" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0042. WHAT THE BEST CEOs KNOW : 1 ใน109 หนังสือควรอ่าน จาก นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร





What the Best CEOs Know
By: Jeffrey A. Krames
Price: $19.91



เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2546 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี แนะนำหนังสือให้กับคณะรัฐมนตรี เล่นหนึ่งชื่อ What the Best CEOs Know ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจ ...


CEOs know that their organization's ...



..หนังสือ ได้นำเสนอเรื่องของผู้บริหารดีเด่นในระบบเศรษฐกิจของโลกจำนวน 7 คน โดยเน้นจุดเด่นของแต่ละคนที่ประสบความสำเร็จ เช่น มีการให้รางวัลผสมผสานกับผลงาน การรักษาองค์กรขนาดเล็กให้มีความสมดุล ลดกฏระเบียบต่างๆ การมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร อาชีพของตนเอง และ ต่อผู้บริหาร เน้น วัฒนธรรมขององค์กร (Organization Culture) ว่า องค์กรจะต้องปรับวัฒนธรรมในการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และ สิ่งแวดล้อม ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจำนวน 9 คนนั้น มีอยู่ 7 คน ที่ไม่จบปริญญาตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง


what the ceo doesn’t know



Create Date : 07 มีนาคม 2551
Last Update : 7 มีนาคม 2551 15:04:09 น. 14 comments
Counter : 2504 Pageviews.

 
What the Best CEOs Know :7 Exceptional Leaders and Their Lessons for Transforming any Business เขียนโดย Jeffrey Krames
หนังสือนี้พิมพ์เมื่อต้นปี 2546 เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งนายกฯ ทักษิณแนะนำให้คนไทยอ่าน เป็นหนังสือที่รวบรวมแก่นความคิดและบทเรียนของนักบริหารจัดการชั้นเซียน 7 คนที่มีประวัติยาวนานในการใช้ความคิดแบบนอกกรอบและเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจของสหรัฐมานำเสนอ

1) บิลล์ เกตส์ (Bill Gates)

มหาเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลกมาเป็นเวลานาน จากการเป็นผู้ก่อตั้งและขับเคลื่อนบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) จนประสบความสำเร็จอย่างมหัศจรรย์ ในปัจจุบัน คำสั่งแม่บท หรือ Operating System ชื่อว่า Windows ของเขาคุมตลาดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กในโลกได้ถึง 93% บิลล์ เกตส์ เขียนหนังสือไว้ 2 เล่ม ได้แก่ The Road Ahead (พิมพ์ปี 2539) และ Business @ the Speed of Thought (พิมพ์ปี 2542) ซึ่งเล่มหลังนี้ท่านนายกฯ ได้แนะนำให้อ่านเช่นกัน
"คนฉลาดควรมีอำนาจขับเคลื่อนความคิดริเริ่ม" เป็นแก่นความคิดทางองค์กรของ บิลล์ เกตส์ ที่มุ่งสร้างบริษัทไมโครซอฟท์ให้เป็นองค์กรแห่งปัญญา โดยการเปิดโอกาสให้พนักงานเข้าถึงข้อมูลของบริษัทได้อย่างทั่วถึง ได้รับการฝึกให้รู้จักวิเคราะห์ ตีความ และนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นพนักงานยังมีช่องทางเสนอความคิดเห็นของตนโดยตรงต่อผู้บริหารทุกระดับซึ่งต้องมีใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เขามองว่าในภาวะเช่นนั้นทุกส่วนขององค์กรจะทำงานร่วมกันเป็นปึกแผ่นเสมือนมันสมองก้อนใหญ่อันชาญฉลาดและปราดเปรียว
บิลล์ เกตส์ ก็ทำตัวเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนบริษัทไมโครซอฟท์บนฐานความคิดของเขา เขาเปิดโอกาสให้พนักงานของบริษัททุกคนส่งข่าวและความคิดเห็นไปถึงเขาทาง อี-เมล์ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นข่าวร้ายหรือความคิดใหม่ซึ่งไม่ตรงกับของเขา ยิ่งเป็นข่าวร้ายเขายิ่งต้องการได้ยินเร็วที่สุด
ผู้เขียนยกตัวอย่างความใจกว้าง ถ่อมตนและยืดหยุ่นได้ของ บิลล์ เกตส์ ว่า หลังจากพนักงานคนหนึ่งกลับมาจากการไปเยี่ยมมหาวิทยาลัย และเสนอความคิดไปให้เขาพร้อมกับบอกเขาว่าถ้าเขายังใช้แนวคิดเดิมขับเคลื่อนกิจการ บริษัทไมโครซอฟท์มีหวังล่มจม แทนที่จะเขม่นพนักงานคนนั้น บิลล์ เกตส์ ศึกษาแนวคิดของพนักงานอย่างถ่องแท้ เมื่อแน่ใจว่ามันน่าจะถูกต้อง เขาออกมายอมรับอย่างหน้าชื่นว่า เขาประเมินวิวัฒนาการและประโยชน์ของการใช้ระบบ เครือข่ายข้อมูล หรือ อินเทอร์เน็ต (Internet) พลาดไป และรีบระดมสมองและพลังงานเพื่อปรับเปลี่ยนยุทธการของบริษัทไมโครซอฟท์อย่างเร่งด่วน ยังผลให้ไมโครซอฟท์เป็นผู้นำในอุตสากรรมด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์อยู่ได้ในขณะนี้


โดย: 1) บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:06:47 น.  

 
2) แจ๊กค์ เวลช์ (Jack Welch)

ซึ่งต่างกับ บิลล์ เกตส์ ในแง่ที่เขาเข้าเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเจนเนอรัลอีเลกตริก (General Electric) หรือ จีอี ซึ่งเป็นองค์กรเก่าแก่ขนาดใหญ่ยักษ์ มีพนักงานกว่า 4 แสนคน มีกิจการใหญ่ๆ หลายอย่าง ตั้งแต่การสร้างเครื่องไฟฟ้าไปจนถึงการให้บริการด้านการเงินและเทคโนโลยี แต่กำลังประสบปัญหาเพราะไม่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในหลายๆ ด้าน แจ๊กค์ เวลช์ เข้ารับตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด หรือ ซีอีโอ เมื่อปี 2542 เขาอยู่ในตำแหน่งนั้นยาวถึง 20 ปี ประสบความสำเร็จอย่างสูงจนทำให้มูลค่าหุ้นของจีอีในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก13,000 ล้านดอลลาร์เป็น 596,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเขาจะก้าวลงจากตำแหน่งสำนักพิมพ์ต่างๆ เขาได้รับข้อเสนอเป็นเงินล่วงหน้า จำนวน 7.1 ล้านดอลลาร์ เป็นจำนวนที่ไม่เคยมีใครได้รับมาก่อนในประวัติศาสตร์การพิมพ์ หนังสือของเขาชื่อ Jack: Straight from the Gut พิมพ์เมื่อปี 2501 ก็ขายดีอยู่เป็นเวลานาน
"เราขับเคลื่อนด้วยแก่นความเชื่อพื้นฐานที่ว่า ความปรารถนาและความสามารถขององค์กรที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากแหล่งไหนก็ได้และนำความรู้นั้นไปใช้คือความได้เปรียบในเชิงแข่งขันขั้นสูงสุด" เป็นคาถาที่ แจ๊กค์ เวลช์ ยึดเป็นแนวในการบริหารธุรกิจ เพื่อสร้างจีอีให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ เขาใช้เงินกว่า 45 ล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงศูนย์ฝึกอบรมของบริษัทให้กลายเป็นสถาบันในการฝึกอบรมและระดมสมองของผู้บริหารและพนักงานอย่างแท้จริง เพื่อแสดงให้เห็นว่าศูนย์นั้นตั้งขึ้นเพื่อผู้บริหารและพนักงานทุกคน ไม่มีข้อยกเว้นเพราะไม่มีใครรู้อะไรไปหมดทุกอย่างรวมทั้งตัวของเขาเองด้วย แจ๊กค์ เวลช์ จึงเข้าร่วมกิจกรรมของสถาบันเป็นประจำ รวมทั้งเป็นครูผู้สอน แจ๊กค์ เวลช์ สนับสนุนให้พนักงานทุกคนแสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะจากการเฝ้าดูคู่แข่ง เพื่อนำวิธีการใหม่ๆ มาใช้ในองค์กรของตน ผู้ที่มีความคิดใหม่ๆ จะได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ
ผู้เขียนยกตัวอย่างว่า พนักงานคนหนึ่งไปได้ความคิดใหม่มาจากอังกฤษเกี่ยวกับเรื่องการเป็น 'น้องเลี้ยง' (Reverse Mentoring) นั่นคือ เมื่อระบบอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายครั้งแรก พนักงานหนุ่มสาวเท่านั้นที่มีความรู้เรื่องอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้บริหารอายุมากๆ มักไม่มีความรู้เลย บริษัทหนึ่งในอังกฤษจึงจัดให้พนักงานซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการใช้อินเทอร์เน็ตฝึกผู้บริหารที่ไม่มีความรู้แบบตัวต่อตัวจนผู้บริหารสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างคล่องแคล่ว
แจ๊กค์ เวลช์ เห็นว่านั่นเป็นแนวคิดที่มีประโยชน์มาก เขาจึงจัดให้จีอีมีการฝึกอบรมเช่นนั้น ภายใน 2 สัปดาห์ ตัวของเขาเองก็รับการฝึกอบรมจากพนักงานระดับปลายแถวคนหนึ่งด้วย และเพื่อเอื้อให้ความคิดใหม่ๆ ผุดขึ้นออกมาให้เห็นและการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ แจ๊กค์ เวลส์ ตัดขั้นตอนในการบริหารเก่าๆ ลงเกือบหมดพร้อมกับเชิญผู้บริหารส่วนเกินจำนวนมากออกไปจากบริษัทด้วย ส่วนผู้ที่ยังอยู่ถูกปลูกฝังให้รู้จักรับฟังพนักงานทุกระดับ ในปัจจุบันนี้จีอีจึงมีวัฒนธรรมองค์กรคล้ายไมโครซอฟท์


โดย: 2) แจ๊กค์ เวลช์ (Jack Welch) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:07:44 น.  

 
3) หลุยส์ เกอรสท์เนอร์ (Louis Gerstner)

ย้อนหลังไป 2-3ทศวรรษ ก่อนที่โต๊ะทำงานจะถูกยึดด้วยเครื่องจักรตัวเล็กๆ ชื่อ PC หรือ Personal Computer สัญลักษณ์ของความทันสมัยในสำนักงาน คือ เครื่องพิมพ์ดีด และเครื่องชั้นดีมีชื่อว่า IBM และองค์กรใหญ่ๆที่ใช้
ข้อมูลและการคำนวณจำนวนมาก มักมีศูนย์คอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องจักรขนาดตู้เย็นตั้งเรียงกันอยู่เรียกว่า IBM System/360 บริษัท ไอบีเอ็ม หรือ IBM- International Business Machines Corporation มีประวัติในการสร้างเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในสำนักงานมาหลายทศวรรษและมารุ่งโรจน์ที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เมื่อคอมพิวเตอร์มีบทบาทใน สารพัดกิจการ IBM แทบจะผูกขาดตลาดคอมพิวเตอร์ซึ่งทำกำไรให้บริษัทจำนวนมหาศาล แต่เมื่อราว10 กว่าปีที่ผ่านมา IBM กลับขาดทุนย่อยยับ จนผู้บริหารของบริษัทเตรียมตัดส่วนต่างๆ ขาย แต่คณะกรรมการของบริษัทไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตา จึงไปว่าจ้าง หลุยส์ เกอรสท์เนอร์ (Louis Gerstner) มาเป็นผู้บริหาร ซึ่งนอกจากจะไม่ล่มสลายดังที่ใครๆ ทำนายไว้แล้ว ภายในเวลาเพียง 5 ปี IBM กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำในวงการคอมพิวเตอร์อีกครั้ง พร้อมกับทำกำไรได้ปีละหลายพันล้านดอลลาร์
ความสำเร็จระดับมหัศจรรย์ของเกอรสท์เนอร์ ทำให้วงการธุรกิจจัดเขาเป็นมือบริหารระดับเซียนคนหนึ่ง เมื่อเขาลงจากตำแหน่งและเขียนหนังสือชื่อ Who Says Elephants Can't Dance? ออกมาเมื่อปี 2545หนังสือเล่มนั้น จึงขายดีเป็นเทน้ำเทท่าอยู่เป็นเวลานาน
อะไรคือเคล็ดลับของ หลุยส์ เกอรสท์เนอร์?
เมื่อเข้ารับตำแหน่ง เกอรสท์เนอร์อ่านว่า ปัญหาหลักของ IBM ได้แก่การดันทุรังที่จะผลิตและขายเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าสิ่งแวดล้อมในวงการธุรกิจได้เปลี่ยนไปแล้ว ลูกค้าไม่ต้องการเฉพาะเครื่องจักร หากต้องการทางแก้ปัญหาแบบครบวงจร จึงได้ผลักดัน IBM ให้เปลี่ยนยุทธการไปสู้เป้าหมายดังกล่าว ด้วยการย้ำเสมอว่า "เราต้องเริ่มต้นที่ปัญหาของลูกค้าแล้วคิดย้อนกลับเพื่อหาทางแก้ที่เหมาะสมให้ลูกค้า" และหาก IBM ขาดเทคโนโลยีหรือไม่มีความเชี่ยวชาญในด้านใด ก็ต้องไปเสาะหามาจากที่อื่น รวมทั้งจากคู่แข่ง โดยไม่กลัวเสียหน้า
องค์ประกอบสำคัญของยุทธการได้แก่ การติดต่อพูดคุยกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด เช่น เชิญมาสำนักงาน หรือเปิดโอกาสให้ติดต่อกับพวกเขาโดยตรง และเน้นการวิจัยและพัฒนา แทนที่จะขายห้องทดลองตามแผนของซีอีโอคนก่อน เขากลับเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ยุทธการของเกอรสท์เนอร์เปลี่ยน IBM ชนิดพลิกแผ่นดินภายในระยะเวลาครึ่งทศวรรษ


โดย: 3) หลุยส์ เกอรสท์เนอร์ (Louis Gerstner) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:09:14 น.  

 
4) ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell)

ในยุคของความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยี บริษัทคอมพิวเตอร์มีทั้งที่เกิดขึ้น และก็ล่มสลายทุกวัน น้อยบริษัทจะยืนหยัดอยู่ได้ ทว่า ในจำนวนนี้มี เดลล์ คอมพิวเตอร์ อยู่ด้วย เดลล์ก่อตั้งหลังไมโครซอฟท์ราว 10 ปี โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยคล้าย บิลล์ เกตส์ และได้รับความสำเร็จอย่างสูงจากการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก หรือ PC ทำให้หุ้นของบริษัทได้รับความนิยมสูงสุด ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นถึงราว 90,000% ในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ นั่นหมายความว่า ผู้ลงทุนซื้อหุ้นไว้เพียง 10,000 บาท จะเป็นเศรษฐีมีทรัพย์ถึง 9 ล้านบาท ความสำเร็จแบบมหัศจรรย์ของเดลล์คอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ก่อตั้งชื่อ ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell) กลายเป็นซีอีโอหนุ่มที่สุดด้วยวัย 27 ปี ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในทำเนียบ Fortune 500 ของสหรัฐ
อะไรเป็นแก่นแห่งความสำเร็จของบริษัทเดลล์คอมพิวเตอร์?
จากหนังสือของ ไมเคิล เดลล์ ชื่อ Direct from Dell : Strategies That Revolutionized an Industry "แก่นความคิดของเดลล์อยู่ที่ธุรกิจทุกด้านนับแต่การออกแบบ สู่การผลิตกระทั่งถึงการขายต้องตั้งอยู่บนฐานของการฟัง และตอบสนองความต้องการของลูกค้า" ความคิดนั้นนำไปสู่ยุทธการธุรกิจแบบการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กตามสั่งของลูกค้าโดยไม่ผ่านคนกลาง เนื่องจากการสื่อสารยุคนี้สะดวกยิ่ง และส่วนประกอบของคอมพิวเตอร์ปรับเปลี่ยนได้ง่าย เดลล์จึงสามารถผลิตทุกอย่างตรงตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและราคาถูก ไม่ต้องผลิตคอมพิวเตอร์เก็บไว้ล่วงหน้าจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนไม่จมและไม่ต้องกังวลเรื่องเงินสะพัด
ปัจจัยในการตอบสนองลูกค้าของเดลล์ มี 2 อย่างที่แตกต่างกับของบริษัทอื่นอย่างเด่นชัด
ประการแรก เดลล์พยายามให้พนักงานของบริษัททุกแผนกมีโอกาสสัมผัสกับลูกค้าโดยตรง เพื่อให้เกิดความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เขาสนับสนุนให้พนักงานภายใน เช่น วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ เดินทางไปกับพนักงานขายและบริการเป็นระยะๆ
ประการต่อมา เดลล์ได้จัดโครงสร้างขององค์กรตามลักษณะของลูกค้า แทนการจัดตามลักษณะของผลิตภัณฑ์และหน้าที่ การจัดองค์กรแนวนี้ เอื้อให้เดลล์หลีกเลี่ยงความอุ้ยอ้าย อันเกิดจากการมีผู้บริหารหลายชั้นขององค์การใหญ่ๆ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว เสมือนเป็นบริษัทเล็กๆ แม้ตอนนี้เดลล์จะกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์แล้วก็ตาม


โดย: 4) ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:10:04 น.  

 
5) กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) และ แอนดี้ โกรฟ (Andy Grove)

เนื่องจากยุคนี้มีคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กตั้งอยู่ทั่วไป ผู้ใช้อาจไม่สังเกตว่าตรงแผ่นหน้าของตัวเครื่องนั้นนอกจากจะมีเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตแล้ว มักจะมีป้ายเล็กๆ อีก 2 ป้ายติดอยู่ด้วย ป้ายหนึ่งมีเครื่องหมายการค้าและคำว่า Windows และอีกป้ายหนึ่งมีคำว่า Intel Inside เขียนด้วยตัวอักษรสีน้ำเงินที่เป็นเช่นนั้นเพราะคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก มักใช้คำสั่งแม่บทระบบ Windows ของบริษัทไมโครซอฟท์ และใช้มันสมองของบริษัทอินเทล (Intel) มันสมองของคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะประกอบด้วยแผงไฟฟ้าขนาดจิ๋วชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่า ไมโครไปรเซสเซอร์ (Microprocessor) ทำหน้าที่คำนวณและจัดระเบียบข้อมูล เจ้าแผงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว หรือ Microchip นี่แหละคือตัวที่ก่อให้เกิดการปฏิวัติด้านขนาดของคอมพิวเตอร์ จากใหญ่เต็มห้อง มาเป็นเท่าตู้เย็นและมาเป็นขนาดตั้งโต๊ะและพกพาติดตัวไปไหนมาไหนได้ ในปัจจุบันบริษัท Intel เป็นผู้ผลิตมันสมองคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วหมายเลข 1 ของโลก แต่ก่อนจะขึ้นมาเป็นบริษัทที่มีบทบาทคล้ายไมโครซอฟท์ในวงการคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้ Intel ต้องประสบวิกฤติเกือบล่มสลายหลายครั้ง
Intel มีผู้ก่อตั้งร่วมกัน 3 คน แต่ในวงการคอมพิวเตอร์มักกล่าวขวัญถึง 2 คนเป็นหลัก คนหนึ่งชื่อ กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) คนนี้เองที่ทำนายไว้ในปี 2518 ว่าศักยภาพของแผงไฟฟ้าขนาดจิ๋วจะเพิ่มเป็น 2 เท่าทุกๆ 18 เดือน คำทำนายนั้นกลายเป็นจริง จึงเกิด Moore's Law ขึ้น แต่มัวร์ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 7 เซียนซีอีโอ หากเป็นเพียงผู้ร่วมก่อตั้ง Intel อีกคนหนึ่งชื่อ แอนดี้ โกรฟ (Andy Grove) เขาเป็นยิวเกิดในฮังการีและหนีเอาตัวรอดจากกรงเล็บของฮิตเลอร์ไปอยู่อเมริกา ต้องช่วยตัวเองสารพัดอย่างจนกระทั่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ในหนังสือของเขาชื่อ Only the Paranoid Survive โกรฟให้แง่คิดกับวงการธุรกิจหลายอย่าง เริ่มจากชื่อหนังสือซึ่งเขาถือเป็นเสมือนคาถาประจำตัว ชื่อหนังสือมีความหมายว่า 'ผู้หวาดระแวงเท่านั้นที่รอดชีวิต' บางทีโกรฟจะเปลี่ยนคาถาบทนี้เป็น 'ความสำเร็จนำไปสู่ความพึงพอใจ ความพึงพอใจนำไปสู่ความล้มเหลว' ซึ่งก็มีความขลังพอๆ กันในการทำธุรกิจ คาถานี้ทำให้โกรฟรับฟังผู้ที่มักมองโลกในแง่ร้ายซึ่งคอยเตือนภัยอยู่เสมอ แทนที่จะฟังแต่พวกที่มีข่าวดีฝ่ายเดียว
นอกจากคาถานี้แล้ว โกรฟยังนำความคิดอีกหลายอย่างมาใช้ในการทำธุรกิจ ความคิดที่โดดเด่นที่สุดคงได้แก่การอ่านว่า เหตุการณ์ที่สร้างปัญหาให้แก่องค์กรของตนนั้นเป็น 'จุดเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน' (Strategic Inflection Point) หรือไม่ ถ้าใช่ องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองแบบถอนรากถอนโคนด้วย Intel ทำอย่างนั้นถึง 2 ครั้งจึงรอดมาได้
โกรฟอ่านว่าในปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตกำลังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนอีกครั้ง ฉะนั้น ผู้ที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคนเท่านั้นจึงจะอยู่รอด


โดย: 5) กอร์ดอน มัวร์ (Gordon Moore) และ แอนดี้ โกรฟ (Andy Grove) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:11:32 น.  

 
6 ) เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ (Herb Kelleher)


ย้อนหลังไป 7 ปี มีหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับความสำเร็จของ สายการบินเซาท์เวสต์ (Southwest Airlines) ออกวางตลาด หนังสือเล่มนั้นมีชื่อสั้นๆ ว่า NUTS! ผู้เขียนใช้ชื่อนี้เพื่อชี้ให้เห็นลักษณะพิเศษ 2 อย่างของสายการบินเซาท์เวสต์
ด้านหนึ่ง 'nuts' แปลว่า 'ถั่ว' ซึ่งเป็นสิ่งขบเคี้ยวชนิดเดียวที่สายการบินนั้นแจกให้ผู้โดยสาร ตามธรรมดาสายการบินจะแจกอาหาร แต่สายการบินเซาท์เวสต์ไม่ทำเพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย อีกด้านหนึ่ง 'nuts' แปลว่า 'บ๊อง' ซึ่งผู้เขียนใช้เรียกการบริหารจัดการของเซาท์เวสต์ซึ่งแตกต่างจากทุกอย่างที่มีอยู่ในตำรา ผู้ใช้การบริหารแบบแหวกแนวจนได้รับความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง คือ เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ (Herb Kelleher)
เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ มีเคล็ดลับอย่างไรจึงได้รับความสำเร็จสูงจนทำให้เซาท์เวสต์ ซึ่งเป็นสายการบินท้องถิ่นชนิดราคาประหยัดโตเป็นอันดับ 4 ในอเมริกาและไม่เคยขาดทุนแม้แต่ปีเดียว แต่ถูกขนานนามว่า 'บ๊อง' นอกจากจะทำอะไรๆ ให้มีแง่ตลกขบขันไปหมดแล้ว เคล็ดลับของเคลเลเฮอร์อยู่ที่ฐานความคิดที่ว่าพนักงานมีความสำคัญเป็นอันดับ 1 ส่วนลูกค้าสำคัญรองลงมาเป็นอันดับ 2 ฉะนั้น เซาท์เวสต์จะสรรหาเฉพาะพนักงานที่มีความสุขเป็นบุคลิกเบื้องต้น เข้ากับคนได้ง่ายและชอบช่วยผู้อื่น เมื่อจ้างมาแล้วบริษัทจะทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกจ้างมีขวัญและกำลังใจสูงสุดและทำงานด้วยความสุข
เคลเลเฮอร์เชื่อว่าพนักงานที่มีความสุขจะทำงาน และให้บริการแก่ลูกค้าอย่างทุ่มเท ขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา แต่เคลเลเฮอร์ถือว่า สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด และเป็นเคล็ดลับที่บริษัทอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ บริษัทเซาท์เวสต์ใช้วิธีการต่างๆ เพื่อทำให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจสูง เซาท์เวสต์คัดเลือกเอาเพียง 4% ของผู้สมัครงานแต่ละปีเท่านั้น ทำให้การเข้าทำงานในบริษัทนี้ยากเสียยิ่งกว่าการเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเสียอีก ตัวเคลเลเฮอร์เองใช้เวลาจำนวนมากไปกับการพบปะกับพนักงานเพื่อรู้จักกับพวกเขาให้มากที่สุด พร้อมกับจำกัดระดับผู้บริหารให้ไม่เกิน 4 ชั้นเพื่อขจัดความอุ้ยอ้ายภายในองค์กรและเพื่อเอื้อให้พนักงานตัดสินใจทำอะไรๆ เองได้มากขึ้น
สำหรับในด้านค่าแรง เซาท์เวสต์มีหลักว่า "จ่ายผู้บริหารให้น้อยไว้ แต่จ่ายพนักงานให้มากขึ้น" วิธีการปฏิบัติตามหลักนี้ได้แก่การจ่ายเงินเดือนผู้บริหารน้อยกว่าองค์กรอื่นแต่ทดแทนส่วนที่น้อยนั้นด้วยหุ้นของบริษัท ส่วนพนักงานทั่วไปจะได้ค่าจ้างสูงกว่าที่อื่น อีกด้านหนึ่งได้แก่การดูแลเรื่องสวัสดิการ ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับตัวหรือในครอบครัวของพนักงานบริษัทจะรู้และยื่นมือเข้าไปช่วยถ้าเป็นเหตุร้าย จะร่วมแสดงความดีใจหากเป็นข่าวดี
ผู้ชนะการแข่งขันคือผู้ที่มีข้อมูลและใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคู่แข่ง"


โดย: 6 ) เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ (Herb Kelleher) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:26:40 น.  

 
7.แซม วอลตัน (Sam Walton)

ในยุคของการค้าเสรีครอบคลุมโลก ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งได้แก่การผุดขึ้นของห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ ซึ่งขายสินค้าในราคาต่ำ จนทำให้ร้านค้าปลีกเล็กๆ สู้ไม่ได้ ต้องเลิกกิจการ เมื่อมีข่าวว่าร้านค้าขนาดยักษ์จะไปลงที่ไหน มักจะเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านจากร้านค้าในท้องถิ่น ส่วนผู้บริโภคจะพอใจที่หาซื้อของได้ในราคาถูก
ในจำพวกร้านค้าขนาดยักษ์นี้ บริษัทที่ได้รับความสำเร็จสูงสุดได้แก่ วอล-มาร์ท (Wal-Mart
จากร้านค้าเล็กๆ ในชนบทของสหรัฐ วอล-มาร์ทกลายเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานกว่า 1.2 ล้านคนและมีสาขาในหลายสิบประเทศ
ความสำเร็จระดับมหัศจรรย์นี้เป็นผลงานของผู้ก่อตั้งชื่อ แซม วอลตัน (Sam Walton) ผู้ล่วงลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว
ในปีที่เขาเสียชีวิต วอลตัน พิมพ์หนังสือแนวความทรงจำออกมาเล่มหนึ่งชื่อ Sam Walton:Made in America หนังสือเล่มนี้ขายดีมาก เพราะชาวอเมริกันคงอยากรู้เรื่องราว และเคล็ดลับของอภิมหาเศรษฐีผู้มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง
อะไรเป็นสูตรแห่งความสำเร็จของ แซม วอลตัน ผู้มักไปไหนมาไหนด้วยการขับรถกระบะเอง ทั้งที่เคยเป็นเศรษฐีหมายเลข 1 ของโลก?
"เกือบทุกอย่างที่ผมทำ ผมลอกมาจากคนอื่น" เป็นคำตอบแบบถ่อมตัวของวอลตันเมื่อมีคนถามถึงสูตรแห่งความสำเร็จของเขา แต่ในความถ่อมตัวนั้นมีอะไรๆ แฝงอยู่หลายอย่าง รวมทั้งคำพูดของเขาในทำนอง "ลูกค้าคือเจ้านายที่แท้จริง เพราะลูกค้าสามารถไล่ผมและทุกคนออกจากตำแห่งได้โดยการไปซื้อของจากร้านอื่น"
วิธีการเอาใจเจ้านายของวอลตันที่สำคัญที่สุดคือ การตั้งราคาสินค้าให้ต่ำที่สุดที่จะทำได้ ไม่ว่าห้างวอล-มาร์ทจะมีคู่แข่งอยู่ใกล้ๆ หรือไม่ก็ตาม
"ผมลอกมาจากคนอื่น" อาจตีความหมายได้ลึกๆ เป็นการให้ความสำคัญต่อข่าวสารข้อมูล
แซม วอลตันตระหนักว่า ผู้ชนะการแข่งขันคือผู้ที่มีข้อมูล และใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคู่แข่งมาเป็นเวลานาน ก่อนที่จะเกิดคำว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที (Information Technology) วิธีการหาและใช้ข่าวสารข้อมูลของเขาในตอนต้นๆ ได้แก่การใช้เวลานานๆ ในร้านของคู่แข่ง
มีเรื่องเล่าว่า วอลตันมักอยู่ในร้านค้าของคู่แข่งมากกว่าร้านของตน และมากกว่าเจ้าของร้านเองเสียอีก เขาต้องการเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับร้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านราคา การจัดร้าน หรือการนำเสนอสินค้า สิ่งไหนที่เขาเห็นว่าดี เขาจะนำมาทำบ้าง การลอกแบบของเขานำไปสู่หลักการที่ว่า ทุกวันจะมีการปรับปรุงในร้านวอล-มาร์ท
การให้ความสำคัญต่อข่าวสารข้อมูลมาตั้งแต่เริ่มต้นนี่เอง ที่ทำให้วอล-มาร์ท ลงทุนจำนวนมากก่อนใคร เพื่อจะใช้ระบบไอทีอย่างจริงจัง ตัวอย่างของการใช้ไอทีให้เป็นประโยชน์ในการลดราคาสินค้าได้แก่ การสั่งของจากผู้ผลิตโดยตร งและการส่งของไปยังร้านโดยไม่ต้องผ่านคนกลางและโรงเก็บ ทำให้ประหยัดต้นทุนได้มาก


โดย: 7.แซม วอลตัน (Sam Walton) (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:27:53 น.  

 
ก่อนเขียนหนังสือเรื่อง What the Best CEOs Know

ผู้เขียนได้ค้นหาประวัติของผู้บริหารธุรกิจซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังหลายสิบคนและนำมาเปรียบเทียบกัน เขาเลือกเรื่องราวของ 7 เซียนมาเสนอเพราะทั้ง 7 มีลักษณะตรงตามเกณฑ์ที่เขาตั้งไว้ 3 อย่าง คือ
(1) เป็นซีอีโอของบริษัทชั้นแนวหน้าและ/หรือ ของบริษัทซึ่งได้รับความสำเร็จสูงกว่าบริษัททั่วไป
(2) หลักการของแต่ละคนใช้ได้ผลแม้เวลาจะเปลี่ยนไป และ
(3) แต่ละคนเพิ่มองค์ความรู้ให้กับวิชาบริหารจัดการ
นอกจากจะนำเรื่องราวของ 7 เซียนมาเล่าแล้ว ผู้เขียนพยายามตอบคำถามสำคัญที่ว่า '7 เซียนนี้มีอะไรร่วมกัน?' ผู้เขียนตอบว่ามี 6 อย่างหลักๆ ได้แก่
(1) มองกิจการจากมุมมองของตลาดเข้ามาข้างในบริษัท และปลูกฝังการมองเช่นนั้นขึ้นภายในองค์กร เพื่อสร้างความพอใจให้แก่ลูกค้า ไมเคิล เดลล์ ซึ่งอายุยังไม่ถึง 40 ปี เป็นตัวอย่างที่เด่นที่สุดเพราะคอมพิวเตอร์ของบริษัทเดลล์ทุกเครื่องผลิตขึ้นตามสั่งของลูกค้า
(2) มีความกระตือรือร้นอย่างสูงต่องาน ต่อองค์กรและต่อหลักการ และสามารถชักนำให้ผู้ร่วมงานในองค์กรเกิดความศรัทธา และกระตือรือร้นตามไปด้วย เฮอร์บ เคลเลเฮอร์ สนุกสนานและมีความสุขกับภารกิจทุกอย่าง ลักษณะเช่นนี้แพร่ไปยังพนักงานทุกระดับ
(3) เข้าใจความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร และความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเพื่อให้มีประสิทธิภาพ IBM เกือบจะล่มสลายเพราะผู้บริหารและพนักงานมีความพึงพอใจในความสำเร็จที่ผ่านมา ไม่คิดมองหาความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก หลุยส์ เกอรสท์เนอร์ ต้องอดทนเป็นเวลานานกว่าจะเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรของ IBM ได้สำเร็จ
(4) สามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต และสร้างหรือปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรอรับความเปลี่ยนแปลงนั้นได้อย่างเหมาะสม ทั้ง บิลล์ เกตส์ และ แซม วอลตัน สามารถคาดการณ์และสร้างองค์กรเพื่อรอรับได้อย่างถูกต้อง ทั้ง 2 จึงเป็นคนร่ำรวยที่สุดในโลกในปัจจุบันและในอดีต
(5) ยอมรับและใช้แนวคิดที่ดีที่สุด ไม่ว่าแนวคิดนั้นมาจากไหน บิลล์ เกตส์ แซม วอลตัน และ แจกค์ เวลช์ มักเสาะหาแนวคิดของคนอื่นโดยไม่อายใคร ยิ่งขโมยได้จากคู่แข่งยิ่งดี
(6) สร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่วิชาบริหารจัดการ แนวคิดเรื่องการอ่านเหตุการณ์ว่าเป็น 'จุดเปลี่ยนแบบถอนรากถอนโคน' หรือ 'Strategic Inflection Point' หรือไม่ของ แอนดี้ โกรฟ และการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เหมาะสมเป็นแนวคิดใหม่ซึ่งมีคุณค่าสูง 7 เซียนเองยังนำไปใช้
ที่นำมาเล่าสู่กันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือเท่านั้น ผู้จะนำไปปฏิบัติควรจะศึกษารายละเอียดซึ่งคงทำได้ไม่ยาก หนังสือยาวเพียง 200 กว่าหน้า เขียนด้วยภาษาง่ายๆ และมีบททดสอบตัวเอง
ถ้าจะให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นควรจะอ่านหนังสือซึ่งบรรดาเซียนเขียนขึ้นเองด้วย


โดย: ก่อนเขียนหนังสือเรื่อง What the Best CEOs Know (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:28:44 น.  

 
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
What the Best CEOs Knows
Jeffrey A. Krames

What the Best CEOs Know โดย Jeffrey A. Krames บรรยายถึงคุณลักษณะ วิธีคิด ตลอดจนกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของสุดยอด CEO 7 คนที่เป็น CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก 7 แห่ง ได้แก่
- Michael dell ผู้ก่อตั้งและCEO ของ Dell Computer
- Jack Welch อดีต CEO ของ GE
- Lou Gerstner อดีต CEO ของIBM
- Andy Grove ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตCEO Intel
- Bill Gates ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีตCEO Microsoft
- Herb Kelleher ผู้ก่อตั้งและอดีตCEO Southwest Airlines
- Sam Walton ผู้ก่อตั้งและอดีตCEOของ Wal-Mart
กลยุทธเด่น 7 แบบจากสุดยอด CEO มีดังนี้
Michael Dell ใช้โมเดลธุรกิจแบบให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง Dell ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นดันดับแรก (bottom up streategy) สิ่งนี้ทำให้ Dell สามารถสร้างสรรค์คอมพิวเตอร์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากกว่าบริษัทรายอื่น และสามารถรักษาผลกำไรและยอดขายได้เหนือคู่แข่งแม้ในปีที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ตกต่ำในสหรัฐฯอย่างในปี 2001ก็ตาม เช่นเดียวกับ Lou Gerstner แห่ง IBM ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหาของลูกค้าเป็นอันดับแรก แล้วจึงระดมเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญที่ตนมีมาเพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า
Jack Welch แห่ง General Electric ให้ความสำคัญกับการใช้ความคิด โดย Welch สร้าง GEให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ที่สนับสนุนให้ทุกคนในองค์กรคิดและนำเสนอไอเดียใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัทอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคุณลักษณะที่จะทำให้องค์กรเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์นั้นอันดับแรก ทุกคนในองค์กรต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เป็นอันดับแรก และความผิดพลาดอันเนื่องมาจากการทดลองทำสิ่งใหม่ที่แตกต่างจะต้องไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด
สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งสำหรับองค์กรคือการเตรียมพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง “Only Paranoid survive” หรือผู้ที่วิตกเท่านั้นที่จะอยู่รอด นี่คือคำกล่าวของ Andy Grove แห่ง Intel ผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของโลก Grove ให้บทเรียนว่าองค์กรควรตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของกลยุทธ์หรือองค์กรของคู่แข่งและสนับสนุนให้มีการถกเถียงโต้แย้งระหว่างคนในองค์กร เพื่อให้องค์กรได้ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น
สุดยอด CEO ของยุคนี้คงไม่ปฏิเสธ Bill Gate เจ้าของอาณาจักร Microsoft Gate ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานและวัฒนธรรมองค์กร เพื่อที่องค์กรจะได้สามารถนำความคิดที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดต่อองค์กรได้โดยไม่ว่าพนักงานในองค์กรจะเป็นพนักงานระดับใด Gateทำสิ่งนี้ได้โดยสนับสนุนให้พนักงานในบริษัทหรือลูกค้าสามารถติดต่อถึงกันได้โดยผ่าน email และล้มล้างระบบการทำบันทึกแบบเก่าที่มีหลายรูปแบบ โดยเปลี่ยนให้แบบฟอร์มต่างๆออนไลน์เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายคลึงกับแนวคิดของ Harb Kelleher ผู้ก่อตั้ง Southwest Airline ซึ่งมีแนวคิดให้ลดระดับชั้นในองค์กรและเพิ่มอำนาจการตัดสินใจให้พนักงานเพื่อความรวดเร็วและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน
Sam Walton เจ้าของ Walmart กิจการค้าปลีกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ Walton ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงกิจการให้ดีมากยิ่งขึ้นในทุกๆวันและเรียนรู้ทั้งจุดดีและจุดด้อยของคู่แข่งเพื่อนำมาปรับปรุงกิจการของตนเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
แม้แต่ละคนจะมีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจที่มีลักษณะเด่นต่างกัน
อย่างไรก็ดี Kramesได้สรุปคุณลักษณะที่ทั้ง 7 CEOมีคล้ายกันได้แก่
1. มองความต้องการของตลาดแล้วจึงพัฒนาองค์กรให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า (Outside-In perspective)
2. มีความเป็นผู้นำและกระตือรือร้นในการทำงาน
3. สามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่นำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพ
4. สร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ สำหรับอนาคตอยู่เสมอ
5. นำความคิดที่ดีที่สุดในองค์กรมาทำให้เป็นผลสำเร็จโดยไม่คำนึงว่าคนคิดนั้นจะเป็นใคร
6. มีเทคนิคการบริหารที่เป็นแบบฉบับพิเศษเฉพาะตน

-----------------------
สมคะเน ยอดพราหมณ์
ศูนย์สารสนเทศการค้าระหว่างประเทศ


โดย: บทสรุปสำหรับผู้บริหาร What the Best CEOs Knows Jeffrey A. Krames (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:30:30 น.  

 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2546

What the Best CEOs Know
โดย วิษณุ โชลิตกุล

หนังสือสูตรสำเร็จของนักเขียนเรื่องธุรกิจอเมริกันเล่มนี้ ยึดสูตรโบราณตั้งแต่ครั้งเลฟ ตอลสตอย ได้ตั้งประเด็นเกริ่นเอาไว้ในท่อนท้ายของนวนิยายเรื่อง สงครามและสันติภาพ มาเป็นแกนของการนำเสนอ นั่นคือ โอกาส (chances) กับอัจฉริยะ (the geniuses)

ตอลสตอยเสนอสูตรว่า โอกาสเปิดทางให้คนได้แสดงวีรกรรม เพื่อเป็นวีรชน แต่อัจฉริยะเท่านั้นที่จะบีบคั้นโอกาสนั้นโดดเด่นกว่าคนอื่นๆ

เป้าหมายของหนังสือซึ่งมีอย่างเดียว เข้าข่ายของนักวางแผนโฆษณาตลาดล่างที่ว่า "ง่ายไว้ก่อน พ่อสอนไว้" (single-minded proposition) ด้วยการฟันธงสรุปว่า ฮีโร่ร่วมสมัยถูกสร้างขึ้น และสร้างตัวเองขึ้นมาได้อย่างไร?

ด้วยกลวิธีและข้อสรุปอย่างรวบรัดทำให้ข้อเขียนในหนังสือนี้ง่ายกว่าอ่านหนังสือประเภทเดียวกัน อาทิ The 21 Irrefutable Laws of Leadership หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งดูยากและซับซ้อนเกินจะปฏิบัติได้

เพียงแค่นี้ หนังสือก็ขายได้เสียแล้ว ดูเหมือนปอกกล้วยเข้าปากยังงั้นแหละ

แม้กระทั่งในเมืองไทย หนังสือสไตล์อเมริกันเล่มนี้ นายกรัฐมนตรีถึงกับเอาไปพูดในการประชุมคณะรัฐมนตรี แนะนำให้รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอ่านกันเลยทีเดียว ซึ่งคงเป็นความหวังดี แต่น่าเสียดายที่เป็นความหวังดีที่ผิดฝาผิดตัวพิลึก

หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับนักการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องอ่าน ในขณะที่บรรดารัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาลปัจจุบันควรอ่านหนังสือเก่าข้ามปีอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ Why CEOs Fail : The 11 Deadly Sins and How NOT to Commit Them ที่เขียนโดย David L. Dotlich และ Peter C. Cairo (www.amazon.com ขาย 22.95 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมค่าขนส่ง) ซึ่งอธิบายปัจจัยที่ทำให้นักบริหารธุรกิจดังๆ พังพินาศในอาชีพและทำลายองค์กร โดยเฉพาะความหวือหวา ความหลงตัวเอง การเอาแต่ใจเป็นใหญ่ และการประจบเอาใจนักเล่นหุ้นเกินขนาด ฯลฯ

หนังสือดังข้ามปีหลังกรณีเอนรอนล้มละลายเล่มหลังนี้ ไม่มีวางขายในเมืองไทย แต่ในโกดังของ //www.amazon.com มีเหลืออยู่มาก และราคาถูกลงกว่าตอนออกใหม่ๆ มาก เพียงแต่คนสนใจอาจจะต้องเสียค่าขนส่งอีก 5 ดอลลาร์สหรัฐ และรออีก 2 เดือนถึงจะได้อ่าน

คนเขียนหนังสือเล่มนี้ ดูตามประวัติและผลงานแล้ว เหมือนจะเป็นผู้ชำนัญการในการเขียนหนังสือเชิดชูฮีโร่ตามสไตล์อเมริกัน งานเขียนเล่มนี้ก็เป็นการต่อยอดงานเขียนเดิมตามปกติ เพียงแต่เอาชื่อนักบริหารระดับประธานกรรมการบริหารชื่อดังของอเมริกา 7 คน มาเรียบเรียงและสรุปให้เข้าสูตร เพื่อหาจุดเด่นที่ภาษาทันสมัยยุค Gen Y เรียกกันว่า killer application (เรียกย่อลงว่า killer app.)

หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 2 Parts โดย 1st Part ที่ชื่อ What Made Them Great มีเพียงบทเดียว (33 หน้า) ส่วน 2nd Part มี 7 บท ซึ่งเป็นงานเขียนเก่าๆ เอามาเขียนซ้ำใหม่เพื่อร้อยเรื่องให้เป็นเอกภาพกัน โดยเป็นรายละเอียดของอภิมหาประธานกรรมการบริหารชื่อดังแต่ละคนรวม 7 คน นับแต่ ไมเคิล เดลล์, แจ๊ก เวลช์, ลู เกิร์สเนอร์, แอนดี้ โกรฟ, บิลล์ เกตส์, เฮิร์บ เคลเลอร์ และแซม วอลตัน

ดูจากงานเขียนทั้งเล่มแล้ว หนังสือเล่มนี้เจ้าคนเขียนคือ เจฟฟรีย์ เครมส์ ทำงานใช้สมองในหนังสือเล่มนี้เพียงแค่บทเดียว ส่วนที่เหลือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้นเอง

ใครอยากดูฝรั่งมักง่ายแล้วได้เงินใช้ ก็ดูได้จากหนังสือเล่มนี้

ส่วนจะดูคนอ่านมักง่าย ก็อาจจะดูได้จากคนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้อ่าน ได้เช่นกัน

พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า หนังสือเล่มนี้เลวชนิด บัดซบนะครับ จริงๆ แล้ว เป็นหนังสือประเภท How to ที่พอใช้ ซึ่งคนเขียนฉลาดในการจับจุดเอาว่า คนยุคใหม่ที่ชอบความสำเร็จแบบ "ชงพร้อมดื่ม" นั้น ต้องการฮีโร่ที่แกะกล่องออกมาให้เลียนแบบกันเลย ก็เอามาเขียนทำมาหากินเท่านั้นเอง

ตัวอย่างของประธานกรรมการบริหารผู้ยิ่งใหญ่ที่ผู้เขียนหยิบยกเอามานี้ ถือได้ว่าเป็นยอดนักบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในแต่ละธุรกิจี่พวกเขารับผิดชอบ ในฐานะจอมยุทธ์แห่งยุคสมัยของแต่ละคนชนิดที่หาคนเปรียบได้ยาก ประเด็นที่น่าตั้งคำถามก็คือ แม้กระทั่งในยุคสมัยที่พวกเขายังโลดแล่นอย่างโดดเด่นในอำนาจการจัดการนั้น ก็หาคนทำตามได้ยากแล้วเมื่อพวกเขาเหล่านี้ล้างมือในอ่างทองคำไปแล้ว (ถือว่าพ้นสมัยที่จะแข่งขัน) คนรุ่นต่อไป สมควรเอาเป็นแบบอย่างได้หรือไม่ หรือว่าเพียงแค่ศึกษาเพื่อหาและสร้างแรงบันดาลใจ

มองจากมุมนี้ เราก็คงต้องกลับไปหาข้อถกเถียงกัน ซึ่งนักการศึกษาทั่วไปก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ นั่นคือ ความรู้ประดามีในโลกนับแต่ยุคโบราณจนถึงปัจจุบันนั้น จำแนกออกเป็น 2 ประเภท นั่นคือ ความรู้แบบ เอ ไพรออไร (a priori knowledge) และความรู้แบบพึ่งประสบการณ์ (experienced knowledge)

ความรู้ประเภทแรก เกิดจากการครุ่นคิด ตั้งสมมติฐาน และหาคำตอบจากคำถาม ด้วยกระบวนการที่เรียกว่า ไดอะเลคติก ความรู้ประเภทนี้ ท่านว่าเหมาะสำหรับพวก "หน้าซีด" ชอบทำงานในห้องแอร์ ไม่ต้องผจญภัยกร้านแดด กร้านลม และกร้านชีวิต

ส่วนความรู้ประเภทหลังนั้น เหมาะสำหรับพวก "ผิวคล้ำ" ที่สมองใช้การน้อยกว่าองคาพยพส่วนอื่นๆ ในร่างกาย

หากเราจะเห็นพ้องกันว่า หนังสือของเครมส์เล่มนี้ดูเหมือนจะพยายามช่วยเหลือพวก "หน้าซีด" ให้ใช้ประสบการณ์ของคนอื่นมาใช้เพื่อลัดทางขึ้นบันไดแห่งความสำเร็จ เราก็จะพบจุดอ่อนเปราะที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การศึกษาเพื่อหาว่า พวกอัจฉริยะทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ 7 คนนี้ ได้ใช้อรรถประโยชน์จากโอกาสที่เปิดช่องให้เหนือกว่าคนอื่นๆ นั้น มีกระบวนการอย่างไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร ไม่น่าจะเพียงพอสำหรับคนที่คิดจะไต่เต้าสู่ความสำเร็จเหมือนพวกเขา

พูดจากันอย่างไม่เกรงใจแล้ว หนังสือในลักษณะรวมบทความเก่าเล่มนี้ เหมาะสำหรับ "เตือนความจำ" สำหรับผู้บริหารธุรกิจขี้ลืม และไม่ค่อยมีเวลาสำหรับการทบทวนพฤติกรรมในการทำงานของตน เนื่องจากมีมลพิษจากคนข้างกายจำพวก "สอพลอ+ตอแหล" (สัญลักษณ์หนึ่งที่ใช้วัดบารมีของคนประสบความสำเร็จทุกยุคทุกสมัย) เกินความจำเป็น

ความสำเร็จของนักบริหารธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นั้น ไม่ใช่เพียงแค่การรู้จักใช้โอกาสและทรัพยากรในองค์กร ซึ่งสามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างเดียว หากยังขึ้นกับเงื่อนไขที่เรียกว่า "ภววิสัย" ที่ควบคุมไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้น การอ่านข้อเขียนที่อาศัยบุคคลเป็นแกนของเรื่อง โดยไม่หยิบยกเอาปัจจัยแวดล้อมมาอธิบายประกอบ ก็เป็นดาบสองคมเหมือนดูภาพยนตร์ประเภทฮีโร่ แอคชั่น! แบบฮอลลีวูดธรรมดาเท่านั้นเอง

ในแง่การตลาด และสร้างจุดขายหนังสือที่โดดเด่นแล้ว ต้องยอมรับวิธีการตั้งชื่อเรื่อง และการนำเสนอของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ แต่ในแง่คุณภาพแล้ว ผมถือว่าเป็นได้แค่หนังสือพื้นๆ

อ่านก็ได้ ไม่อ่านก็ไม่เป็นไร

เพียงแต่ขอแนะนำว่า ถ้าต้องการจะอ่านจริง เพื่อจะได้คุยกับใครว่า อ่านหนังสือที่นายกรัฐมนตรีไทยเคยแนะนำมาแล้ว ก็ควรเตรียมเสียเงินสำหรับหนังสือที่ให้มุมมองตรงกันข้ามอย่าง Why CEOs Fail : The 11 Deadly Sins and How NOT to Commit ด้วยครับ

เผื่อจะได้เกิดประกายปัญญาใหม่ๆ ไม่ใช่ทำ "ตามใบสั่งนาย" อย่างเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับระบบอุปถัมภ์มากกว่าประชาธิปไตยครับ

โดย >> วิษณุ โชลิตกุล

Resource://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=7822


โดย: What the Best CEOs Know (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:41:08 น.  

 
7 เซียนซีอีโอ : What the Best CEOs Know : แปล
ชื่อหนังสือ 7 เซียนซีอีโอ : What the Best CEOs Know : แปล
โดย เจฟฟรีย์ เอ. เครมส์/ นาถกมล บุญรอดพาณิชย์ : แปล
สำนักพิมพ์ เอ.อาร์. บิซิเนส เพรส จำกัด
ราคา 250
จำนวน 288 หน้า
จำหน่ายโดย บริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ซ จำกัด
ISBN 974-9672-01-1




--------------------------------------------------------------------------------


กลยุทธ์การเป็นผู้นำ และความลับของสุดยอดซีอีโอทั้งเจ็ด ผู้นำในหนังสือเล่มนี้รู้ว่า " การดำเนินธุรกิจไปเรื่อย ๆ " นำไปสู่ความล้มเหลว เช่น แซม วอลตัน ก่อตั้งวอล-มาร์ทขึ้นในปี 1962

เพราะเขาตระหนักว่าถ้าไม่ทำธุรกิจค้าปลีกแบบใหม่ก็ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียตลาดไป เขาไม่เข้าว่าทำไมคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ จึงไม่มีโอกาสซื้อของราคาถูกเท่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จริงอยู่ว่าเขาไม่ใช่ร้านขายสินค้าราคาถูกรายแรก แต่ตำนานที่เขาสร้างบริษัทจากร้านขนาดเล็ก 16,000 ตารางฟุตในโรเจอร์ อาร์คันซอ (เป็นรานที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์มากมาย มีแต่โต๊ะอย่างเดียว) จนกลายเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้บนเรียนสำคัญกับผู้จัดการและองค์กรอื่น ๆ



โดย: 7 เซียนซีอีโอ : What the Best CEOs Know : แปล (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:42:16 น.  

 
What the Best CEOs Know : 7 Exceptional Leaders and Their Lessons for Transforming any Business

What the Best CEOs Know goes beyond theory and guesswork to look at how seven contemporary business icons carved their own paths to the pinnacles of corporate achievement. This no-nonsense guide isolates and examines the specific skills and styles that contributed to each CEO's well-documented achievements. Its straaightforward, sometimes startling, but always battle-tested guidelines for achievement include:
How Michael Dell created a computer juggernaut by placing customers at the epicenter of his enterprise
How Bill Gates trusted the instincts of his employees and successfully transformed Microsoft into a leading Web driver and innovator
How Andy Grove fostered awareness in his troops-what he calls paranoia-to sense threats and turn them to Intel's competitive advantage
How Jack Welch created a learning infrastructure, aligning rewards with results to make GE an organizations thaat harnessedd the ideeas and intellect of every employee
Herb Kelleher's rules for creating and excceptional samll company culture, even as Southwest grew to more than 30.000 employees
Krames, Jeffrey A.


โดย: What the Best CEOs Know (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:15:43:29 น.  

 
7 เซียนซีอีโอ : What the Best CEOs Know : แปล
ชื่อหนังสือ 7 เซียนซีอีโอ : What the Best CEOs Know : แปล
โดย เจฟฟรีย์ เอ. เครมส์/ นาถกมล บุญรอดพาณิชย์ : แปล
สำนักพิมพ์ เอ.อาร์. บิซิเนส เพรส จำกัด
ราคา 250
จำนวน 288 หน้า
จำหน่ายโดย บริษัท กลุ่มแอดวานซ์ รีเสิร์ซ จำกัด
ISBN 974-9672-01-1




--------------------------------------------------------------------------------


กลยุทธ์การเป็นผู้นำ และความลับของสุดยอดซีอีโอทั้งเจ็ด ผู้นำในหนังสือเล่มนี้รู้ว่า " การดำเนินธุรกิจไปเรื่อย ๆ " นำไปสู่ความล้มเหลว เช่น แซม วอลตัน ก่อตั้งวอล-มาร์ทขึ้นในปี 1962

เพราะเขาตระหนักว่าถ้าไม่ทำธุรกิจค้าปลีกแบบใหม่ก็ต้องเสี่ยงกับการสูญเสียตลาดไป เขาไม่เข้าว่าทำไมคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ จึงไม่มีโอกาสซื้อของราคาถูกเท่าคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ จริงอยู่ว่าเขาไม่ใช่ร้านขายสินค้าราคาถูกรายแรก แต่ตำนานที่เขาสร้างบริษัทจากร้านขนาดเล็ก 16,000 ตารางฟุตในโรเจอร์ อาร์คันซอ (เป็นรานที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์มากมาย มีแต่โต๊ะอย่างเดียว) จนกลายเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สุดในโลกให้บนเรียนสำคัญกับผู้จัดการและองค์กรอื่น ๆ



โดย: 7 เซียนซีอีโอ : What the Best CEOs Know : แปล (moonfleet ) วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:17:37:07 น.  

 
นายกฯ แนะ ครม.อ่านหนังสือ “WHAT THE BEST CEO KNOW“
Posted 02 ก.ค. 46 - 15:08 น.

"ทักษิณ" แนะนำคณะรัฐมนตรีอ่านหนังสืออีกเล่ม “WHAT THE BEST CEO KNOW“ ชี้เป็นแนวทางความสำเร็จในการบริหารองค์กร และเป็นเรื่องที่ซีอีโอควรรู้ไว้

พร้อมทั้งมอบหมาย "สมคิด-ปุระชัย" เสริมความรู้ภาษาอังกฤษให้คนไทย ขยายโอกาสการสร้างงานในต่างประเทศ

น.ต.ศิธา ทิวารี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แนะนำหนังสือ WHAT THE BEST CEO KNOW ให้บรรดา ครม.ไปหาซื้ออ่าน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าหนังสือเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ของบุคคลที่จะก้าวไปเป็นซีอีโอ ว่าเป็นผู้นำแบบบูรณาการจำเป็นต้องรู้และทราบในสิ่งต่างๆ โดยจะแนะนำบุคคลต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารองค์กรแบบซีอีโอ

น.ต.ศิธากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษให้คนไทย เพราะปัจจุบันตำรากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นตำราภาษาอังกฤษ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่า ในปัจจุบันตำแหน่งการจ้างงานในแถบประเทศยุโรป มีความต้องการคนในภาคพื้นเอเชียเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานที่ต้องการคนไทยเข้าไปทำ มีประมาณ 3 หมื่นกว่าอัตรา เช่น พยาบาล พ่อครัว แคดดี้สนามกอล์ฟ และนวดแผนโบราณ แต่มีปัญหาที่ว่าคนไทยในปัจจุบันไม่เก่งภาษาอังกฤษ ทั้งที่คนไทยเป็นคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

"นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายเกี่ยวกับการสอนภาษาให้คนไทยไว้ 3 ระดับ คือ
1.เรียนรู้ให้อยู่ในระดับเดียวกับภาษาไทยคือ ให้มีความชำนาญเช่นเดียวกับการใช้ภาษาไทย 2.ระดับที่เหมือนกับภาษาที่

2 คือ ในลักษณะที่พออ่านออก พูด และเขียนได้ และ

3.เรียนรู้ภาษาไว้ใช้ในสาขาวิชาชีพที่ตัวเองถนัด" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในที่สุด



โดย: moonfleet วันที่: 7 มีนาคม 2551 เวลา:17:38:49 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.