happy memories
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
11 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์

อ่านข่าวนิทรรศการ '๑oo ปีชาตกาล เฟื้อ หริพิทักษ์' ในนสพ.เมื่อไม่นานมานี้ นึกอยากจะอัพบล๊อคฉลอง แต่รู้จักอาจารย์เฟื้อแค่ผิวเผิน ทั้งที่ท่านเป็นครูใหญ่วงการศิลปะของเมืองไทย เลยต้องพึ่งป๋ากูเจ้าเดิม ค้นได้หลายเวบมาก แต่ส่วนใหญ่จะมีข้อมูลแบบย่อ ๆ ไม่เหมือนที่ 'คุณนรา' หรือ 'เป็ดย่างนอกเครื่องแบบ' เขียนไว้ในเวบ manager (และในเวบ artgazine.com) เล่าชีวประวัติและผลงานแบบละเอียดยิบ พร้อมผลงานภาพวาดและภาพถ่ายครบเครื่อง ครั้นจะลงข้อมูลทั้งหมด บล็อคคงยาวเกิน (แต่อัพไปอัพมา บล๊อคก็ยาวยืดเหมียนเดิม ) เลยเลือกข้อเขียนของคุณนรามาแค่บทเดียว แล้วก็มีข้อมูลจากวิกิกับนสพ.คม ชัด ลึกที่ลงข่าวนิทรรศการ ถ้าอยากอ่านเรื่องราวของท่านโดยละเอียด ก็ตามไปอ่านในลิงค์ที่ให้ไว้ได้เลยค่ะ




ภาพจากหนังสือ "อวบ สาณะเสน ๗๒ ปี"


นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นศิลปินและจิตรกร ผู้ได้รับการยกย่องเป็น “ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๖




อาจารย์เฟื้อ (คนอยู่กึ่งกลางของภาพ)


นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เกิดเมื่อ ๒๒ เม.ย.๒๔๕๓ ที่จังหวัดธนบุรี ต่อมา พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่วัดสุทัศน์ และระดับมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร และวัดเบญจมบพิธ เข้าทำงานที่วิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร จากนั้น พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้เดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย วิศวะ – ภารติ ที่ประเทศอินเดีย รับราชการเป็นอาจารย์สอนศิลปะรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ได้สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม จนได้รับการยกย่องเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมสาขาจิตรกรรม




'ถนนฟอร์นาจี'




'สะพานที่โรม'


นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นผู้สนใจศึกษาศิลปะอย่างมุ่งมั่นลึกซึ้ง ด้วยการค้นหาแนวทางสร้างสรรค์ให้เหมาะกับการแสดงออกทางด้านจิตรกรรม ที่มีลักษณะเฉพาะตนโดยการถ่ายทอดสภาพแวดล้อม บรรยากาศ แสงเงา ประกอบกับความคิดคำนึงเรื่องสีสันที่เป็นลักษณะตามสายสกุลศิลปะยุโรป (อิตาลี) ใช้ฝีแปรงที่ฉับพลัน ดังปรากฏในผลงานจิตรกรรมมากมาย อาทิ จิตรกรรมทิวทัศน์เมืองเวนิชที่อิตาลี ทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่ ภาพเหมือนคุณยายของฉัน ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ฯลฯ




'สัญลักษณ์ของเวนิช'




'นครเวนิซ'




'คุณยายกับอีสี', ๒๔๘๒
สีน้ำมันบนผ้าใบ, ๕๐ x ๔๐ ซม.
สมบัติของนายขรรค์ชัย บุนปาน
Grandmother and her cat, 1958
Oil on canvas, 50 x 40 cm.


นอกจากนี้ นายเฟื้อ หริพิทักษ์ ยังทำการสำรวจโดยคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังตามวัดสำคัญที่เป็นโบราณสถาน เก็บไว้เป็นหลักฐานมรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของชาติ มีผลงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมสำคัญในวัดทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น ๒๓,๐๐๐ วัด ผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือการบูรณะปฏิสังขรณ์หอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม




หอไตร วัดระฆัง




ภาพเขียนของพระอาจารย์นาคในหอไตร วัดระฆัง




ภาพคัดลอกโดยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์


นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า "ข้าพเจ้าทำศิลปะด้วยใจรัก เลื่อมใสและจริงใจ มิได้ทำไปเพราะอามิส ข้าพเจ้าทำศิลปะ เพื่อศึกษาค้นคว้าหาความจริงในความงามอันเร้นลับอยู่ภายใต้ สภาวะธรรมฯ ผลงานอันเกิดจากกำลังกาย กำลังความคิด และกำลังใจของข้าพเจ้า ขอน้อมอุทิศให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า"




'น้ำเงิน-เขียว', ๒๔๙๙
สีน้ำมันบนผ้าใบ, ๘๕ x ๖๗ ซม.
สมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์
Oil on canvas, 85 x 67 cm.


อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ได้เขียนถึงอาจารย์เฟื้อไว้ดังนี้ “ในระยะเวลาที่ฝึกฝนศิลปนั้น แบบงานศิลปของเฟื้อ จัดเข้าอยู่ในลัทธิ “อิมเพรสชั่นอิสม์” คำว่า “อิมเพรสชั่นอิสม์” นี้นั้น ไม่ควรเข้าใจไปว่า เป็นการเอาอย่างสกุลช่างฝ่ายอิมเพรสชั่นอิสม์ของยุโรป “อิมเพรสชั่นอิสม์” หมายถึงการถ่ายทอดความประทับใจของศิลปินที่ได้รับจากธรรมชาติ จากวัตถุ หรือสิ่งใดก็ตาม แล้วบันทึกลงไปอยู่ในเส้น ในสี หรือปริมาตรอันเป็นปึกแผ่น ความประทับใจนี้เป็นส่วนตัวโดยแท้ ฉะนั้นเอง งานที่แสดงออกอย่างประทับใจของศิลปินแต่ละคน จึงไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับผลงานภาพถ่ายเลย งานของศิลปินนั้นสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ส่วนบุคคล ดังนั้นลัทธิอิมเพรสชั่นอิสม์จึงหมายถึง การแสดงออกต่อสิ่งที่เราเห็นอย่างจริงใจ และต่อสิ่งที่เรารู้สึกโดยปราศจากความคิดทางด้านพุทธิปัญญาเข้ามาแทรกแทรง"


ชีวิตสมรส : สมรสกับหม่อมราชวงศ์ ถนอมศักดิ์ กฤดากร มีบุตร ๑ คน คือ นายทำนุ หริพิทักษ์

เกียรติยศ : ศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาจิตรกรรม ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. ๒๕๒๘





การศึกษา


เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่วัดสุทัศน์ - ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรและโรงเรียนวัดราชบพิธ
๒๔๗๔ - ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่าง
๒๔๗๙ - ศึกษาศิลปะที่โรงเรียนประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร
๒๔๘๓ - ศึกษาศิลปะที่มหาวิทยาลัยวิศวะภารติ ณ สันตินิเกตัน ประเทศอินเดีย โดยทุนของ ม.ร.ว. ถนอมศักดิ์ กฤดากร
๒๔๙๗ – ๙๙ - ได้รับทุนจากรัฐบาลอิตาลีไปศึกษาและดูงานที่ประเทศอิตาลี
๒๕๐๓ - ไปร่วมประชุม ไอ.พี.เอ. ที่เวียนนาและไปดูงานต่อที่ลอนดอน ปารีส อินเดีย





การแสดงงาน


๒๔๘๙ - การประกวดของคณะศิลปินแห่งค่ายกักกัน อินเดีย
๒๔๙๑ - แสดงภาพคัดลอกภาพเขียนโบราณ ณ สถานทูตไทย ลอนดอน
๒๔๙๒ - การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑ หอศิลป กรมศิลปากร
๒๔๙๓ - การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ หอศิลป กรมศิลปากร
๒๔๙๕ - การแสดงภาพคัดลอกภาพเขียนสีโบราณ มหาวิทยาลัยศิลปากร
๒๔๙๖ - การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๔ หอศิลป กรมศิลปากร
๒๕๐๐ - การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ หอศิลป กรมศิลปากร
๒๕๐๒ - แสดงงานร่วมกับการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๐ หอศิลป กรมศิลปากร
๒๕๑๐ - แสดงงานเดี่ยว หอขวัญ กรุงเทพฯ





รางวัลเกียรติยศ


๒๔๘๙ - รางวัลที่ ๑ และรางวัลที่ ๒ การประกวดของคณะศิลปินแห่งชาติ ค่ายกักกัน อินเดีย
๒๔๙๒ - รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑
๒๔๙๓ - รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๒
๒๔๙๖ - รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๓ เหรียญทองแดง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๔
๒๕๐๐ - รางวัลเกียรตินิยมอันดับ ๑ เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ - ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม ประเภทจิตรกรรม
๒๕๒๓ - ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตกรรม
๒๕๒๖ - ได้รับรางวัลแม็กไซไซ สาขาบริการชุมชน จากมูลนิธิแม็กไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์





การทำงาน


๒๔๙๐ – ๒๕๑๒ เป็นอาจารย์สอนวิชาจิตรกรรมที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร - เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ หัวหน้าภาควิชาจิตรกรรม - เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปไทย ทำการซ่อมอนุรักษ์และคัดลอกภาพเขียนโบราณที่ อยุธยา เพชรบุรี สุโขทัย และจังหวัดภาคเหนือ
๒๕๒๒ - เป็นกรรมการคัดเลือกงานศิลปะ เพื่อส่งไปแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย ของศิลปินแห่งเอเซียปี ๒๕๒๓ ณ ประเทศญี่ปุ่น
๒๕๒๘ - ร่วมวิจัยกับโครงการวิจัยของสถาบันไทยคดีศึกษา เรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าภาพจิตรกรรมฝาผนังไทย" จนเสร็จสมบูรณ์ - เป็นนักวิจัยอาวุโสด้านศิลปกรรมไทย ของสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายเฟื้อ หริพิทักษ์ เสียชีวิตเมื่อ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖




'ใบหน้า', ๒๔๙๙
สีน้ำมันบนผ้าใบ
สมบัติของอาจารย์สาคร โสภา
Face, 1956
Oil on canvas.


ข้อมูลจากเวบ wikipedia.org









ภาพจากหนังสือ "อวบ สาณะเสน ๗๒ ปี"


แม้ว่า "นิทรรศการชีวิตและผลงาน เฟื้อ หริพิทักษ์" ที่จัดขึ้นในวาระที่อาจารย์เฟื้อมีอายุครบ ๑oo ปี บริเวณหอศิลป์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร วังท่าพระ จะรูดม่านปิดฉากไปแล้ว หากแต่ความทรงจำเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ผู้ได้รับการยกย่องในฐานะ "ครูใหญ่ในวงการศิลปะ" ยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำของลูกศิษย์ลูกหาและเพื่อนร่วมงาน รวมถึงคนไทยทั้งชาติอย่างไม่มีวันลบเลือนตลอดไป




'โค้งถนน'


ภายในงานวันเปิดนิทรรศการ มีผู้มีชื่อเสียงในแวดวงศิลปะเข้าร่วมรำลึกถึงศิลปินแห่งชาติท่านนี้อย่างคับคั่ง อาทิ สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ปริญญา ตันติสุข, พิษณุ ศุภนิมิตร, ญาณวิทย์ กุญแจทอง, นิวัติ กองเพียร, ปรีชา เถาทอง และเทพศิริ สุขโสภา เป็นต้น ดร.อุทัย ดุลยเกษม อธิการบดี ม.ศิลปากร ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ กล่าวว่า

"อาจารย์เฟื้อ เป็นศิลปินที่รักการวาดภาพเหมือนและภาพทิวทัศน์ แต่ภายหลังได้หันมาอุทิศตนให้แก่ศิลปะไทย โดยสำรวจคัดลอกตามวัดวาอารามต่าง ๆ ที่ไม่มีใครสนใจ เก็บไว้เป็นหลักฐานมรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะของชาติ มีผลงานซ่อมแซมภาพจิตรกรรมสำคัญในวัดทั่วประเทศไทยทั้งสิ้น ๒.๓ หมื่นวัด ผลงานที่สำคัญชิ้นหนึ่ง คือ การบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม และศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม จ.เพชรบุรี ในโอกาสครบ ๑oo ปี อ.เฟื้อ ในปี ๒๕๕๓ นี้ ผู้ที่เคยเป็นลูกศิษย์ ผู้ที่เคยร่วมงานหรือเคารพนับถือต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ควรจัดนิทรรศการนี้ขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงคุณูปการอันใหญ่หลวง ที่ท่านได้สร้างสรรค์ไว้ให้แก่วงการศิลปกรรมไทยและร่วมสมัย โดยหวังว่านิทรรศการครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ทั้งที่เรียนศิลปะและสนใจในงานศิลปะมีความเข้าใจ และตระหนักถึงคุณค่าในผลงานของ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ต่อไป"




'ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี', ๒๔๙๙
สีน้ำมันบนผ้าใบ, ๑๐๔ x ๘๓ ซม.
สมบัติของมูลนิธิหอศิลป์ พีระศรี
Oil on canvas, 1o4 x 83 cm.


ในมุมของลูกศิษย์อย่าง รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร เล่าให้ฟังว่า อ.เฟื้อ เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของ อ.ศิลป์ พีระศรี ทั้งยังถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในยุคนั้น ลูกศิษย์ทั้งหลายยกให้ผลงานของท่านเป็นงานที่พิสดารและหาตัวจับยาก




"อาจารย์ไม่ได้เป็นนักวาดภาพอิมเพรสชั่นนิสม์แบบยุโรป แต่มีความเป็นตัวของตัวเอง ผลงานของท่านจะให้ความสำคัญกับเรื่องเส้นและสีเป็นสำคัญ เมื่อสมัยเรียนที่ศิลปากร ตอนนั้นท่านสอนเกี่ยวกับศิลปะไทย ซึ่งเป็นวิชาที่น่าเบื่อ เวลาสอนท่านมักจะหลับตาสอน พอลืมตาขึ้นมาลูกศิษย์ในห้องก็หายไปหมดแล้ว แต่พอปัจจุบันมาเป็นนักวิชาการ กลับนึกเสียดายที่ตอนนั้นไม่ตั้งใจเรียน แถมยังโดดเรียนอีกด้วย หากย้อนเวลากลับไปได้จะไม่ทำแบบอย่างนั้นเด็ดขาด" ศิษย์ อ.เฟื้อเล่าถึงวันวาน




'ฤดูใบไม้ร่วง'


ด้าน ศ.ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี ๒๕๕๒ ศิษย์มากความสามารถอีกคนของ อ.เฟื้อ กล่าวว่า "เมื่อครั้งศึกษาที่ศิลปากร ได้อะไรหลายอย่างที่อาจารย์สอน ทั้งการวาดด้วยสีน้ำ สีฝุ่น และสีน้ำมัน โดยส่วนตัวศรัทธาในความเป็นโมเดิร์นอาร์ตของท่าน ท่านจะสอนในเรื่องคอนเซ็ปต์ สุนทรียะ ทัศนคติ มุมมอง ปรัชญาความคิด บวกกับจารีต แล้วรวมออกมาเป็นอาร์ตฟอร์ม ทำให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์ผลงาน




ท่านจะสอนวิชาศิลปไทย โดยเริ่มต้นด้วยการวิจักษ์ ซึ่งก็คือ การมองให้รู้ค่าและซาบซึ้ง ก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นมุมมองของแต่ละบุคคล โดยในชั่วโมงเรียน ท่านจะพยายามตอกย้ำหลาย ๆ รอบ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้ลูกศิษย์เขียนงานออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านจะให้ความสำคัญกับการสอนให้รู้คุณค่าและประทับใจใน สิ่งที่เรียนก่อนแทนที่จะเน้นเรื่องเทคนิคการเขียนหรือการวาดรูป ซึ่งเรียกว่า การถ่ายทอดจิตวิญญาณผ่านอาร์ตฟอร์ม อันเป็นภูมิปัญญาของไทย ทำให้ผลงานที่ออกมามีชีวิตชีวา" ศิลปินแห่งชาติลูกศิษย์ อ.เฟื้อกล่าว

หลายคนที่พลาดนิทรรศการชีวิตและผลงาน เฟื้อ หริพิทักษ์ อย่าเพิ่งเสียใจ เพราะจะจัดใหม่อีกครั้งในงาน "สถาปนิก'๕๓" ที่ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ ๓o เมษายน - ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓




'สายัณห์ที่มารินา กรานเด คาปรี'



ข้อมูลจากเวบ คม ชัด ลึก









ภาพจากหนังสือ "อวบ สาณะเสน ๗๒ ปี"


ตำนานเด็กดื้อ


"เดิมธรรมดาผมไม่ค่อยจะเข้าประชุม ไม่เข้าอะไรกับใครทั้งนั้น ไม่ชอบ หนีอยู่คนเดียว ฉะนั้นทำอะไรพูดอะไร ไม่ค่อยจะถูก ต้องขอโทษด้วยนะครับ อย่าถือสา ก็พูดตรง ๆ อย่างนี้ ผมหวังดี ผมรักวัดสุทัศน์เหลือเกิน"

ข้างต้นเป็นคำพูดของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มีเรื่องเล่าห้อมล้อมเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นอยู่หลายประเด็น เล่าอย่างย่นย่อก็คือ อาจารย์เฟื้อได้รับเชิญเข้าประชุมร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย อันประกอบไปด้วยพระสงฆ์ คณะกรรมการทั้งไทยและเทศ รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร เมื่อวันที่ ๒o ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕




ขณะนั้นงานจิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวง วัดสุทัศน์มีสภาพทรุดโทรมเสียหาย จึงปรากฏญาติโยมบางท่าน มีจิตศรัทธาบริจาคเงินให้ทางวัดทำการบูรณะซ่อมแซม กรมศิลปากร โดยอาจารย์วรรณิภา ณ สงขลา (ท่านนี้ก็เป็นนักอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังคนสำคัญของบ้านเรา และมีผลงาน "ปิดทองหลังพระ" มากมาย) จึงเข้ามาดูแลซ่อมภาพเขียน ขั้นตอนก็เป็นไปตามหลักวิชา คือ ถ่ายภาพบันทึกหลักฐานต่าง ๆ ก่อนลงมืออนุรักษ์ คัดลอกภาพลายเส้น และเขียนคำอธิบายเก็บไว้ จากนั้นก็ทำความสะอาด ผนึกชั้นสีให้มั่นคงแข็งแรง สุดท้ายคือ เขียนสีซ่อมภาพ เฉพาะในรอยชำรุดจุดเล็ก ๆ




'ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำนัมมทาและเขาสัจจพันธคีรี'




ภาพคัดลอกสุวรรณสามชาดก โดย อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์


ส่วนบริเวณที่เสียหายหนัก ๆ เป็นจุดใหญ่นั้น ไม่มีการแตะต้องหรือเขียนต่อเติม เพื่อรักษาฝีมือครูช่างดั้งเดิม ผลก็คือ เจ้าภาพ (รวมทั้งพระเถระหลายท่านและท่านเจ้าอาวาส) เห็นว่าการซ่อมแซมดังกล่าวไม่คุ้มกับเงินบริจาค ต้องการให้เขียนซ่อมขึ้นใหม่จนเต็มสมบูรณ์หมดทั้งผนัง จึงเกิดเป็นความคิดขัดแย้ง แบ่งออกเป็น ๒ แนวทาง ฝ่ายหนึ่งประเมินว่าจิตรกรรมฝาผนัง เป็นงานศิลปะอันล้ำค่า และเป็นหลักฐานสำคัญในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี ควรทำแค่รักษาส่วนที่ยังหลงเหลือไว้ให้ดีที่สุด บริเวณใดที่เสียหายเกินกอบกู้ไปแล้ว ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามนั้น เพราะการเขียนทับใหม่ เท่ากับลบฝีมือครูช่างโบราณทิ้ง ส่วนอีกฝ่ายมองว่า โบสถ์วิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้จิตรกรรมมีสภาพแหว่งเว้าขาดวิ่น จนหมดสง่าราศี น่าจะต่อเติมให้ครบถ้วน ดูใหม่สดใส เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ศึกษาเรื่องราวทางพุทธศาสนาที่วาดไว้ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน




ภาพคัดลอกสุวรรณสามชาดก


อาจารย์เฟื้ออยู่ฝ่ายยืนกรานว่า ฝีมือครูโบราณเป็นสิ่งที่ไม่ควรต่อเติมแก้ไข ต้องรักษาไว้ในสภาพเดิมให้ดีที่สุด เท่าที่ขีดขั้นปัญญาความสามารถจะเอื้ออำนวยให้กระทำได้ การประชุมครั้งนั้น อาจารย์หยิบยกเหตุผลต่าง ๆ มาอธิบายไว้ยืดยาว ต่อสู้ยืนกรานจนถึงที่สุด และพูดไปแล้วก็เกิดอาการพลุ่งพล่านสะเทือนใจ ตามประสาศิลปินผู้มีอารมณ์อ่อนไหว และผ่านประสบการณ์ปวดร้าวนับครั้งไม่ถ้วน ในการรบรากับความคิด "รื้อของเก่าแล้วสร้างของใหม่ขึ้นแทนทับ" มายาวนานร่วมครึ่งค่อนชีวิต เป็นการพูดแบบเปลื้องเปลือยหัวใจออกมาตีแผ่จนหมดเปลือก ร่วมกับครูบาอาจารย์และนักวิชาการหลายๆ ท่าน กระทั่งท้ายที่สุด ทางวัดก็ยอมรับหลักการ




ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รอยพระพุทธบาทเขาสุมนกูฏ




ภาพคัดลอกโดยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์


จิตรกรรมฝาผนังที่วิหารหลวง วัดสุทัศน์ ฝีมือครูช่างในอดีต ก็เลยรอดพ้นจากการถูกลบเพื่อวาดใหม่ หลงเหลือผลงานล้ำค่าให้เห็นสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน กรณีดังกล่าว เกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของอาจารย์เฟื้อ ที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้อีก ๒ แง่มุม อย่างแรกคือ อาจารย์เฟื้อมีความรักและผูกพันกับวัดสุทัศน์อย่างแนบแน่นลึกซึ้ง ทั้งหมดนี้สะท้อนไว้ในคำพูดของอาจารย์ ในการประชุมวาระเดียวกัน ท่านกล่าวไว้ว่า

"...ทีนี้การที่จะไปเสริมเพิ่มเข้าไปมันยาก ใครที่จะมีหัวคิดพิเศษและฉลาด มีหลายชั้นครับ ลำบากมาก จะเสียด้วย เสียเงินด้วย เสียอะไรด้วย และไม่มีผลด้วย ถ้าจะเสริมเข้าไป สำหรับที่นี่มันทำลายโดยตรง ถ้าเสริมละก็ทำลายโดยตรง ทีนี้สำหรับจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ คล้าย ๆ เป็น ขอโทษผมพูดไม่ค่อยจะดีนัก คือเป็นนายเงิน จะเอาอย่างใจของตัว แต่หารู้ไม่ว่า ตามหลักวิชาที่ถูกที่ควรเป็นอย่างไร ท่านไม่รู้ แต่มีเจตนาอย่างเดียว อยากให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ตามอารมณ์ของตัว ท่านไม่รู้ โดยเหตุนี้จะทำลายครับ ปรากฏอย่างนี้มาหลายแห่งแล้ว จนผมไม่อยากจะไปดูแล้ว แต่ที่นี้เผอิญที่นี่ ผมมาอยู่ตั้งแต่เด็ก มายุ่งกับวัดสุทัศน์ตั้งแต่เด็ก บุญเหลือเกินที่มาอยู่วัดสุทัศน์ โตก็ได้รับการศึกษาจากวัดสุทัศน์ด้วย ฟังเทศน์ ฟังธรรมอยู่ที่วัดนี้ และก็เห็นคุณค่าวัดสุทัศน์ว่าสำคัญ และในเมื่ออยู่ในชั้นโตแล้ว เมื่อได้ศึกษาทางศิลปก็รู้ว่ามีคุณค่าเหลือเกิน เหลือคณานับ สิ่งที่เราเสียไปแล้วมันก็กลับไม่ได้ สิ่งที่ยังอยู่เราควรรักษาให้อยู่นานเท่านาน มีหลักเท่านี้แหละ..."




เนื้อความเต็ม ๆ สามารถหาอ่านได้จาก "บันทึกหลักการและเหตุผลในการตรวจซ่อมพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม" ตีพิมพ์อยู่ในภาคผนวกของเอกสารการศึกษาวิจัยเรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย" โดยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ร่วมกับอาจารย์อนันต์ วิริยะพินิจ กล่าวได้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นบทสรุปรวบยอดในการทุ่มเทชีวิต เพื่อศึกษาเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังของอาจารย์เฟื้ออย่างเป็นลายลักษณ์อักษรที่สมบูรณ์สุด เป็นเอกสารที่เผยแพร่ในวงจำกัด และค่อนข้างหาอ่านยากอยู่สักหน่อย แหล่งที่ผมทราบแน่ชัดว่ามีอยู่ คือ หอสมุดแห่งชาติ (ลาดกระบังนู่นนะครับ ไม่ใช่ที่ท่าวาสุกรี) และห้องสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




ความเกี่ยวโยงถัดมา เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงนิสัยใจคออย่างหนึ่งที่เด่นชัดของอาจารย์เฟื้อ นั่นคือ ความเป็นคนดื้อรั้นจนถึงที่สุด หลังจากที่พ่อเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุ ๖ เดือนก่อนที่อาจารย์เฟื้อจะเกิด ยายทับทิมกับแม่ จึงย้ายจากแพที่ปากคลองราษฎร์บูรณะ มาเช่าห้องแถวอยู่ละแวกหลังวัดสุทัศน์

"ผมจำได้ว่า คุณยายเข้าวัดเสมอ คุณยายสอนให้ผมทำบุญใส่บาตร บ้านผมอยู่หลังวัด ผมชอบเดินไปวัดสุทัศน์ ตอนเด็ก ๆ ยังไม่รู้ความอะไรหรอก ผมชอบเดินไปตามทางที่นำไปสู่ตัวโบสถ์ มีต้นไม้ ดอกไม้ขึ้นรายทาง สวยงามมาก เหมือนกับอยู่บนสรวงสวรรค์ ผมโชคดีที่อยู่ใกล้วัด วัดนี้ก็เป็นที่กำเนิดของศิลปะ จิตรกรรมภาพฝาผนังงดงามมาก ผมคิดว่าตอนเด็ก ๆ ผมมีบุญที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี"




กล่าวได้ว่า วัดสุทัศน์มีส่วนสำคัญยิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นปลูกฝังนิสัยรักชอบในศิลปะให้แก่อาจารย์เฟื้อ เพราะเหตุนี้เอง ในระหว่างการประชุมเพื่อปกปักรักษางานศิลปะล้ำค่าของวัดนี้ เมื่ออาจารย์ล่วงเข้าสู่วัยชรา คำพูดของท่านจึงเจือด้วยอารมณ์สะเทือนใจอยู่เป็นระยะ ๆ

อาจารย์เฟื้อเรียนชั้นประถม ๑ ที่วัดสุทัศน์ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๑ จนจบชั้นประถม ๓ แล้วเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธ จนจบชั้น ม.ศ. ๓ (พ.ศ. ๒๔๖๖) ย้ายไปเรียนต่อโรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรถึงชั้น ม.ศ. ๕ (พ.ศ. ๒๔๖๘) และหวนกลับมาที่โรงเรียนวัดราชบพิธอีกครั้ง จนจบม.ศ. ๖ (พ.ศ. ๒๔๖๙) แทรกคั่นระหว่างช่วงเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตรในโรงเรียนนี้เอง อาจารย์เฟื้อก็เริ่มสนใจทางด้านวิชาวาดเขียน




"ขณะนั้นผมอายุไม่ถึง ๑o ขวบ อยู่หลังวัดสุทัศน์เป็นห้องแถวสองฟาก สมัยโน้นมีบุหรี่ซิกาแรตต์ยี่ห้อนกอินทรี ซองสีเขียว เปิดออกมามีรูปรามเกียรติ์ พวกลิงพวกยักษ์ แผ่นเท่ากับซองบุหรี่ธรรมดานี่แหละ ผมชอบไอ้ตัวหนึ่งที่จำได้ตัวแดง ๆ พวกยักษ์ ผมก็มานั่งเขียน ๆ อยู่หน้าบ้าน...ทีนี้มีช่างเขียนคนหนึ่งอยู่เพชรบุรีมาเห็นผมเขียนเข้า คล้าย ๆ ว่าเด็กคนนี้เขียนอะไรโดยไม่มีครูอาจารย์ เขียนยักษ์ ๆ มาร ๆ มันอันตราย ท่านก็เลยมาครอบให้โดยจับมือเขียนให้ ผมถือเป็นอาจารย์คนแรก"

ใครก็ตามที่เคยอ่านประวัติอาจารย์เฟื้อ ย่อมพบว่า ในการให้สัมภาษณ์หรือกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสาธารณชนทุกครั้ง ท่านมักจะรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์อยู่เสมอ ศิลปินนิรนามผู้ที่ถือเป็นเสมือนครูทางศิลปะท่านแรกนี้ก็เช่นกัน หลายปีต่อมา อาจารย์เฟื้อก็ยังจดจำได้ขึ้นใจ และพยายามสืบหาอยู่เสมอว่าท่านเป็นใคร มีชื่อเรียงเสียงไร จนกระทั่งคราวหนึ่ง เมื่ออาจารย์เฟื้อพานักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เดินทางไปค้นคว้าเรียนรู้เรื่องศิลปะไทยที่เพชรบุรี จึงสืบเสาะจนกระทั่งพบและทราบนามว่าท่านชื่อ "ระย่อม ศรีสังวาลย์"




อาจารย์เฟื้อ ถ่ายภาพหมู่พร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและอาจารย์ที่เพาะช่าง


อ่านถึงตรงนี้แล้วผมก็ตื้นตันใจ เมื่อมาคำนึงว่า อาจารย์เฟื้อพบครูระย่อมครั้งแรกตอนไม่ถึงสิบขวบ ยังเด็กเหลือเกิน และการค้นหาบุคคลที่เคยพบแค่หนเดียว ไม่ทราบชื่อ รู้ข้อมูลคร่าว ๆ แค่อาศัยอยู่จังหวัดใด มีเพียงใบหน้าของครูในความทรงจำเป็นเบาะแสสำหรับการติดตามถามถึง น่าจะเป็นเรื่องยากลำบากไม่ใช่เล่น เรื่องนี้ยิ่งซาบซึ้งขึ้นอีก เมื่ออาจารย์เฟื้อกล่าวรำลึกความหลังถึงครูสอนศิลปะคนแรกว่า "ผมมีบุญอยู่นิดเดียวเท่านั้น ได้พบอาจารย์ระย่อมเพียงแค่สองหนในชีวิต...เดี๋ยวนี้เข้าใจว่าจะไม่อยู่ แล้ว"




นักศึกษาคณะจิตรกรรม-ประติมากรรม รุ่น ๑ - ๒ - ๓


จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ แล้ว อาจารย์เฟื้อก็ทำงานเป็นเสมียนรถไฟที่จังหวัดพิษณุโลก ๒ วันต่อมา อาจารย์เฟื้อก็ลาออก เพราะรู้แน่ชัดว่าอาชีพนี้ไม่เหมาะ และไม่ตรงกับความรักชอบส่วนตัว จึงกลับมากรุงเทพฯ เพื่อเรียนต่อ ตอนที่คุณยายทับทิมอุ้มอาจารย์เฟื้อในวัยทารกแบเบาะ ไปให้พระอาจารย์เปียร์แห่งวัดราษฎร์บูรณะช่วยตั้งชื่อ นอกจากจะตั้งชื่อให้ว่า "เฟื้อ" แล้ว อาจารย์เปียร์ยังทำมากกว่านั้น

"ท่านก็อุ้มผมขึ้นและก็พิจารณา แล้วท่านก็ทำนาย...และท่านก็บอกว่า ผมถ้าอยู่กับท่านก็ต้องเจอลูกกระสุน...กระสุนดินเหนียว ยิงด้วยธนู...คือท่านว่าผมเป็นคนดื้อ...ดื้อมากเลย..."

"ตำนานเด็กดื้อ" อันลือลั่นของอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เริ่มต้นขึ้นครั้งแรก...ที่นี่...ที่โรงเรียนเพาะช่าง...





'เพชรบุรี'


ข้อมูลจากเวบ artgazine.com






บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor





Create Date : 11 พฤษภาคม 2553
Last Update : 12 มกราคม 2556 15:42:40 น. 59 comments
Counter : 123088 Pageviews.

 
ทักทายยามเย็น ทานข้าวให้อร่อยนะคะ :)


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:17:55:02 น.  

 


โดย: nuyza_za วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:19:08:24 น.  

 
หวัดดียามค่ำครับคุณไฮกุ

ขอบคุณมากที่ทำบล๊อกตามคำขอ(ทีเล่น)เอาจริง
นี่คือไมตรีจิตที่ชาว BG เรามีต่อกัน
เพื่อนๆหลายคนพยายามเผื่อแผ่ความรู้เป็นวิทยาทาน
ทักทายถามไถ่กันอย่างอบอุ่นกันเอง
แม้จะมีเหินห่างร้างราไปด้วยสาเหตุใดก็ตาม
ผมก็ยังคงเวียนแวะไปเยี่ยมอยู่เรื่อยๆ
เพียงแต่ไม่ได้ฝากคำทักทายไว้
เดี๋ยวจะว่าบ้าใบ้ใหลหลงอยู่ฝ่ายเดียว

บล๊อกนี้ของคุณไฮกุยอดเยี่ยมจังเลย ถูกใจมาก
อาจารย์เฟื้อ เป็นปูชนียบุคคลของชาติที่ควรเป็นต้นแบบ
หากเยาวชนได้มาดูบล๊อกนี้แล้วเกิดแรงบันดาลใจเอาอย่าง
คุณไฮกุก็ถือว่าได้สร้างกุศลแก่บ้านเมืองอย่างมากแล้ว
งานอิมเพรสชั่นนิสม์คละไปกับงานอนุรักษ์สมบัติศิลปของชาติ
"ได้ใหม่ ไม่ลืมเก่า"
นี่ควรเป็นคุณสมบัติของศิลปินของชาติมิใช่หรือ?
ขอบคุณมากๆอีกครั้งครับ


โดย: Dingtech วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:06:48 น.  

 

เคยจำได้ว่าไปยืนชื่นชมภาพเขียนฝาผนังที่จ.เพชรบุรี
ฝีมืออาจารย์ที่วัดอะไรหนอ
แต่ชอบลายเส้นอาจารย์มากๆ ค่ะ
ขอบคุณที่นำมาฝาก
ร้อนๆ อย่างนี้(เมืองไทยร้อนมาก)
ทานน้ำส้มแขกแช่น้ำแข็งเย็นชื่นใจนะคะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:39:31 น.  

 
สวยจังค่ะ ศิลปินแต่ละท่านล้วนมีเอกลักษณ์ที่น่าชื่นชม ขอบคุณที่นำมาฝากค่ะ


โดย: sawkitty วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:55:53 น.  

 
กลับมาแล้วขอรับ

กลับมาพร้อมตัวดำปี๋ครับ



โดย: อิ ส ร ะ ช น ตั ว โ ต เ ต็ ม วั ย . . ไม่ ใ ช่ ใ ค ร . . . มัน คื อ . . (เป็ดสวรรค์ ) วันที่: 11 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:44:30 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณไฮกุ
ปอเข้ามาอ่านตั้งแต่สี่ทุ่มกว่า จนตอนนี้เพิ่งได้โพสคอมเม้นค่ะ อิอิ
ไม่ใช่ว่าอ่านยาก หรือยาวเกินไปนะคะ แต่ว่าอ่านไป คุยกับที่บ้านเรื่องนู้นเรื่องนี้ไป คนนั้นวิจาณ์รายการนี้ คนนี้วิจารณ์ดาราคนนั้น ปอไม่ค่อยสนใจเรื่องทีวีสักเท่าไร ก้อพยักหน้าอือๆ ออๆ ไปด้วย...กว่าจบเรื่องสนทนากันก็อ่านเรื่องราวของอาจารย์เฟื้อจนจบก็ล่วงเลยมาจนป่านนี้อ่ะค่ะ งุงิ^ ^

ศิลปินหลายๆ ท่านมักจะมีบุคลิกเหมือนอาจารย์เฟื้อนะคะ คือ หัวดื้อ ชอบสันโดษ รักสงบ กตัญญู และมีจิตใจอ่อนโยน

ถึงปอจะไม่รู้จักท่าน ไม่เคยได้ยินหรือรับฟังเรื่องราวมาก่อน แต่พอได้ซึมซับประวัติของอาจารย์เฟื้อที่บล๊อกคุณไฮกุแล้ว ต้องยอมรับว่า เข้าใจความคิด ความรู้สึกของศิลปินทีมีใจรักและมีความเป็นเสรีต่องานของท่านจริงๆ ค่ะ

กาแฟสำหรับคุณไฮกุค่ะ

หลับฝันดีนะคะ



โดย: Butterflyblog วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:24:13 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ


ชื่นชมงานในช่วงหลังของท่านมากครับ
งานที่บูรณะและเก็บภาพวาดฝาหนังไว้ได้มากมาย

นั่นคือ ประวัติศาสตร์ศิลป์ที่บ้านเราละเลยมานาน
นี่เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากมายกับลูกหลานรุ่นหลัง








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:10:55 น.  

 
ชื่นชมคุณไฮกุครับ

บล็อกเรื่องอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์วันนี้มีคุณค่ามากครับ

ภาพวาดแต่ละภาพชัดใส เหมือนเดินดูนิทรรศการจริงๆ

ได้รำลึกถึงอาจารย์และผลงานที่อยู่ในความทรงจำของผู้คน

อีกทั้งการอนุรักษ์ศิลปะไทยให้อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชม

ช่วยจุดประกายให้เยาวชนไทยเจริญรอยตามครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 12 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:24:38 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:6:58:54 น.  

 
คุณหาแฟนตัวเป็นเกลียว...โห แวะมาไวดีแท้ อัพใหม่ไม่ทันไรก็เข้ามาเม้นท์เลย ขอบคุณนะคะ

คุณnuyza_za...ขอบคุณมากที่แวะมาเยี่ยมกันนะคะ แวะไปที่บล็อคแล้วแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ถ้าอัพบล๊อคแล้ว อย่าลืมแวะมาบอกด้วยนะคะ

คุณDingtech...ขอบคุณมากที่แวะมาตรวจการบ้านค่า หน้าบานเพราะได้คะแนนดี คริ คริ อ่านข่าวนิทรรศการแล้วก็เกือบลืมไป ดีที่คุณDingtechพูดถึง ดีใจที่เขียนบล็อคได้ถูกใจนะคะ บล็อคค่อนข้างยาวมาก (ทุกทีแหละ ) ข้อมูลเยอะ โดยเฉพาะในส่วนที่คุณนราเขียน แกร่ายยาวเลย ได้อ่านเรื่องราวในชีวิตของอาจารย์เฟื้อแบบเต็ม ๆ ที่ชอบมากก็ตรงมีรูปเยอะดี แฮ่บมาอัพบล๊อคได้สบายเลย คุณDingtechเข้าไปอ่านคงถูกใจแน่ ๆ ค่ะ

ถ้าบล็อคนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครสักคนเดินตามรอยของอาจารย์เฟื้อได้ เราคงยิ่งกว่าดีใจอีกค่ะ โดยเฉพาะงานอนุรักษ์จิตรกรรมไทย คนไทยต้องขอบคุณท่านที่มุ่งมั่นและบากบั่นทำงานด้านนี้ เห็นจำนวนวัดที่ท่านตามไปซ่อมแซมภาพจิตรกรรมแล้วตาโตเลยค่ะ ในวิกิบอกไว้ว่าทั้งหมด...สองหมื่นสามพันวัด...คงหาคนที่ทำอย่างท่านได้น้อยเต็มทีนะคะ

คุณอุ้ม...ถ้าเป็นวัดที่เพชบุรี มีรูปอยู่วัดนึงค่ะ ไม่รู้ว่าใช่วัดที่คุณอุ้มไปดูหรือเปล่า ชื่อวัดเกาะแก้วสุทธาราม เสียดาย ไม่มีรูปลายเส้นของท่านมาเทียบกัน แปะรูปให้ดูค่ะ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังรอยพระพุทธบาทริมแม่น้ำนัมมทา




ภาพจิตรกรรมฝาผนัง รอยพระพุทธบาทเขาสัจจพันธคีรี



คุณสาว...ขอบคุณที่แวะมาอ่านจ๊ะ

คุณแดหวา...เวลคัมแบคทูบล็อคแก๊งค์คับพ้ม ไปเที่ยวตัวดำกลับมา แต่ฟันคงขาวจั๊ว อิ อิ

คุณปอ...โห นั่งเล่นในบล๊อคเราเป็นชม.เลย ขอบคุณมากที่ตั้งใจอ่านนะคะ บล๊อคยาวไปหน่อย เจอข้อมูลจากหลายเวบ แต่อันที่ถูกใจก็มีแต่เนื้อหายาว ๆ ทั้งนั้น แล้วก็ดีใจที่ทำให้คุณปอได้รู้จักศิลปินคนสำคัญของประเทศ เราก็ได้รู้จักท่านมากขึ้นก็ตอนทำบล็อคนี้เหมือนกัน

คุณปอเล่นบล็อคไปคุยไป แต่เราดูทีวีค่ะ เลยขออนุญาตเม้าท์ถึงละครซะหน่อย ช่วงนี้ละครหลังข่าวของช่องสามสนุกดี วันจันทร์กะอังคารได้ดูพี่เคนกะน้องชมพู่ "วิวาห์ว้าวุ่น" เพิ่งดูไปสองตอน มีแววว่าน่าจะเรตติ้งกระฉูด ดูเคนเล่นดรามาหนัก ๆ ประจำ เลยไม่ค่อยคุ้นกับบทเพลย์บอยแบบนี้เท่าไหร่

วันพุธ-พฤหัส ฉายเรื่อง "เลื่อมพรายลายรัก" เพิ่งอวสานไปเมื่อวานนี้เอง ชอบพระ-นางมาก เนื้อเรื่องสนุก คนที่เล่นได้โดดเด้งมากก็คือนายบีมนี่แหละ ไม่คิดว่าจะเล่นบทหนัก ๆ ได้ดีขนาดนี้ พอฉายจบก็มีเรื่อง "ไทรโศก" มาฉายต่อเลย นักแสดงตรึม ชอบนายโฬมมาก แต่คงดูมั่งไม่ดูมั่ง เพราะไม่ค่อยถูกใจเนื้อเรื่องเท่าไหร่

วันศุกร์-อาทิตย์ ฉายเรื่อง " เงารักลวงใจ" เนื้อเรื่องเน่าสนิท แต่ก็ตามดูเพราะติดใจคนแสดง ตัวเอก ๆ เป็นหน้าใหม่ยกชุด พระเอกยังดูเกร็ง ๆ ไม่เหมือนพระรอง เล่นดีกว่า ติตรงนางเอกไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ สงสัยเพราะไม่ค่อยชอบหน้าสไตล์อั้มมั้ง คนที่เล่นดีที่สุดก็คือน้องกิ๊บซี เสียแต่ว่าตัวเล็กไปหน่อย สรุปแล้วเล่นเรื่องแรกออกมาได้ขนาดนี้ก็โอเคเลย

คุณก๋า...ชื่นชมงานบูรณะจิตรกรรมฝาผนังของท่านเหมือนกันค่ะ รู้พอเลา ๆ ว่าท่านทำแต่ไม่คิดว่าจำนวนวัดจะเยอะเป็นเรื่องหมื่น ส่วนใหญ่ภาพฝาผนังของแต่ละวัดค่อนข้างจะทรุดโทรมมาก บางวัดแทบไม่เห็นร่องรอยเดิมเลย แต่ท่านก็ลอกลายออกมาได้สวยมาก สุดยอดจริง ๆ ไม่รู้ว่าหลังจากยุคของอาจารย์เฟื้อแล้ว จะมีคนสืบต่องานด้านนี้กี่มากน้อย เดาว่าไม่น่าจะเยอะพอจะซ่อมแซมภาพเก่า ๆ ได้ทัน

คุณIM...ที่จริงต้องบอกว่าชีวิตของอาจารย์เฟื้อมีคุณค่ามากกว่าค่ะ เราแค่นำเสนอสิ่งที่ท่านทำมาตลอดชีวิต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะบ้านเราและประเทศมากมาย เราเองชอบลายไทยซะเปล่า แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องราวของท่านเท่าไหร่ มาทำบ็อคนี้ก็เหมือนได้ค่อย ๆ ทำความรู้จักชีวิตและงานที่ท่านทำ หวังว่าบล็อคนี้จะเป็นประโยชน์กับคนที่อยากทำความรู้จักอาจารย์เฟื้อให้มากขึ้นค่ะ

ส่วนเรื่องรูป ต้องชมคุณนราค่ะ แกแปะรูปไว้เยอะจริงๆ ต้นฉบับอยู่ในเวบผู้จัดการ เราไปเจอในเวบ artgazine.com แปะรูปไซส์ใหญ่กว่าในบล๊อคอีก


โดย: haiku วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:14:07:03 น.  

 
สวัสดีค่ะนู๋ไฮกุ...

มารายงานตัวว่าป้ายังอยู่อ่ะจร้า...

เข้ามาอ่านประวัติอาจารย์อ่ะจ่ะ...

แต่ขอไปดูข่าวเสแดงก่อนนะจ๊ะ...


โดย: ป้าหู้เองจ่ะ (fifty-four ) วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:10:08 น.  

 

ในคืนวัน SO HOT
ดูภาพสาวในชุดว่ายน้ำ TAXI ไหมหนอ อิอิอิ
ฝีไม้ลายเส้นอาจาีย์เฟื้อสวยมากๆ เลยนะคะ
จำชื่อวัดไม่ได้ค่ะ
ไม่แน่ใจว่าใช่วัดที่คุณบอกหรือเปล่าค่ะ
เห็นมีอยู่วัดเดียวที่จ.เพชรบุรี



โดย: อุ้มสี วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:48:45 น.  

 
ทวิยามธีววารสวัสดิ์ค่ะคุณไฮกุขา


ขอบคุณมากๆเลยค่ะ ที่ไป้ยี่ยมวิ
วิสบายดีค่ะ แต่งานยุ่ง และต้องเดินทางบ่อยๆค่ะ

มาหาคุณไฮกุยาก เพราะข้อมูลมาก ภาพเยอะ เลยได้แต่ระลึกถึงค่ะ

วันก่อน "คุณแวะมาคุยคนที่ 3 " เมตตาไปคุยด้วย ดีใจมากค่ะ ได้ไปตอบไว้ที่บล็อกด้วยความชื่นชม และพูดถึงคุณไฮกุด้วยค่ะ

กระแสจิตแรงตรงกันพอดีนะคะ

ต้องขอโทษด้วย ที่คุณไฮกุบอกว่าไปบ้านวิแล้วคอมเมนท์ไม่ได้ วิเพิ่งเปิดมาสามวันนี่เองค่ะ "พี่คนที่แวะมาคุยคนที่ 4" น่ะซีคะไปบ่นด้วยความรำคาญว่า " เฮ้อ.................เมื่อไหร่จะเปิดบล็อกเสียที....." เกรงใจตรง เฮ้อ....ยาวๆนั่นแหละ เลยเปิดค่ะ...555


บล็อกคุณไฮกุ วันนี้ก็คุณภาพล้นแก้ว ประวัติละเอียด ภาพประกอบงาม วิทำย่อไม่เป็นค่ะ ถ่ายรูปลงบล็อกก็ไม่เป็น ยังไม่มีเวลาเรียนรู้ เพราะหากทำเป็น คงไม่กินไม่นอน วันนี้อั๊พบล็อกได้ 35 บล็อก เพราะสัญญากับน้องที่ไปอ่านว่า จะไม่บ้าอั๊พบล็อกถึง 36 อีกแล้วค่ะ...555

ของวิทำบล็อกง่ายๆ เพื่อให้หลานที่อยู่เมืองไกล ได้อ่านภาษาไทย เขาและเธอต้องคัดไทยส่งเป็นการบ้านทุกวันค่ะ หากข้อมูลยาว ก็จะโอดครวญ พอได้ติดต่อกันกับญาติๆค่ะ

ดีใจที่ได้มาหา เลยเล่าเสียยืดยาว ด้วยใจรักค่ะ
มีความสุขกับการทำสิ่งที่รักไม่ว่าวันร้อน วันหนาวนะคะ


สิริธีววารวิบูลย์ รัศมิสูรย์ส่องจำรูญจรัสเรืองค่ะ



โดย: sirivinit วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:54:27 น.  

 
สวัสดีขอรับ

โจทย์แต่ละโจทย์ ตั้งเอามันครับ

ฮ่าๆๆ

มันกันอยู่ไม่กี่คนหรอกครับ



โดย: อิ ส ร ะ ช น ตั ว โ ต เ ต็ ม วั ย . . ไม่ ใ ช่ ใ ค ร . . . มัน คื อ . . (เป็ดสวรรค์ ) วันที่: 13 พฤษภาคม 2553 เวลา:23:42:06 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณไฮกุ
มาอ่านยามดึก ถึงจะยาวแต่ก็อ่านหมด
เพราะสนใจศิลปะอยู่แล้ว
ไม่รู้จะขอบคุณยังไง ที่ทำบล็อกนี้ขึ้นมา
ขอบคุณมากๆค่ะ มีความสุขก่อนนอน
สงสัยตรงนี้หน่อยนึง
" เมื่อสมัยเรียนที่ศิลปากร ตอนนั้นท่านสอนเกี่ยวกับศิลปะไทย ซึ่งเป็นวิชาที่น่าเบื่อ
เวลาสอนท่านมักจะหลับตาสอน พอลืมตาขึ้นมาลูกศิษย์ในห้องก็หายไปหมดแล้ว
แต่พอปัจจุบันมาเป็นนักวิชาการ กลับนึกเสียดายที่ตอนนั้นไม่ตั้งใจเรียน..."

ตกลงท่าน นี่ หมายถึง อ เฟื้อ หรือ อ ศิลป์ ล่ะหว่า

ปล รูปวาดแฟชั่นอยากได้มากค่ะ แต่เกรงใจจัง


โดย: ยิปซีสีน้ำเงิน วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:35:34 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ







โดย: กะว่าก๋า วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:6:19:21 น.  

 


ศิลปินแขนงศิลปะ
ใช้ชีวิตอย่าง ..
ทั้งชีวิตเพื่องานจริงๆนะคะ
เกียรติประวัติยาวๆนี่แบบ ..
กว่าจะผ่านมาได้
กว่าที่จะได้เห็นงานแต่ละชิ้น
แต่ละช่วงเวลาอย่างนี้ ..

ชีวิตเต็มไปด้วยคุณค่า มากๆๆๆๆเลยนะคะ




กระซิบ : คุณนายตื่นสายนั่นแหละค่ะ

ก่อนหน้านี้ดี.เห็นคุณนายตื่นสาย
อยู่ในกระถางใหญ่
แข่งกันสวยกับดอกหลากสี
แต่ไม่นึกอยากถ่าย
แต่พอมาเจอกระถางนี้
มีไม่กี่ดอก แต่ชอบเลย





โดย: d__d (มัชชาร ) วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:6:58:12 น.  

 
รู้จักชื่ออาจารย์เฟื้ออย่างผิวเผินมากค่ะ

ขอบคุณคุณไฮกุที่นำเรื่องราวและผลงานของท่านมาให้อ่านและชมอย่างละเอียด

ฝีมืองดงามมาก การเขียนภาพ มีหลากหลายนะคะ ตามสายตาของคนดูที่ไม่ชำนาญเรื่องศิลปะอย่างข้าพเจ้า

ส่วนชีวิตของอาจารย์นั้น มีคุณค่าอนันต์ค่ะ



โดย: หยุ่ยยุ้ย วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:8:17:17 น.  

 
ถ้ารวบรวม blog ของคุณไฮกุ ขึ้นเป็นเล่มก็คงจะเป็นหนังสือคุณภาพอีกเล่มเลยคะ มีแต่เรื่องที่มีคุณภาพทั้งนั้น
ขอบคุณมากๆนะคที่หามารวบรวมมาแบ่งปันให้อ่านเป็นความรู้กันคะ
เพชรบุรีในอดีต และเพชรบุรีในปัจจุบัน จะว่าแตกต่างก็ใช่นะคะ แต่ว่าเข้าไปลึกๆก็ยังหาดงตาลได้อยู่บ้าง ไม่รู้ว่าท่านเจตนาวาดให้เป็นต้นตาลหรือเปล่าแต่เราดูเป็นดงต้นตาลนะ


โดย: cengorn วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:15:50:25 น.  

 
คุ้นๆนะชื่อนี้ โจวลี่เคยไปดูนิทรรศการหอศิลป์ตุ้งแต่สมัยเรียนอ่ะ น่าจะใช่อ.อาจารย์เฟื้อ แหละ เห็นรูปแล้วนึกถึงหนังย้อนยุควังหลังเลย เหอๆ


โดย: Million Stars วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:15:01 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ








โดย: กะว่าก๋า วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:03:26 น.  

 
สวัสดีวันหยุดค่ะ แวะมาชื่นชมศิลปะที่ทรงคุณค่า ที่มาจากศิลปินเก่งๆอีกรอบค่ะ


โดย: sawkitty วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:20:21 น.  

 


ร้าวลึก-ศึกแรง



...
....
.......

แยกคนแยกทางต่างสี
ไม่คิดเผาผีห่างเหิน
พี่น้องแยกทางต่างเดิน
แม่ลูกหมางเมินต่างมอง.....


โดย: ลุงแว่น วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:9:24:16 น.  

 
ขอบคุณที่นำเรื่องอ.เฟื้อ มานำเสนอ
ท่านคือครูพักลักจำคนแรกๆของผมเลยหละครับ เป็นคนดลใจให้หลงใหลคลั่งใคล้ศิลปะ
งานชาตะกาลของท่าน ได้ทราบข่าวแล้ว หมายมั่นว่าต้องไปให้ได้
แต่ก็ต้องอยู่บ้านรับมือกับพายุฤดูร้อน

มาอ่านเรื่องราวย้อนหลังจากบล็อกนี้
ก็เสียดายและเสียใจ
คงต้องไปหาหนังสือที่ระลึกในงานที่ร้านศิลปากร( คงพอหาได้นะครับ)


โดย: ดาวส่องทาง วันที่: 15 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:10:52 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ







โดย: กะว่าก๋า วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:6:58:54 น.  

 
แวะมาคารวะท่านอาจารย์เฟื้อค่ะ



โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:21:56 น.  

 




สวัสดีในวันที่สวรรค์ยังไม่มีคำตอบค่ะคุณไฮกุ
ช่วงนี้ป้าไม่ได้อยู่ที่บ้าน........
สวรรค์ส่งมาติดแหง็กอยู่ที่แฟลตดินแดงค่ะ ...........555



คนส่วนใหญ่มักใส่ใจกับผลได้ระยะสั้นเท่านั้น
แต่คนฉลาดจะมองไกลไปถึงอนาคต





โดย: ร่มไม้เย็น วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:12:38:09 น.  

 
ขออนุญาตินำข้อมูลที่เกี่ยวกับงานอ.เฟื้อ ทางด้านจิตรกรรมไทย ไปลงในชมรมอนุรักษ์จิตรกรรมไทยบ้างนะครับ ถือเป็นวิทยาทานครับ
(จะรอคำตอบอนุญาติจากเจ้าของบลอคก่อนครับ)ขอบคุณครับ


โดย: ปุราณ (ปุราณ ) วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:09:35 น.  

 
แวะมาทักทายค่ะ
ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ได้ความรู้มากมายค่ะ


โดย: สายลมอิสระ วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:21:06 น.  

 
ป้าหู้...สวัสดีค่ะคุณป้า ขอบคุณที่แวะมาอ่านบล๊อคนู๋ค่า

คุณอุ้ม...เห็นสาวน้อย ๆ หน้าตาสดใสแล้วสดชื่นไปด้วย โดยเฉพาะสาวแก้มยุ้ยรูปที่สอง โพสท่าเก๋ซ้าาาาาา

ถ้าเป็นวัดเดียวที่เพชรบุรีก็น่าจะใช่นะคะ ถ้าจะให้แน่ คงต้องรอท่านผู้รู้เข้ามาเฉลย

คุณวิ...ดีใจที่แวะมาหานะคะ หายหน้าไปนานเชียว ขอบคุณที่มาคุยด้วยยาวเลย คิดถึงคุณวิกับศัพท์ภาษาไทยเพราะ ๆ ค่ะ เราไปหาหลายรอบ แต่เม้นท์ไม่ได้สักที โชคดีที่หลายวันก่อนแวะไป คุณวิเปิดเม้นท์พอดี คราวหน้าไม่อยู่ก็เปิดให้เม้นท์เถิด เพื่อน ๆ ไปอ่านจะได้ฝากคำทักทายไม่ก็ขอบคุณไงคะ

โห มหัศจรรย์ได้ใจ วันเดียวอัพสามสิบห้าบล็อค ชนะคุณก๋าขาดลอยเลย คริ คริ คุณวิน่ารักจัง ขยันอัพข้อมูลให้หลานไปใช้งาน เพื่อนบล็อคเลยพลอยได้อัพเดทความรู้ไปด้วย ชอบบล๊อคของคุณวิตรงที่ได้ความรู้แบบเต็ม ๆ แล้วบล๊อคไม่ยาวเกินไป ไม่เหมือนเราที่อัพบล็อคยาวจนเคยตัว

คุณแดหวา...คนตั้งโจทย์ไม่แค่เอามันส์อย่างเดียว แต่ความคิดก็บรรเจิดจริงจริ๊ง แล้วฝีมือเขียนของผู้ร่วมอุดมการณ์แต่ละคนก็ฝีมือเขียนแจ๋ว ๆ ทั้งน้าน

คุณยิปซี...ดีใจจัง คุณยิปซีก็ชอบบล็อคนี้เหมือนกัน แต่อย่าชมมาก เดี๋ยวออกอาการได้ใจฮ่ะ

ตรงที่คุณยิปซีสงสัยเป็นคำพูดของรศ.พิษณุ ศุภนิมิตร ลูกศิษย์ของอาจารย์เฟื้อค่ะ ต้องอ่านกระเถิบขึ้นไปเหนือภาพอีกวรรคนึง ตรงที่บอกว่า...ในมุมของลูกศิษย์ อย่าง รศ.พิษณุ ศุภนิมิตร เล่าให้ฟังว่า อ.เฟื้อ เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของ อ.ศิลป์ พีระศรี ทั้งยังถือว่าเป็นผู้บุกเบิกในยุคนั้น ลูกศิษย์ทั้งหลายยกให้ผลงานของท่านเป็นงานที่พิสดารและหาตัวจับยาก..."

ปล. ไม่ต้องเกรงใจค่า ดีใจที่คุณยิปซีชอบงานออกแบบของเรา หลังไมค์รูปไปให้แล้วนะคะ

คุณก๋า...หลานหมิงน่ารักอ่ะ หัวเหม่งเลย หน้าใสเชียว ทำขวัญหลานหรือว่าตัดผมแก้ร้อนจ๊ะ

คุณดี...คนคุณภาพอย่างอาจารย์เฟื้อนับว่าหายากจริง ๆ ค่ะ ท่านทำงานสำคัญในวงการศิลปะมากมาย ได้รางวัลใหญ่ ๆ เพียบ เป็นศิลปินแห่งชาติด้วย แต่คนที่รับรู้งานที่ท่านทำคงไม่แพร่หลายในวงกว้างนัก บล็อคนี้ถือเป็นบล็อคบูชาครูและการรำลึกถึงความดีที่ท่านทำมาค่ะ

มองดอกไม้ในบล็อคคุณดีที่ถ่ายแบบโคลสอัพแล้ว นึกว่าเป็นดอกคาร์เนชั่นซะอีก พอเห็นรูปสุดท้ายเลยรู้ว่าไม่ใช่ แต่นานเหมือนกันกว่าจะนึกชื่อคุณนายตื่นสายออก ดอกมันสวยดีนะคะ

คุณยุ้ย...คิดว่าเราสองคนคงจะรู้จักอาจารย์เฟื้อพอ ๆ กันค่่ะ ชอบลายเส้นของท่านมาก ๆ อย่างภาพ sketch ระบายสีสถาปัตยกรรม, ภาพ portrait, โดยเฉพาะลายไทย วาดได้สวยเหลือเกิน ขนาดภาพต้นฉบับเลือนมาก แต่ภาพที่ลอกลายออกมาก็งามขนาดเลย

คุณอร...ดีใจที่ชอบบล็อคนี้นะคะ เป็นปลื้มกับเม้นท์ของคุณอรมากเลยค่า

เมืองเพชรเป็นเมืองทำน้ำตาล รูปเพชรบุรีคงเป็นต้นตาลแน่ค่ะ คิดว่าน่าจะเป็นท้องนาแล้วก็มีต้นตาลแซมเป็นระยะ ๆ มากกว่า แต่จะว่าไปแล้ว ตจว.ที่ไหนก็เห็นวิวแบบนี้ได้ไม่ยากเนาะ ติดใจฝีแปรงของท่าน วาดแบบปาดเร็ว ๆ ออกมาดูมีมิติและนำ้หนักสวยดีค่ะ

หลานพจ...ป้าเคยดูแต่ภาพต้นฉบับของท่านตอนที่เรียนวาดรูป แต่ยังไม่เคยไปดูงานนิทรรศการแสดงภาพของอาจารย์เฟื้อสักหน ครั้งล่าสุดที่ลงในคม ชัด ลึก บอกว่าจัดวันที่สามสิบเดือนที่แล้ว ถึงวันที่ห้าเดือนก็ไม่ได้ไปดูซะอีก

คุณปอน...ขอบคุณท่านนักเขียนใหญ่ที่แวะมาเยี่ยมบล๊อคนี้นะคะ เป็นแฟนทั้งงานเขียนและภาพวาดงาม ๆ ของคุณปอนมานานแล้ว ตอนนี้ที่อ่านประจำก็คอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" ในกรุงเทพธุรกิจ ชอบมาก ๆ เลยค่ะ

ดีจังที่บล็อคนี้ทำให้รู้ว่า อาจารย์เฟื้อเป็นแรงบันดาลใจแรกให้คุณปอนหลงรักงานศิลปะ ไม่ได้ไปงานนิทรรศการเหมือนกันค่ะ รู้ข่าวหลังวันงานไปแล้ว อีกอย่าง บ้านเมืองวุ่นวายเลยเก็บเนื้อเก็บตัว ถ้ามีหนังสือที่ระลึกพิมพ์ออกมาขายก็เยี่ยมเลย ต้องหาซื้อมาอ่านแน่ ๆ

ป้ากุ๊กไก่...โห คุณป้าอยู่กลางวงความวุ่นวายเลยนะนั่น เหตุการณ์ร้ายแรงในบ้านเรา จะรอสวรรค์ให้คำตอบคงรอเงก คนในชาติต้องร่วมมือร่วมใจสร้างความสงบเรียบร้อย แต่นู๋ว่าการชุมนุมตอนนี้ไม่ได้ยึดหลักความสงบแน่ ๆ ค่ะ คิดในแง่ดีไว้ก่อนว่า พวกแกนนำอาจจะไม่รู้ว่ามีพวกที่ใช้อาวุธเข้าร่วมวงด้วย (เพราะไม่ได้มีแต่ทหารที่ยิงฝ่ายเดียว) แต่ไงก็น่่าจะยกเลิกการชุมนุม คืนความสงบให้บ้านเมืองได้แล้วเนาะ

คุณปุราณ...ด้วยความยินดีค่ะ แต่ที่จริงไม่ต้องขออนุญาตเราก็ได้ เพราะไปแฮ่บข้อมูลมาของคนอื่นมาอีกที ข้อมูลในบล็อคเกี่ยวกับจิตรกรรมไทยมีแค่นิดเดียวเอง ถ้าคุณปุราณอยากได้ข้อมูลแบบเต็ม ๆ พร้อมรูปเพียบ ตามไปขออนุญาตคุณนราในเวบนี้เลยค่ะ manager หรือจะให้สะดวกก็เข้าเวบนี้ึก็ได้ artgazine.com

คุณสาว & ลุงแว่น & คุณอ้อ & คุณปู...ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมกันนะคะ


โดย: haiku วันที่: 16 พฤษภาคม 2553 เวลา:23:01:05 น.  

 




โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 17 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:22:27 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ



ต้องขออภัยด้วยนะครับที่นำภาพชุดนี้มาใช้งานก่อน
ทั้งๆที่มอบให้คุณไฮกุไปแล้ว 555
พอดีบล็อกสองบล็อกก่อนหน้านั้น
ผมเขียนบล็อกการเมือง
แล้วอะไรๆมันดูจะร้อนแรงเหลือเกิน
เหลือบไปเห็นภาพชุดนี้เข้า
เลยอยากเขียนกวีเพื่อผ่อนความแรงในความรู้สึกลงน่ะครับ


ปล. หมิงหมิงโกนหัวเพราะอากาศที่เชียงใหม่ปีนี้
มันร้อนจริงๆครับ









โดย: กะว่าก๋า วันที่: 17 พฤษภาคม 2553 เวลา:5:17:14 น.  

 


โดย: nompiaw.kongnoo วันที่: 17 พฤษภาคม 2553 เวลา:13:50:59 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณไฮกุ
วันนี้ปอรู้สึกแย่ๆ ค่ะ สงสารเมืองไทย สงสารคนไทยทุกคน....



โดย: Butterflyblog วันที่: 17 พฤษภาคม 2553 เวลา:20:19:36 น.  

 
สวัสดีค่ะพี่ไฮกุ
เพิ่งได้มาอยู่หน้าคอมพ์นานๆเลยแวะมาตอบคำถามค่ะ
ที่บล็อกมันไม่ใช่ดอกเข็มนะคะพี่
มันคือดอกโป๊ยเซียนค่ะ
สงสัยมันเล่นชั้นมากไปพี่เลยมองเป็นดอกเข็ม


โดย: มัยดีนาห์ วันที่: 17 พฤษภาคม 2553 เวลา:23:33:38 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ










โดย: กะว่าก๋า วันที่: 18 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:05:34 น.  

 
ไม่รู้เคยบอกหรือยัง

หนูว่า
การที่หนูมีหม่อมป้าเป็นเพื่อนบล็อก นั้น
ทัศนวิสัยทางศิลปะของหนูกว้างขึ้นมากค่ะ

การได้เห็นศิลปินทำงานด้วยใจรัก
แม้ไม่มีผลประโยชน์เป็นรายได้
ทำให้เรา รู้สึกดี

จริงๆ
นะคะ

ขอบคุณค่ะ


โดย: angy_11 วันที่: 18 พฤษภาคม 2553 เวลา:11:47:35 น.  

 
รูปที่ตรงกล่องcomment ที่เป็นสัญญลักษณ์ของเวนิสนี้เป็นตัวอะไรมีชื่อหรือความหมายสื่อถึงอะไรคะ ดูเหมือนเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่บินได้เลยคะ


โดย: cengorn วันที่: 18 พฤษภาคม 2553 เวลา:16:44:52 น.  

 
จริงเหรอหม่อมป้า เรื่องนิทรรศการน่ะ น่าเสียดายโนะ พอเห็นหม่อมป้าอัพ เลยอยากดูอีกอ่ะ


โดย: Million Stars วันที่: 18 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:44:07 น.  

 
- หวัดดียามค่ำครับ

- ศิลปินล้ำค่าของบ้านเราอีกคนที่ควรค่าแก่การบันทึกไว้ครับผม


โดย: พี่รี่+ต๊อก วันที่: 18 พฤษภาคม 2553 เวลา:22:53:02 น.  

 
สวัสดียามเช้าครับคุณไฮกุ












โดย: กะว่าก๋า วันที่: 19 พฤษภาคม 2553 เวลา:5:58:18 น.  

 

แวะมาทักทายสวัสดีตอนสายๆ จ๊ะ


โดย: อุ้มสี วันที่: 19 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:05:09 น.  

 
เสียดายจังค่ะ เขาให้โอกาสสองรอบแล้วยังไม่มีโอกาสไปดู ไม่เป็นไรค่ะ จะพยายามตามรอยไปดูตามวัดต่าง ๆ นะคะ ขอบคุณมากเลยค่ะ


โดย: chinging วันที่: 19 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:30:08 น.  

 
คุณก๋า...ไม่เป็นไรค่า รูปของคุณก๋านี่นา คุณก๋าใจดี อุตส่าห์ถ่ายรูปมาให้ตามที่ขอตั้งหลายรูป ต้องขอบคุณมาก ๆ อีกครั้งนะคะ กะลังอัพบล็อคไฮกุอันใหม่อยู่ ทีแรกก็ว่าจะลงไฮกุที่แต่งเอง แต่เปลี่ยนใจเอาไฮกุที่แปลมาลงก่อน เลยยังไม่ได้ใช้รูปของคุณก๋า แต่ยังไงต้องได้ใช้รูปของคุณก๋าแน่ค่ะ เห็นรูปกระดิ่งลมแล้วเหมือนได้ยินเสียงกรุ๊งกริ๊งตามไปด้วย ทำให้อารมณ์เย็นลงเลยค่ะ

หลานหมิงหัวเหม่งเพราะร้อนนี่เอง หลานหัวสวยน้า หัวทุยคงฉลาดน่าดู

คุณปอ...ตอนนี้คนกทม.เดือดร้อนกันทั้งเมือง พลอยทำให้ประเทศต้องหยุดชะงักไปด้วย ตอนนี้เหตุการณ์กะลังพีคจัด ภาวนาไม่ให้เสียเลือดเนื้อไปมากกว่านี้ค่ะ

น้องนาห์...อ้าว ปล่อยไก่แล้วตู แก่ตัวแล้วก็เงี้ย ตาฟ้าฟาง มองดอกแปดเซียนเป็นดอกเข็มซะนี่ ขอบคุณน้องนาห์ที่แวะมาบอกนะจ๊ะ

หลานจี้...อ่านเม้นท์แล้วรู้สึกตัวพองเป็นอันมาก คริ คริ ที่จริงวิสัยทัศน์ด้านศิลปะป้าก็กว้างขึ้นก็ตอนมาทำบล็อคเหมือนกันค่ะ ทำบล็อคแล้วไม่แค่ได้คุยถึงสิ่งที่เราชอบ แต่ได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนบล็อค มีหลายหนที่ได้ความรู้มากขึ้นจากเพื่อน ๆ ที่มีความรู้ด้วย

คุณอร...ไปหาคำเฉลยมาจนได้ จากเวบ travel.thaiza สัญลักษณ์ของเวนิสชื่อ เสาลีโอเน่ (Lione) เป็นรูปปั้นสิงโตตัวใหญ่ ติดปีกถือหนังสือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองเวนิสค่ะ

มีภาพถ่ายในปัจจุบันมาให้ดูด้วย จากเวบ toyvoyagers





หลานพจ & คุณเค็น...จริงแท้แน่นอนจ้า เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้ไปดู แต่คิดว่าอีกหน่อยน่าจะจัดอีกนะ ถ้าได้ข่าวเมื่อไหร่จะแวะไปบอกละกันค่ะ

คุณอ้อ & คุณมิจัง & คุณอุ้ม & พี่รี่ +ต๊อก...ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะคะ


โดย: haiku วันที่: 19 พฤษภาคม 2553 เวลา:12:17:06 น.  

 
อ้าว ไหงรูปโดนลบได้หว่า แปะให้คุณอรดูใหม่ค่ะ





โดย: haiku วันที่: 20 พฤษภาคม 2553 เวลา:9:45:27 น.  

 
มาแล้ว มาช้ามากๆ ขออภัยด้วยนะ เข้ามาลงชื่อเมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เพราะอยากจะตั้งใจชมผลงานและฝากข้อความให้สมกับที่ท่านจขบ.ตั้งใจนำเสนอจริงๆ

ตามไปดูผลงานภาพวาดอาจารย์เฟื้อ ที่บล๊อกก่อนหน้าแล้วจ้า เห็นด้วยเลยว่าผลงานของท่านไม่แพ้จิตรกรเอกในนานาชาติเลย เราชอบงานเขียนแบบ Impressionism ของท่านมากๆ บางภาพเป็นเพียงแค่ลายเส้นก็ยังเหมือนกับภาพมีชีวิตอยู่เลย ช่วงเวลาสองปีที่ท่านไปเรียนที่อิตาลี เราว่าคงเป็นช่วงเวลาที่ท่านมีความสุขมาก อิตาลีเป็นดินแดนแห่งศิลปะและศิลปินจริงๆ เด็กชาวอิตาเลียนทุกคนจะได้เรียนประวัติศิลปะยุคต่างๆและศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่างละเอียด พวกเขาสามารถจดจำและเล่าได้เป็นฉากๆ การศึกษานอกจากจะทำให้พวกเขามีความรู้แล้วยังสร้างความภูมิใจในศิลปะและวัฒนธรรมอันยาวนานของชาติของพวกเขาอีกด้วย

เราอดชื่นชมอุดมการณ์ที่ท่านอาจารย์เฟื้อหันมาอนุรักษ์จิตรกรรมไทยในอดีต ยังพยายามต่อสู้ให้งานทั้งหลายถูกซ่อมแซมอย่างถูกหลัก งานจิตรกรรมไทยมักจะเป็นงานปิดทองหลังพระเพราะอยู่กับโบสถ์วิหารหรือสิ่งก่อสร้าง ไม่ค่อยมีคนสนใจชื่อเสียงเรียงนามของศิลปินเท่าไหร่นัก แต่เราเชื่อว่าท่านคงมีความสุขในการได้ช่วยอนุรักษ์งานเหล่านั้น ชอบอ่านประวัติท่านด้วย คนที่ทั้งเก่งและกตัญญูแบบนี้หาได้ยากนัก


โดย: Noshka วันที่: 22 พฤษภาคม 2553 เวลา:13:19:45 น.  

 
มาช้าดีกว่าไม่มาจ๊ะ ขอบคุณนอร์ชมากที่แวะมาอ่านจนจบนะคะ

อาจารย์เฟื้อเป็นจิตรกรฝีมือเยี่ยมยุทธ์ วาดได้หลายสไตล์ ตะก่อนเราไม่ค่อยชอบภาพวาดแนว Impressionist เท่าไหร่ แต่มาดูรูปของอาจารย์แล้วรู้สึกว่าสวยดี อ่านที่รศ.พิษณุพูดไว้ว่า ท่านวาดภาพแนวนี้โดยที่มีความเป็นตัวของตัวเองแล้วก็ยิ่งทึ่ง น่าภูมิใจนะคะที่ศิลปินของไทยมีความสามารถไม่แพ้ศิลปินชาติอื่นเลย

อิตาลีเป็นเมืองแห่งศิลปะจริง ๆ ค่ะ มองไปทางไหนก็มีแต่งานศิลปะเยอะไปหมด คงเพราะเป็นอย่างที่นอร์ชบอกว่า เด็ก ๆ บ้านเขาจะเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะและศิลปินของประเทศ งานศิลปะและสถาปัตยกรรมงดงามถึงยังหลงเหลืออยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เหมือนบ้านเรา อย่างตึกสมัยรัชกาลที่ห้าสวยงามแค่ไหนก็ถูกทุบทิ้งเกือบเกลี้ยง น่าเศร้าจัง

แล้วที่น่ายิ่งทึ่งกว่าก็คือ การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นงานปิดทองหลังพระอย่างนอร์ชว่า วัดที่ท่านทำไปไม่ใช่แค่วัดสองวัด แต่เป็นหลักหมื่นเลย ลายไทยที่ลอกออกมางามขนาด เราเคยวาดลายไทยมาแล้ว รู้เลยว่าไม่ใช่งานง่าย ๆ ขนาดลอกลายแบบที่มีต้นฉบับให้วาดตามเป๊ะ ๆ กว่าจะวาดเสร็จก็ปาดเหงื่อไปหลายรอบ


โดย: haiku วันที่: 23 พฤษภาคม 2553 เวลา:14:34:08 น.  

 
ขอเชิญเข้าร่วม workshop สมุดทำมือ, ภาพวาดสีน้ำ
และยังมีการวาดเส้นลวดลายกราฟิค เต้น B-Boy, street performance และคอนเสิร์ตจาก ศิลปินอาทิ เช่น พี่บอย พีซเมคเกอร์, เบน ชลาทิศ, ECT, hangman, Burin Groove Rider, Koh Mr.Saxman, Lula, Jennifer Kim, The star 6พร้อมทั้งศิลปินอื่นๆอีกมากมาย วันที่ 2-4 กรกฏา

ในงาน Smile@Ratchaprasong ที่ลานหน้าเซนทรัลเวิร์คคะ

ภายในงานยังเอาใจขาช๊อปด้วยการลดกระหนำ่สินค้าจาก อิเซตัน เกสร เอราวัณ เอาใจขาช๊อปเต็มสูบด้วยการลดราคาสูงสุดถึง 80% สำหรับใครที่ช๊อปครบ 1,000 บาท รับคูปองจับฉลากชิงรางวัล แพ็คเก็จท่องเที่ยวมูลค่า 20,000 บาท 100 รางวัล ์ ทั้งได้ช๊อปแถมอาจได้เที่ยว ทั้งยังมีตลาดนัดทำมือ ที่อัดแน่นด้วยไอเดียสร้างสรรค์

พร้อมทั้งประกวดภาพถ่ายรอยยิ้มของคุณ ในรายการSMILE Ambassador ชิง BBพร้อมกล้องโลโม่
หรือ ประกวดภาพถ่าย กรุงเทพ หัวข้อ Bangkok...That’s ชิงรางวัล 100,000 บาท!!

ติดตาม รายละเอียดเพิ่มเติม และรอบการแสดง ได้ที่เวปนี้คะ
//www.smileatratchaprasong.com/


โดย: Smile@Ratchaprasong IP: 125.26.9.171 วันที่: 25 มิถุนายน 2553 เวลา:12:27:06 น.  

 
ขอบคุณมากที่แวะมาบอกนะคะ รายการน่าสนใจมาก ถ้ามีเวลาต้องแวะไปแน่ ๆ ค่ะ


โดย: haiku วันที่: 25 มิถุนายน 2553 เวลา:21:45:58 น.  

 
Very impressiv. I like the "curved Street and "face". I'd wish he lived longer!


โดย: Boowi IP: 77.182.135.167 วันที่: 6 ตุลาคม 2553 เวลา:1:07:09 น.  

 
ขอบคุณคุณBoowlที่แวะมาชมภาพวาดงาม ๆ นะคะ


โดย: haiku วันที่: 7 ตุลาคม 2553 เวลา:23:05:36 น.  

 
ผลงานอาจารย์เฟื้อเป็นงานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์จริงจริง


โดย: พร IP: 124.122.223.202 วันที่: 9 ธันวาคม 2553 เวลา:17:58:16 น.  

 
ขอบคุณคุณพรที่แวะมาเยี่ยมกันนะคะ


โดย: haiku วันที่: 9 ธันวาคม 2553 เวลา:22:09:34 น.  

 
ชอบเรื่องราวและชื่นชมอาจารย์เฟื้ออยู่แล้ว อ่านที่คุณเขียน ดูรูปที่คุณคัดสรรมาให้ดู ชื่นตา ชื่นใจ ให้ความหมายกับชีวิตค่ะ ขอบคุณมากนะคะ

นพเกตมณี


โดย: นพเกตมณี IP: 110.171.8.204 วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:14:46:02 น.  

 
ขอบคุณคุณนพเกตมณีที่แวะมาอ่านประวัติครูเฟื้อนะคะ เป็นปลื้มที่เขียนบล็อกได้ถูกใจคุณค่ะ โชคดีที่เดี๋ยวนี้มีเวบให้ค้นข้อมูลได้สะดวก เลยไม่งั้นคงเขียนบล็อกนี้ไม่ได้แน่


โดย: haiku วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:21:00:38 น.  

 
กลับมาแล้วแต่มันเปลี่ยนไป


โดย: หนูเล็ก IP: 125.27.68.112 วันที่: 5 มีนาคม 2556 เวลา:14:49:31 น.  

 
ค้นคว้าได้ตั้งเยอะขอบคุณมากครับผมเป็นคนรักศิลปะตั้งตอนเด็กมาถึงม.2/


โดย: ภัทรภูมิ IP: 171.100.173.171 วันที่: 29 พฤษภาคม 2556 เวลา:21:25:07 น.  

 
111


โดย: 111 IP: 125.27.54.210 วันที่: 11 กันยายน 2557 เวลา:17:37:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.