160. กองทุนหมู่บ้าน คือ โอกาสที่เปิดให้กับชาวบ้านได้มาร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างพลังของชุมชน
Resource:กองทุนหมู่บ้าน คือ โอกาสที่เปิดให้กับชาวบ้านได้มาร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างพลังของชุมชน

กองทุนหมู่บ้าน คือ โอกาสที่เปิดให้กับชาวบ้านได้มาร่วมแรงร่วมใจกัน สร้างพลังของชุมชน โอกาสดังกล่าวนี้หากได้มาแล้วจัดการไม่ดี ก็จะเป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประเทศ และทำให้ความสามัคคีและการพึ่งพาตนเองที่ชุมชนเคยมีอยู่ถูกทำลายลง
สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ต้องไม่รีบเร่งดำเนินการเพียงเพื่อให้หมู่บ้านได้รับเงินล้านตามๆ กันไป การให้ชุมชนค่อยๆ เรียนรู้กระบวนการพัฒนา โดยการศึกษาจากหมู่บ้านต้นแบบเพื่อมาประกอบการเตรียมความพร้อมในชุมชนตนเอง จะทำให้เกิดประโยชน์มากกว่า
ด้วยความคิดดังกล่าว สำนักงานกองทุนเพื่อสังคมจึงได้มอบหมายให้ทีมงานศึกษาหมู่บ้านนำร่องลงพื้นที่เก็บข้อมูล หลังจากลงไปสัมผัสพื้นที่ในหลายๆ จังหวัด พบว่า หมู่บ้านที่เหมาะสมสำหรับการเป็น หมู่บ้านต้นแบบ มีจุดร่วมซึ่งเป็นจุดแข็ง ต่างๆ ดังนี้
1. มีพัฒนาการที่เริ่มต้นมาจากชุมชน
หมู่บ้านที่ริเริ่มการพัฒนาด้วยความพยายามจากกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของชุมชนเอง โดยการสนับสนุนจากภายนอกเป็นเพียงแรงเสริม เป็นหมู่บ้านที่มีรากฐานมั่นคงไม่สั่นคลอนง่ายต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ หมู่บ้านที่มีคุณสมบัตินี้เหมาะสมในการเป็นแบบอย่างให้กับหมู่บ้านอื่นๆ มากกว่าหมู่บ้านที่เริ่มต้นด้วยการอัดฉีดกระบวนการและทรัพยากรจากภายนอก
2. มีผู้นำที่โดดเด่นและหลากหลาย
ผู้นำชุมชนเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนา หมู่บ้านที่มีผู้นำโดดเด่นทั้งด้านความคิดและการลงมือปฏิบัติ จะเป็นศูนย์รวมของความเชื่อมั่นของคนในชุมชน สามารถสร้างความสามัคคีได้ดี
ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นผู้นำที่เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความพยายามที่จะกระตุ้นและเปิดโอกาสให้ผู้นำในลำดับรองๆ ลงมาได้แสดงบทบาท ความรับผิดชอบ อันเป็นจุดเริ่มที่ทำให้กระบวนการพัฒนาก้าวหน้าขึ้น
3. กลุ่มกิจกรรมต่างๆ มีประสบการณ์
ความสามารถในการวมกลุ่มแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนา กลุ่มที่ตั้งมานานจะมีประสบการณ์ทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จมาก่อน กว่าที่จะสามารถพัฒนากลุ่มให้มีทิศทาง และรูปแบบที่ตอบสนองความ ต้องการของชุมชนตนเองได้ มิใช่ลอกเลียนแบบจากที่อื่นมาใช้อย่างฉาบฉวย โดยมิได้วิเคราะห์และปรับให้เหมาะกับสภาพการณ์ตนเอง
4. มีประสบการณ์ในการบริหารกองทุน
สิ่งสำคัญประการหนึ่งสำหรับการเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่ดี คือ ความสามารถในการบริหาร กองทุน หมู่บ้านที่มีประสบการณ์ในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และได้พัฒนาระบบการจัดการ การเงินการบัญชีจนชัดเจนโปร่งใสแล้ว จะสามารถปรับประสบการณ์นี้มาใช้ในการบริหาร การเงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท ได้ไม่อย่างไม่ยากเย็น
5. มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจชุมชน
ชุมชนไหนชาวบ้านรวมตัวกันทำธุรกิจชุมชน มีการระดมหุ้น ระดมเงินออม หรือขายผลผลิตร่วมกันมาก่อน รู้จักวิธีรวมตัว ต่อรอง เป็นชุมชนที่เชื่อมั่นได้ว่าจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี
6. มีรูปธรรมของการพัฒนา
หมู่บ้านที่มีกิจกรรมเป็นรูปธรรมชัดเจน มีการเก็บหลักฐานเอกสารอย่างเป็นระบบ เหมาะที่จะเป็นหมู่บ้านต้นแบบ เพราะสามารถแสดงให้ชาวบ้านจากที่อื่นๆ ที่ต้องการมาศึกษาเรียนรู้ สามารถเข้าใจได้ง่าย มีประเด็นในการแลกเปลี่ยนที่เห็นได้ชัดเจน จนนำไปสู่การปฏิบัติได้ง่าย
7. มีความพร้อมใจ และยินดีเสียสละเวลา ประเด็นสำคัญในการเลือกหมู่บ้านนำร่องอีกประการหนึ่ง คือ ชุมชนต้องยินดีโดยเฉพาะผู้นำซึ่งอาจต้องเสียสละเวลาต้อนรับผู้มาเยือนและพร้อมที่จะอธิบายเรื่องราวต่างๆ ในหมู่บ้านของตนให้กับชุมชนอื่นเข้าใจด้วยความเต็มใจ
* ชุดความรู้ ที่ 1. จาก ทีมงานศึกษาหมู่บ้านนำร่อง สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม

ข้อเสนอแนะการจัดทำโครงการ
(เพื่อการใช้เงินกองทุนหมู่บ้านฯ อย่างยั่งยืน)
เมื่อเงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท ลงไปถึงหมู่บ้านแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสนใจต่อไปคือ ทำอย่างไรที่จะทำให้เงินก้อนนี้เป็นเครื่องมือสนับสนุนกิจกรรมดีๆ หรือเกิดประโยชน์สูงสุดในชุมชน โครงการเพื่อขอกู้เงินกองทุน 1 ล้านบาทที่ดี จึงไม่ใช่คิดเพียงแค่ว่าทำแล้วใช้เงินคืนได้ หรือมีผลกำไรมากๆ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม มุ่งสู่แนวทางการพึ่งตนเอง และการพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชน

ลักษณะโครงการที่ดี
การพิจารณาโครงการสำหรับผู้เกี่ยวข้องควรมีกรอบคิด ดังนี้
1.โครงการควรสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ชุมชนได้ร่วมกำหนดและจัดวางไว้
2. โครงการควรใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และใช้วัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ และกำลังแรงงานในท้องถิ่น
3. โครงการควรมีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมความสามารถในด้านการบริหารจัดการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของสมาชิกในกลุ่ม
4. โครงการควรส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน และเอื้อ ประโยชน์กับคนกลุ่มต่างๆ ตามระดับการมีส่วนร่วมกับโครงการ
5.โครงการไม่ควรก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบ นิเวศน์ของชุมชน หากต้องมีโครงการในลักษณะดังกล่าว ควรจะต้องมีวิธีการควบคุมและแก้ไขที่มีประสิทธิภาพ
6. โครงการไม่ควรมีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงจนไป ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชน สามารถกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มต่างๆ และบุคคลอื่นได้อย่างทั่วถึง
7. ผลผลิตของโครงการควรมีจุดเด่น มีตลาดหลายแห่งเพื่อให้ชาวบ้านสามารถขายได้อย่างอิสระไม่ขึ้นต่อตลาดแห่งใดแห่งหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น
วิธีการจัดทำโครงการแบบมีส่วนร่วม
วิธีการในการจัดทำโครงการมีหลยวิธี แต่วิธีที่จะนำเสนอต่อไปนี้มุ่งเน้นการจัดทำแบบง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้อง วิธีการต่างๆ เหล่านี้แระกอบไปด้วย
1.ประธานกลุ่มเรียกประชุมสมาชิก เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมเสนอความคิดเห็นในการจัดทำโครงการ
2. เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอกิจกรรมที่ตนเองสนใจจะทำ พร้อมทั้งต้องให้ เหตุผลประกอบในประเด็นต่างๆ ว่า
ก. โครงการสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ชุมชนวางไว้หรือไม่ ? อย่างไร ?
ข. ในกลุ่มมีความสามารถ หรือมีความรู้ในการดำเนินการหรือไม่ ?
3.ผู้ดำเนินการประชุมเรียบเรียงกิจกรรมและเหตุผลที่กลุ่มหรือสมาชิกเสนอ กันมา จากนั้นก็ให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นต่อกิจกรรมเหล่านั้นเพิ่มเติม แล้วจึงให้สมาชิกออกเสียงสนับสนุนกิจกรรมที่ตนเห็นชอบ จากนั้นเลือกกิจกรรมที่ได้รับเสียงสนับสนุนมากที่สุดมาอภิปราย

4. แบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่มในจำนวนที่พอเหมาะ แล้วให้แต่ละกลุ่มอภิปราย ในประเด็นต่อไปนี้
* ทำไมถึงต้องการทำกิจกรรมนี้ (ความเป็นมาของโครงการ)
* กิจกรรมนี้ทำไปเพื่ออะไร (วัตถุประสงค์ของโครงการ)
* ใครได้ประโยชน์จากโครงการบ้าง (กลุ่มผู้รับผลประโยชน์)
* จะทำอย่างไรให้โครงการบรรลุผลสำเร็จ (วิธีการดำเนินงาน)
* จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการนานเท่าใด
* งบประมาณที่ใช้เท่าไหร่ และกลุ่มจะสมทบอะไรบ้างในการดำเนินงาน
* ผลงานรูปธรรมที่ออกมามีอะไรบ้าง (ผลที่คาดว่าจะได้รับ)
* การคืนทุนจะมีกำหนดเวลาอย่างไร
* การติดตามงานจะทำอย่างไร ใครรับผิดชอบ
5.ให้กลุ่มนำเสนอแล้วหยิบยกข้อแตกต่างที่มี มาอภิปรายหาข้อสรุปร่วมกัน
6. ให้ที่ประชุมเลือกคณะทำงานมารับผิดชอบในการเขียนข้อสรุป สืบราคา วัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ เพื่อจัดทำงบประมาณให้ถูกต้องใกล้เคียงที่สุด รวมทั้งเลือกผู้ที่จะเป็นตัวแทนในการนำเสนอโครงการในเวทีประชาพิจารณ์และอนุมัติโครงการต่อไป
ชุดความรู้ (ชุดที่ 2) จาก ทีมงานศึกษาหมู่บ้านต้นแบบ สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม
หลักคิดในการพิจารณาอนุมัติโครงการเพื่อกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท
จากการลงพื้นที่ของทีมศึกษาหมู่บ้านนำร่อง ของกองทุนเพื่อสังคมพบว่า คณะการบริหารกองทุนระดับหมู่บ้านขาดประสบการณ์ในการพิจารณาอนุมัติโครงการเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามยังมีผู้นำและปราชญ์ชาวบ้านที่ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินของชุมชนมาเป็นอย่างดี ท่านเหล่านี้ได้ให้

หลักคิดในการพิจารณาโครงการ ไว้อย่างน่าสนใจว่า
1. ศึกษากฎระเบียบให้ชัดเจน ในเบื้องต้น คณะกรรมการบริหารกองทุนควรศึกษากฎระเบียบและเจตนารมย์ของกองทุนหมู่บ้านที่ให้ชัดเจน
2. มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสนอโครงการ
คณะกรรมการบริหารกองทุนหมู่บ้านควรศึกษาข้อมูลของกลุ่ม หรือองค์กร ที่นำเสนอในเบื้องต้น เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ
1.กลุ่มมีการบริหารจัดการอย่างไร ( รวมศูนย์อำนาจ หรือให้สมาชิกได้มีส่วนร่วม)
2.มีการจัดระบบเงินทุนหมุนเวียนอย่างไร
3.ผลงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร (ถ้าเคยมีปัญหาความไม่โปร่งใสเรื่องหนี้สิน คณะกรรมการต้องซักถามให้ชัดเจนว่ากลุ่มจะป้องกันความผิดพลาดในลักษณะเดิมได้หรือไม่อย่างไร)
3.กิจกรรมที่เสนอเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เคยทำมา
คณะกรรมการควรพิจารณาถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมเดิม และที่เสนอมาใหม่ว่า
1.มีความสอดคล้องต้องกันหรือไม่
2.คนในกลุ่มมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมที่เสนอหรือไม่
3.สามารถทำได้จริงดังข้อเสนอหรือไม่ (ถ้ามีคนที่รู้เรื่องที่เสนอในองค์กร หรือองค์กรเคยทำมาแล้วก็ง่ายที่องค์กรจะดำเนินการในเรื่องเสนอมาได้)
4.ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการตกอยู่กับใคร
โครงการที่ดีจะก่อประโยชน์ให้คนกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ตัวอย่างเช่นกิจกรรมโรงสีข้าว ถ้าประสบความสำเร็จจะก่อผลดังนี้คือ
1.ทำให้กองทุนเติบโตขึ้น
2.คณะกรรมการได้ค่าบริหารจัดการ ได้รับความรู้ประสบการณ์
3.สมาชิกได้รับเงินปันผล
4.ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกได้ใช้บริการ
5.ผู้ซื้อทั่วไปได้ซื้อข้าวมีคุณภาพสมราคา เป็นต้น
5.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการควรพิจารณาว่าโครงการที่เสนอจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เช่น โครงการเลี้ยงหมู จะก่อให้เกิดกลิ่นเหม็น มีแมลงวันชุกชุมในชุมชน ผู้เสนอโครงการมีวิธีการแก้ไขได้อย่างไร
6.ตอบสนองความต้องการทั้งระยะสั้นและระยะยาว โครงการบางประเภท อาจเสนอตามความต้องการของชุมชนในปัจจุบัน แต่ในอนาคตโครงการดังกล่าวอาจจะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนหรือสร้างปัญหาให้แก่ชุมชนในระยะยาวได้ เช่น โครงการซื้อปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ฯลฯ
7.ระยะเวลาในการดำเนินงานและการคืนทุน เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านให้ทุนในลักษณะหมุนเวียน คณะกรรมการควรพิจารณาว่ากิจกรรมที่เสนอมีระยะเวลาคืนทุนที่เหมาะสมหรือไม่ เช่น โครงการเลี้ยงไก่น่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 6 เดือน มิใช่ 1 ปี เป็นต้น
8.การแสดงรายละเอียดกิจกรรม โครงการควรมีการจัดทำรายละเอียดการจัดซื้อ การคิดต้นทุนและกำไรที่คาดว่าจะได้รับให้ชัดเจน คณะกรรมการควรตรวจดูว่าโครงการได้แนบเอกสารรายละเอียดเหล่านี้มาด้วยหรือไม่ ถ้ายังไม่มีต้องแจ้งให้ผู้เสนอโครงการจัดเตรียมมา เพื่อความสะดวกแก่การตรวจงวดบัญชี
9.ข้อมูลการตลาด ถ้าเป็นโครงการเพื่อการค้าขาย ผู้เสนอจะต้องมีแผนการตลาดที่ชัดเจน เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้ทำการตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมามีตลาดรองรับ สามารถขายทำกำไรได้หรือไม่
10.การติดตามตรวจสอบ คณะกรรมการฯ ควรดูว่าโครงการได้ระบุถึงวิธีการในการติดตามตรวจสอบไว้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกันในอนาคต
ชุดความรู้ (ชุดที่ 3) จาก ทีมงานศึกษาหมู่บ้านนำร่อง สำนักงานกองทุนเพื่อสังคม

กองทุนหมู่บ้าน : ปัจจัยมุ่งสู่ความสำเร็จ
นับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ทยอยจัดสรรเงินกองทุน 1 ล้านบาทแก่หมู่บ้านแล้วเป็นจำนวนกว่า 3 หมื่นหมู่บ้าน ยังเหลืออีกกว่า 5 หมื่นหมู่บ้าน เงินจำนวนนี้ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสร้างงานสร้างรายได้
ถ้าจะว่าไปแล้วถือเป็นนโยบายที่ดีที่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการบริหารงบประมาณ ติดตามตรวจสอบกันเอง ภายใต้การหนุนช่วยจากพี่เลี้ยง 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐบาล / ราชการ / ประชาสังคม / องค์กรชุมชน ถือเป็นการกอบกู้วิกฤติชาติที่เกิดจากปัญหาของกระแสสังคมโลกโดยรวม และเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดจากการคิดข้างบน ทำจากข้างบน มาเป็นการคิดจากฐานล่าง ทำจากข้างล่าง ให้โอกาสคนรากหญ้าได้กอบกู้วิกฤติ โดยให้กองทุนหมู่บ้านสร้างพลังทางเศรษฐกิจ เกื้อกูลผู้ด้อยโอกาสให้คนในชุมชนมีสำนึกรักท้องถิ่น มีการกำหนดชะตากรรมตนเอง กำหนดกฎระเบียบกันเอง
อย่างไรก็ตามการจะทำให้เงินกองทุนมีประโยชน์และยั่งยืน จะต้องมีองค์ประกอบหลายส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 การเตรียมความพร้อมของชุมชน หรือที่เรียกกันว่า 4 เตรียม คือ เตรียมกรรมการ เตรียมระเบียบ เตรียมสมาชิก และเตรียมแผนงาน
ถามว่าทำไมจะต้องมีการเตรียมความพร้อม รอให้รัฐบาลโอนเงินลงมาเลยจะไม่ง่ายกว่าหรือ คำตอบก็คือ ได้นะมันได้ แต่เขาอยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขาเน้นในเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น
ดังนั้นคณะกรรมการหมู่บ้านจำต้องได้ผู้นำที่ทุกคนในหมู่บ้านยอมรับนับถือ ทั้งเรื่องคุณสมบัติ ความสามารถ และมีความเข้าใจในปรัชญาของกองทุน เวทีประชุมประชาคมของหมู่บ้านจะทำให้เกิดการกลั่นกรองผู้นำตามธรรมชาติ และต้องรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง ภายหลังรับเลือกเข้ามาแล้ว
ส่วนสมาชิกผู้กู้เงิน ก็ต้องรู้จักการคำนวณต้นทุนการผลิตสินค้าว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ต่อสินค้า 1 หน่วย เช่น ซาลาเปา 1 ลูก ตะกร้าหวาย 1 ใบ แชมพู 1 ขวด จะต้องรู้ว่าขายในราคาเท่าไรจึงจะได้กำไร ไม่ขาดทุน จะต้องเอาสินค้าไปวางขายที่ไหน และจะขายได้มากน้อยเท่าใด ถ้าจะผลิตออกมามาก ของจะเหลือหรือเปล่า ตลาดอยู่ที่ไหน ถ้าขายไม่จะทำอย่างไร
ระเบียบและแผนงานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ระเบียบถือเป็นกติกาที่คนในหมู่บ้านช่วยกันกำหนดให้มีความสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า เมื่อนำมาต่อเชื่อมกับข้อมูลว่าเราเป็นอย่างไร เก่งอะไร ไม่เก่งอะไร มีปัญหาที่ตรงไหน ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เรารู้จักตนเอง และสามารถนำมากำหนดได้ว่าเราควรทำอาชีพอะไร อนาคตข้างหน้าจะเดินไปในทิศทางไหน
ส่วนที่ 2 การติดตามตรวจสอบ
จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าการอนุมัติ ให้สมาชิกแต่ละรายกู้นั้นมีเหตุผล และความเหมาะสมหรือไม่ ในเดือนที่ผ่านมามีการอนุมัติกิจกรรม ของสมาชิกไปกี่ราย รวมเป็นเงินเท่าไร มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกองทุนหมู่บ้านเท่าไหร่ สมาชิกได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ กับคณะกรรมการกองทุนหรือไม่ ในเดือนที่ผ่านมามีการชำระเงินคืนจากสมาชิกกี่ราย รวมเป็นเงินเท่าไหร่ พูดง่ายๆ ว่ารู้ความเคลื่อนไหวของเงินทั้งเงินเข้าและเงินที่ออกจากกองทุนหมู่บ้าน
ส่วนที่ 3 การขยายผล
ทำอย่างไรดอกผลที่มีอยู่จะเกิดการหมุนเวียนได้หลายรอบ ทั้งนี้ผู้ที่ได้ก่อนในรอบแรก ควรจะเป็นผู้ด้อยโอกาส ที่จะเป็นเร่งด่วนจริงๆ แล้วค่อยให้สมาชิกในองค์กรดำเนินกิจกรรมต่อไป เมื่อกิจกรรมภายในหมู่บ้านของตนเองเข้าที่เข้าทางแล้ว ยังสามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชนข้างเคียง ได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไปได้ การศึกษาดูงานนอกจากจะดูผลสำเร็จ ในกิจกรรมนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่จะต้องดูคือ วิธีคิด วิธีการแก้ไขปัญหาด้วย
ส่วนที่ 4 การสรุปบทเรียน
การสรุปบทเรียนนอกจากจะทำให้เรารู้จุดอ่อน จุดแข็งแล้ว สิ่งที่สำคัญ คือ จะทำให้เรามองเห็นพลังศักยภาพของตนเอง เกิดความเชื่อมั่นในแนวทางการทำงาน บอกกล่าวแก่สังคมได้ว่า เราทำได้ เราพึ่งตนเองได้
การหมั่นสรุปบทเรียนข้อผิดพลาดก็เพื่อหา เงื่อนไข อุปสรรค ที่ทำให้งานไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ควรจะเป็น แล้วก็กำหนดจังหวะก้าวที่จะเดินต่อไปข้างหน้า ความสำเร็จหรือล้มเหลวจึงอยู่ที่ตัวชุมชนเป็นปัจจัยชี้ขาด การติดตามหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรอยู่บนหลักการ เกื้อกูลโดยไม่ก้าวก่าย หากทำได้ดังนี้ก็เป็นหลักประกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
************************************************

โครงการพักชำระหนี้เกษตร โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการ OTOP คือ หนึ่งในกลยุทธ์แห่งการพัฒนาประเทศไทย หนึ่งในนโยบายของพรรคไทยรักไทย และ ของรัฐบาล นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร
Create Date : 09 มกราคม 2552 |
|
10 comments |
Last Update : 9 มกราคม 2552 22:44:54 น. |
Counter : 18503 Pageviews. |
|
 |
|
วันเด็กไปเที่ยวไหนเปล่าค่ะ