พ่อฉันเป็นข่างตัดเสื้อ : เปิดร้านในกรุงเทพฯ

กรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เดเข้าเฝ้าถวายเงิน

เว้นระยะบล็อกนี้ไปซะนานเลย มาเล่าประวัติของเดต่อ ที่จริง ต้องบอกว่าเดเป็นคนเล่ามากกว่า คือเดจะเขียน แล้วเรามาปรับเปลี่ยนอีกนิด หาข้อมูลเพิ่มเติมอีกหน่อยน่ะ บล็อกก่อนหน้านี้เล่าถึงตอนที่เดเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหาความรู้เรื่องการตัดสูทเพิ่มเติม บล็อกนี้เดเปิดร้านของตัวเองได้สำเร็จ ร้านแรกเปิดที่ปากน้ำโพ แล้วก็ย้ายมาเปิดร้านในกรุงเทพฯ จากวันแรกที่เปิดร้านถึงวันนี้ อายุร้านก็เกินครึ่งศตวรรษแล้วค่ะ

ร้านที่ถนนยมราชอยู่ใกล้โรงหนังโคลีเซียม เป็นยุครุ่งเรืองของโรงหนัง คนดูเยอะมากกก
การเป็นช่างเสื้อฝีมือดีและรู้จริง ต้องใช้เวลาฝึกฝนมากพอถึงจะสืบทอดได้ ดังจะเห็นได้จากร้านตัดเสื้อฝีมือดีหลายร้านที่รุ่นพ่อ-แม่ดำเนินกิจการมาอย่างดี แต่พอถึงรุ่นลูกกลับรับช่วงไม่ได้ เพราะการเป็นช่างเสื้อที่เก่งต้องมีความรู้ความชำนาญที่ต้องใช้เวลามากกว่าอาชีพอื่น โดยเฉพาะเสื้อสูทที่ต้องใช้ความประณีตสูงสุดในการเป็นช่างเสื้อ

ร้านที่ถนนยมราช ตู้ด้านหลังยังเห็นสูทแขวนไว้เป็นแถว เด มา และลูกสามคนแรก พี่สาวคนโตนั่งกลาง เรานั่งตักมา น้องชายนั่งตักเด

ส.ค.ส. ที่พิมพ์แจกลูกค้าตอนเปิดร้านแรกที่จังหวัดนครสวรรค์
เดทำงานที่ร้าน เค่งจินไถ่ ได้ ๒ ปีก็ลาออกและกลับไปนครสวรรค์และเปิดร้านในซอยฉัตรชัย ใกล้สี่แยกถนนโกสีย์ ตั้งชื่อร้านว่า อลงกรณ์ วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ เดย้ายกลับมากรุงเทพฯ เปิดร้านใหม่ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗/๕ บริเวณต้นถนนเพชรบุรี ใกล้โรงหนังโคลีเซียมและสะพานยมราช หลังจากนั้นประมาณ ๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๘) ย้ายไปอยู่ที่ถนนเพชรบุรี ระหว่างโรงภาพยนตร์เมโทร-พาราเม้าท์ ตรงข้ามสถานทูตอินโดนีเซีย ช่วงนั้นเป็นยุคโรงหนังรุ่งเรือง โทรทัศน์มีแต่ขาว-ดำ วันที่เปิดร้านใหม่ มหาอำมาตย์เอก พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา กรุณามาเป็นประธานทำพิธีเปิดร้านให้ เป็นวันที่เดปลาบปลื้มใจมาก ๆ

ร้านที่ถนนเพชรบุรี ตรงข้ามสถานทูตอินโดนีเซีย ด้านซ้ายเป็นร้านขายของเล่น "ห้างอมร" ด้านขวาเป็นร้านรองเท้า "ประดิษฐ์ภัณฑ์"

มหาอำมาตย์เอก พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา กรุณามาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายร้าน

เห็นรูปนี้หลายครั้ง เพิ่งสังเกตว่าถุงของร้านตอนที่อยู่ประตูน้ำหน้าตาแบบนี้


ร้านอยู่ที่ยมราชนานถึง ๑๙ ปี จึงได้ย้ายมาที่ถนนเพชรบุรี ระหว่างโรงภาพยนตร์เมโทร และพาราเมาท์ ตรงข้ามกับสถานฑูตอินโดนีเซีย และเมื่อครั้งฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ย้ายมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน บนถนนพหลโยธิน ตรงข้ามสวนจตุจักร

วันทำพิธีเจิมป้ายร้านที่ประตูน้ำ พ.ศ. ๒๕๐๘

แขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีวันเปิดร้าน




หลังจากย้ายมาที่จตุจักร เดเคยทำโฆษณาร้านอยู่ครั้งหนึ่ง นำไปออกอากาศทางทีวีและโรงภาพยนตร์ในช่วงเวลาสั้น ๆ เดเป็นคนคิดคำขวัญของร้านในโฆษณา แล้วให้ คุณกุลชาติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา พิธีกรชื่อดังและเจ้าของรายการ เพื่อนรัตติกาล ที่จัดมานานเกือบ ๓๐ ปี เป็นผู้ทำโฆษณาและอ่านสปอร์ตให้ เสียดายที่หาหนังโฆษณาไม่ได้แล้ว มีแต่คลิปเสียงโฆษณาบัตรกำนัลร้านที่มีคนโหลดไว้ในยูทูบ แปะลิงค์ไว้เผื่อว่าเปิดคลิปไม่ได้ค่ะ คำขวัญหลักของร้านคือ เสื้อกางเกงชุดธรรมดาตัดที่ไหนก็ได้ แต่สูทชุดใหญ่ต้องที่ อลงกรณ์ แต่คำขวัญในคลิปไม่เหมือนกัน คุณกุลชาติน่าจะเป็นคนแต่งให้สั้น ๆ ว่า "สุดหล่อแน่นอน ใส่สูทอลงกรณ์ ตรงข้ามสวนจตุจักร"

สปอตโฆษณาร้านอลงกรณ์
เดอธิบายความหมายของชื่อร้านว่า ชื่อร้านคือ ยี่ห้อ เป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายที่ใช้แทนบริษัท หรือใช้กำกับสินค้าเพื่อให้ทราบว่าเป็นสินค้าของบริษัทใด ชื่อยี่ห้อนั้นสำคัญสำหรับการค้าต้องรักษาคุณภาพของสินค้าให้ดี ดังจะเห็นได้จากหลายร้านที่ตั้งชื่อได้เหมาะสมกับอาชีพที่ทำอยู่ เช่น ตั้งใจอยู่ (ภัตตาคารแถวเยาวราช), ย่องเงียบ (โรงรับจำนำอยู่แถวสะพานเหล็กล่าง), ไล่ผัด (ร้านก๋วยเตี๋ยวราดหน้าแถวสี่พระยา)

ลูกค้าคนดังในอดีตแวะมาตัดสูทที่ร้านเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ แน็ต ฟลายเชอร์ (Nathaniel Stanley Fleischer) อดีตสื่อมวลชนในแวดวงมวยสากลระดับโลก, บรรณาธิการบริหารนิตยสารเดอะริง และผู้ก่อตั้งสถาบันเดอะริง ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันมวยสากลอาชีพระดับโลกสถาบันแรก
สำหรับยี่ห้อของร้านตัดเสื้อ มีเอกลักษณ์ต่างจากอาชีพอื่น ในยุคต้น ๆ ร้านตัดเสื้อจะใช้ชื่อภาษาจีน เพราะเจ้าของร้านเป็นชาวจีน เช่น เค่งจินไถ่ (สี่พระยา), หลีตู (สามแยกเฉลิมบุรี) ต่อมาจะตั้งชื่อเป็นภาษาไทย คำที่นิยมใช้ เช่น อาภรณ์, ภูษา, ทรง อาจจะใช้ชื่อตามชื่อภาพยนตร์ดังหรือเมืองหลวงของประเทศในยุโรป เช่น ปารีส, ลอนดอน

ความเป็นมาของชื่อ อลงกรณ์ เดเรียนน้อย จบแค่ชั้น ป.๔ แต่ชอบอ่านหนังสือ ถ้าไม่เข้าใจความหมายของคำใดก็จะเปิดดูในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๙๓ เดอ่านเรื่อง สังข์ทองตอนตีคลี พระอินทร์จะยกทัพมารบกับท้าวสามน มีคำกลอนในวรรคที่บอกว่า
เมื่อนั้น อมรินทร์อินทร์องค์สรงสนาน สอดใส่เครื่องทรงอลงการ เนาวรัตน์ชัชวาลวาวแวว
แล้วลีลามาทรงเวไชยันต์ ยกทัพเทวัญเป็นถ้องแถว เดินโดยอากาศคลาแคล้ว รีบขับรถแก้วลงมาพลัน (จาก vajirayana.org)
คำว่า อลงการ มีความหมายเดียวกับคำว่า อลงกรณ์ หมายถึง เครื่องตกแต่ง หรือ เครื่องประดับ ชื่อ อลงกรณ์ ติดอยู่ในใจเดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๔ ลองนั่งรถรางตรวจดูชื่อร้านค้าทั่วกรุงเทพฯ ก็ไม่เห็นร้านที่ใช้ชื่อนี้เลย พอมีร้านตัดเสื้อของตัวเองเลยนำคำนี้มาเป็นชื่อร้าน


นามบัตรร้านที่ประตูน้ำ
การเรียนรู้ในการตัดเย็บเสื้อสูทในสมัยก่อนนั้น เกิดจากการฝึกฝนปฎิบัติกับงานจริง และหากได้รับการฝึกจากร้านสูทที่มีฝีมือดี มีชื่อเสียง จะช่วยให้ได้รับความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี เมืองไทยในสมัยเมื่อ ๕๐-๖๐ ปีก่อน ร้านตัดเสื้อที่มีชื่อเสียงและฝีมือดีที่สุด มีอยู่ ๓ ร้านคือ ๑. ร้านเลิศลอย ตั้งอยู่ที่หน้าไปรษณีย์กลาง เป็นร้านที่ตัดฉลองพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๗-๙ และบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เจ้าของร้านเป็นชาวเวียตนามอพยพที่พูดไทยและฝรั่งเศสได้ ร้านเดิมแต่แรกอยู่ที่ ริมถนนเจริญกรุง ช่วงไปรษณีย์กลาง ต่อมาได้ย้ายร้านมาอยู่ที่ ริมถนนสุขุมวิทช่วงต้น ๆ (ฝั่งเลขคู่) ในฐานะช่างหลวงประจำพระองค์ "เลิศลอย เทเลอร์" ได้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมาด้วยความซื่อสัตย์อย่างยาวนาน ทางร้านจึงได้รับพระราชทานตราครุฑเพื่อเป็นเกียรติประวัติและสิริมงคล (ข้อมูลจาก pinterest.com)

ร้านตัดฉลองพระองค์สูท ในหลวง ร.๙ "เลิศลอย เทเลอร์" พ.ศ. ๒๕๐๓ ๒. ร้านเค่งจินไถ่ ตั้งอยู่บนถนนสี่พระยา ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบุคคลสำคัญ เช่น พระยาศรีวิศาลวาจา นายสหัส มหาคุณ, ครูเอื้อ สุนทรสนาน, หรือฑูตของประเทศต่าง ๆ เช่น ฑูตของประเทศจีน ประจำประเทศไทยคนแรก คือนายหลีทิเจง ๓. ร้านหลีตู ตั้งอยู่บริเวณสามแยกเยาวราช ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเชื้อสายจีน
ทั้งสามร้านนี้ เป็นร้านที่ตัดเสื้อที่มีฝีมือประณีตมาก ทำให้มีค่าแรงในการตัดเย็บที่แพงมากเช่นกัน ในสมัยนั้นข้าวสารราคาถังละ ๑๕ บาท (ข้าวสาร ๑ ถังเท่ากับ ๑๕ กก.) ทั้งสามร้านข้างต้น มีราคาค่าจ้างตัดกางเกงตัวละ ๑๕๐ บาท เท่ากับข้าวสารถึง ๑๐ ถัง

ลูกค้าคนดังในยุคนั้นอีกท่านหนึ่ง นักมวยแชมป์โลก ๓ สมัย โผน กิ่งเพชร

ลายมือและลายเซ็นคุณลุงโผนงามได้ใจมากกกก เห็นลายเซ็นแล้วไม่ค่อยแน่ใจว่าใช่ชื่อท่านหรือเปล่า เข้าไปหาข้อมูลใน วิกิพีเดีย บอกว่าชื่อจริงของท่านคือ มานะ สีดอกบวบ อ่านลายเซ็นแล้วเดาว่าท่านน่าจะจรดปากกาเซ็นด้วยตัวเอง แต่หากเป็นร้านอื่น ๆ ที่ฝีมือธรรมดา ในตลาดทั่ว ๆ ไป ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้จักและมีชื่อเสียงกันนั้น จะคิดค่าจ้างตัดกางเกงเพียงตัวละ ๒๕ บาทเท่านั้น ร้านเหล่านี้ได้แก่ ร้านไทยมิตร, ร้านไทยทรง, ร้านไทยเจริญ, ร้านช.ภูษา ที่อยู่บริเวณถนนตีทอง ใกล้ศาลาเฉลิมกรุง เมื่อเปรียบเทียบกับ ร้านตัดเสื้อทั้งสามคือ ร้านเลิศลอย ร้านเค่งจินไถ่ และร้านหลีตู คนทั่วไปจะไม่ค่อยรู้จักมากนัก
นับว่าเดได้รับโอกาสที่ดี ได้เข้าทำงานกับ ๑ ใน ๓ ของร้านตัดเสื้อที่ดีที่สุดในเมืองไทยในสมัยนั้น คือร้านเค่งจินไถ่ โดยเริ่มเข้าทำงานในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับความรู้และหลักการของการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ถูกต้อง ปราณีตและสวยงาม

รูปวันเปิดร้าน เดยังหล่อ มายังสวยได้ใจ อิฉันยืนอ้วนกลมตรงกลาง

เด มา กับลูกคนที่สี่และห้า

ห้าพี่น้องถ่ายรูปหน้าร้าน ถนนเพชรบุรีสมัยโน้นรถยังไม่มากเท่าไหร่

ร้านในปัจจุบันที่จตุจักร วันทำพิธีเปิดร้าน ๓๐ เมษายน ๒๕๒๖

บีจีจากคุณญามี่
Free TextEditor
Create Date : 05 พฤศจิกายน 2565 |
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2565 22:33:18 น. |
|
0 comments
|
Counter : 2740 Pageviews. |
 |
|
|
ผู้โหวตบล็อกนี้... |
คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณtoor36, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณSleepless Sea, คุณSweet_pills, คุณกะว่าก๋า, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณkatoy, คุณหอมกร, คุณDeep Black Sea, คุณปรศุราม, คุณeternalyrs, คุณเริงฤดีนะ, คุณอุ้มสี, คุณtanjira, คุณ**mp5**, คุณnewyorknurse |
|
|