว่า หมอที่ทำงานบนฐานของความเมตตา เช่น กลุ่มของหมอฟาร์เมอร์จะไม่ติดยา แต่จากข้อมูลที่พอหาได้เราอาจอนุมานว่า หมอกลุ่มนี้มีโอกาสติดยาน้อยกว่าหมอผู้ก้มหน้ามุ่งหาเงินเป็นหลัก

เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้มีหนังสือชื่อ Field Notes on the Compassionate Life ออกวางแผง ผู้เขียนกล่าวถึงหลักวิทยาศาสตร์ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ด้วยการตรวจคลื่นสมองของผู้มีความเมตตาว่า เขามีความเครียดและความกระสับกระส่ายน้อย คนเหล่านี้คงไม่มีโอกาสติดยาเสพติดมากนัก

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มซึ่งทยอยกันออกมาชี้ว่า ชาวตะวันตกสนใจหลักความเมตตา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวตะวันออก รวมทั้งหนังสือเรื่อง Compassionate Capitalism ซึ่งนายกฯ ทักษิณ แนะนำด้วย หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่า มหาเศรษฐีอเมริกันสนใจเรื่องความเมตตาและนำไปปฏิบัติกันกว้างขวางขึ้น

ผมจำได้ว่า หมอไทยจำนวนมากสนใจในคำสอนของท่านพุทธทาส จึงพออนุมานได้ว่าสัดส่วนของหมอไทยที่ทำงานบนฐานของความเมตตาแทนการมุ่งหาเงินคงสูงกว่าของหมออเมริกัน ทำให้อัตราการติดยาเสพติดของหมอไทยน้อยกว่าหมออเมริกันด้วย

แม้เราจะไม่มีข้อมูลที่บ่งว่า เศรษฐีไทยสนใจในความมีเมตตาธรรมมากขึ้นเช่นเดียวกับเศรษฐีอเมริกัน แต่ผมคิดว่าพวกเขาน่าจะสนใจและนำไปปฏิบัติไม่น้อยกว่าเศรษฐีอเมริกัน เพราะภูมิปัญญานี้มีอยู่กับบ้านเรามานานแล้ว

หากเป็นจริงเราอาจกล่าวว่า คนไทยก้าวหน้าไม่น้อยกว่าคนอเมริกัน ผมหวังว่า ผมคงไม่ได้ฝันไป ใครมีข้อมูลที่สามารถยืนยันได้กรุณานำมาเสนอด้วยนะครับ

Resource:
//www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q2/article2005april29p10.htm


โดย: คนไทยก้าวหน้ากว่าคนอเมริกัน (moonfleet ) วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:13:03:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.