happy memories
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2560
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 ตุลาคม 2560
 
All Blogs
 
ถนนสายนี้มีตะพาบ โจทย์ที่ ๑๘๙...ไหวไหม...หัวใจ ...เมื่อวันนั้นมาถึง




พระเมรุมาศยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติเป็นที่สุด
ถ่ายโดย K. Eddy Phongphakthana เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐
วันสุดท้ายที่ปวงชนชาวไทยได้เข้ากราบพระบรมศพ ในหลวงรัชกาลที่ ๙












ยังไหวไหมหัวใจ...เมื่อวันนั้นมาถึงจริง ๆ


ความรู้สึก พูดไม่ออก บอกไม่ถูก

ก็เพราะลูก ของแผ่นดิน คิดถึงพ่อ

ก้มกราบรูป ฝ่าพระบาท น้ำตาคลอ

คิดถึงพ่อ คิดถึงพระองค์ สุดหัวใจ


ความรู้สึก แม้คืนวัน จะผันผ่าน

จะวันวาน จะวันนี้ หรือวันไหน

ทั้งชีวิต รักพ่อหลวง สุดหัวใจ

ไม่มีวันไหน ที่จะไม่ คิดถึงพระองค์


นั่งดูข่าว ทีวี พระราชสำนัก

ยิ่งจุกหนัก น้ำตาไหล สุดจะปลง

ได้ยินเสียง ปี่เป่า คุกเข่าลง

เสียงปี่วง ประโคมย่ำยาม ช่างปวดใจ


โอ้..อาลัยรัก..อาลัยยิ่งบรมบพิตร

ลูกทำผิด เพราะลูกยัง ทำใจไม่ได้

ทรงรับสั่ง ไว้ว่า อย่าเสียใจ

เสียใจได้ แต่อย่าลืม หน้าที่กัน


พนมมือ ถวายบังคม ขึ้นเหนือเกล้า

พ่อ ร.๙ ลูกขอโทษ ที่โศกศัลย์

น้ำตาปรี่ รินไหล สุดจะกลั้น

เพราะพ่อนั้น คือหัวใจ คนไทยทั้งแผ่นดิน


ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น หาที่สุดไม่ได้
ดร.กมลสิทธิ์ ประสิทธิ์ต้นสกุล
จาก เพจนักกวีแผ่นดินพ่อหลวง ร.๙








ไม่มีวันไหนไม่คิดถึง...เห็นของใช้ส่วนพระองค์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้ว รู้ซึ้งเลยว่า “พ่อทรงงานหนักเพียงใด” ความมัธยัสถ์ถือเป็นคุณูปการสำคัญที่ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเรียนรู้หลักความพอเพียง สมถะมาตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ จนกระทั่ง สมเด็จย่า มีพระดำรัสในเวลาต่อมาว่า “ในสวนจิตรเนี่ย คนที่ประหยัดที่สุดคือ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ประหยัดที่สุดทั้งน้ำ ทั้งไฟ เรื่องฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยไม่มี” ดังเช่นของใช้ส่วนพระองค์ที่รวบรวมมาให้ชม ทำให้รู้ว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงพอเพียงและทรงงานหนักเพียงใดเพื่อปวงชนชาวไทย







๑. พระสมเด็จจิตรลดา



พระสมเด็จจิตรลดา หรือ พระกำลังแผ่นดิน พระองค์ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และพลเรือน ในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕o๘ – ๒๕๑๓ มีทั้งสิ้นประมาณ ๒,๕oo องค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เอง มีเอกสารส่วนพระองค์ (ใบกำกับพระ) ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุล วันที่รับพระราชทาน หมายเลขกำกับทุกองค์ และภาพพระสมเด็จจิตรลดา โดยมีพระราชดำรัสแก่ผู้รับพระราชทานว่า “ให้ปิดทองที่หลังองค์พระปฏิมาแล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ”

มวลสารของพระสมเด็จจิตรลดา ประกอบด้วย ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและได้ทรงแขวนไว้ที่องค์พระตลอดเทศกาล และดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระแสงขรรค์ชัยศรี ในพระราชพิธีฉัตรมงคล เส้นพระเกศาของพระองค์ (เส้นพระเจ้า) ซึ่งรวบรวมหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ สีซึ่งขูดจากผ้าใบที่ทรงเขียนภาพฝีพระหัตถ์ ชันและสีน้ำมัน ซึ่งทรงขูดจากเรือใบไมโครมด (เรือใบ พระที่นั่ง ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔)











๒. ดินสอทรงงาน



ภาพที่หลายคนมักจำติดตา คือภาพของพระองค์ทรงถือดินสอคู่กับแผนที่ ดินสอที่ทรงใช้จะเป็นดินสอไม้ราคาไม่แพงมียางลบที่ปลายแท่ง เพื่อให้ลบคำผิดที่เขียนได้ง่าย สะดวกและไม่ต้องเปลืองกระดาษเหมือนปากกา และทรงเหลาด้วยพระองค์เอง ปีหนึ่งทรงเบิกเพียง ๑๒ แท่ง ใช้แต่ละแท่งจนเหลือกุดสั้น

อย่างที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นแบบอย่างในหลายด้านแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ความพอเพียงและความประหยัดอดออม” ซึ่งดินสอไม้ที่พระองค์ทรงใช้ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงด้านนี้ได้เป็นอย่างดี มีบันทึกว่าในปีหนึ่งพระองค์จะทรงเบิกดินสอที่มียางลบติดท้ายแท่ง เพียงแค่ ๑๒ แท่งเท่านั้น โดยใช้เดือนละ ๑ แท่ง จนกระทั่งดินสอแท่งนั้นกุดจนเขียนไม่ได้แล้วจึงเปลี่ยน ซึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยครั้นเมื่อทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา พระองค์ท่านทรงใช้ดินสออย่างคุ้มค่าที่สุด เมื่อสั้นจะทรงใช้กระดาษมาม้วนต่อปลายดินสอให้ยาว เพื่อให้เขียนได้ถนัดมือจนกระทั่งหมด

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมพระองค์ท่านจึงทรงเลือกใช้ดินสอในการทรงงานแทนปากกาตามสมัยนิยม ที่เป็นเช่นนั้นเพราะด้วยทรงเห็นว่าราคาถูกและผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งเมื่อผิดก็สามารถลบออกได้ง่าย







๓. แผนที่



หากได้ติดตามพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านอย่างต่อเนื่อง จะพบว่านอกเหนือจากดินสอไม้มียางลบที่เป็นสิ่งของทรงงาน ทุกครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไป ณ สถานที่ใด จะต้องมีแผนที่อยู่แผ่นหนึ่งติดข้างพระวรกายเสมอ ซึ่งแผนที่ฉบับนั้นเรียกว่า “แผนที่มาตราส่วน ๑ : ๕o,ooo” เป็นเครื่องมือที่นายช่างชลประทานใช้ในการวางโครงการชลประทานเบื้องต้น และหากคลี่แผนที่ของพระองค์ท่านออกมา จะพบว่ามีขนาดใหญ่มาก เนื่องจากทรงนำแผนที่หลายแผ่นมาต่อกันด้วยพระองค์เองอย่างปราณีต ขนาดถึง ๙ แผ่น หรือ ๙ ระวาง แล้วพับให้เหลือขนาดที่ทรงพกพาได้สะดวก เพื่อสามารถคลี่มาดูจุดที่ต้องการได้ในทันทีโดยไม่ต้องกางทั้งแผ่น แผนที่มีขนาดใหญ่กว่าแผนที่ทั่วไป เพราะทรงนำแผนที่หลายระวางมาต่อกันด้วยพระองค์เอง






ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึง “แผนที่ของในหลวงรัชกาลที่ ๙” ไว้ในรายการวิทยุ “พูดจาภาษาช่าง” ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ โดยจะขอยกมาใจความหนึ่ง นอกเหนือจากขนาดที่กว้างกว่าแผนที่คนอื่น “ทุกครั้งก่อนที่จะเสด็จฯ ไปไหน พระองค์ท่านจะทรงเตรียมทำแผนที่และศึกษาแผนที่นั้นโดยละเอียด แล้วเมื่อเสด็จฯ ไปถึง พระองค์ท่านจะทรงสอบถามชาวบ้านว่าสถานที่นั้นอยู่ที่ไหน ทิศเหนือมีอะไร ทิศใต้มีอะไร ถามหลาย ๆ คน แล้วตรวจสอบไปมา ระหว่างที่ถามนั้นดูจากแผนที่ว่าแผนที่อันนั้นถูกต้องดีหรือไม่ น้ำไหลจากไหนไปที่ไหน” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นสาเหตุว่าทำไมแผนที่ของพระองค์ท่านจึงเต็มไปด้วยรอยปะกาว






“ท่านหวงแผนที่ของท่านมาก อันเดิมต้องเก็บไว้ โดยเฉพาะแผนที่ทางภาคใต้นั้นโดนฝนมา ทำให้ค่อนข้างเปื่อยยุ่ย ต้องถือด้วยความระมัดระวัง ถ้าแผนที่นั้นเน่าเต็มทน คือโดนฝนโดนอะไร หลายปีหลายฤดูกาล ท่านก็ต้องย้ายข้อมูลจากแผ่นเก่าไปสู่แผ่นใหม่ ซึ่งท่านก็ต้องทำเองอีกเหมือนกัน”

“ท่านสอนแม้กระทั่งการพับแผนที่ เพราะว่าเวลาเรานั่งในรถที่มันแคบ กางแขนกางขาออกไปมากไม่ได้ เวลาเตรียมก่อนเดินทางเราต้องพับแผนที่ให้ถูกทางว่า ตอนแรกไปถึงไหนและพอไปถึงอีกที่จะต้องคลี่ให้ทันท่วงที…”







๔. กล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์รุ่นแรก



จากภาพในสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และภาพบนอินเทอร์เน็ตที่ปล่อยออกมาอยู่เนือง ๆ เรามักจะได้เห็นภาพที่พระองค์ท่านทรงพกกล้องถ่ายภาพ และอยู่ในอิริยาบถของนักถ่ายภาพไม่ว่าจะเสด็จฯ ไปที่ใดเสมอ แค่เฉพาะกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ที่เป็นกล้องฟิล์มก็มีกว่า ๒o รุ่น ฉายภาพร้อยเรียงเรื่องราวและแสดงถึงพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพ ซึ่งพระองค์ท่านมีพระปรีชาสามารถไม่แพ้ด้านอื่น

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ มักทรงถ่ายรูปเป็นงานอดิเรก ซึ่งพระองค์ทรงได้ต้นแบบมาจาก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กล้องถ่ายภาพตัวแรก ๆ ของพระองค์ คือกล้อง Coronet Midget สีเขียวปะดำ ของฝรั่งเศส ราคา ๒ ฟรังก์สวิส ที่พระองค์ท่านทรงซื้อด้วยเงินสะสมส่วนพระองค์ เมื่อพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา ราวปี พ.ศ. ๒๔๗๙ เป็นกล้องทีไม่มีเครื่องวัดแสงจึงต้องทรงปรับหน้ากล้องและความไวชัตเตอร์ด้วยพระองค์เอง ในการถ่ายภาพครั้งหนึ่ง ฟิล์มที่ใช้ถ่ายรูปม้วนหนึ่งมี ๖ รูป แต่ฟิล์มเสียไปถึง ๕ รูป มาประสบความสำเร็จในรูปที่ ๖ ซึ่งเป็นรูปที่คนอื่นถ่าย ต่อมาทรงพัฒนาฝีพระหัตถ์จนทรงได้เป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษชื่อ สแตนดาร์ด โดยทรงรับเงินเดือนเพียงเดือนละ ๑,ooo บาท เท่านั้น







๕. วิทยุสื่อสาร



พระองค์ทรงประกอบวิทยุสื่อสารเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงใช้วิทยุสื่อสารในการรับฟังข่าวสารและติดต่อกับเครือข่ายวิทยุตำรวจเป็นครั้งคราว โดยกรมตำรวจ (ในสมัยนั้น) ได้ถวายสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ว่า “กส.9” และทรงคิดค้นเทคนิคใหม่ ๆ ที่ทำให้ส่งสัญญาณได้ไกลและชัดเจน ครั้งหนึ่งทรงใช้วิทยุสื่อสารขนาดเล็กติดต่อกับ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศในขณะนั้น) จากดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ มายังสนามบินดอนเมืองที่กรุงเทพฯ







๖. เรือจำลอง



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปรีชาในการออกแบบและการต่อเรือด้วยพระองค์เอง ดังความตอนหนึ่งที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในหนังสือ เจ้านายเล็ก ๆ –ยุวกษัตริย์ ว่า

“…พระอนุชาได้เริ่มทำแบบเรือต่าง ๆ ด้วยไม้ เช่น แบบเรือรบที่ไม่มีขาย ในระยะนั้นกำลังทำเรือใบที่ใหญ่พอสมควร ใบก็เย็บเองด้วยจักรเสร็จแล้ว เหลือแต่การทาสี เมื่อเริ่มไปแล้วก็พอดีเป็นเวลาที่กำลังจะตัดสินว่าจะอพยพออกไปสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเล่าว่าทุกคนก็ถามอย่างล้อ ๆ ว่า เรือจะแห้งทันไหม”

ครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงนำภาพถ่ายเรือรบลำหนึ่งให้ข้าราชบริพารดูและให้ตอบคำถามว่าเป็นเรืออะไรและถ่ายที่ใด แต่ไม่มีใครตอบได้ถูก ยกเว้นนายทหารท่านหนึ่งตอบถูกว่าเป็นเรือรบหลวงศรีอยุธยา แต่ทุกคนทราบดีว่าพระองค์ไม่เคยเสด็จฯ ทางเรือโดยมีเรือรบหลวงศรีอยุธยาโดยเสด็จด้วย จึงไม่มีใครตอบได้ว่าถ่ายภาพจากที่ใด

ในหลวงทรงเฉลยว่า “ถ่ายในห้องนี่เอง” เพราะพระองค์ทรงประดิษฐ์เรือรบหลวงจำลอง ด้วยชิ้นส่วนนับร้อยจนเหมือนของจริง และทรงจัดวางฉากในห้องให้เหมือนท้องทะเล เมื่อทรงถ่ายภาพจึงเหมือนภาพถ่ายเรือรบกลางทะเล







๗. หลอดยาสีพระทนต์



ภาพหลอดยาสีพระทนต์นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีลักษณะแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยิ่งปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปจนถึงเกลียวคอหลอด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะพระองค์ท่านทรงใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์ช่วยรีดและกดจนเป็นรอยบุ๋ม หลายคนคงตั้งคำถามว่าแล้วภาพหลอดยาสีพระทนต์ส่วนพระองค์นี้มีมาให้เราชมได้อย่างไร เรื่องราวมีที่มาดังนี้

ครั้งหนึ่ง แพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ทันตแพทย์ประจำพระองค์ และอดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กราบถวายบังคมทูลเรื่องศิษย์ทันตแพทย์จุฬาฯ แก่พระองค์ท่าน ใจความเกี่ยวกับค่านิยมอันฟุ้งเฟ้อในการใช้ของนอกและมีราคาแพง ซึ่งมีความแตกต่างจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงนิยมใช้กระเป๋าผลิตภายในประเทศเช่นสามัญชนทั่วไป ทรงใช้ดินสอสั้นจนต้องต่อด้าม หรือแม้แต่ยาสีพระทนต์ของพระองค์ท่านก็ทรงใช้ด้ามแปรงพระทนต์รีดหลอดยาจนแบน ไม่หลงเหลือยาสีพระทนต์อยู่ในหลอด

เมื่อท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ได้ทราบว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีรับสั่งให้มหาดเล็กนำหลาดยาสีพระทนต์หลอดเก่าที่ถูกเปลี่ยนให้พระองค์นำกลับมาใช้ต่อได้ถึง ๕ วัน ท่านจึงกราบพระบาททูลขอพระราชทานหลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้นเพื่อนำไปให้ลูกศิษย์ได้เห็นถึงพระราชจริยวัตรในเรื่องความประหยัดในการใช้ของอย่างคุ้มค่า

“ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานหลอดสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นมาให้ดิฉันถึงบ้าน…เมื่อได้พิจารณาถึงลักษณะของหลอดยาสีพระทนต์เปล่าหลอดนั้นแล้ว ทำให้เกิดความสงสัยว่า เหตุใดหลอดยาสีพระทนต์หลอดนี้จึงแบนเรียบราบโดยตลอด คล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปเกือบถึงคอหลอด…”

“เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ อีกครั้งในเวลาต่อมา จึงได้รับคำอธิบายจากพระองค์ว่า หลอดยาสีพระทนต์ที่เห็นแบนเรียบนั้น เป็นผลจากการใช้ด้ามแปรงสีพระทนต์รีดและกดจนเป็นรอยบุ๋มอย่างที่เห็นนั่นเอง…”







๗. เสื้อพระราชทาน



พ.ศ. ๒๕๒๒ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางไปร่วมประชุมในต่างประเทศแล้วพบว่า ผู้แทนชาติต่าง ๆ มีชุดประจำชาติ แต่ของไทยกลับไม่มี จึงได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อขอพระราชทานแนวพระราชดำริ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงพระราชทานฉลองพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช แก่พลเอกเปรมฯ จึงเป็นที่มาของ “เสื้อพระราชทาน” หรือ “ชุดพระราชทาน” ซึ่งมีแบบอย่างดั้งเดิมมาจากเสื้อราชปะแตน







๘. ส.ค.ส.


พระองค์ทรงใช้เครื่องโทรพิมพ์เพื่อรับส่งข่าวสารต่าง ๆ ในการพระราชทานความช่วยเหลือแต่ประชาชนผ่านหน่วยงานต่าง ๆ โดยรับส่งข้อความด้วยการปรุแถบทีละบรรทัด จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๕๓o พระองค์ทรงปรุแถบโทรพิมพ์ด้วยพระองค์เอง เพื่อพระราชทานเป็นพรปีใหม่แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานถวายและระบุท้าย ส.ค.ส.ว่า “กส.9 ปรุ” ส่วนคำว่า “กส.9 ปรุง” เกิดจากการที่พระองค์ทรงออกแบบลวดลายเพิ่มเติม นอกเหนือจกการพิมพ์ตัวอักษร







๙. ฉลองพระบาท


ฉลองพระบาทคู่โปรดของพระองค์ท่านนั้น ถึงจะเก่าแต่ก็นำมาซ่อมเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถซ่อมได้แล้วจึงหยุด รองเท้าหนังสีดำธรรมดา สภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากการใช้งานหลายสิบปี ภายในรองเท้าผุกร่อนหลุดล่อนหลายแห่ง ซึ่งถ้าเป็นคนทั่วไปก็อาจจะทิ้งไปแล้ว เป็นสิ่งที่คุณศรไกร แน่นศรีนิล ช่างทำรองเท้าร้าน ก.เปรมศิลป์ (สี่แยกพิชัย) ได้เล่าย้อนถึงวันวานอันแสนประทับใจ

ในสมัยนั้นคุณศรไกรหลังจากที่เป็นลูกจ้างร้านซ่อมรองเท้ามาสิบกว่าปี ก็ได้มาเปิดร้านของตัวเองแถบถนนพิชัย วันหนึ่งเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวังก็ได้ถือพานใส่รองเท้าเข้ามาในร้าน และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นอันทรงเกียรติที่ได้มีโอกาสถวายงานแก่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยาวนานเป็นเวลาหลายสิบปี ซึ่งในครั้งแรกนั้นนอกจากจะใช้เวลาซ่อมฉลองพระบาทคู่สีดำเกือบเดือน เขายังถือโอกาสตัดฉลองพระบาทถวายพระองค์ท่านเพิ่มอีกคู่หนึ่งด้วย หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสซ่อมฉลองพระบาทอีก ๔ คู่ที่ทรุดโทรมแตกต่างกันไป

ปัจจุบันนี้ร้าน ก.เปรมศิลป์ (สี่แยกพิชัย) ได้เก็บรักษาชิ้นส่วนพื้นฉลองพระบาทใส่กรอบไว้บนหิ้งบูชา ตกแต่งอย่างดี มีพานและผ้าคลุมพานสีเหลือง






๑๐. นาฬิกาส่วนพระองค์


พระองค์ทรงไม่เห็นความจำเป็นว่าต้องใช้ของแพง หรือต้องเป็นแบรนด์เนม ไม่โปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่าง ๆ ยกเว้นนาฬิกา คลังภาพในหลวงในงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖o ปี นาฬิกาบนข้อพระหัตถ์คือ Seiko SKJ045P นาฬิกาดำน้ำระบบ Kinetic ตัวเรือนเป็นไทเทเนียม ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิการะดับธรรมดามาก ๆ เรียกภาษาชาวบ้านคือเป็นนาฬิกาใช้งาน แสดงถึงความเรียบง่ายและสมถะของพระองค์ท่าน และทรงเป็นแบบอย่างแห่งความพอเพียงอย่างที่สุด





๑๑. สมุดบันทึกส่วนพระองค์





๑๒. อุปกรณ์งานช่าง งานวิจัยส่วนพระองค์





๑๓. ของเล่นส่วนพระองค์











ภาพจากรายการ "เรื่องเด่นเย็นนี้"





ไหวไหม...หัวใจ ...เมื่อวันนั้นมาถึง



ก่อนที่ผมจะเขียนบทความนี้ เพื่อส่งต่อให้ลูกศิษย์นำมาเผยแพร่ผ่าน เพจนักกวีแผ่นดินพ่อหลวง ร.๙ ก่อนอื่นผมต้องขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่ติดตามและให้กำลังใจคณะลูกศิษย์ของผม ที่ร่วมกันตั้งปณิธานทำความดีถวายพ่อ เผยแพร่เรื่องราวของพ่อ ขอบคุณที่ติดตาม ขอบคุณมาก ๆ ครับ

บทความนี้ ผมกลั่นกรองมาจากความรู้สึกของคนไทยหลาย ๆ ท่าน จากที่ผมได้ไปสัมผัสพูดคุย เวลาผมไปบรรยาย เรื่องของพ่อ จากหลาย ๆ พื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วไทย

ในหัวใจคนไทยหลาย ๆ คน ยังรู้สึกว่า เป็นเพียงความฝัน ยังรู้สึกว่าพระองค์ท่านยังอยู่ที่ศิริราช พระองค์ท่านทรงบรรทมพักผ่อน แล้วจะทรงตื่นจากบรรทม มาแย้มพระโอษฐ์ยิ้มให้เราชื่นใจ

แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยไปสักกี่วันคืน หัวใจก็ยากที่จะทำใจยอมรับได้ เพราะอะไร ? คนไทยถึงทำใจไม่ได้ ? ผมคิดว่าเราคนไทยทุกคนต่างมีคำตอบในหัวใจที่ไม่แตกต่างกัน...

ก็เพราะว่า "พระองค์ท่านรักคนไทยทุกคน มากกว่ารักพระองค์เอง" และคนไทยทุกคนก็รักพระองค์ท่านสุดหัวใจ

"ไม่เผาได้ไหม" ประโยคสั้น ๆ จากคุณยายท่านหนึ่ง ที่นั่งคุกเข่าถามพระองค์หญิง พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่สนามหลวง พระองค์หญิงทรงตรัสตอบว่า "วิถึของธรรมชาติจ๊ะยาย"

ประโยคนั้น ไม่ว่าใครได้ยินหรือได้อ่าน ต่างรู้สึกเจ็บปวดในหัวใจ น้ำตาไหลอาบแก้ม จุกที่หน้าอก พูดไม่ออกบอกไม่ถูกกันทุกคน
กลายเป็นปมความรู้สึกในใจของคนไทยหลาย ๆ คน ที่ยากจะคลายปมนี้ออกจากหัวใจได้

และผมก็ได้พบเจอและได้ยินอีกหลาย ๆ ประโยค อาทิเช่น...

"พระองค์ไม่ใช่มนุษย์ พระองค์คือเทวดา"

"เทวดาในร่างมนุษย์ ที่ทรงเสด็จลงมาโปรดคนไทย อยากจะเก็บพระสรีระร่างของพระองค์ไว้ตราบนานเท่านาน"

"เกจิอาจารย์บางองค์ ยังเก็บสรีระไว้ได้เลย เพราะท่านบรรลุอรหันต์ แต่ในหลวง ร.๙ พระองค์เป็นยิ่งกว่าพระอรหันต์ ทำไมจะเก็บไว้ไม่ได้"

นานาจิตตัง นานาทรรศนะครับ ทุกประโยค ทุกคำพูดล้วนออกมาจากส่วนลึกของความรู้สึก ส่วนลึกจากก้นบึ้งของหัวใจกันทั้งนั้น

ซึ่งตามความเป็นจริงแล้ว หากทำแบบนั้น ก็จะเป็นการฝืนธรรมชาติ และทำร้ายพระสรีระของพระองค์ ผมเองก็รู้สึกไม่แตกต่างไปจากคนไทยทุกท่าน และจากหลาย ๆ ประโยคดังกล่าว ทำให้ผมรู้สึกว่า...

...เมื่อวันนั้นมาถึง แผ่นดินคงร่ำไห้ ฟ้าคงหลั่งน้ำตา ทั่วทั้งพาราสยาม ปฐพีคงนิ่งสนิท เพราะหัวใจคนไทยคงหยุดเต้น หรือเต้นแผ่วเบาจนไร้การกระตุก

หัวใจที่บอบช้ำแตกสลาย เมื่อครั้งที่ศิริราช ยังไม่สามารถเยียวยาได้ หัวใจที่อ่อนแอยังไม่แข็งแรงดี แม้จะวันนี้หรือวันไหน ๆ หัวใจก็คงจะไม่กลับมาสดใสเหมือนเดิมได้

เพราะตราบนี้ จนสิ้นลมหายใจ คนไทยไม่มีวันลืมพระองค์

พระองค์ท่านไม่ใช่บุคคลทั่วไป ที่เราจะเศร้าโศกเสียใจได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วทำใจได้ในช่วงเวลาต่อมา

แต่พระองค์ คือ หัวใจของคนไทยทั้งแผ่นดิน มีใครบ้างที่สูญเสียหัวใจ มีใครบ้างที่หัวใจอ่อนแอ และมีใครบ้างที่รู้สึกเจ็บปวดหัวใจ แล้วยังยืนหยัดอยู่ได้ โดยไม่รู้สึกอะไรเลย

ผมขออนุญาตเขียนบทความนี้แทนความรู้สึกคนไทยทุกคนครับ ไม่ว่าจะยังไง เราคนไทยทุกคนต้องเข้มแข็ง

แม้ยากที่จะกลั้นน้ำตาได้ ปล่อยน้ำตาให้ไหลรินออกมา ปล่อยให้หัวใจเต้นไปตามวิถีของความเศร้า วิถีของความเสียใจ แล้วตั้งหลัก สร้างกำลังใจเยียวยาหัวใจตนเอง สร้างกำลังใจจากคุณความดีของพระองค์ท่าน

สร้างกำลังใจจากหัวใจกำลังของแผ่นดิน "หัวใจภูมิพล" หัวใจที่ยิ่งใหญ่ หัวใจพระราชาผู้ทรงธรรม หัวใจของพระองค์ จะสถิตเป็นมิ่งขวัญในหัวใจคนไทยทุกคนนิจนิรันดร์ครับ


ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น หาที่สุดไม่ได้
ดร.กมลสิทธิ์ ประสิทธิ์ต้นสกุล
จาก เพจนักกวีแผ่นดินพ่อหลวง ร.๙






พระบรมฉายาลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก
praew.com
ddproperty.com
welovemyking.com
lifestyle.campus-star.com
เพจนักกวีแผ่นดินพ่อหลวง ร.๙








บีจีจากคุณญามี่ กรอบจากคุณ KungHangGerman

Free TextEditor





Create Date : 24 ตุลาคม 2560
Last Update : 24 ตุลาคม 2560 23:29:12 น. 0 comments
Counter : 2474 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณข้ามขอบฟ้า, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณวลีลักษณา, คุณSai Eeuu, คุณJinnyTent, คุณภาวิดา คนบ้านป่า, คุณtoor36, คุณlovereason, คุณRinsa Yoyolive, คุณเนินน้ำ, คุณหอมกร, คุณโอพีย์, คุณmcayenne94, คุณnewyorknurse


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.