ตำนาน ในคัมภีร์มหาขันธกะ พระวินัยปิฎก กล่าวไว้ว่า เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ในตอนแรกๆมีกุลบุตรมาขอบวช พระองค์ทรงรับด้วยพระองค์เอง ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ตรัสอนุญาตด้วยวาจาว่า “เอหิ ภิกฺขุ สฺวากฺขาโต ธมฺโม จร พฺรหฺมจริยํ สมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย” แปลว่า “เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด” แล้วผู้ขอบวชถือเพศตามอย่างพระองค์ก็เป็นเสร็จ ถ้าผู้ขอบวชหลายคนขอพร้อมกัน ก็ตรัสเป็นพหูพจน์ว่า “เอถ ภิกฺขโว สฺวากฺขาโต ธมฺโม จรถ พฺรหฺมจริยํ สมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย” ถ้าผู้ขอบวชสำเร็จพระอรหัตก่อนแล้ว ตัด “สมฺมาทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย” ออก เพราะพระอรหันต์เป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้ว ครั้นมีพระสาวกขึ้นหลายองค์ แยกย้ายกันไปประกาศพระศาสนา เมื่อมีผู้ศรัทธาจะบวช พระสาวกผู้เป็นอาจารย์ก็ต้องพามาถวายตัวขอบวชในพุทธสำนัก บางทีมาจากถิ่นไกลกันดาร ต้องลำบากมากทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์ ทรงเห็นว่า การพระศาสนาจะแพร่ออกไปและเจริญตั้งมั่นอยู่ตลอดกาลนานนั้นจำต้องอาศัยพระสาวกทั้งหลายช่วยเผยแผ่และบริหารสืบๆกันไป จึงควรฝึกหัดพระสาวก และมอบหมายหน้าที่การงานให้จนสามารถบริหารการพระศาสนาแทนพระองค์ได้ อนึ่ง การเผยแผ่พระศาสนาที่จะให้แพร่หลายออกไปได้นั้น จะมุ่งแต่เพียงแสดงชี้แจงให้คนทั้งหลายได้ความรู้ความเข้าใจเท่านั้น ยังหาเพียงพอไม่ ต้องหาทางให้ความสะดวกที่เขาทั้งหลายจะประพฤติปฏิบัติตามได้ด้วย ไม่เช่นนั้นกุลบุตรทั้งหลายแม้มีศรัทธา ก็จะพึงนึกอิดหนาระอาใจว่า เพียงแต่จะรู้ตามก็ยากอยู่แล้ว ยังยากในอันจะประพฤติปฏิบัติตามอีกเล่า ด้วยเหตุนี้ จึงทรงอนุญาตให้พระสาวกรับกุลบุตรบวชได้ ด้วยวิธีสรณคมนุปสัมปทา คือ ให้ผู้ขอบวชปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะเข้าไปกราบเท้าภิกษุประคองอัญชลี เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยพระบาลีว่าพุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิสงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิเท่านี้ เป็นอันสำเร็จการบวชเป็นภิกษุ ครั้นพระศาสนาแพร่หลาย มีผู้บวชเป็นภิกษุมากขึ้น ทรงเห็นว่าการรับกุลบุตรให้บวชเป็นการสำคัญ เพราะความเจริญ ความเสื่อมของหมู่คณะ ย่อมเนื่องด้วยสมาชิกในหมู่หมู่คณะใดมีสมาชิกดีมากกว่าเลว หมู่คณะนั้น ก็หวังความเจริญได้หมู่คณะใดมีสมาชิกเลวมากกว่าดี หมู่คณะนั้น ก็หมดหวังความเจริญการที่จะรับคนเข้าเป็นสมาชิก จึงควรได้รับการพิจารณาเลือกเฟ้นตามสมควร การรับกุลบุตรให้บวชด้วยวิธีที่กล่าวแล้วนั้น ยังเป็นการของเอกชนอยู่ คือ ภิกษุรูปหนึ่งรูปเดียวก็รับได้ อาจผิดพลาดได้ง่าย เพื่อให้เป็นหลักฐานมั่นคงต่อไป จึงทรงยกการรับคนเข้าบวชเป็นพระภิกษุให้เป็นการสงฆ์ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ญัตติจตุตถกรรมอุปสัมปทา ส่วนสรณคมนุปสัมปทานั้น ภายหลังโปรดให้นำมาใช้เป็นวิธีบวชสามเณร ทั้งสองวิธีนี้คงเป็นแบบเรียบร้อยดี ได้ปฏิบัติกันมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ มิได้เปลี่ยนแปลง และเรียกการบวชภิกษุว่า อุปสมบท เรียกการบวชสามเณรว่า บรรพชา บทสรณคมน์ ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติในอุปสมบทวิธีนี้แล เป็นที่มาแห่งบทสรณคมน์ที่ใช้ในพิธีการทั่วไป รวมทั้งสวดเป็นมนต์ด้วย อยู่ในลำดับเป็นที่ ๒ ตั้งนะโมเป็นปฐมแล้ว ก็ถึงบทสรณคมน์นี้ เพื่อให้เหมาะสมกับกาลสถานที่มีความคล่องตัวในการทำงาน พระพุทธเจ้าก็ปรับเปลี่ยนวิธีการบวชไปตามสถานการณ์ขณะนั้นๆ พระองค์ก่อตั้งคณะสงฆ์ขึ้น ถ้าเปรียบพระพุทธเจ้าก็เหมือนเจ้าของบริษัท (เจ้าของพุทธศาสนา) ก็ต้องบัญญัติจัดตั้งกฎระเบียบ (วินัย) ในการรับบุคคลจากวรรณะต่างๆเข้าหมู่ กฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันของหมู่คณะ กฎระเบียบฝึกหัดพัฒนาตนของผู้บวชเอง กฎระเบียบเพื่อให้หมู่คณะดำรงอยู่ยั่งยืนและด้วยดี