bloggang.com mainmenu search
เล่าให้ฟังบล็อกก่อนหน้านี้ว่า มาลงแถววัดโพธิ์ตอนเที่ยงของวันที่ 28 เมษายน 2562

ซ้อมใหญ่ริ้วขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค จะเริ่มตอน 16.30 น.

แดดร้อนมาก แต่ฟ้าสวย เดินเล่นรอเวลาละกันค่ะ

12.16 น. ลงรถเมล์แถว ๆ นี้ค่ะ



อาคารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ตัวอาคารสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบปัลลาดีโอ ตั้งแต่ พ.ศ. 2466 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ ๆ เคยเป็นสวนเจ้าเชตุ และวังท้ายหับเผย ถือเป็นอาคารอนุรักษ์แห่งหนึ่ง โดยครั้งก่อตั้งใช้ชื่อว่า กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์






เส้นทางเดินคล้าย ๆ แบบนี้ค่ะ เข้าออกได้หลายซอย



สวนสราญรมย์



หลอดวัดราชนัดดา - คลองคูเมืองเดิม





ประดับดอกไม้ ปรับภูมิทัศน์ เพื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 



ถนนอัษฎางค์



อาคารบ้านเรือนตลอดจนห้องแถวริมถนนอัษฎางค์ มีความสวยงามและควรค่าแก่การอนุรักษ์

ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน-โปรตุเกส









12.27 น. ถึงแล้วค่ะ สุสานหลวงวัดราชบพิธ





กำลังบูรณะ



ด้านหน้าพระอุโบสถ กำลังบูรณะประดับกระจก



เพิ่งสังเกตว่า ถ่ายรูปหนักขวา - สายตาเอียงนิดหน่อย แต่ถ่ายรูปมาเหมือนเอียงเยอะเลย 121



ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 จะเสด็จพระราชดำเนินโดยพยุหยาตราทางสถลมารคมายังวัดราชบพิธ

เพื่อทรงนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ และถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 

พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 

และพระราชสรีรางคารสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7































พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5













วัดราชบพิธ







คลองคูเมืองเดิม - คลองหลอด 

อนุสาวรีย์หมู หรือมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อนุสาวรีย์สหชาติ เป็นอนุสาวรีย์รูปหมู ตั้งอยู่ริมคลองคูเมืองเดิม ในส่วนของคลองหลอด อยู่ที่เชิงสะพานปีกุน ฝั่งตรงข้ามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ริมถนนราชินี แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร ออกแบบโดยสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2456 เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา ซึ่งพระองค์พระราชสมภพใน ปีกุน ในวันเฉลิมพระชนมายุของพระองค์ในปีนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงร่วมกับพระยาพิพัฒน์โกษา (เศเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) ซึ่งเกิดปีเดียวกันกับพระองค์ ร่วมกันจัดสร้างสะพานปีกุน และ อนุสาวรีย์สหชาติขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ของพวกท่าน

เมื่อแรกสร้างนั้นใช้แท่งศิลาขนาดใหญ่มาซ้อนกันเป็นฐาน ตัวหมูที่ตั้งอยู่ด้านบนแท่งศิลา หล่อด้วยโลหะ ในปัจจุบันฐานศิลาถูกเปลี่ยนมาเป็นปูนซีเมนต์ และก่อยกให้สูงขึ้นกว่าเดิมลักษณะเป็นภูเขา



สะพานปีกุน เป็นสะพานสำหรับคนเดินข้ามคลองคูเมืองเดิม เชื่อมระหว่างถนนอัษฎางค์และถนนราชินี ตรงหน้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและกระทรวงมหาดไทย ฝั่งถนนอัษฎางค์ และหน้าวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ฝั่งถนนราชินี โดยมีอนุสาวรีย์หมูอยู่บนฝั่งคลองด้านตะวันตกใกล้เชิงสะพาน เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานมีลักษณะเป็นเหล็กกลมทอดไปตามยาว คั่นด้วยเสาคอนกรีตเป็นระยะ ลักษณะที่น่าสนใจ คือ เสาที่เชิงสะพานทั้งสองฝั่ง มีทั้งหมด 4 ต้น เป็นเสาคอนกรีตเซาะร่องหัวเสาเป็นรูปถ้วยประดับช่อมาลามีวงรูปไข่ 4 วงทุกเสา มีความหมายถึง ต้นเสา หมายถึง เทียนประทีปพระชันษาเป็นตะเกียงไม่มีแสง จะได้หมายความถึง 4 รอบพรรษานี้ เมื่อขาดพระราชสวามีไปก็คล้ายดวงชวาลาที่อับแสง ขาดความรุ่งโรจน์



วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม



กำลังบูรณะ - พระอุโบสถปิด





พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท เป็นพระที่นั่งที่ตั้งอยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังด้านทิศตะวันออก ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์ กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์ ซึ่งพระที่นั่งองค์นี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2327 เดิมเรียกว่า "พลับพลาสูง" ต่อมาใน พ.ศ. 2361 - 2370 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อและสร้างใหม่เป็นปราสาท พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งสุทไธสวรรย์" ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใน พ.ศ. 2396 และพระราชทานนามใหม่ว่า "พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท" และโปรดให้นับเป็นพระที่นั่งหนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์



ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล ในวันที่ 6 พฤษภาคม 2562 ฤกษ์เวลา 16.30 น.



พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 

พระราชวังสราญรมย์ (เคยใช้เป็นกระทรวงการต่างประเทศ)



พระบรมมหาราชวัง



อาคารที่ทำการกระทรวงกลาโหม ออกแบบโดย นายโยคิม แกรซี เป็นอาคาร 3 ชั้น งดงามด้วยสถาปัตยกรรมโอคลาสิคแบบนีโอปัลลาเดียน ลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรม คือผัง มีลักษณะเกือบสี่เหลี่ยมจตุรัสโอบล้อมลาน อาคารหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเน้นทางเข้าด้วยมุขหน้าจั่ว ทรงโรมันตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นรูปช้างอยู่ภายในกงจักรขนาบข้างด้วยคชสีห์และราชสีห์ถือฉัตร ถัดรูปช้างขึ้นไปเป็นตราพระเกี้ยวปิดทอง ส่วนใต้รูปช้างลงมาเป็นรูปชายแพรทาสีฟ้าสดใส ถัดจากหน้าจั่วลงมาเเป็นป้ายชื่อกระทรวงกลาโหม หน้าต่างบริเวณชั้น 3 ของมุขนี้ทำพิเศษกว่าหน้าต่างส่วนอื่น คือ เป็นหน้าต่างบานโค้งส่วนที่เป็นช่องแสงติดกระจกสีต่าง ๆ ส่วนหน้าต่างบานอื่น ๆ ซึ่งมีโดยรอบตึกเป็นหน้าต่างบานไม้ทาสีไข่ไก่กรอบหน้าต่างทาสีน้ำตาล มีปูนปั้นประดับแตกต่างกันแต่ละชั้น คือชั้นที่ 1 ปูนปั้นเป็นรูปคล้ายการเรียงหิน ชั้นที่ 2 ปูนปั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ชั้นที่ 3 ปูนปั้นเป็นรูปวงโค้ง



บริเวณมุขชั้นที่ 2 มีระเบียงขนาดใหญ่ต่อยื่นมาจากตัวตึกรองรับด้วยเสากลมขนาดใหญ่ หัวเสาแบบโรมัน รองรับเป็นระยะ ๆ แถวละ 6 ต้น มีทั้งสิ้น 2 แถว ด้านหน้าของระเบียงใหญ่ประดับด้วยสัญลักษณ์สามเหล่าทัพ คือ กงจักร สมอ และปีกอยู่บนพื้นรูปสี่เหลี่ยมสีทอง ทางด้านซ้ายและขวาของรูปสัญลักษณ์มีอักษณคำโคลงสยามานุสติ ด้านหน้าอาคารเป็นสนามหญ้ากว้างตกแต่งด้วยปืนใหญ่โบราณหลายกระบอกกึ่งกลางสนามเป็นเสาธงขนาดใหญ่







มองเห็นเสาชิงช้า







ศาลหลักเมือง





13.24 น. ปักหลักรอดูซ้อมใหญ่ริ้วขบวนฯ แถวนี้ล่ะค่ะ



สะพานช้างโรงสี  เป็นสะพานที่สร้างข้ามคลองคูเมืองเดิม เชื่อมระหว่างถนนราชินี บริเวณหลังกระทรวงกลาโหม กับถนนอัษฎางค์ ด้านหน้ากระทรวงมหาดไทย ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น สะพานช้างโรงสีเป็นสะพานที่สร้างสำหรับกองทัพช้างศึกที่กลับมาจากการทำศึกสงครามเดินข้ามเพื่อเข้าเขตราชธานี ซึ่งเดิมมีสะพานที่สร้างสำหรับช้างเดินข้ามมีทั้งสิ้น 3 สะพาน คือ สะพานช้างวังหน้า ซึ่งปัจจุบันคือ บริเวณเชิงลาดสะพานพระปิ่นเกล้า, สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมบริเวณปากคลองตลาด ซึ่งปัจจุบัน คือ สะพานเจริญรัช 31 และสะพานช้างโรงสีแห่งนี้ ซึ่งในอดีตตั้งอยู่ใกล้กับโรงสีข้าวของฉางหลวงแห่งพระนคร ผู้คนในสมัยนั้นจึงเรียกกันติดปากว่า "สะพานช้างโรงสี" และได้เป็นสะพานเพียงแห่งเดียวที่ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่



จนเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงบูรณะจากเดิมที่เป็นสะพานไม้แผ่นหนาวางพาดเปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ราวสะพานทำเป็นลูกแก้วปูนหล่อ ช่วงปลายสะพานทั้งสี่มุมเป็นประติมากรรมปูนปั้นรูปหัวสุนัข มีจารึกคำว่า ศก ๑๒๙ อันหมายถึง ปีจอ และรัตนโกสินทร์ศก 129 (พ.ศ. 2453) ซึ่งเป็นทั้งปีนักษัตรประสูติของพระองค์และตรงกับปีที่บูรณะซ่อมแซมสะพานอีกด้วย




 

Create Date :03 พฤษภาคม 2562 Last Update :3 พฤษภาคม 2562 16:19:09 น. Counter : 2327 Pageviews. Comments :29