happy memories
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2567
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
16 มิถุนายน 2567
 
All Blogs
 
ขอบคุณคุณหนอนบุ้งฟุ้งเฟ้อที่เขียนรีวิวให้ร้านอลงกรณ์ค่ะ




ก่อนหน้านี้สักเดือนคอมออกอาการทรง ๆ ทรุด ๆ บางทีอยู่ดี ๆ หน้าจอดับไปเฉย ๆ ทำยังไงก็โหลดหน้าจอไม่ขึ้น น้องชายดูให้ก็ซ่อมไม่ได้ แต่อยูดี ๆ คอมกลับมาใช้ได้ซะงั้น ก็เลยอัพบล็อกได้ ลุ้นให้คอมอย่าเกิดอาการทรุดหนักจนต้องเข้าโรงหมอ ไม่งั้นคงได้หยุดเล่นบล็อกแน่ ตอนที่คอมอาการเป๋ไปเป๋มาเป็นช่วงที่ร้านค่อนข้างยุ่ง เพราะเพิ่งไปเปิดสาขาใหม่ที่ห้างเซ็นทรัล ชิดลม งานนี้ฉุกละหุกมาก มีเวลาเตรียมงานไม่ถึงเดือนเลย ร้านอยู่ในโซนใหม่บนชั้น ๓ ห้างกำหนดเปิดวันที่ ๒๒ มี.ค.ที่ผ่านมา ถึงวันงานร้านยังตกแต่งไม่เสร็จดี ป้ายร้านยังไม่มี แล้วยังต้องซ่อมสร้างเพิ่มเติมเป็นบางส่วน เพราะคอมอาการไม่เสถียร กว่าจะอัพบล็อกสำเร็จ ก็ผ่านวันเปิดร้านไปเป็นเดือนเลย




ย้อนความหลังไปหลายสิบปี เดเคยไปเปิดร้านสาขามาครั้งนึงแล้ว อยู่แถวถนนมหาไชย เขตพระนคร แต่ไม่เวิร์ค เพราะลูกค้ามาที่ร้านก็อยากเจอเถ้าแก่ พอเดต้องวิ่งไปมาสองร้าน ลูกค้าไม่เจอเดบ่อยครั้งเข้าก็ไม่อยากมาอุดหนุน ก็เลยต้องปิดสาขานั้นไป คราวนี้ถึงเวลาจะน้อย แต่ได้น้องชายกับน้องสะใภ้มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง จ้างพนักงานขาย คนในครอบครัวและช่างเย็บก็ร่วมด้วยช่วยกันเต็มที่ แล้วให้ลูกค้าโทรมานัดหมายก่อน ทำให้จัดเวลาทำงานได้ค่อนข้างลงตัว คิดว่าร้านใหม่ในห้างน่าจะออกมาโอเค




ในโอกาสเปิดสาขาใหม่ในห้าง ขอนำรีวิวของลูกค้าที่มาตัดสูทที่ร้านมาลงบล็อก ผู้เขียนเป็นเจ้าของเพจ หนอนบุ้งฟุ้งเฟ้อ ในเพจมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสไตล์การแต่งตัว เสื้อผ้า รองเท้า ศิลปวัฒนธรรม ภาพถ่ายและอื่น ๆ คุณหนอนบุ้งฯ มาตัดสูททที่ร้านแล้วประทับใจ กรุณาเขียนรีวิวไว้ยาวมาก ไม่ได้แค่เขียนชมอย่างเดียว แต่ให้ความรู้และรายละเอียดเกี่ยวกับสูทได้ดีมาก ๆ ดีกว่าเราที่อยู่กับสูทมาทั้งชีวิตเขียนเองซะอีก ต้องขอบพระคุณคุณหนอนบุ้งฟุ้งเฟ้อไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ เนื้อหาบล็อกนำมาจากโพสวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๖ ค่ะ ความรู้เรื่องสูท


สูทอลงกรณ์ สาขาเซ็นทรัลชิดลม อยู่ที่ชั้น ๓
กรุณาโทรนัดหมายล่วงหน้า ได้ที่ ๐๘๕-๐๗๐-๙๙๕๑






ร้านใหม่บริเวณไม่กว้างมากแต่เป็นสัดเป็นส่วนดีค่ะ
ภาพวันเปิดร้าน ยังตกแต่งไม่เสร็จดี ร้านเลยโล่งไปหน่อย














Suit : เครื่องแต่งกายในสารระบอบของ Classic Menswear ที่ประกอบไปด้วยแจ็กเก็ทและกางเกงที่ทำมาจากผ้าชนิดเดียวกัน ชื่อเรียกเต็ม ๆ คือ Lounge Suit)

Bespoke : ย่อมาจากคำว่า Be Spoken for หรือ ถูกจองไว้แล้ว ในบริบทนี้หมายความว่าผ้าและเสื้อผ้าชิ้นนั้นเราได้ทำการสั่งจองและทำขึ้นมาเพื่อตัวเราเองโดยเฉพาะ

ผมมีความความสำพันธ์ที่ค่อนข้างจะงง ๆ กับสูทอยู่สักหน่อย สูท เป็นภาษาที่มีบริบทที่ผมไม่ชอบเท่าไรนัก แต่เสียง ทำนอง และความหมายของมันกลับน่าหลงไหล ถึงกระนั้น จะว่ามันเป็นเครื่องแต่งกายที่ชอบที่สุดก็ไม่เชิง แต่จะว่าไม่ชอบไม่สนใจ ก็น่าจะตรงข้ามกับความจริงอย่างสุดขั้ว

ยิ่งพูดก็ยิ่งงงเองครับ

ถ้าจะให้สรุปความอย่างที่ผมเคยพูดกับคนรู้จักหลาย ๆคนก็คงจะบอกได้ว่า ผมชอบรองเท้าหนัง และมันใส่กับสูทได้ดีที่สุด คนอื่นซื้อรองเท้าใส่กับสูท แต่ผมซื้อสูทมาใส่กับรองเท้าไง




สูทที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน มีรากฐานมาจาก Lounge Suit ที่มีต้นกำเหนิดมาในสมัยปลายยุคศตวรรษที่ ๑๙ ครับ และในขณะที่ในปัจจุบันเรารู้จักกับสูทในฐานะที่มันเป็นเครื่องแต่งกายที่เป็นทางการเกือบจะที่สุด (เป็นรองก็แค่ Black Tie/Tuxedo นั้นแหละ (ถึงตอนนี้คงจะมีหลาย ๆ ท่านตะโกนว่า เฮ้ยคุณหนอนบุ้ง (เรียกบุ้งเฉย ๆ ก็พอครับ 55) มันมี White Tie/Morning Dress ด้วยนะเว้ย ใช่ครับ

แต่เรียนตามตรง ผมยังไม่เคยเห็นใครใส่ White Tie/Morning Dress ในชีวิตจริงเลยซักคน นอกจาก Theme Wedding (อันนั้นคุณจะใส่ชุดเกราะอัศวิน หรือนักรบก็ได้ถ้าตรง Theme) และ ๙๙.๙๙ % ของประชากรบนโลกคงจะไม่ได้รับเชิญไปงานพระราชพิธีเสกสมรสระหว่าง Prince William และ Kate Middleton เป็นแน่แท้ ฉะนั้น เราตัด White Tie ไปก่อนได้เลย)​) แต่เมื่อก่อน Lounge Suit ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่ค่อนข้างลำลอง (เมื่อก่อนคนในซีกโลกตะวันตกแต่งตัวกันเยอะกว่าสมัยนี้มาก และเสื้อยืดมีศักดิ์เป็นเพียงชุดชั้นใน) จวบจนได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่นักอุสาหกรรมและนักธุรกิจ จนในที่สุดช่วงปี 1920s ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ สูทจึงได้เข้าสู่ยุค Golden Age และเริ่มพัฒนาจนมีไสตล์ที่ไกล้เคียงกับสูทที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน (That’s Right, Old Sport!)




เมื่ออำนาจทางการเมืองและเศรษกิจเปลี่ยนแปลง จากที่เป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นสูง สูทกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นทางการ เป็นภาษาของความเป็นมืออาชีพ ความภูมิฐาน และเหนื่อสิ่งอื่นใดกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพลัง จนมันกลายมาเป็นเครื่องแต่งกายของชนชั้นปกครอง ของนายทุน ชนชั้นธุรกิจ และชนชั้นกลางที่ทำงานให้กับชนชั้นนายทุนเหล่านี้ จนกระทั่งเมื่อโลกยุคเก่าได้ตายไปกับสงครามโลกครั้งที่สอง โลกเข้าสู่ระบอบทุนนิยมอย่างเต็มตัว สูทจึงกลายมาเป็นเครื่องแต่งกาย เป็นเครื่องแบบที่บ่งบอกถึงยุคสมัยใหม่ที่แท้จริง (จนน่าจะมาสุดในสมัยนี้นี่แหละ)




นอกจากรายละเอียดปลีกย่อยแล้ว สูทมีรูปแบบที่ค่อนข้างคงตัว เนื่องจาก Form ของมันได้ถูกพัฒนามาตั้งเป็นร้อยปีก่อน ตามแบบแผนรูปร่างในอุดมคติของสุภาพบุรุษ จากไหล่ที่มีการเสริมโครง จนมาถึงการเก็บเข้าโครงในช่วงเอว และแนวของ Lapel ทิ้งตัวเป็นรุปตัว V กับกางเกงท่อนล่างที่ใช้ผ้าชนิดเดียวกัน นำพาสายตาลากยาวลงมาสู้ท่อนขาที่เพรียวสมส่วน จบลงด้วยรองเท้าหนังเข้ารูปทรง เสริมให้บุรุษผู้สวมใส่มันมีรูปร่างดังเทพเจ้ากรีกโบราษ แม้ว่าความจริงภายใต้เครื่องแต่งกายเสริมโครงนั้นผู้สวมใส่หาได้มีร่างกายดังกล่าวไม่ มันคือเครื่องแต่งกายที่เป็นเสมือนชุดเกราะเสริมความมั้นใจ เติมเต็มในสิ่งที่กายเราอาจจะบกพร่อง (หรือมีเยอะไป cough cough)




ไม่มีเครื่องแต่งกายอะไรที่ดูดีไปกว่าสูทที่สร้างแพทเทิร์นตัดมาตามตัวเรา ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ประธานาธิปดีชาติมหาอำนาจ คอมมิวนิสนักปฏิวัติ เผด็จการโฉดชั่ว มาเฟียชื่อกระฉ่อน เพลย์บอยสุดฉาวโฉ่ว นักร้องเสียงทองคำ ดาราระดับตำนาน นักเขียนผู้ลุ่มลึก ทนายปาดคอ โจร นักต้มตุ๋น ผู้นำลัทธิ บล็อกเกอร์เท่ ๆ อินฟลูดัง ๆ หรือบล็อกเกอร์ฟุ้ง ๆ ทุกคนล้วนใส่สูท และดูดีเมื่อยามสวมใส่มันเสียด้วย

อ้อ ผมบอกไปหรือยังว่าผมทั้งชอบสูทและไม่ชอบสูท

ถ้าจะพูดแบบไม่เคอะเขิน เหมือนผู้ชายส่วนใหญ่ผมมโนไปเองว่าตัวเองดูดีขึ้นเวลาใส่สูท (เห้ยมันจริงน่า) และสูทยังเป็นเครื่องแต่งกายที่ต้องการช่างผู้มากประสปการณ์และฝีมือชั้นสูงในการสร้างสรรค์มันขึ้นมา ล้วนทั้งมันยังเป็นเครื่องแต่งกายที่ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาพร้อมๆกับรองเท้าหนัง เหมาะสมกันไม่ต่างจากผีเน่าและโรงผุ




แต่ที่สูทก็เป็นภาษาของขนบธรรมเนียม ความอณุรักษ์นิยม การแบ่งแยกชนชั้น ความอภิสิทธิชน เครื่องหมายของอำนาจ (The Suit) ความลุ่มหลง ก็เป็นเรื่องที่ผมปฏิเสธไม่ได้อีกนั่นแหละ

และในขณะที่เมื่อก่อนผมทำงานอยู่ในระบบ Corporate ผมสามารถใส่สูทได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่ในปัจจุบันผมไม่ค่อยมีโอกาสจริง ๆในการใส่สูท นอกจากงานแต่งงานหรืองานทางการเพียงไม่กี่ครั้งต่อปี สำหรับผม การที่อยู่ดี ๆ จะตื่นขึ้นมาใส่สูทเดินเล่นยังเป็นเรื่องที่อยู่นอกบริบทของความคิดไปบ้าง (แต่ก็จวนเจียนไปจุดนั้นหล่ะ)

ฉะนั้น ถึงชอบแต่ก็ไม่เคยถลำตัวลงลึกจนเกินไป ทั้งชีวิตมีสูทที่ซื้อมาใส่เองจริง ๆ เพราะสถานการณ์บีบบังคับอยู่แค่สี่ตัว ตัวที่สี่นี่เองที่เราจะมาพูดถึงกันในคราวนี้ครับ




ร้านที่ถนนเพชรบุรี ตรงข้ามสถานทูตอินโดนีเซีย
เปิดร้านเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๐๘
คลิกอ่านรายละเอียดที่บล็อก เปิดร้านในกรุงเทพฯ





วันทำพิธีเปิดร้านที่จตุจักร
คลิกอ่านรายละเอียดที่บล็อก วันทำพิธีเปิดร้านที่จตุจักร”


ห้องเสื้ออลงกรณ์ เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ หรือ ๖๗ ปีที่ผ่านมา (ปีที่แล้วเพิ่งจะฉลองวันเกิด ๖๗ ปีไป) ส่วนตัวผมอาจจะไม่สามารถบอกประวัติของอลงกรณ์ได้ (โปรดติดตามวีดีโอที่กำลังจะจัดทำ) แต่ประวัติศาสตร์ ๖๗ ปี ก็นับว่าเป็นระยะเวลาในการยืนตัวที่ยาวนานสำหรับแบรนด์ห้องเสื้อแบรนด์หนึ่ง น่าแปลกใจที่ส่วนตัวผมมีความสนใจในสูทมาค่อนข้างนาน แต่เพิ่งจะมารู้จักกับอลงกรณ์เมื่อปี ๒๕๖๔ มานี่เอง ในขณะที่กำลังหาสูทเพื่อเตรียมตัวงานแต่งงานของตัวเอง (shoutout to @KameCheeky Supatchara)




ต้องสารภาพว่าเมื่อตอนนั้น ผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องหรือเชื่อใจห้องเสื้อในประเทศไทยเลย (เนื่องจากมีประสบการณ์ในการตัดสูทที่ไม่ค่อยจะประทับใจ กับผ้า deadstock สุดล้ำมูลค่าทางจิตใจกับห้องเสื้อย่านอโศกแห่งหนึ่ง) ส่วนมากเท่าที่เห็นเป็นร้านขายผ้าและเป็นหน้าร้านมากกว่าที่จะเป็นห้องเสื้อ ที่มี Master Tailor, Cutter, และช่างจริง ๆ ที่ทำงานให้กับห้องเสื้อนั้น ๆ โดยตรง (ผมเคยไปในตรอกซอยแถวเจริญกรุงและเห็นห้องแถวที่แปลงตัวเป็น workshop ทำสูทให้กับหน้าร้านอื่น ๆ อยู่หลายเจ้าทีเดียว เพื่อนผมท่านหนึ่งเข้าไปติดต่อตัดสูทโดยตรงกับพวกเขาและงานออกมาไม่เลวทีเดียวสำหรับราคาที่ต้องจ่ายไป)

เหตุด้วยข้อจำกัดในความรู้จักแต่ห้องเสื้อดัง ๆ ของต่างประเทศ ทำให้ตัวเลือกที่มีในตอนนั้นช่างบีบเร้าหัวใจ จะมีงานแต่งทั้งทีก็อยากได้ Bespoke ไปเลย ถ้าเราจะรอ Raffaniello มา Trunkshow ก็คงจะไม่ทัน หรือจะไป Liverano MTM ก็เอ๊ะ ๆ นิด ๆ ว่าราคาขนาดนั้นไป Bepsoke เลยไหม แต่กับการลงทุนเงินแสน (หลายด้วย) กับเครื่องแต่งกายที่เราอาจจะไม่ค่อยได้ใส่บ่อย ๆ เอ เอาไปซื้อรองเท้ามาถ่ายรูปเขียนลงบล็อกดีกว่า ฮ่าฮ่า หรือจะกลับไปเยี่ยมเยียนอังกฤษ ณ กรุงลอนดอนดินแดนในความทรงจำเพื่อ Go Broke! ไป Savile Row สุดถวิลหา (โลกในอุดมคติคือผมเดินเข้า Anderson & Sheppard เพื่อสรรหา Drape Cut สุดลือชื่อของห้องเสื้อแห่งนั้น หรือหลั่นล้าไปกรุงพารี่เพื่อเดินเข้า Cifonelli หรือ Camp De Luca) แต่การฆ่าตัวตายทางการเงินเพื่อได้สูท Bespoke ระดับนั้นมาไม่ค่อยจะเป็นเรื่องที่เมคเซ้นเท่าไรสำหรับผม (รองเท้า Bespoke หนังจรเข้ Porosus! อันนั้นจะเมคเซ้น))

ครุ่นคิดอยู่นาน Facebook Algorithm คงอ่านใจผมออก (แหงสิเอาคุกกี้กูไปกินกี่โหลแล้วจ๊ะพี่ซัคคค) ยิงแอด Alongkorn 1958 มาสู่หน้าจอดั่งมีเวทมนต์

(‘Any sufficiently advanced technology is indistinguishable from magic.’
- Arthur C. Clarke

‘เทคโนโลยีที่มีความล้ำหน้าเพียงพอ แทบจะไม่มีความแตกต่างจากเวทมนต์’

- อาเธอร์ ซี คลาค




(ตอนนี้ขอตัดเข้าไปที่ตัวสูทเลย เพราะเริ่มจะยาวหล่ะ เรื่องอื่น ๆ ที่อยากจะพูดถึงเกี่ยวกับ Alongkorn จะขอไปพูดในวีดีโอที่กำลังจะจัดทำนะครับ)

ผมมีความชื่นชอบต่อสูทสามชิ้น (3-pieces suit) มาค่อนข้างนาน มันดูแตกต่างแบบไม่แปลกแยก โดดเด่นแบบไม่โฉ่งฉ่าง เต็มไปด้วยเรื่องราวแต่ไม่ผูกมัด สูทสามชิ้นเป็นที่นิยมมากในสมัยต้นศตวรรษ ที่ ๒๐ เมื่อระบบให้ความร้อนตามตึกรามบ้านช่องยังไม่ดีเท่าไรนัก แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก อาจจะเพราะดูแก่ ดูทางการเกินไป หรือในบางที 3-Pieces Suit สงวนไว้ให้บางบุคคลใส่เท่านั้น

เพื่อนชาวอังกฤษคนหนึ่งของผมเป็นทนาย เคยเล่าว่าสมัยเขาเป็น Junior Lawyer ที่บริษัทนักกฏหมายแห่งหนึ่งย่าน Holborn ณ กรุงลอนดอน มีอยู่ครั้งหนึ่งปิดคดีใหญ่ได้ ได้ค่าทนายความมาเยอะอยู่ แบ่งกันทั้งทีมแล้วแม้แต่ตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลายแหล่ในทีมก็ถือว่า Good Pay Day กันถ้วนหน้า ทีนี้เมื่อมีความสำเร็จเราก็เริ่มมีความหยิ่งผยอง เพื่อนในทีมเขาคนหนึ่งจึงไปถอยสูทสามชิ้น ตามแบบที่เหล่า Partners (ทนายรุ่นใหญ่ หุ้นส่วนในบริษัท) ใส่กัน (ต้นทางไม่ได้บอกมาว่าจาก House ใหน หรือเป็น RTW/MTO/Bespoke แต่ผมเดาเอาเองว่าคงเป็น RTW หล่ะว้า ใครมันจะบ้าเอาค่า Fee ไปตัดสูททีละ £4,000 (อาจจะผมเนี่ยแหละ))

ใส่มาทำงานสำหรับ Case ต่อไปด้วยความโก้ เดินเข้าออฟฟิสแห่งนั้นอกผายไหล่ผึ่งให้ทุกคนทึ่งในความรวยเสน่ห์ระยิบในความสามารถและแน่นอนอวดสูท 3-pieces ของเขา

ยังไม่ทันมีใครชม Partner ผู้หนึ่งเดินออกมาเห็นปุ๊บ เจ้าตัวเขาคิดว่าเอาหล่ะวะนายชมกูแน่

‘Who the fuck do you think you are wearing that suit? Go back home and change right now or you’re fired!’

‘มึงคิดว่ามึงเป็นใครวะถึงใส่สูทสามชิ้นมาทำงาน กลับบ้านไปเปลี่ยนซะไม่งั้นมึงถูกไล่ออกแน่’

ทนายหนุ่มหน้าใหม่ของเรา ก็เอวังด้วยประการฉะนี้

(กฏที่ไม่ได้เขียนไว้ของที่นั่นคือ ต้องเป็นระดับ Senior Lawyer เท่านั้นถึงจะใส่สูทที่ไม่พื้น ๆ แบบ 3-pieces หรือ Double Breasted ได้ ส่วนระดับลูกกระจ๊อกก็ 2-pieces ไป ผมได้ยินแล้วก็แอบคิดว่าเออกูน่าจะเป็นทนายแฮะ แต่มารู้ตัวช้าไปไม่ทันเสียแล้ว)





เป็นทนายไม่ทัน แต่เป็นเจ้าบ่าวได้นะครับ เถียงกะภรรยาก็ต้องใช้ไหวพริบความสามารถไม่แพ้ว่าความกันหรอก

ตั้งแต่ที่ได้เห็นสูทของอลงกรณ์จากภาพถ่าย เราสามารถเห็นได้ทันทีว่า House Cut ของทางห้องเสื้อมีความเป็นอังกฤษอยู่มาก ด้วยเส้นสายที่คม ไหล่และอกที่ดูแข็งแรง Quarter ค่อนข้างปิด (อีกแล้ว ไม่รู้ศัพท์ไทย แต่คือบริเวณขอบของแจ็กเก็ทส่วนหน้า ตรงส่วนกระดุมเรื่อยไปจนส่วน Hem หรือชายเสื้อ) และเอวที่คอด แต่ถึงกระนั้น ก็มีส่วนผสมของสูทไสตล์อิตาเลี่ยนอยู่ค่อนข้างมาก เช่นกระเป๋าอกแบบ Barchetta ส่วน Skirt ที่ค่อนข้างชิดลำตัว หรือหัวไหล่ที่ทางห้องเสื้อสามารถทำเป็นแบบ Shirt Shoulder ออกมาได้ไม่มีที่ติ (และ Pick Stitch ยุบยับ) แต่ในภาพรวมแล้ว สูทมีกลิ่นไอของสูทอังกฤษมากกว่าอิตาเลี่ยน แต่ก็เป็นสูทอังกฤษที่ไม่แข็งทื่อ เข้ากับการแต่งตัวตามสมัยปัจจุบัน ที่เน้นความ Casual มากขึ้น



ในส่วนของสูทของผมที่ตัดกับอลงกรณ์จึงเป็นสูท 3-Pieces 2-Button Single Breasted Suit ในเฉด Dark Charcoal โดยใช้ผ้าของ Holland Sherry Cape Cod Collection ที่มี yarn twist ขนาด Super 100s แต่ก็ยังมี Hand (สำผัสของผ้า) ที่นุ่มและโปร่ง ระบายอากาศได้ดี และที่สำคัญไปกว่านั้น บริเวณรูปทรงของหัวไหล่ทำเป็นแบบ Pagoda Shoulder ที่มี Roping สร้างความน่าตื่นตาให้แก่สูท ประกอบกับ Cut (ทรงของสูท) ที่มีความเป็น Drape Cut อยู่บ้างเพื่อความสบายในการเคลื่อนไหว ผลที่ออกมาจึงเป็นสูทที่ดูเตะตา แต่ก็เต็มไปด้วยเส้นสายและสัดส่วนที่มีความคลาสสิก และใส่สบายในทุกท่วงท่า




ด้านหลัง มีเหตุผลว่าทำไมหลังมันดูยับนะครับ

๑. แอ่นหลังอยู่

๒. เพราะ Drape Cut (ที่จะกล่าวถึงในย่อหน้าต่อ ๆ ไป)




ข้อดีอีกหนึ่งอย่างของสูทสามชิ้นก็คือ เราสามารถเอา Vest ออก และเปลี่ยนมันเป็นสูทสองชิ้นได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับผ้าที่ใช้ด้วยว่าผ้า Lightweight พอที่เมื่อถอด Vest ออกแล้วแจ็กเก็ทจะไม่หลวมไป ซึ่งผ้าตัวนี้ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว

มีรายละเอียดหลายอย่างเลยที่อยากจะอธิบาย เดี๋ยวจะค่อย ๆ พาไปดูทีละอย่าง ๆ นะครับ





Spalla Insellata (Pagoda Shoulder)/Roped Shoulder


เริ่มจากรายละเอียดที่อยากนำเสนอมากที่สุดละกัน ไหล่ครับ

ไหล่มีความสำคัญอย่างมากต่อแจ็กเก็ท เพราะเป็นจุดรับน้ำหนักทั้งหมดของสูท เป็นจุดที่ให้ผ้าและวัสดุทั้งหมดทิ้งตัวลงมาสู่ลำตัว และเป็นจุดที่สร้างโครงของแจ็กเก็ททั้งตัว ทั้งยังเป็นจุดที่ผู้อื่นสังเกตุเห็นเป็นจุดแรก ๆ อีกด้วย

ในปัจจุบันทรงของไหล่ที่ในหมู่ผู้ชื่นชอบเสื้อผ้า Classic Menswear ชอบกัน คงจะเป็นไหล่(และหัวไหล่) แบบที่ไม่มีบุอะไรใด ๆ และหัวไหล่เป็นแบบ Spalla Camicia (หัวไหล่แบบเสื้อ คือมีจีบเยอะ ๆ)

เนื่องจากกระแสของสูทแนว Neapolitan มาแรง และเนื่องจากการแต่งตัวที่เน้นความลำลองหรือความสบายมากขึ้น อีกนัยหนึ่งก็เป็นการโชว์ฝีมือของช่างว่าสามารถทำไหล่สูทในแบบที่แปลกตามากขึ้นไปด้วย

แต่!!! หลบไป!!! ทั้ง Natural Shoulder ทั้ง Spalla Camicia!!!

หลีกทางให้ Spalla Insellata ด้วย !!!

Pagoda Shoulder (ไม่แปลไทย มันตลก! ไหล่เจดีย์ 55555) หรือที่ทางชาวอิตาเลี่ยนเรียกว่า Spalla Insellata (Saddle Shoulder) คือรูปทรงของไหล่ที่มีความโค้งเว้าเข้า จบลงที่หัวไหล่มีความ ‘ตั้ง’ ขึ้นหน่อย (ซึ่งตรงนี้หัวไหล่จะเป็น Roped Shoulder ที่หัวไหล่ตั้งขึ้นสูงกว่าเดิม (ที่ชาวอิตาเลี่ยนเรียกว่า Con Rollino) หรือจะเป็นแบบปรกติไม่มี Roping ก็ได้)

อันที่จริงแล้ว Spalla Insellata เป็น Natural Shoulder แบบแรกเลย (ไหล่อีกแบบหนึ่งที่ปัจจุบันเรียกกันว่า Natural Shoulder ก็คือสูทแบบอเมริกัน ที่ไม่มีบุไหล่ (Padding) และต้นแขนตกลงมาจากหัวไหล่อย่างเรียบ ๆ เป็นธรรมชาติ ไม่มีทั้ง Con Rollino ทั้ง Spella Camicia

เหตุที่ Spalla Insellata เป็น Natural Shoulder ก็เพราะไหล่คนเราไม่ได้มีรูปทรงตรง ๆ ทื่อ ๆ อย่างไรครับ สังเกตดูรูปทรงของหัวไหล่ ของความโค้งเว้าของกระดูกไหปลาร้า

ใช่! มันมีความโค้งเว้าอยู่ มันไม่ได้ตรงเหมือนไม้บรรทัด ด้วยเหตุนี้ Spalla Insellata ที่มีความโค้งเข้ากับหัวไหล่ จึงนับว่าเป็น Natural Shoulder ครับ

อย่าไปกลัว Padding! ถ้าเราไม่ได้มีรุปร่างดังเทพเจ้ากรีก หรือ Mister Olympia แล้ว ผู้ชายส่วนใหญ่ดูดีขึ้นได้ด้วยการบุไหล่ครับ แต่ไม่ใช่ในแบบสูทที่เราจะเห็นกันในยุค 80s ที่บุไหล่มากันแบบโรงานเป็นหุ้นส่วนกับบริษัททำ Padding/Wadding นะ บุบาง ๆ พอเสริมโครงสร้างที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติให้ไกล้เคียงอุดมคติมากขึ้นไปสิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผมเอง ที่ไหล่มีความลาดมาก การบุไหล่ไปสักหน่อยก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี

Spalla Insellata เป็นไหล่ที่ทำได้ยากที่สุดครับ ทั้งในการออกแบบและในการทำ ถ้ามากเกินไป มันก็จะเกินพอดี แต่ถ้าน้อยเกินไปก็จะไม่เห็นความโค้งเว้า และจะไม่รับกับรูปทรงของไหล่ตามสรีระของคนเรา อีกอย่าง การทำไหล่ทรงนี้นั้นทำได้ยากที่สุด เพราะต้องการการดัดรูปทรงของวัสดุส่วนประกอบทั้งสามอย่างด้วยกัน คือการทำทรง Canvas (ด้วยการทำจีบและ Pad Stitch) การทำทรง Padding บุไหล่ (ด้วยการดัดและการเย็บ) และการทำทรงของผ้าชั้นนอกสุด (ด้วยการหดและยืดจากความร้อนและไอน้ำ)

ฉะนั้น ไหล่ทรงนี้จึงเป็นไหล่ที่เราจะพบเห็นได้ยากที่สุด ต้องทำมาจากห้องเสื้อที่มีช่างผีมือฉมังเท่านั้น

ผมแอบยิ้มอยู่ในใจ ตอนที่คุณโสภณ บอกว่าสามารถทำไหล่ทรงนี้ได้ และผลลัพธ์ที่ออกมาก็ตรงตามคาดหวัง ไหล่ Spalla Insellata ที่เสริมหัวไหล่ด้วยความ Rope เล็กน้อย ออกมาสมส่วน ดูดี ไม่เกินเลย แต่ก็ยังเต็มไปด้วยคาแร็คเตอร์ ปรานีทไปด้วยฝีมือการผลิตในทุก ๆ ฝีเข็ม





Lapel


ลงมาในส่วน Lapel ปกคอแจ็กเก็ทที่มาในรูปทรง Notch Lapel ตามมาตรฐานสูทส่วนใหญ่ Lapel ของทางห้องเสื้อ มี Gorge (ตรงที่ Lapel บรรจบกับ Back Collar ที่เป็นรูปสามเหลี่ยมเข้าไปนั้นแหละ) ที่ค่อนข้างสูงกว่าสูทขนบอังกฤษส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่สูงเท่าสูทอิตาเลี่ยนสมัยใหม่ ๆ ที่ Gorge พี่จะล่นไปหลังคอแล้วนะครับ ส่วนทรงของ Lapel มีความกว้างตามสมัยนิยม Lapel ตัดมาตรงไม่มี Belly (ไม่นูนออก) ดูแข็งแรง สมส่วน และสง่างาม

(ขอเม้ามอยนิดนึง Lapel จะตัดกันแบบตรง Straight หรือแบบมีพุง (555) (เอาจริง ๆ เขาเรียกว่า Belly) นะครับ ไม่เว้าเข้า! หากเราเห็นสูทจากห้องเสื้อจาก Liverano ที่บางทีดูโค้งเข้า ไม่! มันตรง! ไม่โค้งเข้า ที่มันดูเหมือนโค้งเข้าเพราะ Lapel Roll ขั้นเทพต่างหาก

คือผมไม่เข้าใจว่าใครเริ่มเทรน Lapel แบบโค้งเข้า ส่วนตัวมันดูเหมือน Lapel กระหร่องกระแหร่ง เหมือนขาดสารอาหาร เน้นว่า คหสต ไม่ดราม่า)





Lapel Roll/Hand Padding


ถัดมาที่ Lapel Roll หรือความโค้งพับออกของ Lapel มีรูปทรงสามมิติ ไม่แบนเป็นปีกเครื่องบินพับกระดาษ (กรุณาส่งสูทที่มี Lapel Roll เทพ ๆ ของท่านไปร้านซักแห้งที่ดีที่สุดเท่านั้น ไม่อย่างนั้นจะหาว่าไม่เตือน!!! หรือทำ Steam Pressing กับทางห้องเสื้ออลงกรณ์ได้เช่นกันเพื่อคืนทรงและความสดใหม่ให้สูท)

Lapel Roll ที่ดีควรจะมีความโค้งที่เป็นธรรมชาติ จากตรงปลายของ Lapel ตรงกลัดกระดุม ที่ควรจะมีความโค้งสวยงาม Lapel ควรจะดันตัวออกจากร่างกายของเราแบบไม่ต้องฝืน โดยที่ไม่รั้งตัวแจ็กเก็ทออกมาด้วย และควรจะแบนราบไปกับตัวแจ็กเก็ทตรงส่วนของ Gorge อย่างไม่มีที่ติ

ซึ่งแน่นอนอลงกรณ์ทำออกมาได้ตามอุดมคติครับ จากการเย็บ Canvas ในส่วนนี้เข้ากับตัวแจ็กเก็ทด้วยมือ ที่เรียกว่า Hand Padding




Hand Padding เป็นการดัดและเย็บ Horsehair Canvas เข้ากับปกด้านหลังของ Lapel เพื่อดัด Lapel ให้มีความโค้งและรูปทรงที่เราต้องการ โดยตรงส่วนนี้สามารถทำได้จากทั้งเครื่องจักรและมือ หากทำด้วยเครื่องจักร ส่วนมากเราจะไม่เห็นรอยเย็บ (เพราะเครื่องจักรเย็บแบบ Blind Stitch) แต่เครื่องจักรที่ใช้เย็บแบบนี้ เป็นเครื่องจักรของ Strobel ราคาแพงมาก (เครื่องละหลายล้าน) ฉะนั้นไม่มีทางที่ห้องเสื้อทั่วไป หรือแบรนด์เสกลเล็กๆจะมีใช้ ห้องเสื้อปรกติที่ทำสูทระดับต้น ๆ ถึงกลาง ๆ ตรงนี้จะใช้ Fusible ครับ แต่ไม่ได้ความโค้งเว้าแบบนี้แน่นอน ห้องเสื้อระดับสูง จะใช้การเย็บด้วยมือ โดยเราจะเห็นรอยเย็บยุยยิบหลัง Lapel ตามภาพ (อาจจะเห็นยากหน่อยเพราะงานค่อนข้างละเอียด) (ปกข้างหนึ่งใช้เวลาเย็บประมาณหนึ่ง ชม ครับ สองข้างก็ประมาณสอง ชม)

ทีนี้เราอาจจะถามว่า แล้ว Hand Padded Lapel vs. Machine Padded Lapel แบบใหนดีกว่า?

ไม่ทราบครับ ทั้งห้องเสื้อทั้งช่างทั้งผู้ชื่นชอบ Classic Menswear ก็ยังเถียงกันไม่จบ ห้องเสื้อระดับโลกบางห้องใช้แต่การเย็บมือเท่านั้น แต่ห้องเสื้อระดับตำนาน อย่าง Henry Poole, Gieves & Hawkes หรือ Caraceni ก็ยังใช้เครื่องจักรในการทำ Lapel Padding

ของอลงกรณ์เป็นการเย็บด้วยมือในส่วนนี้ครับ ส่วนอื่นๆของสูทเช่นตรงอกกับ Chest Piece ไม่ทราบเหมือนกัน ไว้จะถามคุณโสภณในคราวต่อไปนะครับ





Pickstitch


การเย็บดำน้ำ (รู้จักภาษาไทยก็คำนี้แหละ ดำน้ำไปใหน ประดิษฐ์คำได้น่ารักมาก 55) คือการเย็บบริเวญขอบ ๆ ของตัวแจ็กเก็ททั้งตัว มีประโยชน์คือการเย็บโครงสร้างทุก ๆ ชั้นของตัวแจ็กเก็ทเอาไว้ด้วยกันไม่ให้โค้งออกมาจนเสียทรงบริเวณขอบ ๆ

Pickstitch ตามตำราแล้วจะต้องทำด้วยมือ ตามขอบเจ็กเก็ท (และตามขอบกระเป๋าบ้าง) ซึ่งบางที การเย็บแบบนี้ด้วยฝีเข็มแบบ Blindstitch สอยด้วยมือ เราจะไม่เห็นรอยเย็บเลยทีเดียว การเย็บของอลงกรณ์ก็ตามนี้เลยครับ รอยเย็บละเอียด สีด้ายกลืนไปกลับสีของผ้า ละเอียด เนียบ ไม่โผงผาง และมีเท่าที่ใช้งานจริงๆเท่านั้น

(แจ็กเก็ทและสูทสมัยใหม่ ๆ Pickstitch ทุกๆรอยต่อของผ้าเลยทีเดียว ผมก็สองจิตรสองใจ บางทีก็ว่าเท่นะ แต่บางทีก็คิดว่ามากไปหน่อย แต่ก็มีอยู่หลายตัว)

อนึ่ง ปัจจุบันมี AMF Hand-stitching machine ซึ่งนั่นแหละเลียนแบบ Look ของ Handstitch แต่เครื่องจักรจะสามารถจับผ้าทั้งสี่ชั้นของตัวแจ็กเก็ทได้ใหม นั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง




นอกจากนี้ตรงรอยต่อต่าง ๆ เช่น ในสวนของ Vent หรือ Gauntlet มีการเย็บ Tackstitch ย้ำไว้เพิ่มความแข็งแรงทุกจุด ในแบบที่สูท High-end ควรจะมี

ตรงนี้คือ Tack Stitch ในส่วนของ Gauntlet




ในส่วนของ Vent (ผ่าหลังเสื้อ)





Handmade Button Holes (รังดุมถักด้วยมือ)


รายละเอียดที่ใช้มือทำขึ้นต่อไปของสูทอลงกรณ์ก็คือรังดุมทั้งหมดของสูทถูกถักขึ้นด้วยมือครับ และยังมีความถี่ของฝีเข็ม ความละเอียดของด้ายที่ใช้ และของ Gimp (ขลิปด้าย) ที่ละเอียดไม่แพ้ใครเลย




ลองสังเกตุดูจากภาพนะครับ แจ็กเก็ทในภาพมีรังดุมที่ใช้มือถักหมด ซ้าย Orazio Luciano ขวา อลงกรณ์

ขอเพิ่มนิดนึงว่า Jacket ที่มีความลำลองอย่างของ Orazio Luciano จะมี Buttonhole ที่ไม่เน้นรายละเอียดมากเท่า ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายครับ เข้ากับไสตล์แจ็กเก็ทเป็นอย่างดี




ซ้าย Brioni ขวา อลงกรณ์




ซ้าย Lutwyche (สูท Handmade ที่ทำจากโรงงาน Chester Barrie ที่ว่ากันว่าเป็นโรงงานผลิตสูท RTW/MTM ที่ดีที่สุดบนเกาะอังกฤษ ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) ขวา อลงกรณ์




เทียบกันทั้งสี่ตัว งานของอลงกรณ์ละเอียดและถี่กว่าระดับหนึ่งเลยทีเดียว




รังดุมด้านหน้า ก็เป็น Handmade Buttonhole เช่นกัน




Milanese Lapel Button Hole

Milanese Lapel Button Hole ถือเป็นอีก Highlight หนึ่งของสูทครับ

สังเกตุว่าในภาพที่แล้ว รังดุมจะมีความกว้างและมีปมของด้ายวิ่งเป็นแนวไปตามรังดุม

แต่ Milanese Button Hole จะไม่มีปม รังดุมจึงดูบาง เนียบ เรียบร้อยและละเอียดอ่อนมากกว่ารังดุมปรกติ ซึ่งเป็นรังดุมที่ทำยากกว่ารังดุมปรกติ และเพราะรังดุมมีความเปราะบางกว่าปรกติ จึงเป็นรังดุมที่เอาไว้ใช้สำหรับ Lapel Button Hole เท่านั้น

รังดุม Milanese Button Hole ของอลงกรณ์ เทียบกับของ Tom Ford ซ้าย (รังดุมแบบนี้ต้อง Handmade เท่านั้น)

อนึ่ง Milanese Button Hole พบมากในสูทจากห้องเสื้อของฝรั่งเศสครับ (Cifonelli, Camp de Luca) และไม่ได้มีต้นกำเหนิดมาจาก Milan แต่อย่างใด

(อ้าว)

Milanese Button Hole น่าจะมีชื่อมาจากยี่ห้อของขลิปด้ายที่ใช้ทำรังดุมแบบนี้ครับ (La Milanese)

ซ้ำร้าย ทางช่างตัดเสื้อผู้ทรงภูมิอย่าง R.J.Diduch ยังสันนิษฐานว่า Milanese Buttonhole อาจจะถือกำเหนิดมาจากอเมริกาด้วยหน่ะ (อ่านต่อได้ที่ https://robertjeffery.us/.../the-milanese-buttonhole-an.../)




ข้างหลัง Lapel เราจะเห็นว่ามีห่วงเล็ก ๆ หนึ่งห่วง (ทางด้านล่างของภาพ) สิ่งนี้เรียกว่า Boutonniere Latch/Stem Keeper ครับ เอาไว้เก็บก้านของ Boutonniere (ดอกไม้นั่นแหละ) ที่เป็นรายละเอียดที่จะพบได้กับสูทระดับสูงเป็นส่วนใหญ่





Drape Cut


คำนี้คงไม่มีคำแปลไทยตรงๆ (มั้ง) แต่เป็นการตัดสูทแบบให้มีผ้ามากกว่าปรกติตรงช่วงอก หลัง และวงแขน เพื่อการเคลื่อนไหวที่สะดวกขึ้น พร้อมกับเอวที่มีความคอดมากกว่าปรกติ โดยมีรากฐานมาจากเสื้อของทหารนั่นเอง

ในสูททั่วไป (ที่ฟิทถูกต้อง ไม่ใหญ่ไปหรือเล็กไป) ตรงบริเวณอกและแผ่นหลังผ้าจะตึงไม่มีส่วนเกิน ส่วนวงแขนเช่นกัน วงแขนจะเล็กและสูง ผ้าบริเวณนี้จะไม่มีส่วนเกิน ซึ่งทำให้แม้จะดูเนี๊ยบ แต่ก็สร้างข้อจำกัดในความเคลื่อนไหว

แต่ Drape Cut จะเน้นที่ความสบายในทุกท่วงท่าอิริยาบทของการเคลื่อนไหวครับ ตรงส่วนอก แผ่นหลัง และรอบวงแขน เลยจะมีผ้าส่วนเกินขึ้นมา สังเกตได้จากตรงส่วนอกบริเวณไกล้ๆกับวงแขน จะมีรอยพับของผ้าเป็นแนวตั้งขึ้นมา ซึ่งตรงนั้นคือผ้าส่วนเกิน หัวใจของ Drape Cut

Cut ของอลงกรณ์ มี Drape เล็กน้อย ไม่เยอะขนาดที่ทำให้เหมือนกับว่าสูทมีผ้าเยอะไป แต่ก็ยังคงไปด้วยความสบายในการสวมใส่ ซึ่งตรงนี้เป็น House Cut ของทางห้องเสื้อเลยทีเดียว

ตรงจุดนี้บางท่านอาจจะชอบ หรือบางท่านอาจจะชอบสูทที่มีโครงสร้างมากกว่านี้ มีความเนี๊ยบกว่านี้ (แต่ก็จะแลกมาด้วยความสบายในการสวมใส่ที่น้อยลง) ซึ่งก็เป็นเรื่องส่วนบุคคลไป (แต่เข้าใจว่าตรงจุดนี้เราสามารถเพิ่มหรือลดได้ เป็นข้อดีของการตัดสูท Bespoke หล่ะครับ แต่แนะนำว่าในการตัดตัวแรก เราควรจะดู House Cut ก่อน ตัวต่อๆไปค่อยปรับเปลี่ยน ตามผลลัพธ์ที่ไดจากตัวแรกครับ)




ดูจากข้างหลัง ตรงบริเวณรอบวงแขนจะเห็นว่าผ้าไม่ตึง มีผ้าเหลืออยู่ประมาณหนึ่ง




ซึ่งแม้เราจะไม่ได้แผ่นหลังที่เรียบ ๑๐๐% แต่ก็แลกมาด้วยการเคลื่อนไหวที่สะดวกขึ้น




ตรงด้านใน Lining ของ Arm Syche เราจะพบการเข้าแขนกับตัวสูทด้วยมือ
ทำให้ฟิทของแขนกระชับดีกว่า และเป็นจุดที่เพิ่มความสะดวกสะบายในการเคลื่อนไหว





Sleeve Pitch


การวางองศาของแขนทำได้เข้ากับสรีระของผมมาก

แขนคนเราไม่ได้ห้อยมาจากหัวไหล่แบบตรง ๆ จริงไหมครับ องศาการทิ้งตัวของแขนมีความโค้งอยู่ การขึ้นแขนจึงต้องให้ตรงกับสรีระของร่างการเรา ตรงจุดนี้ ทางห้องเสื้ออลงกรณ์ขึ้นด้วยมืออย่างที่กล่าวไป ทำให้มีความกระชับและการวางองศาได้ละเอียดกว่าการใช้เครื่องจักร

สังเกตุดูว่าส่วนของปลายแขนเสื้อเป็นแนวราบไปกับปลายแขนเสื้อแจ็กเก็ทครับ ถ้าการขึ้นแขนไม่ได้องศากับร่างกายเราตรงนี้จะไม่ได้ระนาบระหว่างปลายแขนเสื้อและปลายแขนแจ็กเก็ทสูทระดับนี้ จะมีเอียงไปบ้างมากน้อยก็แล้วแต่ตัวบุคคลและสูทเลย




การเก็บงานด้านใน ทำได้เรียบร้อย ประณีต สวยงาม แต่ตรงจุดนี้ใช้เครื่องจักรทำ





Full Canvas Vest

Vest (เสื้อกั๊ก) ก็เช่นกันมีโครงสร้างแบบ Full Canvas,
Pick Stitch ทั้งตัว รังดุมทั้งหมดถักด้วยมือ และฟิทดีมาก





Full-Cut Trousers


ในส่วนของกางเกงของสูท มีทรงที่ค่อนข้างใหญ่ (Full Cut) ในท่อนบน เพื่อให้รูปทรงของกางเกงมีความเข้ากับสูทครับ หางกางเกง Slim Cut เกินไปจะทำให้ความต่อเนื่องของเส้นสายระหว่างตัวแจ็กเก็ทและกางเกงขาดหายไปบ้าง อีกประโยชน์หนึ่งก็คือได้ความสบายในการสวมใส่เข้ามามากขึ้น แต่บางท่านอาจจะไม่ชอบเพราะในบางถ้วงท่าของการเคลื่อนไหว (และการถ่ายรูป) จะดูเหมือนว่าเราใส่กางเกงใหญ่ไป หรือท่านที่ชอบ Slim Fit มากๆก็อาจจะไม่ชอบ แต่มันก็เป็นทรงกางเกงที่เข้ากับ Cut ของสูทที่สุด





Boxpleat (Kissing Pleat) with Tackstitch


กางเกงตัวนี้มีเอวที่สูง (ตามสมัยนิยม) และมีการจับจีบไม่ใช่ทั้งจีบหน้า (Forward) หรือจีบหลัง (Reverse) แต่เป็นจีบแบบ Box Pleat หรือ Kissing Pleat ที่ปัจจุบันก็ไม่ค่อยได้เห็นกันแล้วเช่นกัน

ตรงนี้คือ Magic ของ Bespoke หล่ะครับ จะเอาอะไรใส่ไปให้หมด Bespoke ควรจะพิเศษ ไม่ใช่อะไรที่เราจะสามารถหาได้ง่าย ๆ ในสูท RTW ทั่วไป และควรจะเป็นเสื้อผ้าที่เสริมในสิ่งควรจะเสริม และบังในสิ่งที่ควรจะบัง ซึ่งเป็นสิ่งที่เสื้อผ้าสำเหร็จรูปส่วนใหญ่ให้ไม่ได้ครับ

แต่ตรงจุดนี้ก็เป็นจุดอันตรายเหมือนกัน เอาตรงๆ ช่างเสื้อส่วนมากไม่ได้เป็น Stylist ครับ ถึงหลาย ๆ อย่างเขาทำได้ ไม่ได้หมายความว่ามันจะออกมาดูดีกับตัวเรา (ผมเจอมาหลายครั้งหล่ะกะหลาย ๆ ที่ด้วยกัน ทั้งที่ช่าง (คนอื่น) บอกว่าทำได้ทั้งที่ไม่ยอมทำให้ ทั้งที่ยัดเยียดมาให้)

แต่ถ้าเราเจอช่างที่มีเทสดี มีความรู้เรื่องไสตล์ ในสุนทรียศาสตร์ของการแต่งตัว ไม่แพ้ความรู้เรื่องเทคนิก ก็จะเป็นอะไรที่ดีมาก ๆ ซึ่งจุดนี้เช่นกันที่คุณโสภณ หัวเรือแห่งห้องเสื้อแห่งนี้ทำได้ไม่มีที่ติ คอยแนะนำ (และห้ามปราม) ได้ดีมาก ๆ

อย่างไรก็ดี ใครที่จะตัดสูท Bespoke ตัวแรก แนะนำว่าอย่าตัดอะไรที่มันหวือหวาไปครับ




รังดุมของ Extended Waistband เป็น Handmade เช่นกัน




ตัวกางเกงมีการ Pickstitch ในส่วนที่จำเป็นอย่างเป้าและริมกระเป๋า ในส่วนของจุดที่มีการรับน้ำหนักสูงอย่างตามรอยต่อต่างๆ ตามขอบกระเป๋า มีการใช้ Tackstitch อย่างแน่นหนา ซึ่งเป็นรายละเอียดที่พบเห็นได้ในกางเกงระดับ High End อย่าง Ambrosi




ในส่วนของ Side Adjuster ใช้การสอยมือเข้ากับตัวกางเกง




Tack Stitch บริเวณ Cuff




ถึงแม้จะมี Tack Stitch ไม่มากเท่า Ambrosi (ขวา) (อลงกรณ์มี 10 จุด Ambrosi มี....เยอะมากขี้เกียจนับ 555 ไปดูการรีวิว Ambrosi ของผมได้บน IG https://www.instagram.com/untitled_yet_official/) แต่ก็มีเท่าที่จำเป็น เท่าที่ควรจะมีในทุก ๆ จุดที่ต้องรับน้ำหนักครับ




ทรงของกางเกง มีการทำ Ironwork (การใช้ความร้อนและไอน้ำยืดและหดผ้าให้มีรุปทรงเข้ากับสรีระของร่างกาย) ที่ดีมาก สังเกตุดูว่ารอยเย็บและทรงกางเกงมีความโค้งเล็กน้อย ถึงแม้ผมจะมีขาที่ค่อนข้างโก่ง แต่เวลาใส่กางเกงออกมาแล้ว ตรงจุดนี้แทบถูกฟิทของกางเกงกลบไปหมดจนแทบไม่เห็น ทำให้กางเกงตัวนี้เป็นกางเกงที่ฟิทดีที่สุดตัวหนึ่งของผมไปเลย




มาถึงย่อหน้าสุดท้าย (สุดท้ายจริง ๆ หล่ะ เชื่อว่าผู้อ่านทุกท่านคงเหนื่อยมาก ๆ แล้วกับการอ่าน คนเขียนก็เช่นกัน) ในความเป็นสูทและราคาที่จ่ายไป สูทอลงกรณ์มีความคุ้มค่ามาก ๆ เมื่อเทียบกับเนื้องานและการบริการที่ได้รับ

สูทตัวนี้ผมเริ่มกระบวนการสั่งตัดตั้งแต่เดือนมีนา ปี ๒๕๖๔ หลังจากนั้นเราก็เจอโควิดกันนาน ๆ เลยตลอดปี จนได้มาลอง Fitting ครั้งที่สองก็อีกหนึ่งปีให้หลัง

และพบว่าผมน้ำหนักขึ้นห้าโล สัดส่วนที่วัดไว้ต้องเปลี่ยนใหม่หมด

ผมไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา จึงกล่าวกับคุณโสภณไปว่า

‘ขอเวลาผมสามสี่เดือนนะครับ จะลดกลับมาให้เท่าเดิม’

แต่แน่นอน น้ำหนักร่างกายลงแบบ Arithmetic และขึ้นแบบ Exponential (ลงหนึ่งขีดขึ้นหนึ่งโล) จึงใช้เวลานานพอดู กว่าจะลดลงมาได้ สูทก็เสร็จก่อนวันต้องใช้งานแค่วันเดียว

แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา และช่วงเวลา Fitting ไม่ต่ำกว่าห้าครั้ง คุณโสภณ ก็ไม่ได้มีบ่นเลย กลับให้คำแนะนำและดูแลผมอย่างดีตลอดเวลา ตรงจุดนี้เป็นตัวสร้างความประทับใจต่อลูกค้ามาก ๆ จนที่อยากจะกลับไปตัดอีกหล่ะครับ (ตัวต่อไปต้องมาแน่นอน)




สูทอลงกรณ์ไม่ได้เป็นสูทที่มีราคาถูก แต่ก็ไม่ได้สูงจนเกินเอื้อม (โปรดเช็คราคากับทางห้องเสื้อโดยตรงเลยครับ แต่คร่าว ๆ เริ่มที่ 6x,xxx สำหรับผ้า Pure Wool จากต่างประเทศ) และทุกบาททุกสตางค์ที่เราต้องจ่ายไป เราสามารถรู้ได้เลยว่ามูลค่ามันไปอยู่ที่ตรงใหนบ้างในตัวสูทที่เราได้รับมา จึงแนะนำมาก ๆ ครับ สำหรับใครที่กำลังหาสูทตัวใหม่อยู่

ยังมีข้อสงสัยในทางเทคนิคหลาย ๆ อย่างเหมือนกัน และแนวคิดในการทำงานของห้องเสื้ออลงกรณ์ ซึ่งเราจะมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ในวีดีโอที่เรากำลังจะทำกันในโอกาสต่อไปครับ

ขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านที่ติดตามอ่านกันจนมาถึงย่อหน้านี้ (ยาวสมใจใหม) และโปรดติดตามในตอนต่อไปครับ

อ้อ และขอขอบคุณคุณภรรยาแก้มชีคกี้ด้วยที่มาถ่ายรูปให้นะครับบบบ

คุยกับคุณโสภณ แห่ง Alongkorn เรื่องไหล่ของสูทผม ก็มาตกผลึกตรงที่อยากจะได้เป็น Pagoda shoulder และมีความแอบมอง 'Le Cigarette' หรือ Cigarette Shoulder อันโด่งดังของ House Cifonelli ซึ่งไหลทรงนี้ของสูทจะตรงข้ามกับ Natural Shoulder หรือ Shirt Shoulder ของสูทอิตาเลี่ยนโดยสิ้นเชิง

วันนี้ทางเพจของ Alongkorn ก็โพสวีดีโอเรื่องการทำ Pagoda Shoulder พอดี อันนี้เป็นเรื่องน่าสุนทรีย์อย่างหนึ่งของเสื้อผ้าสั่งทำ ไม่ว่าจะเป็น Made-to-Measure (MTM) หรือ Bespoke หล่ะครับ เรารู้ว่าเสื้อผ้าแต่ละชิ้นแต่ละตัว ทำมาเพื่อเราจริง ๆ ในแบบดั้งเดิมของการสร้างวัตถุขึ้นมาหนึ่งชิ้น โดยช่างผู้มากฝีมือและประสปการณ์คนหนึ่ง (หรือหลายคน) ประดิดประดอยวัตถุชิ้นนั้นขึ้นมา เดี๋ยวตัวจริงเสร็จแล้วจะพาไปดูกันครับ


The Anatomy of Pagoda Shoulders








ภาพและข้อมูลจาก
เพจร้านอลงกรณ์
เพจหนอนบุ้งฟุ้งเฟ้อ


บีจีและไลน์จากคุณญามี่






Create Date : 16 มิถุนายน 2567
Last Update : 18 มิถุนายน 2567 16:10:51 น. 0 comments
Counter : 1415 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณสองแผ่นดิน, คุณปัญญา Dh, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณหอมกร, คุณตะลีกีปัส, คุณดอยสะเก็ด, คุณkae+aoe, คุณmultiple, คุณeternalyrs, คุณเนินน้ำ, คุณtuk-tuk@korat, คุณtoor36, คุณกะว่าก๋า, คุณผู้ชายในสายลมหนาว, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณปรศุราม, คุณThe Kop Civil, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณโฮมสเตย์ริมน้ำ, คุณtanjira, คุณดาวริมทะเล, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณอุ้มสี, คุณnonnoiGiwGiw, คุณสมาชิกหมายเลข 3902534, คุณร่มไม้เย็น


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 166 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.