happy memories
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2565
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
29 พฤษภาคม 2565
 
All Blogs
 
มหาอำมาตย์เอก พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้ พระยาศรีวิสารวาจา นำ Mr.Joseph A. Abey
ประธานโรตารีสากล ปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๕ และภริยา
เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน





สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๙ เสด็จฯ เป็นองค์ประธาน
การประชุมคณะกรรมการเจ้าหน้าที่สภากาชาดเป็นครั้งแรก
เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระยาศรีวิสารวาจา เลขาธิการสภากาชาดไทย
ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดเยี่ยมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย





กลับมาอัพบล็อกเกี่ยวกับเดอีกรอบ แต่ขออนุญาตพักเรื่องราวของเดไว้ก่อน นำชีวประวัติของ พระยาศรีวิสารวาจา มาลงบล็อก ท่านเป็นคนที่เดให้ความเคารพนับถือมาก ๆ ท่านเป็นอดีตข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและความสามารถอย่างยิ่ง ตำแหน่งสูงสุดในชีวิตคือ องคมนตรีในรัชกาลที่ ๙ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ เช่น สมาชิกวุฒิสภา, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและต่างประเทศ และอีกมากมายหลายตำแหน่ง

ที่จริงเดเป็นคนธรรมดา ไม่น่าจะมีโอกาสได้รู้จักท่าน แต่โอกาสก็มาในที่สุด เริ่มจากเดติดตามข่าวคราวของท่านตั้งแต่อยู่บ้านนอก เพราะเป็นคนไหหลำเหมือนกัน ยิ่งรู้เรื่องราวของท่านก็ยิ่งศรัทธา พอเข้ามากรุงเทพฯ ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวจนเปิดร้านได้ ก็มีโอกาสพบท่าน และที่ทำให้เดปลาบปลื้มดีใจและคาดไม่ถึงคือ ตอนที่ย้ายร้านครั้งที่สอง ท่านกรุณามาเป็นประธานทำพิธีเปิดร้านให้

ในเวบหาประวัติและข้อมูลของท่านได้ไม่มาก โชคดี เดมีหนังสือที่ลงรูป ประวัติและข้อมูลของท่านค่อนข้างละเอียด นำมาลงบล็อกเป็นบางส่วน แค่บางส่วน บล็อกก็ยังยาวโลดเลยค่า







มหาอำมาตย์ตรี พันเอก (พิเศษ) พระยาศรีวิสารวาจา มีเชื้อสายจีนไหหลำ มีชื่อจีนว่า ฮุ่นเซ็กเตี่ยน นามเดิม เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล เกิดวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๙ – ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑) เป็นบุตรคนที่ ๗ ของนายอุ่นตุ้ย และ นางทองคำ ฮุนตระกูล มีพี่น้องร่วมบิดามารดาคือ

๑. นายโกศล ฮุนตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒
๒. นายเกื้อ ฮุนตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘
๓. นางกิมเหลียน กังเปงเสง ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔
๔. พระภิกขุเย็นเกียรติ (ลิขิต ฮุนตระกูล หรือ หลวงรัตภาระพิทักษ์ ซึ่งอุปสมบทเป็นภิกขุในนิกายมหายาน ขณะนี้มรณภาพไปแล้ว)
๕. นางประมวลวินิจฉัย (สุดใจ สุวรรณฑัต) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙
๖. ด.ช.เทียนใช้ ฮุนตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕
๗. พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง) ถึงแก่อสัญญกรรมเมื่อ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑
๘. ด.ญ.จิ้มลิ้ม ฮุนตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔
๙. นายยง ฮุนตระกูล ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐
๑๐. หลวงสิทธิ์สยามการ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖




พี่น้องฮุนซุยโห จากซ้าย หลวงสิทธิสยามการ, นายยง ฮุนตระกูล, พระยาศรีวิสารวาจา,
พระภิกขุเย็นเกียรติ, นายเกื้อ ฮุนตระกูล, และนายโกศล ฮุนตระกูล


พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา เจริญวัยขึ้นในบ้านคุณตาคุณยายคือ นายบิน และ นางหุ่น จันทตระกูล ซึ่งเป็นเจ้าของตลาดน้อย ต่อมาได้กลับไปอยู่กับบิดามารดา ณ ตึกซุยโห เชิงสะพานทิพยเสถียร บิดาของท่านถึงแก่กรรมเมื่อท่านอายุได้เพียง ๗ ปี มารดาและพี่ชายใหญ่ ๒ คนก็ได้รับภาระดูแลท่านต่อมาเป็นอย่างดี ให้เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนอัสสัมชัญ เลขประจำตัว ๑๖๗๙ ท่านเจ้าคุณเรียนจบชั้น ๖ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี จึงได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษโดยทุนส่วนตัว




พ.ศ. ๒๔๕๔ พระยาศรีวิสารวาจา เดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ
ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง ๑๕ ปี และถ่ายภาพนี้เมื่อไปถึงใหม่ ๆ


ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนอินเตอร์แนชั่นแนล คอลเลจ (International College) เป็นเวลา ๑ ปี แล้วย้ายไปเรียนที่ดัลลิช (Dulwich College) ท่านได้รับเกียรติจารึกเป็นตัวอักษรทองในหอประชุมของโรงเรียนว่า ที.แอล.ฮุน (T.L.Hoon) ในฐานะสอบได้ที่หนึ่งของชั้นตลอดเวลาที่เรียนอยู่ในโรงเรียนนี้ ทางโรงเรียนจึงส่งท่านเข้าแข่งขันชิงทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด พร้อมกับนักเรียนชาวอังกฤษอีก ๒ คน ปรากฏว่าได้ทุนทั้ง ๓ คน ตัวท่านเจ้าคุณเองได้รับทุนของวิทยาลัยลิงคอร์น (Lincoln College, Oxford University) ปีละ ๕๐ ปอนด์ เป็นเวลา ๔ ปี ได้รับปริญญา B.A. ทางกฎหมาย (School of Jurisprudence) โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ ๑ และสอบเนิตบัณฑิต Middle Temple ได้ในปีต่อมา โดยได้รับเกียรตินิยมอันดับ ๒ ทั้งที่เวลาเตรียมตัวสอบเพียงเดือนเดียวเท่านั้น




พระยาศรีวิสารวาจา (แถวยืนที่ ๒ จากซ้าย) ถ่ายภาพกับมารดา
พี่ชาย พี่สาว และหลาน ๆ เมื่อเดินทางกลับจากต่างประเทศในปี พ.ศ. ๒๔๖๘


หลังจากจบการศึกษาแล้ว ท่านได้เข้าฝึกงานด้านกฎหมายกับ เซอร์ ฮิว เฟรเซอร์ (Sir Hugh Fraser) ในกรุงลอนดอนเป็นเวลา ๑ ปี จากนั้นท่านก็เริ่มเข้ารับราชการเป็นเลขานุการตรีในสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส โดยไม่ได้กลับมาประเทศไทยก่อนเลย ซึ่งเวลานั้น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ กฤดากร ทรงเป็นอัครราชทูต

ในปี ๒๔๖๖ ท่านเจ้าคุณได้กลับไปรับปริญญา B.C.L. และ M.A. จากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด เพราะตามกฎของมหาวิทยาลัยนั้น ผู้ที่สอบได้ปริญญานี้จะได้รับปริญญาก็ต่อเมื่อได้มีชื่อเป็นนักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยครบ ๗ ปีเต็ม




พระยาศรีวิสารวาจา (ที่ ๒ จากขวา) ถ่ายที่ประเทศอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๕๖
เข้าศึกษาจนสำเร็จปริญญาตรีทางกฎหมาย เกียรตินิยมอันดับ ๑ จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด
ในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ และปริญญาโททางกฎหมาย เกียรตินิยมอันดับ ๒ (อ๊อกซฟอร์ด)
กับเป็นเนิตบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๓


ในปี ๒๔๖๗ ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงศรีวิสารวาจา” ขณะรับราชการอยู่ ณ กรุงปารีสเมื่ออายุเพียง ๒๙ ปี แล้วจึงได้ย้ายกลับมารับราชการในกรุงเทพฯ ในปีต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนเป็น “พระยาศรีวิสารวาจา” และในปี ๒๔๗๑ ท่านได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์เป็น “มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา” และเข้ารับตำแหน่งปลัดทูลฉลองในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อมีอายุเพียง ๓๒ ปีเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ พระยาศรีวิสารวาจา เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมเอาไว้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย ก่อนที่คณะราษฎร์จะทำการปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕





พระยาศรีวิสารวาจา เริ่มรับราชการในสถานทูตไทย
ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๔-๒๔๖๘
ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีวิสารวาจา


จากพระราชบันทึกของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ซึ่งเป็นพระราชบันทึกความทรงจำของพระองค์ท่าน พระราชทานแก่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์เพื่อนำเงินมาบำรุงสมาคม มีข้อความตอนหนึ่งเกี่ยวกับ พระยาศรีวิสารวาจา ในการร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นว่า

“ส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงดำริเพื่อพระราชทานนั้น พระยาศรีวิสารวาจา นั้นแหละรู้ดี เพราะเป็นคนติดต่อเอาชาวอเมริกัน ดูเหมือนจะชื่อ สติเวนสัน มาเป็นที่ปรึกษา และหลวงประดิษฐ์ฯ (บุคคลในคณะราษฎร์ที่ทำการปฏิวิติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕) เองก็รู้ดีว่าในหลวงทรงมีร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะมีการพระราชทานแน่ แต่ก็คงจะไ่ม่ทันใจกัน เวลานี้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหน ฉันไม่ทราบเลย ใครจะเก็บไว้หรือเปล่าก็ไม่รู้”




พระยาศรีวิสารวาจา (ยืนขวาสุด) ถ่ายภาพกับ พระยาพิพัฒน์โกษา (นั่งเก้าอี้ด้านซ้าย)
บิดาของคุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา ทีเมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


น่าจะเป็นเพราะ พระยาศรีวิสารวาจา เป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยมาแต่เริ่มแรก ด้วยเหตุนี้ เมื่อคณะราษฎร์ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้สำเร็จ จึงเชิญ พระยาศรีวิสารวาจา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ มาให้คำแนะนำแก่คณะผู้รักษาพระนครในการดำเนินราชการในด้านต่างประเทศให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น




คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๙๑
(ประกาศใช้ ๒๓ มี.ค. ๒๔๙๒)
แถวหลัง : นายเพียร ราชธรรมนิเทศ, นายหยุด แสงอุทัย,
พระยาศรีวิสารวาจา, นายสุวิชช พันธเศรษฐ์
แถวหน้า : หลวงประกอบนิติสาร, พระยาอรรถการีนิพนธ์,
เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตะบดี


ปรากฏว่าท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี คณะราษฎร์จึงเชิญท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประเภท ๒) โดยแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรุ่นแรกในจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๗๐ คน ซึ่งส่วนมากเป็นคณะบุคคลในคณะราษฎร์ พร้อมทั้งเชิญเข้าร่วมคณะรัฐมนตรีในตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีอายุเพียง ๑๓๑ วัน




ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ลาออกจากราชการมาทำงานส่วนตัว โดยร่วมกับพระยาเทพวิทุร และพระยาหริศจันทรสุวิท ตั้งสำนักงานทนายความใช้ชื่อว่า “เทพศรีหริศ” ดำเนินกิจการทนายความมาจนถึงปี ๒๔๘๙ จึงได้กลับมากสู่วงการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตามลำดับ หลังจากนั้นท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก รวมทั้งเป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการ ECAFA และเป็นประธานในการประชุมที่กรุงเทพฯ




พระยาศรีวิสารวาจา ขณะดำรงตำแหน่ง ปลัดทูลฉลอง
กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ. ๒๔๗๒


ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ท่านเจ้าคุณมีความชื่นชมและภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แม้ว่าต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ จะได้กราบถวายบังคมลาออกเนื่องจากถูกยืมตัวมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของ ฯพณฯ อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และได้เป็นปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา สมัย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม




นอกจากตำแหน่งราชการดังกล่าวแล้ว พระยาศรีวิสารวาจา ยังได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ อีกมากมาย อาทิเช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมเพื่อก่อตั้งสหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย, ประธานคณะกรรมการบรรษัทเงินทุนแห่งประเทศไทย, เลขาธิการสภากาชาดไทย และเป็นผู้แทนสภากาชาดไทยในการประชุมสากลกาชาดที่กรุงเจนีวา เป็นต้น




ธนบัตรที่มีลายเซ็นของ พระยาศรีวิสารวาจา


ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “พันเอกพิเศษ” ในกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ และได้ร่วมในคณะราชบริพารตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๕ หลายครั้งรวมทั้งสิ้น ๑๙ ประเทศ




พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ไปร่วมประชุมเพื่อการก่อตั้ง
สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชีย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ระหว่างวันที่ ๒๖-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘


ในด้านโรตารีนั้น ก็นับได้ว่า พระยาศรีวิสารวาจา ได้นำชื่อเสียงของประเทศให้ชาวโรแทเรียนและชาวโลกโดยทั่วไปได้รู้จักอย่างดียิ่ง ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วน และประสบความสำเร็จด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของท่าน ท่านเจ้าคุณเป็นสมาชิกก่อตั้งของสโมสรโรตารีกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นนายกสโมสร ๒ สมัย คือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑ และ ๒๔๙๓-๒๔๙๔, เป็นผู้ว่าการภาค ๔๖ โรตารีสากล ปี พ.ศ. ๒๔๙๗-๒๔๙๘, ได้รับเกียรติเป็นกรรมการวางแผนของโรตารีสากล (R.I. Planning Committee)




พระยาศรีวิสารวาจา เข้าร่วมประชุม Board of Rotaly International 1959-1960
ที่ Evanton Illinois USA วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๐๒


ในปี พ.ศ.​๒๔๙๘-๒๕๐๐, เป็นที่ปรึกษาของสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทย เวียตนาม และพม่า ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๙-๒๕๐๐, ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการภาค ๓๓๐ โรตารีสากล อีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๐๐-๒๕๐๑, เป็นผู้แทนประธานโรตารีสากล James F. Conway ในการประชุมภาค ๗ ที่ออสเตรเลีย




พระยาศรีวิสารวาจา ไปร่วมประชุมโรตารี่ภูมิภาค
ณ กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย


ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๒-๒๕๐๔ ได้รับเกียรติเป็นชาวไทยคนแรกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารโรตารีสากล และในปีเดียวกันนั้น (๒๕๐๒) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเสนอชื่อประธานโรตารีสากลรับเลือกปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๕ และตำแหน่งสุดท้ายที่ท่านเจ้าคุณได้รับเกียรติสูงสุดจากโรตารีคือ การได้รับตำแหน่งให้เป็นรองประธานโรตารีสากลคนที่ ๒ พร้อมทั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการเสนอชื่อประธานโรตารีสากลรับเลือกปี พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๐๖ อีกครั้งหนึ่ง




พระยาศรีวิสารวาจา และ คุณหญิงสิน ศรีวิสารวาจา
ในพิธีมงคลสมรส เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙


พระยาศรีวิสารวาจา สมรสกับ คุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา (นามเดิม มากาเร็ต ลิน ซาเวียร์) เป็นธิดาของ พระยาพิพัฒโกษา (นามเดิม C.M. Xavier) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศใน รัชกาลที่ ๕ และ รัชกาลที่ ๖ เป็นเวลาประมาณ ๒๕ ปี

คุณหญิงลิน เมื่อวัยเยาว์ ท่านบิดาได้ส่งไปศึกษาอยู่ในโรงเรียน เซด์เคร็ด ฮาร์ท ที่ปีนัง (Convent of Secred Heart, Penang) และต่อมาได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยเข้าศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยลอนดอน (Free Woman Hospital) เมื่อจบการศึกษาก็ได้กลับมาประเทศไทย และเข้าปฏิบัติกิจการแพทย์ในสภากาชาดไทยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และสุขศาลาบางรัก คุณหญิงลินได้รับอนุญาตจากโรงพยาบาลสภากาชาดไทยให้ประกอบกิจการแพทย์ส่วนตัวได้ โดยเปิดคลีนิคส่วนตัวชื่อ “อุณากรรณ” จึงนับได้ว่าเป็นแพทย์หญิงคนแรกในประเทศไทยที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากต่างประเทศ ที่ได้มาประกอบกิจการแพทย์ด้านสูตินารีเวชในประเทศไทย และเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางจากคนไข้สตรีทั่วไป และเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่ท่านได้ปฏิบัติงานถวายการประสูติแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕




พระยาศรีวิสารวาจา ถ่ายภาพนี้กับบุตรชายคนโต
บุตรสาวคนที่ ๒ (ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล) และโทนี น้องชายคุณหญิงลิน
ซึ่งอุ้มบุตรสาวคนที่ ๓ (ท่านผู้หญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา)


คุณหญิงลิน และ พระยาศรีวิสารวาจา ได้เข้าพิธีสมรสโดยมี พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย และ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนารถ ทรงเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๙ ณ ตำหนักเชิงสะพานเทเวศม์ ปากคลองตลาด ต่อมาคุณหญิงลินได้ปฏิบัติงานในสภากาชาดไทย และประกอบกิจการแพทย์ส่วนตัวตลอดมาจนถึงแก่อนิจจกรรมเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕

ท่านเจ้าคุณมีบุตรธิดากับคุณหญิง ๓ คนคือ
๑. นายกิตติรัต ศรีวิสารวาจา สมรสกับ ท่านผู้หญิงสมสุข ศรีวิสารวาจา (นันทาภิวัธน์)
๒. ท่านผู้หญิงมนัสนิตย์ วณิกกุล (ศรีวิสารวาจา) สมรสกับ นายอาบบุญ วณิกกุล
๓. ท่านผู้หญิงสาวิตรี ศรีวิสารวาจา

นับตั้งแต่ คุณหญิงลิน ศรีวิสารวาจา ได้ถึงแก่อนิจจกรรมลง ท่านเจ้าคุณก็มิได้คิดมีภรรยาใหม่ คงอบรบเลี้ยงดูบุตรธิดาทั้งสาม (ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง ๔ ขวบ, ๓ ขวบ และ ๑๑ เดือน ตามลำดับ) มาด้วยตัวเองจนเป็นหลักเป็นฐานกันทุกคน ท่านได้เสียสละความสุขส่วนตัวให้กับลูก ๆ อย่างที่เรียกได้ว่าเป็นพ่อตัวอย่างทีเดียว




พระยาศรีวิสารวาจา กับ คุณหญิงลิน และบุตรชายคนโต (นายกิตติรัตน์ ศรีวิสารวาจา)
ถ่ายภาพนี้เื่มื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑


พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา ได้บำเพ็ญคุณงามความดีเป็นประโยชน์อเนกประการแด่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มาตลอดชีวิต บรรดาตำแหน่งต่าง ๆ ที่ท่านได้ดำรงนี้แสดงให้เห็นว่าท่านมีความสำนึกให้หน้าที่ และมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และประเทศชาติโดยไม่ย่อท้อต่อการงานด้วยความเสียสละอย่างแท้จริง ท่านเจ้าคุณได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.​ ๒๕๑๑ ด้วยโรคเส้นเลือดในหัวใจตีบอย่างเฉียบพลัน สิริรวมอายุได้ ๗๑ ปี ๑ เดือน

พระยาศรีวิสารวาจา มีบทบาทในทางการเมืองเป็นสมาชิก และเป็น ส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บทบาทในทางวิชาการดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗




“วันสุดท้ายของชีวิตการงานและสังคม” ฯพณฯ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา
ไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับ ฯพณฯ Lupher Hodges (คนยืน)
อดีตรมต.กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา และประธานโรตารี่สากล
เนื่องในโอกาสเดินทางผ่านประเทศไทย​​ ซึ่งโรตารี่ในไทยเป็นเจ้าภาพ
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๑๑ ก่อนถึงอสัญกรรมไม่กี่ชั่วโมง



ประวัติการทำงาน


พ.ศ. ๒๔๖๔ - ๒๔๖๘ รับราชการเป็นเลขานุการตรีในสถานทูตไทย ณ กรุงปารีส
พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๗๐ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นมหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจาและเข้ารับตำแหน่งเป็นปลัดทูลฉลองในกระทรวงการต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๗๕ - ๒๔๗๖ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ก.พ. ๒๔๘๙ - มี.ค. ๒๔๘๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
พ.ศ. ๒๔๙๐ - ๒๔๙๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
มิ.ย. ๒๔๙๒ - พ.ย. ๒๔๙๔ สมาชิกวุฒิสภา
เม.ย. ๒๔๙๕ -ส.ค. ๒๕๐๕ องคมนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
๑๕ ก.ย. ๒๕๐๕ กรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติและกรรมการข้าราชการมหาวิทยาลัย
๒๑ เม.ย. ๒๕๐๗ - ๒๐ เม.ย. ๒๕๐๙ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ครั้งที่ ๑)
๑๐ ก.พ. -ถึงแก่อสัญกรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ครั้งที่ ๒)





เครื่องราชอิสริยาภรณ์


พ.ศ. ๒๕๐๐ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๑ ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)
พ.ศ. ๒๔๙๘ – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. ๒๔๙๖ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. ๒๕๑๑ - เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)
พ.ศ. ๒๔๗๓ - เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ ชั้นที่ ๔ (ป.ป.ร.๔)
พ.ศ. ๒๔๙๖ – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๙ ชั้นที่ ๑ (ภ.ป.ร.๑)
พ.ศ. ๒๕๐๓ – เหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ ๙ (ร.จ.ท.๙)








พระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก
wikipedia.org
library.cmu.ac.th
uauction4.uamulet.com
หนังสือ "รายงานการดำเนินงานปี ๒๕๓๕-๒๕๓๗" ของมูลนิธิศรีวิสารวาจา
หนังสือที่จัดพิมพ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา






บีจีจากคุณญามี่ กรอบจากคุณ KungHangGerman

Free TextEditor




Create Date : 29 พฤษภาคม 2565
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2565 4:40:30 น. 0 comments
Counter : 2367 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณSweet_pills, คุณสองแผ่นดิน, คุณtoor36, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณnewyorknurse, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณชีริว, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณ**mp5**, คุณpeaceplay, คุณหอมกร, คุณThe Kop Civil, คุณกิ่งฟ้า, คุณกะว่าก๋า, คุณปรศุราม, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณนกสีเทา, คุณkae+aoe, คุณmariabamboo, คุณtuk-tuk@korat, คุณข้าน้อยคาราวะ, คุณeternalyrs


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.