โพชฌงค์ ๗ นั้น มีความหมายรายข้อ ดังนี้
๑. สติ ความระลึกได้ หมายถึง ความสามารถทวนระลึกนึกถึง หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่จะพึงเกี่ยวข้อง หรือต้องใช้ต้องทำในเวลานั้น
ในโพชฌงค์นี้ สติมีความหมายคลุมตั้งแต่การมีสติกำกับตัว ใจอยู่กับสิ่งที่กำลังมองดูพิจารณาเฉพาะหน้า (ได้แก่ สติในการเจริญสติปัฏฐานทั่วๆไป ดู ม.อุ.14/290/198 ฯลฯ) จนถึงการหวนระลึกรวบรวมเอาธรรมที่ได้สดับเล่าเรียนแล้ว หรือสิ่งที่จะพึงเกี่ยวข้องต้องใช้ต้องทำ มานำเสนอต่อปัญญาที่ตรวจตรองพิจารณา (สํ.ม.19/374/99)
๒. ธรรมวิจัย ความเฟ้นธรรม หมายถึง การใช้ปัญญาวิจัยสิ่งที่สติกำหนดจับไว้ หรือธรรมที่สติระลึกรวมมานำเสนอนั้น ตามสภาวะ เช่น ไตร่ตรองให้เข้าใจความหมาย จับสาระของสิ่งที่พิจารณานั้นได้ ตรวจตราเลือกเฟ้นเอาธรรม หรือสิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ หรือสิ่งที่ใช้ได้เหมาะดีที่สุดในกรณีนั้นๆ หรือมองเห็นอาการที่สิ่งที่พิจารณานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เข้าใจตามสภาวะที่เป็นไตรลักษณ์ ตลอดจนปัญญาที่มองเห็นอริยสัจ (ม.อ. 3/552 และ สํ.อ.3/385 ให้ความหมายอย่างหนึ่งซึ่งกว้างมาก ว่าธรรมวิจัย ได้แก่ ญาณ คือความหยั่งรู้หยั่งเห็นที่ประกอบร่วมอยู่กับสตินั้น)
๓. วิริยะ ความเพียร หมายถึง ความแกล้วกล้า เข้มแข็ง กระตือรือร้นในธรรมหรือสิ่งที่ปัญญาเห็นได้ อาจหาญในความดี มีกำลังใจ สู้กิจ บากบั่น รุดไปข้างหน้า ยกจิตไว้ได้ ไม่ให้หดหู่ถดถอยหรือท้อแท้
๔. ปีติ ความอิ่มใจ หมายถึง ความเอิบอิ่ม ปลาบปลื้ม ปรีดิ์เปรม ดื่มด่ำ ซาบซึ้ง แช่มชื่น ซาบซ่าน ฟูใจ
๕. ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายใจ หมายถึง ความผ่อนคลายกายใจ สงบระงับ เรียบรื่น ไม่เครียด ไม่กระสับกระส่าย เบาสบาย
๖. สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น หมายถึง ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด ทรงตัวสม่ำเสมอ เดินเรียบ อยู่กับกิจ ไม่วอกแวก ไม่ส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน
๗. อุเบกขา ความเฉยดูอยู่ หมายถึงมีใจเป็นกลาง วางทีเฉย ใจเรียบสงบ นิ่งดูไป ในเมื่อจิตแน่วอยู่กับงานแล้ว ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง หรือดำเนินไปด้วยดีตามแนวทางที่จัดวางไว้หรือที่มันควรจะเป็น หรือยังไม่ควรขวนขวาย ไม่วุ่นวาย ไม่สอดส่าย ไม่แทรกแซง
Create Date : 17 กรกฎาคม 2565 |
|
1 comments |
Last Update : 17 กรกฎาคม 2565 19:31:07 น. |
Counter : 845 Pageviews. |
|
|
|