bloggang.com mainmenu search


๙ พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน
สวัสดีวันอังคารค่ะ ขอลัดคิวมหากาพย์กาญจนบุรีค่ะ วันนี้ไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมา ตั้งใจจะไปไหว้พระพุทธรูป ณ วังหน้า...

พระพุทธรูป ๙ องค์ ซึ่งสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้อัญเชิญมาให้ประชาชนได้กราบสักการบูชา เป็นพระพุทธรูปมงคลโบราณที่เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีพระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งนับถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งของเมืองไทย ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นประธาน พระพุทธรูปอีก ๘ องค์ พิพิธภัณฑสถานได้พิจารณาเคลื่อนย้ายมาจากห้องจัดแสดงศิลปะต่างๆ โดยคัดสรรพระพุทธรูปอันมีสวัสดิมงคลพิเศษ มีรูปแบบทางศิลปกรรมงดงามต่างยุคสมัย มีประวัติการสร้างยาวนาน มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชารวม ๙ องค์ ประกอบด้วยพระปฏิมาซึ่งประวัติความเป็นมาอันเป็นมงคลตามตำนาน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตามคติอันเป็นมงคล พระพุทธรูปที่มีมงคลนาม และพระพุทธรูปที่สร้างด้วยวัสดุมงคล 







พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดให้บริการ วันพุธ - วันอาทิตย์ ค่ะ จันทร์ - อังคาร เป็นวันหยุด



พระที่นั่งพุทไธสวรรย์






พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นพระที่นั่งภายในพระราชวังบวรสถานมงคล สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เดิมมีนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงมีพระราชดำริให้สร้างขึ้นเพื่อประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีตรุษสารท พระราชพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอ เป็นต้น หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๐ พระองค์เสด็จไปยังเชียงใหม่ และไดัอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมา พระองค์จึงทรงพระราชอุทิศพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ต่อมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งองค์นี้ว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ปัจจุบัน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณีทรงโรง ฐานสูง เครื่องบนประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกาหางหงส์ หน้าบันไม้จำหลักลงรักปิดทองประดับกระจกรูปพระพรหมประทับในวิมาน ด้านข้างมีไพที และเสาสี่เหลี่ยมรองรับชายคาทั้ง ๒ ด้าน 



ทำบุญตามศรัทธาค่ะ











๑. พระพุทธสิหิงค์

พระปฏิมาแบบสุโขทัย – ล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นพระพุทธปฏิมาศักดิ์สิทธิ์ทรงอานุภาพตามตำนานพระพุทธสิหิงค์ จึงได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานเป็นสิริมงคลยังพระนครหลวงโบราณของไทยทุกแห่ง เช่น นครศรีธรรมราช กรุงสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๑ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญประจำพระราชวังบวรสถานมงคล พระพุทธสิหิงค์นับเป็นพระพุทธรูปอำนวยความอุดมสมบูรณ์ ได้รับการอัญเชิญออกให้ประชาชนถวายน้ำสงกรานต์เป็นประจำทุกปี คติการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล และความบริบูรณ์ของบ้านเมืองและผู้สักการบูชา



๒. พระชัย

ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ ตามพระราชประเพณีแต่โบราณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงสร้างพระชัย หรือ พระชัยวัฒน์ ประจำรัชกาลสำหรับบูชาในหอพระ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พระองค์เอง รวมทั้งอัญเชิญไปในการศึกสงคราม การเสด็จประพาส และตั้งในการพระราชพิธีต่างๆ เพื่ออำนวยสวัสดิมงคล ขจัดอุปสรรคป้องกันภยันตรายจากสิ่งชั่วร้ายอัปมงคลต่างๆ พระชัยวัตรของหลวงสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมสร้างเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือพัด พระชัยวัตรองค์นี้ ทำขัดสมาธิเพชร พระรัศมีทองคำลงยา พระนลาฏฝังเพชร มีสังวาลทองคำ และพัดทองคำฝังพลอย ฐานสิงห์ผ้าทิพย์สลักลายฝังพลอย เป็นพระพุทธรูปบูชาเพื่อชัยชนะ








๓. พระพุทธรูปห้ามสมุทร

ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๒ – ๒๓ เป็นพระพุทธรูปยืน ทรงเครื่องน้อย แสดงปางพระทานอภัยทั้งสองพระหัตถ์ คือ หงายฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองตั้งขึ้นยกในระดับเสมอกับ พระอุระ (อก) มีความหมายถึงการป้องกันภัยอันตราย ตำราพระพุทธรูปไทยใช้แสดงพระพุทธประวัติครั้งทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำหลากท่วม เมื่อเสด็จไปโปรดอุรุเวลกัสปและเหล่าชฎิลในสำนัก ยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ยังเหล่าชฎิลให้เลื่อมใสยอมรับในอานุภาพของพระองค์ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรอัญเชิญใช้ในพระราชพิธีไล่เรือ หรือพิธีไล่น้ำในเดือนอ้าย เพื่อให้น้ำลด รวมถึงประดิษฐานเป็นสิริมงคลในพิธีขจัดภัยอันตรายต่างๆ เช่น พิธีอาพาธพินาศ พิธีสัมพัจฉรฉินท์ บูชาเพื่อปกป้องอันตรายทั้งปวง






๔. พระหายโศก

ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นพระพุทธรูปของหลวงพระราชทาน มีนามเป็นมงคลพิเศษ จารึกที่ฐานว่าส่งมาถึงกรุงเทพฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๙ เดิมคงใช้ในพระราชพิธีหลวง จนกระทั่งกรมพระราชพิธี ส่งมาเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ เชื่อกันเป็นพระพุทธรูปบูชา เพื่อความสุข สวัสดี







๕. พระไภษัชยคุรุ

ศิลปะลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ แสดงปางสมาธินาคปรก ทรงเครื่อง มีผอบบรรจุพระโอสถอยู่ในพระหัตถ์ เป็นพระพุทธปฏิมาที่สร้างขึ้นตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน นับถือกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าแพทย์ ผู้ช่วยสัตว์โลกทั้งปวงพ้นทุกข์ที่เกิดจากโรคทางกาย และโรคทางใจ เนื่องจากทรงบำเพ็ญพระบารมี โดยอธิษฐานความปราศจากโรคภัยไข้เจ็บของผู้คน ที่บังเกิดในกาลสมัยของพระองค์ เชื่อกันว่าผู้ปฏิบัติบูชาพระไภษัชยคุรุ สามารถหายจากอาการเจ็บป่วย ด้วยการสวดบูชาออกพระนาม และสัมผัสรูปพระปฏิมา สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แห่งกรุงกัมพูชา สร้างพระราชทานเป็นพระปฏิมาประธานในสถานพยาบาลที่เรียกว่า "อโรคยาศาล" สำหรับผู้ป่วยและประชาชน บูชาเพื่อพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ









๖. พระพุทธรูปหลวงพ่อนาก

ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ พระองค์สีนาก เนื่องจากเนื้อสัมฤทธิ์มีส่วนผสมของทองคำจำนวนมาก พระเนตรฝังนิล ประทับขัดสมาธิเพชร พระบาททั้งสองข้างจำหลักลวดลายมงคล จารึกฐานพระพุทธรูประบุว่า พระยายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยาสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๑๙ เดิมคนร้ายขุดค้นพบในเจดีย์โบราณที่วัดป่าแดงหลวงดอนไชยบุนนาค จังหวัดพะเยา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้พร้อมของกลางที่จังหวัดลำปาง ต่อมาหลวงอดุลยธารณ์ปรีชาไวย์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๖๙ จึงพระราชทานให้เก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร พระพุทธรูปแสดงปางสมาธิ หมายถึงการตรัสรู้ธรรม บูชาเพื่อความสุขสงบ เป็นสิริมงคล และโชคลาภ






๗. พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ

ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ สร้างขึ้นตามคติเรื่องชมพูบดีสูตร หรือพระพุทธเจ้าทรงทรมานพระยาชมพูบดี โดยทรงบันดาลพระเวฬุวันวิหารประดุจเมืองสวรรค์ และเนรมิตพระองค์ทรงเครื่องพระจักรพรรดิราช แสดงบุญญานุภาพเหนือพระยามหากษัตริย์ทั้งปวง เพื่อคลายทิฐิมานะแห่งพระยามหาชมพูกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ และทรงแสดงธรรมจนกระทั่งพระยามหาชมพูสิ้นมานะ ขอบวชเป็นพระสาวกในพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิจึงหมายถึงอำนาจ และธรรมอันเป็นแก่นสารยิ่งกว่าอำนาจแห่งทรัพย์สมบัติทั้งหลาย พระพุทธรูปทรงเครื่องยังอาจหมายถึง พระโพธิสัดว์ศรีอาริยเมตไตรย พระอนาคตพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ห้าในภัทรกัป ที่จะมาบังเกิดมาสิ้นสุดยุคของพระพุทธเจ้าโคตมะ บูชาเพื่อยศศักดิ์อำนาจ และเพื่อได้พบพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมตไตรยในอนาคตกาล








๘. พระพุทธรูปประทับรอยพระพุทธบาท

ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ พระพุทธเจ้าประทับรอยพระพุทธบาท ปรากฏในตำนานพระเจ้าเลียบโลกของล้านนา กล่าวว่า ครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดสัตว์โดยเหาะมาทางอากาศ ครั้นถึงสถานที่แห่งใดซึ่งจะเกิดบ้านเมืองเป็นที่สถิตสถาวรของพระศาสนารุ่งเรืองขึ้นในอนาคตกาล จักตรัสพยากรณ์ และเหยียบรอยพระบาทไว้ เป็นเครื่องหมายแห่งการหยั่งรากลงของพระพุทธศาสนา ซึ่งจะประดิษฐานมั่นคงยั่งยืนเป็นแก่นหลักที่ยึดเหนี่ยวของประชุมชนแห่งนั้น พระพุทธเจ้าในอดีต และอนาคตทุกพระองค์ทรงบำเพ็ญพระจริยวัตรเป็นพุทธประเพณีอย่างเดียวกันทั้งสิ้น ที่ฐานพระพุทธรูปจึงทำรอยพระบาทซ้อนกัน ๔ รอย หมายถึงรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าที่ทรงถือกำเนิดแล้วในภัทรกัปปัจจุบันนี้ ๔ พระองค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสปะ และพระโคตมะ การสักการบูชาพระพุทธรูปประทับรอยพระบาทจึงเสมือนการถวายอภิวาทพระพุทธเจ้าพร้อมกัน ๔ พระองค์ คติการบูชาเพื่อความมั่นคงในพระพุทธศาสนา









๙. พระพุทธรูปปางโปรดมหิศรเทพบุตร

ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕ พระพุทธรูปจงกรมเหนือเศียรมหิศรเทพบุตร หรือพระศิวะ ทรงโคนนทิ สร้างตามคติพระพุทธองค์ทรงทรมานมหิศรเทพบุตร ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์โลกบัญญัติ คัมภีร์โลกสัณฐานโชตรตนคัณฐี และคัมภีร์ไตรโลกวินิจฉยกถา มีความกล่าวว่า มหิศรเทพบุตรมีความไม่พอใจที่เทวดาทั้งหลายไปนบนอบต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไปท้าประลองฤทธานุภาพด้วยการซ่อนกาย มหิศรเทพบุตรไม่อาจซ่อนตนจากรพระญาณของพระพุทธองค์ได้ ครั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงฤทธิ์อันตรธานหายไป มหิศรเทพบุตรหาไม่พบ จึงยอมจำนน พระบรมศาสดาได้ตรัสเทศนาจนมหิศรเทพบุตรบรรลุธรรม ภายหลังพุทธปรินิพพาน มหิศรเทพบุตรได้เนรมิตพระพุทธปฏิมาเทินไว้เหนือเศียร อัญเชิญไปประดิษฐานยังพระมหาวิหารบนเขามันทคีรี มหิศรเทพบุตรจึงเป็นผู้ทรงพระพุทธองค์ไว้เหนือเศียรเกล้า บูชาเพื่อขจัดมิจฉาทิฐิ หรือความเห็นผิด





เปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม – วันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เวลา ๙.๐๐ น. – ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓, ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๗๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔ ๑๔๐๔





พระพุทธรัตนมหามุนี หรือ พระแก้วน้อย

พระพุทธรูปศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ องค์พระพุทธรูปจำหลักจากอัญมณีเนื้ออ่อนแก้วสีเขียว พุทธศิลป์ล้านนาสมัยหลัง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับถวายจาก พ.ต.อ.อานนท์ อาขุบุตรและครอบครัว พระราชทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔



พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์แดงทั้งคู่

ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔ เป็นพระพุทธรูปมงคลด้วยวัตถุพิเศษ ตามดำนานพระแก่นจันทน์ ว่าด้วยสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดายังดาวดึงส์สวรรค์เป็นเวลา ๓ เดือน พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงอนุสรณ์ถึงพระพุทธองค์ จึงโปรดให้สร้างพระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ขึ้นในครั้งนั้น พระแก่นจันทน์จึงเป็นรูปแทนเสมือนองค์พระพุทธเจ้า เพราะสร้างในขณะพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าแผ่นดินและผู้มีอำนาจวาสนา จึงมักสร้างพระพุทธรูปจากไม้จันทน์หอมพระไม้แก่นจันทน์แดงทั้งคู่นี้ แสดงปางประทานอภัย มีความหมายถึงการปกป้องภยันตรายทั้งปวง













จิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ราว พ.ศ. ๒๓๓๘ – ๒๓๔๐ เป็นภาพเล่าเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติ มีทั้งหมด ๒๘ ภาพ เขียนเป็นภาพแบบ ๒ มิติ ใช้สีฝุ่นผสมกาว ตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณี โครงสีส่วนใหญ่เป็นสีแดง ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทำการเขียนซ่อมในส่วนที่ชำรุด จึงทำให้มีอิทธิพลจีนเข้ามาปรากฎในภาพตามความนิยมในยุคสมัยนั้น รวมทั้งวิธีการจัดภาพแบบ "Bird’s eye view" ซึ่งเป็นวิธีการมองภาพจากที่สูงลงมาทำให้เห็นภาพได้กว้างไกล แต่ยังคงรักษารูปแบบวิธีการเขียนภาพแบบ ๒ มิติ ตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณีอยู่







การวางภาพแบ่งเขียนเป็น ๒ ส่วน ส่วนบนเหนือกรอบประตูและหน้าต่างขึ้นไปทั้ง ๔ ด้าน เขียนภาพเทพชุมนุม ผนังตอนล่างระหว่างช่องประตูและหน้าต่าง เขียนภาพพุทธประวัติ การวางภาพซับซ้อนตามลักษณะโครงสร้างการวางภาพแบบโบราณ จัดท่าทางของภาพกลุ่มคนเป็นแบบนาฏลักษณ์ สีที่ใช้ในการเขียนเป็นแบบสีฝุ่น พื้นสีค่อนข้างหนัก โครงสีส่วนรวมมองเป็นสีแดงและสีม่วง ใช้กรอบสินเทาและพื้นสีในกรอบเน้นลำดับความสำคัญของภาพ ไม่นิยมใช้สีทองปิดประดับบริเวณที่ต้องการจะเน้น แต่นิยมปิดทองเฉพาะบางส่วน ภายในภาพจะสอดแทรกสภาพสังคม ประเพณี และระเบียบแบบแผนต่าง ๆ ในยุคสมัยนั้น













ถ่ายรูปมาเยอะมากค่ะ ที่นี่ไม่ค่อยได้เปิดให้เข้าชมด้านใน แทบจะเรียกว่า ๑ ครั้งต่อปีก็ได้ ส่วนมากเป็นช่วงปีใหม่ของทุกปี







ตู้พระธรรมลายรดน้ำ







เรื่องรามเกียรติ์ ชุดหนุมานอาสา ตั้งแต่พระรามรบกับทศกัณฐ์



ตอนทศกัณฐ์ลงสวน นางสีดาผูกคอตาย



ตอนทศกัณฐ์ลงสวน ไปหานางสีดา



ภายในงามวิจิตรมากค่ะ จะมีที่ไหนคะแบบนี้ นอกจากที่บ้านเรา...เมืองไทย



อนุญาตให้ถ่ายรูปได้ แต่งดใช้แฟลช ปีที่แล้วเรามา ใช้กล้องคอมแพค ภาพไหวเบลอหมดเลย...









เขียน Baht ผิดเนาะ









ออกมาแล้วค่ะ



ภาพสุดท้ายแล้วค่ะ



เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน... ถ้ามีโอกาสแวะไปนะคะ 
Create Date :24 มกราคม 2555 Last Update :2 มีนาคม 2562 14:49:33 น. Counter : Pageviews. Comments :66