กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กรกฏาคม 2565
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
space
space
16 กรกฏาคม 2565
space
space
space

ตำนานโมรปริต



170ตำนานโมรปริต

   ในโมรชาดก ทุกนิบาต เล่าไว้ว่า ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์เกิดเป็นนกยูงทองงามน่าชมยิ่งนัก นกนั้นรู้จักระวังรักษาตัวดีเป็นที่สุด ที่อยู่ก็หาที่ลี้ลับและไกลตาไกลมือมนุษย์ คือ ขึ้นไปอยู่บนยอดเขาสูงชื่อ ทัณฑกหิรัญบรรพต
ยิ่งกว่านั้น
ยังมีพรหมมนต์สำหรับร่ายป้องกันตัวให้ปลอดภัยวันละ ๒ คาบ คือ  เมื่อพระอาทิตย์อุทัยคาบ ๑ เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคาบ ๑ เป็นกิจวัตร

พิธีร่ายนั้น ต้องไปจับที่ตรงยอดสูงแห่งภูเขาลูกนั้น ตาเพ่งดูพระอาทิตย์ ซึ่งกำลังโคจรโพล่ขึ้นหรือลับลงไป พลางก็ร่ายพรหมมนต์

ตอนพระอาทิตย์อุทัยใช้มนต์บทที่หนึ่ง คือ อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยในถิ่นที่ไปหาเหยื่อ

ตอนพระอาทิตย์อัสดงใช้มนต์บทที่สอง คือ อเปตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ เพื่อเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยในถิ่นที่อยู่อาศัย ทำเช่นนี้เป็นนิตย์มิได้ขาด

แต่ถึงแม้นกยูงทองจะระมัดระวังอย่างไร  ก็ไม่พ้นสายตามนุษย์ได้ ด้วยว่าวันหนึ่ง พรานป่าคนหนึ่งเที่ยวด้อมไปถึงถิ่นนั้น ก็ได้เห็นนกยูงทองบนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพตนั้น ไม่ได้ทำอะไร เป็นแต่กลับมาบอกให้ลูกชายของตนทราบไว้

ต่อมาพระราชเทวีของพระเจ้าพาราณสี   พระนามว่า เขมา ทรงพระสุบินว่า ได้เห็นนกยูงทองกำลังแสดงธรรมอยู่   ครั้นถิ่นบรรทมแล้ว  จึงทูลแด่พระราชสามีว่า พระนางมีพระประสงค์จะฟังธรรมของนกยูงทอง

พระราชาจึงตรัสถามอำมาตย์ว่า   นกยูงทองมีหรือ ?

อำมาตย์ทูลว่า   พวกพราหมณ์คงจะทราบ

พวกพราหมณ์รับรองว่า   นกยูงสีทองมีอยู่จริง   แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ทูลว่า พวกพรานคงจะรู้

พระองค์จึงมีรับสั่งให้เรียกบรรดาพรานป่าเข้ามาประชุมพร้อมกัน แล้วตรัสถามถึงเรื่องนกยูงทอง บุตรของตาพรานป่าคนนั้นก็กราบทูลให้ทรงทราบว่า   มีนกยูงทองตัวหนึ่งอาศัยอยู่ที่ทัณฑกหิรัญบรรพต

พระองค์จึงรับสั่งให้จับมาถวาย

พรานนั้น เสาะทราบถิ่นที่ยูงทองไปลงหาเหยื่อแล้วจึงไปวางบ่วงในที่นั้น พยายามดักอยู่ถึง ๗ ปี ไม่สามารถจับยูงทองได้ เพราะยูงทองแคล้วคลาดบ้าง บ่วงไม่แล่นบ้าง ในที่สุดตนเองก็ถึงแก่ความตายอยู่ในป่านั้น

ฝ่ายพระนางเขมาราชเทวี เมื่อไม่สมประสงค์ก็เสียพระทัยสิ้นพระชนม์ไป

พระเจ้าพาราณสีทรงพิโรธว่า   พระราชเทวีของพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ เพราะนกยูงทองตัวนั้นเป็นเหตุ จึงรับสั่งให้จารึกอักษรลงในแผ่นทองมีใจความว่า “มีนกยูงทองตัวหนึ่ง อาศัยอยู่บนยอดเขาทัณฑกหิรัญบรรพต หากผู้ใดได้กินเนื้อของมัน ผู้นั้น จะมีอายุยืน ไม่แก่ ไม่ตาย” ดังนี้ แล้วให้บรรจุใส่หีบทองเก็บไว้

เมื่อพระราชาองค์นั้น สิ้นพระชนม์แล้ว

พระราชาองค์อื่นขึ้นครองราชย์แทน ได้ทราบความในแผ่นทองนั้น มีพระประสงค์ที่จะมีพระชนมายุยืน จึงรับสั่งให้พรานคนหนึ่ง ไปจับนกยูงทองตัวนั้น

ฝ่ายพรานคนนั้น แม้จะได้พยายามสักเท่าใด ก็ไม่สามารถที่จะจับนกยูงตัวนั้นได้ จนกระทั่งตนเองต้องตายอยู่ในป่าเช่นเดียวกับพรานคนก่อน และโดยทำนองเดียวกันนี้ พระราชาเปลี่ยนไปถึง ๖ พระองค์

ครั้นมาถึงสมัยพระราชาองค์ที่ ๗ แห่งพรหมทัตวงศ์ พระราชาองค์นี้ ก็มีรับสั่งให้พรานป่าไปจับนกยูงทองตัวนั้น โดยมีประสงค์เช่นเดียวกับพระราชาในรัชกาลก่อนๆ

นายพรานคนนี้ ปัญญาหลักแหลม ไปสังเกตการณ์อยู่หลายวัน จึงรู้เค้าว่า นกยูงตัวนี้ไม่ติดบ่วง เพราะมีมนต์ขลัง  ก่อนออกหากินทำพิธีร่ายมนต์ป้องกันตัวแล้วจึงไป จึงไม่มีใครสามารถจับได้ เขาก็คิดตกลงว่าต้องจับก่อนร่ายมนต์ จึงจะจับได้

เมื่อตรองเห็นอุบายแล้ว ก็กลับลงไปชายป่า จับนางนกยูงได้ตัวหนึ่ง นำมาเลี้ยงไว้จนเชื่อง หัดให้รำและร้องจนชำนาญดีแล้ว

ครั้นได้โอกาสเหมาะก็อุ้มนางนกยูงไปแต่เช้าตรู่ ก่อนเวลาที่นกยูงทองจะร่ายมนต์ จัดการวางบ่วงเรียบร้อยแล้ว ปล่อยนางนกยูงลงใกล้ๆบ่วงนั้น และทำสัญญาณให้นางนกยูงรำแพน ส่งเสียงร้องอยู่ก้องป่า


 

คราวเมื่อความวิบัติจะมาถึง พอนกยูงทองได้ยินเสียงของนางนกยูง ก็เกิดความกระสัน ให้กระสับกระส่ายเร่าร้อนใจด้วยอำนาจกิเลส ไม่สามารถจะสาธยายมนต์ ตามที่เคยปฏิบัติมา เผลอตัวบินไปหานางยูงโดยเร็ว เลยติดบ่วงที่พรานดักไว้ พรานจับได้ นำไปถวายพระเจ้าพาราณสี

พระเจ้าพาราณสีทอดพระเนตรเห็นรูปสมบัติของนกยูงทองนั้นแล้ว พอพระทัยและทรงพระกรุณาโปรดปรานมาก ทรงลืมการที่จะเสวยเนื้อนกยูงนั้นเสียสิ้น

    (ตรงนี้ พระอรรถกถาจารย์แต่งคำสนทนาโต้ตอบ ระหว่างพระราชากับนกยูงทองโพธิสัตว์ ไว้น่าฟังดังนี้)

นก: ข้าแต่มหาราช พระองค์รับสั่งให้จับข้าพระองค์ เพราะเหตุไร ?

ราชา: ได้ทราบว่า ผู้ใดได้กินเนื้อของเจ้า ผู้นั้น ไม่แก่ไม่ตาย เพราะเหตุนั้น ข้าปรารถนาจะได้กินเนื้อของเจ้า แล้วเป็นคนไม่แก่ไม่ตาย ข้าจึงให้จับเจ้ามา

นก: ข้าแต่มหาราช ผู้ใดได้กินเนื้อข้าพระองค์ ท่านเป็นคนไม่แก่ไม่ตายสบายไป แต่ตัวข้าพระองค์สิต้องตาย

ราชา: ถูกละ เจ้าต้องตาย

นก: เมื่อข้าพระองค์ยังตาย ก็แล้วท่านคิดเห็นกันอย่างไร จึงว่าได้กินเนื้อของข้าพระองค์แล้ว จักไม่ตาย

ราชา: เขาว่า เพราะเจ้ามีขนเป็นสีทอง หายากนัก เพราะฉะนั้น ผู้ได้กินเนื้อของเจ้าแล้วจักไม่แก่ไม่ตาย

นก: ข้าแต่มหาราช  ที่ข้าพระองค์เกิดมีขนเป็นสีทองนี้ จะเป็นขึ้นเองโดยไม่มีเหตุหามิได้ ข้าพระองค์จะกราบทูลเหตุให้ทรงทราบ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้แหละ ข้าพระองค์ รักษาเบญจศีลเป็นนิตย์ และชวนชาวประชากรในพระราชอาณาเขตให้รักษาด้วย ข้าพระองค์ตายไปเกิดในภพดาวดึงส์อยู่จนสิ้นอายุในภพนั้น แล้วจึงมาเกิดในกำเนิดนกยูงนี้ เพราะผลแห่งอกุศลกรรมอย่างหนึ่งตามมาให้ผล เหตุที่ขนข้าพระองค์เป็นสีทอง ก็ด้วยอานุภาพแห่งเบญจศีลที่ได้รักษาแต่ปางบรรพ์นั่นเอง

ราชา: เจ้ากล่าวว่า เจ้าเคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอยู่ในพระนครนี้ ฯลฯ คำที่เจ้ากล่าวนี้ พวกเราจะเชื่อได้อย่างไร มีอะไรเป็นสักขีพยานบ้างหรือไม่ ?

นก: มีพระเจ้าข้า

ราชา: อะไรเล่า

นก: ในเวลาที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดินั้น ข้าพระองค์นั่งรถประดับด้วยแก้ว ๗ ประการแล้วเหาะไปได้ รถคันนั้น ข้าพระองค์ ให้ฝังจมไว้ใต้พื้นสระมงคลโบกขรณี ขอพระองค์ จงรับสั่งให้กู้รถคันนั้นขึ้นมาเถิด รถนั้น จักเป็นสักขีของข้าพระองค์

พระราชารับสั่งให้ไขน้ำออกจากสระ แล้วให้จัดการกู้รถขึ้นมาได้ จึงทรงเชื่อคำพระโพธิสัตว์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้โอกาสก็แสดงธรรมแด่พระราชา ขอให้พระราชาทรงตั้งอยู่ในเบญจศีล

พระราชาทรงเลื่อมใสมาก ทรงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ (คือยกราชสมบัติให้ครอบครอง) พระโพธิสัตว์รับแล้วก็ถวายคืนแด่พระราชา อยู่อีก ๒-๓ วัน ถวายโอวาทพระราชาให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แล้วก็บินกลับไปสู่ภูเขาทัณฑกหิรัญบรรพตอันเป็นนิวาสสถานนั้นแล ฯ


   หมายเหตุ.  บทโมรปริตนี้ ตามที่เคยสังเกตที่พระท่านสวดตามงานมงคล ถ้าเป็นเวลากลางวัน เช่น สวดมนต์เช้า หรือ สวดมนต์ฉันเพล สวดเฉพาะบทแรก คือ อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ โมโร จรติ เอสนา

ถ้าเป็นสวดมนต์เย็น สวดเฉพาะบทหลัง คือ อเปตยญฺจกฺขุมา ฯปฯ โมโร วาสมกปฺปยีติ คงจะดำเนินตามเค้าเดิมที่ปรากฏในตำนานนั่นเอง

มติของท่านแต่ก่อน  เคยสอนกุลบุตรให้สวดตามแบบที่ปรากฏในตำนาน คือ ตื่นนอนสวด อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ

จะนอนสวด อเปตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ ว่าเป็นการขออำนาจพระปริตรคุ้มครองตนให้แคล้วคลาดปราศจากภัยอยู่เป็นสุข

   ข้อที่เป็นคติในพระปริตบทนี้ ก็คือ “การเอาชีวิตหนึ่ง มาต่ออีกชีวิตหนึ่งนั้น ไม่ควรกระทำ”




 



Create Date : 16 กรกฎาคม 2565
Last Update : 16 กรกฎาคม 2565 19:55:30 น. 1 comments
Counter : 737 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร


 
สาธุ สาธุ สาธุ



โดย: หอมกร วันที่: 16 กรกฎาคม 2565 เวลา:19:46:08 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space