happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
25 กันยายน 2557
 
All Blogs
 
คารวาลัย...อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี (๔)






สมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ “ถวัลย์ ดัชนี”
คนเชียงรายระดมความคิด จัดงาน ๑oo วัน อย่างยิ่งใหญ่


ทันทีที่เสียชีวิตจากอาการตับเสบ ในช่วงเช้ามืดของวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ร่างที่ไร้ลมหายใจของ ถวัลย์ ดัชนี วัย ๗๔ ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๔๔ ผู้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในฐานะเจ้าอาณาจักร บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ได้ถูกนำมาทำพิธีรดน้ำศพ ในช่วงบ่ายของวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ศาลา ๑ วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และมีพิธีสวดอภิธรรม ในเวลา ๑๙.oo น. ของทุกวัน ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๗ ก่อนจะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ในวันที่ ๑o กันยายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๗.oo น. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร






ขอเพียงห่อร่างด้วยเสื่อแล้วเผา


ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ ดัชนี ทายาทเพียงคนเดียวของถวัลย์กล่าวว่า เหตุที่นำร่างของผู้เป็นพ่อมาทำพิธีที่วัดนี้ ก็เพราะตนและทางกระทรววงวัฒนธรรม มีความเห็นร่วมกันว่า ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้ที่ถวัลย์เคยได้รับความรู้จากท่าน ในฐานะลูกศิษย์รุ่นท้ายๆของท่าน เคยอาศัยอยู่ที่วัดแห่งนี้ ดังนั้นทุกคนจึงอยากให้อาจารย์และลูกศิษย์มาอยู่ที่นี่ด้วยกัน


ก่อนที่ตนจะนำอัฐิของผู้เป็นพ่อ ไปทำบุญ ๑oo วัน ที่บ้านเกิด จ.เชียงราย ในลำดับต่อไป และจัดให้มีพิธีอย่างยิ่งใหญ่ แม้ว่าตลอดมา พ่อจะบอกตนเสมอว่า หากวันหนึ่งต้องเสียชีวิตลง ขอเพียงห่อร่างด้วยเสื่อ แล้วนำไปเผาก็พอ นอกจากนี้ม่องต้อยยังบอกด้วยว่า นอกจากที่ผ่านมาพ่อจะมีชีวิตอยู่อย่างผู้ที่พร้อมจะตายได้เสมอ ยังไม่มีความห่วงกังวลในทรัพย์สินใดๆที่มีอยู่ รวมไปถึงบ้านดำ และ ผลงานศิลปะที่สร้างฝากไว้


“ท่านไม่เคยเป็นห่วงเรื่องอะไร เพราะท่านมีหน้าที่สร้างขึ้นมา เมื่อท่านไม่อยู่มันก็หมดหน้าที่ของท่านแล้ว ผมในฐานะทายาทก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษา และสืบสานต่อไป ส่วนบ้านดำ ผมก็คงเข้าไปบริหารจัดการให้มันเข้ารูปเข้ารอย เข้าระบบมากขึ้น เพื่อจะได้มีระบบการบริหารจัดการที่มันดีขึ้น”





และระหว่างที่ถวัลย์ล้มป่วยลง ม่องต้อยบอกว่า ตนและพ่อได้คิดโครงการหนึ่งด้านศิลปะร่วมกันอย่างลับๆ และตั้งใจว่าจะเปิดตัว เมื่อไม่มีพ่อแล้ว จากนี้ไปตนคงต้องสานต่อคนเดียว และตั้งใจไว้ว่าหลังนิทรรศการครบรอบ ๗๔ ปี ที่เพิ่งจัดไปเมื่อปีที่ผ่านมาก่อนที่พ่อจะเสียชีวิต จากนี้ไป จะยังจัดงานให้พ่อต่อเนื่องไปทุกปี


“ทุก ๆ ปี จนถึงปีที่ ๑oo หรือ ปีที่ ๑oo กว่าก็ตาม ถ้าผมมีโอกาส มีลมหายใจ ก็อยากจะสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านต่อ ๆ ไป มันไม่ใช่แค่งานครบรอบวันเกิด แต่เป็นเหมือนพิธีกรรมที่เราทำให้ท่าน อย่างเช่นงานเมื่อครบรอบ ๗๔ ปี เราชวนศิลปิน ๗ คน มาทำงานศิลปะ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากท่าน แล้วมันก็ไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นต่อ ยังมีศิลปินอีกหลาย ๆ คน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากท่าน ดังนั้นผมคิดว่าเราน่าจะมีกิจกรรมศิลปะเกี่ยวกับท่านตลอดไป เพื่อระลึกถึงท่าน”






บอกรักพ่อทุกวันก่อนตาย


ม่องต้อยบอกเล่าถึงช่วงเวลาท้าย ๆ ที่เขาและพ่อมีร่วมกันว่า


“ผมเจอคุณพ่อครั้งสุดท้าย ก็ช่วงที่คุณพ่อป่วย สิ่งที่ผมบอกคุณพ่อทุกวันก็คือ บอกข้าง ๆ หูว่า ผมรักพ่อ บางวันแกก็ตอบได้ บางวันแกก็พยักหน้า บางวันแกก็ยิ้ม การบอกรักคือสิ่งสุดท้ายที่เราได้บอกท่าน และแม้ที่ผ่านมาตนและพ่อจะไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน แต่ทุกครั้งที่เจอกัน จะต้องโผเข้ากอดกันเสมอ จากนี้ไป เมื่อไม่มีพ่อให้กอดไม่มีคนคอยให้กำลังใจเช่นเคย ม่องต้อยบอกว่าตนจะพยายามใช้ชีวิตอยู่อย่างเข็มแข็ง ดังที่ได้เห็นตัวอย่างมาจากพ่อ”


“ตั้งแต่ผมเกิด จนเติบโตมาถึงวันนี้ ผมไม่เคยเห็นคุณพ่ออ่อนแอเลย ไม่เคยเห็นน้ำตาของคุณพ่อ แม้แต่หยดเดียว เพราะฉนั้นสิ่งที่ผมพอจะทำได้ให้ท่าน ผมต้องเข้มแข็ง ถึงแม้จะไม่มีท่านแล้ว แต่ท่านก็ยังอยู่ในใจผม อยู่ในเลือดเนื้อ จิตวิญญาณ ของผมตลอดไป ลูกก็เหมือนอนุสาวรีย์ของพ่อแม่ ดังนั้นผมคิดว่าการที่เราซึ่งเป็นลูกจะทำอะไรให้ท่านได้ดีที่สุดก็คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ต้องนึกถึงท่าน ทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ในทุกเรื่อง”









ผมชื่นชอบคนที่มีนิสัยแรง ชอบวิธีการวาดภาพของคุณถวัลย์


คนจำนวนมากต่างทยอยมาร่วมพิธีรดน้ำศพของถวัลย์อย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนั้นมี รอลฟ วอน บูเรน ดีไซเนอร์ชาวต่างชาติ ผู้ที่หลายคนบอกว่า มีส่วนสำคัญต่อการทำให้ผลงานของถวัลย์ ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ กระทั่งคนไทยที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยยอมรับ แม้ถวัลย์จะเป็นศิลปินที่มีฝีมือมากแค่ไหนก็ตาม แต่หลังจากที่เห็นว่าต่างชาติให้การยอมรับ จึงได้หันมามองและยอมรับในที่สุด และรอลฟ ยังเป็นผู้แนะนำให้ถวัลย์รู้จักกับเจ้าชายในต่างแดน จนได้ไปฝากผลงานชิ้นสำคัญไว้ในต่างแดน


รอลฟ บอกว่า เขารู้จักถวัลย์ครั้งแรกเมื่อ ๔o ปีก่อน ในฐานะผู้ซื้อภาพเขีบนของถวัลย์ ก่อนจะพัฒนามาเป็นเพื่อนสนิทที่เคยท่องเที่ยวไปด้วยกันในหลายสถานที่ ทั้งทิเบตและบาหลี เนื่องจากว่าประทับใจในนิสัยบางอย่างที่ไม่ค่อยเหมือนคนไทยของถวัลย์ อาจเพราะถวัลย์เกิดเมืองไทย แต่มีโอกาสไปเรียนต่อในต่างแดน ดังที่หลายคนทราบดีว่าเขาจบการศึกษาในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม


“ผมเป็นคนที่ชื่นชอบ คนที่มีนิสัยแรง และผมชอบวิธีการวาดภาพของคุณถวัลย์ เพราะว่ามันมีความ เป็น Craft (หัตถศิลป์) ไปร่วมอยู่ในงานศิลปะ (Fine Art) โดยเฉพาะในภาพที่วาดด้วยปากกาลูกลื่นของเขานั้น ในผีมีสัตว์ ในสัตว์มีความลึกลับซ่อนอยู่ เยอะมาก ๆ เลย แต่หลัง ๆ มานี้ เขาวาดด้วยปากกาลูกลื่นไม่ได้แล้ว เพราะว่าตาไม่ดี ก็เลยใช้แต่ ทีแปรงวาดภาพ”






“ถวัลย์ ดัชนี” ดาวินชี ของเมืองไทย


ด้าน บุญชัย เบญจรงคกุล อดีตเจ้าพ่อดีแทค ที่ปัจจุบันรู้จักกันดีในฐานะ เจ้าของ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย หรือ MOCA ที่ก่อนหน้านี้หลายคนเข้าใจว่า เป็นนักสะสมที่มีผลงานศิลปะของถวัลย์เก็บไว้มากที่สุด แต่ในวันรดน้ำศพ บุญชัยได้บอกกับสื่อว่า เขามีผลงานศิลปะของถวัลย์เก็บไว้มากก็จริง แต่ไม่ใช่มากที่สุด สำหรับเขา ถวัลย์ไม่ได้เป็นแค่ศิลปินของคนไทย แต่เป็นศิลปินของโลก เพราะผลงานเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก


“อาจารย์ถวัลย์ ไม่ได้เป็นแค่ศิลปินวาดภาพ แต่ยังเป็นนักปราชญ์ เป็นดาวินชี ของเมืองไทย ผมเสียดายที่อาจารย์มีเวลาอยู่กับเราน้อยไป คนในแวดวงศิลปะที่ทราบข่าวอาจารย์ หลายคนเสียใจ ร้องไห้ น้ำตาไหล”


บุญชัยบอกว่าระยะหลังแทบจะไม่มีโอกาสได้เจอถวัลย์ แต่มีโอกาสคลุกคลีอยู่ด้วยมากที่สุด ช่วง 3-4 ปีที่วางแผนจะเปิด MOCA


“อาจารย์ถวัลย์ได้เข้ามาส่วนช่วยให้คำปรึกษา แต่ช่วงหลังก็ไม่ค่อยได้เจอกัน ช่วงที่อาจารย์กลับไปพักผ่อนที่เชียงราย ผมก็ไม่อยากกวน เจอกันครั้งล่าสุดเมื่อ ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา อาจารย์ไม่ได้ฝากฝังอะไร แต่บอกว่าพอใจที่ทาง MOCA ทำห้องแสดงงานศิลปะของตนเองเฉพาะ ซึ่งเป็นห้องที่มีผนังเป็นพื้นแดง ตัดกับผลงานซึ่งเป็นสีดำ”


ระหว่างนี้ - ๑๑ กันยายน ๒๕๕๗ MOCA เปิดให้เข้าชมฟรี เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ ถวัลย์ ดัชนี










คือการสูญเสียที่หลายคนสะเทือนใจ


อาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณะบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร กล่าวแสดงความรู้สึกว่าหลายคนเข้าใจดีว่าการสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต คนเราเกิดมาถึงเวลาก็ต้องไป ทว่าการจากไปของถวัลย์ อาจจะสร้างความสะเทือนใจให้กับคนเยอะ


“เนื่องจากท่านเป็นศิลปินที่มีความสามารถ มีคนติดตามดูงานท่านเยอะ และท่านมีกิจกรรมที่ทำอยู่เยอะ พอท่านจากไป มันก็เลยทำให้ทุกคนค่อนข้างจะช็อค ก่อนหน้านี้พวกเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่าท่านไม่ได้ป่วยไม่ได้เป็นอะไรเลย อยู่ๆก็มาทราบว่าเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตในที่สุด”






กมล ทัศนาญชลี “ผมสูญเสียเพื่อนคู่คิด”


การเสียชีวิตของถวัลย์ ทำให้ กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี ๔o ต้องใช้คำว่า ตนได้สูญเสียเพื่อนคู่คิดไปตลอดกาล เนื่องจากว่าหลายปีที่มา นอกจากกมลจะคุ้นเคยกับถวัลย์ ในฐานะรุ่นพี่จากรั้วเพาะช่างที่รู้จักกันมากว่า ๕o ปี


กมลยังร่วมกับถวัลย์ ทำโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นในนาม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และโครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ที่ตนและถวัลย์ร่วมกันบุกเบิก ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะได้รับการสนับสนุนจาก สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นำเยาวชนไปเข้าค่ายที่บ้านดำ แล้วคัดเลือกไปทัศนศึกษาด้านศิลปะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศซึ่งกมลไปใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ที่นั่น


“อาจารย์ถวัลย์ได้ทำหลายอย่างที่ศิลปินหลายคนไม่ค่อยได้ทำ หลายคนเมื่อประสบความสำเร็จแล้วไม่เคยมาดูแลวงการศิลปะบ้านเรา แต่อาจารย์ถวัลย์ เป็นคนหนึ่งที่มีจิตสารธารณะ ซึ่งมันไม่ได้มีอยู่กับศิลปินทั่วไปทุกคน แต่อาจารย์ถวัลย์มี ท่านมีปรัชญาตรงกันกับผม เวลาผมทำโครงการอะไรต่าง ๆ อาจารย์ถวัลย์ก็สนับสนุนเต็มที่ แล้วแกก็ลงมาทำด้วย ซึ่งคนระดับนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาทำแบบนี้ก็ได้ แต่แกลดตัวเองลงมา เพราะอยากเห็นวงการศิลปะบ้านเราดีขึ้น ก็เลยมาคิดทำโครงการ แล้วก็ลุยไปด้วยกันกับผม”





กมลบอกด้วยว่า ตลอดระยะเวลา ๕o ปีที่รู้จักกันมา เวลาที่ถวัลย์เดินทางไปอเมริกา จะด้วยไปเที่ยวหรือไปแสดงงาน หรือไปแลกเปลี่ยนด้านศิลปะ มักจะไปพักอยู่กับตนเป็นเวลานาน และแต่ละครั้งนาน ๒- ๖ เดือน ทว่าครั้งสุดท้ายไปพักอยู่ด้วยได้นานแค่ ๒ อาทิตย์เท่านั้น


“แกบอกว่า ผมมาอยู่บ้านกมล ครั้งนี้เร็วที่สุด เพราะปกติแกจะอยู่นาน อยู่อย่างสบายใจ ทำงานศิลปะ แล้วก็ทำกิจกรรมกับศิลปินนานาชาติ ไปแสดงงาน ไปแลกเปลี่ยน ไปบรรยาย ไปอะไรต่ออะไร ในเรื่องที่เรามีความเห็นเหมือนกัน และแกก็สนุก แกเป็นคนที่มีความรอบรู้ที่อยากจะถ่ายทอดให้คนได้รู้ ไม่ใช่ว่ารู้อะไรแล้วเก็บไว้คนเดียว เป็นเอกลักษณ์ของแกที่ศิลปินคนอื่นไม่มี


ผมไปอเมริกากับแกครั้งสุดท้ายตอนทำโครงการแลกเปลี่ยน นำศิลปินต่างชาติมาเมืองไทย แสดงงานเสร็จก็นำศิลปินไทยไปแสดงที่อเมริกาต่อ แลกเปลี่ยนกัน ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ ๔-๕ เดือนที่แล้ว พอกลับมาแล้วก็มาทำโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจรไปตามภูมิภาคต่าง ๆ”






ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก อยากไป “ฟูกูโอกะ


"ในช่วงระหว่างโครงการนี้ มีช่วงว่าง ๑o กว่าวัน แกบอกว่าต้องการไปที่ญี่ปุ่น ไปเยือนมิวเซียมที่แกเคยได้รับรางวัลระดับโลก ๑๓ ปีที่แล้ว ดร.สุเมธ ชุมสาย ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ปี ๔๑ เป็นคนส่งชื่อและสนับสนุนให้แกได้รับรางวัลฟูกูโอกะ ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีคนไทยเพียง * คนเท่านั้นมั้งที่เคยได้รับรางวัลนี้


ดังนั้นพอแกเริ่มป่วย เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก แกก็ขอไปที่นี่ ทางกรมส่งเสริมวัฒนาธรรม ก็เลยจัดโปรแกรมไปญี่ปุ่น พาศิลปินคนอื่น ๆ และพาสื่อไปด้วยมีการสัมภาษณ์กับสื่อของที่นั่นด้วย ผมก็อยู่กับแกตลอด ทางนั้นก็เตรียมสัมภาษณ์แกเต็มที่ ขณะสัมภาษณ์ผมอยู่ด้วย แกต้องนุ่งแพมเพิสระหว่างสัมภาษณ์ เพราะควบคุมการปัสสาวะของตนเองไม่ได้ เราว่าจะไปบาหลีด้วย แต่ก็งดซะก่อน”


เหตุเพราะอาการป่วยของถวัลย์เริ่มหนัก เมื่อเดินทางกลับมาเมืองไทยต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ที่ไม่มีใครทราบเท่าไหร่ เพราะทางถวัลย์และทายาทต้องการปิดข่าว ดังที่ม่องต้อย เคยกล่าวว่าพ่อมักจะพูดเสมอว่า “อยากให้เราพบกันในวันที่สวยงาม และเก็บความทรงจำดี ๆ นั้นไว้”


“ที่แกป่วยจนเสียชีวิตเพราะตับอักเสบ แต่ไตยังทำงาน แต่เหมอก็ต้องล้างไตด้วย ผมเจอแกครั้งเกือบสุดท้ายคือ บินกลับมาจากญี่ปุ่นมาด้วยกัน นั่งคุยด้วยกันมาตลอด และมาเจอครั้งสุดท้ายตอนที่ไปเยี่ยมที่โรงพยาบาล”






"ม้า" ภาพเขียนชิ้นสุดท้าย


และขณะป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลนี้เอง เป็นช่วงที่ถวัลย์ได้ทำงานศิลปะชิ้นสุดท้ายของตัวเอง เป็นภาพเขียนวาดด้วยเส้นสีแดง บวกกับมีลักษณะเป็นจุด ๆ


“เจอกันครั้งสุดท้ายแกเป็นห่วงโครงการที่เราทำร่วมกันมาก อีกทั้งในส่วนของผมนอกจากทำโครงการที่เมืองไทย ผมยังทำที่อเมริกาด้วย ผมขาดคู่คิด ขาดคู่ที่รู้ใจ แกเป็นศิลปินที่รู้ใจผมมาก ๆ คนหนึ่ง โครงการอะไรที่ผมคิด แกก็เห็นด้วย ก็เลยไปด้วยกันได้ โครงการที่ราทำด้วยกันมา นาน ๑o กว่าปีแล้ว โครงการมันโตแล้ว จึงคิดว่ามันแข็งแรงพอที่กรมส่งเสริมและสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยน่าจะทำต่อ คงไม่ตัดงบ คงสานต่อ เพราะสิ่งที่เราทำ มันมีคุณค่ามาก และหลัง ๆ เราได้ศิลปินแห่งชาติท่านใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุนด้วย”






ด้าน ม่องต้อย ได้เผยให้ทุกคนได้ทราบถึงภาพวาดชิ้นสุดของพ่อให้ทุกคนได้ทราบในเวลาต่อมาว่า ซึ่งในวันพระราชทานเพลิงศพ ๑o กันยายน ๒๕๕๗ ภาพนี้จะถูกนำมาจัดพิมพ์จำนวนจำกัด เพื่อมอบให้ทุกคนที่ไปร่วมงานเพื่อระลึกแด่การจากไปของถวัลย์ ดัชนี


"วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ พ่อวาดภาพ "ม้า" ขึ้นที่โรงพยาบาลในขณะที่เข้าพักรักษาตัวอยู่ เป็นภาพสุดท้ายที่พ่อวาดในขณะยังมีลมหายใจ เทคนิคปากกาเคมีและปากกาลูกลื่นบนกระดาษ"






ภาระกิจสุดท้ายในต่างแดน


ด้านผู้สื่อข่าวบางรายก็ได้เล่าให้ฟังเช่นกันว่า ในทริปที่เดินทางไปญี่ปุ่น อาการป่วยทำให้บางเวลาถวัลย์ต้องพักอยู่ที่พัก ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมกับทางคณะได้ในทุกสถานที่ที่บรรจุไว้ในโปรแกรม


“เวลาไปตามสตูดิโอของศิลปินชั้นนำของญี่ปุ่น ก็มักจะมีศิลปินคอยถามว่า คุณถวัลย์ไปไหน เพราะทุกคนอยากเจอ ก่อนที่จะกลับมาเมืองไทย อาจารย์ก็เคยบอกว่า อยากจะสนับสนุนให้ศิลปินญี่ปุ่นมาสร้างงานที่บ้านดำ ตอนไปญี่ปุ่นคือเมื่อเดือนมิถุนายน อาจารย์ค่อนข้างไม่ค่อยสบาย อาจารย์เน้นไปที่พิพิธภัณฑ์ฟูกูโอกะที่เดียว การไปญี่ปุ่นครั้งนั้น เรียกว่าเป็นภาระกิจสุดท้ายของอาจารย์ในนามศิลปินไทยที่ได้ไปเผยแพร่ความรู้ที่ญี่ปุ่น พอกลับมาปุ๊บ อาจารย์ก็เข้าโรงพยาบาล”






ฝากฝังโครงการ “ถ่ายทอดศิลปะให้กับครู”


เพื่อไม่ให้องค์ความรู้ในด้านศิลปะที่ถวัลย์ไปถ่ายทอดไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ สูญหาย ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริม วัฒนธรรม กล่าวว่า ทางกรมส่งเสริม จะมีการนำองค์ความรู้เหล่านั้น มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือ และ DVD เพื่อนำมาแจกจ่ายให้คนทั่วไปได้รับความรู้จากสิ่งที่ถวัลย์เคยถ่ายทอดไว้


“ขณะเดียวกัน อาจารย์ถวัลย์ก็เคยฝากโครงการถ่ายทอดงานศิลปะให้กับครูไว้ เพราะอาจารย์ถวัลย์บอกว่าครูมีความสำคัญต่อการสร้างเด็กในอนาคต และโครงการนี้ทางกรมจะเดินหน้าต่อไป”






คนเชียงรายระดมความคิด จัดงาน ๑oo วัน อย่างยิ่งใหญ่



สมลักษณ์ ปันติบุญ ประธานกองทุนศิลปินเชียงราย กล่าวว่า หลังจากนี้ไปจะมีการระดมความคิดของศิลปินเชียงรายและคนเชียงรายในหลายๆส่วน เพื่อจัดงาน ๑oo วัน เพื่อเป็นการรำลึกถึงถวัลย์อย่างยิ่งใหญ่และสมเกียรติ และแน่นอนว่าต้องไม่ทิ้งกลิ่นไอของศิลปะ


“ต้องประมวลความคิดจากคนเชียงราย เพราะคนเชียงรายรักพี่หวันอย่างที่คนทั้งประเทศรัก พี่หวันเป็นปูชนียบุคคล ในอุดมคติลึก ๆ ของศิลปินเชียงรายทุกคน จะมีพี่หวันอยู่ข้างใน ไม่ว่าใครทั้งสิ้น สิ่งสำคัญคือเรื่องของการปฏิบัติ ลุงหวันเป็นตัวอย่างของศิลปินที่ดี ที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้”


กมล คาดว่าสถานที่จัดงานน่าจะเป็นที่บ้านดำ อันเปรียบเป็นมหาวิหารชีวิตของถวัลย์


“เพราะจุดประสงค์ที่แกสร้างบ้านดำ สร้างมหาวิหารเหล่านี้ขึ้น เพราะแกเคยตั้งใจที่จะตายที่ตรงนั้น และแกพูดกับผมเสมอว่า อยากให้คนซื้อบัตรมาดูการตายของแกที่นี่ มหาวิหารก็สร้างเสร็จแล้ว ขายตั๋วเต็มหมดแล้ว ทั้งตั๋วนั่ง ตั๋วยืน ตั๋วตะแคง เพิ่มรอบก็แล้ว แต่แกก็ยังไม่ตายซะที”















พระฉายาลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก manager.co.th













"นายคนภูเขา"



๑๕ กันยายน ของทุกปี เป็น "วันศิลป์ พีระศรี"
๑o กันยายน ๒๕๕๗ เป็นวันพระราชทานเพลิงศพ "นายคนภูเขา"


มาทำความรู้จัก "นายคนภูเขา" ของ "ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี"


ถวัลย์ ดัชนี ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์”

ถวัลย์ ดัชนี
จิตรกรอิสระ


กราบคารวะพระคุณของอาจารย์ ที่รู้ว่าศิษย์นั้นโง่ ขยัน
กระนั้นก็ยังรักและเมตตา


ก่อนเข้ามาเรียนศิลปากร ภายใต้การสอนของอาจารย์ศิลป์ ผมมาจากเชียงราย เข้าเรียนวาดเขียนที่โรงเรียนเพาะช่าง ความรัก ความศรัทธาและความใฝ่เรียนใฝ่รู้ ทำให้ผมมาเข้าศิลปากร

ความงุนงงสงสัย ความฉงนฉงาย เคลือบแคลงเส้นแบ่งกั้นระหว่างช่างฝีมือ คนรังสรรค์ศิลปะ ช่างหัตถกรรม กับผู้รังสฤษฏ์ จิตวิญญาณและรอยเท้า ลมหายใจพระเป็นเจ้า

จากเบ้าหลอมหนึ่งไปสู่เตาเผาใหม่ ขัดเกลา ขูดถาก เคี่ยวกรำมาอีกห้าปีในคณะจิตกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และธุดงค์รอนแรมข้ามฟ้าไปอีกหลายประเทศในยุโรปอีกกว่าห้าปี

บ่อยครั้งที่ย้อนทวนกระแสกาลเวลาเวียนคืนหลัง ความทรงจำเก่าๆ กลับผุดพราย เมื่อวันวาน แจ่มกระจ่าง โปร่งเบา หดหู่ท้อแท้ด้วยความเยาว์เขลา และโง่ ปีติยินดีเริงร่ากับความสำเร็จชั่วครู่ยามเหมือนหยดน้ำค้าง ขันสมเพช ระคนความลี้ลับของมรรคาศักดิ์สิทธิ์ในวิหารแห่งศิลปะ ที่ผมเดินก้าวย่างเข้าไปในเทวาลัยทิพย์นั้นมาตลอดชีวิต และครั้นในปัจฉิมวัย ได้นั่งเคี้ยวเอื้องคืนวันในแรกระบัดหนุ่ม

อาจารย์ศิลป์ ถ้าเปรียบประดุจเทพ แห่งจิตวิญญาณ ผู้บรรจุสายธารชีวิตให้พะเนียงโชนประกาย ทำนุบำรุงแสงเพลิงเหล่านั้นให้ส่องทางวิถีสุนทรียศาสตร์ รังสรรค์ความรักปรากฏรูป ผ่านฝีมือ ประสบการณ์ความชำนาญแม่นยำในทักษะ ความรู้จัดเจนปราดเปรื่องเป็นเลิศ ปราชญ์สุนทรีย์ทางทฤษฎี ความนุ่มนวลควรแก่การงานของดวงจิต และวิญญาณอิสระในแง่นิรมิตสร้างสรรค์

อาจารย์ไม่ใช่ปั้นดินให้เป็นดาว หากแต่นิรมิตมนุษย์ให้เป็นเทพและให้เทพรังสรรค์ลมหายใจแห่งความรักออกมาเป็นศิลปะ โอยทานทิพย์แก่มวลมนุษยชาติ

ระลึกถึงอาจารย์ ผ่านการทำงานศิลปะมาตลอดชีวิต วันนี้มาขอดเกล็ดบางครั้งในร่มเงามหาวิหารแห่งพุทธิปัญญา เมตตาธรรม และแพร้วด้วยอารมณ์ขันของท่านเอง

สมัญญาจากอาจารย์

ผมเป็นนักเรียนจิตรกรรมคนแรก คนเดียวของท่านที่มาจากเชียงรายโดยกำเนิด ผมมาจากภูสูงของผ้าห่มปกและผีปันน้ำ แดนลาว ไทย พม่า สามเหลี่ยมทองคำ ชอบเสื้อสีแดงชายครุยกรุยกรายของกระเหรี่ยง เครื่องประดับชาวเขาหลายเผ่า อาวุธและเครื่องใช้ในพิธีกรรมของชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ทั้งที่สูงบนดอยและที่ราบลุ่ม

อาจารย์เรียกผมว่า “นายคนภูเขา” ซึ่งเป็นชื่อเรียกขานตัวผมมาตลอดชีวิตของท่าน

ขยันเกินไป

ผมตั้งใจเรียน ขยัน และทำงานหนัก แต่สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะไม่มีความสลักสำคัญอะไรนัก ถ้าเราปราศจากความเข้าใจแจ้ง ทำงานแต่พอควร ถนอมออมแรงไว้สำหรับงานสุนทรียภาพ ผมทำงานอย่างบ้าคลั่งมาตลอดหกเดือนแรกของการเข้าเป็นนักศึกษาใหม่ ด้วยตระหนักว่ามาจากเพาะช่าง รากฐานยังไม่มั่นคง ดำริชอบ และเข้าใจชอบไม่มี มีแต่เพียรชอบ วิริยะชอบ ตั้งใจชอบ ผมตกซ้ำแล้วซ้ำเล่าแทบทุกวิชา เพราะความผิดอย่างเดียวกัน

“นายคนภูเขา นายมันโง่แล้วขยัน ไม่ดีนะนาย นายยิ่งทำงานหนัก ยิ่งล่มจม เหมือนอียิปต์และเขมร ประเทศชาติล่มจมเพราะทำปิรามิด สร้างเทวาลัยมากเกินไป นายหัดคิดเสียบ้าง อย่าเอาแต่ทำ ขยันเกินไป โง่เกินไป ทำปุ๋ยก็ยังไม่ดีนาย...”

ผมหยุดทบทวนบทบาทตัวเองใหม่ เรียน เสาะแสวง ค้นคว้าไต่ถาม อีกปีต่อมาคะแนนทุกวิชาของผม โดยเฉพาะ วาดเส้น วิจัยศิลปไทย ผมได้ถึงขั้นดีเป็นเลิศ ครั้งแล้วครั้งเล่า งานนักศึกษาเหล่านั้นของผมแทบจะยึดครองบอร์ดนักศึกษา

ส่งห้า-ออกเจ็ด

แล้ววันหนึ่งก็มาถึง วันส่งงานเข้าแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ตอนนั้นผมเรียนอยู่ชั้นปีหนึ่งปลายปี ผมเคยส่งงานเข้าร่วมแสดงมาแล้วเมื่อครั้งอยู่เพาะช่าง ได้เข้าร่วมแสดง ขายได้ด้วย จึงชะล่าใจส่งเข้าแสดงอีกครั้ง

ผมส่งงานเข้าไปห้ารูป เป็นวัดโพธิ์สีน้ำมัน ต้นดอกทองกวาววัดพระแก้ว และชาวเขา ผมถูกคัดออกมาทั้งหมดเจ็ดรูป?! ส่งงานห้ารูปถูกคัดออกเจ็ดรูป!? เป็นที่เยาะเย้ยหุยโห่ฮาป่าของเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องคนรู้จักในแวดวง

อีกสองรูปมาจากไหนหรือ?

มันเป็นงานติดบอร์ดที่ผมเคยภาคภูมิใจ อิ่มเอิบด้วยความปีติมาแล้วนั่นเอง!

ไม่รู้ว่า “ผู้หวังดี ประสงค์ร้าย” ท่านใดกรุณาส่งเข้าไปสมทบซ้ำเติม

และสำหรับวันนั้นเล่า มันทั้งอาย เจ็บแสบ หดหู่ และความไม่เข้าใจแจ้ง

ผมนั่งรออยู่คนเดียวจนมืดค่ำ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีใครเห็น ไม่มีใครทัก ผมค่อย ๆ ย่องเข้าไปแบกรูปมากองไว้มุมตึกทีละรูป เรียกรถตุ๊กๆ มาขนกลับไปไว้ในส้วมร้างข้างบ้าน เพราะไม่มีที่เก็บ ต่อมาผมทาสีดำทับเพื่อเอาไว้ใช้เขียนรูปอื่นต่อไป

แต่ผมไม่เคยท้อแท้ ไม่เคยเหนื่อยหน่าย ยอมรับความผิดหวัง หากยังมีพลัง ยังมีไฟศิลปที่ลุกเรืองอยู่ในจิตวิญญาณนิรันดร์

มีแต่ถูกต้อง

วันหนึ่งในสนธยากาล อาจารย์กำลังจะกลับบ้าน ในความขมุกขมัวรัวลางทั้งบรรยากาศและความคิด ท่านเดินเข้ามาหาผมในซอกตึกเรียนแล้วบอกว่า

“นายคนภูเขา
งานของนายมีแต่ถูกต้อง มันเป็นงานเรียน เป็นอะคาเดมิคนะนาย มันไม่มีชีวิต ปลาของนายว่ายน้ำไม่ได้ ไม่มีกลิ่นคาว
ม้าของนายตายแล้ว ยืนตาย วิ่งไม่ได้ ร้องไม่ได้
วัดของนายเหมือนฉากลิเก
ฟ้าของนายไม่มีอากาศ หายใจไม่ได้
รูปของนายไม่มีมิสติคเลย นายไม่เข้าใจนะ นายคนภูเขา”

ผมจะไปเข้าใจได้ยังไงล่ะ รุ่นพี่ที่ได้แสดงงานศิลปกรรมครั้งนั้น รูปเขียนปลาของเขาได้คะแนนสิบห้า ส่วนของผมได้คะแนนเก้าสิบ กลับถูกคัดออก

อะไรคือศิลป?

คำถามนั้นก้องสะท้อนอยู่ในผนังใจของผมในวัยหนุ่ม ในขณะที่ผมกำลังทำความเข้าใจศิลปะ ทะลวงกำแพง และหักโซ่ตรวน ขื่อคาพันธนาการทางงานช่างฝีมือ ไปความสะเทือนใจในศิลป

นี่นาย

“นี่นาย...ฉันคิดว่า นายพอแล้ว นายทำได้แล้วงานเรียน นายคิดซินาย สร้างสรรค์นะนาย นายทำอะไรมาก็ได้ ที่ผิดน่ะนาย ฉันจะบอกนายว่ามันผิดยังไง

นี่นาย...อันนี้ ไม่ใช่นิสัยของนายนะ มันเป็นเดคคอเรทนะนาย มันสวยเกินไป มันไม่มีกำลังนะนาย เลิกทำเสียดีกว่านาย

นี่นาย...อันนี้ นายแกล้งทำเกินไป มันไม่ซินเซียร์นะนาย มันมากเกินไป มันเป็นบาโรคนะนาย มันไม่มีข้างใน มันกลวงนะนาย ฉันว่ามันไม่ดีนี่นาย...ของนายมันเป็นโปสเตอร์นะนาย เพอร์สเปคตีฟนายผิดนะนาย มันไม่เป็นศิลปะนะนาย นายไม่เข้าใจฟิลลิ่ง มันไม่มีสปิริตนะนาย

นี่นาย...ควายของนาย แอ็คชั่นมากเกินไปนะ ฉันว่าม้าเท่านั้นทำท่านี้ วัวควายไม่ทำนาย

นี่นาย...เราเรียนศิลปะนะ ทำไมนายถึงไปให้เขาฝึกทหาร ซ้ายหันขวาหัน คนนะนายไม่ใช่ควาย

นี่นาย...หัวหน้ากองหัตถศิลป์ มาฟ้องว่าพวกนายนั่งนินทานางแบบทั้งวันไม่ทำงาน

นี่นาย...นู้ดของนายเหมือนไม้ทาสีนะนาย ไม่มีชีวิตเลย นายพยายามนะนาย

นี่นาย...รูปคนของนายยุ่งเกินไป ทำการเมืองมากเกินไป ฉันอยากให้นายทำศิลปะนะนาย ไม่อยากให้นายยุ่งเรื่องการเมืองในศิลปะ อันตรายมากนะนาย

นี่นาย...นายตกเพอร์สเปคตีฟอีกแล้ว นายมารีเอ็กแซมกับฉันนะนายก่อนกลับบ้าน

นี่นาย...นายอยากได้อ่านทีซีสไหมนาย มาหาฉันที่ห้องนะ พรุ่งนี้ฉันไปโรงพยาบาล

นี่นาย...ถ้านายรักฉัน ทำศิลปะนะนาย นายไม่ต้องจัดวันเกิดให้ฉัน นายจัดห้องเรียนให้สะอาด นายโกนหนวดแล้ว คนภูเขา วันนี้นายเป็นฮิวแมนบีอิ้งแล้ว ก่อนนั้นนายเป็นลิงนะนาย

นี่นาย...นายเข้าเรียนภาษาอังกฤษกับอาจารย์ผู้หญิงด้วยนะนาย ฉันรู้นายไม่ชอบ แต่อาร์ตีสต้องมีความรู้เรื่องอื่นนะนาย ถ้านายปฏิเสธ นายลำบากนะนาย วันหน้า

นี่นาย...ฉันคิดว่า ที่นายขอห้าร้อยไปซื้อผ้าร้อยเมตรมาเขียนโปสเตอร์งานแห่งชาติ ฉันให้นายห้าบาทพอแล้วนาย เขียนเมตรเดียวพอ อาร์ท เอ็กซิบิชั่น ฉันออกวิทยุแล้ว ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์แล้ว ฉันไม่ใช่โสเภณีนะนาย เราทำงานศิลปะ คนดูเขาอยากมาเอง ฉันไม่ได้ขายตัว ฉันทำศิลปะนะนาย

นี่นาย...ค่ำแล้ว นายเพิ่งกลับมาหรือ? (ผมกับวิรัช กันทรัพย์ เพื่อนรุ่นน้องมัณฑนศิลป์ อาจารย์ใช้ให้ไปเขียนประกาศนียบัตรที่สถานทูตแห่งหนึ่ง ทั้งวัน เช้าจรดเย็น ตามคำสั่งอาจารย์)

นายได้มีข้าวกินไหม? เขาเลี้ยงไหม? เขาให้เงินนายไหม? ไม่เลยหรือ? บ้าจริง ๆ

นี่ฉันให้นายนะ (อาจารย์ควักเงินส่วนตัวให้คนละร้อย บ่นพึมพำว่าบ้า บ้าจริง ๆ)

นี่นาย...รูปชาวเขาลงผี อันนี้ของนาย เก็บไว้ให้ดีนะ นายมีหัวคนหนึ่ง วันหนึ่งจะเป็นรูปสำคัญของเมืองไทยนะ

นี่นาย...นายคิดว่านายเป็นใคร สวัสดิ์ ชลูด ตั้งราคาสามพันบาท นายไปตั้งราคาเท่าเขาได้ยังไง นายยังเป็นนักเรียนอยู่นะ นายไม่ใช่อาร์ตีส

นี่นายคนภูเขา นายเอากะเขาด้วยหรือ? แสดงรูปวังสวนผักกาดนี่เหรอ? นายระวังนะ นายทำคอมเมอร์เชี่ยลมากไปนะนาย ฉันว่านายตั้งใจทำงานดีกว่า

นี่นายคนภูเขา ฉันให้นายได้รางวัล แต่รูปนายแย่มากนะนาย สีนายไม่ทำงาน เพอร์สปคตีฟนายผิด มันเป็นโปสเตอร์นะนาย รูปนายเป็นรูปที่เลวน้อยนิดหน่อยนะนาย

นี่นาย...ฉันคิดว่าถ้านายเขียนรูปอย่างนี้นะนาย ตายดีกว่านาย ไม่มีสปิริตเลย

มหาวิหารแห่งคุณธรรม

อาจารย์คือเทพเจ้า สำหรับลูกศิษย์ ทั้งเคารพรัก ยกย่องเทิดทูนบูชา ต่อหน้าและลับหลัง เราวางท่านไว้บนหิ้งบูชาดุจคุรุเทพ เกรงและกลัวท่านจะโกรธเสียใจที่เราไม่ขยันหมั่นเพียร ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีเลิศ ทั้งคุณธรรม จริยธรรมและตลอดจนเป็นแบบอย่างของการดำรงชีวิต อาจารย์อยู่อย่างสงบสันโดษ มักน้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ละโมบยินดีในลาภสรรเสริญสุข ทรงภูมิทรงปัญญา หากแต่อ่อนน้อมค้อมต่ำกับผู้คนทุกหมู่เหล่า มีมนุษย์สัมพันธ์เป็นเลิศ ผู้คนที่ได้รู้จักท่านประทับใจในความสง่างามของบุคลิก ความเชื่อมั่นศรัทธากล้าในศิลปศาสตร์ทุกสาขา ความรอบรู้ในภาษาศาสตร์ อาจารย์พูดได้ดีทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน นอกเหนือไปจากอิตาเลียน สเปนและภาษาไทยพื้นฐานของท่าน

ท่านกว้างขวางในทัศนคติ และยิ่งใหญ่ด้วยเมตตาธรรม ปรารถนามิตรสหายที่สามารถปฏิเสธแนวความคิดของท่านได้

อาจารย์มามหาวิทยาลัยแต่เช้า ทำงาน เขียนหนังสือ เตรียมการสอน ตรวจตรา วิจารณ์ ควบคุม ให้แนวนโยบาย ไปร่วมงานสังคม พิธีกรรมทางศิลป กินอาหารกลางวันคนเดียวง่าย ๆ ในห้อง ไม่มีเครื่องดื่มใด ๆ ไม่มีอบายมุข ไม่มีราคะจริตความฟุ้งเฟ้อใด ๆ เข้ามาแผ้วพาน มีชีวิตแสนขลังอยู่ในเทวาลัยเร้นลับน่าพิศวงของเหล่าศิษย์ และนั่งสงบสง่าอยู่ท่ามกลางดวงใจ ดวงวิญญาณของเหล่าศิษย์อยู่ในอนันตภาวะ

ในความเบิกบานทางสุนทรียภาพนั้น อาจารย์เปรียบประดุจ ห้องสมุดอเล็กซานเดรียแห่งอียิปต์ วิหารแห่งเมโสโปเตเมีย อโครโปลีสแห่งกรีก มหาวิหารแห่งโรมและฟลอเรนซ์ ตรีมูรติแห่งอินเดีย และมหากาพย์ภารตะอุปนิษัท และไตรปิฎกแห่งหินยานและมหายาน ปกรณัมแห่งทวยเทพ ตลอดจนวรรณคดีดนตรีทุกท่วงทำนอง เหล่าศิษย์กำซาบสุนทรียรสเหล่านั้น แม้กระทั่งสอนนั่งโต๊ะกินข้าว มรรยาทผู้ดีฝรั่ง กินไวน์หลากรส กลิ่น สี เรียนรู้รากเหง้าอู่อารยธรรมตะวันตก

ฉันเป็นมนุษย์นะนาย

ครั้งหนึ่ง ผมและอาจารย์ไปลงเรือข้ามฟากท่าช้าง อาจารย์พาพวกเราไปดูวัด ในพลบโพล้แห่งสนธยากาล ระลอกทองของแดดยามเย็น เกลือกกริ้วบนพรายน้ำเจ้าพระยา อาจารย์และลูกศิษย์ยืนอยู่ท้ายเรือ ท่ามกลางผู้โดยสารที่บุ้ยใบ้ชี้ให้ดูกัน

“ฝรั่ง! ฝรั่ง! สอนคนไทยดูวัด!?”

ผู้ชายฝรั่ง วัยต้นหกสิบ รูปร่างสง่างาม ผมหยัดศก ใบหน้าสงบนิ่งเหมือนนักบุญผู้คงแก่เรียน มองดูลูกศิษย์ผู้ร่วมทาง แล้วกล่าวว่า

“นายคนภูเขา ดูซิ เขาว่าฉันเป็นฝรั่ง แต่ข้างในของฉัน มีเลือดสีแดงเหมือนทุกคน ฉันเป็นมนุษย์นะนาย ฉันเป็นคน คนที่รักเมืองไทย ศิลปวัฒนธรรมของนายด้วย”

พลันทันทีหูผมอื้ออึงด้วยกัมปนาทอารมณ์ จินตนาการและท่วงทำนองของมนุษยชาติ อดนึกถึง มาร์โคโปโล โคลัมบัส วาสโคดากามา มาจนถึง โคร์ราโด เฟโรจี หนุ่มน้อยจากฟี่เรนเซ่ มหานครแห่งศิลปอิตาลี ธุดงค์กาลเวลามาหว่านเมล็ดพันธุ์ศิลปร่วมสมัยในสยามประเทศ กว่าร้อยปีฉนำกาล จนเติบใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลิตศิลปินของชาติไปสู่นานาอารยประเทศ ทิ้งรอยอัจฉริยภาพแผ่นดินไว้บนผืนใจแผ่นพื้นจิตวิญญาณตราบจนทุกวันนี้

ผมไม่เคยภาคภูมิใจในกิจกรรมอันใดของสมมุติสัจจะในชีวิต ที่เคยได้มี ได้ทำ ได้เป็น ไม่เคยให้ความสลักสำคัญกับโลกธรรมเหล่านั้น มีเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่เคยได้มี เคยได้เป็น นั่นคือ เป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี

ความรู้สึกผูกพัน สำนึกคุณ กตัญญู และมีเจ้าของ เป็นเหมือนลูกหมาพันทางหลงเข้ามาในเมือง มีมูลนายคอยปกป้องเลี้ยงดูจนมีชีวิตเติบกล้ามาจนถึงทุกวันนี้

กว่าสามสิบปีที่อาจารย์จากไป ตำนานชีวิต ยังคงตราตรึงตอกประทับอยู่ภายในส่วนลึกของศิษย์ ต่างกรรมต่างวาระต่างวาทะ หากแต่ด้วยดวงใจและความรัก ความปรารถนาดีและเมตตาจิตอย่างหามิได้ ไม่มีที่สิ้นสุด อาจารย์ที่เราเห็นคือผู้ชายแกร่งทรนงองอาจในภูมิปัญญาบริสุทธิ์ อ่อนน้อมค้อมต่ำแก่ศิลป สุนทรียศาสตร์ ให้ความหวังให้พลังศรัทธา บ่อเกิดความหวังและพะเนียงใฝ่ศิลปะที่ฉาบเปลวความเป็นอมตกาล ที่เปล่งแววพุทธิปัญญาท้าทายกาลเวลา อยู่กับนิรันดรภาพ

ผมเป็นคนเขียนรูปไร้สังกัด อิสระเหมือนควายป่า โดดเดี่ยวเหมือนนอแรด มีความสุขอิ่มเอมสงบระงับ ตามมรรคาวิถีเดียวกันกับครรลองเล็กๆ ที่อาจารย์ได้แผ้วถางไว้ให้

ทำงานหนัก โง่ ขยัน เหมือนเก่า

เพียงแต่ แกขึ้น งุ่มง่ามและช้าลง

“นายคนภูเขา” ของอาจารย์ ไม่เคยพูดถึงอาจารย์ผ่านตัวหนังสือ นอกจากวาดรูป

วันนี้วันเกิดอาจารย์อีกครั้ง ขอให้คารวธรรมของผมจากดวงใจ จากจิตวิญญาณ จงสัมผัสถึงอาจารย์ เหมือนภูเขาสัมผัสทะเลไกลด้วยไอหมอกจากภูสูงด้วยเถิด.

(เขียนโดย ถวัลย์ ดัชนี ในหนังสือ “อาจารย์ศิลป์กับลูกศิษย์”, พิมพ์ครั้งที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๒, หน้า ๔๑๘-๔๒๗.)

ภาพ/อักษรโดย : รองศาสตราจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร —



ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุค art eye view













มุ่งมั่น-บากบั่น-มีภูมิธรรม-รักถิ่นเกิด กัลยาณมิตรทางธรรมที่ชื่อ 'ถวัลย์ ดัชนี'
ผกามาศ ใจฉลาด


ข้อคิดอันเป็นสัจธรรมตามความเชื่อพระพุทธศาสนา แนวทางการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ และ “ผลงานศิลปะ” ที่โดดเด่นมีรูปแบบที่ไม่เหมือนใครในโทนสีดำและแดง ซึ่งมีต้นกำเนิดจากงานพุทธศิลป์ดั้งเดิม เป็นสัญลักษณ์และภาพจดจำถึงศิลปินชื่อก้องโลก “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ ผู้ล่วงลับตลอดกาล นอกจากบุคคลสำคัญ พี่น้องผองเพื่อนศิลปิน ลูกศิษย์ ประชาชนทั่วไปที่มาร่วมอาลัยในวันรดน้ำศพ “ถวัลย์ ดัชนี” (๔ ก.ย. ๒๕๕๗) และบำเพ็ญกุศล ณ ศาลา ๑ วัดเทพศิรินทราวาสแล้ว ยังมีกัลยาณมิตรทางธรรม อย่าง พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) พระนักเทศน์ชื่อดังชาวจังหวัดเชียงรายด้วย


ท่าน ว.วชิรเมธี เล่าว่า พระอาจารย์มีบ้านเกิดที่เชียงราย ได้รู้จักชื่อเสียง อ.ถวัลย์ มานาน ตั้งแต่สมัยเป็นสามเณร เนื่องจากวัดที่พระอาจารย์ศึกษาอยู่ชื่อวัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวง มีงานไม้แกะสลักผลงานของ อ.ถวัลย์ประดับอยู่ ๑ ชิ้น ชื่อผลงานว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นประตูหลวงของวิหารหลวงวัดพระสิงห์ ตลอด ๖ ปีที่เป็นสามเณรอยู่วัดพระสิงห์ อาตมามีหน้าที่หลักคือเฝ้าวิหารหลวง ทุกครั้งที่มีแขกไปวัด อาตมาเป็นผู้นำชมวัด หรือเป็นมัคคุเทศก์อธิบายงานศิลปกรรมของ อ.ถวัลย์ และหลวงพ่อของอาตมานั้นอายุรุ่นราวคราวเดียวกับ อ.ถวัลย์ ต่อมาเมื่อบวชพระเรียนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยค อาตมาก็สนใจในธรรมะ พุทธธรรม และพุทธศิลป์ จึงได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานพุทธศิลป์กับ อ.ถวัลย์ เรื่อยมา


“แต่ละครั้งที่ได้พูดคุยกับอาจารย์ถวัลย์ ท่านจะให้เวลากับอาตมามากเป็นพิเศษ มีอยู่ครั้งหนึ่งอาตมาเคยนั่งคุยกับท่าน ตั้งแต่บ่าย ๓ โมง จนถึง ๒ ทุ่ม และท่านเอ็นดูมาก ท่านบอกว่าท่านอาจารย์ ว. ยังหนุ่มมาก ส่วนผมนั้นเหมือนอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้า เพราะฉะนั้น อะไรที่ผมรู้ ผมจะเล่าถวายทั้งหมด จากนั้นท่านก็เปิดบ้านดำ ๓๕ หลัง ให้ชมและอธิบายทุกหลังอย่างละเอียดยิบ ท่านก็เล่าให้ฟังว่าเวลาว่างจะอ่านหนังสือ อ่านพระไตรปิฎก เป็นตู้ ๆ อ่านหนังสือของท่านพุทธทาส หลวงพ่อชา แล้วเราก็ถกกันถึงพุทธธรรมระดับปรมัตถธรรมที่ลึกซึ้ง จนกระทั่งหมดเรื่องจะคุย จากนั้น อ.ถวัลย์ก็บอกว่า ผมสบายใจแล้ว”


ในมุมมองของท่าน ว.วชิรเมธี จึงมองว่า อ.ถวัลย์นั้นเป็นอัจฉริยภาพ เป็นคนที่มีความจำดีมาก โดยเฉพาะพุทธธรรมขั้นลึกซึ้ง วรรณคดี วรรณกรรมชิ้นเอกของไทย กวีนิพนธ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ กำสรวลสมุทร โคลงของศรีปราชญ์ นิราศต่างๆ กลอนของสุนทรภู่ แม้กระทั่งลิลิตพระลออันเก่าแก่ อ.ถวัลย์สามารถว่ากลอนสด ๆ ให้ฟังได้ทั้งหมด นับเป็นหนึ่งของไทยและของชาวเชียงราย หลายครั้งที่คุยกันอยู่ดี ๆ ท่านก็ผุดบทกวีสมัยอยุธยาขึ้นมา แล้วพอท่านคิดไม่ออก เราก็ช่วยกันต่อบทเป็นอย่างนี้ทุกครา อาตมาคิดว่าความจำที่เป็นหนึ่งของท่านนั้นมาจากความเข้าใจในพุทธธรรมที่มีอยู่อย่างลึกซึ้ง เคยพูดกับอาตมาว่า “ถ้าผมบวช ผมจะเป็นพระเซน เพราะผมว่ามันลึกซึ้ง มีแก่นสาร”


ส่วนอัธยาศัยไมตรีของ อ.ถวัลย์นั้น ท่าน ว.วชิรเมธี เล่าว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจผู้น้อย เวลาผู้น้อยไปหาท่านจะให้เวลาสนทนามากเป็นพิเศษ อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของท่าน คือเป็นคนตัวสูงใหญ่ มีเครา แต่ความเป็นจริงเป็นคนอารมณ์ดี อ่อนไหว มีมุกตลกอย่างล้นเหลือ ใครไปหาต้องได้หัวเราะกลับมาทุกคน มุกแต่ละมุก ตลกมืออาชีพยังอาย มีเรื่องเล่าที่มีเรื่องราวตลอดชีวิต จากตะวันออกถึงตะวันตก ไม่เคยซ้ำ มีทั้งเรื่องสนุกขบขัน บันเทิงเริงธรรม กล่าวได้ว่า ถึงเวลาท่านลึกก็ลึกสุดหยั่ง ถึงที่ขำก็ขำจนเราเส้นตื้นขึ้นมาได้ เป็นบุคคลที่มีอารมณ์ขันอันลึกซึ้ง ร้ายเหลือ


พระนักเทศน์ชื่อดัง เล่าต่อไปว่า ในคืนก่อนที่ อ.ถวัลย์จะสิ้นนั้น อาตมาฝันว่าเจดีย์ล้ม ตื่นขึ้นมาอาตมาก็ตกใจมากว่านี่เป็นฝันที่น่าสะพรึง เจดีย์คืออะไร อาตมานั่งถามตัวเอง วันรุ่งขึ้นก็ได้ทราบข่าวว่า อ.ถวัลย์สิ้น เพราะฉะนั้นนัยที่ธรรมชาติส่งผ่านเรามาต้องการบอกว่าเราได้สูญเสียผู้ที่เป็นดังหนึ่งเจดีย์ทางศิลปะคนสำคัญของไทยและเวทีโลกไปแล้วอีก ๑ องค์ การสูญเสียครั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวจังหวัดเชียงราย ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่เอาพุทธธรรมมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานศิลปะและทำได้อย่างลุ่มลึก ผลงานกลายเป็นที่ต้องตาต้องใจระดับโลก เพราะเบื้องหลังของเส้นสีทีแปรงนั้นมีพุทธปรัชญาแทรกอยู่


อยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่าคุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ท่าน อ.ถวัลย์นั้นเป็นสามัญชนของแท้และดั้งเดิม มาจากพ่อแม่ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง แต่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาจนกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีรางวัลมาการันตี คนที่ตามีแววก็พอจะมองออกว่าคนคนนี้ไม่ใช่คนธรรมดา เกิดมาเพื่อเป็นตัวจริงในวงการศิลปะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากท่านก็คือความมุมานะ บากบั่น ความตั้งใจจริง เมื่อได้ทำอะไรก็ตาม ท่านจะทำสิ่งนั้นอย่างดีที่สุด ถึงที่สุด ครั้งหนึ่ง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เคยถาม อ.ถวัลย์ว่า ผมกับพี่ ใครขยันกว่ากัน อ.ถวัลย์ไม่ตอบ แต่เดินเข้าไปในห้องวาดภาพแล้วชี้ให้ดูภาพซึ่งวาดเพื่อฝึกฝีมือให้มีความเที่ยง ความแน่ ความคม ความชัด มีเป็นพัน ๆ ภาพ ท่านบอกว่า “เราต้องวาดเป็นพันครั้ง ต้องทิ้งนับพันภาพ เพื่อนำเพียงภาพเดียวที่ดีที่สุดมาแสดงต่อสายตาชาวโลก”


“ถ้าใครอยากเป็นตัวจริงอย่าง อ.ถวัลย์ ควรรู้ว่าความสำเร็จนั้นไม่ได้มาจากการบนบานศาลกล่าว ไม่มีทางลัดง่าย ๆ แต่ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ของ อ.ถวัลย์เริ่มจาก ๑. ความตั้งใจที่มุ่งมั่น ๒. ความบากบั่นไม่ท้อถอย ๓. การไม่ยี่หระต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติติงต่าง ๆ ๔. การเป็นคนรากฐานภูมิรู้ภูมิธรรมลึกซึ้ง ๕. เมื่อท่านถึงฝั่งความสำเร็จแล้ว ท่านกลับมาหาแผ่นดินถิ่นเกิด ครั้งหนึ่งท่านกล่าวกับอาตมาว่า อ้ายจะไม่ไปสร้างหอศิลป์ที่ทวีปอื่นเพราะว่ารากแก้วของอ้ายอยู่ที่เชียงราย นี่คือแผ่นดินของอ้าย อ้ายจะเอาเกสรที่หอมหวนที่สุดของศิลปะมาประดับแผ่นดินเชียงราย ให้มันหอมไกลไปทั่วโลก”



ข้อมูลจากนสพ.คม ชัด ลึก ๑o ก.ย. ๒๕๕๗




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณ somjaidean100

Free TextEditor





Create Date : 25 กันยายน 2557
Last Update : 7 กันยายน 2566 21:52:45 น. 0 comments
Counter : 6568 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.