All the girls standing in the line for the bathroom !!!

*** หมายเหตุ : สงวนลิขสิทธิ์ บทความและผลงาน ใน Blog นี้ครับ ***
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
25 พฤศจิกายน 2554
 
All Blogs
 

*** Drive *** D.R.I.V.E. เมื่อกบกลายเป็นแมงป่อง

*** Drive ***






D for Dangerous



Drive เล่าเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่ง (Ryan Gosling) ที่รักการขับรถเป็นชีวิตจิตใจ เขาทำทุกวิถีทางให้ได้นั่งอยู่หลังพวงมาลัย ในตอนกลางวันเขาเป็นสตั๊นท์แมนในกองถ่ายหนัง แต่นั่นยังไม่สาแก่ใจ ในตอนกลางคืนเขายังรับจ๊อบเป็นสารถีให้กับเหล่าอาชญากรหลบหนีจากการตามล่าของตำรวจ


หนังไม่ได้บอกให้ ผู้ชมได้รับรู้ได้ถึงปูมหลังของเขาอย่างชัดเจน (กระทั่งชื่อของเขา) แต่สิ่งที่รับรู้ได้ตั้งแต่วินาทีแรกก็คือ



ชายผู้นี้ถูกขับเคลื่อน (Drive) ด้วยความกระหายในอันตราย และแน่นอนว่าตัวเขาเองก็อันตรายไม่แพ้กัน






D for Directing



เรื่องราวที่ถูกนำเสนอ ไม่ได้เป็นเรื่องราวที่สดใหม่อะไรมากนัก จะว่าไปแล้วมันไม่ต่างกับหนัง Action-Thriller ทั่วๆไป ที่ในสมัยนี้อาจจะดูเชยไปแล้วด้วยซ้ำ

พระเอก (ขออนุญาตเรียกนักขับรถนิรนามอย่างนี้นะครับ ) คือชายหนุ่มเงียบขรึม ผู้หลงรักสาวแม่ลูกติดข้างห้อง ในขณะที่ความสัมพันธ์กำลังไปได้ดี สามีเธอก็กลับมาพร้อมปัญหา เขาจึงยื่นมือเข้าช่วย ก่อนที่เรื่องจะบานปลายใหญ่โต จนในท้ายที่สุดพระเอกก็ต้องหาทางคลี่คลายปัญหา


นี่คือโครงเรื่องสูตรสำเร็จทั่วๆไป ที่เคยถูกสร้างออกมามากมาย แต่ด้วยมุมมองและวิสัยทัศน์ในการนำเสนอที่แตกต่างออกไปของผู้กำกับ Nicolas Winding Refn ทำให้ Drive ออกมาสดใหม่ มีเสน่ห์ และกลายเป็นงานที่สร้างสรรค์จากวัตถุดิบเดิมๆได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการจัดสัดส่วนของหนังให้มีความเป็นหนัง Action-thriller พอๆกับเป็นหนังรักที่คละคลุ้งไปด้วยบรรยากาศเหงา



Refn เลือกที่จะกำกับหนังในด้านที่ต่างออกไป แม้เรื่องราวจะเปิดโอกาสให้หนังได้ใส่ฉาก Action โชว์ของตามสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นการซิ่งรถ, การดวลปืน หรือการต่อสู้มือเปล่า แต่ Refn เลือกนำเสนอฉาก Action เหล่านี้เพียงแต่น้อย แต่เป็นความน้อยที่ทั้งดิบทั้งรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นการทำน้อยได้มาก เพราะทุก Action ที่กระแทกใส่หน้าผู้ชมนั้น ต้องเป็นที่จดจำแน่นอน

ขณะที่ส่วนของความสัมพันธ์และอารมณ์ดราม่านั้น กลับถูกนำเสนอในขั้วตรงข้ามกับส่วนที่เป็น Action อย่างสิ้นเชิง


ขณะที่ Action นั้น รวดเร็ว ดุดัน และหยาบกร้าน ส่วนของดราม่ากลับล่องลอยชวนฝัน ประดิดประดอยไปด้วยภาพ Slow motion ที่เชื่องช้าอ้อยอิ่ง บนพื้นฐานของเรื่องราวความรักในอุดมคติ ในแบบที่หาได้ยากในชีวิตจริง


อย่างไรก็ตาม หนังก็ไม่ได้มีอารมณ์ที่ฟูมฟายจนเกินไป หากแต่เน้นไปที่อารมณ์รักซึมลึกไม่ต่างจากบุคลิกของพระเอก



ด้วยมุมมองในการนำเสนอของ Refn นี่เอง ที่ทำให้ Drive มีรสชาติประหลาดแต่กลมกล่อม และกลายเป็นความสดใหม่ ทั้งที่องค์ประกอบทั้งหมดไม่ได้มีอะไรใหม่เลย


หากมีใครสงสัยว่า “ในเมื่อผู้เขียนบทหนังกำหนดเรื่องราวทั้งหมดไว้แล้ว ผู้กำกับก็มีหน้าที่เพียงแค่ควบคุมให้หนังออกมาตามบทที่เขียนไว้เท่านั้นมิใช่หรือ“ หรือถ้ามีใครถามว่า “ทำไมผู้กำกับถึงถูกมองว่ามีอิทธิพลต่อหนังมากกว่าผู้เขียนบท”

ให้เขาดูหนังเรื่องนี้ แล้วจะได้คำตอบ







R for Romance



ถ้าจะให้คำจำกัดความของหนังเรื่องนี้คงต้องบอกว่า นี่เป็นหนัง Romance-action เพราะด้วยน้ำหนักของเรื่องราวแล้วนี่คือหนังที่ว่าด้วยความรัก ที่สำคัญนี่ยังเป็นรักในอุดมคติแบบชวนฝันมากกว่าจะเป็นความรักที่พบเห็นในชีวิตจริง จากโครงเรื่องหลักที่ว่าด้วยการเสียสละเพื่อความรักอย่างบริสุทธิ์ของพระเอก



สิ่งที่ขับเคลื่อนเหล่าตัวละครหลักในหนังล้วนเกี่ยวพันความรักทั้งสิ้น พระเอกรักที่จะขับรถเป็นชีวิตจิตใจ เขาพยายามจะใช้ทุกห้วงเวลาในชีวิตอยู่หลังพวงมาลัย ไม่ว่าจะงานหลัก หรืองานอดิเรก กระทั่งในเดทแรกระหว่างเขากับ Irene (Carey Mulligan) ยังเป็นการขับรถ



แม้จะไม่ได้ถูกเน้นมากนัก แต่เรื่องราวของ Irene เอง ก็เป็น Drama ว่าด้วยรักสามเส้าที่เธอต้องเลือก ระหว่างความรักครั้งใหม่ที่กำลังหอมหวานหรือความรักครั้งเก่าที่กำลังได้รับการเยียวยา

ขณะที่การกระทำของ Standard (Oscar Isaac) สามีของ Irene นั้น ก็เป็นเพราะความรักที่มีต่อครอบครัว หาใช่ทำเพราะความโลภ



หนังมีฉาก Romantic มากมาย อย่างฉากจูบในลิฟต์ ฉากเดทในรถ แต่ที่โดนใจที่สุดเห็นจะเป็น ฉากการบอกเลิกและขอโทษอย่างมีชั้นเชิงระหว่างพระเอก และ Irene ด้วยการพูดเป็นนัยภายใต้ใบหน้ายิ้มแย้ม แต่แฝงไว้ด้วยความเศร้า







R for Ryan Gosling



หัวใจสำคัญที่สุดของ Drive ก็คือ ตัวละครนักขับ เพราะเรื่องราวทั้งหมดในหนังเป็นเรื่องราวของเขา อีกทั้งอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้ชมต้องซึมซับและมีอารมณ์ร่วมไปด้วย ก็มาจากตัวละครนี้ตัวเดียวเท่านั้น



นี่คือตัวละครในลักษณะเดียวกับ Anton Chigurh ใน No Country for Old Men ที่พูดน้อยต่อยหนัก เป็นที่รักและมีเสน่ห์ จะต่างกันตรงที่ นี่ไม่ใช่ตัวร้าย แต่เป็นพระเอกซึ่งผู้ชมสามารถเอาใจช่วยได้โดยไม่รู้สึกขัดแย้งในใจ ที่สำคัญในหนังเรื่องนี้ ไม่มีตัวละครใดที่มีศักยภาพพอที่จะมาแย่งความโดดเด่นจากตัวละครนี้ได้


เรียกได้ว่านี่เป็นหนังที่ส่งนักแสดงนำเต็มที่ ซึ่ง Ryan Gosling ตาถึงมากที่เลือกรับบทนี้


ไม่ใช่แค่ตาถึง Gosling ยังฝีมือถึงที่จะทำให้ผู้ชมทั้งหลงรัก ทั้งเข้าใจ และเอาใจช่วยตัวละครนี้อย่างเต็มที่ ผ่านการแสดงออกที่น้อย และแทบไม่พูดอะไรเลย

ขณะที่บทก็ไม่ได้บอกเล่ารายละเอียดใดๆของตัวละครนี้เลย แต่ Gosling ก็สามารถสื่ออารมณ์ออกมาทางสีหน้าแววตาและท่าทางได้อย่างดี







I for Instinct



พระเอกของเรามักจะใส่เสื้อที่มีลายแมงป่องอยู่กลางหลังตลอดเวลา (กระทั่งตอนปลอมตัว แม้เขาจะใส่หน้ากากยางหัวโล้นเพื่ออำพรางใบหน้า แต่ก็ยังคงใส่เสื้อลายแมงป่องตัวเดิม ซึ่งถ้าเป็นคนที่เคยรู้จักกัน ต้องจำได้แน่นอนว่าไอ้หมอนี่เป็นใคร แม้จะใส่หน้ากากก็เถอะ ) และในตอนท้ายของเรื่องก็มีการพูดถึงนิทานเรื่อง “แมงป่องกับกบ”



เนื่องจากเป็นนิทานที่ไม่ดังนัก (อย่างน้อยก็สำหรับผมกับแฟน ) เมื่อดูหนังจบจึงต้องไป search หาข้อมูลใน Internet เกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้


เรื่องมีอยู่ว่า

แมงป่องตัวหนึ่ง เห็นกบกำลังจะข้ามแม่น้ำ ซึ่งมันก็อยากข้ามไปด้วยแต่ไม่สามารถข้ามได้เพราะมันว่ายน้ำไม่เป็น มันจึงขอร้องให้กบช่วยพาข้ามโดยขอเกาะหลังกบไปด้วย กบตอบปฏิเสธ ก่อนจะถามกลับว่า “เราจะไว้ใจได้อย่างไรว่าท่านจะไม่ต่อยเรา” แมงป่องจึงตอบว่า ถ้ามันต่อยกบตาย มันก็จะจมน้ำตายตามไปด้วย ไม่มีประโยชน์อะไรที่มันจะทำอย่างนั้น ในที่สุดกบเห็นด้วยกับคำกล่าวของแมงป่อง จึงยอมพามันไปด้วย


ระหว่างกลางแม่น้ำ แมงป่องก็ต่อยเข้าไปที่หลังกบจนได้ กบจึงถามแมงป่องว่าทำไมถึงต่อยมัน ทั้งๆที่ต่อยแล้วก็ต้องจมน้ำตายไปพร้อมกัน แมงป่องตอบว่า “ก็เพราะข้าเป็นแมงป่อง”




นิทานเรื่องนี้ ช่วยขยายความถึงตัวพระเอกได้เป็นอย่างดี แม้จะรู้ตัวว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นอันตรายแค่ไหน แต่เขาก็ต้องทำ ไม่ต่างจากการกระทำของแมงป่อง เพราะมันเป็น “สัญชาตญาณ”


จากประเด็นนี้ เชื่อว่าถ้าหนังเลือกที่จะเพิ่มเนื้อหาของนิทานเรื่องนี้ให้ผู้ชมเข้าใจก่อน ฉากสุดท้ายของหนังน่าจะบีบอารมณ์ผู้ชมได้มากกว่านี้ เพราะผู้ชมคงลุ้นว่า สุดท้ายแล้วพระเอกจะมีชะตากรรมเหมือนแมงป่องหรือไม่







I for Intelligence



Drive ตั้งประเด็นให้ผู้ชมได้ตีความได้อย่างสนุกสนาน


จากเรื่องของแมงป่องกับกบนั้น เราเปรียบเทียบได้ว่า พระเอกคือแมงป่อง ซึ่งชัดเจนมากในฉากการตายของ Nino (Ron Perlman) ที่นอกจากจะหน้าตาคล้ายกบแล้ว (ไม่ได้เจตนาดูหมิ่นนะครับ คล้ายกบไม่ได้แปลว่าไม่หล่อ Perlman คือนักแสดงที่ดูดีคนหนึ่ง ) ยังถูกฆ่าตายในน้ำไม่ต่างจากกบอีกด้วย ซึ่งเมื่อพระเอกฆ่า Nino เสร็จ หนังก็ใส่บทพูดเกี่ยวกับนิทานเรื่องนี้ในฉากถัดไป



อย่างไรก็ตาม หนังได้บอกเราว่า ความจริงแล้วเราไม่สามารถตัดสินทุกอย่างได้อย่างผิวเผิน

ในฉากหนึ่งขณะที่พระเอกกำลังดูการ์ตูนเกี่ยวกับฉลามอยู่กับ Benicio (Kaden Leos) ลูกชายของ Irene



เขาถามว่า “ฉลามมันเป็นตัวร้ายเหรอ”

Benicio ตอบว่า “ใช่เพราะมันเป็นฉลาม”

เขาถามต่อไปว่า “แล้วไม่มีฉลามดีๆ เหรอ”

Benicio ตอบว่า “ดูจากท่าทางแล้วมันเป็นตัวดีได้เหรอ”



สะท้อนไปที่พระเอก เขาเป็นคนดีหรือ เพียงแค่ถูกนำเสนอให้เป็น “พระเอก” ของผู้ชม (รวมถึง Irene กับ Benicio ด้วย) แต่การกระทำของเขามีทั้งปล้นและฆ่า

แล้วเขาเป็นคนเลวหรือเปล่า ถ้าทุกอย่างที่เขาทำมาจากสัญชาตญาณตามธรรมชาติ และการที่เขาพยายามช่วยเหลือคนอื่น อาจหมายถึงการทำร้ายอีกคนหนึ่ง

กระทั่งบท Standard สามีของ Irene ก็ยังมีมิติทั้งดีและชั่วปนเปไป โดยที่หนังไม่พยายามยัดเยียดความชั่วร้ายให้ตัวละครนี้ เพียงเพื่อจะให้พระเอกมีความชอบธรรมที่จะรักกับ Irene



หนังพยายามชี้ให้ผู้ชมเห็นว่า ทุกตัวละครย่อมมีทั้งดีชั่ว ซึ่งการกระทำของ “ผู้ร้าย” ในหนังก็มีเหตุผลมีที่มาที่ไปที่เข้าใจได้


นี่เป็นความฉลาดของหนังในการเพิ่มมิติให้บรรดาตัวละครได้อย่างน่าเชื่อถือ







จากการ์ตูนฉลามเชื่อมโยงกลับมาที่นิทานแมงป่องกับกบ



การที่พระเอกใส่เสื้อที่มีลายแมงป่องข้างหลัง หมายความว่า เขาต้องเป็นแมงป่อง แค่นั้นหรือ

หากมองอีกมุมหนึ่งมันอาจหมายความว่า พระเอกคือกบที่ถูกแมงป่องขี่หลัง ก็ได้





จากที่ยกตัวอย่างไปแล้วว่าการกระทำตามสัญชาตญาณของพระเอกสะท้อนถึงลักษณะของแมงป่อง

แต่ในบางครั้ง พระเอกก็มีลักษณะเหมือนกบเช่นกัน เพราะการเอาตัวเองไปเสี่ยงเพื่อช่วยเหลือ Irene ด้วยความรักนั้น ก็เหมือนกับการให้แมงป่องขี่หลังแล้วว่ายข้ามแม่น้ำไป รู้ทั้งรู้ว่าอาจมีอันตรายเกิดขึ้น แต่เขาก็ยอมช่วย





อีกอย่างหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ลักษณะการทำงานของพระเอกในฐานะสารถีของพวกโจร



พระเอก (กบ) มีหน้าที่พาพวกโจร (แมงป่อง) หนีตำรวจ (ข้ามแม่น้ำ) ซึ่งหลักประกันว่าเขาจะไม่โดนฆ่าก็คือ ถ้าเขาถูกโจรฆ่า (แมงป่องต่อยกบ) พวกโจรก็จะต้องถูกตำรวจจับไปด้วย (จมน้ำตายไปด้วยกัน)





ด้วยความฉลาดในการใส่ข้อมูลที่เชื่อมโยงประเด็นเหล่านี้ได้อย่างมีชั้นเชิง ไม่ได้บอกออกมาแบบทื่อๆตรงๆ อีกทั้งหนังยังไม่กำหนดคำตอบที่ชัดเจนตายตัว หรือพยายามชี้ถูกชี้ผิดให้ผู้ชม หนังเลือกที่จะปล่อยให้ผู้ชมได้ตีความและตัดสินเอาเองอย่างอิสระ



นี่เองที่ทำให้ Drive ข้ามจากหนังขายสไตล์ที่มีดีที่การแสดงและการกำกับชั้นเยี่ยม ไปสู่หนังอีกระดับหนึ่งที่สามารถตีความได้อย่างน่าสนใจ







V for Violence



หนังรุนแรง อย่างมีชั้นเชิง ฉากโหดอยู่ในระดับหนังสยองขวัญขายแหวะ แต่ถูกใส่มาสั้นๆห้วนๆ ในจังหวะที่ผู้ชมคาดไม่ถึง อย่างฉากในลิฟต์ที่เริ่มต้นด้วย Slow motion first kiss สุด Romantic ก่อนจะจบด้วยฉากกระทืบหน้าจมพื้น ซึ่งความขัดแย้งสุดขั้ว ช่วยขับอารมณ์ของกันและกันได้อย่างเต็มที่



และไม่ใช่แค่ภาพสุดโหดเท่านั้นที่กระชากอารมณ์ผู้ชม อารมณ์ผันผวนสุดขั้วของพระเอก ที่สามารถเปลี่ยนจากชายหนุ่มยิ้มหวานมาดสุภาพ มาเป็นจอมโหดเลือดร้อน ได้ในไม่กี่วินาที ก็เป็นอีกความขัดแย้งที่รุนแรง เหมือนสีขาวกับสีดำ





V for Vengeance



หนังสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมด้วยวิธีการเดิมๆ แต่ได้ผล นั่นคือ การสร้างความแค้น (สร้างปมปัญหา) แล้วชำระแค้น (คลี่คลายปัญหา) ให้กับผู้ชม ผ่านตัวละครหลัก อันเป็นกลวิธีตามสูตรสำเร็จที่มีมายาวนาน
(นี่แทบจะเป็นสูตรสำเร็จคลาสสิคของหนังแนว Action แทบทุกเรื่อง ซึ่งหนังที่ใช้สูตรนี้อย่างได้ผล และเห็นได้ชัด เมื่อไม่นานมานี้ก็คือ Ip man ทั้งสองภาค นั่นเอง)


แม้ว่าตัวละครใน Drive จะทำเพราะสัญชาตญาณ, ทำอย่างมีเหตุมีผล, ทำเพราะสถานการณ์บังคับ หรือทำเพราะอะไรก็ตามแต่ ที่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวกับความแค้น แต่สิ่งที่มีผลกับผู้ชมก็ยังเป็นเรื่องของความแค้นและการชำระแค้นอยู่นั่นเอง



นี่เป็นสิ่งที่ Drive หยิบมาใช้ได้เนียนๆ (คล้ายกับอารมณ์คลั่งแค้นที่แอบซ่อนอยู่ในท่าทางนิ่งเฉยของพระเอก) จนกลายเป็นความสดใหม่ ทั้งๆที่เป็นสูตรเดิมๆที่มีมายาวนาน และใช้กันจนเกร่อ







E for Electro-pop



อีกส่วนประกอบของ Drive ที่ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญของหนังก็คือ ดนตรีประกอบซึ่งมาในแนว Electro-pop โดยเฉพาะเพลง Nightcall ของ Kavinsky ที่กลายเป็นอีกหนึ่งตัวเอกของเรื่อง


ด้วย Beat แบบ Electro-house ที่เรียบง่าย แต่มี Melody ที่ติดหู และแฝงไปด้วยความเศร้า เข้ากับบรรยากาศหม่นๆของค่ำคืนใน L.A.

ที่สำคัญ เนื้อเพลงนั้นก็เหมาะจะเป็นเพลงที่พระเอกร้องให้ตัวเองฟังเวลาขับรถยามค่ำคืนเอามากๆ



เนื่องจากโตมากับหนังยุค 90’s (เริ่มดูหนังจริงจังก็ช่วงปี 96 อีกต่างหาก) จึงไม่ค่อยมีประสบการณ์กับหนังยุค 80’s มากนัก จะได้ดูก็เฉพาะเรื่องดังๆ ซึ่งเพลง Nightcall และบรรยากาศใน Drive นั้น ทำให้นึกไปถึงเพลง Take my breath away ของวง Berlin ซึ่งประกอบในหนัง Top Gun ทั้งที่หนังมันคนละแนวกันเลย







E for Excellence



ด้วยองค์ประกอบที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ Drive เป็นงานคุณภาพ ที่โดดเด่นด้วยสไตล์การเล่าเรื่อง และการแสดงอันเป็นที่น่าจดจำของ Ryan Gosling



บทหนังของ Hossein Amini สามารถใส่ประเด็นให้ตีความได้อย่างมีชั้นเชิง โดยไม่กำหนดกรอบผู้ชมมากจนเกินไป



ด้วยโครงเรื่องแบบเดิมๆที่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ หนังกลับดูสดใหม่ขึ้นมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยการหยิบเอาองค์ประกอบต่างๆที่ไม่น่าเข้ากัน และบางครั้งอาจขัดแย้งกันสุดขั้วมารวมกันได้ โดยไม่ทำให้หนังสะเปะสะปะ

ไม่เพียงแค่นั้น ความแตกต่างกลับช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน กลายเป็นความโดดเด่นอันน่าจดจำ นี่เองที่แสดงถึงความสามารถของ Nicolas Winding Refn ในฐานะผู้กำกับ



Drive คือหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมประจำปีนี้อย่างไม่ต้องสงสัย




8 / 10 ครับ





 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2554
7 comments
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2554 12:28:56 น.
Counter : 4745 Pageviews.

 

เหมือนทุกครั้งครับ...เขียนดี,เห็นด้วยทุกประการ, and keep up the good work ครับ

สำหรับผม ตอนนี้หนังเรื่องนี้เป็นตัวเต็งหนังที่ชอบที่สุดประจำปีนี้ไปแล้ว

 

โดย: Apple101 26 พฤศจิกายน 2554 1:05:07 น.  

 

เขียนได้ดีมากค่ะ ถึงแก่นเลย

 

โดย: frenaby IP: 58.137.153.3 28 พฤศจิกายน 2554 16:47:33 น.  

 

สัปดาห์หน้ายังอยู่ที่ House ไหมครับเนี่ย?

 

โดย: คนขับช้า 11 ธันวาคม 2554 11:47:45 น.  

 

ดูจบแล้วไม่แปลกใจเลยกับรางวัล ผกก ยอดเยี่ยมที่เมืองคานส์ ฝ่าด่านทั้งปู่มาลิคและลาส ฟรอน เทียร์มาได้

ตัวหนังมีครบทุกรสชาต แถมหลายๆฉากมีความลักลั่นย้อนแย้งในตัวสุดๆ ถือว่าเป็นจุดเด่นที่หาดูได้ยากยิ่ง

ถามว่าชอบในตัว Driver มั้ย ตอบเลยว่าชอบ แต่ข้อเสียอย่างเดียวคือ เผอิญได้ดู A man form nowhere มาแล้ว บทของ วอน บิน ในเรื่องนั้นดีกว่า เรียกได้ว่าดูแล้วพร่ำเพ้อไปเลยทีเดียว (จ่ากะระเบิดก็เป็นกันทั้งหมด)

แต่สิ่งที่ดีกว่าคือนางเอก ที่เล่นได้ น่า"รัก" ซะเหลือเกิน

สรุปแล้ว Drive ก็เป็นหนังที่ดีที่สุดอีกเรื่องของปีนี้

 

โดย: hormones IP: 115.87.79.86 12 ธันวาคม 2554 7:56:22 น.  

 

^
^
^

A Man from Nowhere ก็น่าสนใจครับ


ว่าแต่มันฉายไปเมื่อไหร่ แผ่นออกยังครับ

จะหามาดูเทียบกัน

 

โดย: navagan 12 ธันวาคม 2554 12:17:48 น.  

 

เชียร์กันเหลือเกิน ไปดูมาแล้วครับ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=amp-atom&month=17-12-2011&group=2&gblog=292

 

โดย: คนขับช้า 7 มกราคม 2555 21:42:39 น.  

 

ชอบมาก

 

โดย: เด IP: 110.168.164.35 3 สิงหาคม 2555 13:50:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


navagan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 73 คน [?]




นวกานต์ ราชานาค
Navagan Rachanark


สนใจใน ภาพยนตร์, การวิเคราะห์-วิจารณ์ ภาพยนตร์,ดนตรี, งานเขียน และ ศิลปะอื่นๆ

สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ทดลอง และ งานดนตรีทดลอง และ งานเขียน


ปัจจุบันทำงานด้านการตลาด การวิจัยและพัฒนายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติ

เริ่มจัดเก็บข้อมูลสถิติการเข้าชม

Time 09:00 Date 31/01/2010

by Histats.com

blogger web statistics

ถูกใจบทความ หรืออยากสนับสนุนเจ้าของ Blog

ก็ช่วย click ที่ Link โฆษณาครับ

ขอบคุณครับ

Friends' blogs
[Add navagan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.