bloggang.com mainmenu search



ตั้งใจว่า...
จะมาไหว้พระที่วังหน้าทุกปี ปีนี้ ไม่มีเวลาเลย (บ่นเหมือนปีที่แล้ว)

จนเกือบจะครบกำหนดเวลาที่เค้าเปิดให้สักการะ ...  มาช้า แต่ก็มา   Smiley


ที่เคยมา เคยอัพบล็อกไปแล้ว

ครั้งที่ ๑ ๙ พระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

ครั้งที่ ๒ ไหว้พระพุทธรูปวังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๕๕๖

ครั้งที่ ๓ นบพระนวรัฐ พระปฏิมา ๙ แผ่นดิน

ครั้งที่  ๔ สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

ครั้งที่  ๕ ศุภวารกราบกรานพุทธบูชา วัสสวานร ๒๕๕๙

ครั้งนี้ ครั้งที่ ๖ ปีที่ ๖ ที่เรามา (ทางกรมศิลป์ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ ๗ แล้ว)


สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

'กราบบูชา พระพุทธปฏิมา ในพระมหากรุณา พระมหากษัตริยาธิราชเจ้า'


ระหว่างวันที่  ๒๖  ธันวาคม  ๒๕๕๙ - ๓๑  มกราคม ๒๕๖๐

เวลา ๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น.

ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร







๑๙ มกราคม ๒๕๖๐ เรานั่งรถเมล์มาวันธรรมดา สะดวกที่สุด

รถเมล์จอดตรงวัดโพธิ์ (ปิดถนน) ลงเดินต่อ เลาะมาตามกำแพงวัดพระแก้ว



ผ่านประตูอนงคารักษ์




ประตูทางเข้าวัดโพธิ์




ท่าเตียน




มีมอเตอร์ไซด์ รับ-ส่ง ฟรีค่ะ แต่อยากเดิน...




หน้าสวนนาคราภิรมย์ ล้อมรั้วไว้นานแล้ว เพิ่งเห็นข่าวจาก //www.dailynews.co.th/politics/374335

ว่าจะก่อสร้างอาคารจอดรถ  สามารถจอดได้ ๗๐๐ คัน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว... 

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินบริเวณนี้ แต่งชุดสีดำ ถวายความอาลัยด้วยค่ะ






สำหรับคนที่มาถวายบังคม พระบรมศพ ขาออกจะออกที่ประตูเทวาภิรมย์

ใครที่ขอยืมผ้าถุง นำมาคืนตรงนี้ได้เลยค่ะ ไม่ต้องเดินไปคืนที่จุดยืมครั้งแรก




ยังมีมอเตอร์ไซด์ บริการ รับ - ส่ง ฟรี เช่นเคย




ขวามือของประตูเทวาภิรมย์ ออกมาแล้ว แวะรับของที่ระลึกที่ซุ้มจิตรลดาค่ะ




หน้าท่าราชวรดิฐ






๑๑.๒๗ น. วันที่ ๑๙ มกราคม  ๒๕๖๐  วันนี้ร้อนมาก แสบหน้าไปหมด




กำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร ถนนหน้าพระลาน




ประตูวิเศษไชยศรี




ถึงตรงนี้ เรากะว่าจะเดินเลี้ยวซ้าย เลาะไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเลย -- รั้วเหล็กกั้น ห้ามผ่านค่ะ



ต้องเดินตรงขึ้นมาตรงแยก ศาลหลักเมือง แล้วเลี้ยวซ้ายที่หัวถนนมาตามสนามหลวง



ฝั่งศาลฎีกา



รถโบราณของเจษฎาเทคนิคมิวเซียม มาส่ง - ขากลับ เราก็นั่งรถคันนี้ไปลงวัดพระแก้ว ฝั่งถนนสนามไชยเหมือนกันค่ะ



วันที่ ๒๐ - ๒๑ มกราคม ครบ ๑๐๐ วันสวรรคตในหลวง รัชกาลที่ ๙ งดให้เข้าถวายบังคมพระบรมศพ

วันนี้ ๑๙ มกราคม คนเยอะมาก




ร้อนแค่ไหน... มีแจกร่มให้ยืมด้วยค่ะ




เราเดินตัดสนามหลวงตรงนี้ไป หน้าธรรมศาสตร์




ถึงแล้ว เที่ยงพอดีค่ะ





กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมพิเศษ

สักการะพระพุทธรูป ณ วังหน้า พระปฏิมาแห่งแผ่นดิน

“กราบบูชาพระพุทธปฏิมาในพระมหากรุณาพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า”

โดยได้คัดสรรพระพุทธรูป ๙ องค์ ที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับบุรพมหากษัตริย์ในดินแดนประเทศไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ให้ประชาชนกราบสักการะบูชา ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ - ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐

ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร




พระพุทธสิหิงค์

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะสุโขทัย - ล้านนา ปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

ชนิด  สำริด กะไหล่ทอง

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๑๓๕ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๖๓ เซนติเมตร องค์พระสูง ๗๙ เซนติเมตร

ประวัติ  ของหลวงพระราชทานมา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

สถานเก็บรักษา  สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงอัญเชิญมาจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๘
ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล กรุงเทพมหานคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย






พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑

ชนิด  สำริด ปิดทอง

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๒๖ เซนติเมตร

ประวัติ  ของหลวงพระราชทานมา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

สถานเก็บรักษา  คลังประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ตามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจำนวน ๓๔ ปาง (องค์) เพื่อถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี พระองค์กำหนดให้พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรเป็นพระพุทธรูปประจำสยามรัชกาลที่ ๑๘ คือรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช



พระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๔

ชนิด  ทองเหลืองรมดำ

ขนาด  สูงรวมฐาน ๓๘.๙ เซนติเมตร

ประวัติ  นายเล็ก วิจิตรภัทร มอบให้เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๔

สถานเก็บรักษา  คลังประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา

พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วนี้ เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกข้อความให้พระพุทธรูปปางจงกรมแก้วเป็นประหนึ่งพระพุทธรูปประจำรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา



พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ ๒๕

ชนิด  สำริด

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๓๔.๘ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๒๒.๔ เซนติเมตร

ประวัติ  รับมอบจากกรมศุลกากร

สถานเก็บรักษา  คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชอุทิศพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นจำนวน ๓๔ ปาง ถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลต่าง ๆ ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา (เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง พระหัตถ์ทั้งสองประทับพระอุระทำทุกรกิริยา) ถูกกำหนดให้เป็นพระพุทธรูปประจำสยามรัชกาลที่ ๓๔ คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช



พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะล้านนา กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑

ชนิด  สำริด

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๕๕.๕ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๓๑ เซนติเมตร

ประวัติ  เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาแต่เดิม

สถานเก็บรักษา  ห้องล้านนา พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ขึ้น ๓๔ องค์ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงจารึกพระนามเพิ่มเติมอีก ๓ องค์ รวมทั้งหมด ๓๗ องค์ ซึ่งพระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิเพชร ถือเป็นพระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์



พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะล้านนา พุทธศักราช ๒๐๑๙

ชนิด  สำริด

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๘๕ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๓๖.๕ เซนติเมตร

ประวัติ  ของหลวงพระราชทานมา เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

สถานเก็บรักษา  พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร (ประจำวันเกิด) ของพระองค์ ซึ่งตรงกับวันพฤหัสบดี คือ พระพุทธรูปปางสมาธิราบ แต่ทรงมีพระราชนิยมในการหล่อพระพุทธรูป “ประทับขัดสมาธิเพชร” ทางกรมศิลปากรจึงคัดเลือก พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร มาให้ประชาชนสักการะและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๔ ในวาระขึ้นปีใหม่นี้






พระพุทธรูปปางขอฝน

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๖

ชนิด  โลหะผสมรมดำ

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๘๖ เซนติเมตร 

ประวัติ  เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ ปุ้ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวังถวายพร้อมทั้งตู้แปดเหลี่ยมสลักปิดทอง
เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐

สถานเก็บรักษา  ห้องรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษาในปางขอฝน (พระคันธารราฐ) ตามความที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนว่า ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ พระพุทธรูปที่เหลือจากทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนมีอยู่สองปาง คือ พระลองหนาว และพระคันธารราฐ จึงได้ทรงเลือกพระคันธารราฐเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา

พระพุทธรูปปางขอฝน (พระคันธารราฐ) ประจำพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งแบบวัชราสนะเหนือปัทมาสน์กลีบบัวคว่ำและกลีบบัวหงาย มีเกสรบัวประดับทั้งตอนบนและตอนล่าง บริเวณฐานมีตราพระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ แต่เนื่องจากในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่มีพระพุทธรูปปางขอฝนประทับนั่ง จึงใช้พระพุทธรูปปางขอฝนประทับยืนในการจัดแสดงครั้งนี้แทน



พระพุทธรูปปางลองหนาว

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓

ชนิด  สำริด

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๒๗.๕ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๒๐ เซนติเมตร

ประวัติ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน เมื่อ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๙

สถานเก็บรักษา  คลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหาธีรราชเจ้า หรือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๖ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างพระปางลองหนาว เหตุที่เลือกปางนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีทัศนะว่า “เป็นปางที่สมควรแก่พระประสูติมงคลสมัยอันมีในเหมันตฤดูกาล”



พระพุทธรูปปางสมาธิใต้ร่มโพธิ์เหนือมารผจญ

แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑

ชนิด  สำริด

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๔๓ เซนติเมตร  หน้าตักกว้าง ๑๐.๒ เซนติเมตร

ประวัติ  เป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เดิมอยู่ที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

สถานเก็บรักษา  ห้องอยุธยา อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

การน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งเสด็จสวรรคตในวันพฤหัสที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ พระพุทธรูปประจำวันพฤหัส คือ พระพุทธรูปปางสมาธิ

พระพุทธรูปปางสมาธิที่มีลักษณะพิเศษองค์นี้ จึงสมควรแก่การนำมาประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เพื่อให้ประชาชนสักการะบูชาและเพื่อน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช






พระพุทธรูปปางห้ามญาติ


แบบศิลปะ / อายุสมัย  ศิลปะสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๒๐

ชนิด  สำริด ปิดทอง

ขนาด  สูงพร้อมฐาน ๗๗ เซนติเมตร 

ประวัติ  เป็นของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาแต่เดิม

สถานเก็บรักษา  ห้องรัตนโกสินทร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นัยแห่งการบูชา  เพื่อน้อมรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ถือเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ เนื่องด้วยพระองค์ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๙๕ พระพุทธรูปปางห้ามญาตินี้ เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ ทางกรมศิลปากรจึงคัดเลือกมาให้ประชาชนร่วมกันบูชาเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่๑๐ แห่งบรมราชจักรีวงศ์

ข้อมูลจาก  //www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9590000128873









มีนักศึกษามาวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่อยู่บ่อย



ปีนี้ ไม่มีหนังสือขายที่พระที่นั่งฯ  เจ้าหน้าที่บอกว่า มีขายที่ห้องธุรการ เราเดินไปดู ... แต่ไม่ได้เปิดประตูเข้าไป (ห้องทำงานเค้าอ่ะเนาะ)















ต้นข่อย ดัดเป็นรูปช้าง ตรงบันไดทางขึ้น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์




ศาลาสำราญมุขมาตย์




พระตำหนักแดง


ตอนหน้า... นิทรรศการ "ทรงสถิตย์ในดวงใจไทยนิรันดร์"




Create Date :23 มกราคม 2560 Last Update :23 มกราคม 2560 17:47:29 น. Counter : 4755 Pageviews. Comments :40