ที่ว่า เพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น มีอธิบายว่า อันจิตใจของสามัญชนนั้น ถูกย้อมด้วยอารมณ์ต่างๆ แปดเปื้อนด้วยมลทินนานัปการ อารมณ์บางชนิดยั่วให้กำหนัดยินดี บางชนิดให้ขุ่นเคืองขัดแค้น บางชนิดให้เคลิบเคลิ้ม บางชนิดเย้าให้หงุดหงิดรำคาญ บางชนิดแหย่ให้คลางแคลงลังเล ทั้งต้องคอยอาศัยประสาทต่างๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ขวนขวายหาอารมณ์มาบำรุงบำเรอ ตนเองเป็นเหมือนไร้ความสามารถ ไม่อาจหาความสุขให้ตนได้ตามลำพัง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้ชื่อว่า ปราศจากอิสระไม่เป็นใหญ่ ตนตกเป็นทาสของอารมณ์ พบที่น่าปรารถนาก็ชื่นชมนิยมไป พบที่ไม่น่าปรารถนา ก็ขัดแค้นเคืองขุ่นวุ่นวายไป ไม่เป็นอันจะสงบลงได้ ต้องดิ้นรนไป เหมือนปลาที่ถูกจับโยนขึ้นหาดทรายในเวลาร้อน โดดขึ้นแล้วก็ตกลงมา
โดดขึ้นไปอีกแล้วก็ตกลงมาอีก ไม่หย่อนหยุด จนกว่าจะสิ้นแรง เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีความบริสุทธิ์ผ่องใสไม่ได้ เมื่อจิตไม่ผ่องใสแล้ว การกระทำ การพูด ก็พลอยเสียไปตามกัน เพราะจิตใจเป็นตัวจักรสำคัญ ที่หมุนให้กายกรรม วจีกรรมดำเนินตาม ถ้าจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสแล้ว การกระทำทางกาย ทางวาจา ก็พลอยดีไปด้วย ความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตใจให้เป็นต้นเค้าสำคัญของกุศล ดังนี้
การเปล่งวาจา หรือน้อมนึกนมัสการพระคุณพระพุทธเจ้า ด้วยความตั้งใจ เป็นทางหนึ่งที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะเมื่อจิตใจเกาะแนบสนิทอยู่กับพระคุณของพระพุทธเจ้าแล้ว อารมณ์ที่เป็นธุลีทำให้เศร้าหมองก็ปราศจากไป เกิดความบริสุทธิ์ผ่องใสขึ้น เป็นกุศลอยู่ในตนเองด้วย เป็นที่เกิดแห่งกองกุศลอื่นๆ อีกด้วย แม้จะเป็นความบริสุทธิ์ได้เพียงชั่วขณะ ก็ยังดีกว่าไม่มีเวลาจะบริสุทธิ์เสียเลย หรือถ้าบริสุทธิ์ได้คราวละขณะ แต่หลายคราวเข้า ตามโอกาสที่ได้เปล่งวาจาหรือน้อมนึกนั้นๆ ก็อาจเป็นปัจจัยแห่งความบริสุทธิ์ผุดผ่องยั่งยืนต่อไปได้
เพราะฉะนั้น พุทธศาสนิกชนก่อนจะประกอบกิจกรรมทางพระศาสนา จึงเปล่งวาจา หรือน้อมนึกนมัสการพระพุทธเจ้าเป็นปฐม ด้วยบทนมัสการ คือ นะโม ฯลฯ
Create Date : 08 กรกฎาคม 2565 |
|
0 comments |
Last Update : 8 กรกฎาคม 2565 21:11:06 น. |
Counter : 359 Pageviews. |
|
|
|