bloggang.com mainmenu search




เดินเล่น เมืองกรุง ตอนที่ ๑


ในวันธรรมดาเวลาที่เค้าทำงานทำการกันแบบนี้ ถ้านึกอยากไปเดินเล่นถ่ายรูป

นพ เป็นเพื่อน...ที่นึกถึง ไปไหนไปด้วยเสมอ (ถ้าว่าง...) ขอให้บอกเหอะ

๑๘ สิงหาคม  ๒๕๕๘ วันที่สิบแปด เดือนแปด ปีห้าแปด






นัดกันกี่ครั้งก็ยังเป็นที่เดิม  นพคงมั่นใจว่าเราไม่หลงแน่ที่นี่ Smiley

๙.๓๖ น. วันที่ ๑๘ สิงหาคม  ๒๕๕๘ 




พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระปฐมบรมราชานุสรณ์ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพุทธฯ ฝั่งพระนคร


ลักษณะทางสถาปัตยกรรม / ศิลปกรรมที่สำคัญ

          พระบรมรูปนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้

สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ขณะนั้น

ทรงอำนวยการแผนกศิลปากรคิดแบบและอำนวยการก่อสร้างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ เสด็จประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์

พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่อยู่เหนือพระเพลา

องค์พระบรมรูปนั้น ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ปั้นและหล่อด้วยทองสำริด

มีความสูงตั้งแต่ฐานตลอดยอด ๔.๖๐ เมตร (ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๑ เมตร) ฐานกว้าง ๒.๓๐ เมตร

มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปหล่ออีกชั้นหนึ่ง พระบรมรูปฯ ผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร




เบื้องหลังก่อเป็นกำแพงหินอ่อนกั้นตอนกลางเจาะเป็นช่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลัก ๒ ข้าง

หน้าบันประดับลายปูนปั้นลานพวงมาลัย เหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม

ด้านหลังกำแพงเป็นแผ่นจารึกหินอ่อน จารึกความเป็นมาของการก่อสร้าง และภายหลังได้มีการเสริมกำแพงให้สูงขึ้นไปอีก

เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พุ่มดอกไม้ และพานเครื่องประดับ มีน้ำพุ อยู่ทั้ง ๒ ข้าง บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีตเสากลม

ตอนกลางรั้วเป็นแผ่นหินอ่อนคล้ายเป็นลวดลายไทยวางทอดอยู่ กึ่งกลางแผ่นสลักเป็นรูปช้างหันข้างยืนเหนือแท่น เป็นตรา “ปฐมบรมราชจักรีวงศ์”

ด้านข้างพระบรมรูปทั้งสองด้านมีบันไดลาดจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ลงมาเป็นชั้นๆ จนถึงพื้นด้านล่าง

ข้อมูล : //www.lib.su.ac.th/rattanagosin_web/?q=node/104






วันนี้ติดเลนส์ Tokina 11-16 mm. มาค่ะ   (ภาพที่สอง เอาภาพเก่ามา)




นั่งรถเมล์หน้าปากคลอง มาลงแถวถนนพระอาทิตย์ ท่าเรือพระอาทิตย์





สะพานพระราม ๘ สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาการจราจรบนถนนสะพานพระปิ่นเกล้า





ซ้ายมือ - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า





สวนสันติชัยปราการ





สวนสันติชัยปราการ

เป็นสวนสาธารณะระดับชุมชนเมือง สร้างบนพื้นที่ประมาณ ๘ ไร่เศษ บริเวณโดยรอบป้อมพระสุเมรุ

ตั้งอยู่ที่ช่วงปลายถนนพระอาทิตย์ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาตรงปากคลองบางลำพู

สวนแห่งนี้จัดสร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยภายในบริเวณสวนมี พระที่นั่งสันติชัยปราการ ที่มีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติมาประดับไว้

พร้อมกับท่ารับเสด็จขึ้นลงเรือพระที่นั่ง เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นที่จัดพระราชประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา

ข้อมูล : วิกิพีเดีย






๑๐.๐๒ น.


ใจเย็นๆ เดินรื่นรมย์ ชมวิวไปเรื่อยๆ ก่อนเนาะ




ป้อมพระสุเมรุ เดินวนซะรอบ แต่ลงภาพไม่หมด เกรงใจ... Smiley


ป้อมพระสุเมรุ

เป็นป้อมปราการที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ในสมัยนั้นได้มีการสร้างป้อมปราการ ๑๔ แห่งเพื่อป้องกันพระนคร

แต่เมื่อเวลาผ่านไป ป้อมปราการหมดความจำเป็น จึงถูกรื้อถอนไป ป้อมพระสุเมรุเป็น ๑ ใน ๒ ป้อมที่ยังคงเหลืออยู่

อีกป้อมหนึ่งคือป้อมมหากาฬ ชื่อป้อมพระสุเมรุได้นำมาตั้งเป็นชื่อถนนพระสุเมรุ

ป้อมพระสุเมรุสร้างมาแต่รัชกาลที่ ๑  มีลักษณะสวยงามและเป็นประโยชน์ใช้สอยมากมาย มีเชิงเทิน ช่องยิงปืน ห้องเก็บกระสุนดินดำ

และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ แต่ก็ชำรุดทรุดโทรมเป็นธรรมดา จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๔ กรมศิลปากร ได้ซ่อมแซมบูรณะตามรูปแบบเดิม

จากภาพถ่ายในสมัยรัชกาลที่ ๕ จนแลดูสง่างามเหมือนเดิม และยังปรับปรุงบริเวณโดยรอบให้เป็นสวนสาธารณะอีกด้วย

โดยให้ชื่อว่า "สวนสันติชัยปราการ" มีพลับพลา ชื่อว่า "พระที่นั่งสันติชัยปราการ"



ต้นไม้ใหญ่มาก



เป็นอีกหนึ่งสวนสาธารณะที่จัดงานบ่อย ร่มรื่นดีค่ะ


พิพิธบางลำพู  ปิดค่ะ ไว้วันหลังจะไปเก็บอีกรอบ


อาคารเก่า ถนนพระสุเมรุ


สะพานฮงอุทิศ ข้ามคลองบางลำพู



ถนนพระสุเมรุ


แยกบางลำพู



คลองบางลำพู เดี๋ยวนี้ คลองบ้านเราดูดีขึ้นเยอะนะ


สะพานนรรัตน์สถาน



๑๐.๑๗ น.


มองเห็นป้าย พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร  เลยบอกนพ ขอแวะเข้าไปดูหน่อย


ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ ขอถ่ายรูปด้านหน้า ไม่ได้เข้าชมค่ะ


พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร


ตั้งอยู่ อาคารเรือนปั้นหยา ๒ ชั้น ด้านล่างสำนักงานเขตพระนคร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

โทรศัพท์ : ๐๒-๒๘๒-๘๕๖๓

เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๖.๓๐ น.



  วัดสามพระยาวรวิหาร



วัดสามพระยาวรวิหาร

ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ โดยหลวงวิสุทธิ์ โยธามาตย์ (ตรุษ) ขุนนางเชื้อสายมอญ พร้อมด้วยวงศาคณาญาติ

ได้ร่วมใจกันยกที่ดินพร้อมทั้งบ้านเรือน บริเวณเหนือปากคลองบางลำพูของขุนพรหม (สารท) ผู้เป็นน้องชาย

ซึ่งเคยเป็นนายช่างร่วมควบคุมการก่อสร้างพระมณฑปพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี ตามพระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๑ และได้เสียชีวิตลงด้วยไข้ป่า

อุทิศถวายเป็นวัดเพื่อเป็นผลบุญและเป็นอนุสรณ์แก่ขุนพรหม (สารท) แล้วตั้งชื่อว่า  “วัดบางขุนพรหม”

และบริเวณที่ตั้งนั้นเดิมเรียกว่า "บ้านลาน" เพราะตระกูลนี้ผูกขาดการค้าใบลานมาแต่เดิม จึงได้ถูกเปลี่ยนมาเรียกเป็น "บางขุนพรหม" ในเวลาต่อมา



จนมาในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ วัดบางขุนพรหมแห่งนี้ได้ชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ด้วยสร้างมาเป็นระยะเวลายาวนาน

กอรปด้วยขุนพรหม (สารท) ไม่มีทายาทสืบสกุลพระยาราชสุภาวดี (ขุนทอง), พระยาราชนิกุล (ทองคำ) และพระยาเทพอรชุน (ทองห่อ)

ซึ่งเป็นบุตรของนางพวา น้องสาวคนสุดท้องของหลวงวิสุทธิโยธามาตย์ (ตรุษ) และขุนพรหม (สารท) หลานทั้ง ๓ คน

จึงพร้อมใจกันปฏิสังขรณ์วัดบางขุนพรหมจนสำเร็จบริบูรณ์ แล้วน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓

โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตร เห็นว่าวัดบางขุนพรหมที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ ก่อสร้างได้อย่างแข็งแรงงดงาม

จึงโปรดเกล้าฯ รับขึ้นไว้ให้อยู่ในบัญชีรายชื่อพระอารามหลวงในปี พ.ศ. ๒๓๖๖ พร้อมทั้งพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดสามพระยาวรวิหาร"




พระพุทธเกสร พระประธานในพระอุโบสถ


พระอุโบสถ เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลดหลั่น ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องลอนเคลือบสีแบบจีน

กรอบหน้าบันฝังกระเบื้องเคลือบเป็นระยะๆ ลวดลายกลางหน้าบันเป็นรูปแจกันดอกไม้ พานผลไม้ คอสองของหลังคาเขียนภาพจิตรกรรมแบบจีน

ตอนบนประดับลายปูนปั้นติดถ้วยกระเบื้องเคลือบ เชิงชายลาดหลังคาฝังถ้วยเบญจรงค์สลับกับถ้วยลายคราม

ลักษณะเช่นนี้เป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓


ด้านซุ้มประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นดอกพุดตาน ใต้กรอบล่างของหน้าต่างทำเป็นฐานสิงห์

บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ลายพรรณพฤกษาแบบจีน มีระเบียงยกพื้นล้อมรอบ

เสาใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมตอนบน ปลายสอบเข้า มีบันไดเล็กด้านข้างทั้ง ๔ ด้าน เชิงราวบันไดบันไดตั้งตุ๊กตาหินรูปสิงโตแบบจีน




พระวิหาร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลดหลั่น ๒ ชั้น มุงด้วยกระเบื้อง เช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันทรงจีนไม่มีช่อฟ้าใบระกา



ลวดลายเป็นลายปูนปั้นเถาไม้ลายช่อดอกพุดตานและนก ประดับด้วยจานกระเบื้อง คอสองทำเป็นรูปฐานบัวหงาย

ท้องไม้และเชิงชายลาดหลังคาติดถ้วยเบญจรงค์และถ้วยลายคราม


พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกา จำนวน ๒ องค์

พระเจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีทั้งหมด ๒๕ องค์


ซุ้มประตูหน้าต่างเหมือนพระอุโบสถแต่ผูกลายต่างกันเล็กน้อย บานประตูหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ

มีระเบียงรอบ บานประตูหน้าต่างภายในทาสีชาด ขื่อเขียนลายทอง


หลวงพ่อนอน  ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาพระนอนเป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ ปางโปรดอสุรินทราหู



พระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายแนบไปตามพระวรกาย




พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ




ด้านหลังของศาลาหลวงพ่อนอน ก็คือศาลาพระนั่ง  มี หลวงพ่อนั่ง  คล้ายพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์



คือ พระอิริยาบถประทับนั่งบนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว แต่แทนที่พระหัตถ์ซ้ายจะวางคว่ำบนพระชานุ (เข่า)



แสดงการรับกระบอกน้ำจากช้างที่หมอบ และพระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุแสดงการไม่รับรวงผึ้งจากลิง



แต่มีลักษณะเป็นพระหัตถ์ทั้งสองโอบอุ้มบาตรที่วางอยู่บนพระเพลา (ตัก) คนส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกท่านว่า พระนั่งอุ้มบาตร

ข้อมูล : //www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9550000010664



เจ้าตัวเล็ก อุตส่าห์มายืนโพส ป้าก็ถ่ายไม่ชัดอีก กรรม Smiley



แยกบางขุนพรหม


 จริงๆ แล้ว วันนี้ จุดหมายปลายทาง จะมาวังบางขุนพรหม พอมาถึง เจ้าหน้าที่บอกว่า ...

เปิดเฉพาะวันเสาร์  ถ่ายรูป แม้แต่ภายนอกก็ถ่ายไม่ได้ ทำไงล่ะ ... แห้วสิคะ ไปวัดต่อละกัน



ต่อตอนหน้าค่ะ









Create Date :23 พฤศจิกายน 2558 Last Update :30 พฤศจิกายน 2558 19:54:15 น. Counter : 3544 Pageviews. Comments :33