สัตยาธิษฐาน การตั้งความจริงเป็นหลักอ้าง, ความตั้งใจกำหนดแน่วให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งโดยอ้างเอาความจริงใจของตนเป็นกำลังอำนาจ, คำเดิมในคัมภีร์นิยมใช้ สัจกิริยา, สัตยาธิษฐานนี้ เป็นรูปสันสกฤต รูปบาลีเป็นสัจจาธิฏฐาน
สัจจกิริยา “การกระทำสัจจะ” การใช้สัจจะเป็นอานุภาพ, การยืนยันเอาสัจจะคือความจริงใจ คำสัตย์ หรือภาวะที่เป็นจริงของตนเอง เป็นกำลังอำนาจที่จะคุ้มครองรักษา หรือให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ที่พระองคุลิมาล กล่าวแก่หญิงมีครรภ์แก่ว่า “ดูกรน้อยหญิง ตั้งแต่อาตมาเกิดแล้วในอริยชาติ มิได้รู้สึกเลยว่า จะจงใจปลงสัตว์เสียจากชีวิต ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดี จงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของท่านเถิด ” แล้วหญิงนั้น ได้คลอดบุตรง่ายดาย และปลอดภัย (คำบาลีของข้อความนี้ ได้นำมาสวดกันในชื่อว่า อังคุลิมาลปริตร) และ เรื่องวัฏฏกชาดกที่ว่า ลูกนกคุ่มอ่อน ถูกไฟป่าล้อมใกล้รังเข้ามา ตัวเองยังบินไม่ได้ พ่อนกแม่นกก็บินไปแล้ว จึงทำสัจกิริยา อ้างวาจาสัตย์ของตนเองเป็นอานุภาพ ทำให้ไฟป่าไม่ลุกลามเข้ามาในที่นั้น (เป็นที่มาของวัฏฏกปริตรที่สวดกันในปัจจุบัน) ในภาษาบาลี สัจกิริยานี้เป็นคำหลัก บางแห่งใช้สัจจาธิษฐานเป็นคำอธิบายบ้าง แต่ในภาษาไทยมักใช้คำว่า สัตยาธิษฐาน ซึ่งเป็นรูปสันสกฤตของสัจจาธิฏฐาน
Create Date : 16 กรกฎาคม 2565 |
Last Update : 16 กรกฎาคม 2565 8:02:50 น. |
|
0 comments
|
Counter : 397 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|