" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2557
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
28 ตุลาคม 2557
 
All Blogs
 

005. ชุมชน : "community"

ชุมชน

คำว่า "ชุมชน" ไม่ปรากฏว่า นำมาใช้กับหน่วยทางสังคมของไทยในสมัยโบราณ ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี เช่น ศิลาจารึก พงศาวดาร กฎหมายตราสามดวง รวมทั้งในหนังสือ และตราสารต่างๆ ที่โต้ตอบกันระหว่างเมืองหลวงคือ กรุงเทพฯ กับหัวเมืองมณฑลทางภาคเหนือ และภาคอีสาน ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ ไม่พบว่า มีการใช้คำๆ นี้ แม้แต่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๙๓ ก็ไม่ปรากฏคำว่า "ชุมชน" เช่นกัน หากพิจารณาจากหลักฐานการจารึก ทั้งในศิลาจารึกสุโขทัย (หลักที่ ๑) และในจารึกล้านนา เราจะพบคำว่า "บ้าน" "ถิ่น" และ "ถิ่นฐาน" นอกจากนี้ในคำไทยโบราณ เรายังพบคำว่า "กว้าน" หรือ "บาง" ที่ใช้เรียกการตั้งถิ่นฐานของบ้านเรือนตามริมคลอง และริมแม่น้ำในภาคกลาง และภาคตะวันออก

นักมานุษยวิทยา และนักสังคมวิทยาสันนิษฐานว่า คำว่า "ชุมชน" นั้น น่าจะเริ่มนำมาใช้ในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๐๕ โดยบัญญัติมาจากคำว่า "community" ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากว่า ในระยะนั้น อิทธิพลของวิชาสังคมศาสตร์จากประเทศตะวันตก ได้แพร่ขยายมาสู่ประเทศไทย เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสังคมชนบท ทั้งโดยนักวิจัยชาวต่างชาติ และนักวิชาการชาวไทย ที่จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ด้วยทุนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (ทุนยูเสด - USIAD) จากนั้นรัฐบาลจึงได้ใช้คำนี้เรื่อยมา จน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานขึ้นหน่วยหนึ่ง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยขึ้นมีชื่อว่า "กรมการพัฒนาชุมชน" และด้วยเหตุที่หน่วยงานที่มีคำว่า "ชุมชน" มักเป็นหน่วยงานด้านการปกครอง ความหมายของคำว่า ชุมชน ในระยะแรก จึงนำไปใช้ในความหมายที่ใกล้เคียง หรือซ้อนทับกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยการปกครอง ที่มีขอบเขตพื้นที่ที่แน่นอน ภายใต้การควบคุมของรัฐ

ความหมาย

เมื่อหน่วยงานด้านการปกครองใช้คำว่า "ชุมชน" แทนคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ความหมายของคำว่า "ชุมชน" โดยนัยนี้ จึงสื่อความหมายไปในทำนองเดียวกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ที่หมายถึง หน่วยการปกครองระดับล่างสุดของพื้นที่ อีกทั้งยังมีขอบเขตทางภูมิศาสตร์ หรือทางกายภาพที่แน่นอน มีประชากรจำนวนหนึ่ง และมีระบบกลไกการปกครอง ที่เชื่อมต่อกับกลไกของรัฐอื่นๆ ตามลำดับชั้น คือ หมู่บ้าน-ตำบล-อำเภอ-จังหวัด-ประเทศ

ชุมชนตามความหมายดังกล่าวนี้มีข้อจำกัดในแง่มุมความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางด้านของ "สังคม" "วัฒนธรรม" และ "ทรัพยากรธรรมชาติ" ของชุมชน เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงผู้คนไว้ด้วยกัน โดยที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และเขตการปกครอง แต่เกี่ยวข้องกับความเป็นเครือญาติ การมีวัฒนธรรมของชนเผ่าเดียวกัน การมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน การใช้ป่าชุมชนร่วมกัน และการใช้แหล่งน้ำร่วมกัน เป็นต้น อันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถจำกัดได้ด้วยขอบเขตทางกายภาพใดๆ

ความหมายของคำว่า "ชุมชน" อีกความหมายหนึ่ง เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้ เพื่อต่อต้านกระแสการพัฒนาประเทศ ที่จะพยายามผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ความทันสมัย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เน้นการลงทุนอุตสาหกรรม การเปิดเสรีทางการค้า และระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งกระบวนการพัฒนาแบบนี้ มักได้รับการกำหนด และตัดสินใจ โดยคนจำนวนน้อย หากแต่ผลของการพัฒนา ได้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของคนจำนวนมากในสังคม จึงมีกระแสการรวมกลุ่มของประชาชนจากที่ต่างๆ โดยเปิดกว้างให้ทุกคนที่มีแนวคิดคล้ายๆ กัน มาทำงานร่วมกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เป็นการเรียกร้อง เพื่อมีส่วนร่วมกับกลไกของภาคราชการ และต่างชาติ ในการกำหนด และรับผิดชอบอนาคตของตัวเอง และสังคมที่อาศัยอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ชุมชนในความหมายนี้ เรียกได้ว่าเป็น "ชุมชนในจินตนาการ" (imagination community) อันเป็นกระบวนการของภาคประชาชน ที่เคลื่อนไหวในอุดมการณ์เชิงอำนาจ เพื่อถ่วงดุลกับอำนาจของรัฐ ธุรกิจเอกชน และต่างชาติ

Source://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=26&chap=3&page=t26-3-infodetail01.html

-------------------------------------------------------------


-------------------------------------------------------------

เราคงเคยได้ยินคำว่า "ชุมชน" กันมาบ้าง แต่หลายคนอาจสงสัยว่า คือ สิ่งเดียวกับบ้าน หมู่บ้าน หรือตำบลหรือไม่ ซึ่งก็อาจตอบได้ว่า ทั้งใช่และไม่ใช่

หมู่บ้านและตำบลคือ หน่วยพื้นฐานการปกครองระดับล่างสุดของสังคมไทย เป็นหน่วยการปกครองทางกายภาพ กล่าวคือ มีขอบเขต และอาณาบริเวณที่แน่นอน ในขณะที่คำว่า "ชุมชน" สามารถให้ความหมายครอบคลุมถึงหน่วยทางสังคมของกลุ่มคน ที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน มีการติดต่อสื่อสาร มีการรวมกลุ่ม มีความรัก และมีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อการปฏิบัติการบางอย่าง เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มป่าชุมชน กลุ่มเหล่านี้อาจจะเป็นสมาชิกร่วมกันได้ทั้งหมู่บ้าน หรือเฉพาะบางคนในหมู่บ้าน หรือต่างหมู่บ้านกันก็ได้

นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาสันนิษฐานว่า คำว่า "ชุมชน" นั้น น่าจะเริ่มนำมาใช้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓ - ๒๕๐๕ โดยบัญญัติมาจากคำภาษาอังกฤษว่า "community" เนื่องมาจากในระยะนั้น อิทธิพลของวิชาสังคมศาสตร์จากประเทศตะวันตก ได้แพร่ขยายเข้ามาสู่ประเทศไทย เพื่อใช้ในการศึกษาสภาพสังคมชนบท ซึ่งรัฐบาลก็ได้ใช้คำๆ นี้เรื่อยมา จนใน พ.ศ. ๒๕๐๕ รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานชื่อว่า "กรมการพัฒนาชุมชน" ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และด้วยเหตุที่คำว่า "ชุมชน" มักจะเกี่ยวข้องกับหน่วยงานด้านการปกครอง ความหมายของคำว่า "ชุมชน" ในระยะแรก จึงนำไปใช้ในความหมายที่ใกล้เคียง หรือซ้อนทับกับคำว่า "บ้าน" หรือ "หมู่บ้าน" ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองที่มีขอบเขตพื้นที่ที่แน่นอน ภายใต้การควบคุมของรัฐ ความเข้าใจนี้ได้เป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน

โดยความหมายดังกล่าวมีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะในความเป็นจริง ความสัมพันธ์ของคนมิได้ขึ้นกับขอบเขตของพื้นที่เพียงอย่างเดียว หากแต่คนยังมีความสัมพันธ์กันทางสังคม วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังมีพลังอย่างมากในการจัดการตัวเอง และสังคม ซึ่งสามารถเห็นได้จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดสงขลา กลุ่มรักษาป่าชุมชน รักษาแม่น้ำในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดตรัง กลุ่มโรงสีชุมชนในแถบอีสานตอนกลาง อย่างจังหวัดยโสธร จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น

ในอดีตก่อนการปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น คนในสังคม หรือชุมชนนั้นๆ จะจัดการในเรื่องต่างๆ กันเอง เช่น การศึกษา การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ การพัฒนาชุมชน การงานอาชีพ ฯลฯ โดยรัฐมีหน้าที่เพียงแต่ดูแลเรื่องความมั่นคงของประเทศ และรักษาความสงบภายในหน่วยต่างๆ ของสังคมเท่านั้น ครั้นเมื่อมีการปรับปรุงการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้น รัฐจึงเข้ามามีบทบาทในการดูแลความเป็นอยู่ของคนในสังคม หรือชุมชนมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕

รัฐ ยิ่งเพิ่มบทบาท และอำนาจหน้าที่มากขึ้น จนครอบคลุมทุกด้านของคนในชุมชน ตั้งแต่เกิดจนตาย จนกลายเป็นว่า รัฐได้สร้างวัฒนธรรมแห่งการพึ่งพา และคอยให้หน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการทุกเรื่องของชีวิต ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ขยะในบ้าน การรักษาสุขภาพ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น การขุดลอกคลอง การรักษาป่า ทั้งที่ในอดีต ชุมชนสามารถจัดการกันเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สายใยในการอยู่ร่วมกัน และวิถีทางในการอยู่รอดของคนในชุมชนนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐโดยสิ้นเชิง
ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญคือ โครงสร้างรัฐราชการแบบรวมศูนย์ ที่มีขนาดใหญ่เกินไป และนับวันยิ่งด้อยประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาต่างๆ ของสังคม ปัญหาจราจรในเมืองใหญ่ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ปัญหาการระบาดของโรคเอดส์ หรือปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนมีการกล่าวกันว่า "รัฐนั้นเล็กเกินไปสำหรับปัญหาใหญ่ๆ และใหญ่เกินไปสำหรับปัญหาเล็กๆ"
เหตุการณ์จลาจล เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ถือได้ว่า เป็นจุดหักเหที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ผลในเชิงรูปธรรมก็คือ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และการปกครองตนเองมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการมีธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา ๔๕ ที่บัญญัติเรื่องการรวมตัวกันเป็นชุมชนในชื่อต่างๆ มาตรา ๔๖ บัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน หรือมาตรา ๘๐ บัญญัติว่ารัฐต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เป็นต้น
นอกจากการที่รัฐธรรมนูญจะเอื้อต่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชุมชนแล้ว ควรจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย ได้แก่

๑. ชุมชนต้องมีพื้นที่สาธารณะ เพื่อใช้สื่อสาร หรือพบปะกันของคนในชุมชน เช่น สภากาแฟ ศาลาวัด งานบุญประเพณี ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข่าวสาร และเรื่องราวต่างๆ ได้
๒. สมาชิกต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน เช่น ร่วมคิด ร่วมทำร่วมตัดสินใจ ร่วมติดตามตรวจสอบ ในเรื่องต่างๆ ของชุมชน เพราะสมาชิกแต่ละคนมีประสบการณ์ และมุมมองที่แตกต่างกัน ในฐานะสมาชิกของ "ชุมชน" จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องราวทั้งหมด โดยอาจเป็นการพูดคุยหรือเรียนรู้ร่วมกัน

๓. ชุมชนต้องมีผู้นำที่มีความสามารถ ที่คอยกระตุ้นให้เกิดหรือสร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของ ซึ่งมักเป็นผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ และไม่มีอำนาจ แต่มีความสามารถหลากหลายแตกต่างกัน เราอาจพบผู้นำแบบนี้ได้ทั่วไป เช่น บางคนเป็นหมอพื้นบ้าน เป็นผู้นำทางศาสนา หรือเป็นเกษตรกร เป็นต้น

๔. ชุมชนต้องตระหนักว่า ผู้แก้ไขปัญหา หรืออำนาจที่แท้จริงนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎหมาย หน่วยงาน องค์กรของรัฐเท่านั้น แต่สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตนเอง และความร่วมมือกับผู้อื่น ซึ่งวิธีการคิดเช่นนี้นำไปสู่ความเชื่อมั่นที่ว่า "ประชาชนในท้องถิ่นเท่านั้น ที่สามารถแก้ปัญหาของท้องถิ่นได้"

๕. ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสถาบันภายในชุมชน เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา ต้องใกล้ชิดกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความซื่อสัตย์ และความไว้วางใจกัน ทำให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาได้

๖. ชุมชนต้องมีสำนึกของความเป็นชุมชน และมีวัฒนธรรมการเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งจะสร้างหรือเกิดขึ้นได้ จากการที่คนในชุมชน ร่วมมือกันทำงานบ่อยๆ ถือเป็นสายสัมพันธ์ที่ทำให้ทุกคน "อยู่ร่วม" และ "อยู่รอด" ได้ จนกระทั่งกลายเป็นสำนึกของความเป็นชุมชนในที่สุด

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า "ชุมชนที่เข้มแข็ง" นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเอง ไม่สามารถสร้างหรือสั่งได้จากหน่วยงาน หรือสถาบันภายนอกใดๆ มีเพียงคนในชุมชนเท่านั้น ที่ต้องร่วมกันสร้าง หากพวกเราทุกคนอยากเห็นสังคมไทยน่าอยู่มากกว่าปัจจุบัน ก็ต้องร่วมกันปฏิบัติ และสร้างระเบียบความสัมพันธ์แบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมของเรา

Source://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=26&chap=3&page=t26-3-detail.html

-------------------------------------------------------------



วัน อังคาร ที่ 28 เดทอย ตุลาคม พ.ศ.2557




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2557
1 comments
Last Update : 28 ตุลาคม 2557 23:52:29 น.
Counter : 2846 Pageviews.

 

ตอนนี้กลายเป็นชุมชนก้มหน้าเยอะค่ะ แต่ที่วัดยังได้อยู่นะคะ ส่วนสภาทั้งหลายดูจะล้าสมัยไปแล้ว

 

โดย: tuk-tuk@korat 28 กันยายน 2559 19:50:41 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.