Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 
24 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

รับมืออย่างไร เมื่อคนในบ้านเป็น 'โรคลมชัก'


* คุณภาพชีวิต อาการอันตราย…ที่ควรรู้

หากสมาชิกในบ้าน อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการหน้าบูด ปากเบี้ยว น้ำลายฟูมปาก มือแขน ขา เกร็ง ตาเหลือกขึ้นมา
ลักษณะอาการดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ 'โรคลมชัก' หรือที่รู้จักกันในชื่อของ 'ลมบ้าหมู'
โรคที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ

ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจ และรับมือกับโรคดังกล่าวได้ดี
วันนี้ทีมงาน Life and Family มีตัวช่วยจาก 'ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญช์' แพทย์ ระบบประสาท
ที่จะมาบอกเล่าให้ผู้อ่านทุกท่าน ได้รู้เท่าทันกันครับ กับเรื่องนี้ ดร.นพ.โยธิน ให้ความรู้ว่า

อาการชักที่เกิดขึ้นนั้น
เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงขณะที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดทำงานมากเกินไปชั่วขณะ
โดยอาการที่จะแสดงนั้นขึ้นอยู่ว่า ส่วนใดของสมองที่ทำงานมากเกินปกติ
จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่แสดงออกมาแตกต่างกัน

สำหรับอาการของโรค คุณหมอ ได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ
กลุ่มที่มีอาการชักจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองเฉพาะส่วน หรือเฉพาะตำแหน่ง
ซึ่งอาการที่แสดงออก จะมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสมองที่ทำงานผิดปกตินั้น มีหน้าที่ควบคุมอะไร เช่น
ถ้าเกิดขึ้นบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขน และใบหน้า
อาการชักที่แสดงออกมาจะเป็นการกระตุก เกร็งของกล้ามเนื้อใบหน้าหรือแขน

ส่วนอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มอาการที่สมองทำงานผิดปกติทั่วทั้งสมอง
โดยจะแสดงออกมาได้ทั้งอาการชักเกร็งกระตุกรวมทั้ง ตาเหม่อลอย ไม่รู้สึกตัว ผงกศีรษะหรือสัปหงก สะดุ้งผวา
หรือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ โดยไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้สึกตัว มีภาวะวูบเบลอจำอะไรไม่ได้ไปชั่วขณะ

เป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคนี้
เพราะไม่ได้แสดงออกมาในรูปของอาการชักเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ และไม่เป็นที่สังเกตของคนทั่วไป
จึงมักมาพบแพทย์ช้าหรือทำการวินิจฉัยโรคได้ยาก

“หากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ไปปรากฏที่สมองส่วนควบคุมจิตใจ
ผู้ป่วยอาจมีอาการทางจิตใจที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่น
มีความรู้สึกที่คุ้นเคยกับสถานที่หรือบุคคลทั้งๆ ที่ไม่เคยไปในสถานที่นั้นหรือรู้จัก เคยเจอกับคนนั้นมาก่อน
รวมทั้ง ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่เคยคุ้น สิ่งของที่เห็นอยู่ทุกวัน กลับเกิดความรู้สึกแปลกกับสิ่งของเหล่านั้น
หรือ เห็นหน้า พ่อ แม่ ตัวเอง กลับรู้สึกเหมือนคนแปลกหน้า
ตลอดจน มีการเหม่อลอย ไม่ได้ยินในสิ่งที่คนพูดหรือถาม
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคลมชักได้” แพทย์ระบบประสาทกล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยกว่าครึ่งไม่สามารถหาสาเหตุของอาการชักได้ ส่วนที่หาสาเหตุได้นั้น คุณหมอบอกว่า
อาการชักจะเกิดจากภาวะผิดปกติของสมองที่มีสาเหตุเนื่องมาจาก เช่น อุบัติเหตุทางศีรษะ
ภาวะขาดออกซิเจนของสมอง ภาวะเนื้องอกในสมอง ได้รับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว
หรือภาวะสมองพิการผิดรูปของเนื้อสมอง รวมทั้ง โรคติดเชื้อทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น
เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ไข้ไวรัสสมองอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อวัณโรค


ถึง แม้จะเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ในกลุ่มที่ทราบสาเหตุ สามารถป้องกันได้ในเด็ก
โดยพ่อแม่ พยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมชัก อาทิ พยายามป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ
และหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษ เช่น สารพิษจำพวกตะกั่ว

ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่า เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทส่วนกลางให้รีบไปพบแพทย์
โดยแพทย์จะซักถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา รวมทั้ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG)
ซึ่งจะช่วยบอกได้ว่าเป็นภาวะของโรคลมชักหรือไม่
เพราะการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง จะช่วยตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคลมชักได้


อาการชักในเด็ก สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้เท่าทัน
สำหรับอาการชักในเด็กนั้น ‘นพ.มนตรี แสงภัทราชัย’ บอกว่า บางคน อาจไม่ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว
แต่จะมีการชักในหลายรูปแบบ ที่ควรต้องระวัง และสังเกต ดังนี้

▲ อาการชักเฉพาะส่วน เช่น อาการกระตุกของแขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ใบหน้า
อาการคลื่นไส้ปวดท้อง อาการกลัวหรือความรู้สึกแปลกๆ อาการเห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว
ผู้ป่วยที่มีอาการชักเฉพาะส่วนจะรู้สึกตัวดี สามารถพูดคุยได้ระหว่างที่ชัก
แต่ในบางรายอาจหมดสติในระยะเวลาต่อมา

▲ อาการชักแบบซับซ้อน มักมีอาการเตือนนำมาก่อน เช่น อาการกลัว อาการปวดท้อง คลื่นไส้
ต่อมาผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว ในช่วงที่ไม่รู้สึกตัว ผู้ป่วยบางรายอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ และซ้ำๆ เช่น
ทำปากขมุบขมิบ เคี้ยวปาก ขยับมือไปมา หรือ ใช้มือขยำเสื้อผ้าอย่างไม่รู้ตัว
หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการเกร็งกระตุกทั้งตัว
เมื่อหยุดชักมักมีอาการอ่อนเพลีย หรือสับสน และจำเหตุการณ์ขณะชักไม่ได้

▲ อาการชักแบบเหม่อนิ่ง ซึ่งพบได้บ่อยในเด็ก ผู้ป่วยจะหยุดพูดหรือหยุดเล่นทันที ไม่ตอบสนองต่อการเรียก
ผู้ป่วยจะจ้องไปข้างหน้าอย่างไร้จุดหมายคล้ายๆกับอาการเหม่อ เป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาที
อาจมีกระพริบตาถี่ๆร่วมด้วย โดยไม่มีการกระตุกของแขนขาระหว่างชัก
หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถกลับมาคุย หรือเล่นต่อได้ตามปกติ

▲ อาการกระตุกแขนขาเป็นชุดๆ พบบ่อยในเด็กช่วงอายุ 3 เดือนถึง 1ปี
เด็กมีอาการกระตุกแขนขาสองข้างโอบเข้าหาตัว และศีรษะกระตุกก้มเป็นจังหวะ เหมือนพยักหน้า(Flexion Type)
หรือแขนขาสองข้างเหยียดออกไปข้างหลัง และศีรษะกระตุกเงยขึ้นเป็นจังหวะ (Extension Type)
หรือสองแบบรวมกัน อาการกระตุกดังกล่าวมักเกิดเป็นชุดๆติดต่อกัน
บางครั้งมีอาการได้มากเป็นหลายร้อยครั้งต่อวัน

▲ อาการชักแบบตัวอ่อน ผู้ป่วยจะไม่อาการเกร็งกระตุกให้เห็น แต่ชักแบบตัวอ่อน ไม่มีแรงหมดสติล้มลงทันที
อาการคล้ายคนเป็นลม แต่ลักษณะชักเช่นนี้เกิดอย่างรวดเร็วไม่มีอาการเตือนมาก่อน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยเด็กบางราย อาจมีอาการชักได้หลายแบบในคนเดียวกัน (Lennox-Gastaut Syndrome) เช่น
บางครั้งชักแบบเหม่อนิ่ง ต่อมาชักแบบซับซ้อน หรือกระตุกบางส่วนร่วมกับมีการพัฒนาการช้ากว่าปกติ
ผู้ป่วยที่มีอาการชักหลายแบบมักจะควบคุมอาการได้ยาก


รับมืออย่างไร? เมื่อคนในบ้านเป็น 'ลมชัก'
ด้วยอาการที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้หลายๆ คนทำตัวไม่ถูก และไม่รู้จะช่วยอย่างไร กับการรับมือนี้
'ดร.นพ.โยธิน' แนะวิธีไว้ว่า เนื่องจากการชักของผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะหยุดได้เองภายในเวลา 1-2 นาที
ดังนั้น ผู้ที่อยู่รอบข้าง หรือผู้ที่พบเห็นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้
โดยการคอยดูแลผู้ป่วยที่กำลังชัก ให้ปลอดภัยจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นดังนี้

★ 1. อย่าตื่นเต้นตกใจ
ถ้าหากคนในบ้านชักกระตุกอยู่ในที่อันตราย เช่น บนที่สูง ชั้นบันได หรืออื่นๆ
ต้องพยายามพาให้พ้นจากจุดอันตราย และหากมีวัสดุรอบๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ให้เก็บออกไป
และพยายามพยุงผู้ป่วยให้นอนราบกับพื้น และคลายเสื้อผ้าออกให้หลวม

★ 2. พลิกศีรษะผู้ป่วยให้นอนตะแคง เพื่อให้น้ำลายไหลออกทางมุมปาก และไม่ให้ลิ้นปิดกั้นทางเดินหายใจ

★ 3. พยายามอย่าเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดยัดเข้าไปในปาก
เพราะถ้าเป็นของแข็ง เมื่อคนที่ชัก กัดลงไป อาจทำให้ฟัน หรือกระดูกกรามหักได้
ทางที่ดี ควรใช้ผ้าม้วนๆ ใส่เข้าในปากจะดีกว่า

★ 4.หากผู้ป่วยชักนานเกินกว่า 5 นาที โดยไม่รู้สึกตัวควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที


เพราะฉะนั้น ‘โรคลมชัก หรือลมบ้าหมู’ เป็น เรื่องที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด เพราะอาจส่งร้ายต่อผู้ป่วยเองได้
ดังนั้น พ่อแม่ หรือญาติพี่น้อง ควรสังเกต ระมัดระวังอาการ พร้อมกับรับมือให้ดี
เพราะไม่เช่นนั้น อาจสายเกินแก้ก็เป็นได้


ที่มา : //www.thaihealth.or.th/node/13029


สารบัญ บทความ สุขภาพ
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 24 ธันวาคม 2552 12:49:22 น.
Counter : 1354 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.