Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2554
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
4 กรกฏาคม 2554
 
All Blogs
 
ธรรมเนียมการคารวะศพ@บ้านนาจอก



การคารวะศพแบบเวียตนามตามแบบสมาคมบ้านต้นผึ้ง-ดอนโมง (นาจอก)
จะจัดให้มีขึ้นประมาณคืนที่ 2 ที่มีการตั้งศพ
โดยจะทำหลังจากแจกผ้าขาวไว้ทุกข์ 1 วัน
หรือจะเป็นคืนวันเดียวกันก็ได้ทั้งนี้แล้วแต่ความพร้อม


โดยผู้ที่จะเข้ามาคารวะศพตามธรรมเนียมหลัก ๆ มี ดังนี้คือ

สมาคมหมู่บ้านหรือชุมชนที่ผู้ตายที่สังกัด

สมาคมจะส่งตัวแทนมา ประมาณ 4-5 คน
เพื่อกล่าวคำไว้อาลัย แล้วอ่านกลอนเวียตนามหน้าศพ



โดยเนื้อหากลอนจะเกี่ยวกับผู้ตาย และความดีงามครั้งยังมีชีวิตอยู่
อ่านเสร็จก็จะเผากระดาษที่เขียนบทกลอนนั้น



ซึ่งก่อนหน้าจะกล่าวคำไว้อาลัยจะมีการยกถาดสิ่งของเพื่อเยี่ยมศพ
ซึ่งในถาดประกอบไปด้วย
1. พลู 100 ใบ (มัดละ 50)
2. หมาก 1 แซง (ลักษณะนามแบบอีสาน) แต่จะตัดแบ่งออกให้สวยงาม
3. เหล้าขาว 1 ขวด
4. ธูป-เทียน
5. ดอกไม้สด 1 กำ



และนอกจากนี้ก็จะพวงหรีดดอกไม้สด
เขียนเป็นภาษาเวียตนามแปลได้ความว่า
"น้อมคารวะดวงวิญญาณ ผู้อาวุโส (ชาย)
:จากสมาคมหมู่บ้านต้นผึ้งดอนโมง"



ตรงนี้ขออธิบายหน่อยว่าที่ต้องใช้ของพวกนี้เพราะมีที่มาอย่างไร

ก็เมื่อก่อนคนเค้ากินหมาก-พลูกันเป็นหลักก็เลยเยี่ยมด้วยพลู-หมาก
เสมือนหนึ่งเอาของสำคัญมาช่วยงานนั่นแหละครับ
นอกจากนี้พลูยังต้องใช้เพื่อนำไปบีบเข้ากับเหล้าขาวและขิง
เพื่อเตรียมไว้ให้สัปเหร่อล้างมือก่อนจับหีบศพทุกครั้งอีกด้วย
มันคงเป็นภูมิปัญญาคนสมัยก่อนเพราะเหล้าขาวมีแอลกอฮอล์
ส่วนใบพลูเมื่อเจอกับตัวทำละลายสารยับยังแบคทีเรียหลายชนิด
ก็จะหลุดออกมาเมื่อผสมกันเข้าจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เป็นอย่างดี
ตรงนี้นับว่ามีประโยชน์มากในยุคสมัยก่อน ๆ ที่เทคโนโลยี
ด้านการหรือชะลอการเสื่อมสภาพศพยังไม่เจริญอย่างปัจจุบัน



สมาคมชาวไทยเชื้อสายเวียตนามจังหวัดนครพนม

เมื่อก่อนนั้นไม่มีแต่ระยะหลัง ๆ เพิ่งจะมีการก่อตั้งสมาคมนี้
เค้าจะมาเยี่ยมคารวะศพโดยมีตัวแทนกล่าวไว้อาลัย
แล้วจะมีคำกล่าวนั้นพิมพ์ใส่ซองขาวมอบให้เจ้าภาพเก็บไว้
จากนั้นแขวนพวงหรีดสมาคม คารวะศพ ก็เป็นอันเรียบร้อย



ตระกูลเขยหรือสะใภ้ (อีสานเรียกว่าดอง)

อันนี้ถือธรรมเนียมเฉพาะตระกูลที่มีเชื้อสายเวียตนามเท่านั้นที่จะทำ
และจะทำการคารวะศพตามธรรมเนียม
พ่อหรือแม่ของเขย หรือสะใภ้ คนนั้นต้องยังมีชีวิตอยู่
(ถ้าเสียชีวิตไปก่อนก็งดไม่ต้องถือธรรมเนียมนี้)

สิ่งของที่ต้องมีในถาดก็เหมือนกันกับทางสมาคมหมู่บ้านทุกประการ
แต่จะเพิ่ม ธง 1 คู่ ห่อใส่ถุงวางในถาดไว้
แต่ในภาพนี้เค้านำธงไปปักใส่เสาไว้ล่วงหน้าแล้วจึงไม่เห็น
ส่วนซองที่เห็นในถาดคือเงินช่วยงานศพนั่นเอง



ทุกครั้งที่แต่ละชุดเข้าทำการคารวะศพ
ตัวแทนเจ้าภาพ (ฝ่ายชาย) ก็จะกล่าวรับทราบ แล้วก็กล่าวขอบคุณ
หลัง ๆ ก็จะกล่าวเป็นภาษาเวียตนาม ปนกับภาษาไทย
หรือบางบ้านก็กล่าวเป็นภาษาไทยเพราะ
ภาษาเวียตนามที่ใช้กล่าวในงานแบบนี้
ต้องใช้ภาษาเป็นทางการคนที่ได้เรียนได้รู้ก็น้อยลงมากแล้ว



ลูกหลาน ญาติมิตร บุคคลทั่วไป

ก็จะเข้าไหว้ศพได้ตามแต่โอกาสที่สะดวก
ถ้ามาเป็นคณะ ก็จะมีการเข้าแถววางพวงหรีด
โดยเวลาก็แล้วแต่สะดวก ทำกันเองไม่มีพิธีรีตอง
พวงหรีดในภาพนี้เป็นของครอบครัวผม ซึ่งยังคงพยายาม
เขียนป้ายเป็นภาษาเวียตนาม แปลได้ความว่า



"คิดถึงปู่ : จากหลานและเหลน ลูกของคุณพ่อเตื่อง-แม่เที่ยน"

แต่ก็ไม่วายโดนผู้หลักผู้ใหญ่และน้อง ๆ หลายคนติงว่า
น่าจะแปลไทยคู่ไปด้วย จะได้อ่านออกทั่วกัน
คิดไปมันก็จริงอย่าเค้าว่าเนอะ





Create Date : 04 กรกฎาคม 2554
Last Update : 4 มิถุนายน 2560 17:32:18 น. 24 comments
Counter : 4749 Pageviews.

 
พี่พีร์คะ สวัสดีวันทำงานกลางสัปดาห์ค่ะ ขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ ^^



โดย: หัวใจแก้ว วันที่: 3 สิงหาคม 2554 เวลา:10:22:29 น.  

 
สวัสดีครับพี่พีร์ ตามอ่านเช่นเคยนะครับ

ธรรมเนียมการคารวะศพของคนเวียดนามนี่ดูขลังดีนะครับ ธรรมเนียมบางอย่างก็มีความหมายลึกซึ้ง ที่โพนบกส่วนใหญ่ ดองจะส่งธงอีกแบบหนึ่งมาที่ไม่ใช่ธงขาวดำ แต่จะเป็นธงผ้าขาวยาวๆๆๆ ประมาณ 4-5 เมตร บนยอดจะมีนก+ตะกร้อที่สานด้วยใบมะพร้าว มาคารวะศพ ผมเคยเห็นธงแบบนี้ที่งานศพของบ่าเหิบที่บ้านต้นผึ้งอ่ะครับ แล้วก็อีกหลายงานที่บ้านต้นผึ้ง จะว่าไปที่บ้านต้นผึ้งมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คล้ายกันกับโพนบกมาก เมื่อเทียบกับชุมชนชาวเวียดนามอื่นๆ

แต่เฉพาะครอบครัวตระกูลของผมในงานศพจะมีผ้าที่เขียนเป็นกลอนภาษาเวียดนามเพื่อไว้อาลัย ภาษาเวียดนามเรียกว่า เกิว โด๋ย (Câu đối)ครับ อันนี้จะมีเป็นบางบ้าน แต่ส่วนใหญ่ตระกูลผมจะเน้นคารวะด้วย เกิว โด๋ย เสียมากกว่า เพราะมันเป็นกลอนที่แสดงถึงความไว้อาลัยและกล่าวสรรเสริญคุณงามความดีของผู้ตาย เฉพาะตระกูลผมจะถือว่าถ้าหากผู้หลักผู้ใหญ่ในตระกูลเสีย โดยเฉพาะคนที่อายุมากๆๆ จะต้องมีเกิว โด๋ย หลายๆ ผืน อายุน้อยก็ลดหลั่นกันลงมา แต่ครอบครัวอื่นๆ ที่โพนบก เค้าไม่ค่อยทำกันเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ธรรมเนียม+กับความไม่สนใจตามยุคสมัย

ส่วนครอบครัวของผมยังโบราณ อะไรๆ ก็ยังยึดไว้อยู่ เพราะปู่ผมหัวโบราณมากๆ (ผมก้ถูกสอนมาแบบโบราณ 555) ถึงขั้นที่ว่าเตรียมเกิว โด๋ย เอาไว้ก่อนล่วงหน้า โดยเป็นเกิว โด๋ยของลูกชาย-ลูกสาว 1 ผืน หลาน+เหลน 1 ผืน หลายชายคนโตก็คือผม 2 ผืน(ปู่เตรียมไว้ 1 ผืน ผมเตรียมให้ปู่อีก 1 ผืน) น้องสาวปู่ 1 ผืน และมีเกิวโด๋ยที่ซื้อมาจากเวียดนามอีก 4 ผืน ของญาติๆ ในตระกูลอีก 1 ผืน รวมเป็น 10 ผืนพอดีครับ (ไม่รวมของดอง เพราะมันเป็นหน้าที่ของเขาว่าจะคารวะแบบใช้ธง หรือใช้ เกิว โด๋ย หรือาจจะไม่คารวะเลยในกรณีที่เสียไปแล้ว)

ปู่บอกว่า ทันทีที่ปู่เสียให้ผมเขียนเกิว โด๋ยให้ โดยตอนนี้ปู่มอบเกิวโด๋ยที่จะเขียนให้ผมเรียบร้อยแล้วครับ จะว่าไปปู่ผมห่วงเรื่องราวหลังความตายมากๆ กลัวลูกหลานจะทำไม่ถูก อันที่จริงปู่ผมอ่ะ อยากให้จัดงานศพแบบโบราณจริงๆ แต่ตอนหลังปู่บอกว่าเอาตามยุคสมัย เพราะปู่คงเห็นว่ามันลำบากลูกหลาน แต่ปู่ก็ชอบสั่งเสียอะไรๆ กับผมหลายๆ อย่าง ผมก็เลยต้องรับภาระหนักหากปู่ผมต้องเป็นอะไรไป แต่ทุกวันนี้ปู่ยังสบายดีและแข็งแรงมาก แต่ก็ชอบบ่นเรื่องงานศพตัวเองในอนาคต ปู่ถึงขั้นเตรียมเงินไว้ให้จัดงานศพเพื่อไม่เป็นการรบกวนลูกหลาน

ผมคงเขียนบ่นยาวเกินไปแล้วแหละครับ ^^ เดี๋ยวพี่พีร์จะขี้เกียจอ่าน หุหุหุ

ไว้ผมจะรอบล๊อคต่อๆ ไปนะครับ ^^


โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 113.22.68.203 วันที่: 3 สิงหาคม 2554 เวลา:11:02:09 น.  

 
เดี๋ยวพรุ่งนี้มีนัดกับคุณหมอ เพื่อตรวจผลการรักษาแผลที่ขา

ต้องชั่งน้ำหนักด้วย เดี๋ยวมาเล่าให้ฟังค่ะว่าน้ำหนักหมามอทะลุไปถึงไหนแล้ว ^^


โดย: หัวใจแก้ว วันที่: 3 สิงหาคม 2554 เวลา:11:54:41 น.  

 
นี่ก็เสียดายเหมือนกันที่อ่านภาษาหนือไม่ออก

คุณย่าเขียน อ่าน เป็นภาษาเหนือ ได้ แต่เราไม่สนใจจะรู้


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 3 สิงหาคม 2554 เวลา:12:37:53 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์





โดย: กะว่าก๋า วันที่: 4 สิงหาคม 2554 เวลา:6:08:02 น.  

 
@น้องต้อม
ธงที่น้องต้อมว่าพี่ไม่เคยเห็นเลยจนครั้งเดียว
ถ้ามีโอกาสนำมาโพสให้ชมบ้างก็จะดีทีเดียว

ส่วนเกิว โด๋ย (Câu đối) เคยเห็นบ้างตอนเด็ก ๆ
ล่าสุดงานศพลุงพี่ที่นาจอก ลูก ๆ เค้าไปจ้างให้ใครเขียนไม่ทราบแต่เท่าที่รู้ก็แพง และน่าจะเห็นเป็นงานท้าย ๆ ของที่นาจอกแล้ว การไว้อาลัยแบบนี้คิดว่าขลังดี ยิ่งตอนนี้พี่อ่านภาษาเวียดได้บ้าง และรู้ความหมายมากขึ้นก็เลยรู้สึกว่ามันสนุกที่จะได้เรียนรู้....

พี่ว่าหัวโบราณไว้หน่อยก็น่าจะดีเพราะธรรมเนียมเหล่านี้กำลังจะหายไปแล้ว ที่ Câu đối หายไปส่วนหนึ่งเพราะคนอ่านภาษาเวียดไม่ออกแล้ว เลยไม่เห็นความสำคัญกัน กลับกลายแทนที่ด้วยพวงหรีดแบบสากล แค่ริจะเขียนชื่อเป็นภาษาเวียดนามยังโดนค้านเลยครับ

ตอนส่งปู่ที่สุสานพี่อ่าน Câu đối ที่ให้ลุงเป็นคนช่วยแต่ง
สั้น ๆ แต่ได้ใจความกระนั้นก็ได้ยินคนว่าอ่านผิดไปหลายคำ 555

การเตรียมการล่วงหน้าสำหรับการตายของชาวเวียต
ไม่ใช่เรื่องแปลกยิ่งการเตรียมสุสานยิ่งมีความเชื่อว่าจะอายุยืนยาวด้วยซ้ำ ลองอ่านเรื่องเล่าจากสุสานนะครับ...



โดย: peeradol33189 วันที่: 4 สิงหาคม 2554 เวลา:10:57:17 น.  

 
ภาพในบล้อกวันนี้
น่าจะเรียกว่าการวาดภาพประกอบมากกว่าภาพถ่ายครับพี่พีร์
ผมใช้โฟโต้ชอปแต่งภาพขึ้นมาใหม่น่ะครับ




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 4 สิงหาคม 2554 เวลา:11:15:48 น.  

 

สวัสดีครับพี่พีร์ ^^

ผมสัญญาครับว่าถ้าหากได้กลับบ้าน จะส่งรูปธงคารวะศพแบบฉบับของโพนบกให้พี่ดู เพราะมันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลยแหละครับ แต่สมัยนี้น้อยงานจะทำ เพราะส่วนใหญ่แต่งงานกับคนไทยสะเป็นส่วนมาก น้อยงานจะมีให้เห็น

จะว่าไปเรื่องเกิว โด๋ย แต่ก่อนที่ในเมืองมีลุงคนนึ่งที่รับจ้างเขียน ลุงแกชื่อ องหยาง แกเพิ่งตายไปเมื่อปีก่อน ศพฝังอยู่ที่นาจอก ผมว่าพี่พีร์อาจจะรู้จักก็ได้นะครับ รู้สึกแกเขียนผืนละ 500 บาทอ่ะครับ จะว่าไปก็แพงอยู่

ส่วนเรื่องเตรียมของที่จะต้องใช้ในงานศพล่วงหน้าของปู่ผมนั้น เกือบจะครบทุกอย่าแล้วแหละครับ เหลือแต่ชุดไว้ทุกข์ เพราะปู่ไม่คิดจะตัดไว้ก่อน 5555 ผมก็ว่าดีไปอย่าง เพราะถ้าตัดไว้ล่วงหน้ามันจะเปลี่ยนจากสีขาวกลายเป็นสีเหลืองนี่แหละครับ แต่ปู่เองก็เคยคิดตัดไว้ เพราะมันหาช่างยาก แต่ก็ไม่ตัดเพราะหลายฝ่ายคัดค้าน เพราะแค่ซื้อโลงมาไว้ในบ้านทุกวันนี้ ลูกหลานก็ไม่กล้านอนที่บ้านปู่แล้ว แต่ก่อนปู่เอาโลงของตัวเองเก็บไว้ในห้องนอน เรียกได้ว่านอนดูโลงศพตัวเองเลยแหละครับ 555 แต่พอส้รางบ้านใหม่ก็เอาไปไว้ในห้องเก็บของ

ปู่ผมที่จริงเป็นคนที่หัวโบราณมากๆ จริงๆ ผมเคยถามปู่เสมอว่าทำไมต้องทำอะไรให้มันยุ่งยากมากมายขนาดนี้ ปู่บอกผมว่า เหคยทำมาแบบนี้ตั้งแต่สมัยพ่อแม่ แล้วจู่ๆๆ จะให้เปลี่ยนไปทำอะไรแบบอื่น มันฝืนความรู้สึก ถึงมันจะง่าย แต่มันก็ไม่มีความสุขที่ได้ทำ ก็เลยต้องทำอะไรที่มันทำออกมาแล้วสบายใจ ถึงมันจะยากแต่มันก็คุ้ม ปู่ผมเล่นซะผมอึ้ง แต่ผมก้เข้าใจปุ่นะ ผมก็เลยกลายเป็นคนหัวโบราณมาจนถึงทุกวันนี้ 555

ขอบคุณพี่มากนะครับที่คอยเป็นเพื่อนเวลาไกลบ้านแบบนี้ ได้อ่านบล๊อคพี่ทีไร รู้สึกเหมือนได้กับไปดูหนังเรื่องเรื่องหนึ่งที่เป็นชีวิตของเราในช่วงที่สวยงามที่สุดในชีวิต

ขอบคุณครับ ^^


โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 113.22.1.129 วันที่: 4 สิงหาคม 2554 เวลา:19:02:05 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 5 สิงหาคม 2554 เวลา:6:17:33 น.  

 
@น้องตอม อองหยาางที่ว่า
นอนอยู่ข้างๆ หลุมศพยายพี่เลยครับ
เมื่อเดือนก่อนกลับไปบ้าน ก็แวะจุดธูปที่สุสานก็เลยเห็น
ชื่อแกที่โหม่

น้องต้อมไม่ได้อยู่นครพนมเหรอ แล้วทำงานที่ไหนครับตอนนี้

ยินดีมาก เพราะเรื่องที่เขียนนี้แม้ว่าจะไม่ค่อยมีคนเขียน
แต่ก็ไม่่ค่อยมีคนสนใจอ่านเช่นกัน อาศัยว่ามีเพื่อนบล๊อก เก่า ๆ หลายคนบล๊อกเลยไม่เงียบนัก

นาน ๆ จะได้เจอคอเดียวกันนะน้องต้อม


โดย: peeradol33189 วันที่: 5 สิงหาคม 2554 เวลา:10:31:55 น.  

 
@น้องตอม อองหยาางที่ว่า
นอนอยู่ข้างๆ หลุมศพยายพี่เลยครับ
เมื่อเดือนก่อนกลับไปบ้าน ก็แวะจุดธูปที่สุสานก็เลยเห็น
ชื่อแกที่โหม่

น้องต้อมไม่ได้อยู่นครพนมเหรอ แล้วทำงานที่ไหนครับตอนนี้

ยินดีมาก เพราะเรื่องที่เขียนนี้แม้ว่าจะไม่ค่อยมีคนเขียน
แต่ก็ไม่่ค่อยมีคนสนใจอ่านเช่นกัน อาศัยว่ามีเพื่อนบล๊อก เก่า ๆ หลายคนบล๊อกเลยไม่เงียบนัก

นาน ๆ จะได้เจอคอเดียวกันนะน้องต้อม


โดย: peeradol33189 วันที่: 5 สิงหาคม 2554 เวลา:10:31:55 น.  

 
พี่พีร์คะ สวัสดีสายวันศุกร์ ขอให้มีความสุขกับวันทำงานช่วงท้ายสัปดาห์นะคะ ^^



โดย: หัวใจแก้ว วันที่: 5 สิงหาคม 2554 เวลา:10:43:39 น.  

 
สวัสดีครับ พี่พีร์

ตอนนี้ผมทำงานที่สถานทูตไทย อยู่ฮานอย - เวียดนามครับ นานๆ ทีจะได้กลับบ้าน ก่อนหน้านี้ผมเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนปิยะครับ ที่จริงมาทำงานไกลบ้านแบบนี้มันก็เหงา ผมอ่ะเป็นคนที่ชอบอยู่บ้านที่นครพนมมากๆ มันผูกพันธ์อย่างบอกไม่ถูก

อันที่จริงผมอ่ะชอบอะไรที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของเวียดนามมากๆ ผมชอบถามนั่นถามนี่มาตั้งแต่เด็ก และก็เป็นความโชคดีของผมที่มีปู่อยู่ เพราะปู่ผมจะสอนผมทุกๆ อย่าง จนเป็นที่เล่าลือกันในบ้านโพนบก ว่าผมเป็นเด็กแปลก ชอบเรียนรู้อะไรไม่เหมือนเด็กคนอื่น ยิ่งผมมาอ่านภาษาเวียดนามออก มันทำให้ผมเรียนรู้ได้มากขึ้น อันที่จริงผมติดตามอ่านบทความพี่มานานแล้วแหละครับ ผมเคยเม้นให้พี่ แต่ผมใช้ชื่ออื่น ผมใช้ชื่อว่า Đặng Minh Quang ซึ่งเป็นชื่อเวียดนามของผมครับ ขอโทษครับที่ไม่ได้เปิดเผยตัวตนตั้งแต่แรก ข้อเสียของผมก้คือเป็นคนโพนบกแท้ๆ แต่พูดสำเนียงจุง ของโพนบกไม่ได้ เพราะผมเรียนภาษาเวียดนามแบบสำเนียงฮานอย(สำเนียงบั๊ก) ทำให้ผมรุ้สึกว่ามันเป็นปมด้อยของผมอ่ะครับ แต่ผมก็พยามยามฝึกพูดสำเนียงจุง แต่มันก้เพี้ยนๆ ฟังไม่เข้าหู ผมก็เลยถูกแซวบ่อยๆ ว่าลูกหลานโพนบกแต่พูดบั๊กแบบญวนในเมือง 5555

หากพี่อยากได้อะไรจากเวียดนาม บอกผมได้นะครับ ผมยินดีที่จะซื้อไปฝาก เพราะยังไงเราก็คนบ้านเดียวกันครับ

แล้วผมจะรอบล๊อคต่อๆ ไปนะครับ

ป.ล.ผมจำได้ว่าที่นาจอกมีวีรบุรุษชาวเวียดนามคนนึงชื่อ หลี ตื่อ จ่อง (Lý Tử Trọng) เรื่องนี้ผมว่าก็เป็นควาภูมิใจของคนนาจอกอีกเรื่องหนึ่ง ไม่ทราบว่าที่นาจอยังคงมีญาติพี่น้องของวีรบุรุษท่านนี้อยู่หรือป่าวครับ ^^


โดย: พัชรพงษ์ ภูเบศรพีรวัส IP: 113.22.68.139 วันที่: 5 สิงหาคม 2554 เวลา:13:42:28 น.  

 
คุณพีร์ค้า

เอมมาขอบคุณที่แวะไปอวยพรวันเกิดค่า

หายไปนาน กว่าจะมาขอบคุณถึงบ้านนี้ก็ผ่านมาหลายวัน
ข่าวว่าฝนตกน้ำท่วม รักษาสุขภาพนะคะ


โดย: lazymetal วันที่: 5 สิงหาคม 2554 เวลา:18:07:21 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 6 สิงหาคม 2554 เวลา:6:15:27 น.  

 
เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนจริงนะคะที่ใช้ต้นหมากรากไม้เป็นวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

คงไม่ได้ไปกราบพระศพน่ะค่ะ ไม่สะดวก

ช่วงนอนฝนตกบ่อย คุณพีร์เดินทางลำบากมั้ยคะ


โดย: รัชชี่ (รัชชี่ ) วันที่: 6 สิงหาคม 2554 เวลา:10:17:16 น.  

 
@น้องต้อมประเด่นวีระบุรุษ หลี ตื่อ จ่อง (Lý Tử Trọng) ที่ว่าไม่เคยได้ยินเลยล่ะครับ

ตอนเด็กเคยมีหมอดูบอกแม่ว่าพี่เป็นคนเก่าในตระกูลมาเกิดก็คงจะจริงเพราะรู้สึกผูกพัน และสนใจกับอะไรเก่า ๆ
พวกธรรมเนียมอะไรแบบนี้ คอยซักถามคนเฒ่าคนแก่มาตั้งแต่เด็ก แต่พอจบม. 6 ก็ไม่เคยได้กลับไปอยู่บ้านอีกเลยจนบัดนี้ กลับไปเป็นครั้งคราวปีละไม่กี่วัน ภาพถ่ายหลายรูปก็จะวานพ่อไปถ่ายให้โชคดีไปอย่างครับที่ที่บ้านเข้าใจไม่หาว่าเราเป็นพวกบ้าธรรมเนียม หรืออะไรต่ออะไร

Đặng Minh Quang ก็คือน้องต้อมนี่เอง ขอคุณมากที่เฉลย บล๊อกต่อไปจะเขียนเรื่อง "โบกพริ้วทิวธงส่งศพ"
แต่รอหน่อยนะ พักนี้เน็ตที่ห้องงอแง แต่ไว้อัพแล้วจะไปตามครับ


โดย: peeradol33189 วันที่: 6 สิงหาคม 2554 เวลา:12:40:39 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่พีร์



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 7 สิงหาคม 2554 เวลา:6:08:02 น.  

 
อรุณสวัสดิ์ครับพี่




โดย: กะว่าก๋า วันที่: 8 สิงหาคม 2554 เวลา:6:08:12 น.  

 
ปู่เตียว วัย 86 ปีได้เสียชีวิตแล้วด้วยโรคหัวใจวัยอย่างฉับพลัน เจ้าของที่ดินประวัติศาสตร์ของคนดังระดับโลก คือ ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ หมู่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนม แต่ว่างานศพเหงามากเพราะโดนกลั่นแกล้ง โดยหัวหน้าในหมู่บ้านห้ามไม่ให้ชาวบ้านมาช่วยงานศพ (สงสารปู่เถอะ อโหสิกรรมให้ปู่เถอะ) ลูกหลานของปู่เตียวฝากมาค่ะ


โดย: ลูกหลานปู่เตียว IP: 101.108.233.216 วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:18:07:02 น.  

 
คุณพีร์ครับ

ไอ้การคารวะหนิของบ้านผมมีเหมือนบ้านคุณพีร์เลยครับ

และการที่ประธานคนเวียดนามประจำหมู่บ้านกับ

อำเถอส่งมาเป็นพวงหรีดภาษาเหวียดก็เหมือนกันครับ

ที่บ้านผมพวงหรีดจะมีภาษาเหวียดเพียงพวงเดียว

คือของหัวหน้าสมาคมคนเหวียด

แต่นอกนั้นจะภาษาไทยหมดครับ


โดย: บอส IP: 223.206.131.204 วันที่: 28 กันยายน 2554 เวลา:17:48:46 น.  

 
คุณลูกหลานปู่เตียว
ถ้าบอกว่ากลั่นแกล้งนั้นคงไม่ถูกทั้งหมดนะครับ
แต่ก็อาจจะไม่ผิดทั้งหมดเช่นกันครับ
คงต้องให้ความยุติธรรมทั้งสองฝ่าย
แต่ผมในฐานะเจ้าของบล๊อกนี้ก็ไม่มีข้อมูลอะไรมาก
เลยไม่อยู่ในฐานะที่จะคอมเม้นท์ได้ครับ

เรื่องราวผ่านไปแล้วก็คงจะค่อย ๆ เงียบ ๆ ไปนะครับ


โดย: peeradol33189 วันที่: 13 ตุลาคม 2554 เวลา:21:18:17 น.  

 
ที่ท่าบ่อส่วนใหญ่ก็พูดบั๊กครับ

คุณต้อม

เพราะบรรพบุรุษมาจากนามดิ่งห์ ฮานอย

ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีคนจุง

คนจุงยังหันมาพูดบั๊กเลยครับ

เวลาอยู่ท่าบ่อ

เพราะคนเวียดในท่าบ่อเขาพูดบั๊กกันครับ


โดย: บอส IP: 49.48.115.60 วันที่: 16 ตุลาคม 2554 เวลา:21:39:04 น.  

 
อ่านจบแล้ว ^^


โดย: Tên Là Ying IP: 115.67.192.29 วันที่: 25 กรกฎาคม 2555 เวลา:10:54:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Gia Huy - Peeradol
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




Air SurOundinG mE liKe mY besT frIendS !
แจกฟรีแบ๊คกราว
Friends' blogs
[Add Gia Huy - Peeradol's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.