|
|
ตำนานกรณียเมตตสูตร
มีเรื่องเล่าไว้ในอรรถกถากรณียเมตตสูตร เมื่อใกล้เข้าพรรษา ภิกษุหมู่หนึ่งชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เวลานั้น ประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี ขอเรียนพระกรรมฐาน เรียนได้แล้วก็ทูลลา พากันไปหาสถานที่อันสมควรจะเป็นที่บำเพ็ญพระกรรมฐาน ไปถึงราวป่าเชิงเขาแห่งหนึ่ง ดูเหมาะดี มีลำธารน้ำ มีหมู่บ้านเป็นที่อาศัยบิณฑบาต อยู่ไม่ไกลนัก ชาวบ้านเล่าก็มีศรัทธาเลื่อมใสนิมนต์ให้จำพรรษา ปลูกกุฏิให้อยู่รูปละหลัง
ภิกษุหมู่นั้นจึงตกลงจำพรรษาอยู่ที่นั่น เริ่มทำความเพียรบำเพ็ญสมณธรรม ถ้าฝนไม่ตก ภิกษุทั้งหลายมักไปนั่งที่โคนไม้เป็นส่วนมาก รุกขเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่ต้นไม้เหล่านั้น เห็นท่านผู้ทรงศีลมานั่งอยู่ใต้รุกขวิมานของตนเช่นนั้น ก็ไม่สามารถจะนิ่งเฉยเสียได้ ต้องหอบหิ้วกันลงจากวิมานมาอยู่ที่พื้นดิน ได้รับความลำบากมาก แรกๆก็ทนได้ ด้วยเข้าใจว่า ภิกษุหมู่นั้นจะกลับไปไม่ช้า
ครั้นปรากฏว่าภิกษุหมู่นั้นจำพรรษาที่นั่น เห็นว่าพวกตนจะต้องลำบากไปนานนัก ก็ไม่ยอมทน จึงคิดจะขับภิกษุหมู่นั้นไปเสีย แต่ไม่ใช้กำลังกายผลักไส ไม่ออกปากขับไล่ ใช้วิธีรบกวนทางประสาท คือทำเป็นผีหลอกรูปร่างน่ากลัวต่างๆบ้าง ทำเสียงร้องโหยหวนน่าสยองบ้าง ทำให้เกิดกลิ่นต่างๆบ้าง ภิกษุทุกรูปได้เห็นได้ยินแล้ว หัวใจไหวหวาดไม่เป็นอันสงบใจบำเพ็ญกรรมฐาน ยิ่งได้กลิ่นเหม็นอะไรก็ไม่ทราบ ทั้งวันทั้งคืนก็ปวดเศียรคลื่นเหียนสุดจะทนได้ ปรึกษากันว่า การเข้าพรรษานั้น มีพระพุทธบัญญัติไว้เป็น ๒ คือ เข้าพรรษาต้น (แรมค่ำ ๑ เดือน ๘) เรียกว่าปุริมิกาวัสสูปนายิกา เข้าพรรษาหลัง (แรมค่ำ ๑ เดือน ๙) เรียกว่าปัจฉิมิกาวัสสูปนายิกา พวกเรา อยู่ที่นี่ไม่ได้ จำต้องละพรรษาปุริมิกา รีบกลับไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลความให้ทรงทราบแล้ว ไปหาที่เข้าพรรษาปัจฉิมิกากันเถิด
ไม่บอกชาวบ้าน พากันรีบเดินทางไป ครั้นถึงกราบทูลความแล้ว มีพระพุทธดำรัสว่า สถานที่ที่ไหนก็ไม่เหมาะเท่าที่นั่น ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะยกเว้นเทวดาภัยเสียอย่างเดียว ก็ไม่มีอะไรลำบากเลย ทรงแนะนำให้ภิกษุหมู่นั้นกลับไปที่นั่นอีก ตรัสว่า เทวดาภัยนั้น มีทางป้องกันได้ด้วยการเจริญเมตตาแล้วทรงสอนภิกษุหมู่นั้นให้ประพฤติตัวให้สมควรแก่การอยู่ป่า ให้เจริญเมตตาอัปปมัญญา คือ แผ่เมตตาไปทั่วหมดทั้งโลก มีความปรากฏอยู่ในกรณียเมตตสูตรนั้นแล้ว ตรัสว่าไปถึงที่นั่น ก่อนจะเข้าสู่ราวป่า ให้หยุดยืนตั้งใจเจริญเมตตาพร้อมกับสาธยายพระสูตรนี้ เทวดาภัยจะไม่มีอีกต่อไป กลับจะได้เทวดาอนุเคราะห์โดยไมตรีจิตเสียอีก
เป็นอันว่าพระบรมศาสดาทรงเปลี่ยนกรรมฐานให้ภิกษุหมู่นั้นใหม่ คือ เมตตากรรมฐาน อันสามารถจะเป็นบาทแห่งวิปัสสนาได้ด้วย เป็นปริตคือเป็นเครื่องป้องกันภัยได้ด้วย
ภิกษุหมู่นั้นกลับไปที่นั่น ปฏิบัติตามพระพุทธโองการ เป็นผลดีหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เทวดาทั้งหลายได้รับกระแสเมตตาจากภิกษุหมู่นั้น ให้จิตใจเยือกเย็นหายเกลียดหายชัง กลับเกิดเมตตาตอบ แทนที่จะทำตัวให้เป็นภัยเช่นแต่ก่อน กลับช่วยป้องกันภัยอื่นๆให้ด้วย ตั้งแต่นั้นไม่มีอะไรรบกวน ภิกษุหมู่นั้นตั้งหน้าบำเพ็ญสมณธรรม ก็ได้บรรลุอรหัตผล ภายในพรรษานั้น ออกพรรษาแล้วจึงไปจากที่นั้นโดยสวัสดิภาพ
หมายเหตุ. กรณียเมตตสูตรนี้ มักสวดแบบสังเขป คือ ขึ้น เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ ฯลฯ เลย
Create Date : 15 กรกฎาคม 2565 |
|
0 comments |
Last Update : 15 กรกฎาคม 2565 8:43:38 น. |
Counter : 563 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
|