happy memories
Group Blog
 
<<
มกราคม 2557
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
16 มกราคม 2557
 
All Blogs
 
นิทานแผ่นดิน...เรื่องเล่าจากลูกของพ่อ





นิทานแผ่นดิน-น้อง ปฏิญญา







ทางเข้าสู่ นิทรรศการภาพถ่ายเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
(LAND ART HONOURING KING RAMA IX)




นิทานแผ่นดิน...เรื่องเล่าจากลูกของพ่อ
โดย ชาธิป สุวรรณทอง



๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทั่วโลกมีโอกาสเห็นความจงรักภักดีของคนไทยที่น้อมเกล้าฯ ถวายแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นความรักและจงรักภักดีอันเกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย อันเห็นได้จากพระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริ ซึ่งล้วนเป็นไปเพื่อสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้กับพสกนิกรชาวไทย นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมายสร้างสรรค์ในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยจิตใจแห่งความจงรักภักดี


ในทุกปี มีโครงการของภาครัฐเอกชนมากมายที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในปีนี้ นิทานแผ่นดิน หรือ The Chronicle Of The Land เป็นหนึ่งในโครงการมากมายเหล่านั้น เหล่า 'ศิลปิน' และ 'ศิลปินอาสา' รวมใจถวายพระเกียรติ 'พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' ด้วย Land Art จำนวน ๙ ชิ้น กระจายอยู่ใน ๙ จังหวัด ครบทุกภาค


"โครงการนี้เริ่มจากเพลง จริง ๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจว่าจะเป็นอะไรที่ใหญ่โต.. ส่วนตัวผมคุ้นเคยกับพี่ใหญ่ คุณบุญชัย เบญจรงคกุล อย่างหนึ่งที่เราเป็นคอเดียวกันคือเราเป็นแฟนคลับพระเจ้าอยู่หัว เรารักพระเจ้าอยู่หัว อีกอย่างหนึ่งคือเราสนใจเรื่องเกษตรกร เจอหน้ากันจะคุยเรื่องข้าว เรื่องพระเจ้าอยู่หัว จะคุยสองเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ก่อนหน้านั้นเราทำ King of Kings พี่ใหญ่เป็นคนหนึ่งที่ร่วมบริจาค (Donate) สนับสนุนในส่วนของการทำมิวสิควีดีโอ King of Kings เราก็บ่น ๆ กันอยู่ว่ามันไม่ค่อยแพร่หลาย เสียดาย อยากจะทำอะไรที่เป็นที่รับรู้กว้างขวางกว่านี้ให้พระองค์ท่าน" พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าโครงการนิทานแผ่นดิน พูดถึงที่มาของโครงการนิทานแผ่นดิน





งานศิลปะ 'พลังงานทดแทนตามแนวพระราชดำริ'
โดยอาจารย์ นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ และศิลปินอาสา



"ปีที่แล้วน้ำท่วม เงียบมาก ท่านรับสั่งว่า ไม่ให้จัดงานให้ท่าน ให้เอาสตางค์ไปช่วยคนที่น้ำท่วม เพราะฉะนั้นเฉลิมพระชนมพรรษาปีนั้นค่อนข้างเงียบ ส่วนของภาครัฐท่านบอกว่าอย่ามาสิ้นเปลืองเงินทอง ภาคเอกชนก็เลยคิดว่าจะทำอะไรให้ท่านกัน.. ผมถนัดอยู่อย่างเดียวคือเพลง เพลงเทิดพระเกียรติมีเยอะมากนะ แม้แต่ผมเองเขียน King of Kings ไปแล้ว ผมก็ไม่รู้ว่าจะเขียนแบบเดียวกันอีกทำไม เรานั่งคุยกันไปเรื่อย ๆ อาจเพราะพื้นฐานผมทำงานวิจัยเรื่องไทยคดี มีพื้นฐานทางไทยโบราณและประวัติศาสตร์ตำนานพื้นบ้านนิดหน่อย ก็มานั่งคิดว่าทำไมเราไม่เปลี่ยนวิธีเล่า"


วิธีเล่าแบบใหม่นั้นคือเรื่องราวของ 'นิทานแผ่นดิน'


"…พระเจ้าอยู่หัวของเราท่านเป็นธรรมราชา สิ่งที่ท่านใช้ในการดูแลประชาราษฎร์คือ 'ธรรม' พูดถึง 'ทศพิธราชธรรม' ก็มานั่งคิดว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเล่าเรื่องนี้ออกมาได้ และพระเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดิน มีความเป็นมาอย่างไร ปรากฎขึ้นเมื่อไร พยายามเรียบเรียง แล้วหาจุดเริ่มต้น ในที่สุดได้ความคิดนี้ขึ้นมาว่า แรกเริ่มเดิมทียุคโบราณจริง ๆ บ้านเมืองปกครองโดยปู่ที่เขาเรียกกันว่าหมอ พ่อหมอ ปู่เจ้า คือคนแก่มีความรู้ปกครองบ้านเมืองเพราะเขารู้ฝนฟ้าเป็นอย่างไร พอมายุคหนึ่งบ้านเมืองใหญ่ขึ้น มีทรัพย์สิน มีพืชผล ก็เริ่มมีคนมาบุก ตอนนี้มันเปลี่ยนเป็นคนหนุ่มหน่อย จากปู่เป็นพ่อ เราก็รู้จักกันว่าเขาเรียกกันว่า 'ขุน' ..ค่อย ๆ ขยับมาจนยุคสุโขทัยมาเป็น 'พ่อขุน' วันหนึ่งศาสนาพุทธเข้ามาก็กลายเป็น 'ราชา'





พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา



..คำว่าราชา เราไปพบอีกว่า พุทธทาสท่านพูดไว้ "คำว่า ราชา แปลว่า พอใจ" คือทศพิธราชธรรมเป็นธรรมของราชา ทำให้มหาชนร้องออกมาว่าพอใจ นี่คือความหมายของคำว่าราชา คือพระเจ้าอยู่หัวทำให้ประชาชนมีความสุข ประชาชนก็ร้องออกมา.. เราก็เลยได้เพลงนิทานแผ่นดินขึ้นมา"


บทเพลงนั้นขยายออกสู่ทั่วทุกภาคของประเทศ


"เรามีศิลปินทยอยมาอัดเสียงช่วงเดือนธันวาคม ข้ามมาปีใหม่มกราคมภาคกลางเสร็จแล้ว หลังจากนั้นเพลงก็ถูกกระจายส่งออกไปเพราะว่าเราให้ศิลปินมาร่วมสี่ภาคเลย เรามีเวอร์ชั่นภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้.. "





หุ่นไล่กา ๑,๒oo ตัว ปักลงบนนาข้าวเป็นรูปหน้าพระอัจนะ บนพื้นที่แปลงนาข้าวในจังหวัดสุโขทัย



จากบทเพลง 'นิทานแผ่นดิน' ขยายขอบเขตไปสู่ศิลปะ นิเวศศิลป์ (Land Art) บนผืนแผ่นดินไทย ๙ แห่ง ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยความร่วมมือของเอกชนหลายภาคส่วน


"ผมเอาเพลงไปให้พี่ใหญ่ฟัง พี่ใหญ่บอกว่าน่าสนใจ น่าจะกระจายข่าวสารนี้ให้รู้กันกว้างขวาง.. ทำอย่างไรให้สะท้อนมุม 'พอใจ' ให้มหาชนได้มีส่วนมาแสดงความพอใจ เนื่องจากว่าเราเริ่มงานมาจากมุมมองศิลปะคือเพลง ในขณะที่เราก็พัวพันอยู่ในละแวกแวดวงเพื่อนฝูงที่เป็นศิลปิน เราก็ต่อยอดออกมาให้เป็นกิจกรรมทางศิลปะอีกสาขาหนึ่งคือศิลปกรรม ซึ่งถ้าเป็นภาพวาดก็คงจะวาดอยู่ในห้องคนเดียวไม่สามารถให้ประชาชนมหาชนออกมามีส่วนร่วมแสดงความพอใจได้ เราก็ทำให้เป็นนิเวศศิลป์ วาดลงแผ่นดินเลย.. คุณบุญชัยเชิญศิลปินให้เราได้ ๙ ท่าน.. เราทำงานศิลปะทั้งหมด ๙ ชิ้นกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เลือกพื้นที่ที่เหมาะสมอยู่ใน ๙ จังหวัด ครบทุกภาค





สุริยา นามวงษ์



และแทนที่จะมีศิลปินแค่คนเดียว ก็ให้ประชาชนซึ่งเราเรียกกันว่า ศิลปินอาสา ช่วยกันวาด ศิลปินอาสาจะเป็นชาวนา ชาวบ้าน ข้าราชการท้องถิ่น หรือทหารตำรวจอะไรก็ตามแต่ เราเรียกว่าศิลปินอาสามาช่วยกันวาดรูปนี้ขึ้นมา.. เราใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) เป็นสื่อ ก็จะเปิดเฟซบุ๊ค (Facebook) เริ่มให้ข้อมูลต่าง ๆ หาคนมาร่วม เล่าให้ฟังว่าเรื่องราวแนวคิดเป็นอย่างไร แต่ละงานจะไปทำที่ไหน มีพิกัดให้เรียบร้อยว่าจะเดินทางไปอย่างไร นัดพบที่ไหน งานมีอะไรบ้าง เขาก็จะกระจายข่าวสารไป ใครอยากจะทำอะไรก็ได้ จะมาช่วยรังวัด ตีเส้น โรยปูน ปลูกถั่ว ปลูกหญ้า ขุดดิน ทำนา แบกฟาง ได้หมด แรก ๆ ก็เงียบ ๆ นิดหนึ่ง เพราะว่าเพิ่งเริ่มคนก็จะงง ๆ ว่าทำอะไรกัน (หัวเราะ) ที่ภูเก็ตนี่เกือบสุดท้าย ชาวบ้านแบบว่าไล่ไม่กลับ เนื่องจากว่าฝนตก แล้วเราก็ช้ากว่ากำหนด เป็นคืนสุดท้าย พรุ่งนี้จะต้องเสร็จ ยังเหลืองานอีกเยอะ ชาวบ้านอยู่กับเราห้าทุ่ม เราไล่ก็ไม่กลับ คืนนั้นก็ตีหนึ่ง


...ศิลปินอาสาเป็นคนท้องถิ่น กับกลุ่มน้อง ๆ ที่มากับผมจากกรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง จากศิลปินมีเพื่อนฝูง บางคนอยู่เชียงราย แต่ก็มาช่วยที่เชียงใหม่ แล้วพอไปทำที่เชียงราย พวกเชียงใหม่ก็ไปช่วย อย่างคุณสุริยาเป็นศิลปินทำที่เชียงราย แต่ก็อยู่ทุกงาน ไปช่วยทุกงาน"





ภาพถ่ายค่ำคืนที่แปลงกิจกรรมเกษตรสาธิต โรงแรมแอทพันตา จังหวัดภูเก็ต
ซึ่งไม่มีใครยอมกลับบ้านเพราะต้องการให้ผลงานเสร็จตามกำหนด



ศิลปินที่มาร่วมในโครงการนี้ ประกอบด้วย อาจารย์ นภดล วิรุฬห์ชาตะพันธ์ งานศิลปะเรื่อง 'พลังงานทดแทนตามแนวพระราชดำริ' ภายใต้แนวคิด 'ดินน้ำลมตะวัน พลังงานพืชผักหญ้า หมุนเวียนเปลี่ยนกลับมา รักษาโลกของเรา' บนพื้นที่แปลงเกษตรสาธิตไบโอดีเซลบางจาก โครงการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวในพระราชดำริ จังหวัดนครนายก


อาจารย์ สาครินทร์ เครืออ่อน งานศิลปะเรื่อง 'เกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริ' ภายใต้แนวคิด 'ธรรมชาติรังสรรค์สมดุลย์ ผู้คนดินฟ้าเกื้อกูล พูลสุขอยู่อย่างพอเพียง' บนพื้นที่แปลงเกษตรทดลองของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น


อาจารย์ ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ งานศิลปะเรื่อง 'การบริหารทรัพยากร ดินและน้ำ ตามแนวพระราชดำริ' ภายใต้แนวคิด 'ดิน ก่อกำเนิดปวงชีวิต น้ำ หล่อเลี้ยงลิขิตสรรพสิ่ง สองปัจจัยล้ำค่าที่แท้จริง คือรากฐานสำคัญยิ่ง ธ ทรงวาง' บนพื้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะเชียงใหม่ สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่


อาจารย์ อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ งานศิลปะเรื่อง 'การรักษาแหล่งน้ำและบำบัดน้ำตามแนวพระราชดำริ' ภายใต้แนวคิด 'น้ำสะอาดโลกสุขสันต์ กังหันชัยพัฒนา แหล่งน้ำล้วนล้ำค่า คือมรรคาแห่งชีวิต' บนพื้นที่เกาะยอ ทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา


อาจารย์ ไพโรจน์ วังบอน งานศิลปะเรื่อง 'การปลูกป่าโกงกางรักษาป่าชายเลน' ภายใต้แนวคิด 'ทรัพย์ในดินงอกงาม สินในน้ำล้ำค่า อนุบาลเผ่าพันธุ์ปลา รักษาป่าชายเลน' บนพื้นที่ป่าโกงกาง บ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด





งานศิลปะ 'พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นตัวอย่างแห่งความเพียร' โดย สุริยา นามวงษ์ และศิลปินอาสา
ได้รับแรงบันดาลใจจากพระราชนิพนธ์เรื่อง 'พระมหาชนก'



อาจารย์ ปัญญา วิจินธนสาร งานศิลปะเรื่อง 'ในน้ำมีปลาในนามีข้าว บนดินแดนแห่งพระมหาธรรมราชา' ภายใต้แนวคิด 'ข้าวเขียวชะอุ่มเต็มนา ฝนฟ้าน้ำท่าสมบูรณ์ ผลผลิตค้ำจุนปวงประชา' บนพื้นที่แปลงนาข้าว แยกแจกัน ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย


สุริยา นามวงษ์ งานศิลปะเรื่อง 'พระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นตัวอย่างแห่งความเพียร' ภายใต้แนวคิด 'ทำการใดไม่ท้อถอย ตามรอยพระยุคลบาท พระมหาชนกนาถ มหาราชแห่งความเพียร' บนพื้นที่ไร่เชิญตะวัน วัดป่าวิมุตตยาลัย จังหวัดเชียงราย


อาจารย์ ทวี รัชนีกร งานศิลปะภายใต้แนวคิด 'พระเมตตาหยั่งรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล ดุจร่มใบให้ร่มเย็นยั่งยืนนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน' บนพื้นที่แปลงกิจกรรมเกษตรสาธิต โรงแรมแอทพันตา จังหวัดภูเก็ต


อาจารย์ กมล ทัศนาญชลี งานศิลปะภายใต้แนวคิด 'โครงการหลวงห่วงใยไพร่ฟ้า ร่มเย็นทั่วหล้า ผาสุขทั่วแผ่นดิน' บนพื้นที่สนามยุทธกีฬา กรมทหารราบที่ ๑๑ กรุงเทพมหานคร





ศิลปินอาสา มาด้วยหัวใจดวงเดียวกัน



"เนื้อหาของผลงานศิลปะทั้งหมดล้วนได้รับแรงบันดาลใจจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรื่องโครงการในพระราชดำริ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน อย่างเช่นพระมหาชนกก็มาจากบทพระราชนิพนธ์" พงศ์พรหม บอก


วันนี้งานสำเร็จลุล่วงลงด้วยดี แต่ระหว่างทางใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรค


"อุปสรรคมีทุกที่ จริง ๆ จะว่าไปเราก็แคล้วคลาด คือถ้าไม่อยากได้ฝน เราก็จะไม่เจอ มันแปลกนะ อัศจรรย์มาก ยกตัวอย่างที่ขอนแก่น เราต้องไปปลูกข้าว เราอยากได้ฝน ตอนที่เรากำลังจะคราดดินซึ่งแข็งมาก ฝนก็ตกมาให้เรา ตอนที่เราไม่อยากได้ฝน ก็ไม่ตก (หัวเราะ) พอเราปรับพื้นที่เสร็จ เราต้องการน้ำ ฝนก็ตก ส่วนที่อื่นที่เราไม่อยากได้ฝน ฝนก็ไม่ตก ที่ภูเก็ตจริง ๆ เราบอกกับตัวเองว่าไม่อยากได้ฝน แต่ฝนก็ตก แต่พบว่ามันเป็นผลดีเหมือนกัน ปัญหาแต่ละที่คละเคล้ากันไป ปัญหาเรื่องคน ปัญหาเรื่องราชการ ระบบราชการ ขออนุญาต...





แววตาของศิลปินอาสาวัยเยาว์



ตอนเริ่มอันที่หนึ่งปุ๊บก็ถอยไม่ได้แล้ว อย่างที่อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ ที่จริงอาจารย์จะทำเรื่องหญ้าแฝกคลุมทั่วดิน เราก็ประสานงานที่สมุย ปรากฏว่าระเบียบราชการไม่สามารถให้เราไปทำอะไรในทะเล เราก็แบบว่า แย่แล้ว.. นาทีสุดท้ายถอยไม่ได้ด้วย ปาฏิหาริย์มากคือ เนื่องจากอาจารย์ธงชัยเป็นคนเชียงใหม่ ก็ติดต่อกับเหล่าศิลปินที่เชียงใหม่ ในที่สุดภายในค่ำคืนเดียวเราได้ 'เชียงใหม่ อาร์ต มิวเซียม' ที่บอกว่า มาเลย.. มาทำที่นี่เลย เราเปลี่ยนใจภายในชั่ว ๒๔ ชั่วโมง อาจารย์ออกแบบใหม่ แล้วเราก็ย้ายไปเชียงใหม่..


สงขลาเราก็ขออนุญาตไปในขณะเดียวกันกับที่เราทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ เราก็มีปัญหาที่สงขลา เพราะว่าตรงที่เราขอไว้เขาก็ไม่อนุญาต ในที่สุดเราก็ไปคุยกับกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เขาบอกว่า 'เอาอย่างนี้.. พี่ย้ายมาทำอีกฝั่งหนึ่งที่หน้าศูนย์ของกรมทรัพยากรทางทะเลซึ่งเป็นที่ของเรา ผมตัดสินใจได้เลย' ในที่สุดเราก็ย้าย กลายเป็นดี (หัวเราะ) ดีกว่า บริเวณนั้นเขาไม่มีอะไรอยู่ในทะเลเลย สะอาดมาก"





ภาพถ่ายในวันฟ้าฝนเป็นใจที่แปลงเกษตรทดลอง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น



บางคนอาจคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจยาก สุริยา นามวงษ์ หนึ่งในศิลปินที่ร่วมสร้างผลงานศิลปะครั้งนี้บอกว่า


"ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรืองานศิลปะ เนื้อหาอยู่ที่การเทิดพระเกียรติในหลวงเหมือนกัน พอเราพูดถึงโครงการพระราชดำริ พูดถึงสิ่งที่ในหลวงทรงทำกับประชาชน เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายอยู่แล้วกับประชาชนทั่วไป หรือแม้แต่กับศิลปินก็ตาม อย่างอาจารย์ทวี รัชนีกร เราติดต่อท่านแป๊บเดียว ท่านก็นึกถึงเรื่องพระโพธิสมภาร ร่างออกมาเป็นใบโพธิ์หลายใบ แล้วก็มีเข็มทิศ เหมือนแผ่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรไปทุกสารทิศ ทุกคนรับรู้ได้ง่าย ๆ"


ในส่วนงานศิลปะเรื่อง 'พระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นตัวอย่างแห่งความเพียร' คุณสุริยา เล่าให้ฟังว่า


"ในหลวงทรงทำอะไรต่าง ๆ เยอะครับ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความเป็นอยู่ ความกินดีอยู่ดี ปากท้องความสุขทุกข์ แต่พระองค์ให้มากกว่านั้น.. ตอนแรกยังไม่รู้ว่าพื้นที่เป็นอย่างไรแต่พอไปเห็นบรรยากาศที่ไร่เชิญตะวัน ซึมซับบรรยากาศแล้วรู้ว่าที่นั่นเป็นสถานปฏิบัติธรรม ฉะนั้นงานก็ต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องของธรรมะ และอยากให้ทำแล้วใช้ได้จริง นึกถึงเรื่องของบทพระราชนิพนธ์เลยครับ บทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ว่าด้วยเรื่องความเพียร ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา.. เผอิญว่าตรงนั้นมีห้วยสักซึ่งเป็นน้ำก็เชื่อมโยงกันพอดีครับ"





ผืนดินว่างเปล่าก่อนกลายเป็นผลงานศิลปะ



จากเพลง ๆ หนึ่ง สู่บทเพลงสี่ภาค กลายเป็นผลงานศิลปะบนผืนแผ่นดินทั่วทุกภาคของประเทศ 'นิทานแผ่นดิน' ยังคงถูกบอกเล่าต่อในรูปแบบของ นิทรรศการภาพถ่ายเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : Land Art Honouring King Rama IX ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย ซึ่งเปิดให้เข้าชม วันนี้ - ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ โดยถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของศิลปินและศิลปินอาสาผ่านภาพถ่ายของ ณัฐพล บุญปาสาณ, พิศุทธิ์ ชูบรรเจิด และ วินิตรา (พรดำเนินพงศ์) ชูบรรเจิด


"ก่อนหน้านี้มีรายการโทรทัศน์ที่ติดตามการทำภารกิจนี้ทั้งดนตรีก็ดี ศิลปกรรมก็ดี นิเวศศิลป์ก็ดี ถ่ายทอดเป็นรายการโทรทัศน์แล้วก็จะเห็นอีกแง่มุมหนึ่ง ขณะเดียวกันมีส่วนที่วีดีโอมันเก็บไว้ไม่ได้ เราไม่สามารถที่จะหยุดชั่วขณะนั้นไว้ดูได้ เช่นแววตาของผู้คน ความรู้สึกของคน ก็เลยตามมาด้วยนิทรรศการภาพถ่าย" พงศ์พรหม บอก





'พระเมตตาหยั่งรากลึกหนักหนา พระกรุณาธิคุณแผ่ไพศาล
ดุจร่มใบให้ร่มเย็นยั่งยืนนาน พระบรมโพธิสมภารปกแผ่นดิน'
บนพื้นที่แปลงกิจกรรมเกษตรสาธิต โรงแรมแอทพันตา จังหวัดภูเก็ต



"ภาพถ่ายดีอย่างหนึ่งตรงที่ว่า คนปกติทั่วไปถ้าจะไปดูนิเวศศิลป์จะไม่สามารถเห็นมุมที่ช่างภาพถ่ายจากบนอากาศได้ หรือจะไม่เห็นแววตาของคนที่จะมาทำในเวลานั้นได้ แต่ภาพถ่ายของช่างภาพจะบันทึกเวลาในช่วงนั้น อารมณ์ในช่วงนั้นออกมานำเสนอ.. ในภาพเราจะเห็นความร่วมมือร่วมใจ ฝรั่ง แม่บ้าน ดีเจ ทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจ เด็ก เขามาร่วมกันทำงานไม่มีค่าใช้จ่ายสักคน ทุกคนมาด้วยใจเดียวกัน มาถวายพระเกียรติในหลวง


ที่นี่มีห้องนิทรรศการสำหรับหมุนเวียนอยู่ ๒ ห้อง ก็ใช้เต็มพิกัดทั้ง ๒ ห้องเลยครับ ถ้าเราอัดภาพเล็กจะไม่ส่งต่อความรู้สึกคน ต้องเป็นภาพใหญ่ ก็เลยจำนวนน้อยครับ ได้ประมาณ ได้ ๗๖ รูปเท่านั้นเอง ภาพที่ได้มามีทั้งศิลปินที่เป็นช่างภาพที่เป็นช่างภาพหลักอยู่แล้ว และมีศิลปินอาสา เช่นภาพถ่ายทางอากาศจากพารามอเตอร์ก็จะอยู่ในนี้ด้วย" สุริยา กล่าวเสริม





ภาพถ่ายบันทึกเรื่องราว 'นิทานแผ่นดิน' จาก ๙ พื้นที่ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย



ผู้ที่สนใจติดตามชมผลงานศิลปะในสถานที่จริงและผลงานทั้งหมดในโครงการนี้ พงศ์พรหม บอกว่า


"ตอนนี้ชมได้ที่นครนายก สงขลา ตราด เชียงใหม่ เชียงราย สถานที่จริงที่เชียงใหม่ เชียงราย และที่ตราดจะอยู่เป็นร้อยปี ถ้าอยากจะดูทุกอย่าง เพลง รายการโทรทัศน์ มิวสิควีดีโอ อะไรต่าง ๆ มีเว็บไซต์ nitarnpandin.org"


ถามถึงโอกาสที่จะได้เห็นการทำงานศิลปะเพื่อเทิดพระเกียรติแบบนี้อีก สุริยา บอกว่า


"ผมว่ากิจกรรมอย่างนี้ไม่ได้มีง่าย ๆ ครับ อย่างวันที่ ๕ ธันวาคม เราเห็นพลังของคนที่มารอชมพระบารมีของในหลวง แต่นี่จะมีปีละครั้งเองใช่ไหมครับ เราจะเห็นคนที่มาเดินขบวนชุมนุมบ่อยมากกว่าที่จะเห็นคนรวมกลุ่มกันแล้วก็เอาพลังความดีมาสร้างสรรค์ กิจกรรมแบบนี้เราควรจะบันทึกไว้.. ผมว่าต้องมีคนทำขึ้นมาอีกครับ งานนี้ที่เราทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป.. เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ทำได้รวมกลุ่มกัน.. ในฐานะที่พวกเราอยู่กับงานศิลปะเราคงไม่คิดทำกิจกรรมอย่างอื่นนอกจากงานศิลปะ ศิลปะเป็นความสง่างามของประเทศชาติ การแสดงออกมาแบบนี้เป็นสิ่งที่เป็นความสง่างาม เทิดพระเกียรติความดีงามด้วยความสง่างาม"





ห้องนิทรรศการหมุนเวียนจัดแสดงภาพถ่ายในโครงการนิทานแผ่นดิน



จากความทุ่มเทในการทำงานเพื่อเทิดพระเกียรติเมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช คุณพงศ์พรหมบอกว่า


"ความที่ผมเป็นสนิทวงศ์ ในบ้านคุณลุงเป็นหัวหน้าสำนักพระราชวัง คุณอาเป็นข้าหลวง ประสบการณ์ตรงที่ผมเห็น ผมเข้าไปสวนจิตรลดา ผมเห็นห้องทดลองของท่าน สิ่งที่ท่านทำ ขณะเดียวกันผมอยู่ในรุ่น (Generation) ที่เห็นจากข่าวว่าท่านทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกันผมเป็นนักค้นคว้า ผมจะอยากรู้ว่าอะไรคือควายเหล็ก อะไรคือฝนหลวง ทำได้อย่างไร มันต้องประกอบไปด้วยกระบวนการอะไรบ้าง ยิ่งไม่ได้แค่รับรู้ว่าท่านทำฝนหลวงนะ ผมยังรู้ว่าการจะคิดจะทำสิ่งเหล่านี้มันต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง..


ในซีกของนักดนตรี ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า ไม่นานมานี้สักสิบกว่าปีที่มีศิลปินไทยคนหนึ่ง หรือว่าหลายคน ที่เรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินบลูส์ (Blues) ประเทศไทยรู้จักหรือฟังเพลงบลูส์กันจริง ๆ จัง ๆ เข้าใจว่าอันนี้คือเพลงบลูส์ผมว่าอยู่ในช่วงไม่เกินยี่สิบปีมานี้เอง แต่นับถอยหลังไปตั้งแต่วันเกิดของดนตรีประเภทนี้ในยุค ๕o หรือ ๔o ดนตรีบลูส์เพิ่งเกิดได้ไม่นานเมื่อ ๖o ปีที่แล้ว และเมื่อ ๖o ปีที่แล้วมีนักดนตรีพระองค์หนึ่งแต่งเพลง เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกคือ 'แสงเทียน' ตอนนี้อายุ ๖o กว่าปีแล้ว เป็นเพลงบลูส์ ผมว่าท่านโมเดิร์นมากเลยนะ หลังจากนั้นอีกเป็นสิบ ๆ ปีกว่าจะมีใครรู้จักเพลงบลูส์ แต่ท่านพระราชนิพนธ์เพลงบลูส์แล้ว ไม่ใช่เพลงเดียว เป็นหลาย ๆ เพลง






ผมหัดดนตรีในช่วงที่บ้านเรายังไม่ได้มีดุริยางคศิลป์ หรือนิตยสารเมืองนอก หรือว่ายูทูป (Youtube) เพลงไทยในยุคนั้นเป็นลูกกรุงลูกทุ่ง.. ยุคนั้นผมมีหนังสือเล่มหนึ่งสีแดงที่พ่อให้ พ่อผมเล่นดนตรีด้วย เป็นหนังสือเพลงพระชนิพนธ์ สงสัยมากเลยที่เขาเล่นกันง่าย ๆ นี่คอร์ดที่เขียนไว้ ไมเนอร์ เซเว่น เฟลตไฟฟ์ (m7#5) คือคอร์ดอะไร (หัวเราะ) ผมไม่เคยเห็นในหนังสือเพลงอื่น.. ผมเริ่มจากการเล่นสิ่งที่มากกว่า ซี (C) เอไมเนอร์ (Am) เอฟ (F) จี (G) ด้วยหนังสือเพลงพระราชนิพนธ์ ผมรู้จักรูปแบบ (Progression) ของบลูส์ด้วยการเล่นเพลง Candle light Blues ท่านเป็นหนึ่งในนักดนตรีคนแรก ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผม"


คุณสุริยา ทิ้งท้ายในเรื่องเดียวกันว่า


"ในหลวงทรงเป็นแบบอย่างในทุกเรื่อง ตั้งแต่เด็กมาเราอยู่ต่างจังหวัด ถ้าพูดถึงในหลวง นึกถึงเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ทุกบ้านที่เราไป ปฏิทินในหลวงหมดเลย แต่ตอนเด็กเราไม่รู้ว่าในหลวงมีบทบาทสำคัญอะไร รู้แต่ว่าคุณยายไหว้ แล้วทุกคนต้องมีรูปในหลวงอยู่ที่บ้านใกล้ ๆ กับหิ้งพระ พอโตมาเราเห็นพระราชกรณียกิจของในหลวงตามสื่อทีวี แต่จนกระทั่งว่าเราได้มาทำงานอยู่กับคุณบุญชัย เราถึงรู้ว่าพระองค์ท่านทำเยอะมาก สี่พันกว่าโครงการในพระราชดำริ แค่เราทำเรื่องนิเวศศิลป์เราก็เหนื่อยแล้ว แต่พระองค์ท่านทำสี่พันโครงการ และไปในสถานที่ที่คนไปไม่ได้






ทหารที่ตามเสด็จยังบอกว่า อย่าไปเลย.. ไม่มีใครเข้าไปถึง พระองค์ก็เสด็จไป เพื่อจะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาทุกข์ยากของประชาชน ปัญหาเรื่องปากท้อง ตรงที่อันตรายที่เสี่ยงต่ออาวุธท่านก็เสด็จไป ไม่มีหรอกครับพระมหากษัตริย์ที่เราจะเห็นภาพที่พระองค์เดินไปทั่วทุกสารทิศ ไปที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ไปที่อันตราย เราจะเห็นภาพกษัตริย์อยู่ในบังลังก์ ในที่ที่มีความสุข แต่พระองค์สละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประชาชนของพระองค์


ผมว่าเราเป็นคนรุ่นหนึ่งที่โชคดีได้เกิดมาอยู่ใต้ร่มโพธิสมภารของพระองค์ พระองค์เป็นพระโพธิสัตว์ที่มีอยู่จริงในผืนแผ่นดินไทย"


หมายเหตุ : ชมภาพมากกว่านี้ได้ที่ fan page เซ็คชั่น 'กรุงเทพวันอาทิตย์ กรุงเทพธุรกิจ' คลิก เฟซบุคกรุงเทพวันอาทิตย์







ภาพและข้อมูลจาก
tsdmag.com
phuketindex.com
nitarnpandin.org
bangkokbiznews.com

bussamadee.diaryclub.com



บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่

TextEditor




Create Date : 16 มกราคม 2557
Last Update : 16 มกราคม 2557 22:43:05 น. 0 comments
Counter : 5625 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.