" เรื่องราวต่างๆเป็นดั่งทองคำในเทพนิยาย เมื่อคุณแจกจ่ายไปมากขึ้น คุณก็ได้รับกลับมามากขึ้น " พอลลี แมคไกวร์
Group Blog
 
 
มีนาคม 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
4 มีนาคม 2551
 
All Blogs
 
0009. THE CRISIS OF GLOBAL CAPITALISM : 1 ใน 109 หนังสือควรอ่าน จาก นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร





เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม 2542 พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวในปาฐกถา เรื่อง "เมืองไทยในศตวรรษใหม่" ซึ่งจัดโดย สภาหอการค้าไทย มีข้อความตอนหนึ่งว่า....

...."หลายคน คงเคยอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของโซรอส เรื่อง The Crisis of Global Capitalism โซรอส ได้อธิบายถึง ประชาธิปไตยกับทุนนิยมโลกว่า ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยนี้ หัวใจอย่างหนึ่ง คือ การแข่งขันเสรีมีระบบทุนนิยมที่ต้องอยู่ร่วมกัน แต่ทุกคนก็รู้ว่า หลักของทุนนิยม คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนที่มีกำลังแข็งกว่าเท่านั้นจึงจะชนะการแข่งขัน สิ่งที่เรามองว่าเสรี ความจริงก็ไม่เสรีแท้ๆ"




Create Date : 04 มีนาคม 2551
Last Update : 4 มีนาคม 2551 7:06:46 น. 11 comments
Counter : 1512 Pageviews.

 
วิกฤติระบบทุนนิยมโลก (สังคมเปิดกำลังจะสูญพันธุ์)
…ทัศนะของจอร์ช โซรอส…
สรุปและวิจารณ์โดย วิทยากร เชียงกูล
[ คัดเลือกมาบางส่วนจากหนังสือ วิกฤติระบบทุนนิยมโลกในทัศนะ จอร์ช โซรอส สรุปและวิจารณ์โดย วิทยากร เชียงกูล, สำนักพิมพ์มิ่งมิตร 2542]
George Soros, "The Crisis of Global Capitalism: Open Society Endangered."


จอร์ช โซรอส

"คุณจะบอกว่า ผมคือคนที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ ดังนั้นจึงไม่ควรฟัง สิ่งที่ผมพูด ก็แล้วแต่คุณ หากแต่ความจริงก็คือ การที่ผมทำเงินได้อย่าง มหาศาลนั้น ย่อมเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ระบบตลาดนั้นไม่ดีจริง คนอย่างผม จึงสังเกตเห็นและเข้ามาหาประโยชน์จนร่ำรวยขนาดนี้ได้"



จอร์ช โซรอส
(ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ ซี เอ็น เอ็น หลังจากกรณีที่เขาทำกำไรจากการลงทุนแบบ เก็งกำไรได้มากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาไม่กี่วัน ในตลาดการเงินในยุโรป เดือนกันยายน ปี พ.ศ.2535)

สารบัญ

คำนำโดยผู้เรียบเรียง
บทเกริ่นและคำนำ (ของจอร์ช โซรอส)
โอกาสที่จะผิดพลาดได้และปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ (Fallibility and Reflexivity)
วิพากษ์วิชาเศรษฐศาสตร์
ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับในตลาดการเงิน
ระบบทุนนิยมโลก
วิกฤติการเงินของโลก
Biographical Information
From the Book
Forewords & Introductions
Editorial:Soros alone cannot be blamed for crisis


คำนำโดยผู้เรียบเรียง

หนังสือเล่มนี้เป็นงานเชิงแนะนำและวิจารณ์หนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อ The Crisis of Global Capitalism ซึ่งเป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ จอร์ช โซรอส (1930 - ) ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะพ่อมดทางการเงิน หรือที่ปรึกษานักลงทุนทางด้านการเงินระหว่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เป็นทั้งมหาเศรษฐกิจ เป็นนักคิดนักเขียน และนักรณรงค์เพื่อการพัฒนาสังคมที่มีชื่อเสียง ทั้งในแง่ความสำเร็จและในแง่การมีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ที่นอกคอก
โซรอส เป็นชาวฮังการีเชื้อสายยิว ซึ่งต้องเอาตัวให้รอดจากการตามล้างผลาญ ของพวกนาซีเยอรมัน เขาอพยพไปอังกฤษตั้งแต่วัยรุ่น และทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เขาเรียนจบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์การเมืองจากสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน (L.S.E) สำนักเดียวกับ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หลังจากทำงาน ในบริษัทลงทุนทางด้านการเงินในอังกฤษอยู่ระยะหนึ่งก็ย้ายไปที่สหรัฐฯ ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จในฐานะที่ปรึกษานักลงทุนในตลาดการเงิน ผู้มีรายได้จากเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นการเป็นที่ปรึกษา กว่าปีละพันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา นิตยสารฟอร์ปส์ ประเมินในปี พ.ศ.2540 ว่า โซรอสมีทรัพย์สินราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ เป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 27 ของโลก

โซรอส เริ่มใช้เงินส่วนตัวจัดตั้งกองทุนสังคมเปิด (Open Society Fund) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานรณรงค์เพื่อสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมในยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก และประเทศอื่นๆ ตั้งแต่ปี 2522 ในสมัยที่ี่เขายังไม่ได้ร่ำรวยมากนัก เมื่อเขายิ่งรวยขึ้น เขาก็ยิ่งบริจาคให้มูลนิธิมากขึ้น ปัจจุบันมูลนิธิดังกล่าวมีสาขาอยู่ใน 31 ประเทศ และใช้งบฯดำเนินการปีละประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โซรอสเขียนหนังสือหลังจากที่เขามีชื่อเสียงในฐานะนักลงทุนแล้ว 2 เล่ม คือ The Alchemy of Finance (การเล่นแร่แปรธาตุของตลาดการเงิน) และ SOROS ON SOROS

สำหรับหนังสือเล่มล่าสุดของเขา ที่ผม (วิทยากร เชียงกูล) นำมาเขียนแนะนำ เชิงวิจารณ์เล่มนี้ มีชื่อเต็มว่า The Crisis of Global Capitalism (Open Society Endangered) วิกฤติของระบบทุนนิยมโลก (สังคมเปิดกำลังจะสูญพันธุ์) เป็นหนังสือที่เพิ่งเขียนและพิมพ์เผยแพร่เมื่อปลายปี 2541 นี้เอง ครอบคลุมถึง สถานการณ์วิกฤติในเอเชีย และรุสเซีย (แต่เขียนก่อนเกิดวิกฤติในบราซิล) ผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่มีแนวคิดที่ก้าวหน้า ท้าทายและน่าสนใจมากกว่างานของ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ผมจึงได้ทำบทแนะนำเชิงวิจารณ์มาเสนอให้คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งคงจะไม่มีโอกาสได้อ่านกัน ได้รับรู้ว่า ในโลกนี้ยังมีแนวคิดที่แตกต่างไปจาก ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบบูชาระบบตลาด หรือแนวคิดแบบไอเอ็มเอฟ-ธารินทร์ ที่เป็นแนวคิดที่ครอบงำสังคมไทยในเวลานี้อยู่มาก

โซรอส เป็นคนที่มีภาพลักษ์ขัดแย้งกันอย่างซับซ้อน คุณถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของเราเรียกเขาว่า มหาโจรโซรอส มหาเธร์ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียโจมตีว่า เขาคือ นักเก็งกำไรค่าเงินที่ทำให้เกิดวิกฤติเอเชีย คนในประเทศทุนนิยมพัฒนาอุตสาหกรรมเรียกเขาว่าโรบินฮู๊ดสมัยใหม่ ผู้ปล้นจากโลกตะวันตกที่ร่ำรวยไปช่วยโลกตะวันออกที่ยากจนกว่า คนอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลเคยขาดทุนจากการไปพยุงค่าเงินปอนด์เพื่อสู้กับโซรอส (และผู้ลงทุนเก็งกำไรคนอื่นๆ) ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2535 วิจารณ์ว่าเพราะรัฐบาลอังกฤษโง่กว่าโซรอสเอง จึงควรโทษรัฐบาลอังกฤษ มากกว่าจะโทษโซรอส ซึ่งเล่นตามกติกาของระบบทุนนิยมโลก (กรณีนี้ฟังดูคุ้นๆ กับกรณีรัฐบาลไทยในปี 2540)

ไม่ว่าตัวตนที่แท้จริงของโซรอสจะเป็นอย่างไร แนวคิดแนววิเคราะห์ของเขา มีประเด็นที่น่าสนใจ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนดังระดับโลก เป็นมหาเศรษฐีที่อยากเป็นนักเขียน อยากเป็นปัญญาชนที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโลกเท่านั้น แต่เป็นเพราะว่านี่คือการวิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกจากคนที่รู้จักทุนนิยมโลกอย่างดีมาก และเป็นเพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิชาการของไทย หรือแตกต่างจากแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบบูชาระบบตลาดอย่างหลงใหล

แนวคิดของโซรอสที่น่าสนใจคือ การวิพากษ์เศรษฐศาสตร์, สังคมศาสตร์ และระบบทุนนิยมโลก ส่วนข้อเสนอแนะทางออกของเขาสู้การวิพากษ์ไม่ได้ เพราะมีลักษณะปฏิรูปจากข้างบนลงมา เพื่อปรับปรุงให้ระบบทุนนิยมโลก มีความทันสมัยและอยู่ได้ยั่งยืนขึ้น แนวคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของโซรอสในหนังสือเล่มนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นให้มีการคิดใหม่กันได้มากพอสมควร แม้แนวคิดหลายอย่างของเขา จะไม่ได้ใหม่มากนักสำหรับนักวิชาการกลุ่มก้าวหน้าของไทย ที่สนใจแนวคิดทางเลือกกระแสใหม่ ที่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสเก่าอยู่แล้ว แต่เราก็ยังเรียนรู้จากเขาได้ ถ้าอ่านงานของเขาอย่างวิพากษ์วิจารณ์

ขณะที่ผมได้หนังสือเล่มนี้มา ผมกำลังค้นคว้าหนังสือหลายเล่มเพื่อเขียนเรื่อง "เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ ทางแก้ไขวิกฤติได้อย่างยั่งยืน"อยู่ และคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีก หลายเดือน จึงจะแล้วเสร็จ จึงใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เขียนบทแนะนำ เชิงวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ออกมาก่อน เพื่อเป็นการเริ่มเปิดประเด็นวิพากษ ์เศรษฐศาสตร์แบบบูชาระบบตลาด และระบบคุณค่าที่วัดทุกอย่างด้วยเงิน ที่เป็นตัวการ สำคัญในการสร้างวิกฤติและหายนะให้สังคมไทย และสังคมโลกอยู่ในเวลานี้

วิทยากร เชียงกูล
ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
17 กุมภาพันธ์ 2542






โดย: วิกฤติระบบทุนนิยมโลก (สังคมเปิดกำลังจะสูญพันธุ์) (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:10:46 น.  

 
บทเกริ่นและคำนำ (ของจอร์ช โซรอส)

ผู้เขียนได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก KARL POPPER (นักปรัชญาและนักทฤษฎีสังคมชาวออสเตรเลีย ผู้สอนตรรกวิทยา และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน) ในเรื่องการคิดอย่างวิพากษ์วิจารณ์ และวิธีพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่เขาเห็นต่างจาก POPPER ว่าวิธีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์จะใช้ได้เฉพาะกับ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติเท่านั้น แต่ใช้ไม่ได้กับสังคมศาสตร์ เพราะว่าในสังคมศาสตร์ การคิดเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว ขณะที่ปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เกิดขึ้นอย่างอิสระจากการที่ใครจะคิดอย่างไร
ผู้เขียนได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง "ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ" (Reflexivity) กลไกในการตอบสนองแบบ 2 ทาง ระหว่างการคิดและความเป็นจริง ซึ่งเขาได้ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการจัดการเรื่องการลงทุนในตลาดการเงิน และต่อมาได้ใช้ส่วนหนึ่งของเงินที่เขาหาได้ ตั้งกองทุนเพื่อสังคมเปิด เพื่อช่วยให้คนจากประเทศปิด เช่นโซเวียสรุสเซีย และยุโรปตะวันออก พัฒนาวิธีการคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์และมีโอกาสได้รับการศึกษา และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากประเทศอื่นมากขึ้น

แนวคิดในการมองปัญหาอย่างวิพากษ์วิจารณ์ และการมีจิตสำนึกอย่างสร้างสังคมเปิดของเขา ได้รับอิทธิพลทั้งจาก POPPER และประสบการณ์ส่วนตัวของเขา ในฐานะของชาวยิวในฮังการี สมัยที่ถูกตามล้างผลาญจากลัทธิฟาสซิสม์ เขาได้พบในภายหลัง (จากการพยายามเข้าไปช่วยรุสเซียให้เป็นสังคมเปิด) ว่าสังคมเปิดไม่ได้ถูกคุกคามจากลัทธิเผด็จการเท่านั้น แต่ยังถูกคุกคามจากการที่สังคมขาดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการขาดรัฐบาลที่ดีด้วย

ประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง (เช่น สหรัฐและยุโรป) ได้รับผลประโยชน์จากการไปลงทุน ในประเทศทุนนิยมขอบนอก (ในเอเชีย ลาตินอเมริกา แอฟริกา) ตลอดมา ฯลฯ แม้ประเทศขอบนอกจะเคยเกิดปัญหาวิกฤติอย่างไร ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางก็ยังได้ประโยชน์อยู่ แต่จะถึงจุดหนึ่งที่วิกฤติในประเทศทุนนิยมขอบนอก ไม่ได้เป็นผลดีต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลางอีกต่อไป วิกฤติในเอเชียและรุสเซียในปัจจุบัน คือจุดนั้น โดยผู้เขียนมีเหตุผล 3 ข้อคือ

การล้มละลายของรุสเซีย ได้เปิดให้เห็นข้อบกพร่องในระบบการธนาคารระหว่างประเทศ ซึ่งดำเนินธุรกิจซื้อขายสวอป (ซื้อหรือขายทันทีและล่วงหน้า), ตราสารอนุพันธ์-เครื่องมือทางการเงินชนิดต่างๆ กับทั้งธนาคารด้วยกันและลูกค้าของพวกเขา โดยไม่แสดงรายการซื้อขายทั้งหมดให้เห็นในบัญชีงบดุล แต่จะแสดงเฉพาะที่มีการโอนเงินสดกัน เพื่อลดการเสี่ยงจากการที่ลูกค้าไม่ชำระหนี้ (DEFAULT) เมื่อระบบธนาคารในรุสเซียล้ม ทำให้ระบบธนาคารระหว่างประเทศสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง
วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศทุนนิยมบริวาร ทำให้บางประเทศเลือกที่จะออกจากระบบทุนนิยมโลก หรือตกหล่นอยู่ข้างทาง ประเทศแรกสุดคือ อินโดนีเซีย ต่อมาก็รุสเซีย ซึ่งเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างรุนแรง แต่ที่เป็นลางร้ายกว่า คือสิ่งที่มาเลเซียทำ และฮ่องกงในระดับหนึ่ง การทรุดฮวบของอินโดนีเซียและรุสเซียเป็นไปอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่มาเลเซียตั้งใจที่จะเลือกออกจากระบบทุนนิยมโลก (ด้วยการใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้าออกของเงินตรา) ถ้านโยบายของมาเลเซียดูดีเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นโยบายนี้ก็จะมีผู้อื่นๆ ตามอย่าง ซึ่งจะทำให้ประเทศอื่นๆ เปิดตลาดของตัวเองได้ยากลำบากมากขึ้น และส่งผลสะเทือนต่อระบบทุนนิยมโลก
ความไม่สามารถของกองทุนระหว่างประเทศ IMF ที่จะป้องกันหรือแก้ปัญหาการล่มสลายของระบบทุนนิยมโลกได้ โปรแกรมของ IMF ไม่ได้ผล และ IMF เองก็แทบไม่มีเงินเหลือให้ใครกู้ได้อีกแล้ว
ปัจจัยทั้ง 3 นี้ ทำให้เงินทุนไหลกลับจากประเทศทุนนิยมขอบนอก กลับไปประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง การไหลกลับของเงินได้แพร่ขยายไปถึงบราซิล เมื่อบราซิลเกิดวิกฤติ อาร์เจนตินาก็จะได้รับผลสะเทือนด้วย นักเศรษฐศาสตร์ต้องปรับตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกต่ำจากเดิม และผู้เขียนเชื่อว่าในที่สุดก็จะติดลบ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำลามไปถึงสหรัฐฯ ประชาชนอเมริกันจะซื้อสินค้าเข้าลดลง ทั้งๆ ที่การสั่งสินค้าเข้าของสหรัฐ เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ทุนไหลกลับไปประเทศอื่นๆ การหยุดชะงักของระบบการเงินของโลก จะตามมาด้วยการหยุดชะงักของการค้าของโลก

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องคิดใหม่และปฏิรูประบบทุนนิยมโลก เริ่มต้นด้วยการยอมรับว่า ตลาดการเงินของโลกนั้น มีความไม่มั่นคงโดยพื้นฐาน ความเชื่อของระบบทุนนิยมโลกที่ว่าตลาดการเงินจะเคลื่อนไหวไปสู่จุดสมดุล เหมือนกับการแกว่งของลูกตุ้มนั้น เป็นความเชื่อที่ผิดพลาด ตลาดการเงินของโลกในปัจจุบัน ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือการควบคุมของธนาคารกลางระดับชาติ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีอยู่ เราจำเป็นต้องมีระบบควบคุมดูแลระดับระหว่างประเทศ ที่คอยดูแลธนาคารกลางของประเทศต่างๆ เราจะต้องคิดถึงการปฏิรูประบบธนาคารระหว่างประเทศ และการทำงานของตลาดสวอป และตลาดตราสารอนุพันธ์ที่มั่นคงกว่าปัจจุบัน

ข้อโต้แย้งที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ ลัทธิบูชาระบบตลาดอย่างหลงใหล (MARKET FUNDAMENTALISM) เป็นอันตรายต่อสังคมเปิดในปัจจุบัน ยิ่งเสียกว่าอุดมการณ์อำนาจนิยมใดๆ การที่ลัทธิบูชาระบบตลาดอย่างหลงใหลเป็นอันตรายต่อสังคมเปิด ก็เนื่องจากมันตีความผิดพลาด ที่ว่า ระบบตลาดจะทำงานอย่างก้าวไปสู่จุดดุลยภาพเป็นประโยชน์กับคนทุกคน และเพราะว่ามันทำให้ระบบตลาดมีบทบาทในสังคมโลกมากเกินกว่าที่สมควรจะเป็น

ผู้เขียนวิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกใน 2 ประเด็นใหญ่คือ

ข้อบกพร่องของกลไกการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความไม่มั่นคงในตลาดการเงิน
จุดอ่อนของภาคที่ไม่ใช่การตลาด (Non Market Sector) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลวของระบบการเมือง และการสึกกร่อนของคุณค่าทางสังคม และคุณค่าศีลธรรม ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ
ผู้เขียนมองว่า มนุษย์เราตอบสนองต่อพลังทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในสิ่งแวดล้อมของเขา แตกต่างจากการตอบสนองของอนุภาคในทางฟิสิกส์ กล่าวคือ การรับรู้และทัศนคติขอมนุษย์เรานั้น สามารถเปลี่ยนแปลงพลังทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่มีอิทธิพลต่อพวกเขาด้วยพร้อมๆ กันไป

ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ 2 ทาง (Two Way Reflexive Interaction) ระหว่างการคาดหมายของผู้มีส่วนร่วมและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นประเด็นใจกลาง ในการที่เราจะเข้าใจปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม แนวคิดเรื่องปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ (Reflexivity) คือ แนวคิดสำคัญที่ผู้เขียนใช้ อธิบายความคิดของตนในหนังสือเล่มนี้



โดย: บทเกริ่นและคำนำ (ของจอร์ช โซรอส) (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:11:30 น.  

 
โอกาสที่จะผิดพลาดได้และปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ
(Fallibility and Reflexivity)

FALLIBILITY
คำว่า FALLIBILITY แปลว่า โอกาสที่จะผิดพลาดได้, ซึ่งย่อมผิดพลาดได้ ผู้เขียนเสนอแนวคิดนี้ในความหมายว่า ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่นั้น ไม่สมบูรณ์โดยรากเหง้า ความเข้าใจของเรามีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ ไม่มีใครรู้สัจธรรม โดยสมบูรณ์ เพราะว่าย่อมจะมีความต่างกันระหว่างความเป็นจริง และความเข้าใจของเรา เกี่ยวกับความจริงอยู่เสมอ

เมื่อผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ตีความความเป็นจริงตามการรับรู้ของเขา การตีความซึ่งเป็นอัตวิสัยนั้น ย่อมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคม การตีความที่มีอิทธิพลนั้นย่อมที่จะผิดพลาดได้ แต่คนชั้นนำที่มีอำนาจตัดสินใจทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง หรือแม้แต่นักวิชาการ มักไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ พวกเขามักคิดว่าเขารู้ข้อมูลทุกอย่าง และตัดสินใจถูกทุกอย่าง เพราะพวกเขามองว่าการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ สังคม ของพวกเขามีพื้นฐานทางวิชาการที่สมบูรณ์แบบ เหมือนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ

แต่เหตุการณ์ทางสังคมนั้นแตกต่างจากเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ดาวต่างๆ ย่อมโคจรไปตามทิศทางของมัน ไม่ว่าใครจะคิดหรือจะอธิบายอย่างไร การคิดนั้นไม่มีผลกระทบต่อปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ แต่สำหรับเหตุการณ์ทางสังคมนั้น มีผู้มีส่วนร่วมซึ่งการคิดของพวกเขามีผลกระทบต่อเหตุการณ์นั้นด้วย

การคิดของมนุษย์ผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทางสังคม มีบทบาท 2 ประการคือ เป็นทั้งการสะท้อนความจริงตามที่มนุษย์แสวงหาความเข้าใจ ขณะเดียวกันการคิดของพวกเขาก็เป็นส่วนที่มีบทบาทอย่างแข็งขัน ในการกำหนดเหตุการณ์ที่พวกเขามีส่วนร่วม

ความเข้าใจของผู้มีส่วนร่วมจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นความรู้อย่างเป็นภววิสัย หรืออย่างเป็นกลาง ไม่มีอคติ (Objective Knowledge) เมื่อการตัดสินใจของพวกเขาไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนความรู้ที่เป็นภววิสัย ผลที่เกิดขึ้นจึงย่อมต่างไปจากความคาดหมายของพวกเขาได้

REFLEXIBILITY

ดังนั้นผู้เขียนจึงเสนอกรอบคิดทฤษฎีในการมองเหตุการณ์ทางสังคม แบบปฏิสัมพันธ์ ที่ส่งผลสะท้อนกลับ – Reflexibility ซึ่งหมายถึงการตระหนักว่า ความคิดของเรานั้น มีอิทธิพลอย่างแข็งขัน ในเหตุการณ์ที่เรามีส่วนร่วมและในเรื่องที่เราคิด โดยเขาอธิบายว่า ในเหตุการณ์ทางสังคมซึ่งมีผู้มีส่วนร่วมที่มีความคิด (Thinking Participant) อยู่ด้วยนั้น มีการเชื่อมโยง 2 ทางคือ

ทางแรก ผู้มีส่วนร่วมแสวงหาการเข้าใจสถานการณ์ที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วม พวกเขาพยายามที่จะสร้างภาพ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งเป็นบทบาทของการรับรู้แบบราบเรียบ (Passive Cognitive Function)

ทางที่สอง คือ พวกเขาแสวงหาการเข้าไปมีอิทธิพลที่จะเปลี่ยนสภาพความเป็นจริง ให้เป็นไปอย่างที่เขาปราถนา ซึ่งเป็นบทบาทของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Active Participating Function)

เมื่อบทบาททั้ง 2 อย่างทำงานพร้อมกัน นี่คือสถานการณ์ที่ผู้เขียนเรียกว่า Flexibility – ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ

ผู้เขียนเสนอว่า หากเราเข้าใจเรื่องแนวคิดทฤษฎีปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เราก็จะเข้าใจได้ว่า การคาดหมายของคนเรานั้น สามารถมีบทบาทต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น จริงๆ ในอนาคตได้มาก เขายกตัวอย่างว่า การคาดหมายของนักลงทุนที่มีอิทธิพลต่างๆ ในตลาดการเงินว่า เงินตรา หุ้น หรือสินค้าโภคภัณฑ์ มีแนวโน้มที่จะขึ้นหรือลง มีบทบาทในการทำให้เหตุการณ์เป็นไปเช่นนั้นได้อยู่มาก กล่าวคือ เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นตามหลักการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานทางวิชาการอย่างเป็นภววิสัยเสมอไป แต่ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจากการคิดของคน มีบทบาทต่อเหตุการณ์อยู่มาก

ความจริงข้อนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ตลาดการเงินเท่านั้น แต่มันปรากฎอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมในทุกๆ เรื่อง และจริงๆ แล้วปฏิกิริยาสะท้อนกลับนี้เอง ที่เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง เหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่น การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส, คำปราศัยของครุสชอฟ ที่โจมตีลัทธิสตาลินนิสม์ ในการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต ครั้งที่ 20 ไม่ได้เพียงแต่เปลี่ยนแปลงโลกเท่านั้น แต่มันเปลี่ยน ความเข้าใจของเราต่อโลก และความเข้าใจใหม่อันนี้เอง ที่มีผลกระทบอันใหม่และ อย่างคาดไม่ถึงต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้านบวกของ FALLIBILITY

คนเราไม่ชอบยอมรับกรอบคิดทฤษฎี Fallibility – โอกาสที่จะผิดพลาดได้ เพราะนอกจากพวกเขาจะถูกครอบงำจากนักคิดตะวันตกของศตวรรษที่ 19 ที่ชูธงว่า สังคมศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์เชิงภววิสัย แบบเดียวกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแล้ว กรอบคิดทฤษฎีนี้ยังมีน้ำเสียงในทางลบอีกด้วย ผู้เขียนเสนอว่า Fallibility มีด้านบวก ซึ่งอาจจะให้แรงบันดาลใจมนุษย์เราได้อย่างไร

ผู้เขียนเห็นว่าอะไรก็ตามที่ไม่สมบูรณ์ ย่อมปรับปรุงแก้ไขได้ ความจริงที่ว่าความเข้าใจของเราไม่สมบูรณ์โดยรากเหง้านั้น ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะเรียนรู้ และปรับปรุงความเข้าใจของเรา สิ่งที่ต้องการคือ การเกิดความตระหนักว่า เรามีโอกาสที่จะผิดพลาดได้

การคิดเช่นนี้ จะเปิดทางให้เกิดความคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ (Critical Thinking) ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกับความเป็นจริงได้โดยไม่มีขีดจำกัด และทำให้เราสามารถปรับปรุงได้อย่างไม่มีขีดจำกัด ไม่เฉพาะในการคิดของเราเท่านั้น แต่ในการปรับปรุงสังคมของเราด้วย

ในทางตรงกันข้าม การเชื่อในความสมบูรณ์ถูกต้อง จะลวงตาเรา ไม่ว่าเราจะเลือกทางใด มันจะนำไปสู่ข้อบกพร่องได้ ดังนั้นเราจึงควรพอใจกับสิ่งที่ดีที่สุดที่เราสามารถทำได้ – รูปแบบขององค์กรทางสังคมที่ยังขาดความสมบูรณ์ แต่เปิดโอกาสให้มีการปรับปรุงพัฒนาได้ คือแนวคิดของ สังคมเปิด (Open Society) : สังคมที่เปิดให้มีการปรับปรุงได้ แนวคิดเรื่องสังคมเปิดวางอยู่บนพื้นฐานการยอมรับว่า คนเรามีโอกาสจะผิดพลาดได้


วิพากษ์วิชาเศรษฐศาสตร์

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เป็นทฤษฎีที่อ้างความเป็นวิทยาศาสตร์แบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติได้อย่างทำให้คนเชื่อได้มากที่สุด นักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสสิกได้รับแรงบันดาลใจจากทฤษฎีฟิสิกส์แบบนิวตัน พวกเขาสร้างทฤษฎีดุลยภาพ (Equilibrium) ของซัพพลาย (การสนองความต้องการ) และดีมานด์ (ความต้องการ) ในระบบตลาดเสรี ให้เป็นกฎที่เชื่อถือได้อย่างสากล ที่สามารถใช้ได้ทั้งในการอธิบาย และทำนายพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์
พวกเขาสร้างทฤษฎีดุลยภาพจากสมมติฐานว่า เมื่อผู้ขายรู้ว่าเขาเต็มใจที่จะเสนอขายสินค้าอย่างหนึ่งในปริมาณเท่าไหร่ ณ ที่ราคาไหน และผู้ซื้อรู้ว่าเขาเต็มใจที่จะเสนอซื้อสินค้าเดียวกันนั้นในปริมาณเท่าไหร่ ณ ที่ราคาไหน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ จุดสมดุลหรือจุดที่ราคาของผู้เสนอขายและผู้ต้องการซื้อมาตรงกันในตลาดเสรี แต่พวกเขาไม่ได้มองข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าผู้ซื้อหรือผู้ขายคาดหมายว่าราคาจะสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้ การคาดหมายนั้นย่อมเปลี่ยนความเต็มใจของผู้ซื้อและผู้ขายที่จะซื้อหรือขาย ในปริมาณที่ต่างออกไป จากจุดสมดุลของดีมานด์และซัพพลาย ตามที่ทฤษฎีอธิบายไว้ในตอนแรกได้

กรณีเช่นนี้ คือ สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในตลาดซื้อขายเงินตรา หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ตลอดเวลา และก็เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประเภทที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วด้วย (นั่นก็คือ ขึ้นอยู่กับการคาดหมาย, การเก็งกำไรของผู้ลงทุน) ทฤษฎีดุลยภาพจึงไม่ได้เป็นกฎสากลหรือเป็นวิทยาศาสตร์เชิงภววิสัย อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์อ้างว่าเป็นแต่อย่างใด การที่ราคาสินค้าสามารถถูกกำหนดโดยปัจจัยการเก็งกำไรแบบอัตวิสัย ก็คือการพิสูจน์ว่าทฤษฎีดุลยภาพนั้นไม่สมบูรณ์เพียงพอ ที่จะอธิบายความเป็นจริงของการตัดสินใจ ทางเศรษฐกิจของมนุษย์ได้

ทฤษฎีดุลยภาพ คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังสมมติฐานของนักเศรษฐศาสตร์ ที่อ้างว่ากลไกตลาดเสรีจะสามารถปรับตัวเองได้ นั่นก็คือสมมติฐานที่ว่า ถ้าปล่อยให้คนทุกคนมีเสรีภาพในการดูแลผลประโยชน์ของตัวเอง โดยที่รัฐบาลไม่ต้องแทรกแซงกำกับดูแล (ซึ่งจะทำให้กลไกตลาดบิดเบือน) ทุกคนก็จะทำในสิ่งที่มีเหตุผล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจส่วนร่วม และเศรษฐกิจของโลกจะสามารถเจริญรุ่งเรืองไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลจากรัฐบาลของโลก

สมมติฐานของทฤษฎีตลาดเสรีไม่ได้เป็นจริง เพราะการมุ่งหาประโยชน์ส่วนตัวของเอกชน ไม่ได้นำไปสู่ดุลยภาพและความเจริญรุ่งเรืองสำหรับสังคมส่วนรวม แต่กลับนำไปสูการพัฒนาที่ขาดความสมดุล การกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ความไร้เสถียรภาพของระบบการเงิน การตลาด และระบบเศรษฐกิจทั้งหมด การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและทำลายคุณค่าทางสังคม ของคนที่เคยเชื่อในเรื่องการทำอะไรเพื่อประโยชน์ร่วมกันของสังคม หันมาเน้นคุณค่าที่คำนึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่า ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนี้ ผู้เขียนคิดว่าชื่อที่เรียกว่า Laissez Faire (เปิดเสรีให้ทำได้ตามใจชอบ) ควรจะถูกเรียกว่า ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหล (Market Fundamentaism)

ความผิดพลาดอีกข้อหนึ่งของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบบูชาการตลาดอย่างหลงใหล คือ การให้ความสำคัญกับคุณค่าหรือราคาตามตลาด (Market Value) ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่วัดออกมาเป็นเงิน ว่าเป็นเพียงคุณค่าที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ นั่นก็คือ การให้ความสำคัญกับเฉพาะสินค้า และบริการที่คนพร้อมที่จะ ซื้อขายกันในตลาด และพวกเขาคิดว่าสิ่งนี้ (การวัดเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือรายได้ประชาชาติ) คือสิ่งที่ใช้วัดความเจริญเติบโต หรือการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เป็นเป้าหมายของประชาชนและสังคม

พวกนักเศรษฐศาสตร์ละเลย กิจกรรมและคุณค่าทั้งของเอกชนและสังคมจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถวัดออกมาเป็นราคา ตามตลาดได้ การถือเอาเรื่องราคาตลาดเป็นสำคัญ เป็นการบิดเบือนการตัดสินใจของมนุษย์ ในเรื่องที่ว่าเราควรจะจัดการสังคมกันอย่างไร ประชาชนควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณค่า การตัดสินใจของมนุษย์ ที่มีความกว้างขวาง ลึกซึ้ง มากกว่าที่จะใช้ราคาตลาดเป็นพื้นฐานในการตัดสินใจ

จริงๆ แล้วกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเพียงกิจกรรมส่วนหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งจำเป็นต้องมี กิจกรรมทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ควบคู่กันไป มนุษย์ไม่ได้้ต้องการเพียงแค่หาอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า ยา สินค้าและบริการที่จำเป็นต่างๆ เท่านั้น เรายังต้องการความรัก ความอบอุ่น ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยภายในครอบครัวและประชาคม

การตัดสินใจของมนุษย์ ก็ไม่ใช่การตัดสินใจที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจล้วนๆ แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อมจำนวนมาก เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง วัฒนธรรม คุณค่าของสังคมจำนวนมาก พฤติกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งในพฤติกรรมหลายอย่างของมนุษย์ และคุณค่าทางเศรษฐกิจ (วัดจากราคาตามตลาด) ก็เป็นเพียงคุณค่าหนึ่งในคุณค่าหลายอย่างของมนุษย์

แต่ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหล พยายามทำให้พฤติกรรมทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์ในปัจจุบัน และทำให้สังคมโลกเกิดปัญหาวิกฤติขึ้น

การเน้นเรื่องคุณค่าทางเศรษฐกิจทำให้มนุษย์ผู้มีส่วนร่วม มองตัวเองเป็นศูนย์กลางในการหากำไร (Profit Center) คือทุกคนพยายามหากำไรให้ตัวเองให้ได้มากที่สุด และละเลยการคิดคำนึงถึงคุณค่าด้านอื่นๆ ในชีวิตและสังคม คุณค่าที่มีส่วนเพิ่มคุณภาพชีวิต และทำให้สังคมพัฒนาได้อย่างยั่งยืนยาวนาน มากกว่าคุณค่าในการหากำไรของเอกชนแต่ละคน ดังนั้นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมพัฒนาแบบยั่งยืนได้

แทนที่เราจะมองคุณค่าในปัจจุบันเหมือนกับว่ามันมีอยู่แน่นอนตายตัวอยู่แล้ว เราควรจะมองคุณค่าเหล่านี้ ในลักษณะปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลสะท้อนกลับ (Reflexive) คือ การมองว่าคุณค่าต่างๆ ดำรงอยู่ในสถานการณ์ต่างๆ และมีกลไกแบบปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ 2 ทาง ที่เชื่อมโยงคุณค่ากับสถานการณ์ที่เป็นจริง และสร้างพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะ

เราต้องมองว่าคุณค่าเป็นสิ่งที่มีโอกาสผิดพลาดได้ (Fallible) นั่นหมายความว่า คุณค่าที่เรายึดถือกันอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอและไม่เหมาะสมได้

ผู้เขียนยืนยันจากประสบการณ์และการวิเคราะห์ของเขาว่า คุณค่าที่เน้นแต่เรื่องคุณค่าทางเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบัน เป็นคุณค่าที่ไม่เหมาะสม และไม่สามารถทำให้โลกพัฒนาอย่างยั่งยืน



โดย: โอกาสที่จะผิดพลาดได้และปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:12:13 น.  

 
ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับในตลาดการเงิน
(REFLEXIVITY IN FINANCIAL MARKET)

ผู้ลงทุนในตลาดการเงิน (การซื้อขายหุ้น เงินตรา สินค้าโภคภัณฑ์) ไม่อาจหลีกเลี่ยงการมีอคติ ในกระบวนการตัดสินใจของเขาได้ ที่ว่ามีอคติ ก็เนื่องมาจากเขาต้องใช้การตัดสินใจของตัวเขาเอง ที่จะประเมินราคาของหุ้นในอนาคต จากราคาตลาดในปัจจุบัน ที่เป็นผลมาจากการประเมินของผู้ลงทุนทุกคนร่วมกัน
ลักษณะที่สำคัญของอคติคือ มันไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างสงบเงียบ โดยบริสุทธิ์ หากแต่มันมีอิทธิพลอย่างแข็งขันต่อเหตุการณ์ซึ่งมันควรจะเป็นเพียงผู้สะท้อนด้วย

ในกรณีของตลาดการเงิน จุดดุลยภาพในทางเศรษฐศาสตร์ คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างทัศนะของผู้ลงทุนกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่เขาจะลงทุน (รายรับ, งบดุล, อัตราเงินปันผลของบริษัท) หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างการคาดหมายกับผลที่ออกมาจริง จุดดุลยภาพในตลาดการเงินไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่เป็นไปได้ว่าแนวโน้มของราคาหลักทรัพย์ในแต่ละช่วงนั้น กำลังเดินเข้าไปใกล้จุดดุลยภาพหรือเดินห่างออกไป)

แต่ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่มีความหมาย คือปัจจัยพื้นฐานของบริษัทในอนาคตซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ต้องใช้การคาดการณ์เอา ประเด็นสำคัญคือ อนาคตเมื่อมันเกิดขึ้นจริงๆ นั้น จะเกิดขึ้นโดยอิทธิพลของการคาดการณ์ที่มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว การคาดการณ์ในเรื่องราคาหุ้นและตัวราคาหุ้น ต่างก็ศ่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทด้วยกันทั้งคู่ เป็นปฏิสัมพันธ์สะท้อนกลับของกันและกัน ไม่ใช่ว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นตัวกำหนดราคาฝ่ายเดียว

บริษัทสามารถเพิ่มทุนได้โดยการขายหุ้นเพิ่มทุน ราคาหุ้นเพิ่มทุนที่เขาขาย ย่อมจะมีอิทธิพลต่ออัตราส่วนของรายได้ต่อหุ้น ราคาหุ้นยังมีอิทธิพลต่อเงื่อนไขที่บริษัทสามารถกู้ได้ บริษัทยังสามารถสร้างแรงจูงใจ การบริหารของตน ด้วยการออกขายออฟชั่น (สิทธิในการจะซื้อ หรือขายหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนด และราคาที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า) นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีอื่นๆ ที่ภาพพจน์ชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งสะท้อนโดยราคาหุ้น สามารถมีอิทธิพลต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทได้

เมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้น ก็หมายถึงการเกิดขึ้นของปฏิสัมพันธ์ที่ส่งผลสะท้อนกลับแบบสองทาง และทฤษฎีดุลยภาพของเศรษฐศาสตร์แบบบูชาตลาดกลายเป็นแนวคิดที่หลอกลวง เพราะว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเลิกเป็นตัวผันแปรอิสระ ซึ่งราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวสอดคล้องตามอีกต่อไป ดุลยภาพกลายเป็นเป้าเคลื่อนที่ และปฏิสัมพันธ์แบบส่งสะท้อนกลับจะยิ่งทำให้มันหลงทางมากขึ้น เพราะว่าการเคลื่อนไหวของราคาอาจยิ่งผลักดันให้ปัจจัยพื้นฐานเคลื่อนไหวไปในทางเดียวกับราคาหุ้นก็ได้

อนาคตที่ผู้ลงทุนสนใจจริงๆ ก็คือ อนาคตของราคาหุ้น ไม่ใช่อนาคตของปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจะมีความสำคัญก็ต่อเมื่อมันมีอิทธิพลต่อราคาหุ้น แต่เมื่อราคาหุ้นกลับเป็นฝ่ายมีอิทธิพลต่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัท กระบวนการเพิ่มกำลังด้วยตัวของตัวเองก็จะเริ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ทั้งปัจจัยพื้นฐานของบริษัทและราคาหุ้น ก้าวไปไกลจากจุดดุลยภาพปรกติ

นี่คือพฤติกรรมแบบตามกระแส (เก็งกำไร) ซึ่งห่างไกลจากจุดดุลยภาพ และในที่สุดความแตกต่างกันระหว่างภาพพจน์กับความเป็นจริง, การคาดหมายและผลที่ออกมาจริง จะไปถึงจุดที่ไม่อาจจะอยู่ยั่งยืนต่อไปได้ (ราคาหุ้นไม่อาจขึ้นสูงไปกว่านี้ได้) และกระบวนการก็จะพลิกกลับ (จากภาวะราคาหุ้นสูง กลับเป็นภาวะราคาหุ้นต่ำ และจะเกิดภาวะผันผวนเช่นนี้ เป็นช่วงๆ หรือเป็นวัฏจักร)

ดังนั้นตลาดการเงิน เช่น ตลาดหุ้น จึงอยู่ในภาวะผันผวนไร้เสถียรภาพ ปัญหาการไร้เสถียรภาพในตลาดการเงินปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่ นักลงทุนเชื่อในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทน้อยลง และมีพฤติกรรมแบบคอยตามกระแส (การเก็งกำไร) มากขึ้น

สภาพการณ์เช่นนี้ ได้รับการหล่อเลี้ยงโดยนักลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งถูกประเมินผลงานจากการทำกำไรสุทธิในเชิงเปรียบเทียบของพวกเขา มากกว่าความสามารถในการทำกำไรในระยะยาว และจากธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจซื้อขายแทนคนอื่นแบบมีอิทธิพล (Market Maker) ทั้งในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราและตลาดเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ

กองทุนรวม บริษัทนายหน้า และธนาคาร เหล่านี้ เป็นผู้ได้ประโยชน์จากภาวะผันผวนในตลาดเงิน ทั้งในฐานะผู้ตัดสินใจซื้อขายแทนคนอื่น และในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ และผู้ขายการรับประกันความเสี่ยงให้นักลงทุน เนื่องจากตลาดการเงินจะต้องพัฒนาต่อไปในระยะยาว การไร้เสถียรภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างเรื้อรังจึงเป็นอันตรายที่ไม่ควรจะดูเบา



โดย: ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับในตลาดการเงิน (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:12:49 น.  

 
ระบบทุนนิยมโลก

ผู้เขียนวิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกใน 2 ประเด็นใหญ่คือ
ข้อบกพร่องของกลไกตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดในความไร้เสถียรภาพของตลาดการเงินระหว่างประเทศ
จุดอ่อนของภาคสังคมที่ไม่เกี่ยวกับการตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดคือ ความล้มเหลวของการเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ
จักรวรรดิที่เป็นนามธรรม

สิ่งที่เรียกว่าระบบทุนนิยมโลก อาจจะดูเหมือนกับเป็นระบบจักรวรรดิที่เป็นนามธรรม มากกว่าจักรวรรดิที่เห็นได้ชัดแบบในอดีต แต่มันมีอิทธิพลต่อชีวิตของคนทั่วทั้งโลกมากกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือ ระบบทุนนิยมโลกมุ่งขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ต่างไปจากจักรพรรดิ เช่น พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชหรืออัตติลา ชาวฮั่น การขยายตัวของมันมุ่งไปในทางการมีอิทธิพลครอบงำชีวิตประชาชน มากกว่าการขยายดินแดนทางภูมิศาสตร์

ระบบปกครองที่ไม่สมบูรณ์

ทุนนิยมการค้าของโลกเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกได้เข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นระบบเศรษฐกิจโลกจริงๆ ก็หลังจากที่ทุน ข้อมูลข่าวสาร และการประกอบการ สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เหมือนไม่มีพรมแดน เมื่อสักราว 20 ปีที่แล้วนี้เอง

การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก เป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติและตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะยังคงมีอำนาจอธิปไตยในการเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจในประเทศของตน แต่รัฐบาลก็ต้องขึ้นอยู่กับพลังของการแข่งขันในระบบทุนนิยมโลก ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุน ถ้ารัฐบาลไหนกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อเงินทุน เงินทุนก็จะหนีไปประเทศอื่น ถ้ารัฐบาลไหนให้แรงจูงใจแก่การลงทุน หรือรักษาค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ เงินทุนก็จะไหลเข้าประเทศ

ทุนนิยมกับประชาธิปไตย

ความเชื่อที่ว่าระบบทุนนิยมจะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมืองไปด้วยนั้น เป็นความจริงเฉพาะในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง แต่ไม่เป็นจริงสำหรับประเทศพัฒนาทุนนิยมขอบนอก ที่พัฒนาทุนนิยมขึ้นมาทีหลัง การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมต้องการการสะสมทุน ดังนั้นจึงต้องการค่าจ้างต่ำ และอัตราการออมสูง ซึ่งรัฐบาลเผด็จการอาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ อย่างในเอเชีย รัฐบาลส่วนใหญ่ก็เข้าข้างนักธุรกิจ และช่วยพวกเขาสะสมทุน

แม้ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเอง ทุนนิยมและประชาธิปไตยก็มีหลักการที่แตกต่างกัน ทุนนิยมเน้นความมั่งคั่ง ขณะที่ประชาธิปไตยเน้นอำนาจทางการเมือง หน่วยวัดในระบบทุนนิยมคือเงิน หน่วยวัดในประชาธิปไตยคือสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ทุนนิยมรับใช้ประโยชน์ส่วนตัว ประชาธิปไตยรับใช้ประโยชน์ส่วนรวม ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางมีความแตกต่างขัดแย้งสูง และระบบรัฐสวัสดิการ (ซึ่งทำให้ทุนนิยมมีอายุยืนยาวกว่าที่คาร์ลมาร์กซ์ทำนายไว้) ในปัจจุบันก็เริ่มลดลง เพราะเงินทุนสามารถโยกย้ายหนีภาษีและการจ้างงานที่มีเงื่อนไขมากไปสู่ประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น

ระบบรัฐสวัสดิการที่ลดลงในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ และผลกระทบทั้งหมดของมันยังไม่ปรากฏให้รู้สึกได้ทั้งหมด ที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนของเศรษฐกิจภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นสูง นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เริ่มมีอัตราลดลงนับจากปี 2523 แม้จะลดลงไม่มากนัก แต่ภาษีที่เก็บจากทุนและการจ้างงานมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ภาษีจากการบริโภคมีสัดส่วนสูงขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภาระของภาษีย้ายจากเจ้าของเงินทุนไปสู่ประชาชนมากขึ้น

บทบาทของเงิน

เงินมีบทบาท 3 อย่างคือ เป็นหน่วยวัดทางบัญชี, เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเป็นที่สะสมมูลค่า นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกตีความว่า เงินเป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมาย (Means to an End) เงินไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวเอง เงินสะท้อนมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (Exchange Value) ไม่ใช่มูลค่าแท้จริงที่อยู่ภายในตัวมัน (Intrinsic Value) นั่นก็คือ มูลค่าของเงินขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าและบริการ ที่เงินสามารถแลกเปลี่ยนได้ (เงินไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง แต่เพราะคนยอมรับให้มันเป็นเงิน)

ในสังคมทุนนิยม ซึ่งเน้นการแข่งขัน และการวัดความสำเร็จด้วยความมั่งคั่งคิดเป็นตัวเงิน มูลค่าในการแลกเปลี่ยนของเงินได้เข้ามาแทนที่มูลค่าภายในของตัวเงิน เมื่อเงินสามารถซื้อเกือบทุกสิ่งได้ ทุกคนก็ต้องการเงิน เงินกลายเป็นอำนาจ และอำนาจก็คือจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง คนยิ่งมีเงินมาก ก็ยิ่งมีอำนาจมาก

การที่ระบบทุนนิยมโลกเน้นการแสวงหากำไรสูงสุด ทำให้ละเลยจุดมุ่งหมายด้านอื่นของสังคม เช่น การเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสังคมส่วนรวมมากกว่ากรณีบริษัทได้กำไรสูงสุด การแข่งกันหากำไร ทำให้เกิดการรวมบริษัท การลดขนาด และการย้ายโรงงานไปต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานที่เรื้อรังในยุโรป

ระบบทุนนิยมโลกยังประสบความสำเร็จอย่างวิปริต ในการแผ่อิทธิพลทางอุดมการณ์เข้าไปในอาณาบริเวณที่คุณค่าอย่างอื่น นอกจากคุณค่าที่คิดเป็นตัวเงินเคยครอบครองอยู่ คือในวัฒนธรรมและในอาชีพบางอาชีพ ซึ่งคนเคยยึดคุณค่าของวิชาชีพ (เช่น แพทย์ ครู) มากกว่าคุณค่าที่คิดเป็นตัวเงิน ระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันแตกต่างจากทุนนิยมสมัยก่อนตรงที่เงินมีบทบาทเป็นมูลค่าภายในตัวของมันเอง (Intricsic Value) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับว่าก่อนนี้เงินเคยมีบทบาทแค่เป็นมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น ปัจจุบันเงินได้กลายเป็นผู้ปกครองชีวิตของคน ที่ยิ่งใหญ่กว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

เครดิตในฐานะของที่มาแห่งความไม่มั่งคง

เงินเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องเครดิต (สินเชื่อ) อย่างใกล้ชิด แต่คนเรายังเข้าใจบทบาทของเครดิตน้อยกว่าบทบาทของเงิน เครดิตมักจะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่ผู้ขอกู้นำมาจำนอง หรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอกู้มีเครดิต มูลค่าของหลักทรัพย์ที่จำนองหรือเครดิตของผู้กู้เป็นปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เพราะการมีเครดิตมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้ให้กู้ และมูลค่าของหลักทรัพย์จำนอง (ที่นิยมมากที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์) ก็ได้รับอิทธิพลจากความจริงที่ว่า ในระบบเศรษฐกิจขณะนั้นมีเครดิตหรือสินเชื่อ ที่จะปล่อยกู้ได้มากแค่ไหนด้วย

เครดิตของประเทศผู้ขอกู้ มักจะถูกวัดโดยสถิติบางตัว เช่นอัตราส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์สุทธิประชาชาติ, อัตราส่วนการชำระหนี้ต่อการส่งออก ฯลฯ มาตรวัดเหล่านี้เป็นปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เพราะความมั่งคั่งของประเทศผู้ขอกู้มักจะขึ้นต่อความสามารถในการกู้จากต่างประเทศได้มาก ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ 2 ทางนี้ มักถูกมองข้าม ดังนั้นจึงเกิดการปล่อยกู้ระหว่างประเทศกันอย่างขนานใหญ่ ชนิดเกินความพอดีในทศวรรษ 2510 หลังจากเกิดวิกฤติหนี้สินในปี 2525 ก็เชื่อกันว่าผู้ให้กู้คงจะระมัดระวังมากขึ้น คงไม่มีการปล่อยเงินกู้กันมากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤติเหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้วอีก แต่สิ่งนี้ก็กลับเกิดขึ้นอีกครั้งที่เม็กซิโกในปี 2537 และอีกครั้งที่ประเทศไทยและประเทศในเอเชียอีกหลายประเทศในปี 2540

เครดิตระหว่างประเทศมีลักษณะที่ไม่มั่นคงมากกว่าเครดิตภายในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบควบคุมจากธนาคารกลางที่ดีกว่า ดังเราจะเห็นได้ว่ามีปัญหาวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะๆ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีอยู่ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ที่จะควบคุมดูแลได้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับธนาคารกลางในแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการกู้ยืมในประเทศของตน องค์กรระหว่างประเทศและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อาจจะร่วมมือกันบ้าง เวลาเกิดวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศ แต่เป็นการตามแก้ปัญหาภายหลังจากเกิดวิกฤติแล้ว มากกว่าที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งต่อไป

ความไม่สมมาตร ความไม่มั่นคง และการร่วมมือกัน

เวลาเกิดวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศ เจ้าหนี้จากประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง (ด้วยความช่วยเหลือของ IMF ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่) มักเป็นฝ่ายได้เปรียบลูกหนี้จากประเทศทุนนิยมขอบนอกค่อนข้างมาก เจ้าหนี้อาจจะให้กู้ต่อ, ยืดอายุหนี้หรือแม้แต่ลดหนี้ แต่พวกเขาไม่เคยตัดหนี้สูญให้ลูกหนี้ บ่อยครั้งที่พวกเขาสามารถชักจูงรัฐบาลประเทศลูกหนี้ ให้เป็นฝ่ายรับผิดชอบต่อหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ (เช่น ที่ชิลีในปี 2525 เม็กซิโกปี 2537 เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทยในปี 2540) แม้ว่าพวกเจ้าหนี้อาจจะต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น แต่ในที่สุดแล้ว พวกเขามักจะได้รับการชำระคืนจากหนี้เลวเป็นสัดส่วนสูงพอสมควร ถึงกรณีที่ประเทศลูกหนี้อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่พวกเขาก็จะถูกบีบให้ต้องชำระหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาระการถูกบีบบังคับให้ต้องชำระหนี้เช่นนี้ มักทำให้เศรษฐกิจประเทศลูกหนี้ต้องตกต่ำไปหลายปี

การที่เจ้าหนี้เงินกู้ระหว่างประเทศได้รับประกันความเสียหายจากระบบทุนนิยมโลกค่อนข้างมาก เป็นตัวการสร้างการเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ต้องรับผิดชอบ (Moral Hazard) เนื่องจากความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ระหว่างประเทศ มีไม่มากพอที่จะยับยั้งให้เจ้าหนี้ต้องระมัดระวังในการปล่อยเงินกู้ ความไม่สมมาตรในลักษณะนี้เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่มั่นคงของการกู้ยืมระหว่างประเทศ

วิกฤติทางการเงินทุกครั้ง มักจะเริ่มต้นด้วยการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่จีรังยั่งยืน ถ้าหากมีเงินสำหรับให้กู้อยู่มากมาย ย่อมเป็นการยากที่จะคาดหมายให้ผู้ขอกู้ต้องยับยั้งชั่งใจตนเอง ถ้าหากภาครัฐบาลเป็นผู้กู้ คนที่จะใช้หนี้คือรัฐบาลชุดต่อไป รัฐบาลจึงนิยมกู้เงินเพื่อมาทดแทนการบริหารที่ไม่ได้เรื่องของตน แต่ไม่ใช่ภาครัฐบาลเท่านั้นที่ไม่สนใจจะควบคุมตนเองไม่ให้กู้มากเกินไป ภาคเอกชนก็มักไม่สนใจควบคุมตนเองเช่นกัน โดยที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลทางการเงินของรัฐบาลเช่น ธนาคารกลางมักไม่ตระหนักว่าประเทศของตน มีการกู้หนี้ระหว่างประเทศมากเกินไป จนกว่ามันจะสายไปเสียแล้ว นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชียในวิกฤติปี 2540

ความไม่สมมาตรอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เงินตราสกุลที่เป็นที่ยอมรับในการซื้อขายระหว่างประเทศ เป็นของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ประเทศ และการเงินของประเทศเหล่านี้ถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐบาลภายในประเทศนั้น มากกว่าเพื่อประโยชน์ของการเงินระหว่างประเทศ ประเทศทุนนิยมขอบนอกจึงควบคุมชะตากรรมของตนได้น้อยมาก วิกฤติหนี้ระหว่างประเทศในปี 2525 เกิดขึ้นเพราะสหรัฐฯเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ขณะที่วิกฤติของเอเชียในปี 2540 ก็เริ่มมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น

ความไม่สมมาตร 2 ประการที่กล่าวมา เป็นสาเหตุใหญ่ แม้จะไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความไม่มั่นคงของระบบการเงินของโลก

ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหล
(MARKET FUNDAMENTALISM)

ระบบทุนนิยมโลกได้รับการสนับสนุนจากอุดมการณ์ที่มีรากมาจากทฤษฎีการแข่งขันสมบูรณ์ ทฤษฎีนี้อ้างว่าตลาดมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายไปสู่จุดดุลยภาพเสมอ และจุดดุลยภาพสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทฤษฎีนี้เชื่อว่าไม่ควรมีการแทรกแซงใดๆ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของกลไกตลาดเสียไป อุดมการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า LAISSES FAIRE "เปิดเสรีให้ทำอะไรได้ตามใจชอบ" แต่ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเรียกว่า MARKET FUNDAMENTALISM – ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหล มากกว่า

คำว่า FUNDAMENTALISM หมายถึง ความเชื่อที่อาจจะนำไปสู่ความสุดขั้วได้ง่าย มันคือความเชื่อในเรื่องความสมบูรณ์ ความเชื่อในเรื่องความจริงแท้ ความเชื่อว่าปัญหาทุกปัญหาต้องมีทางแก้ไข มันสะท้อนถึงสิทธิอำนาจ (AUTHORITY) ที่อ้างถึงความรู้ที่สมบูรณ์ แม้ว่าความรู้นั้นมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้

พระเจ้าคือสิทธิอำนาจเช่นนั้น และในโลกยุคใหม่ วิทยาศาสตร์ก็คือสิ่งทดแทนที่เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งลัทธิการบูชาการตลาดและมาร์กซิสม์ ต่างอ้างว่าทฤษฎีของตนมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เพราะอุดมการณ์ทั้งสองนี้พัฒนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในยุคที่การตื่นตัวในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ยังทำให้คนเชื่อว่า เราสามารถจะค้นหาสัจธรรมที่สมบูรณ์ได้

ปัจจุบันเราได้เรียนรู้อย่างมากถึงข้อจำกัดของวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ และความไม่สมบูรณ์ของกลไกตลาด ทั้งอุดมการณ์บูชาการตลาดอย่างหลงไหลและมาร์กซิสม์ ต่างถูกลดความเชื่อถือด้วยกันทั้งคู่ อย่างแรก หลังจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 2470 และการแทนที่โดยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ อย่างหลังโดยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ลัทธิบูชาการตลาดอยางหลงใหลก็กลับฟื้นคืนชีพได้ในภายหลัง ด้วยความเชื่อของคนมากกว่าพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

[ แนวความคิดเศรษฐศาสตร์ของจอห์น เมยนาร์ดเคนส์ (1883-1946) ผู้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการว่างงานเศรษฐกิจตกต่ำ ที่แย้งกับนักเศรษฐศาสตร์แบบเก่า เขาเสนอว่าแทนที่จะลดค่าจ้าง เพื่อให้นักธุรกิจมีแรงจูงใจที่จะลงทุน คนจะได้มีงานทำมากขึ้นตามทฤษฎีตลาด รัฐควรแทรกแซงด้วยการเพิ่มอุปสงค์การลงทุน สร้างสาธารณูปโภค และก่อให้เกิดจ้างงานเพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ]




โดย: ระบบทุนนิยมโลก (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:13:28 น.  

 
ชัยชนะของทุนนิยม

ตลาดการเงินของโลกขยายตัวใหญ่กว่าตลาดการค้าหลายร้อยเท่า ผู้จัดการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดจากราคาหุ้น มากกว่ามุ่งขยายส่วนแบ่งในตลาด การควบและเข้าซื้อกิจการขยายตัวในอัตราสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การผูกขาดและกึ่งผูกขาดระดับโลกกำลังปรากฎตัวขึ้น ขณะนี้มีบริษัทตรวจสอบบัญชี (AUDITING FIRMS) ระดับโลกเหลือเพียง 4 บริษัท วงการธนาคารและธุรกิจการเงินก็มีแนวโน้มจะควบกิจการกันมากขึ้น ไมโครซอฟท์และอินเทลเกือบจะกลายเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจคอมพิวเตอร์ของโลกอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ก็เพิ่มขึ้น และสัดส่วนของการมีหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในครัวเรือนก็มีมากขึ้น การขยายตัวของการเป็นเจ้าของหุ้นในกองทุนรวมต่างๆ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา 2 ประเด็นคือ

ผลจากความร่ำรวยของกำไรจากการถือหุ้น ทำให้มีการบริโภคมากขึ้น และการออมของประชาชนอเมริกันลดลง ดังนั้นถ้าราคาหุ้นเกิดตกต่ำ ความรู้สึกจะเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม นำไปสู่เศรษฐกิจชะลอตัว และซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นยิ่งตกมากยิ่งขึ้น
ความไม่มั่นคงที่เกิดจากการที่ผู้จัดการกองทุนรวม ถูกประเมินผลจากความสามารถในการทำกำไรในเชิงเปรียบเทียบระยะสั้น มากกว่าจากการทำกำไรสุทธิในระยะยาว ดังนั้นพวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนแบบตามกระแสการเก็งกำไร มากกว่าที่จะลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และมักจะทุ่มตัวลงแบบสุดๆ เพื่อมุ่งหวังทำกำไรสูงสุด โดยเก็บเงินสดสำรองไว้น้อยมาก ถ้าหากกระแสราคาหุ้นเปลี่ยนกลับเป็นขาลง พวกเขาจะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ขายหุ้นเพื่อมีเงินสดสำรอง ซึ่งยิ่งเป็นการกดดันให้หุ้นราคาดิ่งลงไปอีก
ทุนนิยมโลกรูปแบบใหม่ที่รุนแรงกว่าเก่า กำลังมุ่งทำลายโมเดลการบริหารแบบเอเชีย หรือแบบขงจื๊อ ที่ให้คุณค่าในเรื่องครอบครัว (รวมทั้งการดูแลพนักงานเหมือนสมาชิกในครอบครัว) วิกฤติปัจจุบันบีบบังคับให้ธุรกิจแบบครอบครัวของเอเชีย ต้องเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ และทำให้ธุรกิจของประเทศในเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกอย่างแนบแน่นมากขึ้น ธนาคารระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติจะเข้าไปมีฐานที่มั่นในเอเชียมากขึ้น ผู้บริหารรุ่นใหม่จะเป็นคนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตก ที่จะมีแรงจูงใจมุ่งทำกำไรสูงสุดให้บริษัท มากกว่าจริยธรรมแบบขงจื๊อ และความภาคภูมิใจในชาติของตน

ดังนั้นถ้าระบบทุนนิยมโลกสามารถก้าวผ่านวิกฤติระลอกนี้ได้ เศรษฐกิจโลกจะถูกครอบงำโดยบริษัทข้ามชาติมากยิ่งขึ้น การแข่งขันอย่างรุนแรงจะยิ่งทำให้พวกเขามุ่งแสวงหากำไรเอกชน โดยไม่สนใจต่อผลกระทบทางสังคม บางบริษัทอาจจะต้องสร้างภาพพจน์ในเรื่องที่ประชาชนสนใจ เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้าง แต่พวกเขาจะไม่ยอมลดกำไรลงมาเพียงเพื่อจะช่วยให้ประชาชนในเอเชียมีงานทำเพิ่มขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า ระบบทุนนิยมโลกจะไม่สามารถผ่านการทดสอบวิกฤติระลอกนี้ได้ การตกต่ำทางเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุดในประเทศทุนนิยมขอบนอก และมันไม่สามารถจะฟื้นตัวได้โดยไม่ผ่านความเจ็บปวดอย่างมากมาย จะต้องมีการปฏิรูปการจัดองค์กร ธนาคาร และบริษัทต่างๆ เสียใหม่ จะต้องมีการลดการจ้างคนลงอีกมาก การเมืองก็จะต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสรีประชาธิปไตยขึ้น แต่ปัญหาวิกฤติขนาดหนัก อาจจะยิ่งทำให้การเมืองพลิกกลับไปในขั้วตรงข้าม คือขั้วของเผด็จการอำนาจนิยมก็ได้

สิ่งที่เป็นตัวตัดสินคือ จะเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้น ปัญหาวิกฤติในประเทศทุนนิยมขอบนอก กลับเป็นประโยชน์ต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง วิกฤติในเอเชียทำให้ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางลดความกดดันเรื่องภาวะเงินเฟ้อ, ทำให้ทางการไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจุดสูงสุดใหม่

แต่ผลในทางบวกของวิกฤติเอเชียต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลางกำลังหมดไป และผลทางลบเริ่มจะปรากฎให้เห็น กำไรของบริษัทในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเริ่มลดลง เนื่องจากมีดีมานด์ซื้อสินค้าลดลง และมีการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศมากขึ้น ธุรกิจภาคบริการ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแข่งขันระหว่างประเทศ ก็เจอปัญหาต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้น

ตลาดหุ้นในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว ถ้าตลาดเริ่มเป็นขาลงเมื่อไรแล้ว ผลจากความมั่งคั่งที่ผู้ถือหุ้นเคยชิน ก็จะแปรให้การตกต่ำของตลาดหุ้น กลายเป็นการตกต่ำของระบบเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดการต่อต้านการสั่งสินค้าเข้า ซึ่งจะเป็นการสาดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าใส่ประเทศทุนนิยมขอบนอก ผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง

แล้วระบบทุนนิยมโลกจะไปทางไหน 2 ฉากข้างต้น ผู้เขียนเชื่อว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างหลัง คือวิกฤติเพิ่มขึ้นมากกว่าอย่างแรก ถึงอย่างไรระบบทุนนิยมโลกก็จะต้องถึงวาระล่มสลาย เพราะข้อบกพร่องในตัวของมันเอง ถ้าไม่ใช่วิกฤติระลอกนี้ ก็คงในวิกฤติระลอกต่อไป นอกเสียจากว่า เราจะตระหนักถึงข้อบกพร่องของมัน และลงมือแก้ไขได้ทันกับสถานการณ์


วิกฤติการเงินของโลก



โดย: ชัยชนะของทุนนิยม (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:14:00 น.  

 
วิกฤติการเงินของโลก

วิกฤติเอเชีย
วิกฤติทางการเงินซึ่งเริ่มเกิดขึ้นที่ประเทศไทยในปี 2540 เป็นเรื่องที่น่าหวาดผวา เพราะขอบเขตความรุนแรงของมัน กลุ่มผู้บริหารกองทุนรวม SOROS FUND MANAGEMENT เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ ต่างมองเห็นแนวโน้มว่าจะวิกฤติระลอกนี้อยู่ แต่ขอบเขตของการเคลื่อนไหวของมัน เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายของทุกคน

สาเหตุที่ใกล้ที่สุดของปัญหาวิกฤติเอเชียคือ การที่ประเทศเอเชียผูกพันค่าเงินของตนกับดอลลาร์สหรัฐ สภาพที่ดูเหมือนมั่นคงของเงินสกุลดอลลาร์ กระตุ้นให้ธนาคารและธุรกิจในเอเชียกู้เงินเป็นดอลลาร์ และแลกเป็นเงินสกุลตนโดยไม่ได้ซื้อประกันความเสี่ยง (จากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน) แล้วธนาคารก็เอาเงินนั้นไปให้กู้ยืมต่อ หรือลงทุนในโครงการต่างๆ ในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การทำเช่นนี้ เป็นการหากำไรที่ดูไม่เสี่ยงอะไร ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลท้องถิ่นกับดอลลาร์ยังคงที่อยู่

แต่การดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้ถูกกดดัน ส่วนหนึ่งจากการที่จีนคงค่าเงินหยวนไว้ต่ำเกินไปในปี 2539 และส่วนหนึ่งมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น ดุลการค้าของประเทศที่เกี่ยวข้องติดลบมากขึ้นตามลำดับ แต่การขาดดุลการค้าก็ถูกชดเชยได้ในตอนแรก จากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ

ตั้งแต่ตอนต้นปี 2540 พวกเราที่กองทุนรวม SOROS FUND MANAGEMENT เห็นชัดแล้วว่า ความแตกต่างระหว่างดุลการค้ากับดุลเงินทุน ไม่สามารถจะยืนยงต่อไปได้ เราทำสัญญาขายเงินบาทและเงินริงกิตของมาเลเซียแบบล่วงหน้า โดยที่เรายังไม่มีเงินสกุลทั้ง 2 อยู่ในมือ (SELL SHORT) ตั้งแต่ต้นปี 2540 สัญญาที่จะส่งมอบเงินบาทและเงินริงกิตมาเลเซียมีอายุล่วงหน้าตั้งแต่ 6 เดือนถึง 1 ปี หลังจากเกิดวิกฤติแล้ว นายกรัฐมนตรีมหาเธร์แห่งมาเลเซีย มากล่าวหาผู้เขียนว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดวิกฤติเอเชีย ซึ่งไม่เป็นความจริง เราไม่ได้ขายเงินสกุลของเอเชียในระหว่างวิกฤติหรือหลายเดือนก่อนวิกฤติ ในทางตรงกันข้าม เราเป็นผู้เข้าไปซื้อเงินเหล่านั้นเมื่อค่าของเงินเริ่มตก เราเข้าไปซื้อเงินริงกิตเพื่อทำกำไรจากการที่เราเก็งกำไรทำสัญญาแบบ SHORT ไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ

การที่เราเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ว่าสถานการณ์การเป็นหนี้และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากเกินไปของเอเชีย ไม่สามารถจะยืนยงได้อีกต่อไป ก็แสดงว่าผู้ลงทุนในตลาดการเงินอื่นๆ ก็ต้องเห็นเช่นเดียวกัน แต่วิกฤติก็ไม่ได้เกิดขึ้นจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2540 เมื่อรัฐบาลไทยประกาศเลิกนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแบบคงที่ เปลี่ยนมาเป็นนโยบายให้ค่าเงินบาทลอยตัว วิกฤติในเอเชียเกิดขึ้นช้ากว่าที่เราคาดไว้ เพราะว่าธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น พยายามพยุงค่าเงินของตนเนิ่นนานเกินไป และธนาคารระหว่างประเทศก็ยังคงปล่อยกู้อยู่ ทั้งๆ ที่พวกเขาน่าจะรู้สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปดีอยู่แล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพฤติกรรมในการถ่วงเวลา (ที่ควรจะลดค่าเงิน) ของธนาคารกลางในเอเชีย ช่วยทำให้วิกฤติมีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากประเทศไทยมันขยายตัวอย่างรวดเร็วไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าพิจารณาประเด็นหนึ่งก็คือ ประเทศที่วิกฤติลามไปถึงนั้น บางประเทศก็ไม่ได้ผูกพันค่าเงินแบบคงที่ไว้กับดอลลาร์ จึงน่าจะหาว่าประเทศเหล่านี้มีลักษณะอะไรร่วมกัน ถึงได้เผชิญวิกฤติคล้ายกัน บางคนอ้างว่าปัญหาคือ ประเทศเหล่านี้พัฒนาทุนนิยมแบบบิดเบือนหรือไม่มีวุฒิภาวะพอ และใช้คำในทางเหยียดหยามว่าเป็น CRONY CAPITALISM – ทุนนิยมแบบเล่นพวก ทั้งๆ ที่ตอนช่วงเศรษฐกิจเอเชียเจริญเติบโตสูง ประเทศเอเชียเหล่านี้เคยได้รับการยกย่องว่า เป็นการพัฒนาทุนนิยมแบบขงจื๊อ ที่เป็นโมเดลของเอเชีย โดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่าลักษณะของทุนนิยมแบบเอเชียทำให้กิดวิกฤติขึ้น ไม่ได้ให้ภาพที่แท้จริง เพราะวิกฤติได้เกิดขึ้นในลาตินอเมริกาและยุโรปตะวันออกด้วย และเริ่มจะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจของยุโรปตะวันตกและสหรัฐ ดังนั้นจริงๆ แล้ว วิกฤติเอเชียจึงเป็นวิกฤติของระบบทุนนิยมโลก ที่มีสาเหตุจากโรคภายในระบบการเงินของโลกนั่นเอง

ความไม่มั่นคงของการเงินระหว่างประเทศ

ระบบการเงินระหว่างประเทศ ประกอบไปด้วยนักลงทุนโดยตรง, นักลงทุนตลาดการเงิน, ธนาคาร องค์กรดูแลด้านการเงิน เช่น ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ และ IMF

ในตลาดซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศ ธนาคารมีความสำคัญกว่ากองทุนรวมบริหารความเสี่ยง (HEDGE FUND) มาก แต่ต้องยอมรับว่ากองทุนรวมบริหารความเสี่ยงอย่างเรา ได้มีบทบาทในการสร้างความผันผวนด้านเงินตราในเอเชีย เนื่องจากกองทุนรวมบริหารความเสี่ยง สนใจการทำกำไรแบบโดยสมบูรณ์มากกว่าโดยเปรียบเทียบ พวกเขาจึงมักจะมีบทบาทอย่างแข็งขันในการเร่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของกระแสแนวโน้ม ถ้าหากการเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างไม่เป็นที่พึงปราถนา พวกเขาก็จะถูกวิจารณ์ แต่ถ้าหากกระแสแนวโน้มไม่สามารถยืนยาวต่อไปได้ น่าจะเป็นการดีกว่าที่จะกลับหลังหันอย่างรวดเร็วขึ้น แทนที่จะปล่อยให้เนิ่นช้าออกไป

ยกตัวอย่างเช่น การที่กองทุนรวม (QUANTUM FUNDS) ขายล่วงหน้า (SELL SHORT) เงินบาทในเดือนมกราคม 2540 ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนแล้วว่า เงินบาทมีค่าแข็งเกินไป ถ้าหากผู้ดูแลทางการเงินของไทยตอบสนองคำเตือนนี้ พวกเขาก็น่าจะปรับตัวได้เร็วกว่านี้ และได้รับความเจ็บปวดน้อยกว่านี้ แต่ที่เกิดขึ้นคือ ผู้ดูแลทางการเงินของไทยต่อต้าน ดังนั้นเมื่อถึงจุดแตกหักจึงเกิดผลเสียหายที่ใหญ่โต

บทบาทของกองเงินทุน IMF

IMF ต้องเผชิญกับปัญหาชนิดที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อน วิกฤติเอเชียเป็นวิกฤติที่สลับซับซ้อน เป็นทั้งวิกฤติเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และวิกฤติเรื่องเครดิต วิกฤติเรื่องเครดิต มีทั้งส่วนระหว่างประเทศและในประเทศ และปัจจัยทั้งหมดเชื่อมโยงกัน IMF เคยแต่เจอปัญหาในประเทศอื่นที่มาจากภาครัฐบาล แต่วิกฤติในเอเชียเริ่มมาจากภาคเอกชน

IMF คงให้ยาขนานเดิม คือ เพิ่มอัตราดอกเบี้ย และลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐ เพื่อจะทำให้ค่าเงินในประเทศนั้นมั่นคง และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ IMF เห็นปัญหาด้านโครงสร้างของประเทศเหล่านั้นด้วย และกำหนดเงื่อนไขแบบสำเร็จรูป เช่น สั่งปิดสถาบันการเงินที่ไม่มั่นคง แต่โครงการของ IMF ไม่ได้ผล เพราะว่า IMF พยายามแก้วิกฤติเพียงบางส่วน ไม่ได้มุ่งแก้วิกฤติทั้งหมด ปัจจัยต่างๆ ล้วนเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างไม่อาจแยกเป็นส่วนๆ

ปัญหาวิกฤติการขาดสภาพคล่อง แยกไม่ออกจากปัญหาความไม่สมดุลในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ดังนั้นการให้ประเทศเหล่านั้นได้กู้ยืมเงินมากขึ้น จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เมื่อทั้งธนาคารและบริษัทต่างมีหนี้เกินตัว เช่น อัตราส่วนหนี้ต่อส่วนทุนของเจ้าของสูงเกินไป ก็จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุน ปัญหาก็คือ ในสถานการณ์วิกฤติ เป็นการยากที่จะหาเงินทุนก้อนใหม่ หรือหาเครดิตเพิ่ม โครงการของ IMF ในเอเชียล้มเหลว เพราะ IMF ไม่ได้ยืนยันให้ประเทศเหล่านั้น ใช้โครงการแปลงหนี้ให้เป็นทุน (DEBT-TO-EQUITY) (คือเจรจาให้เจ้าหนี้เข้ามาร่วมลงทุน แทนการเป็นเจ้าหนี้ที่คอยทวงหนี้ และเมื่อบริษัทลูกหนี้ฟื้น เจ้าหนี้ก็จะได้เงินปันผลหรือขายหุ้นออกภายหลังได้)

บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่ IMF จะจัดการกับปัญหาทั้งวิกฤติสภาพคล่อง และการแปลงหนี้ให้เป็นทุนพร้อมๆ กันไป พวกเจ้าหนี้ต่างประเทศอาจจะไม่ร่วมมือ และทำให้โครงการช่วยเหลือประเทศลูกหนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ในอีกด้านหนึ่งการล้มเหลวที่จะจัดการกับปัญหาหนี้ ยิ่งทำให้ปัญหาค่าเงินท้องถิ่นของเอเชียตกต่ำ และการแก้ปัญหาแบบ IMF โดยใช้อัตราดอกเบี้ยสูง ยิ่งทำให้ผู้กู้ไม่มีปัญญาใช้หนี้ และเศรษฐกิจยิ่งตกต่ำลึกลงไปอีก เห็นได้ชัดว่า นี่เป็นปัญหาระบบโครงสร้าง IMF เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา

พยากรณ์อนาคต

ผู้เขียนเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกยังตกไม่ถึงจุดต่ำสุด ด้วยเหตุผลคือ

วิกฤติในรุสเซีย สะท้อนให้เห็นข้อบกพร่องของระบบธนาคารระหว่างประเทศ ที่ไม่แสดงการซื้อขายล่วงหน้า และเครื่องมือทางการเงินแบบเก็งกำไรต่างๆ ในบัญชีงบดุล ทั้งธนาคาร กองเงินทุนบริหารความเสี่ยง และกองเงินทุนเก็งกำไรอื่นๆ ต่างได้รับความเสียหายมาก และมีแนวโน้มว่าโลกจะมีปัญหาการหดตัวของเครดิต (CREDIT CRUNCH) (เนื่องจากคนไม่กล้าปล่อยเครดิต คนลงทุนก็ไม่กล้าลงทุน)
ความปวดร้าวของประเทศทุนนิยมบริวารมีความเข้มข้นมาก จนบางประเทศ (มาเลเซีย) เลือกที่จะออกจากระบบทุนนิยมโลก หรือไม่ก็หลบไปอยู่ข้างทาง (อินโดนีเซีย รุสเซีย) ถ้าหากการไหลออกของเงินทุนจากมาเลเซีย ดูท่าทางน่าจะดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ต่อไปก็จะมีประเทศอื่นทำตามอย่างนโยบายนี้
ความล้มเหลวของโปรแกรม IMF และตัว IMF เองก็แทบไม่มีเงินเหลือพอที่จะให้ใครกู้เพิ่มได้อีก รัฐบาลประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มั่งคั่งที่สุด 7 ประเทศ (G7) สนใจช่วยรัสเซียไม่เพียงพอ และปัญหาในรุสเซียซึ่งดูเหมือนจะไม่มีใครควบคุมดูแลได้ เป็นเรื่องที่ยังมองไม่เห็นทางออก
สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับว่า ระบบธนาคารระหว่างประเทศ นักลงทุน และทางการของประเทศศูนย์กลาง จะมีปฏิกิริยาต่อปัญหาที่กล่าวมานี้อย่างไร ผู้เขียนเชื่อว่าคงจะใช้เวลาพอสมควรกว่าที่ปัจจัยในทางลบทั้ง 3 ข้อที่กล่าวมา จะก่อให้เกิดผลเห็นชัด การทรงตัวและทำท่าเหมือนกับจะฟื้นตัวของตลาดการเงินในปลายปี 2541 จะเป็นการฟื้นแบบหลอกๆ มากกว่า และจะตามมาด้วยตลาดซบเซาเป็นระยะเวลายาวนาน

ประชาชนจะย้ายการลงทุนจากตลาดหุ้นไปตลาดเงิน หรือตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (TREASURY BILLS) ผลกระทบจากการที่รายได้จากหุ้นของผู้เล่นหุ้นลดลง จะทำให้ความต้องการซื้อสินค้าลดลง ความต้องการที่จะลงทุนก็จะลดลงด้วยหลายเหตุผล กำไรทำได้ยากขึ้น การสั่งเข้าเพิ่มมากขึ้น และการส่งออกลดลง และปริมาณสนองตอบเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ไม่ใหญ่โตเข้มแข็งพอ และอสังหาริมทรัพย์จะเหือดแห้งลง

การลดดอกเบี้ยจะช่วยปกป้องการตกต่ำของตลาดได้บ้าง และเศรษฐกิจอาจจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่โอกาสที่เศรษฐกิจจะพังทลายก็ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถ้าเศรษฐกิจในประเทศสหรัฐชะลอตัว ชาวอเมริกันจะหมดความอดทนกับการขาดดุลการค้าจำนวนมาก และเตรียมปกป้องตนเอง ซึ่งจะทำให้ระบบการค้าเสรีสูญพันธุ์

ตอนแรกผู้เขียนเชื่อว่าวิกฤติเอเชีย จะนำไปสู่ชัยชนะของระบบทุนนิยม บริษัทข้ามชาติจะเข้าไปแทนที่บริษัทคนจีนโพ้นทะเล และการบริหารแบบเอเชียจะถูกกลืนเป็นระบบการบริหารแบบทุนนิยมโลก แนวโน้มเช่นนี้ยังคงจะเกิดขึ้นได้ แต่ขณะนี้ดูเหมือนว่าประเทศทุนนิยมขอบนอกจะเลือกที่จะออกจากระบบทุนนิยมโลกมากขึ้น เมื่อพวกเขาพบว่าโอกาสที่จะดึงทุนจากประเทศศูนย์กลางกลับมาได้จางหายไป ธนาคารและนักลงทุนตลาดการเงินเสียหายอย่างหนัก และยังจะต้องมีการสูญเสียมากกว่านี้อีก

รุสเซียมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถชำระหนี้ที่เป็นดอลลาร์ได้ การสูญเสียในอินโดนีเซียจะปรากฎผลให้รู้สึกมากขึ้น ธนาคารเจ้าหนี้ในประเทศศูนย์กลางจะถูกลงโทษจากผู้ถือหุ้น กรณีที่ไปปล่อยกู้ให้ประเทศทุนนิยมขอบนอก พวกเขาจะไม่ต้องการปล่อยเงินกู้เพิ่ม จะมีก็แต่องค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น ที่จะสามารถปล่อยเงินให้ประเทศขอบนอกได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณความร่วมมือนานาชาติแต่อย่างใด



--------------------------------------------------------------------------------

ที่มา: วิกฤติระบบทุนนิยมโลก (สังคมเปิดกำลังจะสูญพันธุ์) ทัศนะของจอร์ช โซรอส, สรุปและเรียบเรียงโดย วิทยากร เชียงกูล, 3 ก.ค.2543,(คัดเลือกมาบางส่วนจากหนังสือ วิกฤติระบบทุนนิยมโลกในทัศนะ จอร์ช โซรอส สรุปและวิจารณ์โดย วิทยากร เชียงกูล, สำนักพิมพ์มิ่งมิตร 2542)


โดย: วิกฤติการเงินของโลก (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:14:36 น.  

 
George Soros
Biographical Information

International philanthropist George Soros was born in Budapest, Hungary in 1930. He emigrated to England in 1947 and graduated from the London School of Economics in 1952. In 1956, he moved to the United States.
Mr. Soros founded the Open Society Fund in 1979, the Soros Foundation-Hungary in 1984 and the Soros Foundation-Soviet Union in 1987. He now has a network of foundations operating in 24 countries throughout Central and Eastern Europe, as well as South Africa and the United States. These foundations are helping to build the infrastructure and institutions of an open society through the support of a variety of educational, cultural and economic restructuring activities.

Mr. Soros is also the founder of The Central European University in Budapest, Prague, and Warsaw. Established in 1990, the University offers postgraduate programs in history, economics, political science, art history, and the social sciences, and serves as the centerpiece of Mr. Soros' educational initiatives in Eastern Europe.

Mr. Soros is President of Soros Fund Management and Chief Investment Advisor to Quantum Fund N.V., a $12 billion international investment fund which is generally recognized as having had the best performance record in the world during its 25-year history.

In addition to many articles on the political and economic changes in Eastern Europe and the former Soviet Union, Mr. Soros is the author of The Alchemy of Finance, published by Simon & Schuster in 1987 and republished in May 1994 by John Wiley and Sons, Opening the Soviet System, published by Weidenfeld & Nicholson in July 1990, and Underwriting Democracy , published by The Free Press in September 1991. Mr. Soros' forthcoming book, Ideas and Actions, will be published by Wiley and Sons in July 1995.

Mr. Soros received honorary doctoral degrees from the New School for Social Research (New York) and the University of Oxford in 1980, as well as from the Budapest University of Economics and Yale University in 1991.

February 1995



โดย: George Soros Biographical Information (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:15:27 น.  

 
FROM THE BOOK
The Crisis of Global Capitalism: Open Society Endangered
George Soros
Retail Price: $26.00


Forewords & Introductions

Preface

My original aim in writing this book was to expound the philosophy that has guided me through life. I had become known as a successful money manager and later on as a philanthropist. Sometimes I felt like a gigantic digestive tract, taking in money at one end and pushing it out at the other, but in fact a considerable amount of thought connected the two ends. A conceptual framework, which I had formulated in my student days long before I became engaged in the financial markets, governed both my money making and my philanthropic activities.
I was greatly influenced by Karl Popper, the philosopher of science, whose book Open Society and Its Enemies made sense of the Nazi and communist regimes that I had experienced at first hand as an adolescent in Hungary. Those regimes had a common feature: They laid claim to the ultimate truth and they imposed their views on the world by the use of force. Popper proposed a different form of social organization, one that recognized that nobody has access to the ultimate truth. Our understanding of the world in which we live is inherently imperfect and a perfect society is unattainable. We must content ourselves with the second best: an imperfect society that is, however, capable of infinite improvement. He called it open society, and totalitarian regimes were its enemies.

I absorbed Popper's ideas about critical thinking and scientific method. I did it critically and I came to differ with him on an important point. Popper claimed that the same methods and criteria apply to both natural and social sciences. I was struck by a vital difference: In the social sciences, thinking forms part of the subject matter whereas the natural sciences deal with phenomena that occur independently of what anybody thinks. This makes natural phenomena amenable to Popper's model of scientific method, but not social phenomena.

I developed the concept of reflexivity: a two-way feedback mechanism between thinking and reality. I was studying economics at the time and reflexivity did not fit into economic theory, which operated with a concept borrowed from Newtonian physics, namely, equilibrium.

The concept of reflexivity came in very useful to me when I became engaged in managing money. In 1979, when I had made more money than I had use for, I established a foundation, called the Open Society Fund. I defined its objectives as helping to open up closed societies, helping to make open societies more viable, and fostering a critical mode of thinking. Through the foundation, I became deeply involved in the disintegration of the Soviet system.

Partly as a result of that experience and partly on the basis of my experience of the capitalist system, I came to the conclusion that the conceptual framework I had been working with was no longer valid. I sought to reformulate the concept of open society. In Popper's formulation, it stood in contrast with closed societies based on totalitarian ideologies, but recent experience taught me that it could be threatened from the opposite direction as well: from the lack of social cohesion and the absence of government.

I expressed my views in an article titled "The Capitalist Threat," published in the February 1997 issue of The Atlantic Monthly. This book, which I started writing shortly thereafter, was meant to be a more thorough elaboration of those ideas. In my previous books, I had relegated my conceptual framework to an appendix or served it up buried in personal reminiscences. Now I felt that it deserved a direct hearing. I had always been passionately interested in understanding the world in which I lived. Rightly or wrongly, I felt I had made some progress and I wanted to share it.

The original plan for this book was, however, disrupted by the global financial crisis that began in Thailand in July 1997. I was exploring the flaws of the global capitalist system but I was doing it in a leisurely fashion. I was fully cognizant of the Asian crisis - indeed my fund management company anticipated it six months before it happened - but I had no idea how far-reaching it would turn out to be. I was explaining why the global capitalist system was unsound and unsustainable but until the Russian meltdown in August 1998, I did not realize that it was in fact disintegrating. Suddenly my book took on a new sense of urgency. Here I had a ready-made conceptual framework in terms of which the rapidly evolving global financial crisis could be understood. I decided to rush into print.

My view of the current situation was summed up in the Congressional testimony I delivered on September 15, 1998, where I said, in part, as follows:

The global capitalist system which has been responsible for the remarkable prosperity of this country in the last decade is coming apart at the seams. The current decline in the U.S. stock market is only a symptom, and a belated symptom at that, of the more profound problems that are afflicting the world economy. Some Asian stock markets have suffered worse declines than the Wall Street crash of 1929 and in addition their currencies have also fallen to a fraction of what their value was when they were tied to the U.S. dollar. The financial collapse in Asia was followed by an economic collapse. In Indonesia, for instance, most of the gains in living standards that accumulated during 30 years of Suharto's regime have disappeared. Modern buildings, factories and infrastructure remain, but so does a population that has been uprooted from its rural origins. Currently Russia has undergone a total financial meltdown. It is a scary spectacle and it will have incalculable human and political consequences. The contagion has now also spread to Latin America. It would be regrettable if we remained complacent just because most of the trouble is occurring beyond our borders. We are all part of the global capitalist system which is characterized not only by free trade but more specifically by the free movement of capital. The system is very favorable to financial capital which is free to pick and choose where to go and it has led to the rapid growth of global financial markets. It can be envisaged as a gigantic circulatory system, sucking up capital into the financial markets and institutions at the center and then pumping it out to the periphery either directly in the form of credits and portfolio investments, or indirectly through multinational corporations.

Until the Thai crisis in July 1997 the center was both sucking in and pumping out money vigorously, financial markets were growing in size and importance and countries at the periphery could obtain an ample supply of capital by opening up their capital markets. There was a global boom in which the emerging markets fared especially well. At one point in 1994 more than half the total inflow into U.S. mutual funds went into emerging market funds.

The Asian crisis reversed the direction of the flow. Capital started fleeing the periphery. At first, the reversal benefited the financial markets at the center. The U.S. economy was just on the verge of overheating and the Federal Reserve was contemplating raising the discount rate. The Asian crisis rendered such a move inadvisable and the stock market took heart. The economy enjoyed the best of all possible worlds with cheap imports keeping domestic inflationary pressures in check and the stock market made new highs. The buoyancy at the center raised hopes that the periphery may also recover and between February and April of this year most Asian markets recovered roughly half their previous losses measured in local currencies. That was a classic bear market rally.

There comes a point when distress at the periphery cannot be good for the center. I believe that we have reached that point with the meltdown in Russia. I have three main reasons for saying so. One is that the Russian meltdown has revealed certain flaws in the international banking system which had been previously disregarded. In addition to their exposure on their own balance sheets, banks engage in swaps, forward transactions and derivative trades among each other and with their clients. These transactions do not show up in the balance sheets of the banks. They are constantly marked to market, that is to say, they are constantly revalued and any difference between cost and market made up by cash transfers. This is supposed to eliminate the risk of any default. Swap, forward and derivative markets are very large and the margins razor thin; that is to say, the value of the underlying amounts is a manifold multiple of the capital employed in the business. The transactions form a daisy chain with many intermediaries and each intermediary has an obligation to his counterparties without knowing who else is involved. The exposure to individual counterparties is limited by setting credit lines.

This sophisticated system received a bad jolt when the Russian banking system collapsed. Russian banks defaulted on their obligations, but the Western banks remained on the hook to their own clients. No way was found to offset the obligations of one bank against those of another. Many hedge funds and other speculative accounts sustained large enough losses that they had to be liquidated. Normal spreads were disrupted and professionals who arbitrage between various derivatives, i.e., trade one derivative against another, also sustained large losses. A similar situation arose shortly thereafter when Malaysia deliberately shut down its financial markets to foreigners but the Singapore Monetary Authority in cooperation with other central banks took prompt action. Outstanding contracts were netted out and the losses were shared. A potential systemic failure was avoided.

These events led most market participants to reduce their exposure all round. Banks are frantically trying to limit their exposure, deleverage, and reduce risk. Bank stocks have plummeted. A global credit crunch is in the making. It is already restricting the flow of funds to the periphery, but it has also begun to affect the availability of credit in the domestic economy. The junk bond market, for instance, has already shut down. This brings me to my second point. The pain at the periphery has become so intense that individual countries have begun to opt out of the global capitalist system, or simply fall by the wayside. First Indonesia, then Russia have suffered a pretty complete breakdown but what has happened in Malaysia and to a lesser extent in Hong Kong is in some ways even more ominous. The collapse in Indonesia and Russia was unintended, but Malaysia opted out deliberately. It managed to inflict considerable damage on foreign investors and speculators and it managed to obtain some temporary relief, if not for the economy, then at least for the rulers of the country. The relief comes from being able to lower interest rates and to pump up the stock market by isolating the country from the outside world. The relief is bound to be temporary because the borders are porous and money will leave the country illegally; the effect on the economy will be disastrous but the local capitalists who are associated with the regime will be able to salvage their businesses unless the regime itself is toppled. The measures taken by Malaysia will hurt the other countries which are trying to keep their financial markets open because it will encourage the flight of capital. In this respect Malaysia has embarked on a beggar-thy-neighbor policy. If this makes Malaysia look good in comparison with its neighbors, the policy may easily find imitators, making it harder for others to keep their markets open.

The third major factor working for the disintegration of the global capitalist system is the evident inability of the international monetary authorities to hold it together. IMF [International Monetary Fund] programs do not seem to be working; in addition, the IMF has run out of money. The response of the G7 governments to the Russian crisis was woefully inadequate, and the loss of control was quite scary. Financial markets are rather peculiar in this respect: they resent any kind of government interference but they hold a belief deep down that if conditions get really rough the authorities will step in. This belief has now been shaken.

These three factors are working together to reinforce the reverse flow of capital from the periphery to the center. The initial shock caused by the meltdown in Russia is liable to wear off, but the strain on the periphery is liable to continue. The flight of capital has now spread to Brazil and if Brazil goes, Argentina will be endangered. Forecasts for global economic growth are being steadily scaled down and I expect they will end up in negative territory. If and when the decline spreads to our economy, we may become much less willing to accept the imports which are necessary to feed the reverse flow of capital and the breakdown in the global financial system may be accompanied by a breakdown in international free trade. This course of events can be prevented only by the intervention of the international financial authorities. The prospects are dim, because the G7 governments have just failed to intervene in Russia, but the consequences of that failure may serve as a wake-up call. There is an urgent need to rethink and reform the global capitalist system. As the Russian example has shown, the problems will become progressively more intractable the longer they are allowed to fester.

The rethinking must start with the recognition that financial markets are inherently unstable. The global capitalist system is based on the belief that financial markets, left to their own devices, tend towards equilibrium. They are supposed to move like a pendulum: they may be dislocated by external forces, so-called exogenous shocks, but they will seek to return to the equilibrium position. This belief is false. Financial markets are given to excesses and if a boom/bust sequence progresses beyond a certain point it will never revert to where it came from. Instead of acting like a pendulum financial markets have recently acted more like a wrecking ball, knocking over one economy after another.

There is much talk about imposing market discipline, but if imposing market discipline means imposing instability, how much instability can society take? Market discipline needs to be supplemented by another discipline: maintaining stability in financial markets ought to be the objective of public policy. This is the general principle that I should like to propose.

Despite the prevailing belief in free markets this principle has already been accepted and implemented on a national scale. We have the Federal Reserve System and other financial authorities whose mandate is to prevent a breakdown in our domestic financial markets and if necessary act as lenders of last resort. I am confident that they are capable of carrying out their mandate. But we are sadly lacking in the appropriate financial authorities in the international arena. We have the Bretton Woods institutions - the IMF and the World Bank - which have tried valiantly to adapt themselves to rapidly changing circumstances. Admittedly the IMF programs have not been successful in the current global financial crisis; its mission and its methods of operation need to be reconsidered. I believe additional institutions may be necessary. At the beginning of this year I proposed establishing an International Credit Insurance Corporation, but at that time it was not yet clear that the reverse flow of capital would become such a serious problem and my proposal fell flat. I believe its time has now come. We also have to establish some kind of international supervision over the national supervisory authorities. Moreover, we have to reconsider the workings of the international banking system and the functioning of the swap and derivative markets.

The book is divided in two parts. The first part contains the conceptual framework. I shall not try to summarize it here, but in this age of keywords it can be represented by three keywords: fallibility, reflexivity, and open society. It contains a critique of the social sciences in general and economics in particular. I interpret financial markets in terms of reflexivity rather than equilibrium and I seek to develop a reflexive theory of history, treating financial markets as a laboratory where the theory can be tested. In Part II, I apply the conceptual framework described in the first part to the present moment in history. Although the financial crisis looms understandably large, the analysis goes much deeper. I deal with the discrepancy between a global economy and a political and social organization that is still basically national in scope. I explore the unequal relationship between center and periphery and the unequal treatment of debtors and creditors. I examine the unhealthy substitution of monetary values for intrinsic human values. I interpret global capitalism as an incomplete and distorted form of open society. Having identified the main features of the global capitalist system in Chapter 6, I try to predict its future in terms of a boom/bust sequence in Chapter 7. Chapter 8 contains some practical proposals on how the financial disintegration of the system could be prevented. In Chapter 9, I discuss the prospects for a less distorted and more complete form of open society and, in Chapter 11, I outline some practical steps that could be taken to achieve it.

I had meant this to be the definitive statement of my philosophy. Due to the intervention of history, it has become what I would call an instant book.




โดย: FROM THE BOOK The Crisis of Global Capitalism: Open Society Endangered (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:16:31 น.  

 
Introduction

This book seeks to lay the groundwork for a global open society. We live in a global economy, but the political organization of our global society is woefully inadequate. We are bereft of the capacity to preserve peace and to counteract the excesses of the financial markets. Without these controls, the global economy is liable to break down.

The global economy is characterized not only by free trade in goods and services but even more by the free movement of capital. Interest rates, exchange rates, and stock prices in various countries are intimately interrelated, and global financial markets exert tremendous influence on economic conditions. Given the decisive role that international financial capital plays in the fortunes of individual countries, it is not inappropriate to speak of a global capitalist system.

Financial capital enjoys a privileged position. Capital is more mobile than the other factors of production and financial capital is even more mobile than direct investment. Financial capital moves wherever it is best rewarded; as it is the harbinger of prosperity, individual countries compete to attract it. Due to these advantages, capital is increasingly accumulated in financial institutions and publicly traded multinational corporations; the process is intermediated by financial markets.

The development of a global economy has not been matched by the development of a global society. The basic unit for political and social life remains the nation-state. International law and international institutions, insofar as they exist, are not strong enough to prevent war or the large-scale abuse of human rights in individual countries. Ecological threats are not adequately dealt with. Global financial markets are largely beyond the control of national or international authorities.

I argue that the current state of affairs is unsound and unsustainable. Financial markets are inherently unstable and there are social needs that cannot be met by giving market forces free rein. Unfortunately these defects are not recognized. Instead there is a widespread belief that markets are self-correcting and a global economy can flourish without any need for a global society. It is claimed that the common interest is best served by allowing everyone to look out for his or her own interests and that attempts to protect the common interest by collective decision making distort the market mechanism. This idea was called laissez faire in the nineteenth century but it may not be such a good name today because it is a French word. Most of the people who believe in the magic of the marketplace and the merits of unlimited competition do not speak French. I have found a better name for it: market fundamentalism.

It is market fundamentalism that has rendered the global capitalist system unsound and unsustainable. This is a relatively recent state of affairs. At the end of the Second World War, the international movement of capital was restricted and the Bretton Woods institutions were set up to facilitate trade in the absence of capital movements. Restrictions were removed only gradually and it was only when Margaret Thatcher and Ronald Reagan came to power around 1980 that market fundamentalism became the dominant ideology. It is market fundamentalism that has put financial capital into the driver's seat.

This is, of course, not the first time that we have had a global capitalist system. Its main features were first identified in rather prophetic fashion by Karl Marx and Friedrich Engels in the Communist Manifesto, published in 1848. The system that prevailed in the second half of the nineteenth century was in some ways more stable than the contemporary version. First, there were imperial powers, Great Britain foremost among them, that derived large enough benefits from being at the center of the system to find it worthwhile to preserve it. Second, there was a single international currency in the form of gold; today there are three major currencies - the dollar; the German mark, which is soon to become the euro; and the yen - which are rubbing against each other like tectonic plates, often creating earthquakes, crashing minor currencies in the process. Third, and most important, there were certain shared beliefs and ethical standards, which were not necessarily practiced but were nevertheless quite universally accepted as desirable. These values combined a faith in reason and a respect for science with the Judeo-Christian ethical tradition and on the whole provided a more reliable guide to what is right and what is wrong than the values that prevail today. Monetary values and transactional markets do not provide an adequate basis for social cohesion. This sentence may not make much sense to the reader as it stands, but it will be expounded in the book. The nineteenth-century incarnation of the global capitalist system, in spite of its relative stability, was destroyed by the First World War. After the end of the war, there was a feeble attempt to reconstruct it, which came to a bad end in the crash of 1929 and the subsequent Great Depression. How much more likely is it, then, that the current version of global capitalism will also come to a bad end, given that the elements of stability that were present in the nineteenth century are now missing?

Yet a calamity could be avoided if we recognized the deficiencies of our system and corrected them in time. How did these deficiencies arise and how could they be corrected? These are the questions I propose to address. I argue that the global capitalist system is a distorted form of an open society and its excesses could be corrected if the principles of open society were better understood and more widely supported. The term open society was given currency by Karl Popper in his book Open Society and Its Enemies. At the time the book was published, in 1944, open society was threatened by totalitarian regimes such as Nazi Germany and the Soviet Union, which used the power of the state to impose their will on the people. The concept of open society could be readily understood by contrasting it with the closed societies that totalitarian ideologies fostered. This remained true right up to the collapse of the Soviet empire in 1989. The open societies of the world - commonly referred to as the West - exhibited considerable cohesion in the face of a common enemy. But after the collapse of the Soviet system, open society, with its emphasis on freedom, democracy, and the rule of law, lost much of its appeal as an organizing principle and global capitalism emerged triumphant. Capitalism, with its exclusive reliance on market forces, poses a different kind of danger to open society. The central contention of this book is that market fundamentalism is today a greater threat to open society than any totalitarian ideology.

This statement is rather shocking. A market economy is an integral part of an open society. Friedrich Hayek, the greatest twentieth-century ideologist of laissez faire economics, was a firm believer in the concept of an open society. How can market fundamentalism threaten open society?

Let me make myself clear. I am not saying that market fundamentalism is diametrically opposed to the idea of open society the way fascism or communism were. Quite the contrary. The concepts of open society and market economy are closely linked and market fundamentalism can be regarded as merely a distortion of the idea of the open society. That does not make it any less dangerous. Market fundamentalism endangers the open society inadvertently by misinterpreting how markets work and giving them an unduly large role to play.

My critique of the global capitalist system falls under two main headings. One concerns the defects of the market mechanism. Here I am talking primarily about the instabilities built into financial markets. The other concerns the deficiencies of what I have to call, for lack of a better name, the nonmarket sector. By this I mean primarily the failure of politics and the erosion of moral values on both the national and the international level.

I want to say at the outset that I consider the failures of politics much more pervasive and debilitating than the failures of the market mechanism. Individual decision making as expressed through the market mechanism is much more efficient than collective decision making as practiced in politics. This is particularly true in the international arena. The disenchantment with politics has fed market fundamentalism and the rise of market fundamentalism has, in turn, contributed to the failure of politics. One of the great defects of the global capitalist system is that it has allowed the market mechanism and the profit motive to penetrate into fields of activity where they do not properly belong.

The first part of my critique concerns the inherent instability of the global capitalist system. Market fundamentalists have a fundamentally flawed conception of how financial markets operate. They believe that financial markets tend toward equilibrium. Equilibrium theory in economics is based on a false analogy with physics. Physical objects move the way they move irrespective of what anybody thinks. But financial markets attempt to predict a future that is contingent on the decisions people make in the present. Instead of just passively reflecting reality, financial markets are actively creating the reality that they, in turn, reflect. There is a two-way connection between present decisions and future events, which I call reflexivity.

The same feedback mechanism interferes with all other activities that involve cognizant human participants. Human beings respond to the economic, social, and political forces in their environment, but unlike the inanimate particles of the physical sciences humans have perceptions and attitudes that simultaneously transform the forces acting on them. This two-way reflexive interaction between what participants expect and what actually happens is central to an understanding of all economic, political, and social phenomena. This concept of reflexivity lies of the heart of the arguments presented in this book. Reflexivity is absent from natural science, where the connection between scientists' explanations and the phenomena they are trying to explain runs only one way. If a statement corresponds to the facts, it is true; if not, it is false. In this way, scientists can establish knowledge. But market participants do not have the luxury of basing their decisions on knowledge. They must make judgments about the future and the bias they bring to bear influences the outcome. These outcomes, in turn, reinforce or weaken the bias with which the market participants began.

I contend that the concept of reflexivity is more relevant to financial markets (and to many other economic and social phenomena) than the concept of equilibrium, on which conventional economics is based. Instead of knowledge, market participants start with a bias. Either reflexivity works to correct the bias, in which case you have a tendency toward equilibrium, or the bias can be reinforced by a reflexive feedback, in which case markets can move quite far from equilibrium without showing any tendency to return to the point from which they started. Financial markets are characterized by booms and busts and it is quite amazing that economic theory continues to rely on the concept of equilibrium, which denies the possibility of these phenomena, in face of the evidence. The potential for disequilibrium is inherent in the financial system; it is not just the result of external shocks. The insistence on exogenous shocks as a kind of deus ex machina to explain away the frequent refutation of economic theory in the behavior of financial markets reminds me of the ingenious contrivances of spheres within spheres and divine forces that pre-Copernican astronomers used to explain the position of the planets instead of accepting that the earth moves around the sun.

Reflexivity is not a widely accepted concept, at least in mainstream thinking, and it will take more than a few sentences to explore all its implications. It will occupy much of Part I of the book. In Part II of the book, I then use this framework to draw some practical conclusions - about financial markets; about the world economy; and about such broader issues as international politics, social cohesion, and the instability of the global capitalist system as a whole.

My second main line of argument is more complex and more difficult to summarize. I believe that the failures of the market mechanism pale into insignificance compared to the failure of what I call the nonmarket sector of society. When I speak of the nonmarket sector, I mean the collective interests of society, the social values that do not find expression in markets. There are people who question whether such collective interests exist at all. Society, they maintain, consists of individuals, and their interests are best expressed by their decisions as market participants. For instance, if they feel philanthropic they can express it by giving money away. In this way, everything can be reduced to monetary values.

It hardly needs saying that this view is false. There are things we can decide individually; there are other things that can only be dealt with collectively. As a market participant, I try to maximize my profits. As a citizen, I am concerned about social values: peace, justice, freedom, or whatever. I cannot give expression to those values as a market participant. Let us suppose that the rules that govern financial markets ought to be changed. I cannot change them unilaterally. If I impose the rules on myself but not on others, it would effect my own performance in the market but it would have no effect on what happens in the markets because no single participant is supposed to be able to influence the outcome.

(...มีต่อ...)


โดย: Introduction (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:18:16 น.  

 
Introduction...(ต่อ...)

We must make a distinction between making the rules and playing by those rules. Rule making involves collective decisions, or politics. Playing by the rules involves individual decisions, or market behavior. Unfortunately the distinction is rarely observed. People seem largely to vote their pocketbooks and they lobby for legislation that serves their personal interest. What is worse, elected representatives also frequently put their personal interests ahead of the common interest. Instead of standing for certain intrinsic values, political leaders want to be elected at all costs - and under the prevailing ideology of market fundamentalism, or untrammeled individualism, this is regarded as a natural, rational, and even perhaps desirable way for politicians to behave. This attitude toward politics undermines the postulate on which the principle of representative democracy was built. The contradiction between politicians' personal and public interests was, of course, always present, but it has been greatly aggravated by prevailing attitudes that put success as measured by money ahead of intrinsic values such as honesty. Thus the ascendancy of the profit motive and the decline in the effectiveness of the collective decision-making process have reinforced each other in a reflexive fashion. The promotion of self-interest to a moral principle has corrupted politics and the failure of politics has become the strongest argument in favor of giving markets an ever freer reign. The functions that cannot and should not be governed purely by market forces include many of the most important things in human life, ranging from moral values to family relationships to aesthetic and intellectual achievements. Yet market fundamentalism is constantly attempting to extend its sway into these regions, in a form of ideological imperialism. According to market fundamentalism, all social activities and human interactions should be looked at as transactional, contract-based relationships and valued in terms of a single common denominator, money. Activities should be regulated, as far as possible, by nothing more intrusive than the invisible hand of profit-maximizing competition. The incursions of market ideology into fields far outside business and economics are having destructive and demoralizing social effects. But market fundamentalism has become so powerful that any political forces that dare to resist it are branded as sentimental, illogical, and naive.

Yet the truth is that market fundamentalism is itself naive and illogical. Even if we put aside the bigger moral and ethical questions and concentrate solely on the economic arena, the ideology of market fundamentalism is profoundly and irredeemably flawed. To put the matter simply, market forces, if they are given complete authority even in the purely economic and financial arenas, produce chaos and could ultimately lead to the downfall of the global capitalist system. This is the most important practical implication of my argument in this book.

There is a widespread presumption that democracy and capitalism go hand in hand. In fact the relationship is much more complicated. Capitalism needs democracy as a counterweight because the capitalist system by itself shows no tendency toward equilibrium. The owners of capital seek to maximize their profits. Left to their own devices, they would continue to accumulate capital until the situation became unbalanced. Marx and Engels gave a very good analysis of the capitalist system 150 years ago, better in some ways, I must say, than the equilibrium theory of classical economics. The remedy they prescribed - communism - was worse than the disease. But the main reason why their dire predictions did not come true was because of countervailing political interventions in democratic countries.

Unfortunately we are once again in danger of drawing the wrong conclusions from the lessons of history. This time the danger comes not from communism but from market fundamentalism. Communism abolished the market mechanism and imposed collective control over all economic activities. Market fundamentalism seeks to abolish collective decision making and to impose the supremacy of market values over all political and social values. Both extremes are wrong. What we need is a correct balance between politics and markets, between rule making and playing by the rules.

But even if we recognized this need, how could we achieve it? The world has entered a period of profound imbalance in which no individual state can resist the power of global financial markets and there are practically no institutions for rule making on an international scale. Collective decision-making mechanisms for the global economy simply do not exist. These conditions are widely acclaimed as the triumph of market discipline, but if financial markets are inherently unstable, imposing market discipline means imposing instability - and how much instability can society tolerate?

Yet the situation is far from hopeless. We must learn to distinguish between individual decision making as expressed in market behavior and collective decision making as expressed in social behavior in general and politics in particular. In both cases, we are guided by self-interest; but in collective decision making we must put the common interest ahead of our individual self-interest even if others fail to do so. That is the only way the common interest can prevail.

Today the global capitalist system still stands near the height of its powers. It is certainly endangered by the present global crisis, but its ideological supremacy knows no bounds. The Asian crisis has swept away the autocratic regimes that combined personal profits with Confucian ethics and replaced them with more democratic, reform-minded governments. But the crisis has also undermined the ability of the international financial authorities to prevent and resolve financial crises. How long before the crisis starts sweeping away reform-minded governments? I am afraid that the political developments triggered by the financial crisis may eventually sweep away the global capitalist system itself. It has happened before. I want to make it clear that I do not want to abolish capitalism. In spite of its shortcomings, it is better than the alternatives. Instead, I want to prevent the global capitalist system from destroying itself. For this purpose, we need the concept of open society more than ever.

The global capitalist system is a distorted form of open society. Open society is based on the recognition that our understanding is imperfect and our actions have unintended consequences. All our institutional arrangements are liable to be flawed and just because we find them wanting we should not abandon them. Rather we should create institutions with error-correcting mechanisms built in. These mechanisms include both markets and democracy. But neither will work unless we are aware of our fallibility and willing to recognize our mistakes.

At present there is a terrific imbalance between individual decision making as expressed in markets and collective decision making as expressed in politics. We have a global economy without a global society. The situation is untenable. But how can it be corrected?

This book is quite specific with regard to the deficiencies of financial markets. With regard to the moral and spiritual fields where market fundamentalism is squeezing its way into the nonmarket sector, my views are, of necessity, much more tentative.

To stabilize and regulate a truly global economy, we need some global system of political decision-making. In short, we need a global society to support our global economy. A global society does not mean a global state. To abolish the existence of states is neither feasible nor desirable; but insofar as there are collective interests that transcend state boundaries, the sovereignty of states must be subordinated to international law and international institutions. Interestingly, the greatest opposition to this idea is coming from the United States, which, as the sole remaining superpower, is unwilling to subordinate itself to any international authority. The United States faces a crisis of identity: Does it want to be a solitary superpower or the leader of the free world? The two roles could be blurred as long as the free world was confronting an "evil empire," but the choice now presents itself in much starker terms. Unfortunately we have not even started to consider it. The popular inclination in the United States is to go it alone, but that would deprive the world of the leadership it so badly needs. Isolationism could be justified only if the market fundamentalists were right and the global economy could sustain itself without a global society. The alternative is for the United States to forge an alliance with like-minded nations to establish the laws and institutions that are necessary to the preservation of peace, freedom, prosperity, and stability. What these laws and institutions are cannot be decided once and for all; what we need is to set in motion a cooperative, iterative process that defines the open society ideal - a process in which we openly admit the imperfections of the global capitalist system and try to learn from our mistakes.

It cannot happen without the United States. But conversely, there has never been a time when a strong lead from the United States and other like-minded countries could achieve such powerful and benign results. With the right sense of leadership and with clarity of purpose, the United States and its allies could begin to create a global open society that could help to stabilize the global economic system and to extend and uphold universal human values. The opportunity is waiting to be grasped.


Copyright © 1998 by George Soros.
Published in the United States by PublicAffairs®,
a member of the Perseus Books Group.
All rights reserved.
Printed in the United States of America
No part of this book may be reproduced in any manner whatsoever without written permission except in the case of brief quotations embodied in critical articles and reviews. For information, address PublicAffairs, 250 West 57th Street, Suite 1825, New York, NY 10107.
Book design by Jenny Dossin.




โดย: Introduction ...(ต่อ..) (moonfleet ) วันที่: 4 มีนาคม 2551 เวลา:7:24:35 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

moonfleet
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]




ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้ หากไม่เคยเป็นความฝันมาก่อน
New Comments
Friends' blogs
[Add moonfleet's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.