" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
6 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0031. REINVENTING GOVERNMENT : 1 ใน 109 หนังสือควรอ่าน จาก นากยกฯ ทักษิณ ชินวัตร





เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2545 นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงและมอบนโยบายในการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เรื่อง "นโยบายการปฏิรูประบบราชการ" นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า....

......"เมื่อปี 1993 มีหนังสือเรื่อง REINVENTING GOVERNMENT ในหนังสือเล่มนี้ ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องเทคโลโลยี หรือ เรื่อง e- Government มากนัก แต่หนังสือเล่มนี้ได้จุดประกายให้ทั่วโลกปฏิรูประบบราชการ ทุกคนเรียกร้องระบบราชการที่เน้น Customer Driven Government ซึ่ง Customer คือ ประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น Customer Driven Government คือ รัฐบาลที่ให้ศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ศูนย์กลางอยู่ที่ลูกค้า ดังนั้น การคิด การทำ ต้องกลับไปที่ประชาชนว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร พึงพอใจอย่างไร จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ลดบทบาทและอำนาจของภาครัฐลง นั่นคือหลักที่ต้องการเห็น ต่อมามีการเน้นเรื่องการปรับองค์กรมากขึ้น เมื่อกระบวนทัศน์ความคิดเปลี่ยนไปจากผู้บริหารเป็นศูนย์กลาง กลายเป็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง จากการเรียนการสอนที่คูรเป็นศูนย์กลาง กลายเป็นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง สมัยก่อน โรงงานอุตสาหกรรมก็ใช้โรงงานเป็นศูนย์กลางว่าจะผลิตอะไร ก็เปลี่ยนให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไป

"ดังนั้น ถ้าวันนี้ไม่ทำหน้าที่นี้ ไม่ปรับให้เป็นแบบนี้ ในอนาคตระบบราชการเราจะเป็นระบบที่มีปัญหา ที่แย่กว่านั้น คือ ระบบราชการของเดิมของเราเป็นระบบแยกส่วน ทุกกระทรวงต่างคนต่างทำต่างอยู่ ที่เรียกว่า Functioning System ซึ่งเป็นแนวคิดที่มาจากระบบของการบริหารโรงงานอุตสาหกรรม เป็นลักษณะ Assembly Line คือ ใครทำหน้าที่อะไร ก็ทำหน้าที่ตรงนั้น ต่อมาเมื่อเหตุการณ์มันเปลี่ยนไป ทุกคนก็จะช่วยตัวเองโดยพยายามมีหน่วยงานใหม่ๆอยู่ในกระทรวงของตัวเองเพื่อให้ครบตามภารกิจของตัวเอง เมื่ออีกกระทรวงหนึ่งก็มีเหมือนกัน จึงเกิดความซ้ำซ้อนและความสิ้นเปลืองในการบริหารจัดการมากขึ้น สุดท้ายระบบนี้ก็เหมือนปีศาจร้ายที่อยู่ทั้งในกระบวนการบริหารและกระบวนการเรียนรู้ เพราะทุกคนไม่ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แต่กลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ทุกคนจะเข้าใจตัวเองมากกว่าผู้อื่น ระบบนี้ได้เข้าไปเป็นปีศาจร้ายในกระบวนการศึกษาของไทย มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน คณะใครก็คณะคนนั้น ต่างคนต่างอยู่ ปฏิสัมพันธ์ หรือ การใช้ Facility ข้ามคณะมีน้อย

"จะเห็นว่าระบบที่ไม่ดีนี้ลุกลามไปหมด จึงต้องปรับเปลี่ยนและแก้ไขระบบโดยด่วน เพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยนำภารกิจมาเป็นตัวตั้ง แล้วให้ทุกคนมุ่งไปที่ภารกิจเดียวกัน ทุกคนจะเล็งไปที่เป้าเดียวกัน ทุกคนจะต่างคนต่างทำงานก้ได้ ประสานงานกันได้ แต่ทั้งหมดมุ่งไปที่เป้าเดียวกัน คือ ภารกิจ แล้วความสามัคคีจะเกิดขึ้น ความขัดแย้งจะลดน้อยลง ถ้าเป็นระบบเดิมจะมีแต่ความขัดแย้ง เพราะทุกคนจะมีตัวตนมาก และ ตัวตนจะใหญ่ จะคิดเฉพาะหน่วยงานของตน ความขัดแย้งจึงมีมาก แต่ด้วยวิธีการนี้ ในอนาคต ความขัดแย้งจะลดลง ดังนั้น สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงต้องรีบดำเนินการ วันนี้โลกกำลังแข่งขันกันที่ความเร็วตลอดเวลา ใครตัดสินใจก่อนก็ไปได้เร็วกว่า"








" Customer Driven Government คือ รัฐบาลที่ให้ศูนย์กลางอยู่ที่ประชาชน เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ศูนย์กลางอยู่ที่ลูกค้า ดังนั้น การคิด การทำ ต้องกลับไปที่ประชาชนว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร "


Create Date : 06 มีนาคม 2551
Last Update : 6 มีนาคม 2551 12:37:41 น. 5 comments
Counter : 2661 Pageviews.

 
การประชุมวาระแห่งโลก ครั้งที่ 4 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ
และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาศักยภาพของภาคประชาคม ภาคธุรกิจ
และภาครัฐเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมระหว่าง 3 ภาคี
ระหว่างวันที่ 10-13 ธันวาคม 2545 ณ เมือง มาราเคช ประเทศมอร็อคโค
The 4th Global Forum on Reinventing Government & Capacity Development Workshops, Citizens, Businesses and Governments : Dialogue and Partnerships
for the Promotion of Democracy and Development
at Marrakech, Morocco, 10-13 December, 2002

--------------------------------------------------------------------------------

การประชุมวาระแห่งโลก ครั้งที่ 4 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ (Reinventing Government) ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-13 ธันวาคม 2545 ณ เมืองมาราเคช ประเทศโมร็อคโค เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมระหว่าง 3 ภาคี คือ ภาคประชาคม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ภายใต้องค์อุปถัมภ์ ของพระรามาธิบดีกษัตริย์โมฮัมเหม็ดที่ 6 แห่งประเทศมอร็อคโค ธนาคารโลก รัฐบาลมอร็อคโค และรัฐบาลอิตาลี มีผู้เข้าร่วมประชุม 1,200 คน จาก 100 ประเทศ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี นายกเทศมนตรี ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรท้องถิ่น ตัวแทนจากภาคประชาคม ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ตัวแทนจากกลุ่ม NGO ตัวแทนจากสถาบันการศึกษา และศูนย์การวิจัย ในส่วนของประเทศไทยมีผู้เข้าร่วมประชุม 3 คน จากเทศบาลเมืองภูเก็ต ซึ่งได้รับเชิญจากหน่วยงานเศรษฐกิจ และสังคมขององค์การสหประชาชาติ คือ ร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก นายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต พร้อมทั้งผู้ติดตาม คือ เทศมนตรีสมใจ สุวรรณศุภพนา และแพทย์หญิงทัศนีย์ เอกวานิช ในที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันหาแนวทาง เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เพื่อลดช่องว่าง ในด้านเทคโนโลยี และด้านเศรษฐกิจ ได้มีการถ่ายทอดกระแสของการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดประชาธิปไตย และการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี ในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ อันจะก่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน

ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 11 ด้าน คือ

การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบธรรมาภิบาล
การกระจายอำนาจตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อลดปัญหาความยากจน
การปฏิรูประบบราชการ และการบริหารในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา
การปรับปรุงประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณะ
การเสริมสร้างความเข้มแข็งของพันธมิตรระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาคม
กระบวนการเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
โลกาภิวัตน์ บทบาทของภาครัฐกับสิ่งแวดล้อม
การค้า และการลงทุนในภาคเศรษฐกิจแห่งโลกาภิวัฒน์
การเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงทรัพยากรและระบบการบริหารเรื่องภาษี
การส่งเสริมให้เกิดการตรวจสอบและความโปร่งใส
เพศกับหลักธรรมาภิบาล
นอกจากนี้ในการประชุมวาระแห่งโลก ยังได้แบ่งการประชุมเป็น 4 ด้าน คือ
การเสริมสร้างความเข้มแข็งของนโยบายสาธารณะ เพื่อสนับสนุนให้เกิดพันธมิตรระหว่างภาครัฐ ภาคประชาคม และภาคธุรกิจ
การปรับบทบาทของภาครัฐและกรอบแนวคิดเพื่อการควบคุม
การสนับสนุนพันธมิตรทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค
วัฒนธรรม ค่านิยม และการพัฒนาในบริบทของโลกาภิวัตน์
ที่ประชุมยังได้ร่วมกันร่างประกาศแห่งเมืองมาราเคช สำหรับการประชุมวาระแห่งโลก ครั้งที่ 4 รวม 12 ข้อ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ ดังนี้
ให้ภาคประชาคมเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ
เสริมสร้างพลังของชุมชนท้องถิ่น เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของตนเอง
สนับสนุนภาคธุรกิจให้เติบโตและมั่งคั่งอย่างยั่งยืน
ขับเคลื่อนให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงการท้าทายทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
นำพาภาครัฐให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสามารถตรวจสอบได้
ริเริ่มและพัฒนาให้เกิดความร่วมมือในรูปแบบใหม่ๆ
ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เพื่อปรับปรุงการทำงานของภาครัฐ
พัฒนาความเป็นหนึ่งเดียวในระดับโลก เพื่อให้เป็นโลกที่น่าอยู่
สร้างความเป็นสากลบนพื้นฐานของการให้เกียรติ และการแลกเปลี่ยนในกลุ่ม ระหว่างวัฒนธรรมที่หลากหลาย
เพิ่มการสนับสนุนจากพันธมิตรระหว่างประเทศ
ติดตามผลการดำเนินงานโดยรัฐบาลมอร็อคโค
จัดวาระแห่งโลกครั้งที่ 5

รายงานโดย
ร้อยโทภูมิศักดิ์ หงษ์หยก นายกเทศมนตรีเมืองภูเก็ต
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา เทศมนตรีเมืองภูเก็ต
แพทย์หญิงทัศนีย์ เอกวานิช ร.ก. ผ.อ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
19 ธันวาคม 2545

Resource:การประชุมวาระแห่งโลก ครั้งที่ 4 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ (Reinventing Government)


โดย: การประชุมวาระแห่งโลก ครั้งที่ 4 เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ (Reinventing Government) (moonfleet ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:12:41:21 น.  

 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Global Forum on Reinventing Government ครั้งที่ 6 ที่สาธารณรัฐเกาหลี

July 24, 2006, 5:55 pm

ด้วย ดร. กันตธีร์ ศุภมงคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะร่วมคณะ
พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมการประชุม Global Forum on Reinventing Government ครั้งที่ 6 ซึ่งจะจัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 23-25 พฤษภาคม 2548กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแจ้งข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวดังนี้
1. ภูมิหลัง
1.1 การประชุม Global Forum on Reinventing Government คือการประชุมด้านการปฏิรูประบบราชการในระดับโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2542 โดยการริเริ่มของรัฐบาลสหรัฐฯ และได้รับความสนับสนุนจากสหประชาชาติ สำหรับการประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นการประชุมฯ ที่จัดขึ้นในทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก (การประชุมฯ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่บราซิล การประชุมฯ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่อิตาลี การประชุมฯ
ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่โมร็อกโก และการประชุมฯ ครั้งที่ 5 จัดขึ้นที่เม็กซิโก)
1.2 หัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้คือ Reinventing Government: Toward Participatory and Transparent Governance ซึ่งจะเน้นประเด็นการบริหารจัดการของแต่ละประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การผ่อนปรนกฎระเบียบ และความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส
1.3 ผู้นำประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วยประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลีในฐานะประเทศเจ้าภาพ ประธานาธิบดีบราซิล และทาจิกิสถาน รองประธานาธิบดีอิหร่าน และแทนซาเนีย นายกรัฐมนตรีไทย
ศรีลังกา โมร็อกโก เซเนกัล อูกานดา รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)



2. การประชุมและกิจกรรมสำคัญในช่วงการประชุมฯ
2.1 นายกรัฐมนตรีไทยในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยจะร่วมกล่าวสุนทรพจน์ใน
พิธีเปิดการประชุมฯ ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 อันจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำรัฐบาลไทยต่อเวทีการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการไทยให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนาประเทศและตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชน นอกจากนี้
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังจะได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำและบุคคลระดับสูงของประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมฯ ด้วย
2.2 การจัดนิทรรศการ International Innovation Exhibition แสดงความก้าวหน้าด้านการปฏิรูประบบราชการของประเทศต่างๆ ซึ่งในส่วนของไทยนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการจะร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้วย โดยนายกรัฐมนตรีจะร่วมในพิธีเปิดและเยี่ยมชมนิทรรศการฯ ร่วมกับผู้นำประเทศอื่นๆ ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2548
2.3 การประชุม Ministerial Roundtable on Innovation ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ซึ่งฝ่ายไทยจะมีนายสุรนันท์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย
2.4 การประชุม ASEAN+3 Ministerial Meeting on Creative Management for Government ซึ่งเป็นการประชุมในเรื่องเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจครั้งแรกในกรอบ ASEAN+3 ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 โดยฝ่ายไทยจะมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะผู้แทน
เข้าร่วมการประชุมฯ
………………………….

18 พฤษภาคม 2548



โดย: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุม Global Forum on Reinventing Government ครั้งที่ 6 ที่สาธารณรัฐเกาหลี (moonfleet ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:12:44:47 น.  

 
การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการระดับนานาชาติ

เพื่อให้การพัฒนาระบบราชการไทยเป็นไปอย่างจริงจังและต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ สำนักงาน ก.พ.ร. จึงใช้โอกาสในเวทีต่างประเทศเพื่อให้เกิดการศึกษา แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ แนวความคิดใหม่ๆ ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ กับหน่วยงานในต่างประเทศ เพื่อให้สามารถสร้างกลยุทธ์ และนำประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการผลักดันและขยายผลการดำเนินงานของสำนักงาน ก.พ.ร. ให้ตอบสนองต่อการปฏิรูประบบราชการของประเทศไทย ให้บรรลุผลตามยุทธศาสตร์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันของหน่วยงานด้านการพัฒนาระบบราชการในระดับนานาชาติ อันนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกและยกระดับประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548
1. รัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลี โดยความร่วมมือจากองค์การสหประชาชาติ เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งที่ 6 ในหัวข้อ The 6th Global Forum on Reinventing Government: Toward Participatory and Transparent Governance ระหว่างวันที่ 24 – 27 พฤษภาคม 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพ สามารถตรวจสอบได้ พร้อมกับการเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อหลักการบริหารราชการอย่างโปร่งใส

ในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี ได้มีหนังสือเชิญมายังนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเพื่อร่วมกล่าวสุนทรพจน์ พร้อมได้เชิญหัวหน้ารัฐบาลประเทศต่างๆเข้าร่วมงาน และร่วมการหารือในระดับทวิภาคีระดับสูง ในหัวข้อที่มุ่งเน้นประเด็นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ การผ่อนปรนกฎระเบียบ และความรับผิดชอบบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่สำนักงาน ก.พ.ร. นอกจากนี้สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดนิทรรศการในงาน International Innovation Exhibition ในฐานะหน่วยงานตัวแทนของประเทศไทย โดยได้ร่วมจัดบูธนิทรรศการ ในหัวข้อ“THAILAND: Re-managing the Public Sector” บริเวณ Foreign Pavilion ใน the Convention and Exhibition Center (COEX)

สำหรับข้อสรุปของการประชุม 6th Global Forum on reinventing government และกิจกรรมต่างๆ ได้ประกาศเป็น ปฏิญญาสากลว่าด้วยการมีส่วนร่วม และระบบธรรมาภิบาลที่มีความโปร่งใส (The Seoul Declaration on Participatory and Transparent Governance) โดยกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการ จะต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนเป็นหลัก เน้นความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมภายใต้การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมมาภิบาลที่มีความใสสะอาด รัฐบาลควรมุ่งเน้นนโยบายขจัดความยากจน อันเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข และพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา สำหรับรัฐบาลของประเทศที่ประสบกับปัญหาความยากจนอย่างรุนแรง ควรดำเนินนโยบาย และวางยุทธศาสตร์ในการลดปัญหาดังกล่าวให้ลดลงร้อยละ 50 ภายในปี 2015

นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุมต่อด้วย The International Ministerial Round Table on Innovation: Government Reinvention for Attaining Good Governance สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีจาก 70 ประเทศ ซึ่ง นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. ได้เข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของประเทศไทย

2.สำนักงาน ก.พ.ร. เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Innovative Meeting on High Performance Public Management เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 ณ โรงแรม แชงกรีลา กรุงเทพฯ โดยมีนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมในครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิก ASEAN+3 จำนวน 11 ประเทศ จากทั้งหมด 13 ประเทศมาเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนิเซีย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน และเกาหลี

การประชุมครั้งนี้ มุ่งเน้นการใช้เครือข่าย (Networking) มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้จากภายนอกองค์กร ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย ทำให้สามารถรับรู้ข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) และ best practice จากนานาประเทศ เพื่อสามารถผลักดันให้ประเทศสมาชิก ASEAN+3 กลายเป็นสังคมแห่งฐานความรู้ และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจภาครัฐ และความต้องการของประชาชน เพื่อให้สอดรับกับสภาพสังคมและสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่ผลักดันให้นานาประเทศต้องเตรียมพร้อมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมใหม่ (Innovation) ในการพัฒนาองค์ความรู้ในมิติต่างๆ รวมทั้งการสร้างสรรค์ความคิด และวิทยาการสมัยใหม่เพื่อนำมาปรับใช้กับการปฏิบัติราชการ และการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศสมาชิก ASEAN+3 ในเวทีโลก

ในการนี้ ผู้แทนประเทศต่างๆ ได้ร่วมนำเสนอแนวความคิดใหม่ที่แต่ละประเทศใช้ในการพัฒนาระบบราชการของตน อาทิ

ประเทศบรูไน เรื่อง Enhancing High Performance Public Service Management
ประเทศอินโดนิเซีย เรื่อง Public Service Reform in Indonesia
ประเทศสิงคโปร์ เรื่อง Management of Personnel Information in Singapore Civil Service
ประเทศเวียดนาม เรื่อง Re-defining function and responsibilities of State Administration Agencies in Vietnam
และประเทศไทย โดยมีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ ก.พ.ร. เรื่อง From Challenges to Changes: The Thai Public Sector Reform โดยได้หยิบยกการผสมผสานนวัตกรรมและแนวความคิดใหม่ในการพัฒนาระบบราชการใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก (OPDC’s Diamond) ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชน การปรับบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างให้มีความเหมาะสม การยกระดับการทำงานให้อยู่ในระดับสูงเทียบเท่าเกณฑ์สากล และการเปิดระบบราชการสู่กระบวนการประชาธิปไตย
ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเชื่อมั่นว่าการประชุม Innovative Meeting on High Performance Public Management จะช่วยสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN+3 โดยประเทศสมาชิกที่มีความชำนาญเรื่องต่างๆ จะได้แลกเปลี่ยน และสร้างเครือข่ายในเรื่องการจัดการความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกันในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN+3 ที่จะพัฒนามาตรฐานของระบบเครือข่ายความรู้ ที่ประกอบด้วยระบบข้อมูลความรู้ “Software” และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ “Hardware” ให้มีประสิทธิภาพ และเป็นมาตรฐานสากล

3. สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เข้าร่วมประชุม OECD-Asia Public Sector Performance Symposium ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 การประชุมครั้งนี้จัดโดย OECD Asian Center for Public Governance การประชุมประกอบด้วยนักวิชาการ และผู้บริหารระดับสูงในองค์กรภาครัฐ จากประเทศในภูมิภาคอาเซียน และประเทศสมาชิก OECD โดยมีหัวข้อของการประชุม 3 ประเด็นหลักที่มีความสำคัญดังนี้

นโยบายและการบริหารงานแนวใหม่ สำหรับการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งผลสัมฤทธิ์



หัวข้อนี้เกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความต้องการแก้ปัญหาการทุจริตในภาครัฐ ได้นำเสนอโดย ผู้แทนจาก 4 ประเทศ คือ Mr. Richard M. Walker จาก University of Hong Kong ที่ได้สรุปว่า การกำหนดประเด็นเพื่อวัดประสิทธิภาพขององค์กรนั้น ต้องสามารถกำหนดว่าผู้ส่วนเกี่ยวข้องสำคัญกับองค์กรเป็นใคร และอะไรเป็นข้อมูลที่ควรทราบ Dr. Pil Eon Seo จากMinistry of Government Administration and Home Affairs ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ได้กล่าวถึงการบูรณาการร่วมกันระหว่าง





โดย: การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระบบราชการระดับนานาชาติ (moonfleet ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:12:47:33 น.  

 
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
59 ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพ 10300 โทร 02 356 9999 โทรสาร 02 281 7995 e-mail: administrator@opdc.go.th


โดย: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (moonfleet ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:12:47:57 น.  

 
การปฏิวัติระบบราชการ
ชำนาญ จันทร์เรือง กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2548

ภายใต้กระแสการเลือกตั้งผู้แทนที่กำลังคึกคักไปด้วยนโยบายต่างๆ ที่จะโน้มน้าวให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกตนหรือพรรคของตนเข้าไปมีบทบาทในสภา จนถึงการกุมอำนาจบริหารประเทศ แต่เมื่อพิเคราะห์ลงไปอย่างถี่ถ้วนแล้วไม่พบว่ามีพรรคการเมืองใด เสนอแนวทางการปฏิรูประบบราชการให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็วแต่อย่างใด ผู้เขียนจึงอยากจะนำเสนอแนวคิดในการปรับปรุงระบบราชการ ต่อผู้ที่จะเข้าไปบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง

การปฏิรูประบบราชการของไทย ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการขึ้นมา เพื่อดำเนินการเรื่องนี้หลายชุด และล่าสุดเมื่อ ปี 2545 มีการออกกฎหมายปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม จนมีกระทรวงที่เกิดขึ้นใหม่รวมของเก่าถึง 20 กระทรวง ซึ่งจวบจนถึงบัดนี้ยังไม่ปรากฏผลอันใดที่จะสามารถเรียกได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่ระบบราชการอย่างใหญ่หลวงแต่อย่างใด

1.ทำไมต้องปฏิวัติระบบราชการ ทุกวันนี้ระบบราชการถูกภาคเอกชนทิ้งห่างอย่างมากมาย จะหวังเพียงปรับปรุงทีละเล็กทีละน้อยคงไม่ทันกาล ต้องมีการคิดพิจารณากันใหม่ ออกแบบกระบวนการทำงานราชการกันใหม่อย่างถึงแก่น ที่สำคัญต้องให้ได้ผลลัพธ์รวดเร็วที่สุด ยิ่งใหญ่ ถอนรากถอนโคน จึงจะได้ผลซึ่งสาเหตุต่างๆ ของปัญหาก็เนื่องมาจาก

1.1 ปัญหาของระบบราชการ ใหญ่โตเทอะทะเกินไป, หน่วยงานและบุคลากรมีจำนวนมาก ทำงานซ้ำซ้อนกัน, มีกฎระเบียบที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนเกินไป, อำนาจในการตัดสินใจอยู่ส่วนกลาง

1.2 ปัญหาของตัวข้าราชการ รายได้ต่ำ, ขาดผู้ที่มีความสามารถเพราะเกิดสภาวะสมองไหล และผู้ที่จบการศึกษาใหม่ ไม่สนใจที่จะเข้าสู่ระบบราชการ, ขาดความกระตือรือร้นเพราะเข้ายากแต่ออกง่าย

1.3 ปัญหาของประชาชน ไม่สนใจในสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง ปล่อยให้ข้าราชการที่มักง่ายเอารัดเอาเปรียบ , วิ่งหาพรรคพวกเส้นสายก่อนที่จะติดต่อกับราชการ หรือหยิบยื่นสินบนให้กับเจ้าหน้าที่

2. ทำลายระบบราชการทิ้งเลยได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ เพราะสังคมหรือชุมชนขนาดใหญ่ย่อมต้องมีระบบราชการเป็นกลไกที่ใช้ในการตัดสินใจปัญหาเกี่ยวกับคนจำนวนมาก

3. ทำไมที่ผ่านมาจึงเปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ จากหนังสือปฏิรูปราชการเพื่ออนาคตของ ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชซ์ และ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน กล่าวไว้ในหัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้

2.1 ไม่มีแรงกดดันเพียงพอ

2.2 ไม่มีแรงจูงใจเพียงพอ ระบบราชการของไทยเรานั้นไม่เอื้อหรือไม่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

2.3 ขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และความรับผิดชอบ ผู้นำทางการเมืองที่ผ่านมามิได้เข้าใจ และมีความสนใจการปรับปรุงระบบราชการอย่างแท้จริง

2.4 กลัวและไม่แน่ใจ การปฏิรูประบบการทำงานของราชการนั้น ข้าราชการมักจะระแวง กลัวล้มเหลว กลัวว่าตนเองจะต้องถูกปลดออกจากงาน กลัวว่าจะต้องทำงานหนักขึ้น

2.5 แรงต้านและผลประโยชน์ในระบบราชการนั้น ในบางหน่วยมีเรื่องผลประโยชน์แอบแฝงอยู่มากมาย

นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ที่การปรับปรุงระบบราชการของไทยไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะการใช้รูปแบบของคณะกรรมการ ที่มีความใหญ่โตทำให้ขาดความคล่องตัว คณะกรรมการมีสถานภาพเป็นข้าราชการระดับสูง ทำให้มีเวลาน้อย ซึ่งกระบวนการตัดสินใจมีขั้นตอนที่ต้องผ่านความเห็นชอบหลายระดับ ใช้เวลาในกระบวนการตัดสินใจค่อนข้างมาก

4. ทำอย่างไรจึงจะปฏิวัติระบบราชการได้สำเร็จ การแปรรูปสู่การเป็นเอกชนนั้นเป็นเพียงคำตอบหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด การดำเนินการแบบเอกชนใช้ได้เฉพาะการให้บริการ หรือการทำหน้าที่ควบคุมทิศทางบางเรื่องเท่านั้น แต่ใช้ไม่ได้กับกระบวนการทั้งหมดของงานราชการ

ภาครัฐจะทำได้ดีในเรื่องการบริหารนโยบาย การออกกฎหมาย การดูแลทรัพย์สิน การป้องกันอาชญากรรม การรักษาความต่อเนื่อง และเสถียรภาพของการบริการ แต่ภาคธุรกิจจะทำได้ดีในงานด้านเศรษฐกิจ การเงิน นวัตกรรม การทำการทดลอง หรืองานด้านเทคนิคที่ซับซ้อน เป็นต้น

จากบทเรียนของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จ พอสรุปแนวทางการปรับปรุงได้ดังนี้

4.1 การกำหนดอายุในกฎหมาย คือการกำหนดวันที่โครงการหรือกฎหมายหมดอายุลง เว้นแต่จะทบทวนให้ใช้ ได้ต่อไป ซึ่งก็รวมไปถึงคณะกรรมการคณะทำงานต่างๆ โดยรัฐจะต้องประเมินผลกิจกรรมและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อตัดสินใจว่า อันใดควรใช้ต่อไป อันใดควรยกเลิก ทุกกิจกรรมของราชการควรได้รับการประเมินผลหรือลงคะแนนเป็นระยะว่า ได้รับความไว้วางใจจึงจะดำเนินการต่อไป

4.2 ขจัดความล่าช้าในการดำเนินงาน รัฐบาลอเมริกันได้จัดตั้ง The National Performance Review (NPR) หรือที่เรียกกันว่า "Reinventing Government Initiative" ขึ้น เพื่อศึกษาและเสนอรายงานที่เรียกว่า " From Red Tape to Results:Creating a Government that Works Better & Costs Lost" มีส่วนที่น่าสนใจคือ การดำเนินงานภาคราชการมักจะยึดติดกับกระบวนการ และขั้นตอนการปฏิบัติงานตามระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดตายตัว เน้นในเรื่องพิธีการและงานเอกสาร มากกว่ายึดที่วัตถุประสงค์และผลสำเร็จของงาน จึงต้องมีการแก้ไขโดยการสร้างความยืดหยุ่นคล่องตัวให้เกิดขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องกระจายอำนาจ การบริหารงานบุคคลให้หัวหน้าส่วนราชการ สามารถจัดการ สรรหา เลื่อนขั้น และปลดเจ้าหน้าที่ออกได้เอง ลบล้างความเชื่อที่ว่าเข้ายาก ออกง่าย ไปเสีย โดยมีขั้นตอนดังนี้

1) ปรับเปลี่ยนกระบวนการงบประมาณ เพราะกระบวนการงบประมาณในปัจจุบัน ยังเป็นเรื่องของงานเอกสาร และมีวงจรการจัดทำงบประมาณที่จำกัด และขาดความยืดหยุ่นที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

2) กระจายอำนาจการบริหารงานบุคคล ให้แก่ส่วนราชการต่างๆ มากขึ้นกว่านี้

3) ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อ คือปรับปรุงระเบียบบริหารงานพัสดุให้มีลักษณะเป็นแบบหลักการชี้แนะมากกว่ากฎปฏิบัติที่ตายตัวแบบปัจจุบัน รวมทั้งการกระจายอำนาจการตัดสินใจลงไปในระดับล่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

4.3 ปรับปรุงระบบการประเมินผล จาก "Reinventing Government" ของ Osborne และ Gaebler ได้เสนอไว้ว่า

1) ต้องให้ความแตกต่างระหว่างการวัดผลงานจากกระบวนการ กับการวัดผลงานจากผลสัมฤทธิ์ เพราะในงานที่เป็นกฎระเบียบของระบบราชการนั้น ข้าราชการมักจะเข้าใจว่าหน้าที่ของตนคือ การปฏิบัติตามระเบียบ แต่ละเลยผลสำเร็จของงานที่แท้จริงว่า จะมีผลกระทบที่จะอำนวยประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือประชาชนอย่างไรบ้าง

2) ความแตกต่างระหว่างการวัดผลจากประสิทธิภาพ กับการวัดผลงานจากประสิทธิผล เป้าหมายในการทำงานของข้าราชการต้องไม่ใช่เพื่อการลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ที่การดึงเอาความสามารถจากบุคลากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3) การประเมินผลงานต้องกระทำโดยหน่วยงานอิสระ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

4.4 ต้องมีการปฏิรูปการเมือง

จากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา และตัวอย่างของนานาอารยประเทศนั้น สรุปได้ว่า การที่จะปฏิวัติระบบราชการไทยให้สำเร็จนั้นอยู่ที่การปรับเปลี่ยนแนวคิดที่มีต่อระบบราชการเสียใหม่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของผู้นำประเทศ รวมทั้งการยินยอมพร้อมใจของบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องพร้อมยอมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่านั่นเอง

Resource:
//www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article2005jan11p5.htm


โดย: การปฏิวัติระบบราชการ (moonfleet ) วันที่: 6 มีนาคม 2551 เวลา:12:49:40 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.