0023. NEXT : TRENDS FOR THE NEAR FUTURE : 1 ใน 109 หนังสือควรอ่าน จาก นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร


เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีเปิดการประชุมปฐมฤกษ์ ความร่วมมือเอเชีย อำเภอ ชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีข้อความตอนหนึ่งว่า....
...." ก่อนที่ผมจะกล่าวต่อไป ผมขอพูดถึง ข้อความข้อความหนึ่ง จากหนังสือที่น่าสนใจเรื่อง Next : Trends for the Near Future ข้อความนี้ ให้ความหมายสอดคล้องกับจุดประสงคืของการประชุมครั้งนี้อยู่หลายประการ ดังต่อไปนี้
" การที่มี ความสำนึกแห่งความเป็นเอเชีย เกิดขึ้น และ ความมั่นใจ และ ความสร้างสรรค์ ที่เป็นผลพวงติดตามมานั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคนี้เติบโตเต็มที่ บริโภคในเองเชียและทั่วโลก จะไม่ลังเลใจเลยที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือ เครื่องใช้ในบ้านอื่นๆที่ผลิตในเอเชีย แต่ พฤติกรรมบริโภคเช่นนี้ไม่เกิดขึ้นกับสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ทางปัญญา หากโลกยังไม่มีความคิดที่ว่า บรรดานวัตกรรมต่างๆทุกชนิดก็มาจากทวีปนี้ได้ ชาวเอเชียก็จะยังไม่สามารถเป็นผู้นำโลกในด้านสินค้าที่เป็นสินค้าสร้างสรรค์ได้ จุดหักเหจะเกิดขึ้นเมื่อละครทีวีของเวียดนามสามารถเป็นรายการทีวียอดนิยมในอินโดนีเชียได้ เมื่อนักร้องยอดนิยมของอินโดนีเซียสามารถแสดงท่านกลางคนดูชาวไทยที่แน่นขนัดล้นหลามได้ เมื่อนักออกแบบแฟชั่นของไทยสามารถขายเสื้อผ้าอย่างเทน้ำเทท่าได้ในเซี่ยงไฮ้ และ เมื่อภาพยนต์จีนสามารถทำรายได้ ทำลายสถิติตามโรงภาพยนต์ทุกแห่งในเอเชียได้"
Create Date : 05 มีนาคม 2551 |
Last Update : 5 มีนาคม 2551 12:50:20 น. |
|
2 comments
|
Counter : 824 Pageviews. |
 |
|
|
100 ประมวลสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่พ.ศ. 2545
สุนทรพจน์ นายกรัฐมนตรี ในพิธีเปิดการประชุมปฐมฤกษ์ความร่วมมือเอเชีย
สุนทรพจน์
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ในพิธีเปิดการประชุมปฐมฤกษ์ความร่วมมือเอเชีย
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
๑๙ มิถุนายน ๒๕๔๕
.............................................................................
ท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ
ท่านเอกอัครราชทูตและคณะทูตานุทูต
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
ประวัติศาสตร์บทใหม่ของเอเซียกำลังเริ่มต้นขึ้นในห้องนี้ วันนี้ ท่ามกลาง ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน นั่นคือการประชุมปฐมฤกษ์ของความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD) การที่มีรัฐมนตรีมาจากทุกภาคของเอเชียมาร่วมประชุมกันเช่นนี้ก็นับว่าเป็นปรากฎการณ์ทาง ประวัติศาสตร์ของเอเซียอยู่แล้ว แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือการที่ที่ประชุม นี้จะใช้เวลาสองวันนี้ กำหนดทิศทางอันจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทใหม่ของประวัติศาสตร์โลก และเป็นหน้าใหม่ของ ประวัติศาสตร์ความร่วมมือของโลกเพื่อที่จะแปรเปลี่ยนความหลากหลายให้บังเกิดผลประโยชน์ร่วมกัน
การประชุมครั้งแรกของ Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD ที่เราเปิดตัวในวันนี้ จะเป็นรากฐานสำหรับกรอบความร่วมมือใหม่สำหรับประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก การประชุมนี้จะนำมาซึ่งความร่วมมือใหม่เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และศักยภาพของเรา จะเป็นความร่วมมือใหม่เพื่อยังประโยชน์สูงสุดแก่ทรัพยากรและวัฒนธรรมของเรา จะเป็นความร่วมมือใหม่เพื่อแปรเปลี่ยนความหลากหลายให้เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน จะเป็นความร่วมมือซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ๆ สำหรับเอเชีย เป็นความร่วมมือใหม่เพื่อช่วยบรรเทา ความยากจนและความทุกข์ยากให้ประชาชนนับร้อยๆ ล้านของเรา เป็นความร่วมมือใหม่เพื่อให้ ประชาชนของเรามีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเอเชีย และที่สำคัญที่สุด เป็นความร่วมมือใหม่ เพื่อสันติภาพและความมั่งคั่งสำหรับประชาชนและประชาชาติทั้งหมดในเอเชีย
ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เมื่อมาร์โก โปโล พ่อค้านามกระเดื่องชาวเวนิซ ได้เดินทางบนเส้นทาง สายไหมไปยังเอเชีย การเดินทางของเขาได้ทำให้ชาวโลกประจักษ์ว่า ทวีปนี้มีวัฒนธรรม อารยธรรมและทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ที่จะหยิบยื่นให้โลกได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 นายพลเรือเจิ้นเหอนักเดินเรือชาวจีนผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้แล่นเรือจากจีนไปยังหลายดินแดนในแปซิฟิกใต้ มหาสมุทรอินเดีย อ่าวเปอร์เซีย และแอฟริกา ตั้งแต่นั้นมาการค้าระหว่างยุโรปและเอเชียก็เจริญเฟื่องฟู และประวัติศาสตร์เอเชียได้กลายเป็นบทที่น่าสนใจมากที่สุดบทหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก
ในเอเชียภายหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 สถานการณ์ทางการเมืองได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน รูปลักษณ์ของทวีปที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ หลังจากที่มีการล่าและต่อมาปลดปล่อยอาณานิคมในหลาย ประเทศในภูมิภาค แต่ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วที่สุดในเอเชียได้เกิดขึ้นในครึ่งหลัง ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อเกิดประเทศเอกราชใหม่ๆในเอเชียหลายประเทศ และบางประเทศ ได้กลายเป็นมหาอำนาจ เศรษฐกิจระดับโลก เอเชียได้ถึงขีดรุ่งเรืองที่สุดทางเศรษฐกิจในช่วง คริสต์ทศวรรษที่ 80 และ 90 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับเอเชียหลายประเทศ แต่แล้วเอเชีย ก็เพลี่ยงพล้ำจากวิกฤตการณ์ ที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันในปีค.ศ. 1997 ซึ่งนำไปสู่การล่มสลาย ของความฝันอันยิ่งใหญ่ของเอเชีย เหตุการณ์ 11 กันยายนได้ทำให้เกิดความยากลำบากทางเศรษฐกิจ มากขึ้นอีก แต่บัดนี้เราอยู่ใน คริสต์ศตวรรษที่ 21 แล้ว ในขณะที่เอเชียกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ ครั้งนั้น เอเชียจำเป็นต้องย้ำเตือน ตนเองถึงวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของตนเองอีกครั้ง เพื่อสร้างกรอบเครือ ข่ายความร่วมมือเพื่อที่จะ สร้างความเข้มแข็ง ศักยภาพ และความมั่นใจ ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นการเริ่ม การประชุมความร่วมมือเอเชียจะเป็นกระบวนการสร้างความมั่นใจ สำหรับประเทศเอเชีย อันเป็นความมั่นใจที่จะเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของที่ประชุมที่นครบันดุง โดยความริเริ่มของท่านยาวาฮาลาล เนห์รูอดีตนายกรัฐมนตรีอินเดียและความมั่นใจซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายของท่านนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิที่จะสร้าง "ประชาคมที่ดำเนินการร่วมกันและ ก้าวหน้าร่วมกัน" ความร่วมมือใหม่นี้จะเกื้อหนุนเวที Boao ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มอันน่าชื่นชมยิ่ง ของท่านประธานาธิบดี เจียง เจ๋อ หมิน ในไม่ช้านี้ เราเชื่อมั่นว่า ACD จะกลายเป็นตัวกระตุ้น สนับสนุนประเทศเอเชียแต่ละประเทศและกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคของเอเชียให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นจากภายในทวีปเราเอง
ท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
ในเอเชียนี้ เราอยู่ในทวีปที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์แต่ประชาชนยังอยู่ในความยากจน ในเอเชียนี้ เราเป็นทวีปที่มีศักยภาพมนุษย์สูงแต่ส่วนใหญ่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยฃน์ และในเอเชียนี้ เราเป็นทวีปที่แม้มีความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีและทักษะแต่ก็ยังมีความไม่ทัดเทียมกันระหว่าง ประเทศ ต่างๆ นี่คือทวีปเอเชียของเรา และแม้ว่าเราจะเป็นทวีปที่มีความหลากหลายสูง แต่ภูมิภาคนี้ก็ได้สร้าง กลุ่มความร่วมมือ ระดับภูมิภาคทั้งภายในภูมิภาคและกับภูมิภาคอื่น เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตั้งแต่อ่าวเปอร์เซียด้านหนึ่ง ไปถึงขอบมหาสมุทรแปซิฟิก แต่เอเชียก็ยังขาดเวที ที่ครอบคลุม เฉพาะทั้งภูมิภาคเอเซียเพียงภูมิภาคเดียว เพื่อประโยชน์ของเอเชียร่วมกัน
มีเหตุผลมากมายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเวทีดังกล่าวเพื่อสร้างเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเอเซียให้มากยิ่งขึ้น หากปราศจากความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น เราในเอเซียก็จะต้องแข่งขันกันเอง เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ประเทศอื่นๆในโลก โดยขายสินค้าของเราหรือแรงงานของเราภายใต้การ แข่งขันทีทำลายซึ่งกันและกันเอง แต่เพื่อประโยชน์ของตลาดโลก
ณ เวลานี้ เอเซียยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจพื้นฐานและความตั้งใจแน่วแน่ที่จะใช้พลวัตร ของเรา ความสามารถพิเศษของเรา ตลาดของเรา และทักษะของเรา เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน จากการรวมศักยภาพ ทั้งในฐานะประเทศแต่ละประเทศ และฐานะภูมิภาคหนึ่งในโลก
ฉะนั้น เอเซียจำเป็นที่จะต้องมียุทธศาสตร์ร่วมกันจากพลังทรัพยากรมนุษย์อันยิ่งใหญ่ของเรา ความเปี่ยมล้นในทักษะต่างๆของเรา และพลวัตรต่างๆ ของเรา เพื่อเอาชนะความท้าทายต่างๆ แห่ง ศตวรรษใหม่นี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะไว้วางใจและเชื่อมั่นในกันและกัน และทำงานร่วมกันเพื่อ ประโยชน์ร่วมกันของเรา โดยไม่มองซึ่งกันและกันว่าเป็นคู่แข่งขัน แต่มองว่าเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตร
ผมใคร่ขอแสดงตัวเลขที่น่าสนใจบางประการ เอเซียเป็นทวีปที่อุดมด้วยธรรมชาติ อันสวยงามยิ่ง และแหล่งวัฒนธรรมที่น่าสนใจ แต่รายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทวีป ของเรารวมกันทั้งทวีปแล้ว มีมูลค่าเพียง 55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในขณะที่รายได้ จากการท่องเที่ยวจากประเทศในยุโรป เพียง แค่ 2 ประเทศรวมกัน คือ ฝรั่งเศสและอิตาลี มีมูลค่า ถึง 57 พันล้านดอลลาร์ เป็นตัวเลขที่น่าสนใจมาก และเราควรจะต้องแสดงความยินดี กับทั้งฝรั่งเศส และอิตาลีในความสำเร็จอย่างยิ่งของเขา แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องย้อนกลับมาดู ตัวเราเอง และพิจารณาว่าทำไมเราจึงไม่สามารถรวมตัวกัน และใช้ความหลากหลาย ของความสวยงาม ของวัฒนธรรม และความยิ้มแย้มร่าเริงของเรา เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างน้อยให้เท่า สองประเทศนั้นก็ยังดี
ประเด็นสำคัญก็คือเราจะต้องเพิ่มพูนทรัพย์สินและความสามารถที่เรามีอยู่ เพื่อทำให้ เอเซียมีความคล่องตัวและมีพลวัตรมากขึ้น ประเด็นสำคัญก็คือ เอเซียจะต้องนำเอาทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ และบริการของเรา มาช่วยทำให้โลกรุ่งเรืองขึ้น ข้อความที่ควรจะเป็นหัวใจของเราทุกคน ก็คือ เราจะเพิ่มพูน รวมพลังกัน และจัดการร่วมกัน ได้อย่างไรกับทรัพยากรต่างๆ ทักษะต่างๆ และวัฒนธรรมต่างๆ ของเรา เพื่อประโยชน์สำหรับเอเซีย และสำหรับส่วนอื่นๆของโลกเรา
หากเอเชียประสงค์จะใช้ศักยภาพให้เต็มที่ในกระแสโลกาภิวัตน์ และกระแสเศรษฐกิจ ของโลก ก็น่าจะถึงเวลาอันสมควรแล้วที่เอเชียจะมีเวทีซึ่งเปิดให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียมาร่วมกัน และกำหนด มาตรการเสริมสร้างความมั่นใจร่วมกันเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรมนุษย์ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หากเราประสงค์จะให้เกิดความมั่งคั่งที่ยั่งยืน ทั่วทวีปเอเชีย เราก็ต้องมีความร่วมมือที่ครอบ คลุมทั่วทวีปเอเชีย Asia Cooperation Dialogue จึงเป็น สิ่งที่จะตอบสนอง ความต้องการ นั้นของชาวเอเชีย
ในการจัดการประชุม Asia Cooperation Dialogue นี้ เราปรารถนาจะเห็นเอเชียที่เข้มแข็งขึ้น ที่สามารถแข่งขันได้ และมีบทบาทที่ดียิ่งขึ้นในเศรษฐกิจโลก เราปรารถนาจะเห็นภูมิภาคเอเชีย ที่มีกลไกและระบบปกป้องตัวเองจากแรงกระทบกระเทือนจากภายนอกได้ ไม่ว่าจะเป็นทาง ด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ เราปรารถนาจะเห็นภูมิภาคที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศร่วมมือกัน เพื่อเกื้อหนุนความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบระหว่างกันและลดทอนจุดอ่อนของกันและกัน เราปรารถนาจะเห็นภูมิภาคที่ร่วมมือกันทางสารสนเทศและความรู้ และเห็นประเทศต่างๆ ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เรามีวิสัยทัศน์อยากให้เอเชีย เป็นสถานที่ซึ่งน่าอยู่ น่าเดินทาง และน่าทำธุรกิจมากที่สุด เรามีวิสัยทัศนอยากให้เอเชียมีความเข้มแข็งและมั่นใจในตนเอง เรามีวิสัยทัศน์อยากให้เอเชียสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ตนเองเพื่อประโยชน์สูงสุดของโลก
ท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
ก่อนที่ผมจะกล่าวต่อไป ผมขอพูดถึงข้อความข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือที่น่าสนใจเรื่อง Next: Trends for the Near Future ข้อความนี้ให้ความหมายสอดคล้องกับจุดประสงค์ของ การประชุม ครั้งนี้อยู่หลายประการ ดังต่อไปนี้
การที่มีความสำนึกแห่งความเป็นเอเซียเกิดขึ้น และความมั่นใจ และความสร้างสรรค์ที่เป็น ผลพวงติดตามมานั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคนี้เติบโตเต็มที่ ผู้บริโภคในเอเซีย และทั่วโลก จะไม่ลังเลใจเลยที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือเครื่องใช้ในบ้านอื่นๆที่ผลิตในเอเซีย แต่พฤติกรรมบริโภค เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นกับสินค้าที่มีลิขสิทธิ์ทางปัญญา หากโลกยังไม่มีความคิดที่ว่า บรรดานวัตกรรมต่างๆ ทุกชนิดก็มาจากทวีปนี้ได้ ชาวเอเซียก็จะยังไม่สามารถเป็นผู้นำโลกในด้าน สินค้าที่เป็นสินค้า สร้างสรรค์ได้ จุดหักเหจะเกิดขึ้นเมื่อละครทีวีของเวียดนามสามารถเป็น รายการทีวียอดนิยมใน อินโดนีเซียได้ เมื่อนักร้องยอดนิยมของอินโดนีเซียสามารถแสดงท่ามกลาง คนดูชาวไทยที่แน่น ขนัดล้นหลามได้ เมื่อนักออกแบบแฟชั่นของไทยสามารถขายเสื้อผ้า อย่างเทน้ำเทท่าได้ในเซี่ยงไฮ้ และเมื่อภาพยนตร์จีนสามารถทำรายได้ทำลายสถิติตามโรงภาพยนตร์ ทุกแห่งในเอเซียได้
ผมต้องขอย้ำว่าตัวอย่างเหล่านี้ไม่ใช่ตัวอย่างของผมเอง แต่ข้อความนี้ทำให้เราเห็นความ จำเป็นที่จะต้องทำให้ภูมิภาคของเราพัฒนาความรู้สึกสำนึกในความเป็นเอเซีย และมีความมั่นใจ ที่จะนำเอาความสามารถในเฃิงสร้างสรรค์ทั้งหลายของเรามาใช้เพื่อประโยชน์ของภูมิภาคและของโลก
ท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ
เพื่อให้ได้ภาพ ACD ที่ชัดเจนขึ้นเพื่อแปลงวิสัยทัศน์นั้นเป็นภารกิจได้ จำเป็นจะต้องแจกแจง วัตถุประสงค์หลักๆ บางประการเพื่อให้ท่านได้พิจารณา
ประการแรก ACD จะไม่กำหนดเป็น รูปแบบตายตัว สำหรับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิด และประสบการณ์ ในฐานะที่เป็นเวทีหารือในระดับภูมิภาค ACD จะช่วยเสริมกรอบความร่วมมือ อื่นๆ และจะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ในความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในระดับทวิภาคี พหุภาคี อนุภูมิภาค และภูมิภาค ในประเด็นต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน
ประการที่สอง ACD จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทั้งในระดับชาติและในระดับภูมิภาค เพื่อทำให้เอเชียเป็นคู่ค้าที่เข้มแข็งสำหรับภูมิภาคอื่นๆของโลก เอเซียจะต้องร่วมมือกัน เพื่อดูแลจัดการกับผลกระทบในทางลบอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ ความสามารถจัดการอย่างมี ประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านั้น จะมีผลอย่างยิ่งต่อความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศต่างๆ เราจะสามารถบรรลุสิ่งเหล่านั้นได้โดยการใช้ศักยภาพภายใน อันเป็นเอกลักษณ์ ของ ทวีปของเราร่วมกัน และสร้างเสริมความแข็งแกร่งระหว่างกัน เพื่อเสริมความสามารถ ในการแข่งขัน ในระดับระหว่างประเทศ ACD จะต้องสร้างบรรยากาศเพื่อการพัฒนา ประเทศต่างๆในเอเซีย จะต้องทำให้ดีที่สุดเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในกลุ่มประเทศ ของเราเอง และใช้ประโยชน์ จากความแข็งแกร่งที่เสริมระหว่างกันเพื่อเอาชนะความท้าทาย ในการเจริญเติบโต ของภูมิภาคเรา
ประการที่สาม ACD จะทำหน้าที่เป็นเวทีให้กับประเทศเอเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับแนวโน้มและการพัฒนาต่างๆระหว่างประเทศ ที่มีผลกระทบโดยตรง กับทวีปเอเซีย และที่ทวีปเอเซียควรจะมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย
ผมอยากจะขอเน้นว่า การสร้างเสริมศักยภาพของเอเซีย ผ่านกระบวนการ ACD นี้ ไม่ได้มีจุดประสงคที่จะสร้างความสัมพันธ์ในลักษณะของผู้ให้และผู้รับ แต่เพื่อสร้างเสริมศักยภาพ ของกันและกัน เราม่ ุ งเพื่อรวมพลังจุดแข็งแกร่งของแต่ละประเทศ เพื่อทำให้ทวีปเอเซีย เข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่ละประเทศในเอเซ๊ย ต่างก็มีจุดแข็งของตนเอง ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งล้วนจะมีส่วนในความ ร่วมมือสาขาต่างๆ ที่แต่ละประเทศแข็งแกร่งที่สุด แต่ละประเทศสามารถ นำเอาความคล้ายคลึง ที่มีร่วมกันมาทำให้ทุกประเทศเป็นหุ้นส่วนที่เข็มแข็งยิ่งขึ้นภายในกรอบ ความสัมพันธ์ในภูมิภาคของเรา แต่เป้าหมายเหล่านี้จะวิวัฒน์ไปเช่นใด และความร่วมมือเอเซียนี้ จะมีลักษณะเช่นใดในอนาคต ขึ้นกับการประชุมหารือของท่านทั้งหลายในวันนี้ ผมจึงขอฝากอนาคตของ ACD ไว้กับทุกท่าน ด้วยความมั่นใจยิ่ง
ท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ
ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ
ผมขออนุญาตกล่าวถึงข้อเท็จจริงและตัวเลขบางประการเกี่ยวกับทวีปของเรา
เอเชียเป็นทวีปที่ใหญที่สุดและมีความหลากหลายที่สุดในโลก ครอบคลุมผืนแผ่นดิน ประมาณ 30% ของโลก เอเชียเป็นบ้านของคนกว่าสามพันล้าน ซึ่งเท่ากับประชากรกว่าครึ่งของโลก จำนวน ประชากรของเอเชียทำให้เอเชียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เอเชียเป็นเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด โดยมีสัดส่วนการส่งออกและผลิตภัณฑ์มวลรวมคิดเป็น 1 ใน 4 ของการส่งออกและผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก เศรษฐกิจของเอเชียรวมกันแล้วมีปริมาณเท่ากับหนึ่งในสามของเศรษฐกิจโลก ทุนสำรองระหว่างประเทศของเรา ทั้งหมดรวมกัน มีมูลค่ากว่า หนึ่งพันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของทุนสำรองแลกเปลี่ยนเงินตรา ต่างประเทศของทั้งโลก
เอเชียยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่ทองคำและเครื่องเทศ ไปถึง ก๊าซธรรมชาติและ ปิโตรเลียม ปัจจุบัน เอเชียเป็นฐานผลิตอาหารที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีการผลิตสินค้าและบริการระดับโลกมากมายในเอเชีย เอเชียเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวสำหรับ สินค้าทุน เทคโนโลยี สินค้าบริโภค สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และวัตถุดิบ ตลาดของเรามีการขยายตัว อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการยกระดับรายได้และการเจริญเติบโตด้านการพัฒนา และเอเชียยังมี สินทรัพย์มากมาย ในรูปของทรัพยากรบุคคล ทักษะ และภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกมาก
ทางด้านวัฒนธรรม เอเชียมีความหลากหลายอย่างมากทั้งทางด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม ศาสดาที่ยิ่งใหญ่ของทุกศาสนาในโลกล้วนมีพื้นเพมาจากทวีปเอเชีย ในยุคโบราณ เอเชียเคยเป็น ดินแดนแห่งวัฒนธรรมและอารยธรรมอันสูงส่ง และแม้ในปัจจุบันนี้วัฒนธรรมเอเชียก็ยังคง เป็นที่ยกย่องชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เอเซียเป็นทวีปที่ร่ำรวยมั่งคั่งอย่างน่าอัศจรรย์มาก เมื่อพิจารณาจาก จำนวนประชากร ขนาดของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ สินทรัพย์ที่มีอยู่มากมาย และทรัพยากร ธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ เอเชียน่าจะเป็นทวีปที่มีประเทศที่มั่งคั่งร่ำรวยมากกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความยากจนในหมู่ประชาชนของเรายังเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศ ต้องการจะแก้ไข ความยากจนทำให้ประเทศในเอเชียแต่ละประเทศเป็นคู่ค้าที่เข้มแข็ง ระหว่างกันได้ยากขึ้น ความยากจนทำให้ประเทศเอเชียเป็นคู่ค้าที่เข้มแข็งของประเทศในส่วน อื่นของโลกได้ยากขึ้น ความยากจนทำให้เอเซียอ่อนแอ ทั้งๆที่เป็นทวีปที่มีศักยภาพอย่างล้นเหลือ
ในแง่นี้ ACD จะต้องเป็นกระบวนการที่เสริมสร้างศักยภาพให้เอเชียโดยรวมเข้มแข็งขึ้น เพื่อให้เอเชีย สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทางด้านสินทรัพย์และทรัพยากรได้อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการ เพิ่มมูลค่า ให้กับสินค้าของเอเชีย เพื่อสร้างเศรษฐกิจแห่งความรวดเร็ว (Economy of Speed) ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด แก่เศรษฐกิจที่ได้มาจากการผลิตในปริมาณมาก (Economy of Scale) ACD จะต้องช่วยให้เอเชียสามารถสร้างความมั่งคั่งได้มากขึ้นสำหรับชาติในเอเชีย ความมั่งคั่ง ซึ่งจะช่วยกำจัด ความยากจนให้หมดสิ้นไปหรือลดลงให้เหลือน้อยที่สุด ความมั่งคั่งซึ่งจะช่วยให้ ประเทศในเอเชีย เป็นตลาดที่เติบโตเต็มที่มากขึ้นสำหรับการค้าภายในเอเชียเอง และในตลาดโลก ความมั่งคั่งซึ่งจะ สามารถช่วยให้ตลาดโลกร่ำรวยและมั่งคั่งมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ACD ควรจะเป็นเวทีเพื่อให้เอเชียผนึกความแข็งแกร่งภายใน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยให้ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ สภาพแวดล้อมดังกล่าวจะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับทุกประเทศ ในเอเชีย ไม่ว่าจะยากจนหรือมั่งคั่ง แม้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับนั้นอาจจะมากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันไป แต่ในที่สุดแล้ว สภาพแวดล้อมดังกล่าวนี้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งโลก ไม่มีใครที่จะเป็นผู้พ่ายแพ้
ท่านสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
มีสมมุติฐานที่ล้าสมัยอยู่สมมุติฐานหนึ่งว่า เอเซียในฐานะที่เป็นทวีปนั้น ประกอบไปด้วย ชาติต่างๆ มากเกินไป มีเศรษฐกิจที่แตกต่างหลากหลายกันมากเกินไป จนไม่สามารถประสบ ความสำเร็จ ร่วมกันในเรื่องใดได้เลย ในโลกของบรรษัททางธุรกิจก็เช่นกัน เคยมีความคิดที่ ล้าสมัยไปแล้วว่า บรรษัทธุรกิจที่ดีที่สุด คือบรรษัทที่รวมตัวกันตามแนวดิ่ง
ในโลกสมัยใหม่ เราต่างก็ทราบดีว่า บรรษัทขนาดใหญ่และเทอะทะ จะขับเคลื่อนหรือ
ปรับตัวแต่ละทีก็เชื่องช้าเกินไป บรรษัทธุรกิจในทุกวันนี้หันมาจ้างบริษัทอื่น ทำในบางส่วน ของกิจการ และแตกแขนงธุรกิจออกไปให้หลากหลาย แต่ละบรรษัททุกวันนี้ก็จะมีบริษัท ที่เป็นเอกเทศ และสร้างสรรค์มากมายอยู่ภายใต้บรรษัทแม่
ฉันท์ใดก็ฉันท์นั้นในกรณีของทวีปของเรา เอเชียก็เหมือนกับบรรษัทแม่ขนาดใหญ่ ที่มีบริษัทลูกมากมายหลากหลายซึ่งต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเองและมีความสร้างสรรค์ ความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศในเอเชียเมื่อนำมารวมกันแล้วก็จะกลายเป็นทรัพย์สินอันยิ่งใหญ่สำหรับทวีปเอเชียโดยรวม ท่ามกลางความหลากหลายของเรานั้น เราจะสามารถสร้างความยืดหยุ่น อย่างมากสนองตอบซึ่งกันและกันและเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นสำหรับกันและกัน
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพวกเราทั้งหลายจะตระหนักในความเป็นไปได้เช่นนี้ร่วมกัน ในขณะที่บรรดาบรรษัทใหญ่ๆ ได้เริ่มลดขนาดของตัวเองลงและเลิกการรวมตัวในแนวดิ่ง พวกเราก็ควรจะต้องเริ่มหันไปสู่การรวมตัวในแนวนอนโดยแต่ละประเทศผลิตสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ขณะเดียวกันก็รวมพลังร่วมกันและใช้หลักการใหม่ทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นหลักการ ของความรวดเร็วและการขยายธุรกิจให้หลากหลาย
ท่านรัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติ